ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์: เนื้อในระบอบถนอม แผนการขึ้นสู่อำนาจแบบไม่ส้มหล่น

การศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แบ่งออกเป็นหลายสายธาร สายธารหนึ่งคือการศึกษาผ่านปากคำของเหล่าผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์และผู้อยู่ร่วมสมัยโดยตรง ทั้งแนวหน้า แนวหลัง ทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักข่าว ประชาชน เพื่อมุ่งทำเข้าใจความสถานการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้น 

อีกสายธารหนึ่ง คือการศึกษาบริบทแวดล้อม สภาพสังคม ความคิดของผู้คนในห้วงเวลาก่อนหน้านั้น เพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรคือปัจจัยที่นำมาสู่เหตุการณ์ดังกล่าว

งานของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จัดอยู่ในสายธารหลัง ในวาระครบรอบ ‘50 ปี 14 ตุลา’ เขาได้ออกหนังสือ เนื้อในระบอบถนอม : ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหาร พ.ศ. 2506-2516 ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ของเขาสมัยเรียนปริญญาเอก ซึ่งศึกษาบทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจจนมาสู่วันที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับพลังประชาชนและต้องระหกระเหินออกนอกประเทศไป

งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นบทบาทและเข้าใจความเป็นไปของระบอบเผด็จการทหารที่ครอบงำสังคมไทยในเวลานั้นมากว่า 10 ปี จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ทั้งยังฉายให้เห็นความขัดแย้งและความไม่ลงรอยกันระหว่างเผด็จการทหารด้วยกันเองอีกด้วย

แม้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ชื่อของจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะผู้นำเผด็จการทหาร จะไม่ได้ถูกพูดในกันสังคมมากเท่ากับจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่เขาเองก็มีบุคลิกภาพและตัวตนที่น่าสนใจ รวมไปถึงหากจะทำความเข้าใจเงื่อนไขและปัจจัยที่นำไปสู่เหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้อย่างครบถ้วน การศึกษาระบอบถนอมถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้

WAY เดินทางไปคุยกับรองศาสตราจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ถึงห้องทำงานของเขาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อพูดคุยถึงบทบาทและการขึ้นสู่อำนาจของ ‘นายกฯ คนซื่อ’ จอมพลถนอม กิตติขจร รวมไปถึงสถานะและที่ทางของเหตุการณ์ 14 ตุลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ทำไมถึงเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับบทบาทของจอมพลถนอม

เมื่อปี 2540-2541 อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชวนผมมาเป็นบรรณาธิการหนังสือ จาก 14 ถึง 6 ตุลา หนังสือเล่มนี้ก็เป็นการพูดถึง 2 เหตุการณ์ คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 ในช่วงปี 2540 เรื่องราวของทั้งสองเหตุการณ์ เราจะรู้จัก 14 ตุลา มากกว่า แต่แม้ 14 ตุลา ที่เรารู้จัก เราก็ไม่ได้รู้จักลึกซึ้ง เราจะรู้แค่ว่า มันคือการปะทะกันระหว่างนักเรียนนักศึกษากับรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม แต่พอ 6 ตุลา เราแทบไม่รู้เรื่องอะไรเลย

พอผมมาเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ร่วมกับอาจารย์ชาญวิทย์ ก็ค้นพบว่าเราแทบไม่รู้รายละเอียดมันเลยทั้ง 2 เหตุการณ์ ก็ทำให้เราเริ่มต้นไล่เลียงกันใหม่ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในเล่มนี้อาจารย์ชาญวิทย์ก็ไปวาดแผนที่มา 2 แผ่น แผ่นหนึ่งเป็นแผนที่ธรรมศาสตร์ถึงถนนราชดำเนิน เป็นเรื่องของ 14 ตุลา และอีกแผนที่หนึ่ง เป็นธรรมศาสตร์ถึงสนามหลวง ว่าด้วยเรื่องของ 6 ตุลา สองแผนที่นี้อาจารย์ชาญวิทย์บอกผมว่าให้ใส่รูปเข้าไปและอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในจุดหนึ่งบนแผนที่นี้ เพราะว่าเราไม่รู้อะไรเลยไง ถ้าเราไม่สามารถบอกว่าตรงนี้เกิดอะไร แล้วเราจะเรียงร้อยเหตุการณ์ได้ยังไง 

ที่ผมตัดสินใจเลือกศึกษาหัวข้อบทบาทของจอมพลถนอม ก่อนจะปรับมาเป็นหนังสือ เนื้อในระบอบถนอม ผมเลือกหัวข้อนี้เพราะว่าตอนทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาโทช่วงปี 2534 ที่สร้างชื่อให้กับผม คือหัวข้อ รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 แล้วผมก็อยู่กับเรื่องราว 2475 มาตลอด พอจะมาเรียนปริญญาเอก เขาถามว่าจะทำอะไรใหม่ทางวิชาการ คือถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับ 2475 อีก เขาก็ถามว่ามันจะใหม่ไหม ผมก็ต้องมานั่งคิด ทีนี้ในทางวิชาการมีงานของอาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน อาจารย์เบนเขียนบทความวิชาการไว้หลัง 6 ตุลา ว่าด้วยไทยศึกษา ว่ามีการศึกษาอะไรในสังคมไทยในประเด็นต่างๆ 

อาจารย์เบนชี้ว่ามีงานศึกษามากมายเลยเกี่ยวกับยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วก็มีงานศึกษาซึ่งกระโดดมาที่ยุคสมัย 14 ตุลา แต่ระหว่างนั้นไม่มีงานศึกษาเลย มีงานของคนคนเดียวที่ศึกษายุคสมัยของสฤษดิ์อย่างลึกซึ้ง คือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ 

นอกจากงาน จาก 14 ถึง 6 ตุลา ก็มีงานของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ เป็นการศึกษาบทบาทของนักศึกษาซึ่งถูกทำให้อยู่บนยอดของสังคม เป็นในกลุ่มที่ไม่ต้องสนใจทางการเมือง แต่ทำไมนักศึกษาจึงออกมาเดินขบวนบนท้องถนนในเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้รัฐบาลของจอมพลถนอมต้องล้มลง 

คำถามคือแล้วในช่วงเกือบ 10 ปีของจอมพลถนอมอยู่ที่ไหน มันคือช่องว่างทางวิชาการที่ยังไม่มีใครศึกษาเลย ถ้างั้นทำไมเราถึงไม่ศึกษาถนอมล่ะ ในฐานะผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แล้วทำไมถึงล้มได้ง่ายๆ แบบนั้น อยู่ดีๆ ล้มเฉยเลย คุณอยู่มาถึง 10 ปี คุณล้มได้ไง แสดงว่ามันต้องมีปัจจัยของการแปรเปลี่ยน ตรงนี้เองก็คือความพยายามที่จะหาว่าการขึ้นสู่อำนาจ การรักษาอำนาจ และการลงจากอำนาจของจอมพลถนอมเป็นอย่างไร ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า ‘ระบอบถนอม’ 

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ เริ่มต้นคิดตอนเรียน ป.เอก ที่จุฬาฯ ตั้งแต่เสนอหัวข้อ ใช้เวลาทำ 5 ปี จึงเสร็จ แต่กว่าจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ก็กินเวลา 20 ปี ซึ่งก็นานเอาการ

การเปลี่ยนผ่านจากระบอบสฤษดิ์มาสู่ระบอบถนอม มีความราบรื่นหรือติดขัดอย่างไรบ้าง

ถ้ามองจากชุดความรู้เดิม ถนอมก็คือผู้สืบทอดระบอบสฤษดิ์ นี่เป็นชุดความรู้ที่มีมาจากงานชิ้นก่อน แต่งานของผม ผมเริ่มต้นจากชุดความทรงจำเกี่ยวกับยุคสฤษดิ์และถนอมที่ตกทอดมาถึงเรา ผ่านนักเขียน ผู้สื่อข่าว นักหนังสือพิมพ์ มันเป็นความทรงจำเพียงนิดเดียวที่เขาเลือกจะจำเรื่องนั้น แต่เรื่องราวอีกจำนวนมากอาจจะมีและแตกต่างจากที่เขาจำก็ได้ นี่เป็นหลักทางวิชาการประวัติศาสตร์ ดังนั้น ภารกิจอย่างแรกของผมคือ การกลับไปอ่านข่าวสารรายวันตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ จนสิ้นสุดยุคถนอม เริ่มต้นจากคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในยุคนั้น

