มาตรา 46 การรอคอยของผู้บริโภค

เรื่องและภาพ : นิธิ นิธิวีรกุล

“…จนแล้วจนรอด พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคก็ยังไปไม่ถึงไหน ยังไม่ข้ามพ้นวิบากที่ดักรอระหว่างทาง ขณะที่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมายยังเรียงหน้าสร้างความทุกข์ให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารไม่ปลอดภัย สินค้าไม่ได้มาตรฐาน โฆษณาเกินจริงในสื่อต่างๆ พลังงานราคาแพงอย่างไม่เป็นธรรม บริการสุขภาพที่ไม่เท่าเทียมและทั่วถึง ปัญหาความไม่ปลอดภัยของรถสาธารณะที่เกิดขึ้นรายวัน และการรอคอยด้วยความอดทน เราจึงลงมือทำ…”

เสียงจากวีดิทัศน์ดังขึ้นภายในห้องประชุมหลังดวงไฟทุกดวงหรี่ลงเพื่อให้แสงสว่างจากหน้าจอโปรเจ็คเตอร์ฉายภาพผลการทำงานของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจัดสัมมนาขึ้นเนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภค 15 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา และหนึ่งในหัวข้อการสัมมนาคือ ‘ฟังเสียงผู้บริโภค ตามกฎหมายมาตรา 46 ของร่างรัฐธรรมนูญ’ ด้วยการเชิญตัวแทนผู้บริโภคด้านต่างๆ 8 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ

ก่อนที่เข้าสู่วงพูดคุย อิฐบูรณ์ อันวงษา คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสังคม ได้เท้าความย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2540 ที่เริ่มมีการบัญญัติให้มีองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญ ผ่านพ้นการรัฐประหารมา 3 ครั้ง จนถึง พ.ศ.ปัจจุบัน การขับเคลื่อนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคดูเหมือนยังเดินไปไม่ถึงไหน ผู้บริโภคยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบ และอีกส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตัวเอง นับตั้งแต่มาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาจนถึงมาตรา 46 ที่มีบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559

“ได้ข่าวว่าร่างเสร็จแล้ว ไม่มีการปรับแก้ไขแล้ว รอเพียงประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่เมืองไทยก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่อะไรพิเศษอยู่เยอะที่คนไทยทั่วไปมิอาจทราบได้ อีกสิบปีข้างหน้าอาจจะมีคณะทำงานชุดสีเขียวๆ ชุดใหม่ดึงรัฐธรรมนูญลง แล้วก็ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกทุกสิบปีหรือเปล่า อันนี้ก็ตั้งเป็นประเด็นคำถามไว้” อิฐบูรณ์ตั้งข้อสังเกต

จากนั้นอธิบายต่อในรายละเอียดของมาตรา 46 ที่นำมาสู่หัวข้อในการสัมมนา โดยเชิญตัวแทนของผู้บริโภคที่ประสบปัญหาในด้านต่างๆ ขึ้นมาแบ่งปันประสบการณ์ต่อผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้บริโภคจากภาคต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อทิศทางที่ควรจะเป็นของมาตรา 46 และรับฟังเสียงของผู้บริโภคในฐานะของประชาชนด้วยกัน

หลงคำโฆษณาอสังหาริมทรัพย์

เจริญ วงศ์กังแห ตัวแทนผู้บริโภคด้านอสังหาริมทรัพย์ เริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวของตนด้วยการเปรียบเปรยว่า เป็นเรื่องราวที่ยาวนานราวมหากาพย์ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 หลังจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรแห่งหนึ่งได้จัดตั้งศูนย์การเกษตรขึ้นที่อำเภอกบินทร์บุรี ปราจีนบุรี บนพื้นที่โครงการทั้งหมดกว่า 2,000 ไร่ จัดสรรที่ดินแบ่งเป็นแปลงละ 3 ไร่ โดยโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้สนใจว่าเป็นแปลงที่มีการปลูกพืชผลทางการเกษตรที่ให้ผลกำไรสูง โดยที่ผู้ซื้อไม่ต้องลงแรงทำอะไร ทางโครงการจะเป็นผู้จัดการให้ทั้งหมด กล่าวง่ายๆ คือผู้ซื้อมีหน้าที่จ่ายเงินค่าดำเนินการเป็นเวลา 5 ปีเพื่อรอผลิต จากนั้นเมื่อผลผลิตออกมาจึงสามารถนำเข้าสู่ตลาดเพื่อทำการซื้อขายและแบ่งผลกำไรกลับมายังผู้ซื้อในที่สุด

