6 ตุลา: อ่านข้อเท็จ-จริง จาก ‘หน้าหนึ่ง’ เมื่อ 43 ปีที่แล้ว

โลกในยุคโซเชียลมีเดีย รัฐอาจจะไม่สามารถใช้กระบอกเสียงฝ่ายเดียวเพื่อปิดกั้นความคิดของผู้คนได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด คำถามคือในยุคสมัยการส่ง-รับสัญญาณแบบอนาล็อกการรายงานประเด็นทางสังคมเป็นเช่นไร ในวันที่โทรทัศน์ยังคงเป็นสีขาวดำ และสถานีวิทยุเป็นห้องเล่าข่าวเช่นเดียวกัน อีกพื้นที่สื่อสารความคิดที่สำคัญคือ หนังสือพิมพ์ ซึ่งกลายเป็นสนามในการปลุกเร้าความคิด อารมณ์ผู้คน ที่สำคัญไม่แพ้กัน

สำหรับเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เราไม่อาจพิจารณาเพียงการหลั่งเลือดที่เริ่มในเช้าจนจรดค่ำในวันนั้น แต่อาจคิดถึง ‘เหตุการณ์ 6 ตุลา’ ในฐานะกระบวนการประทับตราเหยื่อ ที่ค่อยๆ รุนแรงขึ้น ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ที่ถูกส่งไปถึงมือผู้คนในทุกๆ วัน

หนังสือพิมพ์ในปี 2519 จึงเสมือนประจักษ์พยานเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่จารึกว่า บ้านเมืองนี้เคยเกิดอะไรขึ้น รวมถึงอาการทางสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าวที่ปัญญาชนคนสำคัญอย่าง เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เรียกว่า ‘Withdrawal Symptoms’ (อาจารย์เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แปลว่า ‘บ้านเมืองของเราลงแดง’) นั้นสะสมขึ้นมาอย่างไร 

WAY คัดหนังสือพิมพ์ 7 หัวในห้วงนั้น ได้แก่ ดาวสยาม,ชาวไทย,เดลิไทม์,สยามรัฐ,ไทยรัฐ และ Bangkok Post แทนไทม์แมชชีน ชวนคนอ่านย้อนไปดูข่าวหน้าหนึ่ง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2519 ไปถึงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เพื่อดูน้ำเสียง ลีลาภาษา ทัศนะ และข้อเท็จ-จริงที่ซ่อนอยู่ในน้ำหมึกบนหน้ากระดาษแต่ละฉบับ

19 กันยายน 2519 

รายงานข่าวจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีออกจากประเทศเนื่องในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้บวชเป็นสามเณรเดินทางกลับเข้าประเทศไทย โดยอ้างว่าเพื่อมาเยี่ยมพ่อที่ป่วย ท่ามกลางกระแสต่อต้านของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและกลุ่มขบวนการแรงงาน

20 กันยายน 2519 

เกิดกระแสการต่อต้านจอมพลถนอม อดีตผู้นำรัฐบาลทหารต้นทศวรรษ 2510 ถัดมาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (องค์ที่ 19) ได้ออกมารับรองว่าจอมพลถนอมได้บวชอย่างถูกต้อง ต่อมาความคิดเห็นในสังคมได้แตกเป็นสองเสียง เสียงแรกคือให้ขับเณรถนอมออกไป เนื่องจากมีความกังวลว่าจะกลับเข้ามาทำรัฐประหารอีก ขณะอีกกระแสเสียง สนับสนุนให้เณรถนอมบวชต่อไปได้ พร้อมๆ กับสื่อบางสำนักเริ่มแปะภาพความรุนแรงต่อขบวนการนักศึกษา

21 กันยายน 2519 

เกิดความรุนแรงในหลายจุด อาทิ เกิดเหตุปาระเบิดใส่บริษัททัวร์ ที เอส ที มีผู้บาดเจ็บ 5 คน สถานีวิทยุยานเกราะอ้างว่าบริษัททัวร์แห่งนี้เป็นของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)

22 กันยายน 2519 

ตำรวจอารักขาบริเวณวัดบวรนิเวศ เนื่องจากทางวัดอ้างว่ากลุ่มต่อต้านพระถนอมจะเข้าไปเผาวัด สื่อเริ่มรายงานว่าฝ่ายต้านจอมพลถนอมจะทำการ “เผาวัดบวร” ขณะที่กลุ่มยุวสงฆ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวร่วมศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยออกมาโต้มหาเถรสมาคมที่รับรองการบวชของเณรถนอม

