โลกร้อนทะลุ 1.5 องศา เป้าหมาย COP27 เป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน ถึงเวลาประชาคมโลกต้องปรับตัว

นับแต่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ผลรูปธรรมชี้ว่าประชาคมโลกต้องตั้งโจทย์ใหม่และยอมรับกับข้อเท็จจริงที่ว่า อุณหภูมิโลกจะสูงกว่าข้อตกลงดังกล่าว รวมถึงข้อวิจารณ์ของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ว่า เวทีการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาด้านสภาพอากาศ หรือ ‘COP27’ ไม่ได้ต่างอะไรกับ ‘Greenwashing’ — เครื่องซักผ้าที่ย้อมสูทของผู้นำแต่ละประเทศให้เป็นสีรักษ์โลก

ย้อนไปในปี 2015 รัฐมนตรีการต่างประเทศของหมู่เกาะมาร์แชลล์ ประกาศกร้าวว่า คงจะต้องมีการเซ็นใบมรณบัตรของประเทศเล็กๆ อย่างตน ถึงจะยอมรับกันได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกอาจสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส สิ่งนี้สร้างความตื่นตะลึงให้กับที่ประชุม COP21 ณ กรุงปารีส ความตกลงปารีสจึงมีเป้าหมายเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และนับเป็นความพยายามครั้งที่ 3 ของประชาคมโลกในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถัดจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocool) ในปี 1997 และความตกลงโคเปนเฮเกน (Copenhagen Accord) ในปี 2009

ถึงอย่างไร ประเทศที่ลงนามในความตกลงปารีสกลับไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย อันที่จริง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป ทำให้ในปัจจุบันโลกร้อนขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ฉะนั้นการจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จึงอาจเป็นเพียงแค่ฝันหวาน

ความล้มเหลวในการควบคุมการปล่อยมลพิษ ส่งผลต่อปะการังในแปซิฟิก และยังส่งผลต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีปัจจุบัน ไล่ตั้งแต่น้ำท่วมปากีสถาน จนถึงพายุเฮอริเคนที่ฟลอริดาซึ่งสร้างความเสียหายหนักสุดตั้งแต่ 1935 ตลอดจนคลื่นความร้อนในยุโรปซึ่งทำให้ผลผลิตการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานเสียหาย

ในบทความ Say goodbye to 1.5°C ของ The Economist ชี้ว่า การตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้ คือต้องยอมรับความจริง นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายคนลังเลที่จะยอมรับว่า ‘1.5 องศา’ เป็นสาเหตุ ซึ่งข้อโต้แย้งคือ หากเรามองข้ามเป้าหมาย 1.5 องศา ก็รังแต่จะทำให้ปัญหาโลกร้อนยืดเยื้อไปเรื่อยๆ เพราะประชาคมโลกนำหลักการมาใช้โดยปราศจากการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย COP27 ที่อียิปต์ จึงควรถอดบทเรียน มิใช่ขับกล่อมด้วยความหวังปลอมๆ

The Economist มีข้อคิดเห็น 3 ประการ ต่อเวที COP27 และท่าทีของประเทศน้อยใหญ่ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ประการแรก รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาจะต้องร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในการระดมทุนภาคเอกชนเพื่อการลงทุนด้านพลังงานสะอาด และต้องยอมรับว่า พวกเขาจะสูญเสียการควบคุมนโยบายพลังงานบางส่วน ขณะที่ภาคเอกชนของกลุ่มประเทศตะวันตกที่ร่วมลงทุน ก็อาจต้องยอมรับความเสี่ยงที่่อาจต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นักลงทุนในความเสี่ยงทางการเมืองและกฎระเบียบต่างๆ ที่สำคัญทั้งรัฐบาลและนักลงทุนอาจต้องทำสิ่งที่ขยาดที่สุด เช่น การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศที่ยากจน

ประการที่สอง ต้องยอมรับว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลไม่สามารถเลิกใช้ในชั่วข้ามคืน ยุโรปกำลังสร้างโรงงานสำหรับนำเข้าก๊าซธรรมชาติ เพราะพวกเขาสูญเสียการนำเข้าจากรัสเซีย และยังไม่สามารถหาพลังงานทางเลือกใหม่ในทันที และสำหรับบางประเทศที่ยากจน การลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติร่วมกับพลังงานหมุนเวียนยังคงมีความจำเป็น

ประการที่สาม เราจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่กำลังสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเสียที ซึ่ง ‘การปรับตัว’ เสมือนลูกนอกคอกของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เมื่อโลกกำลังเผชิญกับน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ และไฟป่ามากขึ้น สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว การเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติเหล่านี้เป็นเรื่องของชีวิตและความตาย ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศ

ในรายงานพิเศษ The challenge of the age ระบุว่า การปรับตัวไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง มันอาจเป็นเพียงการจัดหาและจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรงกว่าเก่าให้กับเกษตรกร หรือติดตั้งระบบแจ้งเตือนเกี่ยวกับพายุไซโคลนในพื้นที่เสี่ยง สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ และนับเป็นความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยจากประเทศร่ำรวย ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้มาก กระนั้น พวกเขาก็ไม่ได้มีท่าทีช่วยเหลือให้มากกว่าที่เป็นอยู่ หากประเทศที่มั่งคั่งยอมให้ ‘โลกร้อน’ กัดกินประเทศที่เปราะบางอยู่แล้ว พวกเขาก็จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการขาดแคลนอาหารและแบกรับปัญหาจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้การให้ความสนใจกับเทคโนโลยีช่วยโลกอย่างการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ หรือ ‘solar geoengineering’ จะมีความสำคัญและจำเป็น แต่ก็มีข้อกังวลที่ว่า เทคโนโลยีและธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ควบคุมได้เบ็ดเสร็จ รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ไม่ได้ทำให้โลกถึงกับวินาศสันตะโร มันเป็นเพียงโทษประหารชีวิตสำหรับคนบางกลุ่ม วิถีชีวิตบางส่วน และระบบนิเวศบางแถบถิ่น ซึ่งการประวิงเวลาโดยที่ไม่ได้คิดให้หนักว่าจะทำอย่างไรให้โลกอยู่ในเส้นทางที่ดีกว่า ก็อาจเป็นการจรดปากกาเซ็นใบมรณบัตรด้วยตัวเอง

ฤา COP27 คือเกมการเมือง?

อีกด้าน การประชุม COP27 ในวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 ที่เมืองชาร์ม เอล-ชีค ประเทศอียิปต์ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างใน 2 ประเด็น คือ หนึ่ง-การประชุมเป็นเพียงการฟอกเขียว (greenwashing) ของนักการเมือง สอง-อียิปต์ในฐานะประเทศเจ้าภาพ มีดัชนีสิทธิมนุษยชนในระดับต่ำ ทั้งยังคุมขังนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก สองสิ่งข้างต้น คือข้อกังขาของภาคประชาสังคมต่อความจริงใจและความจริงจังในการแก้ไขปัญหา

The Guardians รายงานว่า อียิปต์มีนักโทษทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมถูกคุมขังราว 60,000 ราย รวมถึง อะลา อับเดล ฟัตตาห์ (Alaa Abd El-Fattah) ผู้ถูกซ้อมขังทรมานด้วยข้อหาหลวกลวงมานานกว่าทศวรรษ อะลา อับเดล ฟัตตาห์ ยังเคยอดอาหารประท้วงกว่า 7 เดือน และไม่ดื่มน้ำประท้วงในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 พฤศจิกายน) ซึ่งตรงกับวันเปิดการประชุม COP27

นอกจากนี้ อชิต ราชโกปาล (Ajit Rajagopal) นักเคลื่อนไหวจากอินเดีย ยังถูกทางการอียิปต์จับกุมตัวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม หลังจากรณรงค์สร้างความตระหนักเรื่องสภาพภูมิอากาศผ่านการเดินเท้าระหว่างกรุงไคโรและเมืองชาร์ม เอล-ชีค และยังมีรายงานว่า มีการจับกุมอย่างน้อย 67 ราย ในกรุงไคโรและเมืองอื่นๆ ในช่วงไม่กี่วันก่อนการประชุม ด้วยเหตุผลว่าสร้างความไม่สงบเรียบร้อย

ทางการอียิปต์ชี้แจงว่า การประท้วงจะได้รับอนุญาตในพื้นที่เฉพาะและอยู่ห่างจากศูนย์การประชุม เพราะผู้นำระดับโลกต้องตัดสินใจเรื่องความเป็นความตายเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพอากาศ

ปฏิกิริยาของรัฐและนักกิจกรรมที่รุนแรงดุเดือด กำลังบอกเราว่า เวทีการประชุม COP27 มีผลอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ หัวใจหลักของ COP27 คือการติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละประเทศหลังการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่มีข้อกำหนดว่า ประเทศต่างๆ ต้องมีแผนการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ หากแต่มีเพียง 25 ประเทศ จากกว่า 200 ประเทศที่ส่งแผนดังกล่าวก่อนการประชุมครั้งนี้

โดย COP27 มุ่งหารือในประเด็นหลักๆ ดังนี้

  • ลดการปล่อยมลพิษ
  • ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการเตรียมพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • สนับสนุนทางเทคนิคและเงินทุนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
  • หยิบยกประเด็นที่ยังดำเนินงานการไม่แล้วเสร็จใน COP26 เช่น การจัดตั้งตลาดคาร์บอนทั่วโลก (global carbon market) เพื่อกำหนดราคาของการปล่อยมลพิษในผลิตภัณฑ์และบริการทั่วโลก รวมถึงตอกย้ำคำมั่นสัญญาลดการใช้ถ่านหิน

หากผู้ที่ให้คำมั่นสัญญาสามารถบรรลุผลข้างต้น โลกร้อนอาจไม่ใช่สิ่งที่เราๆ ต้องวิตกนัก

ที่มา

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า