ความโชคดีก็คือ ในขณะที่ผมเริ่มต้นค้นคว้าที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ของธรรมศาตร์ ชั้นใต้ดิน เขามีชั้นหนังสือพิมพ์เก็บไว้เป็นรายวัน มีหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นอย่าง ประชาธิปไตยรายวัน แล้วเขาเย็บเล่มเป็นรายเดือน ซึ่งตอนที่ผมเรียนธรรมศาสตร์ผมก็เห็นแล้ว แต่ตอนนั้นมันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ แล้วก็มีหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งก็กลายเป็นคลังของผม ปกติเวลาเราอ่านหนังสือพิมพ์วันนี้ ก็เพื่อลุ้นว่าพรุ่งนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น แต่พอเราอ่านเข้าไปในอดีต เรารู้ว่ามันมีจุดจบยังไง เราจึงต้องพยายามมองหาว่าทำไมเรื่องมันเดินไปแบบนี้ มองหารายละเอียดต่างๆ เหมือนเราดูหนังอย่างเร็ว พลิกหนังสือพิมพ์รายวัน เฮ้ย เกิดเรื่องนี้ เฮ้ย เรื่องนี้ไม่เคยมีคนเล่าเลย ก็ทำให้เราเริ่มมองเห็นอะไรมากมาย 

การอ่านหนังสือพิมพ์รายวันทำให้เห็นภาพการเมืองแบบใหม่หมดเลย เรามักเชื่อกันว่าถนอมและประภาส (ประภาส จารุเสถียร) เป็นมือขวาและมือซ้ายของจอมพลสฤษดิ์ แต่พอเข้าไปดูรายละเอียดของเหตุการณ์ และการแต่งตั้งโยกย้ายในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏว่าไม่ใช่ ทั้งคู่เป็นมือซ้ายมือขวาในการรับรู้ของคนทั่วไป แต่จอมพลสฤษดิ์ไม่ไว้วางใจ และต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างถนอมกับประภาสอยู่ตลอดเวลา เช่น ถนอมได้เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2501 เพราะสฤษดิ์ทำรัฐประหารเพื่อขับไล่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยเหตุการณ์เลือกตั้งสกปรก และให้มีการเลือกตั้งใหม่เดือนธันวาคมปี 2500 

พอเลือกตั้งใหม่ สฤษดิ์ต้องการเป็นนายกฯ ไหม ต้องการนะ แต่สฤษดิ์เกือบจะตายอย่างฉับพลัน สฤษดิ์จึงมองหาว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ ในที่สุดส้มมันก็มาหล่นที่ถนอม ถนอมตอนนั้นเป็นพลโท เป็นรองจากสฤษดิ์ ทีแรกสฤษดิ์จะหาคนอื่น แต่คนอื่นไม่เอา เลยส้มหล่นไปตกที่ถนอม พอตกไปที่ถนอมปุ๊บ ถนอมก็ประชุมนัดแรกเลยเพื่อส่งสฤษดิ์ไปรักษาตัวที่อเมริกา เหมือนแลกเปลี่ยนกันเลยนะ แต่งตั้งสฤษดิ์เป็นผู้แทนฝ่ายการทหารไปดูงานด้านการทหารที่อเมริกา ซึ่งที่จริงไปรักษาตัวเพราะใกล้จะตาย พอรักษาตัว หมอที่อเมริกาประเมินว่าสฤษดิ์จะต้องตายภายใน 5 ปี โอ้โห เรื่องใหญ่เลย 

ข้อมูลนี้ผมได้เอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกาที่เขาตีพิมพ์ออกมา พอเรานั่งอ่านถึงรู้ว่า อ้าว อเมริกาและชนชั้นนำไทยรู้ว่าสฤษดิ์จะต้องตายภายใน 5 ปี เมื่อคนรับรู้ว่าตัวเองจะต้องตายภายใน 5 ปี คุณคิดว่าคนนั้นจะเป็นคนยังไง หนึ่ง-หมดแรง เข้าวัด นั่งสมาธิ สอง-บ้าไปเลย ใช้อำนาจเด็ดขาดไปเลย ผมก็เลยเข้าใจ ว่าทำไมรัฐธรรมนูญปี 2502 จึงออกแบบให้มีมาตรา 17 ที่บอกว่าคำสั่งและการกระทำของนายกฯ ถือเป็นกฎหมาย ที่มันมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เอาไว้ยิงคนทิ้ง มาตรา 17 เปรียบเทียบก็คือพ่อของพ่อของพ่อมาตรา 44 ของประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้นกำเนิดก็มาจากการที่จอมพลสฤษดิ์ใกล้จะตาย

ตรงนี้เราจะเห็นว่าจอมพลสฤษดิ์ระแวงทหารที่อยู่ข้างตัวเองว่าจะก่อกบฏและยึดอำนาจ เช่น พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ สฤษดิ์ถึงกับเอาปืนจ่อหัวเพราะเข้าใจว่าจะก่อกบฏ เวลาคุณเป็นเผด็จการคนสำคัญ คุณก็รู้ว่าคนอื่นบุกมายิงคุณไม่ได้หรอก แต่คนที่อยู่ข้างคุณจะทำลายคุณเอง เพราะฉะนั้นพวกเผด็จการจะระแวงคนที่อยู่ข้างๆ 

พอสฤษดิ์กลับมา ทำรัฐประหารปี 2501 และขึ้นเป็นผู้นำตามมาตรา 17 สฤษดิ์ก็ให้ถนอมเป็นรองตัวเองทางการเมือง แล้วให้ถนอมออกจากกองทัพบก หมายความว่าเวลาคุณเป็นทหาร ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในหน่วยของกองทัพบก คุณก็ไม่มีอำนาจอะไรหรอก เวลายึดอำนาจ มีผู้นำเหล่าทัพต่างๆ มานั่ง แต่อำนาจต่างๆ จะอยู่ที่ผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ผู้บัญชาการทหารบกคือผู้ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทหารบกจะเป็นมีผู้อำนาจในการทำรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว พอสฤษดิ์ขึ้นมาเป็นผู้นำ ถนอมดูเหมือนเป็นตัวรองทางการเมือง แต่ทางทหาร ถนอมถูกย้ายไปอยู่ กองบัญชาการทหารสูงสุด ในความหมายก็คือสูงสุดแต่ชื่อ แต่ไม่มีอำนาจอะไรเลย ส่วนจอมพลประภาสแม้จะถูกดึงขึ้นมาเป็นรอง แต่จอมพลประภาสก็ถูกปลด ก่อนจะกลับมาใหม่ในภายหลัง 

ในช่วง 2-3 เดือนสุดท้าย สฤษดิ์ย้ายประภาสไปเป็นผู้ช่วย ผบ. สูงสุด ก็เท่ากับว่าเตะออกจากองทัพแล้ว สฤษดิ์กำลังจะตั้งอีกกลุ่มเข้ามาแทนที่ หมายความว่าถนอมและประภาสกำลังหมดสถานภาพในกองทัพบก และในทางการเมืองคุณก็จะหมดสถานภาพไปด้วย แต่ไม่ทัน สฤษดิ์ดันเสียตามกำหนด (หัวเราะ) สฤษดิ์คงลืมไปว่ามีวันนี้ 

ในวันที่สฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่างสฤษดิ์นอนตายอยู่ที่ตึก ส่วนตึกข้างๆ จอมพลถนอมเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี จอมพลถนอมเป็นรองนายกฯ ใช่ไหม ตามหลักการเมื่อนายกฯ ตาย ทุกอย่างต้องยุติลง แต่จอมพลถนอมเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี โดยที่ตัวเองเป็นหัวหน้าการประชุม เป็นการประชุมเพื่อจัดงานพระราชพิธีให้กับจอมพลสฤษดิ์ ลดเสาธงชาติ ทำให้เป็นวันหยุด แต่แล้วถนอมก็บอกว่าข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการยึดอำนาจจากวงใน ซึ่งมันมีปัจจัยหลายด้านที่ทำให้จอมพลถนอมสามารถทำเช่นนี้ได้อย่างฉับพลัน คนก็ยังงงๆ อยู่ว่าทำได้ยังไง พรุ่งนี้เช้าก็มีประกาศแต่งตั้งถนอม แล้วเรื่องก็ผ่านไปได้ เป็นเวลาหลายชั่วโมงที่นักข่าวยังทำอะไรไม่ได้เลย เขาแต่งตั้งแล้ว ก็เดินหน้าต่อไป แล้วก็ไม่กล้าไปตั้งคำถามว่ามันทำได้ยังไง เกมมันเร็ว ถนอมก็ใช้จังหวะนั้นทำให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญถนอมมีมาตรา 17 แล้ว พอมมีมาตรา 17 ถนอมก็บอกเลยว่าข้าพเจ้าคือผู้นำทหารสูงสุด ทุกคนยังไม่ทันคลายความหวาดกลัวสฤษดิ์เลย ทุกคนก็ไม่กล้าเคลื่อนไหวอะไร เป็นเกมที่ถ้าไม่ใช่มืออาชีพนี่ทำไม่ได้เลยนะ 

