‘Con for All’ ปักธง ส่งต่อ สสร. เลือกตั้ง เน้นย้ำหลักการ ติดตามแนวทางสู่รัฐธรรมนูญประชาชน 

9 ธันวาคม 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ Con for All จัดงาน ‘Con for All ปักธงส่งต่อ สสร. เลือกตั้ง’ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ (แยกคอกวัว) เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ภายในงานมีกิจกรรมเสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล และยืนยันแนวทางแก้รัฐธรรมนูญโดย ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’

หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของงานคือ วงเสวนา ‘Con for All ปักธง ส่งต่อ สสร. เลือกตั้ง’ ชวนคุยถึงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามประชามติภายใต้เงื่อนไขการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รวมถึงฟังความเห็นจากตัวแทนคณะกรรมการประชามติของรัฐบาล ในวงเสวนามีผู้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน ได้แก่ กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชนกุล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และพงศ์เทพ เทพกาญจนา ตัวแทนกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw

ในวงเสวนาได้เน้นย้ำเหตุผลที่รัฐธรรมนูญต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ เพราะกระบวนการและที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้พาประเทศไทยเดินห่างออกจากระบอบประชาธิปไตยไปมาก

กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)

กรกชให้ข้อสังเกตถึงรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 1 และหมวด 2 ประเด็นเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และการมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยชวนให้ขบคิดต่อว่าในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะเขียนประเด็นเหล่านี้อย่างไรเพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่ว่าจะแตะต้องไม่ได้เลย

นอกจากนี้ แสงศิริได้เสริมว่า เหตุผลที่ต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับมีเหตุผลเดียวชัดๆ คือ “เราไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการใช้อำนาจกดขี่ประชาชน ดังนั้นเราต้องรื้อออกให้หมด” 

พร้อมกับบอกว่ารัฐธรรมนูญมีคีย์เวิร์ดสำคัญหลักอยู่ 3 คำ ได้แก่ สิทธิเสรีภาพ สวัสดิการ และการบริหารจัดการที่ดี โดยทั้งหมดนี้ต้องเกิดขึ้นด้วยฉันทามติและเจตจำนงของประชาชนที่จะมาเขียนรัฐธรรมนูญร่วมกัน

แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

แสงศิริกล่าวว่า หากจะเขียนใหม่ทั้งฉบับ ต้องให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงเป็นเหตุผลว่าต้องเลือกตั้ง สสร. ใหม่ทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการเลือกตั้ง สสร. ไปเขียนรัฐธรรมนูญเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ขณะที่ยิ่งชีพ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ตั้งคำถามต่อวงเสวนาว่า “หลายคนอาจมองว่าไม่จำเป็นต้องเลือกตั้ง สสร. 100% เพราะสุดท้ายแล้วจะมีแต่คนที่มีชื่อเสียงเท่านั้นที่ชนะ ทำให้ สสร. ไม่มีความหลากหลาย เราจะทำอย่างไรได้บ้าง” 

“มันอาจเป็นวาทกรรมที่ทำให้เราไขว้เขว กลัวว่ากลุ่มนั้นกลุ่มนี้จะไม่ได้เป็น สสร. ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ดูถูกประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างร้ายแรง เพราะแต่ละกลุ่มเขาก็มีเรื่องอยากจะพูด ในกระบวนการเลือกตั้งทุกคนมีวิธีคิดที่มั่นคงพอที่จะเลือกว่ารัฐธรรมนูญที่เขาอยากเห็นเป็นอย่างไร” แสงศิริ ให้ความเห็น

อีกมุมหนึ่ง รัชพงษ์กล่าวว่า มีกลไกที่ สสร. สามารถตั้งอนุกรรมการโดยมีตัวแทนกลุ่มต่างๆ หรืออีกกลไกคือสงวนโควตาไว้สำหรับบางประเด็น ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการตั้ง ‘คำถามประชามติ’ ที่เป็นปัญหาสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เนื่องจากสิ่งที่ผู้มีอำนาจกังวลคือ หมวด 1 และหมวด 2 ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ หากมีการแก้ไขทั้งสองหมวดนี้อาจทำให้ สส. และ สว. ไม่โหวตผ่านร่าง ดังนั้น การตั้งคำถามประชามติที่กำกวมอาจทำให้ ‘ตกม้าตาย’ ตั้งแต่เริ่ม 

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชนกุล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ยกตัวอย่าง หากมีการตั้งคำถามในการทำประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2” ถ้าโหวตไม่เห็นชอบเป็นเสียงส่วนมากก็จะไม่มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคำถามลักษณะนี้เป็นคำถามประชามติที่กำกวม และอาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 ที่ผู้มีอำนาจกังวลแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเรื่องคือ หากมีการเลือกตั้ง สสร. 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ จะอยู่ตรงไหนของกระบวนการ

ในส่วนนี้ รัชพงษ์ให้คำตอบว่า จะมีอยู่ ‘1 หลักการ 2 ด่าน’ ที่เราจะต้องข้ามไปให้ได้ โดยหลักการที่ต้องยึดมั่นให้ได้คือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงต้องเป็นผู้ร่างทั้งฉบับ และมีการยึดโยงกับประชาชนโดยตรงผ่านการเลือกตั้ง สสร.

