“เรื่องของคนปฏิวัติ (รัฐประหาร) ผมก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง นี่ครับคนปฏิวัติ ท่านนายกฯ นี่คนเดียว อนุพงษ์ก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง คุณก็เอาผมไปเกี่ยวข้อง ผมยังไม่รู้เลยจะปฏิวัติเมื่อไหร่ 3 ป. 3 เปอ อะไรนี่ พูดไปเรื่อย”
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นแก้ต่างแบบทีเล่นทีจริงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้า คสช. ผู้ก่อการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็ยิ้มรับพลางยกมือข้างหนึ่งขึ้นอย่างภาคภูมิใจ ราวกับจะสื่อความว่า “ฝีมือผมเองครับ”
นับเป็นเรื่องย้อนแย้งไม่น้อยที่การกระทำอันทรยศต่อประชาธิปไตย กลับถูกผู้บริหารประเทศนำมาพูดถึงกลางสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่มีความละอาย
คำถามคือ ‘พลเอก’ ที่ผ่านการทำศึกกับรัฐบาลพลเรือนและประชาชน ภูมิใจอะไรหนักหนากับวีรกรรมการรัฐประหารของตน
WAY จะชวนไปสำรวจเหตุผลของคณะรัฐประหารในยุคสมัยต่างๆ ที่ชี้แจงต่อประชาชนภายหลังจากที่ก่อการยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว เผื่อประชาชนตาดำๆ อย่างเราจะเข้าใจความปลื้มปริ่มของเหล่านายพลได้สักเศษเสี้ยวหนึ่งก็ยังดี
2534: รสช. จี้เครื่องบิน ยึดอำนาจนักการเมือง ยกเหตุผลโกงกินบ้านเมือง
เช้าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี พร้อม พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยขึ้นเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศไทย C-130
ทว่ายังไม่ทันที่เครื่องบินจะ Take–off พลเอกชาติชายก็ถูกปืนจี้บนเครื่องแล้วบังคับยึดอำนาจท่ามกลางสายตาของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์หลายชีวิตที่ติดสอยห้อยตามไปด้วย
การรัฐประหารครั้งนี้เป็นฝีมือของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำทีมโดย ‘นายพลเสื้อคับ’ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 1 (จปร. 1) และ ‘ณ๊องๆ’ จปร. 5 อย่าง พลเอกสุจินดา คราประยูร พลตำรวจเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี และ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล
รสช. ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลในการ ‘ปล้น’ เครื่องบิน (และอำนาจ) ครั้งนี้ว่า รัฐบาลชาติชายฉ้อราษฎร์บังหลวง มีการแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องจากโครงการลุงทุนต่างๆ ของรัฐ โกงกินกันแหลกชนิดที่เรียกว่า ‘บุฟเฟ่ต์คาบิเนต’
รัฐบาลชาติชายยังถูกครหาว่าเป็น ‘เผด็จการรัฐสภา’ ผูกขาดอำนาจได้ตามใจชอบ ดำเนินนโยบายอะไรก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาเสมอ สมคำพูดติดปากของนายกฯ ที่ว่า “No Problem” นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ พยายามทำลายสถาบันทหารและล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมดนี้ รสช. จึงขออาสาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาปราบปรามนักการเมืองชั่วๆ มีการสั่งตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยหลังจากนั้นภายใต้กำกับของ รสช. ก็ปั่นป่วนวุ่นวายไม่แพ้กัน กระทั่งเกิดเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ในปี 2535 มิหนำซ้ำ เหล่าแกนนำของ รสช. ก็ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์จากเงินแผ่นดินไม่ต่างจากนักการเมืองที่พวกเขายึดอำนาจมา
‘พี่จ๊อด’ ของน้องๆ รสช. ขยันรับราชการเสียจนมีทรัพย์สินกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งกลายเป็นมูลเหตุของคดีฟ้องร้องแย่งชิงมรดกระหว่างภรรยา 2 คน ภายหลังจากเขาเสียชีวิตในปี 2542 จนลูกชายอย่าง พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ยังคงเผชิญคำถามตามหลอกลอนจนถึงทุกวันนี้
2549: ปราบทักษิณ จอมโกงกิน หมิ่นเบื้องสูง