ผมมีโอกาสได้อ่านรายการประชุมคณะรัฐมนตรีในยุคถนอม มันเป็นจังหวะที่อ่านแล้วจะรู้สึกทึ่งเลยนะ เวลาเราอ่าน เราก็เสมือนเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่เข้าประชุม ก็จินตนาการไป เสียดายนะในรายงานการประชุมมันไม่ได้ระบุว่าใครพูดอะไร มันสรุปตอนท้ายนิดเดียวว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติ เราจินตนาการไม่ออกเลยนะว่ามันมีการโต้เถียงกันยังไงบ้าง 

ถนอมตั้งตัวเองเป็นผู้บัญชาการทหารบก และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และตั้งจอมพลประภาสให้กลับมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เรียกว่าพอยึดอำนาจทางการเมืองได้ ก็ยึดอำนาจทางทหารทันที จอมพลประภาสก็เป็นนายทหารที่อยู่ในกองทัพบกมาอย่างยาวนาน ตอนโดนสฤษดิ์เตะออก คนก็ยังงงงๆ อยู่ พอกลับมาคนก็ยังเชื่อฟัง แต่ก็มีอีกปีกที่ไม่เชื่อฟัง ซึ่งเป็นปีกคู่แข่งของประภาส ทำให้เกิดคดีกบฏปี 2507 เขาเรียกว่าการปราบปรามการกำเริบภายในกองทัพ โดยมีการจับกุมผู้ต้องหาคดีกบฏ แต่การปราบปรามครั้งนี้ แทนที่จอมพลถนอมจะตั้งศาลทหารแล้วพิจารณาคดีแบบลับ แต่กลับพิจารณาอย่างเปิดเผย ให้นักข่าวเข้ามาดู มีการให้ร้าย สืบสาวกันใหญ่ คนก็ตระหนกกันว่ายุคเผด็จการมันอาจทำให้คุณโดนคดีกบฏได้ ทุกคนก็เริ่มกลัววิธีการนี้แล้ว เพราะลากทุกคนเข้ามาเกี่ยวข้องหมดเลย วิธีการที่ใช้คดีกบฏก็เป็นวิธีที่ใช้ในการต่อต้านการกำเริบที่บรรลุผล 

ดังนั้น ฉากการเปลี่ยนผ่านจากจอมพลสฤษดิ์มาสู่จอมพลถนอม ในความทรงจำของคนทั่วไปอาจดูราบรื่น แต่พอเราเข้าไปศึกษา มันไม่ใช่เลย มันสู้กันขนานใหญ่ 

การที่จอมพลถนอมซึ่งเป็นรองนายกฯ สามารถขึ้นเป็นนายกฯ แทนหลังจากสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกับระบอบประธานาธิบดีมากกว่าระบอบรัฐสภา?

ก่อนที่สฤษดิ์จะเสีย มีเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกยิง และประธานาธิบดีเวียดนามใต้ถูกฝ่ายทหารยึดและโจมตีทำเนียบจนเสียชีวิตในบ้าน นี่เป็นการเสียผู้นำประเทศ 

ตอนที่สฤษดิ์ขึ้นเป็นผู้นำ ก็มีข้อกล่าวหาว่าจะทำตัวเองเป็นประธานาธิบดีหรือเปล่า ข้อกล่าวหานี้ก็ทิ้งเป็นคำถามต่อมาเรื่อยๆ ในท้ายสุดสฤษดิ์ก็บอกว่าตัวเองไม่ได้จะทำแบบนั้น แต่อำนาจมันก็มีเบ็ดเสร็จ พอสฤษดิ์เสีย รองนายกฯ ถนอมก็ขึ้นแทน นี่เป็นฉากแบบเดียวกับประธานาธิบดีสหรัฐ คนก็เลยรู้สึกว่ามันเหมือนๆ กัน แต่มันจะเหมือนกันได้ยังไง ของเราเป็นระบบนายกรัฐมนตรี แต่ความรับรู้เกี่ยวกับเคนเนดีของสหรัฐ มันโน้มน้าวให้คนเชื่อว่าก็เหมือนๆ กันนั่นแหละ ทั้งที่จริงรัฐบาลต้องยุติลง ต้องให้สภาแต่งตั้งนายกฯ ใหม่ แต่กลายเป็นว่ามันสวมรอยกันไปเลย แล้วไม่ใช่ส้มหล่นด้วย แต่ถือว่าเป็นปฏิบัติการสมบูรณ์แบบ

จอมพลถนอมสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองอย่างไรหลังจากขึ้นสู่อำนาจต่อจากสฤษดิ์

ตอนที่ถนอมขึ้นมา ถนอมก็รีบโจมตีสฤษดิ์เลยว่า จะไม่บริหารงานแบบสฤษดิ์ซึ่งเป็นแบบประธานาธิบดี คำถามของผมก็คือ ถ้าถนอมเป็นผู้สืบทอดสฤษดิ์ คุณควรจะยกย่องสฤษดิ์ คุณควรจะตั้งอนุสาวรีย์ให้สฤษดิ์ คุณควรจะกล่าวถึงสฤษดิ์ แต่ในยุคถนอมไม่กล่าวถึงสฤษดิ์เลย แม้แต่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ที่ขอนแก่น ก็ไม่ได้สร้างโดยถนอม แต่สร้างในยุคของพลเอกเปรม (เปรม ติณสูลานนท์) หลังจากสฤษดิ์เสียไป 20 กว่าปี เพราะมี ผบ.ทบ. คนหนึ่งเป็นคนอีสาน ต้องการจะรื้อฟื้นความเป็นเผด็จการแบบจอมพลสฤษดิ์ เลยสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวขึ้น

นอกจากถนอมจะไม่ยกย่องสฤษดิ์แล้ว ยังทำการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์อย่างรวดเร็วด้วย ทีแรกการยึดทรัพย์ก็มีข่าวที่เมียน้อยของจอมพลสฤษดิ์ทำการฟ้องร้องกัน กลายเป็นคดี ทำให้เราเห็นทรัพย์อันมโหฬาร จนนำไปสู่การยึดทรัพย์ เราเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นเอง แต่จากงานศึกษาชี้ว่า หลังจากจอมพลสฤษดิ์เสีย หนึ่ง-จอมพลถนอมสั่งยึดคืนบ้านของทางราชการที่จอมพลสฤษดิ์เอาไปให้เมียน้อย สอง-จอมพลถนอมสั่งให้ทหารที่เฝ้าบ้านเมียน้อยของจอมพลสฤษดิ์กลับกรมกอง สาม-สั่งยึดเงินค่ากองสลากซึ่งเป็นเงินจากกองทัพ 100 ล้าน จากจอมพลสฤษดิ์ทันที ทำให้เราเห็นว่าแค่เปลี่ยนไม่กี่วัน จอมพลถนอมสั่งยึดบ้านเมียน้อยเนี่ย มันเป็นการเปิดข่าวเลยนะว่าจอมพลสฤษดิ์มีเมียน้อยเยอะมาก คำถามที่เกิดขึ้นตอนอ่านหนังสือพิมพ์คือ ท่านเป็นคนทำงานหนักไม่ใช่เหรอ ท่านได้ชื่อว่า ‘จอมพลผ้าขาวม้าแดง’ ผู้ซึ่งทำงานหนักจนไม่มีเวลาแต่งตัว นั่งเซ็นหนังสือโดยนุ่งผ้าขาวม้า แต่พอข่าวออกมา อ้าว ท่านทำงานอีกแบบหนึ่งนี่ 

ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ขุดคุ้ยเรื่องเมียน้อยเป็นรายสัปดาห์เลย ซึ่งต่อมากลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงมาก คือ ไทยรัฐ ลองนึกถึงการตามสกู๊ปเมียน้อยของคนคนหนึ่ง แล้วเขียนเล่าเรื่องแบบสารคดี เขียนแบบสนุกสนาน แต่ละสัปดาห์คนก็จะลุ้นว่าจะมีการเปิดตัวเมียน้อยคนไหนอีก อยู่ที่ไหน เป็นใคร มีบ้านที่ไหน มันก็เลยกลายเป็นเรื่องสนุกสนานสำหรับประชาชน แต่สำหรับเกียรติยศของจอมพลสฤษดิ์คงไม่สนุกด้วยแน่ๆ พอเปิดเรื่องเมียน้อยเยอะๆ คำถามก็คือบ้านเมียน้อย เอาของใครไปล่ะ อ้าว บ้านข้าราชการหรอกเหรอ แล้วเงินที่เลี้ยงดูเมียน้อยล่ะ ทหารเฝ้าบ้านล่ะ อ้าว ของหลวงทั้งนั้นเลยเหรอ กลายเป็นว่าที่ปรนเปรอไปทั้งหมดเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้นเลย

