แปลและเรียบเรียงโดย ดร.จิตติพร ฉายแสงมงคล
มหานครนิวยอร์คถือเป็นศูนย์กลางการระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐอเมริกา โดยมีการประกาศพบผู้ติดเชื้อรายแรกอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งในวันที่ 7 มีนาคม แอนดรูว์ คูโอโม (Andrew Cuomo) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ค ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และมีประกาศปิดโรงเรียนทั้งหมดในนครนิวยอร์ค ในวันที่ 15 มีนาคม
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากชาวนิวยอร์คบางส่วนได้อพยพออกจากเมืองไปในช่วงเดือนมีนาคม จำนวนขยะในบางย่านลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ใครออกจากเมืองไปบ้าง และเรื่องนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างไร
เควิน คีลลี (Kevin Quealy) จาก The New York Times กล่าวว่า ประชากรนครนิวยอร์คประมาณ 420,000 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 8,400,000 คน ได้อพยพออกจากเมืองในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 1 พฤษภาคม 2020 โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านแมนฮัตตันที่ร่ำรวยที่สุดของเมือง ซึ่งตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติ COVID-19 มีจำนวนผู้อาศัยลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ย่านอื่นมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จาก 3 สำนัก ได้ทำการประเมินการเคลื่อนตัวของประชากรโดยใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือแบบไม่ระบุตัวตน เพื่อประเมินว่าคนนิวยอร์คเดินทางมากแค่ไหน และเดินทางไปที่ใด แม้ว่าข้อมูลประเภทนี้จะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่บทวิเคราะห์ทั้ง 3 ชิ้นได้ผลออกมาใกล้เคียงกันคือ ประชากรทั้งเมืองลดลง 4-5 เปอร์เซ็นต์ โดยคนที่อพยพออกไปส่วนใหญ่มาจากย่านแมนฮัตตัน
รวยกว่า หนีก่อน
คิม ฟิลลิปส์-ไฟน์ (Kim Phillips-Fein) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤติส่งผลกระทบต่อคนแต่ละชนชั้นไม่เท่ากัน แม้นครนิวยอร์คจะมีวาทกรรมที่ว่า ‘เราจะไม่ทิ้งกัน’ แต่นั่นไม่สะท้อนความเป็นจริง
ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านแมนฮัตตันนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว จบการศึกษาสูง พวกเขาสามารถเดินหรือปั่นจักรยานไปที่ทำงาน หรือเลือกทำงานที่บ้านได้ และพวกเขามีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนอื่นๆ ในนครนิวยอร์คถึง 2 เท่า (คนย่านแมนฮัตตัน 8 แสนคน มีรายได้เฉลี่ย 3,850,000 บาทต่อปี คนที่เหลือในนิวยอร์ค จำนวน 7.6 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ย 1,940,000 บาทต่อปี)
นับตั้งแต่มีการระบาด ผู้มั่งคั่งในนครนิวยอร์คต่างย้ายไปอยู่ชานเมืองรอบๆ บ้างก็ไปหาเช่าหรือซื้อบ้านหลังที่สอง เพื่อหนีวิถีชีวิตที่แออัดในเมืองและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ บ้างก็มีบ้านพักตากอากาศอยู่ที่รัฐอื่น เช่น แถบชายหาดของรัฐฟลอริดา ซึ่งเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นช่วงหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ที่ขับเคลื่อนให้ตลาดบ้านชานเมืองนิวยอร์คคึกคักขึ้นมาพักหนึ่ง
เรื่องของสองนคร
การระบาดของโคโรนาไวรัสเปิดเผยให้เห็นสังคมสองชนชั้นในนครนิวยอร์ค ในย่านคนผิวขาวที่มั่งคั่งกว่าจะสังเกตได้ว่าสภาพท้องถนนว่างเปล่า ลานจอดรถโล่ง เพราะผู้คนอพยพออกไปยังบ้านชานเมือง หรือทำงานจากที่บ้านและสั่งอาหารมารับประทานได้
ในขณะที่ย่านที่ยากจนกว่า อย่างย่านบรองซ์ ที่มีคนผิวสีอยู่กว่า 84 เปอร์เซ็นต์นั้น ถนนยังเต็มไปด้วยผู้คนที่ต้องเดินทางไปทำงาน เมื่อก่อนคนนิวยอร์คเคยเรียกพวกเขาว่า ‘พนักงานบริการ’ แต่ตอนนี้พวกเขาถูกเรียกว่า ‘พนักงานทัพหน้า’ (essencial workers) และต้องออกไปทำงานโดยไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานเหล่านี้เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน หรือ ‘ชาวฮิสแปนิค’ และทำงานเป็น พยาบาล พนักงานรถไฟใต้ดิน พนักงานสุขาภิบาล พนักงานขับรถตู้ พนักงานขายของชำ คนทำความสะอาด คนส่งอาหาร และคนขับรถบรรทุก เป็นต้น
ความเหลื่อมล้ำในสังคมนิวยอร์คนั้นได้สะท้อนออกมาผ่านจำนวนผู้ติดเชื้ออีกด้วย โดยเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีแนวโน้มที่จะป่วยหนักจาก COVID-19 และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนผิวขาวถึง 2 เท่า ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักรองลงมาคือ กลุ่มคนผิวขาวและคนเอเชีย
อูเช แบล็คสต็อค (Uché Blackstock) แพทย์เวชบำบัดวิกฤติในนิวยอร์ค กล่าวว่า “การระบาดครั้งนี้เผยให้เห็นความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ในนครนิวยอร์คมาตลอด ถ้าเราละเลยคนของเราและไม่ใส่ใจกับชุมชนของเรา นี่คือสิ่งที่เราได้รับ”
สนับสนุนโดย