“ที่เราตัดสินใจซื้อ เพราะทางโครงการทำตารางให้เราเห็นทั้งหมดว่า ผลตอบแทนจะเป็นยังไงนับตั้งแต่ปีที่ 5 ไปจนถึงปีที่ 15 และเมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วจะต้องเหลือเงินกว่า 1.7 ล้านบาท ผมซื้อที่ตั้งแต่ปี 2535 จ่ายเงินไปแล้วครบถ้วน แต่โครงการก็ยังล้มลุกคลุกคลานมาตลอด”

ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของเจริญก็คือ โครงการไม่ได้ดำเนินการจัดการใดๆ ตามสัญญาตลอดระยะเวลา 5 ปี ทั้งที่โฆษณาไว้ก่อนซื้อว่า ที่ดินในโครงการนั้นเป็นที่ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชทางเกษตร จนเข้าสู่ปีที่ 7 โครงการจึงเรียกเจริญให้ทำสัญญาขึ้นใหม่ โดยให้นับปีที่ 7 เป็นปีแรก คำถามของเจริญก็คือ “แล้วดอกเบี้ยที่ผมจ่ายไปแล้ว 7 ปี จะทำยังไง?”

หากแต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี โครงการที่โฆษณาว่าได้ทำการวิจัยดินมาแล้วเป็นอย่างดี กลับประสบปัญหาไม่สามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรที่ให้ผลตอบแทนอย่างที่บอกไว้แต่แรกได้ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด ส้มโอ จนเมื่อครบสัญญา 15 ปี แทนที่เจริญจะได้ผลกำไรบวกเป็น 1.7 ล้านตามคำโฆษณา กลับติดลบไป 7 แสน ไม่นับรวมค่าดูแลจัดการอีกร่วม 1 แสนบาท

ภัยจากเสาสัญญาณมือถือ

ตัวแทนคนที่สอง สมคิด โพธิ์จินดา เกษตรกรวัย 60 ปี จากอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเริ่มต้นเรื่องราวของตนจากการให้เช่าที่ดินเพื่อตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือนับตั้งแต่ยุคคลื่นความถี่ 900-1800 เมกะเฮิร์ต พอมาถึงช่วงเปลี่ยนความถี่เป็น 2G นั่นเองที่สมคิดเริ่มประสบปัญหาจากการที่วัวเริ่มผสมพันธุ์ไม่ติด เลวร้ายกว่านั้นคือ วัวบางตัวกลับเป็นมะเร็ง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยเกิดปัญหานี้ขึ้น การเรียกร้องเพื่อให้ถอนเสาสัญญาณจึงเกิดขึ้น ทว่าผลกระทบตกค้างยังคงอยู่

ปัจจุบันสมคิดประสบปัญหาด้านสมรรถภาพที่ถดถอย ทั้งที่ไม่เคยดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ตลอดจนถึงเรื่องความจำที่เริ่มหลงลืม

มหัตภัยรถโดยสารสาธารณะ

สุนี อนุพงศ์วรางกูร ตัวแทนผู้บริโภคคนต่อมา บอกเล่าเรื่องราวของตนจากการที่รถทัวร์ของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งให้บริการจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ เกิดอุบัติเหตุพุ่งชนรถกระบะที่มีสามีของสุนีเป็นผู้ขับเสียชีวิต

ในตอนแรกสุนีเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากบริษัทรถทัวร์ ทว่ากลับไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จนเรื่องมาถึงมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้มีการฟ้องร้องเรียกเงินชดใช้จำนวน 8 ล้านบาท ทั้งนี้ ด้วยความที่บริษัทขนส่งจำกัด หรือ บขส.เป็นผู้ให้สัมปทานเดินรถแก่บริษัทรถทัวร์แห่งนี้ บขส.จึงเข้ามาเจรจาแทน ส่งผลให้การต่อรองจบลงที่ตัวเลข 1 ล้านบาท ซึ่งสุนีจำต้องยินยอมด้วยความที่ไม่อยากยืดเยื้อให้เสียเวลา

ประเด็นที่สุนีตั้งคำถามไว้ก็คือ การดำเนินงานของบริษัทรถทัวร์นั้นใช้รถที่ค่อนข้างเก่า รวมถึงใช้คนขับเพียงคนเดียวบนเส้นทางไกลจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ ไม่นับรวมการสวมทะเบียน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงไม่แปลกที่บริษัทจะปฏิเสธความรับผิดชอบ

ถ้าเช่นนั้นแล้วหน่วยงานหรือองค์กรใดจะรับผิดชอบ หรือทำหน้าที่ตรวจสอบให้แทนประชาชน

ซื้อรถพัง ช้ำใจทั้งชีวิต

เรื่องราวของ มงคล ปุรมณีวิวัฒน์ เป็นเรื่องของการซื้อรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งแล้วประสบปัญหาด้านเกียร์ชำรุด ซึ่งในตอนแรกทางศูนย์ก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการซ่อมแซมให้ แต่ยังใช้เกียร์เดิม ส่งผลให้การขับรถยังประสบปัญหาเดิมอยู่ และในคราวนี้ศูนย์บริการปฏิเสธการเปลี่ยนอะไหล่ให้ด้วยเหตุผลว่าไม่พบความผิดปกติใดๆ

เมื่อศูนย์ปฏิเสธความรับผิดชอบ ในขณะที่ปัญหายังคงอยู่ มลคลจึงได้เริ่มเสาะหากลุ่มคนที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน รวมตัวกันฟ้องร้องผ่านมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จนนำไปสู่เรียกเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัทรถยนต์ และจบลงที่เงินชดเชยอันน้อยนิด ซึ่งมงคลมองว่าแม้แต่ค่าดาวน์ยังไม่พอ

ในที่สุดเรื่องจึงถึงศาล และปัจจุบันยังอยู่ในขั้นฎีกา

ความยากลำบากอย่างหนึ่งที่มงคลมองเห็นก็คือ เรื่องการฟ้องร้องและติดตามความคืบหน้าของคดี ควรจะมีหน่วยงานหรือองค์กรกลางมาทำหน้าที่แทนประชาชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรม บางคนต้องหาเช้ากินค่ำ บางคนเป็นพนักงานเงินเดือนที่จำต้องลาออก เพราะลาหยุดไปศาลจนไม่อาจทำงานทำการได้

“ควรจะมีกฎหมายที่ง่ายต่อการให้ประชาชนเข้าถึง” มงคลกล่าว

ในปัญหาเดียวกันนี้ ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาด้านสินค้าและบริการเช่นเดียวกันอย่าง คณิต เสตะรุจิ อดีตสถาปนิกวัย 61 ก็ให้ทัศนะในทางเดียวกับมงคล โดยเรื่องราวของคณิตเกิดขึ้นจากการใช้บริการสถานออกกำลังกายแห่งหนึ่งที่จ่ายเงินไปแล้วกลับไม่ได้รับบริการอย่างที่วาดหวัง

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยจำนวนเงินที่จ่ายเป็นค่าบริการไป สถานออกกำลังกลับทยอยปิดตัวลง ส่งผลให้คณิตและผู้ใช้บริการรายอื่นๆ ต้องออกมาเรียกร้องเงินชดเชยจากบริษัทสถานออกกำลังกายนั้นด้วยตนเอง แทนที่จะเป็นหน้าที่ของ สคบ. หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน

อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพลวงโลก

ลำดับถัดไป ธีระ ชีพดำรง มาบอกเล่าประสบการณ์จากการซื้ออาหารลดราคาที่ร้านค้าปลีกย่านเอกมัย แล้วประสบปัญหาอาหารเน่าเสียภายในวันเดียว จึงทำการเรียกร้องค่าชดเชยจากทางร้านค้าปลีก แต่กลับได้คำตอบว่าอาหารที่ซื้อไปนั้นเป็นอาหารลดราคาแล้ว จึงจ่ายกลับมาเป็นจำนวนเงินที่ธีระได้จ่ายไป

ปัญหาที่ควรจบ กลับไม่จบ เมื่อธีระมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องเงิน ยังเป็นประเด็นเรื่องสุขภาพด้วย จึงทำการร้องเรียกไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี สายด่วน 1111 แต่กลับได้รับคำตอบที่ทำให้ธีระต้องเสียเวลาอย่างไร้ความหวัง เมื่อสำนักนายกฯ ให้ธีระไปติดต่อกับ สคบ. เมื่อธีระติดต่อไปยัง สคบ.ก็กลับให้ติดต่อไปยัง อย. ท้ายที่สุดหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับเรื่องคือ สำนักอนามัยเขตท้องที่เอกมัย ซึ่งไม่เกินหนึ่งวันก็ติดต่อกลับมายังธีระ เพื่อแจ้งว่าได้ดำเนินการตรวจสอบสินค้าในร้านค้าปลีกแห่งนั้นแล้ว แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติแปลกปลอมใดๆ

ลงท้ายแล้ว กว่าที่ความเดือดร้อนของธีระจะได้รับการบรรเทา ต้องผ่านเวทีกลางของมูลนิธิผู้บริโภค ซึ่งได้เชิญตัวแทนระดับสูงจากทั้งร้านค้าปลีก และบริษัทส่วนกลาง ตลอดจนถึง สคบ. แต่ทว่าคำตอบที่ได้รับคือ

“…คุณต้องทำหนังสือมา ถ้าไม่ทำหนังสือ ผมก็ไปไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของหน่วยงานคุณนะ คุณจะไม่ทำอะไรหน่อยเหรอ” ธีระจบเรื่องเล่าของเขาไว้ที่ประโยคนั้น

รูดปรื๊ด ปล้นกลางห้าง

เสียงต่อมา ปราณี สินสวัสดิ์ สะท้อนเรื่องราวที่เธอตั้งชื่อด้วยตัวเองว่า ‘ปล้นกลางห้าง’ ซึ่งเริ่มจากวันที่เธอไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งแล้วได้รับคำเชิญชวนจากพนักงานที่ให้บริการนวดหน้า โดยการสละเวลา 2 นาที เมื่อปราณีเข้าไปในร้านและได้รับการชักจูงต่างๆ นานา จนกระทั่งมารู้สึกตัวอีกทีเมื่อเซ็นบัตรเครดิตเพื่อรับบริการนวดหน้า 10 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 5 หมื่นแล้ว

เธอได้ถามย้ำกับพนักงานในร้านว่า หากมีอาการแพ้ ขึ้นผื่น หรือคันเกิดขึ้น สามารถยกเลิกได้ไหม พนักงานบอกว่าได้ แต่ทันทีที่กลับถึงบ้านคืนนั้น ใบหน้าของปราณีก็เกิดอาการคันอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าทางร้านจะรับผิดชอบด้วยการเปลี่ยนเป็นสินค้าตัวอื่นในมูลค่าเท่ากัน แต่เงินในบัตรเครดิตที่ปราณีได้จ่ายไปแล้ว ไม่มีการชดใช้แต่อย่างใด