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ดูเหมือนว่าสังคมไทยได้รับบทเรียนแล้วว่า ทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เป็นช่วงเวลานานนับทศวรรษที่การเมืองไทยเว้นว่างจากการรัฐประหาร จนกระทั่งวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยมี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือต่อมาใช้ชื่อว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นผู้นำกองทัพเข้ามาในปริมณฑลทางการเมืองแบบโจ๋งครึ่มอีกครั้ง
บรรยากาศทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2540 พรรคไทยรักไทย (ทรท.) ของทักษิณอยู่ในช่วง ‘ขาขึ้น’ หลังเป็นรัฐบาลจนครบวาระ 4 ปี ต่อด้วยการเป็นรัฐบาลสมัยสอง (2544-2548) ซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนถล่มทลายชนิดที่เรียกว่า ‘แลนด์สไลด์’ จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว โดยมีที่นั่งในสภาฯ มากถึง 377 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง
แต่การคุมเสียงข้างมากในสภาฯ กลับก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน ซึ่งมองว่ารัฐบาลมีอำนาจมากเกินไปชนิดที่ ‘เผด็จการรัฐสภา’ ในสมัยพลเอกชาติชายยังเทียบไม่ติด ฝ่ายค้านโจมตีว่าทักษิณใช้อิทธิพลและผลประโยชน์หว่านล้อมสมาชิกวุฒิสภาและองค์กรอิสระต่างๆ เรียกได้ว่า ทักษิณ ‘ซื้อ’ องคาพยพทางการเมืองของรัฐไทยไว้ทั้งหมดแล้ว
มีการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล เพื่อกดดันให้รัฐบาลยุบสภา เป็นเหตุให้ต้องจัดเลือกตั้งใหม่อีกหลายรอบ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน คว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขัน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนตุลาคม 2549
เมื่อโดนขัดแข้งขัดขา ทักษิณถึงกับกล่าวว่า ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’ พยายามกำจัดเขาออกจากอำนาจ แต่กระนั้นก็ยังเชื่อมั่นว่าจะชนะการเลือกตั้งได้อีกครั้ง
ทว่ายังไม่ทันได้เลือกตั้ง พลเอกสนธิก็กระทำการยึดอำนาจเสียก่อน โดยฉวยจังหวะที่ทักษิณเดินทางออกนอกประเทศไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่เมืองนิวยอร์ก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าจะไม่ทำรัฐประหารอย่างแน่นอน
ในคืนที่ทำรัฐประหาร โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้เปิดเพลง ความฝันอันสูงสุด และขึ้นคำประกาศของ คปค. โดยให้เหตุผลในการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า
การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไทยรักไทยทำให้ประชาชนแตกแยกเป็นสองฝ่าย ทำลายความสามัคคีของคนในชาติ การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต พยายามครอบงำองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในบางโอกาสหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่รัก เคารพ และเทิดทูนของปวงชนชาวไทย
แม้หลายฝ่ายพยายามประนีประนอมแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังไม่หยุด เมื่อไม่สามารถรักษาระเบียบบ้านเมืองที่ดีงามเอาไว้ได้ คปค. จึงต้องทำการรัฐประหาร โดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้น พาผู้นำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในเวลาประมาณเที่ยงคืน เพื่อถวายรายงานความเรียบร้อย
พลเอกสนธิ ยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ และใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เขากำลังจะสรรหาผู้ที่เหมาะสมมารับตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรีรักษาการ’ ซึ่งจะต้องเป็นคนกลางที่รักประชาธิปไตยและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (ผู้ที่ได้รับเลือกคือ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีต ผบ.ทบ.) ซึ่งก็ยิ่งทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องผู้มีบารมีของทักษิณมีน้ำหนักขึ้นมากโข
