โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ในเงาเวลา คสช.

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาล คสช. ยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ โดยไม่มีการยกเลิก โดยนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ให้ทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการให้แล้วเสร็จภายในเวลาอย่างน้อย 1 ปี

“รัฐบาลมีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ พี่น้องเขากลับไปก็พอใจแล้ว ก็ไปทำ EIA และ EHIA ใหม่ อย่างน้อย 1 ปี หากผ่านจะได้ใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินช่วงปี 2566-2567” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว

หากดูจากข้อเรียกร้องของฝ่ายต่อต้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะพบว่า คำสัมภาษณ์ของนายกฯที่ออกมานี้สวนทางข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการให้ยกเลิก EIA และ EHIA ทั้งสองฉบับ เพื่อเริ่มต้นทำการศึกษาใหม่ โดยเปิดโอกาสให้นักวิชาการที่ทุกฝ่ายยอมรับทำรายงานด้วยกัน และรายงานทั้ง 2 ฉบับต้องสามารถให้ประชาชนตรวจสอบได้ ให้เป็นไปตามหลักการประเมิลผลกระทบที่แท้จริง

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดที่จังหวัดกระบี่ เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015)

WAY ชวนดูบรรยาการการเดินหน้า/คัดค้าน/สนับสนุน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 จนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันที่ทุกฝ่ายรอความชัดเจนจากรัฐบาล


 19 มกราคม 2558

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน แสดงสัญลักษณ์เรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกแถลงการณ์ปกป้องการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่และอันดามันจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลังจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ คืบหน้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)

 

3 มีนาคม 2558

สองเดือนต่อมา เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน เดินรณรงค์หยุดถ่านหินและเรียกร้องให้มีการปฏิรูป EHIA การเดินรณรงค์ใช้ระยะทาง 13 กิโลเมตรไปยังหน่วยงานรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาที่ คชก. แต่ละท่านสังกัดอยู่ เริ่มต้นที่กรมควบคุมมลพิษ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสิ้นสุดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

6 มีนาคม 2558

สามวันต่อมา ณ บริเวณหน้าตึกสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน นอนเรียงกันบนพื้น ผ้าขาวคลุมร่าง ปลายเท้าของทุกคนมีอักษรเขียนไว้ว่า ‘No Coal’ เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านกระบวนการ EIA โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการ EHIA พร้อมแนบรายชื่อกว่า 47,000 ราย

 

15 พฤษภาคม 2558

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินทางมาดูพื้นที่ที่จะก่อสร้างท่าเรือขนถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่บ้านคลองรั้ว ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ชาวบ้านเรียกร้องผู้ว่า กฟผ. ให้ยกเลิกโครงการ เพราะมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนมาตั้งแต่ต้น

มีเพียง ‘ความเงียบ’ จากผู้ว่า กฟผ.

 

10 กรกฎาคม 2558

อดอาหารต่อสู้กับความเงียบ

สมาชิกเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2 คน อดอาหารเรียกร้องรัฐบาลยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ที่หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เนื้อหาส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ ดังนี้

พวกเราขอประกาศว่า หากท่านไม่ยอมยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินอันดามัน เราจะอดอาหารจนชีวิตจะตายไป เราไม่มีเจตนากดดันอะไรท่าน แต่เราขอเรียนว่าได้ทำทุกวิถีทางแล้ว แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยังคงดึงดันตลอดมา วิธีนี้เป็นวิธีเดียวที่ประชาชนอย่างเราพึงกระทำได้ด้วยการเอาชีวิตเข้ามาเป็นเดิมพัน แลกกับชีวิตและธุรกิจท่องเที่ยวที่เจริญเติบโตต่อไปอย่างสวยงามของอันดามัน

 

20 กรกฎาคม 2558

สิบวันต่อมา ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจำนวนกว่า 70 คน ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจังหวัดกระบี่

ข้อเสนอของกลุ่มผู้ร้องเรียน ดังนี้

  1. ขอให้ยุติการพิจารณา EIA และ EHIA ทั้งสองฉบับ

2. ขอให้เลื่อนการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนส่งถ่านหินออกไปอย่างไม่มีกำหนด

3. ขอให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาข้อเสนอของทางกลุ่ม โดยขอเวลา 3 ปี เพื่อทำโครงการพลังงานหมุนเวียน โดยในคณะกรรมการจะมีผู้แทนจากกรมพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน นักวิชาการ ธุรกิจการท่องเที่ยว นักธุรกิจปาล์มน้ำมัน และตัวแทนภาคประชาชาชน