23 กันยายน 2519

รายงานข่าวเริ่มแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเสนีย์ขาดเสถียรภาพ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4 รายยื่นกระทู้ด่วนเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอม มีผลให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศลาออกกลางสภาผู้แทนฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จไปสนทนาธรรมที่วัดบวรนิเวศ หลังจากนั้นคุณหญิงเกนหลง สนิทวงศ์ นางสนองพระโอษฐ์ แถลงว่า “สมเด็จพระราชินีให้มาบอกว่า ได้ทราบว่าจะมีคนใจร้ายจะมาเผาวัดบวรนิเวศ จึงทรงมีความห่วงใยอย่างมาก ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกัน อย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด”

24 กันยายน 2519

ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม และสมาชิกแนวร่วมประชาชน ที่ติดโปสเตอร์ขับไล่เณรถนอมถูกฆ่าแขวนคอไว้กับประตูทางเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

25 กันยายน 2519

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นคณะรัฐมนตรีชุดที่ 38 ของประเทศไทย

26 กันยายน 2519

ตำรวจแถลงว่าคดีสังหารพนักงานการไฟฟ้า 2 ราย มีความคืบหน้า ขณะที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยืนยันให้จอมพลถนอม ออกนอกประเทศ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เผยให้เห็นความแตกแยกภายในของรัฐบาล

27 กันยายน 2519

สส.พรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายขวา แถลงข่าวใส่ร้ายว่า กลุ่มฝ่ายซ้ายในพรรคตนเองจ่ายเงินให้แก่ ศนท. จำนวน 8 แสนบาท เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์รายงานการเปลี่ยนตำแหน่งในคณะรัฐบาล และเริ่มป้ายสีขบวนการนักศึกษาโดยใช้ประเด็นทางเพศ

29 กันยายน 2519

ศนท. และประชาชนจากกลุ่มต่างๆ ร่วม 20,000 คนชุมนุมประท้วงพระถนอมที่บริเวณสนามหลวง มีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมกล่าวโจมตีผ่านเครื่องขยายเสียงและลอบทำร้ายผู้ชุมนุมด้วยอาวุธ

30 กันยายน 2519

เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มวางแผนรับมือการชุมนุมต่อต้านพระถนอม โดยตรึงกำลังบริเวณสนามหลวง ขณะที่เริ่มมีการแถลงพบอาวุธในกลุ่มนักศึกษาโดยระบุว่ากลุ่มต้านถนอมมีแผนก่อวินาศกรรม

1 ตุลาคม 2519

กลุ่มฝ่ายขวาออกแถลงการณ์ว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และกลุ่มฝ่ายซ้ายต้องการทำลายวัดบวรนิเวศวิหารและล้มล้างรัฐบาล เหล่าฝ่ายขวาจึงร่วมกันปกป้องวัดบวรฯ โดยอ้างพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระราชินี “อย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด” ที่รับสั่งผ่านคุณหญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จนิวัติประเทศไทย

2 ตุลาคม 2519

กลุ่มมวลชนฝ่ายขวาที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานความมั่นคงเริ่มเคลื่อนไหวหนักขึ้น เช่น สมาชิกกลุ่มนวพลทั่วประเทศเดินทางเข้ามาปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วไปชุมนุมกันที่บริเวณสนามไชย ส่วนกลุ่มฝ่ายกระทิงแดงเข้าล้อมวัดบวรนิเวศ

ตัวแทนนักศึกษาจาก ศนท. เข้าพบนายกรัฐมนตรีเรื่องขับไล่จอมพลถนอม แต่ตกลงกันไม่สำเร็จ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จนมัสการเณรถนอมที่วัดบวรนิเวศ

4 ตุลาคม 2519

นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รณรงค์งดสอบเพื่อให้นักศึกษาเข้าร่วมการประท้วงขับไล่สามเณรถนอม และแสดงละครจำลองเหตุการณ์ฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้า

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐถูกคนร้ายโจมตีด้วยปืน M79 เนื่องจากมีคอลัมน์หนึ่งทำนายเรื่องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 

คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของ ม.ร.ว.เสนีย์มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีในกระทรวงที่สำคัญ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จาก พลเอกกฤษณ์ สีวะรา เป็น พลเรือเอกสงัด ชลออยู่