มีบางฝ่ายบอกจอมพลถนอมว่า ทำไมท่านไม่ให้ผู้สื่อข่าวยุติการสืบค้นเรื่องเมียน้อยของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอมบอกว่าก็เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงไม่ใช่เหรอ การสืบค้นก็ยังดำเนินต่อ ยิ่งสืบค้น ประชาชนก็ยิ่งฮาเฮ อันนี้ก็เป็นฉากหนึ่งว่าผลพวงจากการสืบค้นเกี่ยวกับเมียน้อยของจอมพลสฤษดิ์ ก็ส่งผลด้านกลับต่อเกียรติภูมิของจอมพลสฤษดิ์ด้วย 

ในเรื่องคอร์รัปชัน ก็พบว่าจอมพลสฤษดิ์เอาเงินจากสลากกินแบ่งของกองทัพไป คือเอาโควตาที่กองทัพบกจะต้องได้เปอร์เซ็นต์จากการขายสลาก ตอนสุดท้ายก็ไม่สามารถเอาคืนมาได้ เพราะเขาให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของเอกชนต่อเอกชน ไม่ใช่เรื่องความรับผิดของหน่วยงาน 

ในที่สุดก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบค้นว่า จอมพลสฤษดิ์เอาเงินอะไรไปมากแค่ไหน นำไปสู่การยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ 600 กว่าล้านบาท จากที่ประมาณการจากการฟ้องร้องกัน ว่ามีเงินในกองมรดก 2,874 ล้านบาท เงินขนาดนี้มันเยอะแค่ไหน มันเท่ากับ 1 ใน 4 ของงบประมาณรัฐบาลปี 2506 ถ้าเทียบกับมูลค่าในปัจจุบันก็คงมากทีเดียว

ถนอมในฐานะผู้สืบทอดอำนาจต่อจากสฤษดิ์ มีลักษณะแตกต่างกับสฤษดิ์ที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากจอมพล ป. อย่างไร

ถนอมเป็นผู้สืบทอด ‘ระบอบอำนาจ’ ที่สฤษดิ์สถาปนา ได้ใช้สิ่งที่สฤษดิ์ตั้งไว้คือมาตรา 17 และใช้อำนาจนี้ปกครองเบ็ดเสร็จมาอีก 5 ปี รวมกับสฤษดิ์ก็ถือว่ายาวนานมากที่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้อำนาจมาตรา 17 นี่คือการสืบทอดอำนาจ

ในอีกด้านหนึ่ง ตอนที่สฤษดิ์ขึ้นเป็นนายกฯ เพราะต้องการทำลายจอมพล ป. เพราะตอนนั้นจอมพล ป. กำลังหันมาหาความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะสามารถอยู่ต่อได้อีก 5 ปี (สภามีวาระ 5 ปี) คุณคิดว่าสฤษดิ์จะปล่อยให้จอมพล ป. อยู่ในอำนาจอันชอบธรรมผ่านการเลือกตั้งได้อีก 5 ปีเลยเหรอ สู้ยึดเลยดีกว่า เปลี่ยนมันเลยดีกว่า เพราะการเลือกตั้งคือความชอบธรรม จึงต้องหาทางทำลายความชอบธรรม 

พอสฤษดิ์จะขึ้นมา สฤษดิ์ก็ต้องหาทางทำลายความชอบธรรมของจอมพล ป. พอถนอมจะขึ้นมา ก็ต้องหาทางทำลายความชอบธรรมของสฤษดิ์ อย่างเรื่องคอร์รัปชันของสฤษดิ์ ถนอมก็ให้ทีมงานสร้างวาทกรรมขึ้นมาชุดหนึ่งว่า คณะรัฐประหารเป็นคณะที่ยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่าจอมพลสฤษดิ์จะมีพฤติกรรมที่ไม่ดี นั่นเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลสฤษดิ์ตายได้ แต่คณะรัฐประหารอยู่สืบเนื่องต่อไป ไม่เกี่ยวกัน คนละเรื่องกัน จอมพลสฤษดิ์อาจเป็นบุคคลที่ทำความดีก็ได้ ทำความเลวก็ได้ แต่เป็นเรื่องของบุคคล แต่คณะรัฐประหารยังต้องสร้างประเทศตามแนวทางของคณะรัฐประหาร 

นี่เป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น คำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ก็ถูกสร้างโดยจอมพลถนอมนะ ในทางวิชาการเราอาจจะบอกว่าจอมพลสฤษดิ์สร้างประชาธิปไตยแบบไทย แต่จริงๆ มันเกิดขึ้นเพื่อถีบสฤษดิ์ออกจากคณะรัฐประหาร จากการที่สฤษดิ์คอร์รัปชัน มีเมียน้อยต่างๆ เป็นความเลวร้ายของตัวบุคคล ส่วนคณะรัฐประหารยังต้องรักษาระบอบนี้ต่อไป 

ประชาธิปไตยแบบไทยคืออะไร ก็คือประชาธิปไตยที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หมายความว่า ตอนนี้คุณต้องอยู่กับเผด็จการแบบเราไง ประชาธิปไตยแปลว่าเผด็จการแท้ๆ เลย เพียงแต่เขาสร้างคำนี้ขึ้นมาให้รู้สึกว่านี่เป็นยุคประชาธิปไตยแบบไทย คือประชาธิปไตยที่มีทหารเป็นผู้นำ มีกฎอัยการศึก มีมาตรา 17 ทำไมจึงต้องมีสิ่งเหล่านี้ ก็เผื่อว่าเราจะได้สร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ เราจะร่างรัฐธรรมนูญที่ดีขึ้น เราจะทำให้มีการเลือกตั้งที่เพอร์เฟคท์ เป็นเหมือนทางผ่านที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยเลิศหรู แต่ช่วงนี้อยู่กับเราไปก่อนนะ

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ระบอบถนอมเสื่อมถอยลง

พอมาถึงยุคจอมพลถนอม มันก็จะมีความขัดแย้งแบบใหม่ขึ้นมา ความขัดแย้งที่สำคัญคือความขัดแย้งระหว่างระบอบประชาธิปไตยแบบไทยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันอาจดูเหมือนๆ กัน แต่ในรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2492 สืบเนื่องมาจากรัฐประหาร 2490 พยายามที่จะฟื้นพระราชอำนาจขึ้นมา แต่แล้วฝ่ายทหารก็สามารถระงับยับยั้งไว้ได้ ด้วยการรัฐประหาร 2494 ในยุคสมัยสฤษดิ์ กับยุคสมัยถนอม 

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ มันทำให้เกิดคนชั้นกลางรุ่นใหม่ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว มีธุรกิจการค้า ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจมาบวกกับการเติบโตของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ประชากรเกิดล้น จนกระทั่งไม่มีที่เรียนหนังสือ จนต้องไปเปิด ม.รามคำแหง ขึ้นมา ประชาชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นเบบี้บูมเมอร์ยุคนั้นก็หลั่งไหลเข้ามาในกรุงเทพฯ กลุ่มเด็กๆ รุ่นเจนเบบี้บูมเมอร์ คือคนจำนวนมากทั้งแผ่นดินที่เกิดมาพร้อมกับยุคจอมพล ป. มาเป็นจอมพลสฤษดิ์ และอยู่กับจอมพลถนอม ยาวนาน 25 ปีเลยนะ คนเจนต่อมาจึงรู้สึกว่า เราจะอยู่กับ 3 จอมพลนี่เหรอ แล้วจะมีจอมพลที่ 4 อีกไหม 

ฉะนั้น แนวทางของการแสวงหาประชาธิปไตยที่เป็นพลังอำนาจของประชาชนจึงปรากฏมากขึ้น เป็นแนวทางใหม่ของโลก ตอนนั้นโลกกำลังผันผวนเพราะเกิดการต่อต้านสงครามเวียดนาม ทั้งในยุโรปและอเมริกา นำมาสู่เสียงเพลงแบบใหม่ คำตอบอยู่ในสายลม จะไปเป็นทหารกันทำไม พวกเด็กๆ ไม่สมัครเป็นทหาร ถูกจับ ต่อต้าน เป็นคนยุคฮิปปี้ ร้องเพลงอะไรก็ไม่รู้ มันเป็นกระแสของคนรุ่นใหม่ต่อต้านรัฐทหาร มันเลยเกิดความเปลี่ยนแปลง 