 

23 กรกฎาคม 2558

สามวันต่อมา พล.อ.จีรศักดิ์ ชมประสพ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรีรับข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายทั้ง 3 ข้อไปพิจารณา

 

24 กรกฎาคม 2558

รุ่งขึ้นที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ได้มีข้อสรุปว่าทาง กฟผ. และ สผ. จะยุติกระบวนการจัดทำรายงาน EIA และ EHIA ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ตามที่เครือข่ายปกป้องอันดามันฯได้ขอความชัดเจน เนื่องจากทางเครือข่ายภาคประชาชนมองว่ากระบวนการจัดทำก่อนหน้านี้ไม่มีความชอบธรรม ไม่มีการศึกษาอย่างรอบด้าน

ส่วนประเด็นเรื่องการเปิดซื้อซองประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ มูลค่าเริ่มต้น 49,500 ล้านบาท ทาง กฟผ. บอกว่ามีความจำเป็นต้องให้กระบวนการนี้ดำเนินต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาประสานกับบริษัทต่างชาติไว้แล้วจึงไม่อยากให้ยกเลิก แต่ตัวแทน กฟผ. ยืนยันว่ากระบวนการที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ จะไม่มีผลเกี่ยวเนื่องทางกฎหมาย ประเด็นนี้ทำให้เครือข่ายฯไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าจะทำให้รัฐเสียหายจากการเปิดให้ซื้อซองประกวดราคาก่อสร้างทั้งที่กระบวนการต่างๆ ต้องยุติไปแล้ว

 

5 สิงหาคม 2558

การเปิดประมูลด้านเทคนิคเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ มูลค่าก่อสร้างประมาณ 49,000 ล้านบาท มีผู้ซื้อประมูลเพียง 2 ราย ประกอบด้วย 1. กิจการร่วมค้าบริษัท อัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม บริษัท อัลสตอม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท มารูเบนี จำกัด และ 2. กิจการร่วมค้า พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด

ทั้งนี้ นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่า กฟผ. เผยว่า กฟผ. จะพิจารณาคุณสมบัติ รายละเอียดด้านเทคโนโลยีของทั้งกลุ่มภายในระยะเวลา 3 เดือน จากนั้นจะใช้เวลาอีก 1 เดือนในการพิจารณาด้านราคาในการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลดังกล่าว

 

25 สิงหาคม 2558

เมื่อมีคนต้าน ใช่ว่าปราศจากผู้สนับสนุน

กลุ่มเครือข่ายประชาชนจังหวัดกระบี่ และกลุ่มเครือข่าย 4 ตำบลรอบโรงไฟฟ้ากระบี่ พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่นที่เห็นด้วยกับโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. และชาวบ้านประมาณ 50 คน เดินทางมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้ กฟผ. ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมขอให้กระบวนการพิจารณารายงาน EHIA และ EIA ดำเนินการต่อไป โดยประชาชนฝ่ายสนับสนุนโครงการยืนยันว่า

ประชาชนมีส่วนร่วมในรายงานทั้ง 2 ฉบับ

 

7 กันยายน 2558

ที่กระทรวงพลังงาน เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 18 องค์กร จากหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดกระบี่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ลุ่มน้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดอุบลราชธานี รวมกลุ่มกันยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ค้านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 หรือ PDP 2015 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558

 

ภาพถ่าย: อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์

30 มิถุนายน 2559

โรงไฟฟ้าอยู่ที่ใด สังคมอยู่ดีมีสุข

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ รับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. แถลงนโยบายการดำเนินงานต่อสื่อมวลชน เขามุ่งมั่นจะผลักดัน กฟผ. ให้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในปัจจุบันที่มีปริมาณสำรองมาก สามารถควบคุมต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงเกินไป ช่วยสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าได้ และ กฟผ. จะทำให้โรงไฟฟ้ากระบี่และโรงไฟฟ้าเทพาเป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยยึดแนวทาง “โรงไฟฟ้าอยู่ที่ใด สังคมอยู่ดีมีสุข”

 