5 ตุลาคม 2519 

หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ลงภาพการแสดงละครเหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้าของนักศึกษา เพื่อประกอบข่าวที่ตำรวจแถลงว่าจับกุมคนร้ายได้แล้ว 

ในตอนบ่าย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม จึงตีพิมพ์รูปการแสดงละครนี้ โดยอ้างถึงภาพถ่ายใบหน้าของอภินันท์ บัวหภักดี นักแสดงละคร มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราช เพื่อประโคมข่าวโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์

สถานีวิทยุทหารออกข่าวว่ามีผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และระดมผู้รักชาติ โดยเฉพาะกลุ่มพลังฝ่ายขวา เช่น กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล จำนวนนับพันไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านนักศึกษา ในช่วงหัวค่ำจึงมีการย้ายการชุมนุมมาอยู่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศหยุดเรียนไม่มีกำหนด

6 ตุลาคม 2519

เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับพาดหัวข่าวเหตุการณ์นองเลือดโดยชูประเด็นนักศึกษาหมิ่นองค์รัชทายาท ผ่านกรณีการเล่นละครที่มีการแขวนคอหุ่นเหมือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

ในวันเดียวกัน ตำรวจ 5 นายถูกจับในข้อหาสมคบฆ่าแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม แต่ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวอย่างเงียบๆ หลังจากนั้น

7-8 ตุลาคม 2519

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล และประกาศปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

(หนังสือพิมพ์กรอบบ่ายของวันที่ 6 ตุลาคม หรือฉบับลงวันที่ ‘7 ตุลาคม’ เป็นฉบับสุดท้ายก่อนถูกปิด ส่วนหนังสือพิมพ์ที่ออกระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคมนั้นไม่มี)

9 ตุลาคม 2519

คณะปฏิรูปฯ ส่งกำลังทหารเข้าตรวจค้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อเนื่อง

(หนังสือพิมพ์ฉบับแรกหลังการประกาศยึดอำนาจ)

  • สื่อมวลชนในยุคนั้นมีบทบาทมากในการปลุกระดมประชาชนว่านักศึกษาเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ หรือ ‘แดง’ หรือ ‘คนญวน’ (เวียดนาม) ไม่ใช่คนไทย เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของขบวนการนักศึกษา
  • มีรายงานข่าวจากสื่อบางสำนักว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธ และมีอุโมงค์ลับ ก่อนจะพบในเวลาต่อมาว่าไม่เป็นความจริง ในขณะเดียวกันตำรวจหลายนายที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้นยอมรับในชั้นศาลว่าได้ใช้อาวุธสงครามเพื่อปราบปรามประชาชน
  • ในวันที่ 6 ตุลาคม มีเจ้าหน้าที่และฝ่ายขวาเสียชีวิต 5 คน ส่วนนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตรวมทั้งหมด 41 คน บาดเจ็บอีก 145 คน ผู้รอดชีวิตฝั่งนักศึกษาและประชาชนกว่า 3,000 คนถูกจับกุมหลังจากนั้น ส่วนมากประกันตัวออกมาภายหลังจนเหลือเพียง 19 คนที่ถูกดำเนินคดีและคุมขังต่อในฐานะจำเลยเกือบ 2 ปี จึงได้รับการปล่อยตัวในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมคำพูดว่า “แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ”
  • ในปี 2560 หรือ 41 ปีหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อภินันท์ บัวหภักดี หนึ่งในนักศึกษาให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่าตนได้เข้ามาเล่นละครนักศึกษา ฉากแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าด้วยความบังเอิญ เนื่องจาก วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ นักศึกษารุ่นพี่ที่ถูกวางตัวให้รับบทนี้ไม่สามารถแสดงว่าถูกแขวนคอเป็นเวลานานๆ ได้ อภินันท์ซึ่งเป็นนักกีฬา ร่างกายแข็งแรง จึงถูกไหว้วานให้รับบทนี้แทน ปัจจุบันอภินันท์ยังมีชีวิตอยู่พร้อมความทรงจำจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 
  • 43 ปีหลังเหตุการณ์หกตุลาฯ หนังสือพิมพ์หลายหัวปิดตัวไป นักหนังสือพิมพ์บางรายในยุคนั้นยังมีชีวิตอยู่จนปัจจุบัน

ที่มา

  • ภาพและข้อมูลจากโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’
  • หนังสือ ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ และ กรกฤช เจียรพินิจนันท์

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า