“ศาลรัฐธรรมนูญที่เราวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอด ย้ำไว้แล้วว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เคยเขียนเอาไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว ดังนั้นหลักการนี้จึงเป็นหลักการที่อยู่กับเรา และเป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนอยู่แล้ว” รัชพงษ์กล่าว

ต่อมา 2 ด่านที่จะต้องข้ามไปให้ได้ ประกอบไปด้วย ด่านที่ 1 ด่านประชามติ โดยมีประชาชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ และด่านที่ 2 คือรัฐสภา ที่มีตัวละครสำคัญคือ สส. และ สว. ปัญหาคือทั้งสองด่านนี้กลับถูกให้ความสำคัญไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลและอีกหลายฝ่ายให้ความสำคัญกับรัฐสภามากกว่าประชาชน

รัชพงษ์ให้มุมมองว่า ทุกฝ่ายต้องหันกลับมายึดหลักการ และให้ความสำคัญกับด่านประชามติให้มากที่สุด ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงวนกลับมาสู่ข้อเสนอที่ว่า จะต้องเลือกตั้งสสร. 100 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การตั้งคำถามประชามติที่จะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้ดีที่สุด เพื่อให้เป็นฉันทามติของประชาชนอย่างแท้จริง และในส่วนของผู้เชี่ยวชาญก็ใช้กลไกแต่งตั้งผ่านอนุกรรมการต่างๆ ได้

“ไม่มีอีกแล้วการที่จะมาบอกว่า รับๆ ไปก่อน แล้วค่อยแก้กันทีหลัง ต้องไม่มีอีกแล้ว ไม่เอาแล้ว”

ต่อมาข้อกังวลของรัฐหรือฝ่ายต่างๆ ว่า สว. จะโหวตคว่ำแม้ว่าจะผ่านประชามติ เนื่องจากผลประชามติไม่ผูกพันกับการลงมติของ สส. และ สว. ซึ่งท้ายที่สุดแล้วประชาชนจะต้องยืนยันและหนักแน่นในหลักการว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เจตจำนงได้ถูกยืนยันแล้วผ่านประชามติ ซึ่งในทางปฏิบัติถ้ารัฐตัดสินใจที่จะทำประชามติก็จะเป็นเกราะกำบังและเครื่องมือต่อรองกับ สว. ได้

พงศ์เทพ เทพกาญจนา ตัวแทนกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ

ช่วงสุดท้ายของการเสวนามีการถามความคิดเห็นจาก พงศ์เทพ เทพกาญจนา ตัวแทนกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ว่าประชาชนจะเห็นแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงใด จะได้ทำประชามติหรือไม่ และข้อเสนอ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่

พงศ์เทพกล่าวว่า ตนเองอยู่ในฟากฝั่งที่ศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4/2564 ซึ่งเขียนไว้ไม่ชัดเจน ตีความคนละเรื่อง จึงต้องไปศึกษาอ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่าน ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 ท่าน เขียนไว้ว่าเห็นควรให้มีการทำประชามติ 2 ครั้งเท่านั้น 

โดยครั้งแรกคือตอนที่แก้รัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้มี สสร. ผ่านสภา แล้วจึงไปทำประชามติ (ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดไว้) จากนั้นเมื่อ สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงให้มีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการทำประชามติอาจถูกหยิบยกมาตีความแตกต่างกันไป พงศ์เทพจึงเสนอว่า ให้พรรคการเมืองเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มี สสร. และให้เป็นกระบวนการของรัฐสภาในการยื่นญัตติด่วนว่าสามารถบรรจุวาระนี้ได้หรือไม่ ถ้าสมาชิกรัฐสภาเห็นว่าบรรจุวาระดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งตามกลไกต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อ ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาวินิจฉัยไม่เกิน 1 เดือน ว่าท้ายที่สุดแล้วต้องทำประชามติกี่ครั้ง

พงศ์เทพกล่าวว่า ความเป็นไปได้มีอยู่ 2 กรณีคือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ทำประชามติ 3 ครั้ง หรืออีกกรณีทำประชามติเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้กว่า 3,000 ล้าน รวมถึงประหยัดเวลากว่า 4-5 เดือน และตัดปัญหาทางข้อกฎหมายต่างๆ ไปด้วย

ภายในเดือนธันวาคมนี้จะได้ทราบกันว่าคณะรัฐมนตรีจะตัดสินใจอย่างไร เนื่องจากกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติทำข้อเสนอไปว่า จะให้ทำประชามติเลย หรือจะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสภา เพื่อส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตัดปัญหาเรื่องการตีความว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจตรงกันว่าหากมีการทำประชามติ 3 ครั้ง ในการทำประชามติครั้งแรกจะต้องมีคำถามที่ดี ไม่กำกวม และมีเสรีภาพในการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจอย่างถูกต้อง และหากไม่จำเป็นต้องทำประชามติครั้งแรก แต่ให้รัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา ประชาชนเองก็ยังมีสิทธิเสนอร่างฉบับประชาชนได้เช่นกัน

สุดท้ายประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง สสร. พงศ์เทพกล่าวว่า สามารถทำได้ แต่ต้องให้ความสำคัญและรอบคอบกับการรจัดระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ตัวแทนตามที่ประชาชนต้องการ

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า