เมื่อทางร้านปฏิเสธที่จะจ่ายเงินคืน ปราณีจึงไม่ชำระค่าบัตรเครดิตตามที่ถูกเรียกเก็บ ซึ่งส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องจากบริษัทบัตรเครดิต ในขณะที่ร้านให้บริการนวดหน้านั้นกลับลอยตัวจากปัญหาไปในที่สุด

เรื่องราวของปราณีจบลงที่ศาลยกฟ้อง เธอไม่ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทบัตรเครดิต แต่ทว่าจนถึงปัจจุบัน ทางร้านที่ให้บริการนวดหน้าก็ยังดำเนินกิจการอย่างลอยหน้าลอยตาอยู่เช่นเดิม

ทวงคืนสิทธิผู้ป่วย

ตัวแทนผู้บริโภคคนสุดท้าย พรทิวา ลามี ซึ่งประสบปัญหาการได้ยิน คนรักของเธอจึงมาเป็นปากเสียงให้แทน

คนรักของพรทิวาบอกเล่าเรื่องราวของแฟนสาวที่มีอาการปวดหลังในราวปี 2555 จึงเข้าทำการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่พบอาการผิดปกติใดๆ แต่เพื่อความแน่ใจทางโรงพยาบาลจึงเสนอให้เข้าโปรแกรมตรวจผ่านเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) เมื่อพรทิวาได้ทำการตรวจแล้ว กลับมาบ้าน อาการแรกที่พบคือ ใบหน้าบวมขึ้น จากนั้นไม่นานนักก็เริ่มสูญเสียการได้ยิน

คนรักของพรทิวาร้องเรียนกลับไปยังโรงพยาบาล และได้รับยากลับมาเพื่อรับประทานพร้อมคำมั่นว่าอาการจะดีขึ้น โดยต้องมารับยาทุก 2 เดือน แต่จนแล้วจนรอด ผ่านไป 2 ปี อาการของพรทิวายังไม่ดีขึ้น ที่สุดจึงนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกเงินชดเชยเป็นจำนวน 5 ล้านบาทจากโรงพยาบาล ซึ่งเบื้องต้นทางโรงพยาบาลได้แจ้งกลับมาในขั้นตอนเจรจาว่า ไม่สามารถชดเชยเงินตามจำนวนที่เรียกมาได้ คำตอบของคนรักพรทิวา คือ

“ผมไม่ได้จะเรียกคุณ 5 ล้าน แต่ผมถามคุณหน่อยว่า ชีวิตคนคนหนึ่งจะให้ได้เท่าไหร่?”

เสียงจากผู้บริโภคเสียงสุดท้ายจบลงตรงคำถามที่ในท้ายสุดแล้ว สิ่งที่คนรักของพรทิวารวมถึงผู้บริโภคคนอื่นๆ ต้องการ อาจวัดไม่ได้ด้วยตัวเลขของเงิน…เสมอไป

สคบ. อยู่ตรงไหน?

หลังรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคแล้ว พิฆเนศ ต๊ะปวง ในฐานะของรองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ออกตัวด้วยการให้แสดงความเห็นในฐานะผู้บริโภค จากเรื่องราวของตนเองที่รับโอนบ้านของโครงการแห่งหนึ่ง แต่กลับไม่มีสปอร์ตคลับตามที่โฆษณาไว้ จึงรวมตัวกันกับเพื่อนบ้านที่รับโอนมาพร้อมกันร่วมร้อยหลังเพื่อเรียกร้องจากโครงการ

ในฐานะของรองเลขาธิการของ สคบ. พิฆเนศรับรู้ดีว่า การดำเนินการของ สคบ.ตามขั้นตอนจนความเดือดร้อนของชาวบ้านได้รับการตอบสนองเป็นอัตราที่ต่ำมาก จาก 100 เปอร์เซ็นต์ หากสามารถติดตามได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