พอสงครามเวียดนามกำลังจะยุติ เพราะประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ที่ขึ้นมาตอนปี 2512 ประกาศนโยบาย stop vietnam war เท่านั้นแหละ รัฐบาลจอมพลถนอมก็ตกใจทันทีเลย เพราะรัฐบาลจอมพลถนอมฉีดยาต่อต้านคอมมิวนิสต์เข้าสู่เส้นเลือดไทย เราฉีดมาตลอดเลยนะ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ บอกว่าศัตรูของชาติคือคอมมิวนิสต์ที่จะทำลายสถาบันอันสำคัญของชาติ เขาฉีดยาแบบนี้อยู่ทุกวัน แล้ววันหนึ่งอเมริกาบอกว่าพอ เราหยุดแล้ว เราจะไปดีกับปักกิ่ง ดีกับ เหมา เจ๋อตง แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นอะไร เราก็จะจับมือด้วย แม้กระทั่งรัฐบาลจอมพลถนอมเองก็อยากจะไปจับมือกับจีน แต่เพราะปลุกให้คนเกลียดคอมมิวนิสต์มาตลอด จะเปลี่ยนนโยบายก็ไม่ได้ 

พอนิกสันไปจับมือกับเหมา เจ๋อตง ที่ปักกิ่ง โลกช็อก แต่ทหารไทยช็อกยิ่งกว่า เพราะการหยุดทำสงครามเวียดนามจะนำมาซึ่งการถอนตัวออกจากสมรภูมิ ตอนนั้นมีทหารอเมริกันในสมรภูมิ 500,000 คน มีทหารอเมริกันในประเทศไทย 50,000 คน อยู่ที่สนามบินสัตหีบ สนามบินนครสวรรค์ กรุงเทพฯ ขอนแก่น อุดร แต่ละโซนก็จะกลายเป็นที่ท่องเที่ยวตอนกลางคืน มีนักดนตรีหน้าใหม่ คนเข้ามาทำมาหากิน พอถอนตัวจะเกิดอะไรขึ้น ทหารอเมริกันปักหลักที่นี้ตั้งแต่ปี 2507 สร้างสนามบินให้เต็มไปหมด สนามบินที่เรากำลังใช้ รวมทั้งสัตหีบ ใช้สำหรับเครื่องบิน B-52 เป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ลองนึกถึงโบอิ้งใหญ่ๆ บรรทุกระเบิดได้เที่ยวละ 300 ตัน เพื่อบินไปถล่มกัมพูชา เวียดนาม ลาว เคยมีเครื่องบินลำหนึ่งบินไปจนถึงร้อยเอ็ด ตรงอำเภออาจสามารถ แล้วเครื่องบินก็ระเบิดตัวเอง คนที่นั่นก็ตกใจ เทวดากำลังทำอะไรอยู่บนฟ้า คือมันปกปิดเรื่องราวจนกระทั่งชาวบ้านไม่สามารถจะเข้าถึงได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าอเมริกาไม่ปกปิดแล้ว ข่าวสารสงครามเวียดนาม มันก็เลยแพร่ระบาด 

แล้วนโยบายการถอนตัวของอเมริกามันเป็นจริงเป็นจัง พอถอนตัวเนี่ย ค่าเช่าสนามบินมันก็ต้องลดลงใช่ไหม ก็จะต้องลดเงินช่วยเหลือรัฐบาลไทย ลดเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ลดเงินช่วยเหลือทุกอย่าง ประเทศไทยที่เดินหน้ามาได้ในยุคของจอมพลถนอม เพราะเงินช่วยเหลือของอเมริกาจำนวนมาก เช่น ถนนมิตรภาพ จากสระบุรีไปโคราช พุ่งไปหนองคาย เงินอเมริกาทั้งนั้น อเมริกาทำให้ด้วยความปรารถนาดีใช่ไหม ไม่ อเมริกาต้องการยกกองทัพทหารเข้าไปจ่อที่เวียงจันทร์ให้ได้เร็วที่สุด ถนนคือเส้นทางหลัก แม้แต่ทางรถไฟที่ยังไม่ถึงหนองคายดี อเมริกาบอกว่าผมสร้างให้ดีกว่า จะได้เสร็จๆ สักที นี่คือการต่อสู้และปราบปรามคอมมิวนิสต์ในโซนอินโดจีน มันทำให้เกิดการพัฒนาภาคอีสานและภาคเหนืออย่างมโหฬาร 

ตอนนี้ก็เท่ากับว่ากองทัพไทยซึ่งเคยเติบโต ไม่ใช่เติบโตเพราะความต้องการภายในประเทศนะ แต่กองทัพขยายตัวเพราะตัวเองต้องส่งกองทหารไปรบในเวียดนามตามที่ประธานาธิบดีอเมริกาได้ขอไว้ คือคุณได้เงินเขา คุณก็ต้องแลกกับเขา หน่วยจงอางศึก กับอีกหน่วยหนึ่งที่ถูกส่งไปหมื่นคน เป็นการเรียกร้องจากประธานาธิบดีอเมริกาตามข้อตกลง แต่ทหารไทยจะมีความทรงจำว่าตัวเองเคยไปรบตรงนั้นตรงนี้ ในฐานะทหารอาสา ไม่ใช่เป็นทหารที่ถูกส่งไป มันเป็นสองระนาบ ด้านหนึ่งบอกว่าไม่ ด้านหนึ่งบอกว่าส่ง นี่ก็เป็นกลายเป็นปัญหาทันที หน่วยทหารที่กลับมาจากเวียดนามจะทำยังไง เลยต้องตั้งกองพลแห่งหนึ่งที่กาญจนบุรี เพื่อเอาทหารเหล่านี้ไปอยู่ตรงนั้น 

กองทัพไทยขยายตัวได้เพราะสงครามเวียดนาม ได้เงินจากอเมริกา แต่พอเขาจะถอนตัวเท่านั้นแหละ จอมพลถนอมสั่งให้ศึกษาทันทีว่าจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจของประเทศบ้าง เมื่อเงินมันหาย เป็นเรื่องใหญ่ 

ปัจจัยที่อเมริกาเปลี่ยนนโยบายสงครามเวียดนามและถอนทหารออกจากสงครามนี้ เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะอเมริกาจะไม่แคร์แล้วว่าจะต้องเป็นรัฐบาลที่คุยกับอเมริกาได้ จะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่คุณแล้ว แสดงว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจอมพลถนอมที่อยู่ได้เพราะการสนับสนุนจากอเมริกา แต่สุดท้ายถูกทิ้งเฉยเลย นี่คือปัจจัยหนึ่ง

ส่วนปัจจัยภายใน เมื่อคุณอยู่นาน เวลาเรามอง เราคงไม่ได้มองถนอมคนเดียว แต่มองไปถึงจอมพลสฤษดิ์และจอมพล ป. เห็น 3 จอมพลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นักศึกษาที่เกิดในยุคนี้จึงถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ทหารมีบทบาทอยู่ในการเมืองไทยที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย แล้วการเรียนแบบวิชาการมันเริ่มต้นขึ้นในมหาวิทยาลัย ในช่วงสมัยจอมพลถนอม มหาวิทยาลัยในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านได้สร้างอาจารย์ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มาเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ป๋วยก็เลือกนักศึกษาที่ได้เกียรตินิยมและส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ และกลับมาเป็นอาจารย์ อาจารย์พวกนี้จะกลับมาพร้อมกับการเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่ข้าราชการประจำ นักวิชาการก็พยายามมองหาว่า มีทางเลือกของประเทศกี่ทาง เราจะเดินไปทางไหน มีแนวคิดของสังคมในการดำเนินการเศรษฐกิจการเมืองอย่างไร อาจารย์รัฐศาสตร์ก็มา อาจารย์ประวัติศาสตร์ก็มา อาจารย์ใหม่ๆ จากต่างประเทศก็มา มันทำให้เกิดภาวะโลกวิชาการที่เข้มข้น 

