เรื่อง: เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
ภาพ: on the rec.
(facebook.com/ontherecvideo)
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ดูผิวเผินเหมือนกับว่ามีขึ้นมาเพื่อต้องการให้การปฎิบัติงานระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กับหน่วยงานด้านการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐในทุกระดับเข้าด้วยกันเป็นหลัก
ด้วยเหตุที่คำสั่งนี้มองว่าภัยคุกคามด้านความมั่นคงอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกระทำของบุคคลและภัยจากธรรมชาติอันเป็นสาธารณภัย คล้ายๆ กับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 46/2560 เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 52/2560 ที่ย้ายอธิบดีกรมชลประทานไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพราะมองเห็นว่าปัญหาใหญ่เกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่หลายจังหวัดของภูมิภาคต่างๆ ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา คือการไม่สามารถบูรณาการหน่วยงานหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ หรือ ‘Single command’ ได้ จึงทำให้การแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมไร้ทิศทาง ต่างคนต่างทำจนสะเปะสะปะไปหมด ซ้ำรอยความผิดพลาดไม่ต่างจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โชคดีก็เพียงแค่ว่าพื้นที่ที่ประสบภาวะน้ำท่วมรุนแรงเหล่านั้นเป็นพื้นที่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงทำให้รัฐบาลละเลยและนิ่งเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้โดยไร้การตรวจสอบจากสื่อและภาคประชาชนอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้จึงออกคำสั่งตามที่กล่าวมาเพื่อให้หลากหลายหน่วยงานเกิดการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งจะพบว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 มีนัยซ่อนเร้นในการพยายามที่จะนิยาม ‘ภัยคุกคามด้านความมั่นคง’ ให้หลากหลายครอบคลุมกิจวัตรประจำวันในชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าหากพิจารณาเพียงแค่คำสั่งนี้คำสั่งเดียวก็อาจจะกล่าวได้ว่า เพียงแค่สภาวะที่สังคมไทยถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ตามที่เป็นอยู่ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งให้แก้ไขกฎหมายขยายอำนาจ กอ.รมน. เช่นนี้ เพราะสภาวะการปกครองโดยทหารก็เป็นการขยายอำนาจ กอ.รมน. ไปโดยปริยายอยู่แล้ว รัฐบาลโดยทหารและ กอ.รมน. สามารถแต่งชุดทหารเดินเข้าไปในทุกตรอกซอกซอยของหมู่บ้านเพื่อไปสร้างความสัมพันธ์ หรือบังคับ ข่มขู่ และคุกคามต่อประชาชนได้ตามปกติแบบที่เคยทำได้อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องออกคำสั่งเพิ่มเติมอะไรอีก
แต่มันอาจจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่มีอำนาจที่ละอายการใช้อำนาจ ยิ่งอำนาจล้นเกินก็ยิ่งละอายการใช้อำนาจที่ล้นเกิน การทำให้อำนาจนั้นมีสถานะเป็นกฎหมายรองรับก็เพื่อจะทำให้ความละอายนั้นลดน้อยลง และนำไปใช้อ้างสร้างความชอบธรรมได้หากมีการร้องเรียน ฟ้องคดี หรือต้องตอบคำถามแก่องค์กรระหว่างประเทศ เมื่อมองในแง่มุมนี้การออกคำสั่งให้มีสถานะเป็นกฎหมายรองรับการใช้อำนาจที่ขยายตัวมากขึ้นก็ค่อนข้างสมเหตุสมผล
เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากผ่านมาได้ 1 สัปดาห์ นับแต่วันที่ออกคำสั่งฉบับนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มประชาชนในนาม ‘เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ เดินทางไกลมาจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ถูกปราบปรามและจับกุมตัว 16 คน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ก่อนวันประชุม ครม. 1 วัน ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ที่ประชุม ครม. ได้มีมติตามมาอีก 4 เรื่อง[1] ดังนี้
1. ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
2. ประกาศ เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย
3. ประกาศ เรื่อง กําหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
4. ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
