ทฤษฎีสมคบคิด ‘QAnon/BlueAnon’ ท่วมโซเชียล หลังทรัมป์ถูกลอบสังหาร

ภายหลังการลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐและผู้สมัครลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน กระแสการโจมตี โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐและผู้สมัครลงชิงชัยจากพรรคเดโมแคต รวมถึงตัวพรรคเดโมแครตเองก็ตกเป็นเป้าหมายจากกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์โดยปริยาย โดยมีการเชื่อมโยงว่าการลอบสังหารทรัมป์ในครั้งนี้ คือ ฝีมือของไบเดนและเดโมแครต

จินตนาการของผู้สนับสนุนทรัมป์และพรรครีพับลิกันเช่นนี้ ถูกส่งผ่านเนื้อหาจำนวนมากในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มของ X เพื่อโจมตีไบเดนและพรรคเดโมแครตที่กำลังเผชิญกับสภาวะยากลำบากทางการเมือง โดยเฉพาะตัวของไบเดนเองที่มีอายุมากและอาจเผชิญกับโรคพาร์กินสัน ซึ่งไม่น่าจะใช่ตัวเลือกที่ดีของพรรคเดโมแครตในการส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันชิงชัยเพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 

เนื้อหาจำนวนมากที่ใช้โจมตีไบเดนและพรรคเดโมแครต ปรากฏในรูปแบบของการตีความถอดรหัสดาวินชี มีความเป็น ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ (conspiracy theory) ซึ่งหมายถึง “ความเชื่อที่ว่า เหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เกิดจากแผนการลับของผู้อำนาจ” (a belief that an event or situation is the result of a secret plan made by powerful people.) ซึ่งเป็นความหมายตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษของเคมบริดจ์ 

กระแสคลื่นทฤษฎีสมคบคิดนี้ถูกตีให้เป็นกระแสอย่างมาก ภายหลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมลรัฐจอร์เจีย พรรครีพับลิกัน ไมค์ คอลลินส์ (Mike Collins) ได้รีโพสต์คำพูดของไบเดนในวันที่ 8 กรกฎาคม ไม่กี่วันก่อนการลอบสังหารว่า “We’re done talking about the debate, it’s time to put Trump in a bullseye.” คำพูดเช่นนี้ของไบเดนได้รับการตีความว่า ทรัมป์นั้นตกเป็น ‘เป้า’ ในการลอบสังหาร ซึ่งทางคอลลินส์ได้รีโพสต์คำพูดนี้ของไบเดนและโควทว่า “Joe Biden sent the orders.” หรือไบเดนเป็นคนสั่งการนั่นเอง 

พร้อมทั้งกล่าวต่อไปว่า “The District Attorney in Butler County, PA, should immediately file charges against Joseph R. Biden for inciting an assassination.” หรืออัยการเมืองบัตเลอร์ควรดำเนินการเอาผิดไบเดนอย่างรวดเร็ว ในข้อหาอยู่เบื้องหลังการสังหารทรัมป์ 

ขณะที่ ฝ่ายซ้ายของสหรัฐก็มีทฤษฎีสมคบคิดของตนเองไม่แพ้กัน โดยได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การลอบสังหารดังกล่าวคือ ‘การจัดฉากขึ้น’ (staged/set up) อันสืบเนื่องมาจากภาพภายหลังการลอบสังหารทรัมป์ที่บอดี้การ์ดกำลังพาทรัมป์ลงจากเวทีหาเสียง ก่อนที่ทรัมป์จะชูมือขึ้น โดยมีพื้นหลังคือธงชาติสหรัฐ ซึ่งภาพดังกล่าวถูกบันทึกโดยช่างภาพจากสำนักข่าว Associated Press (AP) 

โดยความคิดเห็นฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านทรัมป์จำนวนมากมองว่า ทรัมป์จัดฉากเพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจหรือเรียกร้องเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ 