ในยุคเผด็จการถนอมพยายามจะบล็อกสื่อทีวี ควบคุมหนังสือพิมพ์ ไม่ให้เล่าเรื่องการประท้วงที่ต่างประเทศ ไม่ให้มีการถ่ายทอดสดการประท้วงในอเมริกาใดๆ เลย เพื่อทำให้โลกมันดูสงบ เพราะถ้าเราไม่รับรู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลง เราก็คงเข้าใจว่าโลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ แต่พอมีอาจารย์ใหม่ๆ เข้ามา พร้อมกับการบอกเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นในต่างประเทศ อาจารย์จึงเป็นทั้งสื่อและสารที่มาบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงของโลก เอาหนังสือใหม่ๆ มาเล่าให้ฟัง นักศึกษาในยุคนั้นก็จะเห็นโลกที่เปลี่ยนแปลง 

ในอีกด้านหนึ่ง นักศึกษาก็ถูกส่งเสริมให้ไปลงชนบท เพราะชนบทมีความยากจน และเมืองกรุงเทพฯ มันก็เริ่มเติบโต มีคนในชนบทเข้ามาในกรุงเทพฯ มากมายจนเกิดเป็นสลัมตามที่ต่างๆ แล้วคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมจึงเกิดสลัม เพราะปัญหาที่ชนบท รัฐบาลเลยส่งเสริมให้นักศึกษาไปที่ชนบท นักศึกษาเป็นชนกลุ่มน้อยนะ ในยุคจอมพลถนอมจะมีนักศึกษาอยู่แค่ประมาณสัก 10,000-20,000 คนเท่านั้น จากคน 30-40 ล้าน เขาถึงเรียกว่าหัวกระทิ พอมีรามคำแหง ก่อน 14 ตุลา จึงมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นแสนคนทั้งประเทศ

พอนักศึกษาได้ไปชนบท สิ่งที่ตามมาคือ ความคิดที่ว่าทำไมชนบทถึงยากจน ทำไมข้าวราคาถูก ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร จากคำถามและการวิเคราะห์จึงย้อนกลับไปชี้ว่าเพราะรัฐบาลเป็นเผด็จการ ทำไมเมืองมันโตเดี่ยว ทำไมเมืองอื่นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เพราะรัฐบาลรวมศูนย์ การที่จะแก้ไขปัญเหล่านี้ คือต้องเป็นประชาธิปไตยและกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่น 

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีเครือข่ายความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มต้นขึ้น เครือข่ายนี้ด้านหนึ่งก็เป็นบทบาทของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงต้องการพัฒนาชนบท ดูแลหน่วยนั้นหน่วยนี้ พระองค์ก็เสด็จไปดูแลเรื่องน้ำ ดูแลเรื่องต่างๆ ทำให้พระองค์ได้กลุ่มข้าราชการ ได้กลุ่มผู้ว่าฯ ได้กลุ่มชลประทาน ได้กลุ่มแพทย์ เข้ามาเป็นเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานเพื่อสังคม ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลไม่ทำแบบนี้บ้าง 

อีกด้านหนึ่ง เครือข่ายเหล่านี้ก็เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย อาจารย์เหล่านี้เริ่มถกเถียงกันว่าเราจะออกจากความเป็นเผด็จการทหารของจอมพลถนอมได้อย่างไร ก็มองว่าด้านหนึ่ง มันจะต้องมีพลังที่ทำการชนตัวนี้ และพลังอะไรที่จะชนตัวนี้ได้ ตอนนั้นนักวิชาการ เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และอาจารย์อีกหลายท่านก็นำเสนอว่ามันต้องเป็นแบบ ‘ราชประชาสมาสัย’ คือด้านหนึ่งมีพระมหากษัตริย์ อีกด้านหนึ่งมีประชาชนเป็นส่วนร่วม ทำการผนึกกัน ล้มระบอบเผด็จการทหาร เป็นแนวคิดค่อยๆ ที่สร้างขึ้นมาในช่วง 5 ปีก่อนนั้น และค่อยๆ ทวีความเข้มข้นขึ้น 

ปลายปี 2514 พอถนอมรัฐประหารตัวเอง ถนอมอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 13 เดือน 13 เดือน มีความหมายว่า เวลาคณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจ คณะรัฐประหารจะบริหารประเทศโดยคำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร หรือประกาศของคณะรัฐประหาร โดยไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระราชบัญญัติ เพราะพระราชบัญญัติจะต้องออกมาจากสภา และก่อนประกาศใช้จะต้องลงพระปรมาภิไธย แต่คณะรัฐประหารชุดนี้อยู่ในอำนาจ 13 เดือน ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยใดๆ มันเลยกลายเป็นปัญหาของ 2 ระบอบทันที คือระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ก็คือเผด็จการของจอมพลถนอม กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันปะทะกัน นี่เป็นสิ่งที่ผมค้นพบในปรากฏการณ์นั้น 

ด้วยเหตุนี้ ตอนที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ทำรัฐประหาร ตอนแรกพลเอกประยุทธ์บอกว่าจะขออยู่ในอำนาจแบบเบ็ดเสร็จยาว แต่ด้วยปัจจัยอะไรก็ไม่ทราบ อยู่ได้แค่ 3 เดือน ก็ต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อแต่งตั้ง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) และมีกระบวนการออกพระราชบัญญัติ พูดง่ายๆ ว่า ต่อให้มีการรัฐประหารครั้งหน้าก็จะไม่สามารถยู่ได้ยาวไปกว่านี้ เพราะการอยู่ยาว อำนาจสูงสุดจะอยู่ที่คณะรัฐประหาร มันก็จะเกิดความขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

พลังตรงนี้ ‘ราชประชาสมาสัย’ มันเลยเป็นพลังที่เคลื่อนและไม่กลัวรัฐประหารของจอมพลถนอม นักศึกษาก็เคลื่อน นักการเมืองก็ฟ้อง เช่น คุณอุทัย พิมพ์ใจชน กับเพื่อน สส. รวม 3 คน ฟ้องถนอมว่าเป็นกบฏฉีกรัฐธรรมนูญ ถนอมก็เลยสั่งติดคุกซะ ด้วยการใช้มาตรา 17 อุทัยติดคุกกับเพื่อนไป 2 ปี เพราะพยายามจะใช้กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งปรากฏว่าศาลไปรับรองอำนาจมาตรา 17 อีก ซึ่งตอนนี้กลายเป็นปัญหาประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบันว่าศาลไปรับรองอำนาจของคณะรัฐประหาร ทำให้เราไม่สามารถรักษาสถานะความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนไว้ได้ เห็นไหม เรื่องมันดูเหมือนไกลกันนะ แต่มันเป็นมรดกของเราเลยล่ะในวันนี้

ทำไมบุคลิกภาพของจอมพลถนอม ซึ่งเป็นคนเรียบร้อย นิ่มๆ กลับสามารถเป็นผู้นำเผด็จการทหารที่อยู่ในอำนาจมาได้เกือบ 10 ปี

ผู้นำทหารมีบุคลิกที่แตกต่างกัน จอมพลสฤษดิ์ดูกร้าว ดุดัน เอาจริง จอมพล ป. ดูนิ่มนวล เรียบร้อย สมาร์ท พอจอมพลสฤษดิ์เป็นคนกร้าว เลยเลือกคนที่ดูนุ่มนิ่ม อ่อนแอ เข้ามาเป็นรอง คนไทยในยุคนั้นชอบคนกร้าว ดุดัน เอาจริง จอมพลถนอมจึงต้องหาบุคลิกที่จะทำให้คนยอมรับ คนมองว่าจอมพลถนอมนุ่มนวล สมาร์ท แต่การตัดสินใจอาจไม่อ่อนแอก็ได้ อาจตัดสินใจอย่างเด็ดขาดก็ได้ จอมพลถนอมเลยฟันจอมพลสฤษดิ์ไง ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ คือเป็นคนนุ่มนวลแต่เอาจริง มีหลักการ ไม่งอ แม้แต่ลูกพี่ตัวเองยังถูกยึดทรัพย์เลย นี่คือฉากที่ทำให้สไตล์นุ่มนวล แต่มีหลักการ กลายเป็นที่ยอมรับ

จอมพลถนอมจะมีสไตล์ที่แต่งตัวเนี๊ยบมาก รองเท้ามันแผล็บ เสื้อเรียบ นักเรียนของจอมพลถนอมที่เป็นทหารจะจำเรื่องการแต่งตัว ถ้าจอมพลถนอมมาจะต้องแต่งตัวเรียบร้อย จอมพลถนอมได้เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ปี 2503-2506 ก่อนไปเป็นนายกฯ สิ่งหนึ่งที่จอมพลถนอมทำให้ธรรมศาสตร์สำเร็จ คือการออกแบบเครื่องแบบและบังคับให้นักศึกษาธรรมศาสตร์แต่งตัว ทำให้นักศึกษามีเครื่องแบบของตัวเอง เมื่อก่อนคนทั่วไปจะใส่เสื้อขาวมาเรียน แต่จอมพลถนอมบอกว่าไม่ได้ ต่อไปต้องแต่งตัวแบบนี้ เพื่อไม่ให้คอมมิวนิสต์แฝงตัวมาเป็นนักศึกษา 