4 กรกฎาคม 2559

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดให้มีการเปิดซองประกวดราคางานจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ผู้ยื่นเอกสารประกวดราคามี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กิจการค้าร่วม บริษัท อัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม, บริษัท อัลสตอม (ประเทศไทย) จำกัด และมารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น (The Consortium Consisting of ALSTOM Power Systems, ALSTOM (Thailand) Ltd. And Marubeni Corporation) และ 2.กิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟไชน่า และบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (Consortium of Power Construction Corporation of China and Italian-Thai Development Public Company Limited)

กลุ่มกิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุดที่ประมาณ 32,000 ล้านบาท โดยผู้เสนออีกรายคือ 34,900 ล้านบาท

 

2 สิงหาคม 2559

หนึ่งเดือนต่อมา เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ออกแถลงการณ์ค้านการเปิดประมูลราคางานจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พวกเขาถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงที่นายกรัฐมนตรีลงนามจากข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 3 ประการ คือ 1.ให้ยุติกระบวนการ EIA และ EHIA 2.ให้ยุติการประมูล และ 3.ให้พิสูจน์การใช้พลังงานหมุนเวียน 3 ปี โดย 2 ประการแรกได้รับการปฏิบัติทันที แต่ประการที่ 3 ให้ตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณาหาแนวทางการดำเนินการ ซึ่งกรรมการ 3 ฝ่ายยังไม่มีข้อยุติ แต่ กฟผ.ได้ละเมิดข้อตกลงด้วยการประกาศผลการประมูล นอกจากนี้ในการดำเนินการของกรรมการ 3 ฝ่าย ไม่เกิดความจริงใจในการดำเนินการ ไม่พยายามหาทางออก แต่พยายามทุกวิถีทางในการนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังใช้วิธีการในการล็อบบี้ ข่มขู่ และหยิบยื่นผลประโยชน์ให้แกนนำ

 

5 สิงหาคม 2559

เดินหน้าต่อไป

กฟผ. ยืนยันการประกวดราคาโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ คู่ขนานไปกับขั้นตอนการพิจารณารายงาน EHIA เพื่อให้ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2015) ตามที่กำหนดไว้

 

6 กันยายน 2559

อย่างนี้ต้องลาออก

อนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ภาคประชาชน ลาออกกลางที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หลัง กฟผ.ไม่ทำตามข้อตกลงในการถอนรายงาน EIA และ EHIA ทั้งสองฉบับของโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

น.ส.สมพร เพ็งค่ำ อนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมามีการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้ว 9 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนจาก กฟผ. เนื่องจากการทำงานของอนุกรรมการชุดนี้ ต้องรวบรวมข้อมูลทางวิชาการด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และข้อมูลจากภาคประชาชนมารวมจัดทำเป็นข้อสรุปให้คณะกรรมการไตรภาคี เพื่อเสนอต่อรัฐบาล แต่ กฟผ. ยังคงยืนยันไม่ถอนรายงาน EIA ท่าเทียบเรือคลองรั้ว”

การแจ้งลาออกของอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมส่วนภาคประชาชน จะทำให้คณะกรรมการไตรภาคีไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

 

8 กันยายน 2559

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ อยู่ระหว่างการดำเนินงานของคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อหาข้อสรุปนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการต่อไป สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เป็นไปตามแผนงานอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ คชก. ซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้และของประเทศ

 

9 กันยายน 2559

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา Energy Symposium 2016 ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานของโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันอยู่ที่ 82 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานทั้งหมด แต่ในปี 2035 สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะลดลงเหลือ 76 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น และยอมรับว่าถ่านหินยังคงเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการผลิตไฟฟ้าในหลายภูมิภาค ซึ่งในแผนพลังงาน 20 ปีของไทยที่คำนึงถึงความมั่นคงเพียงพอราคาไม่แพง จะต้องลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติไปสู่ถ่านหินมากขึ้น

ดังนั้น การยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ 800 เมกะวัตต์จะไม่มีทางเกิดขึ้น แต่อาจจะล่าช้า เนื่องจากกระบวนการรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะคณะกรรมการไตรภาคี

19 กันยายน 2559

ครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร

คณะอนุกรรมการในส่วนของภาคประชาชนทั้ง 3 ชุด (อนุกรรมการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และอนุกรรมการพิจารณาศักยภาพการทำงานพลังงานหมุนเวียน) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงเหตุผลการลาออกของอนุกรรมการและกระบวนการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีที่ขาดความชอบธรรม หลังประธานคณะกรรมการไตรภาคียุติการประชุมกลางอากาศทั้งที่ไม่มีข้อสรุปการหารือของอนุกรรมการ รวมถึงกรณีที่ กฟผ. ล่ารายชื่อสนับสนุนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ได้มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน

 

28 กันยายน 2559

คณะกรรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ (ไตรภาคี) สัดส่วนภาคประชาชน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ฝ่าย ของคณะกรรมการฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทบทวนความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการไตรภาคี

ทั้งนี้ คณะกรรมการไตรภาคีภาคประชาชน ขอประกาศให้ทราบล่วงหน้าว่าคณะกรรมการไตรภาคีภาคประชาชนจะไม่ยอมรับข้อสรุปและการตัดสินใจใดๆ จากรัฐบาล ที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยที่ยังไม่มีข้อสรุปอันเป็นมติร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี

 

25 ตุลาคม 2559

นายวัชรา เหมรัชตานันต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Adaro Indonesia (AI) สัดส่วน 11-12 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าราว 1.17 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจในเหมืองถ่านหินบนเกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย

กฟผ.อินเตอร์ฯ ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อลงทุนตามแผนการประมาณการเบิกจ่าย พร้อมทั้งให้ กฟผ. เพิ่มทุนให้ กฟผ.อินเตอร์ฯ เพื่อลงทุนดังกล่าวด้วย

สำหรับการลงทุนซื้อเหมืองถ่านหินดังกล่าว เป็นแผนงานในแนวทางการแก้ปัญหาการขาดทุนจากการดำเนินงานของ กฟผ.อินเตอร์ฯ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถสร้างผลตอบแทนหรือรับรู้รายได้ให้กับ กฟผ.อินเตอร์ฯ ที่ลงทุนทันที เนื่องจากเหมืองดังกล่าวเปิดดำเนินการอยู่แล้ว มีปริมาณสำรองมาถึง 900 ล้านตัน โดยปัจจุบันขุดถ่านหินส่งขายทั่วโลกได้ปีละ 50 ล้านตัน

นอกจากนี้ กฟผ. มีนโยบายแสวงหาเหมืองถ่านหิน เพื่อเป็นแหล่งสำรองสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในอนาคต รวมทั้งหมด 6 โรง โดยมีความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 600 ล้านตัน ในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งยังป้อนให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ที่ กฟผ.อินเตอร์ฯได้ไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ที่คาดว่าจะก่อสร้างและจ่ายไฟฟ้าได้ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า และยังเปิดโอกาสการลงทุนสำหรับโครงการอื่นๆ ในอินโดนีเซียด้วย

 

1 พฤศจิกายน 2559

ตำรวจภูธรจังหวัดกระบี่ ตรวจค้นบ้าน ทำประวัติ และตรวจเก็บ DNA ของนายสมศักดิ์ นบนอบ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า เป็นแกนนำเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ผลจากการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฏหมาย และไม่พบหลักฐานว่าเป็นผู้ยุยงส่งเสริมเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

ภาพถ่าย: ฮาริ บัณฑิตา

20 มกราคม 2559

นางวราภรณ์ คุณาวนากิจ วิศวกรระดับ 11 ของ กฟผ. เปิดเผยในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายหลังปี พ.ศ. 2563 โดยเผยสาเหตุที่ยังต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเพราะประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับความมั่งคงทางพลังงานมากกว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเมื่อใช้เชื้อเพลิงถ่านหินแล้วก็จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนอื่นๆ แทน เช่น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน หรือการรณรงค์ด้านประหยัดพลังงาน เช่น ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นต้น

 

24 มกราคม 2560

ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 มกราคม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับว่าโครงการโรงไฟฟ้าเทพากับโรงไฟฟ้ากระบี่ ต้องมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน หรือภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560

โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณาเดินหน้าโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอให้สำรวจ ‘ความต้องการที่แท้จริง’ จากชาวบ้านในพื้นที่

นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. ระบุว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนรอบโรงไฟฟ้ากระบี่ พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การ ‘สนับสนุน’ โดยกระทรวงพลังงานจะนำเสนอผลการสำรวจดังกล่าวต่อที่ประชุม กพช. ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์

มีชาวบ้านประมาณ 15,000 คน ที่ยังคงยืนยันให้สร้าง หรือหากคิดโดยรวมแล้วมีชาวบ้านที่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ไม่เห็นด้วยมีลดลงเหลือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์” รองผู้ว่า กฟผ. ยืนยันตัวเลข

 

9 กุมภาพันธ์ 2560

เครือข่ายภาคประชาชน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ กว่า 1,500 คน รวมตัวกันหน้าที่ว่าการอำเภอเหนือคลอง เพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อผู้สนับสนุน 15,000 รายชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์

 

13 กุมภาพันธ์ 2560

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ โดยนัดรวมตัวกันเดินรณรงค์เพื่อแสดงพลังบริเวณลานปูดำ จังหวัดกระบี่

ก่อนจะรวมตัวและเคลื่อนขบวนขึ้นมาเผชิญหน้ากับรัฐบาลอีกครั้ง ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่มีการการประชุม กพช.