คณะรัฐประหารได้ยกเลิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ และใช้กฎอัยการศึกปกครองประเทศนานกว่า 2 เดือน ทั้งที่ประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม นอกจากนี้ยังมีการใช้ประกาศคณะปฏิรูป 36 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูป 20 ฉบับ เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล มีการโยกย้ายกำลังพลและข้าราชการทหารตำรวจระดับสูงที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทักษิณออก แล้วแต่งตั้งคนที่ไว้วางใจได้เข้ามาแทน
นับเป็นผลงานความภาคภูมิใจของพลเอกสนธิอยู่ไม่น้อยกับการทำรัฐประหารเพื่อปกป้องพระบรมเดชานุภาพ ดังเห็นได้จากการที่ประชาชนจำนวนหนึ่งนำดอกไม้และอาหารมามอบให้ทหารบนท้องถนน แต่เมื่อมีคนถามในภายหลัง (ปี 2555) ว่าใครอยู่เบื้องหลังหรือมีส่วนในการช่วยสนับสนุนการรัฐประหารในครั้งนั้น พลเอกสนธิกลับตอบว่า
“คำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้ ดังนั้น เรื่องบางเรื่องเมื่อถึงเวลาจะปรากฏขึ้นมาเอง”
2557: ‘3 ป.’ ขออาสายุติความขัดแย้ง คืนความสุขให้คนในชาติ
แทบปฏิเสธได้ยากว่าการรัฐประหารที่โค่นอำนาจทักษิณลงในปี 2549 ส่งผลสะเทือนการเมืองไทยยาวนานนับทศวรรษ ความขัดแย้งทางการเมืองอันมี ‘ผีทักษิณ’ คอยวนเวียนหลอกหลอนได้ก่อให้เกิดขบวนการ ‘ปัดเป่า’ อิทธิพลของผีตนนี้ให้หมดสิ้นจากประเทศไทยด้วยสารพัดวิธีการ
เช่น หนึ่งในคนที่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็น ‘นอมินี’ ของทักษิณ คือ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้รับการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเป็นพิธีกรในรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ และ ‘ยกโขยง 6 โมงเช้า’ ให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด และรับเงินเดือนในฐานะลูกจ้าง ซึ่งเป็นการรับเงิน 2 ทาง จนต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งไป
เมื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนอันดับ 1 ในปี 2554 ความเป็น ‘ร่างทรง’ ของผีทักษิณยิ่งปรากฏชัดในสายตาของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
รัฐบาลยิ่งลักษณ์เผชิญบททดสอบตลอดช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ในปี 2554 เกิด ‘มหาอุทกภัย’ แทบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นายกรัฐมนตรีหญิงจึงนำ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 มาใช้ เพื่อดึงอำนาจการจัดการมาอยู่ในมือรัฐบาล ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เสนอให้ประกาศสภาวะฉุกเฉิน มอบอำนาจให้กองทัพเข้ามาช่วยจัดการ กล่าวกันว่าแม้จะผ่านสถานการณ์น้ำท่วมมาได้ แต่คลื่นใต้น้ำก็ได้ก่อตัวขึ้นแล้วระหว่างรัฐบาลและกองทัพ (ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น)
บททดสอบที่โหดหินกว่านั้นมาถึง เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง เพื่อหวังสร้างความสมานฉันท์ปรองดองระหว่างสองกลุ่มเสื้อสี แต่กลยุทธ์ล้างกระดานความผิดครั้งนี้กลับถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งแกนนำ นปช. กับมวลชนคนเสื้อแดงที่เคยเป็นฐานเสียงแก่ตระกูลชินวัตรมาโดยตลอด แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษแบบ ‘เหมาเข่ง’ ครั้งนี้ เพราะจะทำให้ผู้สั่งการปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 พ้นผิดไปด้วย
และศัตรูตัวฉกาจของพรรคเพื่อไทยอย่าง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งนำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็โผล่เข้าฉากการเมืองในช่วงเวลานี้เอง
กปปส. พยายามขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยอ้างการทุจริตในโครงการจำนำข้าว และการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่แม้จะมีการยุบสภาฯ และประกาศให้เลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เหล่า ‘มวลมหาประชาชน’ กลับเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมคูหา ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งหากไม่มีการปฏิรูปเสียก่อน (แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครทราบว่าจะปฏิรูปอะไร)