นี่คือเหตุผลว่าทำไมนักศึกษาไทยถึงมีเครื่องแบบทั้งแผ่นดิน เพราะหลังจากประสบความสำเร็จที่ธรรมศาสตร์แล้ว จอมพลถนอมไปเป็นนายกฯ จอมพลถนอมก็กำหนดให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องมีเครื่องแบบ จอมพลถนอมไม่ชอบคนผมยาว นักเรียนก็เลยหัวเกรียนทั้งแผ่นดิน นี่คือสไตล์ แต่สไตล์แบบนี้ก็จะมาเกี่ยวพันกับชีวิตเราโดยไม่รู้ตัว ครูต่างจังหวัดจะอธิบายว่าที่นักเรียนต้องไว้ผมสั้นเพราะจะได้ไม่เป็นเหา ดูแลง่าย แต่ความจริงแล้วเป็นรสนิยมของผู้นำ นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยคิด ว่าผู้นำชอบแบบนี้ มันจะมีผลมาถึงชีวิตเราด้วยเหรอ

นี่คือวิถีชีวิตและรสนิยมของจอมพลถนอมที่ดูเหมือนสมาร์ทนุ่มนวล แม้แต่รอยยิ้มยังถูกโปรโมทให้เป็นยิ้มแบบสยามเลย ถามว่าพลเอกประยุทธ์ใช้บุคลิกของตัวเองไหม ใช้ เหมือนจะเลียนแบบจอมพลสฤษดิ์ ในเรื่องการเอาจริงเอาจัง เด็ดเดี่ยว แต่โชคร้าย ยุคพลเอกประยุทธ์มีการถ่ายทอดสด ยุคสฤษดิ์ไม่มี พอถ่ายทอดสดคนก็เห็นบทบาทของพลเอกประยุทธ์โยนกล้วย เดี๋ยวทุ่มโพเดียม วิธีการพูดของเขา พอเราเห็นภาพและเสียงชัดๆ มันไม่ใช่แล้วมั้ง มันไม่น่าจะใช่ความเข้มแข็งนะ มันน่าจะโปกฮามากกว่า นี่ก็เป็นโลกของการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ในทางหลักการ ทหารก็จะพยายามใช้บุคลิกภาพของตัวเอง สร้างการยอมรับและเป็นวิถีทางทางการเมืองได้

สถานะของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร

ตอนที่ผมเข้าไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปี 2524 ผมไม่รู้เรื่องเลยว่าธรรมศาสตร์มันมีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่อย่างไร พอได้เข้าไปที่นั่น มันก็ยิ่งงงงวย เราได้เห็นว่าพวกนักศึกษาที่ทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะจัดขบวนเฉลิมฉลอง 14 ตุลา รำลึกถึง 14 ตุลา แต่ 6 ตุลาเนี่ย เป็นการเล่ากันแบบปกปิดภายใน เป็นเหมือนเรื่องเล่าที่น่ากลัวมาก น่ากลัวว่าจะมีคนอื่นมาฟังด้วย กลัวว่ามันจะมีสายลับเข้ามา ตรงนี้เองก็กลายเป็นเรื่องที่ทำให้สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น สองเหตุการณ์นี้ห่างกัน 3 ปี เหตุการณ์หนึ่งเฉลิมฉลองกัน ส่วนอีกเหตุการณ์ซุบซิบกัน 

แต่สองเหตุการณ์นี้ดีอย่างหนึ่ง มันทำให้ผมได้ฟังเพลงเพื่อชีวิตจำนวนมาก และเพลงเพื่อชีวิตโดยทั่วไปก็เป็นเพลงของนักศึกษา เล่นกันแบบโฟล์คซอง แล้ววงส่วนใหญ่ก็เป็นวงที่เข้าป่ากันทั้งนั้นเลย มันก็เลยทำให้ดูเหมือนว่าเพลงไปสัมพันธ์กับการต่อสู้ และเป็นเรื่องราวของ 6 ตุลา เป็นสำคัญ ในขณะที่ 14 ตุลา มันเหมือนกับได้สถาปนาความทรงจำในระดับหนึ่งแล้ว 

14 ตุลา ในตอนนี้กลายเป็นการรับรู้และพูดจากันอย่างเปิดเผย ทั้งที่จริงๆ แล้วเรายังไม่รู้ถึงรายละเอียดของเหตุการณ์และปัจจัยหลายด้านว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่การที่ 14 ตุลา ได้รับการเชิดชู เช่น อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก็เปิดในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพราะคนรุ่น 14 ตุลา ไปทำงานกับทักษิณและสามารถผลักดันให้ 14 ตุลา เป็นวันประชาธิปไตย พอคณะรัฐมนตรีออกมติอย่างนี้ 14 ตุลา ก็กลายเป็นวันที่เราสามารถพูดคุยอย่างเปิดเผยได้ ไม่มีใครไปตามจับหรอก

แต่พอพูดเรื่อง 6 ตุลา ก็ซุบซิบกันมา 20 ปี จนกระทั่งก็ค่อยๆ เปิดเผย และตอนนี้ยังต้องตามหาเลยว่าใครทำอะไรกันอยู่ คนที่เป็นเหยื่อนั่นคือใคร และถูกทำอะไรบ้าง ผมก็เพิ่งเห็นสารคดีที่ตามเรื่องสองพี่น้องที่ถูกแขวนคอที่นครปฐม เขาคือใคร ในภาพความจำของเรา เขาคือสองคนที่ถูกแขวนคอและเป็นจุดเริ่มต้นของ 6 ตุลา ก็มีความพยายามที่จะรื้อฟื้น ค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเรื่องราวพวกนี้กำลังเข้าไปเกี่ยวพันว่า มีใครเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ด้วย 

แม้ว่าเรื่องราวจะผ่านมาถึง 47 ปี แต่การไปแตะว่าใครอยู่ตรงไหนบ้าง เรื่องมันไปไกลกว่า 14 ตุลานะ 14 ตุลา มันเหมือนกับว่าได้รับชัยชนะแล้ว ก็เลยเลิกแล้วต่อกัน แต่ 6 ตุลา กำลังขุดศพขึ้นมาจากหลุมของทั้งฝั่งกระทำและฝั่งที่ถูกกระทำ 

เวลาพูดถึง 6 ตุลา ก็เหมือนเป็นงานแซยิดในธรรมศาสตร์ เราจะต้องแซยิดกันอย่างเงียบๆ จนกระทั่งผมจำได้ว่าเมื่อมีการสถาปนากลุ่มคน 6 ตุลา ผ่านไป 20 ปี ก็เริ่มสร้างอนุสรณ์ความทรงจำในธรรมศาสตร์ตรงหน้าหอประชุมใหญ่ที่เขียนว่า 6 ตุลา 2519 คือพวก 14 ตุลา เขาจะได้อนุสรณ์สถาน ส่วน 6 ตุลา มันไม่มีความทรงจำนี้ เขาก็ผลักดันตัวนี้ขึ้นมา 

เพราะฉะนั้นเมื่อมันขุดค้นเรื่อง 6 ตุลา กันมากๆ และถูกกล่าวถึงในวาระครบรอบ 6 ตุลา บ่อยๆ ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงอินล่ะ คนเรารู้สึกอินกับเรื่องที่มีน้ำตานะ ทำกับเขาแบบนั้นได้ยังไง เวลาคนรุ่นใหม่ได้ฟังเรื่องพวกนี้ จะเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง ความรู้สึกอยากรู้ อยากเห็น ว่าใครกระทำความโหดเหี้ยมได้มากขนาดนี้ มันเลยดึงใจไง แต่ 14 ตุลา มันมาพร้อมกับว่าเราชนะ โอเค ชนะก็ชนะ แต่มันไม่พาเราไปสืบค้นเลยว่าผู้ที่สูญเสียชีวิตไป 77 คน คือใคร ทุกคนเป็นวีรชนไปแล้ว อ้าว แค่นั้นเหรอ 

นับตั้งแต่ที่ปรากฏอนุสรณ์แห่งความทรงจำ 6 ตุลา ทุกปี พวกที่เคลื่อนไหว 6 ตุลา และบาดเจ็บ เป็นผู้พ่ายแพ้ จะต้องมารวมกลุ่มกันอยู่ตรงนี้ เพื่อถ่ายรูปตรงนี้ แต่ถ้าพวก 14 ตุลา ต้องไปอนุสรณ์สถานตรงสี่แยกคอกวัว มันก็กลายเป็นคนสองกลุ่ม สองเหตุการณ์ แต่สำหรับผม ผมมองว่ามันคือเหรียญสองด้าน เพราะมี 14 ตุลา คุณจึงต้องมี 6 ตุลา ภายใต้สถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยและการการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรื่องการเมืองโลกด้วย 

จริงๆ ทั้งสองเหตุการณ์คือความสูญเสียนะ คือการฆาตกรรมโดยรัฐกลางกรุงเทพฯ แต่เรามักจะอธิบายว่า 6 ตุลา คือการฆาตกรรมโดยรัฐ แต่เรากลับไม่อธิบาย 14 ตุลา ว่าเป็นการฆาตกรรมโดยรัฐ เราเห็นฉากยิง M16 ใส่ไอ้ก้านยาว เฮ้ย นี่มันหนังสงครามนะ แต่เรากลับไม่ถูกดึงใจไปอธิบายต่อเลยว่า ทหารคนนั้นมาจากหน่วยไหน รถถังมาจากหน่วยไหน มันไม่มีใครดึงไปสู่ชุดความรู้ตรงนั้น แต่ 6 ตุลา มีการสืบค้นตลอดเลยว่า ใครคือตำรวจที่สูบบุหรี่และเล็งยิงไปที่ตรงนั้น 

ภาพการยิง M16 ใส่ไอ้ก้านยาว เป็นภาพแห่งความปวดร้าว ถ้าไปดูในหนังที่มีภาพนักข่าวถ่ายจากด้านหลังทหารไป คนล้มระเนระนาดเลยนะ แสดงว่าถูกยิงเจ็บกันเต็มเลยล่ะ แต่เราถูกทำไม่ให้ตั้งคำถามและสืบค้นต่อไป นี่คือลักษณะที่แตกต่างกันจนถึงวันนี้

ดังนั้น 6 ตุลา จึงปลุกพลังความคิดให้กับคนรุ่นใหม่ และ 6 ตุลา ก็นำไปสู่การตั้งคำถามใหญ่ของระบอบทางการเมืองของประเทศไทย ว่าประเทศไทยที่เดินออกจากระบอบเผด็จการทหารตอน 14 ตุลา แล้วทำไมถึงมีการฆ่ากันขนาดนี้ในอีก 3 ปีต่อมา และคำถามใหญ่ก็ยังถูกถามจนมาถึงวันนี้

ผมคิดว่ากรณีของทนายอานนท์ (อานนท์ นำภา) ที่ขึ้นปราศรัยวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มันเป็นการย้อนกลับไปเปิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญ ทนายอานนท์ไม่ได้เลือก 6 ตุลานะ แต่เลือก 14 ตุลา เป็นการพูดถึงพลังของประชาชนเรือนแสนที่ล้มระบอบเผด็จการ มันคือชัยชนะของประชาชน ผมว่าทนายอานนท์ได้เลือกความทรงจำในวันที่ประชาชนมีอำนาจขึ้นมา ไม่ได้เลือกวันที่ประชาชนถูกปราบ 

แล้วอะไรคือสิ่งที่ 14 ตุลา ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเผด็จการ เขายื่นข้อเสนอว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ประชาชนจึงต้องการรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย ตรงนี้ผมคิดว่ามันทำให้ 14 ตุลา ถูกเปิดกลับมาที่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เรื่องมันดูเหมือนกลับไปกลับมา แต่นี่แหละคือ 2 เหตุการณ์ที่เป็น 2 ด้านของเหรียญ

มองปรากฏการณ์การเปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนอุดมการณ์ของคนเดือนตุลาอย่างไร

คนที่เป็นผู้นำนักศึกษา มีแนวโน้มจะเข้าสู่สนามการเมืองเพื่อผลักดันเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ เพราะว่าพวกที่เป็นนักกิจกรรมนักศึกษาจะมีจิตใจต่อสังคมตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว และพอคุณออกจากการเป็นนักศึกษา คุณจะมีความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประเทศแบบใดแบบหนึ่งอยู่เสมอ ดังนั้น การเข้าสู่สนามการเมือง การเลือกตั้ง เข้าร่วมกับพรรคการเมือง จึงเป็นหนทางหนึ่ง 

อดีตผู้นำนักศึกษาที่อยู่กับฝ่ายพรรคการเมืองเวลานี้ เราอาจเห็นว่าเขาอยู่กับฝ่ายที่เป็นระบอบเก่า เราก็จะรู้สึกว่าทำไมเขาจึงสูญเสียอุดมการณ์ของตัวเองไป จริงๆ แล้ว อุดมการณ์ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของแต่ละบุคคล ถ้าตอนที่เราเป็นนักศึกษา สิ่งที่เรามีเหมือนกันคือ เรามักจะไม่มีผลประโยชน์ แต่พอเราเติบโตไปในเส้นทางของการทำอาชีพการงานธุรกิจต่างๆ เราจะเริ่มไปเกาะเกี่ยวกับผลประโยชน์ ซึ่งมันจะแฝงฝังให้เราต่อสู้เพื่อผลประโยชน์นั้นโดยไม่รู้ตัว 

ดังนั้น ถ้าเรามองจากสายตาว่าทำไมอุดมการณ์ของพวกเขาจึงเปลี่ยนไป เราก็ต้องเข้าใจว่ามนุษย์มันเติบโตไปตามกาลเวลา ถ้าเราจะยกย่องเขา ก็ยกย่องเขาตอนที่ต่อสู้ 14 ตุลา ส่วนที่เขาเป็นปัจจุบัน ก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่งั้นเราคงจะยกย่องใครไม่ได้หรอก เพราะมนุษย์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด

ตอนนี้เราก็จะเห็นว่าพรรครัฐบาลมีคนรุ่น 6 ตุลา อยู่ทั้งนั้นเลย คุณอาจรู้สึกว่าเขาไม่เหมือนเดิม แต่เขาอยู่ในเกมการเมืองอีกแบบหนึ่ง ก็ต้องว่ากันไป 

14 ตุลา ผ่านมาแล้ว 50 ปี ยังเหลืออะไรให้ศึกษาอีกบ้าง

14 ตุลา ยังมีสิ่งที่เรายังต้องศึกษา เช่น ทำไมกว่า 14 ตุลา จะได้รับการกล่าวถึงและยกย่อง ทำไมต้องใช้เวลาถึง 20 ปี แสดงว่ามันมีความพยายามที่จะลบประวัติศาสตร์ 14 ตุลา และทำไมถึงจะต้องลบประวัติศาสตร์นี้ คำตอบง่ายๆ ที่สุดคือ 14 ตุลา คือประวัติศาสตร์ที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นพระเอก เมื่อไรที่ประวัติศาสตร์มีเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นพระเอก เขาจะมีหลัก มีโมเดลว่า เมื่อไรถ้าชาติถึงคราววิบัติ เยาวชนคนหนุ่มสาวจะต้องออกมาทำการเปลี่ยนแปลง หลักการนี้คุณคิดว่ารัฐบาลเผด็จการจะยอมรับได้ไหมที่จะให้คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมา 

มันก็เหมือนกับการปฏิวัติ 2475 เริ่มต้นให้คนอายุ 20 เป็น สส. ได้ เป็นรัฐมนตรีได้ แต่การรัฐประหารครั้งต่อๆ มา จะทำให้คนที่เป็น สส. ได้อายุมากขึ้นๆ ถึงวันนี้คือ 25 ปี แต่คุณจะเป็นรัฐมนตรีได้ตอนอายุ 35 ปี จากเดิมกำหนดอายุ 20 ปี มันหมายความว่าอะไร หมายความว่า 15 ปีตรงนี้ ถ้าคุณเป็นคน คุณอาจลืมความฝันของคุณแล้วว่าคุณอยากทำอะไร เพราะคุณต้องไปเลี้ยงลูก ต้องไปหางานหาเงินให้ครอบครัว แต่ถ้าคุณเริ่มต้นทำงานทางการเมืองตอนอายุ 20 ปี คุณจะเต็มไปด้วยความใฝ่ฝันและต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศ

พูดง่ายๆ คือการรัฐประหารทั้ง 13 ครั้ง ในการเมืองไทย คือความพยายามจะกำจัดคนหนุ่มสาวออกจากเวทีทางการเมือง ไม่ได้ต่างจากความทรงจำ 14 ตุลาเลย

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า