เป้าหมายครั้งนี้คือ รัฐบาลจะต้องยกเลิกอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็คงไม่กลับกัน” ยังเป็นคำยืนยันจาก ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

 

14 กุมภาพันธ์ 2560

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่าในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้จะได้คำตอบที่ชัดเจน จึงอยากขอร้องกลุ่มประชาชนอย่ามาเดินขบวนในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เพราะจะมีปัญหาทางกฎหมายได้

ผมขอร้องว่าอย่าเข้ามากรุงเทพฯ เดี๋ยวผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดีอีก เพราะเป็นที่ทราบว่าเราห้ามการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ฉะนั้นมีอะไรให้พูดคุยกันให้รู้เรื่องในพื้นที่ ผมขอเตือนไว้ก่อน การเดินขบวนคุณขออนุญาตกันหรือยัง เพราะมีคำสั่ง คสช. และกฎหมายอยู่ นี่คือปัญหาประเทศไทยทั้งที่มีกฎหมายก็ยังจะทำแล้วมาอ้างประชาธิปไตย ที่ผ่านมาคนอื่นเขาเดือดร้อนหรือไม่ ถ้ามันสร้างไม่ได้ แล้วภาคใต้มีพลังงานไฟฟ้าไม่พอใช้จะทำอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ มีคำสั่งย้าย เศวตฉัตร สุวรรณรัตน์ ปลัดอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ให้ไปช่วยราชการที่ทำการปกครอง จังหวัดกระบี่ ภายหลังชื่อของเขาปรากฏอยู่ในเอกสารสั่งการให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านทุกตำบล ระดมมวลชนแห่งละ 20 ราย ออกไปแสดงการสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ณ หน้าศาลากลาง จังหวัดกระบี่

 

15 กุมภาพันธ์ 2560

ไม่มี เป็นไปไม่ได้ จะไปเกณฑ์ได้อย่างไร หากเป็นคนที่สนับสนุนเขาก็ออกมาสนับสนุน หากไม่สนับสนุนเขาก็ไม่ออกมา จะไปเกณฑ์ได้อย่างไร” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

 

17 กุมภาพันธ์ 2560

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ได้มีมติเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นโครงการสำคัญของประเทศ และส่งผลต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ (PDP 2015) ถึง 2 ปี จากเดิมที่ต้องเข้าระบบปี 2562 จนเสี่ยงต่อความมั่นคงไฟฟ้า

กลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เข้าประชิดทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะยกระดับการชุมนุม ‘ปักหลัก-ยืดเยื้อ’ จนกว่ารัฐบาลจะยุติโครงการก่อสร้าง ภายหลังรับทราบมติของที่ประชุม กพช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะในวันเดียวกันว่า ที่ประชุม ‘เปิดไฟเขียว’ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

 

18 กุมภาพันธ์ 2560

มติเดินหน้าโครงไฟฟ้าถ่านหินจากที่ประชุม กพช. สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมาก ทั้งการปิดล้อมบริเวณชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่คืนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ปิดทางเข้า-ออก ตัดเส้นทางลำเลียงอาหาร ไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมใช้ห้องน้ำ ก่อนที่จะมีการควบคุมตัวแกนนำผู้ชุมนุมไปยัง มทบ.11

 

19 กุมภาพันธ์ 2560

กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งรวมตัวกันอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เริ่มเก็บข้าวของสัมภาระเดินทางกลับภูมิลำเนาด้วยรถของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ภายหลังรับทราบผลการหารือระหว่างแกนนำกลุ่มและตัวแทนรัฐบาล โดยตัวแทนรัฐบาลรับปากว่าจะยกเลิกรายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 กุมภาพันธ์

 

21 กุมภาพันธ์ 2560

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 สั่งทบทวน EIA และ EHIA ให้แล้วเสร็จภายในเวลาอย่างน้อย 1 ปี


 

ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ
สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า