ทฤษฎีสมคบคิดของฝ่ายซ้ายนี้ ได้รับการตอกยํ้าทำให้คนที่สนับสนุนเดโมแครตเชื่อ โดย ดีมิทรี เมห์ลฮอร์น (Dmitri Mehlhorn) ที่ปรึกษาการเมืองของผู้บริจาคเงินสนับสนุนพรรคเดโมแครต รีด ฮอฟฟ์แมน (Reid Hoffman) ผู้ก่อตั้ง LinkedIn ได้ออกมาชี้ชวนให้ผู้สื่อข่าวจำนวนมากคิดว่า มันคือการจัดฉากขึ้น จนภายหลังตัวเขาเองต้องออกมาขอโทษกับคำพูดดังกล่าว ว่าเป็นการพูดโดยไม่คิดและไร้การปรึกษากับทีมงาน

ดีมิทรี เมห์ลฮอร์น (Dmitri Mehlhorn) ที่ปรึกษาการเมืองของผู้ก่อตั้ง LinkedIn ได้ออกมาชี้ชวนให้ผู้สื่อข่าวจำนวนมากคิดว่า มันคือการจัดฉากขึ้น โดยคำพูดนี้ถูกตีพิมพ์ลงใน Semafor

ปกติแล้วสื่อออนไลน์คือพื้นที่ในการแชร์ทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะในการเมืองอเมริกันที่ทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายขวาจัดและฝ่ายเสรีนิยม (ซ้ายแบบอเมริกัน) ต่างใช้พื้นที่ตรงนี้ในการเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดของตนเองและต่อสู้กันในทางการเมือง โดยกระแสทฤษฎีสมคบคิดของฝ่ายขวาจัดเรียกว่า ‘QAnon’ และกระแสทฤษฎีสมคบคิดของฝ่ายเสรีนิยมคือ ‘BlueAnon’

การต่อสู้ระหว่าง 2 ทฤษฎีสมคบคิดนี้ แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยในความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันที่มีต่อสถาบันทางสังคม ทำให้คอมเมนเตเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ในด้านข้อมูลข่าวสาร ที่ออกมาเเชร์หรือบอกเล่าเนื้อหาที่วางอยู่บนทฤษฎีสมคบคิดเช่นนี้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีสมคบคิดไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนก็ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วย ‘ข้อมูลเท็จ’ ไร้ฐานข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

หากตีความความเสื่อมถอยของสถาบันทางสังคมของสหรัฐในหลากหลายด้าน ประเด็นการถูกลอบสังหารของทรัมป์นั้น ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ยังไม่มีความชัดเจน ณ ตอนนี้ ไร้ข้อมูลเชิงลึกโดยเฉพาะเหตุจูงใจ มันก็แน่นอนว่า คนจำนวนมากก็เลือกที่จะเชื่อทฤษฎีสมคบคิดอย่างรวดเร็วในช่วงต้นของเหตุการณ์โดยไม่ทันยั้งคิด อีกทั้งจุดยืนทางการเมืองของแต่ละปัจเจกชนยิ่งผสมบนเปเข้าไป ให้คนรีบตัดสินใจเชื่อมากยิ่งขึ้น

ทฤษฎีสมคบคิดจึงกลายมาเป็น ‘ตรรกะเบื้องต้น’ (default logic) ของคนทั่วไปที่จะทำความเข้าใจเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งได้อย่างง่ายดาย หลายหลากครั้งข้อมูลที่แม้จะเท็จแต่กลับดูน่าเชื่อถือยิ่งกว่าข้อเท็จจริงอีกด้วย จนกลายมาเป็นความเชื่อหลักในสังคม แต่หากจะแก้ปัญหานี้จริงๆ การศึกษาให้คนนั้นมี ‘ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล’ (digital literacy skills) น่าจะเป็นทางออกเดียว

ดังนั้น ในระบบทางการเมืองที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาทางสังคมที่มีลักษณะของ ‘ระเบิดเวลา’ หรือ ‘ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ’ ผู้คนก็ยังจะเข้ามากำหนด ‘ระเบียบทางสังคม’ แทนรัฐในภาวะที่ ‘ไร้ระเบียบ’ อย่างรุนแรงเช่นนี้ และทฤษฎีสมคบคิดในฐานะตรรกะหลักของสังคม ก็ยิ่งทวีความไร้ระเบียบในสังคมมากขึ้นไปอีก ซึ่งแน่นอนว่า สหรัฐอยู่ในภาวะเช่นนี้มานานหลายปีแล้ว 

อ้างอิง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า