ความขัดแย้งระหว่าง กปปส. กับมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลและต้องการเลือกตั้ง ได้ขยายเป็นการปะทะอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก กระทั่งกองทัพเคลื่อนรถถังออกมาบนท้องถนน อ้างว่าเพื่อยุติความขัดแย้งในสังคมไทย
ใช่แล้ว การรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้งบนแผ่นดินไทย คณะรัฐประหารหนนี้นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
‘น้องตู่’ จปร. 23 ได้รับการหนุนหลังจาก ‘พี่ป้อม’ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จปร. 17 และ ‘พี่ป๊อก’ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา จปร. 21 จนได้รับการขนานนามว่า ‘พี่น้อง 3 ป.’ (ประยุทธ์-ประวิตร-ป๊อก)
นายพลเหล่านี้เป็นทหารที่เติบโตมาจากการคุมกำลังของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร. 21 รอ.) ซึ่งเคยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็น ‘องค์ผู้บังคับการพิเศษ’ (จึงถูกเรียกว่า ‘ทหารเสือราชินี’) และเนื่องจากมีฐานกำลังอยู่ในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี จึงมีอีกสมญานามว่า ‘บูรพาพยัคฆ์’ โดยมีภารกิจสำคัญๆ เช่น งานป้องกันชายแดน งานรักษาความสงบเรียบร้อยมั่นคงภายใน งานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริในพื้นที่ทุรกันดาร ฯลฯ
ว่ากันว่าการโยกย้ายทหารในภายหลังรัฐประหาร 2549 ได้พลิกเกมให้ทหารสายบูรพาพยัคฆ์เติบใหญ่ในกองทัพจนสามารถส่ง ‘พี่น้อง’ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และแม่ทัพภาคที่ 1 ของกองทัพบก ต่อเนื่องกันในช่วงปี 2550-2559 เช่น พลเอกอนุพงษ์ พลเอกประยุทธ์ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร และพลเอกธีรชัย นาควานิช
และเป็นทหารบูรพาพยัคฆ์เหล่านี้เองที่มีบทบาทสำคัญในการคุมกองกำลังก่อการรัฐประหารทั้งในปี 2549 และปี 2557 กระทั่งมีบทบาททางการเมืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
หลังรัฐประหารไม่นานนัก คสช. มอบหมายให้ทหารแจกใบปลิวเพื่อชี้แจงสาเหตุที่ต้องทำการยึดอำนาจในหัวข้อ ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คืนความสุขให้ประชาชน’ ซึ่งมีใจความหลักๆ คือ เพื่อยุติความขัดแย้งและแตกแยกทางการเมืองที่ลุกลามทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และเพื่อปราบปรามการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อความขัดแย้งบานปลายเป็นการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้ามด้วยอาวุธ โดยฝีมือการปลุกปั่นของนักการเมืองเลว โกงกิน และไม่จงรักภักดี กองทัพซึ่งเป็นศูนย์รวมของ ‘ความดี’ จึงขออาสายึดอำนาจ เข้ามาจัดระเบียบและปฏิรูปการเมืองอย่างเร่งด่วน เพื่อคืนความสุข ความรัก และความสามัคคีแก่คนในชาติ
อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์และพวก ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับ 8 ปี ก็น่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่า คสช. อาจไม่ได้ย่อมาจาก ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ อย่างที่กล่าวอ้าง
มิหนำซ้ำ ‘แก๊ง 3 ป.’ กลับกลายเป็นต้นตอทำให้ปัญหาที่มีอยู่ซับซ้อน ขยายวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กระทั่งต้องโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้านเรื่อยมา
ในศึกอภิปรายฯ ครั้งล่าสุด (19-22 กรกฎาคม 2565) ‘3 ป.’ โดนไล่เบี้ยหนักข้อขึ้น จนพี่ใหญ่ค่ายบูรพาพยัคฆ์ถึงกับออกตัวว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปฏิวัติ (รัฐประหาร) แล้วโบ้ยไปที่น้องเล็กสุด ซึ่งยกมือรับด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจ
อ้างอิง
- สามทศวรรษการเมืองไทย ขาลงและจุดจบของนายกรัฐมนตรี
- รัฐประหาร รสช. : 23 ก.พ. 2534 เมื่อฉันถูกจี้บนเครื่องบินพร้อมนายกรัฐมนตรี
- #อ้ายมีเหตุผล และ #อ้ายเก่งกะด้อ อ่านคำโฆษณาหล่อๆ ของ คสช. หลังก่อรัฐประหารเมื่อ 8 ปีที่แล้ว
- 19 กันยายน 2549: รัฐประหารที่ยากจะคิดว่าจะเกิดขึ้น
- เสธ.หนั่นถาม-พล.อ.สนธิตอบ: ใครอยู่เบื้องหลัง 19 กันยา?