CUrious girls&guys: 6 ตุลา วิชาที่ไม่เคยได้เรียน

artboard-1-copy-9

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ปาริชาติ หาญตนศิริกุล

 

วันนี้เป็นวันครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีกิจกรรมที่จัดเพื่อรำลึก เสวนา เทศกาลภาพยนตร์ เทศกาลหนังสือ ในหลายมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และที่นี่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“6 ตุลาฯ ชาวจุฬาฯ มองอนาคต” คือชื่องานหลัก ภายในงานมีกิจกรรมแยกย่อย เช่น เสวนา ‘ตุลา Talk’ โดยวิทยากรอย่าง นิ้วกลม, โตมร ศุขปรีชา, จอห์น วิญญู, เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ และปาฐกถาที่มีแต่ในกำหนดการของ โจชัว หว่อง

ก่อนงานเริ่ม ณิชากร ศรีเพชรดี กองบรรณาธิการตัวจี๊ดแห่งนิตยสาร WAY สำรวจความคิดเห็นของ ‘คนรุ่นใหม่’ อายุไม่เกินมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 ที่มาร่วมงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเขาเอ่ยถึง first impression แห่ง nightmare ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ของสังคมไทย เพราะการมองไปในอดีตมีจุดเริ่มต้นที่ปัจจุบันไม่ใช่หรือ


 

%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%b2

ลักษิกา อุดมศรีสำราญ รัฐศาสตร์ ปี 4 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“ถ้าถามว่ารู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ตุลาฯ บ้าง ช่วงมัธยมจำได้แค่คีย์เวิร์ดคำว่า ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ เรารู้แค่นั้น แต่พอเข้ามหา’ลัย ได้ฟังอาจารย์เลคเชอร์เรื่องนี้ เราจึงว่าตัวเองไม่เคยรู้จักเหตุการณ์นั้นอย่างจริงๆ เลย มันเป็นคนละเรื่องกันเลย ไม่ต้องพูดไปถึงว่าเหตุการณ์นี้สำคัญอย่างไร เพราะตอนนั้นเรายังสับสนอยู่เลยว่า เหตุการณ์ใดเกิดก่อนหรือหลังกันแน่ ระหว่าง 14 กับ 6 ตุลาฯ มีความสับสนในข้อมูลอยู่มากเหลือเกิน แต่ตอนนี้เราแม่นมาก (หัวเราะ)

“เรารู้ว่ามีคนถูกฆ่า แต่ทำไมถึงถูกฆ่า? เราได้ยินว่าพวกเขาแบ่งเป็นฝ่ายซ้ายและขวา แต่เฉดความเข้มของซ้ายละ เขาซ้ายขนาดไหน เพราะคุณไม่บอกอะไรเลย ประวัติศาสตร์บอกเราว่า อะไรที่เป็นซ้ายก็คือคอมมิวนิสต์ หรือซ้ายรัวๆ ทุกคนถูกสอนว่ามันคือความเลวร้าย สรุปแล้ว เราเลยไม่เข้าใจกันสักทีว่า คอมมิวนิสต์ ‘ในช่วงเวลานั้น’ (เน้นเสียง) มันคืออะไร”

 

%e0%b8%a8%e0%b8%b8%e0%b8%a0%e0%b8%a4%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b9%8c

ศุภฤกษ์ เวสารัชช์ รัฐศาสตร์ ปี 4 การปกครอง

“6 ตุลาฯ ทำให้เราเห็นว่า ‘การมองคนไม่เป็นคน’ เป็นอย่างไร ทำให้เราตั้งคำถามสวนย้อนกลับมาที่ปัจจุบันว่า การมองคนในลักษณะนี้โอเคจริงๆ เหรอ”

Q: คนส่วนใหญ่ชอบพูดชอบบอกกันว่า เหตุการณ์ในอดีตมันผ่านไปแล้ว ให้อภัยแล้วลืมมันเสียเถอะ

“เราเห็นว่าการกลับไปรู้ประวัติศาสตร์อย่างจริงจังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่าเคยเกิดอะไรขึ้น เกิดจากอะไร เพื่อเข้าใจแล้วหลีกเลี่ยง ไม่เจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก”

 

%e0%b8%8b%e0%b8%b5%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a1

ซีเกมส์ พิชาภพ เข็มพุดทรา รัฐศาสตร์ ปี 1 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“ก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ได้รู้เท่าที่ตำราอยากจะบอก เรารู้แค่นั้น แต่พอเราโตขึ้น เราได้เจอข้อมูลชุดใหม่ เราก็รู้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการชำระ คำถามคือทำไมไม่มีใครพูดถึง ข้อมูลที่ถูกปกปิดคืออะไร ผมคิดง่ายๆ นะครับ ถ้ามีเรื่องที่ถูกปิดไว้เรื่องหนึ่ง ก็ต้องมีเรื่องที่ปกปิดอื่นๆ ตามมาอีกแน่ๆ ‘เหตุการณ์นี้สำคัญอย่างไร?’ เพราะเป็นประวัติศาสตร์ครับ เราเรียนรู้เพื่อเข้าใจ และไม่กลับไปตกอยู่ในสถานการณ์เดิมๆ อีก”

%e0%b8%98%e0%b8%a3%e0%b8%93%e0%b9%8c%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%9e

ธรณ์เทพ มณีเจริญ การปกครอง รัฐศาสตร์ ปี 1

“เกิดจากความสงสัยครับ เพราะตอนมัธยม เราถูกสอนกันว่า 14 ตุลาฯ คือชัยชนะของประชาธิปไตย แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือถึงพูดก็เป็นข้อมูลที่สับสน ผมจึงหาหนังสือมาอ่าน เข้าห้องสมุด ยิ่งพอเข้ามหาวิทยาลัยก็ยิ่งเจอข้อมูลชุดใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เราเลยยิ่งรู้สึกว่าข้อมูลตรงนี้สมควรที่จะถูกนำออกมาพูดคุยกันอีกที”

 

%e0%b8%93%e0%b8%a8%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b9%8c

ณศักต์ พงษ์ศรี เศรษฐศาสตร์ 

“อย่างที่เรารู้มาครับว่า วิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนมัธยมมีข้อมูลน้อยมาก ความสนใจของผมมาจากคำถามแค่คำถามเดียวครับ ‘ทำไมเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถึงมีการฆ่ากันได้โดยไม่มีใครลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับมันเลย’ ก็เลยทำให้เราพยายามหาข้อมูล มองมันในมุมอื่น

“ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงสำคัญในคนรุ่นผม? ผมรู้สึกว่า เรา-ประชาชนไม่มีที่ยืนในประวัติศาสตร์เลยครับ เพราะประวัติศาสตร์ไม่เคยถูกเขียนขึ้นมาจากมุมมองของประชาชนเลย เหมือนเป็นเรื่องเล่าที่เขาเขียนขึ้น มันอันตรายครับ เพราะสุดท้ายก็เท่ากับ เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเลย”

 

%e0%b8%a1%e0%b8%93%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%b2

มณนิกา จันทวี สถาปัตยกรรมศาสตร์

“เป็นเรื่องที่ไม่เคยเรียนในสมัยมัธยม และรู้สึกว่าเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่จะสนใจและรู้เรื่องนี้ โดยที่เราก็เป็นหนึ่งในนั้น เลยอยากจะมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น รู้สึกว่าคนที่อายุเท่าๆ กันส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับเรื่องนี้ แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสนใจ ถ้ามีใครคนหนึ่งต้องตายไป เขาไม่ใช่ญาติเราก็จริง แต่เขาก็เป็นคนเหมือนกัน ถ้าในสังคมมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น มันอาจเกิดขึ้นกับเราหรือกับใคร มันเลยเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสนใจมากขึ้น

“เหตุการณ์นี้มีคนเสียชีวิต เสียเลือดเสียเนื้อ ใครก็ตามที่ตายไปเราไม่ควรที่จะลืมเขา ทุกชีวิตมีคุณค่า ไม่ควรจะโดนลืม”

 

%e0%b8%aa%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%82%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b8%8d%e0%b9%8c

สิกขวิชญ์ อมรนรชัย เศรษฐศาสตร์

“เรารู้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมากกว่า โรงเรียนไม่ค่อยได้สอนมากนัก เรารู้สึกเหมือนว่าได้เรียนเรื่อง 6 ตุลาฯ เพียงไม่กี่บรรทัดแล้วก็ข้ามไปเลย”

“สิ่งที่ง่ายที่สุด อาจเริ่มจากการกลับไปปรับบทเรียน ย้อนกลับไปศึกษาแค่ช่วงร้อยปีที่ผ่านมา เอาแบบใกล้ๆ ก่อน อะไรที่เกิดขึ้นก็เรียนประมาณ 1916-1918 ก่อนก็ได้ ยุคไทยรบพม่า พม่าบุกอะไรอย่างนี้ ผมคิดว่าเด็กหาอ่านเองได้ ผมคิดว่าสอนสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของคนเรียนอาจจะโอเคกว่า”

%e0%b8%81%e0%b8%8f%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%93%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%a1

ดอม รุ่งเรือง / กฎเกณฑ์ กิตติขจร

ดอม: ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนส่วนใหญ่เป็นสงครามระหว่างทหารกับทหาร แต่นี่เป็นทหารกับพลเรือน เลยอยากมาลองฟังดู

กฏเกณฑ์: และเป็นทหารจริงๆ หรือเปล่าก็ไม่รู้ เอาเข้าจริงแล้วเราก็ยังไม่ค่อยได้เรียนอะไรมาก เพราะตามหลักสูตรเราจะเริ่มเรียนจริงๆ เทอมหน้า เราก็รู้แค่เท่าที่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตบอก และก็ฟังจากข่าวที่เขารายงาน ทั้งในอินเทอร์เน็ตและโทรทัศน์ในช่วงนี้

ดอมและกฎเกณฑ์ ตอบคำถาม WAY ยกเว้น หนุ่มน้อยอีกคนแห่งแก๊งเซนต์คาเบรียลแก๊งนี้ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์พร้อมกล่าวว่า

“ผมไม่ขอให้สัมภาษณ์นะครับ ผมหนีแม่มา”

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า