ดังนั้น พิฆเนศจึงร่วมกับเพื่อนบ้านนำป้ายไปแขวนไว้ยังหน้าบ้านอีก 200 หลังในโครงการที่ยังขายไม่ได้ ว่าไม่ต้องซื้อ โครงการนี้จะเจ๊งแล้ว

“….เท่านั้นแหละครับ ไม่ถึงเดือน โครงการก็มาทำสัญญาสร้างสปอร์ตคลับให้ 8 ล้าน”

พิฆเนศสะท้อนจากเรื่องราวของตนเองว่า พลังที่เข้มแข็งในการเรียกร้องสิทธินั้น คือพลังของผู้บริโภคด้วยกันเอง

“ถ้าเราเข้มแข็งในการต่อสู้ต่อรอง สิ่งที่จะเกิดข้อพิพาทมันก็จะน้อยลง ผู้ประกอบการก็จะทำสิ่งที่ดีขึ้น แต่ถ้าเราไม่เข้มแข็งนี่ ไม่มีโอกาสเลยครับที่จะทำให้อีกฝั่งโน้มมาหาเราได้ กลไกรัฐก็เป็นกลไกหนึ่ง แต่ต้นเหตุคือผู้ประกอบการ”

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

อีกเสียงหนึ่งจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชนจาก สสส. วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ให้ความเห็นว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้นมีหน้าตาที่ดูดี ทั้งในหลายฉบับที่ผ่านมาในอดีต แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับเป็นเรื่องยาก จากปัญหาที่หน่วยงานโยนปัญหาของผู้บริโภคไปมา

เบื้องแรกวิเชษฐ์ให้ข้อแนะนำว่า ผู้บริโภคควรอ่านละเอียดในสัญญาต่างๆ ให้เข้าใจก่อนตัดสินใจ ข้อต่อมาคือเรื่องการเยียวยาผู้บริโภคระหว่างขั้นตอนก่อนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาล รวมถึงในขั้นตอนการเจรจาระหว่าง สคบ. ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ตลอดจนสิ้นสุดกระบวนการ

ข้อสุดท้ายวิเชษฐ์เสนอว่า ควรจะมีสถาบันที่เป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลของสินค้าต่อผู้บริโภคเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ทั้งหมดทั้งมวลจำต้องอาศัยกลไกที่เป็นอิสระและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

คำถามที่ไม่ได้เอ่ย แต่เชื่อได้ว่าเป็นคำถามที่อยู่ในใจผู้บริโภค แล้วใครล่ะที่จะเป็นคนกลางที่ว่านั้น?

ในวันที่ไม่มีใครคุ้มครองผู้บริโภค

ตอกย้ำด้วยความเห็นจาก รศ.ภญ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่มองว่าข้อบัญญัติในมาตรา 46 ของร่างรัฐธรรมนูญกับสถานการณ์จริงจากตัวอย่างที่ได้รับฟังมาทั้งหมด 8 เรื่องราวนั้นคือ สิทธิของผู้บริโภคยังไม่ได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด ไม่ต้องข้ามไปยังวรรคสองและวรรคสาม ทั้งในเรื่องที่บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และในเรื่ององค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้วยซ้ำ

“ทั้งนี้เพราะพลังของผู้บริโภคในฐานะปัจเจกและผู้ประกอบการนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกทั้งสินค้ายังเป็นสินค้าในระบบอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการนั้นมีพลังมากมาย เพราะฉะนั้นเราต้องการกลไกในการที่จะทำให้วรรคหนึ่งนั้นเป็นไปได้”

ต้องไม่ลืมว่าสิทธิในการปกป้องตนเองนั้น ไม่ใช่แค่เพียงในฐานะผู้บริโภค แต่เป็นการต่อสู้ในฐานะของประชาชนที่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

และนี่จึงอาจจะเป็นคำถามที่ใหญ่ยิ่งกว่า โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ปกครองโดยรัฐบาล ซึ่งไม่เคยมองประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง


ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 ฉบับลงประชามติ มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า
สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง
บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า