ประกาศและข้อกำหนดตามมติ ครม. ทั้งสี่ฉบับตามข้อ 1-4 เป็นประกาศและข้อกำหนดต่อเนื่องจากประกาศและข้อกำหนดของปีก่อนหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาความสงบจากความไม่สงบในส่วนของพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เมื่อพิจารณาประกอบกันทั้งคำสั่ง คสช. ที่ 51/2560 ประกาศและข้อกำหนดทั้งสี่ฉบับตามข้อ 1-4 และ ‘หมายข่าวของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงสื่อมวลชนจังหวัดสงขลา’[2] เพื่อขอความร่วมมือให้ร่วมติดตามทำข่าวประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอเทพาและพื้นที่ใกล้เคียงที่รวมกลุ่มกันเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา ณ ที่ว่าการอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 10.30 น. จะเห็นได้ว่าถึงแม้ประกาศและข้อกำหนดทั้งสี่ฉบับตามข้อ 1-4 จะมีสถานะและเจตนาเหมือนฉบับเดิมที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น เพื่อต้องการควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบในส่วนของพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ กอ.รมน. สามารถฉวยโอกาสใช้โดยผิดเจตนาได้ เช่น บังคับห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลาที่ประกาศกำหนด ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ เป็นต้น เพื่อไม่ให้ประชาชนที่ต่อต้านคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาออกมารวมตัวกันได้
โดยข้อเท็จจริง นิยามของ ‘ภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร’ มีลักษณะที่สามารถแบ่งแยกได้ชัดไปจากการต่อต้านคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และสุขภาวะอนามัยของประชาชน แต่ในยามที่บ้านเมืองถูกปกครองโดยระบอบทหารกลับทำให้นิยามนี้คลุมเครือหรือพร่าเลือนไปเสีย
ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ช่วงวันที่ 12-18 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ทหารจาก กอ.รมน.ขอนแก่น นำทัพโดยรองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น พร้อมกำลังผสมตำรวจ อาสาสมัครและพลเรือน ประมาณ 200 คน คุ้มกันรถขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 100 กว่าคัน ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ผ่ากลางหมู่บ้านนามูล-ดูนสาด ตำบลดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น เข้าไปในพื้นที่หลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดงมูล 5 (DM-5) ที่อยู่ห่างออกไปราว 1 กิโลเมตร ท่ามกลางและรายรอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นหลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลุมหนึ่งของโครงการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมดงมูลที่อยู่ในแปลง L27/43 ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/66 ที่บริษัทฯ ได้มาจากการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 18 โดยกองกำลังที่นำโดยรองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น ทำการสกัด บังคับ ข่มขู่ ชาวบ้านไม่ให้ประท้วงต่อต้านขัดขวางใดๆ เป็นภาพข่าวในสื่อประเภทต่างๆ หลายสำนัก รวมทั้งสื่ออิสระทั่วไปด้วยนั้น ได้สะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจทหารทำการกดขี่ข่มเหงจิตใจประชาชนอย่างรุนแรง คำถามที่สงสัยกันมากว่าทำไมรองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น ถึงแสดงบทบาทก้าวร้าวข่มเหงจิตใจชาวบ้าน เข้าข้างบริษัทฯ จนออกนอกหน้ามากเกินไป
คำตอบก็คือ การผูกมัดบังคับโดยกฎหมายให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนขอสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะต้องขายปิโตรเลียมที่ปากหลุมให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่เพียงผู้เดียว จึงทำให้ ปตท. สามารถผูกขาดการซื้อและขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั้งหมดในแปลงสัมปทานต่างๆ ทั้งบนบกและในทะเลที่รัฐทำไว้กับเอกชน และที่นี่เองที่นายทหารยศพลเอกคนหนึ่งที่เป็นรองเลขาธิการ คสช. และเป็นเลขาธิการ กอ.รมน. มีตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระในรัฐวิสาหกิจลูกผสมบริษัทเอกชนเกรดเอของประเทศไทยอย่าง ปตท. (ในช่วงเริ่มต้นที่ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของ ปตท. ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2557 มียศเป็นพลโท)
กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็คงไม่ต่างจากสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่บ้านนามูล-ดูนสาด ที่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงถูกกำหนดนิยามให้คลุมเครือและพร่าเลือนด้วยผลประโยชน์
[1]
-
ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
-
ประกาศ เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
-
ประกาศ เรื่อง กําหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
-
ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี