จันทนา ฟองทะเล: จากโดม ถึงดอยยาว และภูผาจิ

สายฝนตกลงมากระทบพื้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม ส่งเสียงเพรียกพาให้รู้สึกถึงท่วงทำนองแห่งการต่อสู้ในอดีตของหนุ่มสาวยุคแสวงหา และเนื่องในวาระครบรอบ ‘50 ปี 14 ตุลา’ ได้พาเรากลับไปค้นหาพวกเขาอีกครั้ง ผ่านเส้นเรื่องต่อเนื่องใน 2 เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์เดือนตุลา 

ประวัติศาสตร์จากสายตาของอดีตนักศึกษา ผู้เข้าร่วมการชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คนรุ่นเขาประกาศชัยชนะเหนือ 3 ทรราชย์ ดื่มดํ่ากับยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่ทั้งหมดต้องจบลงด้วยการสังหารหมู่นักศึกษาในช่วงฟ้าสางของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยข้อหา ‘คอมมิวนิสต์’ จนพวกเขาจำต้องหลีกลี้ไปยังยอดดอยในภาคเหนือ เพื่อจับอาวุธสู้กับรัฐไทยที่กดปราบพวกเขาในวันนั้น 

ประสบการณ์ต่อเนื่องจากทั้งสองเหตุการณ์นี้ กลั่นออกมาเป็นงานเขียนทรงคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ นั่นคือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ เขียนโดย จันทนา ฟองทะเล หรือ อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ ฉายภาพคนหนุ่มคนสาวในยุคนั้นที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารชุดจอมพลถนอม กิตติขจร จนนำไปสู่การก่อตัวของขบวนการนักศึกษาในที่สุด 

อานันท์ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือของละแวกสามย่าน อันเป็นขุมความคิดทางปัญญาของนักเรียนและนักศึกษา ความคิดทางปัญญาที่ได้รับจากร้านหนังสือ ‘ศึกษิตสยาม’ นำมาสู่การตั้งคำถามต่อสังคมและรัฐไทยของคนในรุ่นเดียวกับเขาที่ต้องการแสวงหาความหมายในชีวิต เพราะเหนื่อยหน่ายกับชีวิตแบบสายลมและแสงแดดของนักศึกษายุคนั้น 

อานันท์ เข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 1 ในปี 2515 ด้วยความสนใจในดนตรีไทย เขาจึงได้เข้าร่วมวงดนตรีไทย เมื่อความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาได้ปรากฏตัวขึ้นมา อานันท์เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลา ขณะที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 อีกทั้งยังเป็นนักดนตรีวง ‘ต้นกล้า’ และวง ‘เจ้าพระยา’ วงดนตรีไทยผู้บรรเลงขับกล่อมโหมเร้าการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในช่วงรอยต่อ 3 ปี ระหว่าง 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19

มากไปกว่านั้น อานันท์ยังอยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ระหว่างเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 5 จนในที่สุดเขาตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไปศึกษาต่อด้านดนตรียังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกลับมาทำสงครามในแนวรบด้านศิลปะของ พคท.

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้แสดงความต่อเนื่องในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เชื้อชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักความคิดของนักศึกษาในรุ่นเดียวกับอานันท์ ที่มีต่อการมองสังคมและการเมืองไทย ท่ามกลางความคุกรุ่นของสงครามเย็นอันมีสมรภูมิการสู้รบทางอุดมการณ์อยู่รายรอบประเทศเพื่อนบ้านของเรา 

ชัยชนะของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ในวันที่ 14 ตุลา นำมาสู่การต่อสู้เพื่อ ‘เอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม’ ในสังคมของขบวนการนักศึกษา ชาวนา และกรรมกร แต่ด้วยแนวคิดแบบสังคมนิยม ซึ่งน่าจะเป็นแนวคิดที่ดีที่สุดในการต่อสู้ ณ ขณะนั้นเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม กลับถูกรัฐไทยมองแบบเหมารวมว่าเป็น ‘ภัยคอมมิวนิสต์’ ทั้งขบวน จึงจบลงด้วยการสังหารหมู่นักศึกษาในธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผลักให้ต้องหลบหนีเข้าป่าเพื่อจับอาวุธสู้ร่วมกับ พคท. ก่อนจะทยอยเดินทางออกจากป่าภายหลังรัฐบาลชุด พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 66/2523 

นอกจากนี้ อานันท์ยังตอบข้อสงสัยที่ว่า ผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์วันนั้นเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ อย่างที่ สมศักดิ์ เจียมธีรกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ชื่อดังว่าไว้จริงหรือไม่ พร้อมด้วยคำถามพ่วงที่ว่า แล้วทำไมพวกเขา (นักศึกษา) จึงต้องเข้าป่า เพียงเพราะ ‘รัฐบีบ’ หรือเพราะ ‘ความศรัทธา’ ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกันแน่ 

รวมถึงการตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงระหว่าง 14 ตุลา และ 6 ตุลา ถือว่าเป็น ‘คลื่นลูกเดียวกัน’ หรือไม่ ก่อนที่จะย้อนกลับมาขบวนปมทั้งหมดให้เห็นว่า แม้เหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านมา 50 ปีแล้ว แต่สังคมไทยทุกวันนี้ก็ยังยํ่าเท้าอยู่กับที่

หนุ่มสาว ‘ยุคแสวงหา’ ก่อน 14 ตุลา จะมาถึง


ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะเกิดขึ้น สภาพและบรรยากาศสังคมและการเมืองไทยในสมัยถนอม กิตติขจร เป็นอย่างไร 

ประเทศไทยก็อยู่กับระบอบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นับแต่การรัฐประหารปี 2500 ยาวมาถึงช่วงปี 2516 อาจจะมีบางช่วงสั้นๆ คั่นด้วยประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ช่วงสั้นนิดเดียว แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย 

หลังจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2511 ก่อนรัฐประหารตัวเองในปี 2514 เรียกได้ว่ากลับมาเบ็ดเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นระบอบเผด็จการที่มันอยู่มานานๆ มันไม่ใช่การเผด็จอำนาจในทางการเมืองอย่างเดียว แต่ว่าในองคาพยพสังคมทั้งหมด โครงสร้างองค์กรต่างๆ มันเป็นไปหมด โรงเรียนมันก็เป็นบรรยากาศแบบเผด็จการอำนาจนิยม ชีวิตทางสังคมอื่นๆ ก็เป็นอย่างนี้หมด 

ผมจำได้ว่าเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2515 สอบเสร็จก็ไปสอบสัมภาษณ์ อาจารย์ก็ถามคำถามหนึ่งว่า “เข้ามหาลัยมานี่ จะไว้ผมยาวไหม” ผมก็บอกว่า ไว้ยาวกว่านี้หน่อย คือตอนเราเป็นนักเรียนก็ถูกบังคับให้ตัดผมเกรียนอยู่แล้ว ก็อยากไว้ยาวกว่านี้หน่อย แต่อาจารย์ที่สัมภาษณ์ก็กล่าวว่า “นี่ยังไม่ยาวอีกหรือ” แล้วอาจารย์ก็ถามต่อว่า “นักศึกษารู้ไหมว่าจอมพลถนอมชอบคนผมยาวหรือคนผมสั้น” เราก็ตอบว่า “คนผมสั้น” อาจารย์จึงตอบกลับมาว่า “อ้าว! แล้วทำไมจึงไว้ผมยาว” ผมก็ตอบกลับไปว่า “ผมไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจอมพลถนอม” จากเรื่องนี้หมายความว่า จอมพลถนอมเป็นคนที่พูดทุกเรื่อง เหมือนกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความเห็น ให้คำขวัญวันเด็ก ให้โอวาท วิจารณ์คนผมยาว เพราะสมัยนั้นมันมี ‘ฮิปปี้’ พวกคนผมยาวแล้วไง 

ที่เล่าเรื่องนี้ก็เพราะอยากให้เข้าใจว่า พอเราอยู่กับระบอบการปกครองแบบใดแบบหนึ่ง ระบอบนั้นมันก็ซึมซ่านในทุกอณูของสังคม การแสดงออกในสิทธิเสรีภาพจึงถูกกีดกั้น แม้แต่การไว้ผมยาวอย่างกรณีที่เคยเป็นข่าวสมัยนั้นว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ไว้ผมยาว ถูกทหารเสือพราน (ทหารรับจ้างไทยไปรบต่อต้านคอมมิวนิสต์ในลาว) กล้อนผมตามท้องถนน นี่คือบรรยากาศทางการเมืองและสังคม สิทธิเสรีภาพแทบไม่มีความหมายอะไร สิทธิที่จะคิดอะไรนอกกรอบถูกจำกัดหมด

อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ เจ้าของนามปากกา จันทนา ฟองทะเล ผู้เขียน จากดอยยาวถึงภูผาจิ ขณะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมการชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พร้อมด้วยทรงผมยาวประบ่า

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองสมัยถนอม กิตติขจร มีคนพยายามชี้ว่า นักเรียนนักศึกษาดำเนินชีวิตแบบ ‘สายลมแสงแดด’ (ในความหมายทางลบ) คำกล่าวนี้จริงเท็จแค่ไหน

เขาให้ความหมาย ‘สายลมแสงแดด’ ในความหมายที่ว่า ใช้ชีวิตเลื่อนลอย มีความสุขสนุกสนาน มองโลกสวย ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะว่ายุคเผด็จการเราไม่มีสิทธิที่จะคิดจะพูดอะไรในทางการเมืองได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยส่งเสริมคือ กิจกรรมในทางบันเทิงทั้งนั้น กลอนก็เป็นกลอนรัก งานมหาวิทยาลัยก็จะเป็นงานฟุตบอลประเพณี งานรับน้อง เต้นรำ กิจกรรมมันเป็นอย่างนั้น ดีที่สุดก็อาจจะมีกิจกรรมโต้วาทีหรือที่ก้าวหน้ามากที่สุดคือการไปออกค่ายอาสาพัฒนา 

ฉะนั้นพูดได้เลยว่าในระบอบเผด็จการมันไม่เปิดทางให้สำหรับการคิดเรื่องอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยเราแทบไม่รู้อะไรเลย ในโรงเรียนเราแทบไม่รู้อะไรเลยเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าใครไม่ได้อ่านหนังสือซึ่งมีอยู่เยอะนะ อย่างหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ถ้าไม่มีใครขวนขวายอ่านก็จะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสังคม ปัญหาเด็กและสังคมถูกปิดกั้นหมด เพราะเราอยู่กับชีวิตที่มีความสุขไปวันๆ เรียนหนังสือให้มันจบๆ ไป แล้วก็ไปทำงาน สร้างความมั่นคงให้ชีวิตและอาชีพแค่นั้น

อานันท์ (ขวามือสุดแถวยืน) สมาชิกวงต้นกล้า วงดนตรีไทยเพื่อชีวิต ในช่วงยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน โดยสมาชิกรุ่นก่อตั้งประกอบด้วย พงษ์ศักดิ์ เกตุจรูญ, รังสิต จงฌานสิทโธ, สันธวิทย์ อุณหสุวรรณ์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, ทวีศักดิ์ โตรักษา, และชาญ ธาระวาส โดยมีเพลงที่มีชื่อเสียง คือ หนุ่มสาวเสรี แต่งโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ, เพลง การะเกด แต่งโดย จันทนา ฟองทะเล, เพลง คนทำทาง และ กระทุ่มแบน แต่งโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

การที่นักเรียนนักศึกษาขวนขวายอ่านหนังสือ มีส่วนทำให้พวกเขาเริ่มตั้งคำถามต่อสังคมและการเมืองภายใต้ระบอบทหารด้วยไหม

ผมเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 เมื่อปี 2515 ปีนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอีกหลายแห่งมีกิจกรรมหลายอย่างสวนทางกับขนบเดิมที่เราเรียกว่ากิจกรรมแบบ ‘สายลมแสงแดด’ มีกลุ่มชมรมนักศึกษาหัวก้าวหน้าอย่างธรรมศาสตร์ มีกลุ่ม ‘สภาหน้าโดม’ มีหนังสือเล่มละบาทที่กึ่งขายกึ่งแจก มีนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ วิทยาสารปริทัศน์ วิทยาสารปริทัศน์ฉบับนักศึกษาและประชาชน มีหนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิต ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการตั้งคำถามกับสังคมมากขึ้น งานหลายชิ้นเรามารู้ที่หลังว่า เป็นการนำงานเก่าๆ กลับมาตีพิมพ์ใหม่ ซึ่งสาบสูญไปจากสังคมตั้งแต่ปี 2500 นั่นก็คืองานเขียนนานาชนิดของปัญญาชน นักต่อสู้ รุ่นก่อนปี 2500 ที่ถูกจับถูกฆ่าหรือว่าหลบหนี เช่น งานของ จิตร ภูมิศักดิ์ นายผี อัศนี พลจันทร์ บรรจง บรรเจิดศิลป์ และอีกหลายคน

มันยังมีกระแสความเบื่อหน่ายชีวิตในมหาวิทยาลัย เบื่อหน่ายสังคม เหมือนกับไม่มีความหวังอะไรในชีวิต มีงานของ วิทยากร เชียงกูล เป็นกลอนชื่อ เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน (โดยมีวรรคทองคือ “ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย”) มีหนังสือรวมเรื่องสั้นของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เรื่อง ความเงียบ (รวมเรื่องสั้นยุคแสวงหา) รวมไปถึงงานของ สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ขรรค์ชัย บุนปาน สะท้อนความไร้สาระและความเบื่อหน่ายกับชีวิตมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้สร้างความหมายในชีวิตให้ผู้คน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2515 หรืออาจจะเรียกได้ว่ามันเกิดมาก่อนหน้านั้นแล้วก็ได้ แต่ปี 2515 มันปะทุชัดเจนขึ้น เริ่มเกิดการเคลื่อนไหวหลายเรื่อง เกิดชมรมอะไรต่างๆ มากมาย

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ขณะที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อนักเรียนนักศึกษาในเวลานั้น

นักเรียนนักศึกษาที่ตั้งคำถามต่อสังคม ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักคิดนักเขียนรุ่นก่อนอย่างไรบ้าง 

ความคิดแบบสังคมนิยมอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่ก่อนปี 2500 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจัดตั้งปี 2485 และในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา มีปัญญาชนหัวก้าวหน้าและขบวนการทางการเมืองที่ก้าวหน้าจำนวนมากเกิดขึ้น เช่น ขบวนการสันติภาพ มีนักเขียนก้าวหน้าจำนวนมาก เอ่ยชื่อแทบไม่หมด มีนิตยสารก้าวหน้าจำนวนมากอย่างหนังสือปิตุภูมิ หนังสืออักษรสาส์น หากเราย้อนกลับไปดูจะพบว่าสังคมไทยในช่วง 6-7 ปี ก่อนปี 2500 จะมีขบวนการเคลื่อนไหวทางความคิดฝ่ายซ้ายมากมาย แนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อชีวิต วรรณกรรมเพื่อชีวิตออกมามากมาย ทั้งหมดนี้คือขุมทรัพย์ที่มีอยู่ในไทย แต่ทั้งหมดถูกปิดกั้นหมด ถูกเก็บ ถูกกวาด ถูกล็อกไว้ในตู้ ไม่มีใครรู้ ทั้งหมดนี้คือสภาวะการณ์ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 

ขณะเดียวกันก็มีความคิดที่ก้าวหน้าจากตะวันตกเริ่มเข้ามา เป็นแนวความคิดแบบเสรีนิยม มาพร้อมกับนักเรียนนอกที่ไปเรียนต่างประเทศแล้วเห็นความเจริญก้าวหน้า เขียนบทความรวมเล่มก็มี อย่างเช่น หนังสือคิดถึงเมืองไทย ตีพิมพ์ปี 2513 ซึ่งเป็นการรวมงานเขียนของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กมล สมวิเชียร บุญสนอง บุณโยทยาน ปราโมทย์ นาครทรรพ เขาอยู่ในประเทศตะวันตก ได้เห็นประชาธิปไตย จึงได้เขียนนำเสนอออกมา กระทั่งจุดกระแสเสรีนิยมในไทย 

หนังสือ คิดถึงเมืองไทย ของกลุ่มนักเรียนนอก ตีพิมพ์ระหว่างปี 2513-2514

ขณะเดียวกันภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เข้ามาก่อน 14 ตุลา หลายเรื่องก็เป็นหนังที่ดีมากๆ เพราะมันสะท้อนถึงความเศร้าในชีวิต การแสวงหา การดิ้นรน การก่อกบฏ ซึ่งตอนเราเป็นนักเรียนก็ได้ดูกัน เช่น The Graduate นำแสดงโดยดัสติน ฮอฟแมน (Dustin Hoffman) เรื่อง Fiddler on the Roof ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัสเซีย เรื่อง The Adventurer ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติในละตินอเมริกา หนังเหล่านี้ได้สะท้อนความพยายามของมนุษย์ในการตั้งคำถามต่อชีวิต ค้นหาความหมายของชีวิต ขบถต่อชีวิต นี่คืออิทธิพลจากหนัง จากหนังสือ นิตยสาร ที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลาก่อน 14 ตุลา

อิทธิพลทางความคิดของขบวนการนักเรียนนักศึกษา อยู่บนเส้นแบ่งทางอุดมการณ์แบบใด ซ้ายหรือขวา หรือว่ามีความหลากหลาย 

ถูกต้องครับ มีความหลากหลาย 

จุดตัดของสถานการณ์ใดก่อน 14 ตุลาคม 2516 ที่ถือว่าเป็นการขยับครั้งสำคัญทางความคิดทางการเมืองของขบวนการนักศึกษา

ตัวความคิดมันยังคงดำรงอยู่ แต่สิ่งที่ปะทุขึ้นมามันประกอบไปด้วยหลายเหตุการณ์ที่เรามักพูดถึง แต่ที่เป็นปฏิบัติการทางการเมืองจริงๆ เช่น การประท้วงประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ในปี 2515 ที่ฝ่ายบริหารประกาศออกมาเพื่อควบคุมฝ่ายตุลาการ ผมจำได้ว่าเป็นการชุมนุมแบบค้างคืนครั้งแรกของนักศึกษาที่หน้าศาลฎีกา (สนามหลวง) จนรัฐบาลต้องถอน มีการล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรจนเฮลิคอปเตอร์ตก ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่กระทบความรู้สึกของคนจากเหตุการณ์เหล่านี้ จนนำมาสู่การชุมนุมทางการเมืองในที่สุด หากถามว่าอะไรคือจุดตัด มันก็ประกอบกันหลายอย่าง แต่ว่าฐานมันมาจากเรื่องสิทธิเสรีภาพนี่แหละ 

อะไรคือแนวคิดที่ตกผลึกจนนำมาสู่การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะหลายคนชี้ว่า เป็นขบวนการที่วางอยู่บนอุดมการณ์ความคิดที่หลากหลาย 

ก่อน 14 ตุลา มันไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก เป็นความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยล้วนๆ เพราะเราอยู่กับการที่ไม่มีประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน คนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ปี 2 คือ คนที่อยู่กับจอมพลสฤษดิ์มาตั้งแต่ 7-8 ขวบ เมื่อรู้ความ เขาก็อยู่ในสังคมแบบนั้นแล้ว ในยุคจอมพลถนอม เขาจะต่ออายุราชการก็เป็นเรื่องปกติ ส่งต่ออำนาจให้จอมพลประภาส จารุเสถียร พันเอกณรงค์ กิตติขจร ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ ลุแก่อำนาจ 

ดังนั้นจุดร่วมกันคือประชาธิปไตย ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เราต้องการมีสิทธิมีเสียง ต้องการเลือกตั้ง ต้องการรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ซับซ้อนถึงขนาดที่ว่าการเลือกตั้งในระบบอะไร รูปแบบไหน ดังนั้นจึงหมายความว่า ไอ้ที่ไม่มีเลย จึงต้องการมีเท่านั้นเอง ส่วนจะคิดแบบไหนอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งหมดนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาในที่สุด 

ประเด็นหลักของการเดินขบวนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จริงๆ แล้วคืออะไร เรียกร้องประชาธิปไตย ล้ม 3 ทรราชย์ ‘ถนอม-ประภาส-ณรงค์’ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือมีเรื่องอื่นที่มากกว่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง

ใช่ครับ ประเด็นนอกเหนือจากนี้ไม่มี ส่วนเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์เรายังไม่รู้จักด้วยซํ้าไป อาจจะมีผู้นำนักศึกษาบางคนรู้จักหรืออาจจะมีสาย (จัดตั้ง) แต่ว่าขบวนการใหญ่ไม่มีเรื่องสังคมนิยม ไม่มีคอมมิวนิสต์ มีแค่ขอรัฐธรรมนูญ ขอแค่ประชาธิปไตย ขอเสรีภาพในการเลือกตั้ง 

ถือว่า 14 ตุลาคม ขบวนการนักศึกษา ‘ชนะ’ แล้วหรือยัง

ถ้าเรามองในแง่ของการขยับพื้นที่ในทางการเมือง มันก็คือชัยชนะนั่นแหละ แต่หากบอกว่าสมบูรณ์หรือเปลี่ยนแปลงไปถึงโครงสร้างไหม มันไม่ใช่ แต่หมายความว่า การชุมนุมวันที่ 14 ตุลา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นการยุติระบอบเผด็จการทหารที่อยู่ในอำนาจมาทั้งสิ้น 16 ปี ซึ่งมันได้พังทลายลง เปิดทางให้กับการมีเสรีภาพ การมีประชาธิปไตย แม้ว่ามันจะอยู่ได้เพียงแค่ 3 ปี แล้วเกิดรัฐประหารอีกครั้งก็ตาม 

ดังนั้นตัวเหตุการณ์ 14 ตุลา มันได้ทำลายระบอบอำนาจเผด็จการทหารลงไป อาจจะไม่โดยสิ้นเชิง ก็ถือว่าขุดรากที่ฝังมา 15 ปีขึ้นมา แต่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอำนาจที่ฝังรากลึกกว่านั้น

จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา
ประชาธิปไตยเบ่งบาน ควบคู่อุดมการณ์สังคมนิยม


ในช่วง ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ แนวความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของขบวนการนักศึกษาเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน จากสิ่งที่ตกผลึกมาเป็น 14 ตุลาคม 2516 

พอ 14 ตุลา เกิดขึ้นแล้ว มันได้เปิดพื้นที่ทางการเมือง คนที่เดือดร้อนหรือถูกกดทับอยู่ตลอดเวลาเขาได้แสดงออกมา กรรมกรที่ได้ค่าแรงวันละ 15 บาท อยู่กันแบบทุกข์ทรมาน ชาวไร่ชาวนาที่อยู่กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีการควบคุมค่าเช่านา ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ชีวิตประจำวันทั่วไปที่มีความทุกข์ร้อนในชนบทบ้านนอกห่างไกล ถูกเจ้าหน้าที่รัฐรังแก มันปะทุออกหมด หลัง 14 ตุลา คนเลยรู้สึกว่า ตนเองมีเสรีภาพ อย่างน้อยก็คือเสรีภาพในการร้องทุกข์ เสรีภาพในการประท้วงและเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นการชุมนุมของกรรมกรและชาวนาจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นักศึกษาเองก็ไม่ได้มีเรื่องเดือดร้อนอะไรโดยส่วนตัวแล้วที่เป็นชนชั้นกลางก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมายอยู่แล้ว

องค์กรของชาวนาจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ธันวาคม 2517
ใช้ชื่อว่า ‘สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ โดยมีนายใช่ วังตะกู เป็นประธานคนแรก

คนจนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือกรรมกรกับชาวนานั่นแหละ เป็นกำลังทางสังคมที่ปะทุมากที่สุด นำไปสู่การเรียกร้องสำคัญและรัฐต้องสนองโดยเร็ว ปี 2517 เป็นปีที่มีชาวนาชุมนุมเรียกร้องตลอดทั้งปี จนนำไปสู่การจัดตั้ง ‘สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ ซึ่งเป็นองค์กรของชาวนาชาวไร่ที่จัดตั้งขึ้นอย่างเข้มแข็ง ขณะที่เดือนพฤศจิกายน 2517 รัฐบาลต้องออก ‘พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517’ เพื่อควบคุมปัญหาที่ชาวนาต้องจ่ายค่าเช่าแพง เจ้าของนาบอกเลิกการเช่าเมื่อไรก็ได้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ในปี 2518 รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องออก ‘พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518’ เพื่อเป็นหลักประกันเรื่องค่าแรงและสวัสดิภาพของกรรมกร

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เปิดพื้นที่เสรีภาพให้คนจนได้เรียกร้องสิทธิและถือว่าค่อนข้างเกิดผลอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ กรรมกรสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เรียกร้องค่าแรง มีสิทธิหยุดงานได้

การประท้วงของกรรมกรหญิงสแตนดาร์ดการ์เมนต์ ในปี 2518

กล่าวได้หรือไม่ว่าแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางเมืองของขบวนการนักศึกษาเคลื่อนจาก ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’ ไปทาง ‘ซ้าย’ มากขึ้น ถ้าใช่ สภาวะหรือสถานการณ์แบบไหนที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฟากฝั่งทางอุดมการณ์

ตัวความคิดที่หลากหลายก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่จุดร่วมที่ตรงกันคือฉันทามติของสังคม และกลายมาเป็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักๆ คือ ‘เอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม’ เรื่องประชาธิปไตยชัดเจนอยู่แล้ว เอกราชเราเห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า ความที่ประเทศเราอยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องพูดถึงญี่ปุ่นที่เราเคยมีประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ แค่สหรัฐอเมริกาก็ชัดเจนที่สุดแล้ว เพราะมีการตั้งฐานทัพในประเทศไทย เป็นที่พักทหาร เป็นที่ตั้งเรดาร์สอดแนมกลุ่มประเทศอินโดจีน ไทยต้องส่งทหารไปร่วมรบในเวียดนาม ในลาว ด้วยนโนยาย ตามก้นอเมริกา ส่วนประเด็นความเป็นธรรมยิ่งชัดเจน เพราะสังคมไม่มีความเป็นธรรม 

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฐานคิดแบบไหน มันมาจากการมองเห็นปัญหาแล้วนิยามมันขึ้นมาว่า มันควรจะแก้ด้วยอะไรหรือเปลี่ยนไปสู่อะไร แต่ว่าใช้ความคิดอะไรไปแก้ ใช้ลัทธิความเชื่ออะไรไปทำนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตอนหลังความคิดฝ่ายซ้ายก็เข้ามาสนับสนุนตรงนี้

อะไรคือเหตุและปัจจัยให้แนวคิดแบบซ้ายก่อตัวขึ้นมาเป็นกระแสหลักในขบวนการนักศึกษา 

เริ่มต้นนักศึกษาก็ไม่ได้ซ้ายหรอก ไม่รู้ด้วยซํ้าว่าซ้ายคืออะไร อาจจะมีเฉพาะตัวแกนนำหรือคนที่ศึกษาจริงจัง ทั้งหมดก็แค่ต้องการอย่างที่ว่าคือ เอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม แต่พอเคลื่อนไหวไปเคลื่อนไหวมาก็เกิดคำถามว่าอะไรคือ เครื่องมือที่จะช่วยให้เราบรรลุการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แนวคิด ทฤษฎี หลักคิด ลัทธิความเชื่ออันใด ตรงนี้แหละที่แนวคิดแบบสังคมนิยมหรือแนวคิดฝ่ายซ้ายเข้ามาตอบคำถามเหล่านี้ได้มากที่สุด 

เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่นักศึกษาจะได้รับแรงบันดาลใจอย่างเช่น จากการอ่าน เช เกวารา เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแนวคิดฝ่ายซ้ายจึงเข้ามาในขบวนการนักศึกษา 

อย่างที่ผมได้บอกไปตั้งแต่ต้น ว่ามีงานเขียนจำนวนมากของฝ่ายซ้ายไทย ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา งานเขียนเหล่านี้ถูกนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่ เผยแพร่อย่างกว้างขวางมาก หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา เพียงเดือนเดียว วารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2516 ขึ้นพาดหัว ‘สังคมนิยมกับสังคมไทย?’ ก็หมายความว่า ความคิดเรื่องสังคมนิยมมันอยู่กับสังคมไทยมานานแล้วตั้งแต่ก่อนปี 2500 เมื่อมีความต้องการความเปลี่ยนแปลง แนวความคิดนี้จึงถูกนำมาศึกษา ก่อให้เกิดแรงจูงใจและความศรัทธาให้เชื่อว่า ซ้ายคือทางออก แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นคอมมิวนิสต์นะ ซ้ายคือแนวความคิดแบบสังคมนิยม

ขบวนการนักศึกษาเอียงซ้ายเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่ทำไมรัฐไทยมองว่าเป็น ‘ภัยคอมมิวนิสต์’ 

ความกลัวคอมมิวนิสต์ในสังคมไทยมันมีมานานแล้ว ตั้งแต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักคอมมิวนิสต์ด้วยซํ้าไป ตั้งแต่ผมยังเด็กจำความได้ผมก็รู้จักคำว่าคอมมิวนิสต์แล้ว จากเอกสาร USIS (United State Information Service) จากหนังโฆษณาต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นคอมมิวนิสต์มันเป็น ‘สัตว์ประหลาด’ ในสังคมไทยมาตั้งแต่ก่อน 2475 แม้การปฏิวัติบอลเซวิคในรัสเซียอาจจะดูห่างไกล แต่การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในปี 2492 สงครามอินโดจีนที่มีหัวขบวนคือ พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา มันสร้างแรงกระเพื่อมสูง

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ชนชั้นนำไทยจะมองทุกอย่างเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วมันไม่ได้ไกลจากบ้านเราคือ จีนแดงที่ใหญ่โตมโหฬาร มีคอมมิวนิสต์ที่กำลังรบกันอยู่ข้างบ้าน ประชิดชายแดนไทยตามแนวแม่นํ้าโขง ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่าทำไมชนชั้นนำไทยจึงแพนิค กลัวคอมมิวนิสต์ ซึ่งมันกลายมาเป็นตัวกระตุ้นในการมองทุกอย่างเป็นคอมมิวนิสต์ แต่นั่นคือการมองที่ผิดแล้วผลักผู้เห็นต่างไปเป็นศัตรู 

การเอียงซ้ายของขบวนการนักศึกษา มีอิทธิพลชี้นำหรือแทรกแซงจาก พคท. บ้างหรือไม่ ขณะที่มีเอกสาร ‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519’ ระบุว่า ศนท. ตั้งแต่หลัง 14 ตุลา เป็นต้นมา เป็นผลผลิตของฝ่ายซ้าย จนทำให้พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ถึงกับกล่าวว่า ‘เอาไม่อยู่’ จนทำให้รัฐถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่นำมาสู่การปราบปรามในวันที่ 6 ตุลา ข้อหาคอมมิวนิสต์

ในประเทศไทยมีขบวนการคอมมิวนิสต์อยู่จริงมาตั้งแต่ปี 2485 แล้ว เรื่อยมาจนปี 2495 ก็มีการต่อสู้ด้วยสันติวิธีผ่านการลงรับสมัครเลือกตั้ง จนกระทั่งปี 2508 เกิดเหตุการณ์ ‘เสียงปืนแตก’ พคท. จึงต้องจับอาวุธสู้กับรัฐไทย ซึ่งไม่แปลกที่รัฐไทยจะต้องกลัวและเชื่อมโยงว่าคอมมิวนิสต์กับนักศึกษาเป็นพวกเดียวกัน หรือเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวอะไรก็แล้วแต่ ทั้งกรรมกรและชาวนา อันนี้คือความหวาดระแวงของรัฐอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันคอมมิวนิสต์ก็ถือว่า พลังเหล่านี้เป็นแนวร่วมของเขาอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้แปลกอะไร เขาก็ต้องมองนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นแนวร่วมของเขาอยู่แล้ว ชาวนาที่เรียกร้องสิทธิที่ดินและความเป็นธรรมก็เป็นแนวร่วมของเขาอยู่แล้ว มันเป็นแนวร่วมซึ่งกันและกัน 

อยากจะให้เข้าใจคำว่า ‘แนวร่วม’ ด้วยว่า มันไม่ได้แปลว่า ใครเป็นพวกใคร หรือใครเป็นลูกน้องใคร แต่คือมีเป้าหมายตรงกันหรือมีปัญหาร่วมกัน ก็เลยเป็นแนวร่วมโดยปริยาย เหมือนกับนักศึกษาที่มองว่าพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแนวร่วมและพรรคคอมมิวนิสต์ก็มองนักศึกษาเป็นแนวร่วมเช่นกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นพวกเดียวกันหรือคิดแบบเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องทางการเมืองปกติ เหมือนทุกวันนี้พรรคการเมืองเป็นแนวร่วมกันและกัน เพราะมีศัตรูอันเดียวกัน มีเป้าหมายเหมือนกัน

คอมมิวนิสต์มันเป็นเพียงความเชื่อและอุดมการณ์ว่า สังคมต้องวิวัฒนาการไป (วัตถุนิยมประวัติศาสตร์) จากกำลังการผลิตที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมทาสกับศักดินา เป็นทุนนิยม และเป็นสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในปลายทาง คนที่เชื่อคอมมิวนิสต์ก็ต้องเชื่อว่าโลกจะต้องเปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสต์สักวันหนึ่ง เหมือนที่คนเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ ดังนั้นคนที่เชื่อแบบนี้ก็ตั้งพรรคขึ้นมาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อจะนำพาสังคมไปสู่จุดนั้นจะอีกร้อยปีพันปีก็ไม่รู้ อันนั้นคือเรื่องของอนาคต อีกทางหนึ่งเขาก็ต้องต่อสู้กับปัญหาปัจจุบัน เขาก็ต้องนิยามการต่อสู้ไป ใครเป็นมิตรเขาก็นิยามไป แต่ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เขาก็มีลัทธิขยาย ขยายสมาชิกพลพรรค เหมือนพรรคการเมืองนี่แหละ และการนำก็มีอยู่ 3 อย่างคือ การนำทางความคิด การนำทางการเมือง และการนำทางจัดตั้ง

การนำทางความคิด หมายความว่า เขาสามารถจูงใจให้คนเชื่อว่า ความคิดแบบคอมมิวนิสต์นั้นถูกต้อง การนำทางการเมือง หมายความว่า เขาสามารถที่จะเสนอคำขวัญทางการเมืองหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองแล้วคนเห็นชอบ และการนำทางจัดตั้ง หมายความว่า เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นการนำทางความคิดจึงเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลว่าขบวนนักศึกษาจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ แต่คอมมิวนิสต์เขาก็ทำงานของเขาสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง นำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะการที่พรรคคอมมิวนิสต์อยู่ในป่าก็แทบจะตัดขาดจากงานในเมืองไปเลย ทำการนำได้น้อยมาก 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ลงในเฟสบุ๊กเมื่อไม่นาน (23 กันยายน 2566) ว่า “ในธรรมศาสตร์ เราเป็นพวกคอมมิวนิสต์ นี่เป็นความจริงที่สมควรยอมรับได้แล้ว และการชุมนุมของเราเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อชัยชนะของฝ่าย พคท. เราไม่ได้กำลังต่อสู้เพื่อ ‘เอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม’ เท่านั้น” คิดว่าคำพูดนี้จริงแค่ไหน 

ในธรรมศาสตร์วันนั้น เราเชื่อว่าการจัดตั้งมันมีอยู่แน่นอน เพราะหลังจากที่เราเข้าไปในป่า ยิ่งช่วงที่ผ่านมา 40-50 ปีมานี้ ก็มีคนเขียนหนังสือที่ระบุว่า ตนเองเป็นสายงานของ พคท. แต่ไม่ได้หมายความว่า ขบวนการทั้งหมดเป็นของ พคท. แต่เป็นขบวนการมวลชนที่เข้าร่วมด้วย ‘ฉันทามติ’ ทางการเมือง ไม่ใช่ขบวนการจัดตั้งที่บังคับบัญชาแล้วบอกให้ซ้ายหันขวาหัน 

อย่างที่ผมบอกว่า เอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม การต่อสู้เพื่อ ‘ความเป็นธรรม’ มันไม่ใช่การถกว่า เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ความเป็นธรรมมันคือ การเรียกร้องความต้องการของคน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ทั้งสังคมก็พูดกันแต่โบราณแล้ว คำว่าประชาธิปไตยพูดมาตั้งแต่เทียนวรรณ สู้กันมาตั้งแต่ ร.ศ. 130 จนถึง 2475 เพราะฉะนั้นขบวนการที่ต่อสู้เพื่อเอกราช เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรม มันจะไปตรงกับคำว่าคอมมิวนิสต์หรือไม่นั้น ไม่สำคัญเลย เพราะมันไม่เกี่ยวว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ แต่มันคือความปรารถนาของผู้คนเท่านั้นเอง 

ฉะนั้นการต่อสู้ที่ธรรมศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะในธรรมศาสตร์วันนั้น แต่หมายถึงการต่อสู้ทั้งหมดในกระบวนการนี้ ทั้งชาวนาที่เขาเรียกร้องเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน กรรมกรที่เขาเรียกร้องค่าแรง เราจะไปบอกว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร ถ้าบอกว่ามีแค่คนสองคน มีสายจัดตั้งคอมมิวนิสต์อยู่ในนั้น ตราบใดที่เขาเคลื่อนไหวในปัญหาสิทธิเสรีภาพ ในปัญหาของเขามันก็คือขบวนการของเขา เพราะฉะนั้นผมมองไม่เห็นว่า ขบวนการที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร 

อย่างคนที่เขียนหนังสือล่าสุดคือ จรัล ดิษฐาอภิชัย เรื่อง เกิดมาขบถ ที่เพิ่งตีพิมพ์เขาก็ระบุชัดเจนว่า เขาคือสายจัดตั้งของ พคท. แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาเข้ามาชี้นำขบวนให้เคลื่อนไปในทิศทางของเขา ถ้าไปอ่านหนังสือของเขาก็จะรู้เลยว่า หลายเรื่องที่เขาเสนอความเห็น คนก็ไม่ได้ฟัง ขบวนไม่ได้ฟังเขา ฉะนั้นตรงนี้จะกำลังบอกว่า ในธรรมศาสตร์วันนั้นเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ จัดตั้งด้วยคอมมิวนิสต์ นำพาด้วยคอมมิวนิสต์ และขึ้นต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ ผมว่ามันไม่ใช่ คนละเรื่องเลย ไม่เห็นด้วย ผมว่าไม่จริง แต่มันคือขบวนการมวลชนในเมืองที่เรียกร้องตามขอบเขตของตนเอง

จากโดม ถึงดอยยาว และภูผาจิ


ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา เป็นต้นมา นักศึกษารู้จักพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน

ผมว่ามารู้จักจริงๆ ก็หลัง 6 ตุลา แล้ว อย่างที่บอกคือ ก่อน 14 ตุลา มันไม่มีอะไรให้อ่าน เพราะถูกปิดกั้นไปหมด หนังสือพิมพ์ก็ไม่ค่อยจะมี เปิดหนังสือพิมพ์ใหม่มันไม่ใช่จะง่าย ทุกอย่างมาเปิดหลัง 14 ตุลา 2516 คนรู้จักพรรคคอมมิวนิสต์ก็หลังจากนั้นนั่นแหละ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ น่าจะเป็นแห่งแรกที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องคอมมิวนิสต์ แต่ก็พูดอย่างมีข้อมูลหลากหลายมาก หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆ รู้มากขึ้นจากงานเขียนเก่า (ก่อนปี 2500) ที่เอามาพิมพ์กันภายหลัง ทำให้เรารู้จักคอมมิวนิสต์มากขึ้น ส่วนมากก็จะรู้จักคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศมากกว่า เช่น คอมมิวนิสต์จีนจากหนังสือสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง รู้จักคอมมิวนิสต์รัสเซียจากหนังสืออะไรก็ตาม แต่แทบจะไม่รู้จักคอมมิวนิสต์ไทยเลย มันเป็นความลับมาก แล้วมันผิดกฎหมาย แล้วก็มันไม่มีที่ไหนให้อ่าน 

พคท. ในแบบที่นักศึกษารู้จักจากการอ่านหนังสือ หรือได้รับมโนทัศน์มาจากคำบอกเล่า นักศึกษาคิดว่าเป็นอย่างไร และในความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร เมื่อได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ พคท. 

คอมมิวนิสต์ที่เรารับรู้มันเป็นเรื่องอุดมคติมากนะ ภาพที่เราสร้างจากการอ่านนิยาย อ่านจากหนังสือหรือตำรา ดูสูงส่ง คือคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ต้องเสียสละทุกอย่างแล้ว มีคนพูดกันว่า เราจะพัฒนาตัวเองเป็นนักกิจกรรม (activist) ไปเป็น นักปฏิวัติอาชีพ (revolutionist) และจากนักปฏิวัติอาชีพไปเป็นนักคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเรื่องอุดมคติ ความศรัทธา แล้วเราก็มองภาพคอมมิวนิสต์เป็นคนบริสุทธิ์ คลีน สละแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนเป็นพระ เหมือนคนบวช นี่คือภาพคอมมิวนิสต์ที่เราสร้าง 

ทำไมนักศึกษาไม่ว่าจะเข้าป่าก่อน 6 ตุลา หรือหลัง 6 ตุลา ไปแล้ว ถึงเลือกเดินไปกับ พคท. เป็นเพราะเชื่อมั่น ศรัทธา หรือรัฐไทยบีบให้ต้องเลือกข้าง 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การไปร่วมกับคอมมิวนิสต์ สมาทานคอมมิวนิสต์ ร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทีหลัง น่าจะช่วงปลายปี 2518 โดยเฉพาะปี 2519 อย่างที่ผมบอกว่า เรามีความปรารถนาในการต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม เราก็มีความเชื่อของเราแล้วแต่ทฤษฏี คนหนึ่งอาจจะเชื่อเรื่องพรรคการเมือง เสรีนิยม ไปเลือกตั้ง แล้วก็ใช้การเลือกตั้งไปสร้างสังคมใหม่ เชื่อเรื่องสันติวิธี การชุมนุม การเรียกร้อง ใช้สิทธิเสรีภาพทางเมือง เพื่อให้รัฐบาลเปลี่ยนนโนบาย ทำให้เกิดประชาธิปไตย ทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรม 

แต่ว่าปลายปี 2518 เป็นต้นไป รัฐไทยได้ผลักหรือปิดประตูการเคลื่อนไหวโดยสันติวิธีไป ด้วยการฆ่าผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษา ฆ่าแม้กระทั่งเลขาธิการพรรคสังคมนิยม ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ถูกฆ่าเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2519 ก่อนหน้าก็มีผู้นำชาวนา ผู้นำกรรมกร ถูกฆ่า 30-40 ศพ มีการก่อกวนการชุมนุมจากการขว้างระเบิด มีความพยายามสร้างข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง สร้างความเกลียดชังว่า ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ อะไรอย่างนี้ ดังนั้นผมคิดว่าตั้งแต่ปลายปี 2518 รัฐไทยมันปิดประตูการต่อสู้ด้วยสันติวิธีทีละบานๆ จน 6 ตุลา นั่นแหละคือที่สุดของความอดทน

ดังนั้นขบวนการที่เข้าป่าไปเป็นคอมมิวนิสต์ มันไม่ได้เกิดจากการสมาทานการเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเดียว บางคนอาจจะไม่ได้สมาทานลัทธิคอมมิวนิสต์เลย แต่เชื่อมั่นเรื่องการต่อสู้ที่สันติเพื่อการเปลี่ยนแปลงจนตัวเองถูกกระทำ ดังนั้นก็เลยเข้าร่วมกับ พคท. 

สิ่งที่สังคมไทยต้องการเรียนรู้และเรียกร้องมานานแล้วคือ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม แต่ลัทธิและอุดมการณ์อะไรที่จะทำให้ไปถึงตรงนั้นได้ จะเสรีนิยมก็ได้ ประชาธิปไตยก็ได้ สังคมนิยมก็ได้ แต่พอมันปิดกั้นก็เหลือเพียงการปฏิวัติประชาชน ผลักให้คนไปเลือกทางนั้นแทน

ถามว่าเข้าไปใน พคท. แล้วเป็นอย่างไร ผมนี่ค่อนข้างสบายๆ นะ คือเราไปอยู่สักพักก็รู้ว่า ขบวนการมันก็คือมนุษย์ แม้จะมีอุดมการณ์ที่สูงส่งอะไร แต่มันก็คือ มนุษย์ปุถุชน พวกชาวคอมมิวนิสต์ที่เราเจอส่วนมากก็เป็นคนที่ดี เสียสละตน พิสูจน์ตัวเองมาตั้งแต่หนุ่ม ผมคิดว่าร้อยละ 90 ในทัศนะของผมนะ เป็นคนที่น่านับถือ น่าเคารพยกย่อง น่าศรัทธา แต่ก็เป็นเรื่องของการใช้ชีวิต การอุทิศตัวของเขา แต่ความเป็นพรรคการเมือง สติปัญญา และความสามารถของพรรคการเมืองที่จะนำพาพลิกผันเปลี่ยนแปลงให้ทันสถานการณ์ นั่นคืออีกประเด็นหนึ่ง 

เราพบว่าเขาปรับตัวไม่ทันในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม พคท. ก็ปรับตัวไม่ได้ กำหนดท่าทีที่เหมาะสมสอดคล้องไม่ถูก หรือแม้แต่ความขัดแย้งภายในเมื่อนักศึกษาไปอยู่ ผมว่าก็เป็นจุดอ่อน

นายใช่ วังตะกู ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (2517-2518) เข้าจับอาวุธสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเสียชีวิตจากการสู้รบในพื้นที่เขตงานของ พคท. ในปี 2521 | photo: หนังสือ ๓ ทศวรรษ สหพันธ์ชาวนาฯ

ขบวนการนักศึกษาที่เข้าป่าเข้าร่วมกับ พคท. รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากสมาชิกพรรคในระดับพื้นที่หรือไม่ และส่งผลลัพธ์อย่างไรภายใน พคท. เพราะหลายคนพูดว่า เมื่อนักศึกษาเข้าร่วม พคท. แล้ว จึงนำมาสู่เหตุการณ์ ‘ป่าแตก’

คำว่า ‘ป่าแตก’ หมายถึงขบวนมันล้ม ความหมายมันอย่างนั้น ซึ่งผมมองว่ามี 2 ระดับคือ หนึ่ง เป็นความขัดแย้งของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน นักศึกษาที่เข้าไป เราเป็นคนเมืองก็ระบบหนึ่ง เขาอยู่ในป่า ผู้นำจำนวนไม่น้อยก็เป็นชาวนา เราเรียกว่ามวลชนพื้นฐาน ความต่างและวิธีคิดอาจกลายมาเป็นความขัดแย้ง บางแห่งก็จัดการได้ดี บางแห่งก็จัดการไม่ได้ ผมคิดว่าที่มันล่มสลายเพราะความแข็งขันของพรรคในการแก้ไขปัญหา เข้าใจปัญหา วิเคราะห์ปัญหา มันไม่ทันการ มันช้า และล้าหลัง เมื่อเราย้อนหลังไปดู พอเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับเวียดนาม จีนกับลาว แล้วก็มีความขัดแย้งของปัญญาชนนักศึกษาอีก 

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงนโยบายของจีนต่อการสนับสนุน พคท. เพื่อไปจับมือกับรัฐบาลไทย จนโดนตัดความช่วยเหลือ ถูกลอยแพ แล้วรัฐบาลไทยเองก็เปลี่ยนนโนบาย ซึ่งเป็นความชาญฉลาดของชนชั้นนำไทยหลัง 6 ตุลา เขาไล่นักศึกษาเข้าป่า พอผ่านไป 2-3 ปี เขาก็ปรับตัวได้จนกลายมาเป็นนโยบาย 66/2523 ขณะที่ พคท. ไม่สามารถที่จะปรับนโยบายหรือยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสิ่งเหล่านี้ได้ 

พูดอีกอย่างคือ ถ้าก่อนหน้านั้นเขาอยู่ระหว่างการยันกันไปยันกันมา หลังปี 2523-2524 มามันต้องเป็นเรื่องของการถอยแล้ว อาจจะเรียกว่า ยุทธศาสตร์ถอย แต่ พคท. พยายามที่จะรักษาสถานะอันเดิมเอาไว้ ยันเอาไว้อย่างนั้น ซึ่งจริงๆ มันไม่มีความจำเป็น อันนี้เราพูดแบบคนฉลาดหลังเหตุการณ์นะ เมื่อเราย้อนไปดูย้อนไปวิเคราะห์ดูอีกที แต่ตอนนั้นเราก็เอาไงเอากัน

สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่จับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐไทย

ตอนผมอยู่ป่าอาจจะเป็นจังหวะดีอย่างหนึ่งนะ โดยเฉพาะช่วงที่เขาทะเลาะขัดแย้งกันมากๆ ในปักษ์ใต้ เขาทะเลาะกันมาตั้งแต่ช่วงปี 2520-2521 แล้ว เป็นช่วงที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาก นักศึกษาก็ออกจากปักษ์ใต้ช่วงนั้นมาก แต่ไม่ได้ออกมาแบบแตกหัก เป็นเพียงการย้ายเขตงานไปอยู่ภาคเหนือ คือก็ยังมีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลง ส่วนผมที่อยู่ทางเหนือในช่วงปี 2522-2523 หลังจากที่จีนตัดความช่วยเหลือ เขาปิดชายแดนพอดี ผมก็ติดอยู่ตรงชายแดนด้วย ก็ต้องอพยพกันมา ในฐานที่มั่นก็ขัดแย้งกันมาก จึงเป็นจังหวะที่ผมไปอยู่เขตจรยุทธ์ 2 ปี อยู่กันอย่างเป็นเอกเทศ 2-3 คน ไม่ได้อยู่ในเขตฐานที่มั่น เราเรียกว่าเขตขาวคือ เขตมวลชน อยู่ 5 เดือนหรือ 2-3 อาทิตย์ก็กลับไปฐานที่มั่น ก็ไม่ค่อยได้สังฆกรรมกับใครเลย แล้วก็ใช้ชีวิตแบบกึ่งชาวนาสันโดษ จึงไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งอะไร มารับรู้ปัญหาจริงก็ปี 2524 แล้ว 

แต่หลายคนที่ออกจากป่าในช่วงนั้นก็รู้สึกผิดหวังกับ พคท.?

ใช่ น่าจะเป็นอย่างนั้น หมดกำลังใจที่จะสู้ มองไม่เห็นว่าจะมีชัยชนะได้อย่างไร ถ้ายังทำกันอยู่อย่างนี้

คนเดือนตุลา


เวลาเราพูดถึงคนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา คนเหล่านี้มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันอย่างไร หรือมีรูปธรรมความขัดแย้งระหว่างคนทั้งสองเหตุการณ์ที่ชัดเจนบ้างหรือไม่

คนรุ่น 14 ตุลา ก็หมายถึงว่า คนที่เคลื่อนไหวเป็นนักเรียนนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา 2516 อาจจะรวมไปถึงคนที่เคลื่อนไหวก่อนหน้าคือปี 2515 จะเป็นนักเรียนมัธยมปลายหรือนักศึกษา ก็เป็นคนที่มีแบ็กกราวด์เหมือนอย่างผมนี่แหละ รวมทั้งรุ่นพี่ไล่หลังไปปี 2512-2514 พื้นฐานทางความคิดของคนเหล่านี้คือ ส่วนมากจะเป็นเสรีนิยมมาก่อน เป็นฮิปปี้ เป็นคนแสวงหา พื้นมักจะเป็นอย่างนี้ คนอย่าง หงา คาราวาน พวกเขาเป็นสายเสรี ฮิปปี้ ดูดกัญชา รักเสรีภาพ เบื่อ และไม่ชอบการบังคับ 

ส่วนคนรุ่น 6 ตุลา เข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ปี 2 ในช่วง 6 ตุลา พวกเขาเคยเป็นนักเรียนในช่วง 14 ตุลา แต่เติบโตรับเอากระแสความคิดแบบซ้าย สังคมนิยม ในช่วงรอยต่อ 3 ปีนั้น แบบหยั่งรากลงได้พอสมควร เช่น คนที่เป็นสมาชิกหรือกรรมการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (ศรท.) แบ็กกราวด์ของเขาจึงเป็นคนที่ตื่นตัวในทางซ้าย คือ เป็นวัยรุ่นมาก็เป็นซ้ายแล้ว บนแนวคิดแบบสังคมนิยมเข้มงวด มีวินัยต่อตนเอง อุทิศตน เคร่งครัดจริงจัง แต่รุ่นก่อนหน้านั้นชอบเสรี ชอบสบาย ไม่ชอบบังคับ ไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย อันนี้คือฐานที่มาที่แตกต่างกัน การสร้างคาแรกเตอร์ต่างกัน ความจริงอายุก็ห่างกันไม่กี่ปี แต่ปลายทางมาเจอกัน เข้าป่าด้วยกัน 

ด้วยฐานความคิดที่ไม่เหมือนกันมันเป็นเรื่องธรรมดา ถามว่ามันกลายเป็นความขัดแย้งไหม ผมว่าไม่มี หรือต่อให้มีก็ไม่ได้เป็นความขัดแย้งเรื่องหลักการจนทำให้มองโลกต่างกัน และถ้าหากมองโลกต่างกันจริง มันก็คงด้วยปัจจัยอื่น เพราะเอาเข้าจริงประสบการณ์หลังจากนั้นมันก็เหมือนกันอยู่ดี 

ความพยายามที่จะใช้คำ ‘คนเดือนตุลา’ เพื่อรวมคนรุ่น 14 ตุลา และ 6 ตุลา เข้าด้วยกัน ในทัศนะของคุณคิดเห็นอย่างไร

ผมก็ชอบนะคำนี้ คนที่ใช้คำนี้คนแรกน่าจะเป็น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล น่าจะเป็นช่วงวาระ 20 ปี 6 ตุลา ในปี 2539 เสกสรรค์มาปราศรัยที่ธรรมศาสตร์ ‘คนเดือนตุลา’ ให้ความหมายอย่างกว้างเลยก็คือ คนที่ผ่านทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา จนจับอาวุธสู้ ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะเจาะจงว่าอยู่ธรรมศาสตร์หรือเข้าป่าวันนั้นวันนี้ แต่หมายถึงคนที่ผ่านประสบการณ์ร่วมกันในการต่อสู้ ไม่ว่าจะอยู่ขอนแก่น เชียงใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่คือคนในสังคมที่รับรู้เรื่องเดียวกัน อ่านหนังสือ สมาทานความคิดอันเดียวกัน ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ดังนั้น ‘คนเดือนตุลา’ จึงให้ความหมายอย่างนี้ว่า คนเจนเนอเรชันหนึ่งที่เข้าร่วมในการขับไล่เผด็จการ ต่อสู้ แล้วก็ถูกปราบปราม จับอาวุธ แล้วก็วางอาวุธ คือคนเจนเนอเรชันหนึ่งที่ผ่านช่วงเวลาประมาณ 10 กว่าปีตั้งแต่วัยหนุ่ม อาจจะมีภูมิหลังไม่เหมือนกัน แต่มีประสบการณ์ร่วมกัน

ในทัศนะของคุณมองว่า ทั้งสองเหตุการณ์คือคลื่นลูกเดียวกันหรือไม่ และลึกๆ แล้วมีอุดมการณ์การต่อสู้ทางการเมืองต่างกันหรือไม่

ใช่ คลื่นลูกเดียวกัน คือหมายความว่าหลัง 14 ตุลา รัฐมีความเชื่อว่าจะทำลายขบวนการ 14 ตุลา ได้ด้วยการปราบ แต่ 6 ตุลา พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ได้สลายขบวนการประชาชนที่สืบเนื่องมาจาก 14 ตุลา เลย มันไม่ได้พังพินาศ สูญสลาย พ่ายแพ้ หรือสูญหายไปจากสังคม จากการถูกจับถูกฆ่าเลย ตรงกันข้าม ขบวนการมันเดินหน้าไปต่อ เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ จากการเดินขบวนเรียกร้องสันติวิธีก็ไปจับปืนสู้ 

มันก็คือ ‘ขบวนการเดียวกัน’ มันไม่ได้ถูกทำลายในสายธารการต่อสู้เพียงเพราะว่า 6 ตุลา มันไม่ใช่ว่าพอถูกปราบแล้วทุกคนจะกลับบ้าน หมอบกราบ แต่เป็นการไปปราบเขา เอาเข้าคุกแล้วก็เข้าป่า แล้วลองนับจำนวนคนสิว่ามหาศาลขนาดไหน ไม่ได้แค่นับจำนวนคนที่อยู่ในป่า แต่ต้องนับจำนวนคนที่ไม่ได้จับอาวุธที่อยู่ในเมืองด้วย ทั้งหมดนี้คือขบวนที่เติบใหญ่ นำไปสู่การต่อสู้ที่เข้มข้นมาก มีแนวร่วมมหาศาลคอยสนับสนุนขบวนการในป่า การมีปืน 10 กระบอก ไม่ได้แปลว่ามีจำนวนคน 10 คน แต่มีคนอีกหลายร้อยยืนรายรอบคนถือปืน 10 กระบอกนั้น ดังนั้น ผมจึงมองว่า 6 ตุลา ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ขบวนการ 14 ตุลา พังพินาศ

ท้ายที่สุด ไม่ว่าทั้งสองเหตุการณ์จะเป็นคลื่นลูกเดียวกันหรือไม่ ในทัศนะของคุณ 14 ตุลา ส่งต่ออะไรให้ 6 ตุลา และ 6 ตุลา ส่งต่ออะไรให้กับขบวนการนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบัน 

เนื่องจากผมมองว่ามันเป็นขบวนการเดียวกัน ต่อเนื่องกัน ถ้าไม่เกิด 6 ตุลา รัฐไทยไม่ใช้กำลังปราบปราม ปล่อยให้กระบวนการเลือกตั้งเดินหน้า คนก็ไม่ได้อยากจะไปต่อสู้ด้วยอาวุธหรอก การเข้าป่าไม่ใช่เรื่องสนุก 

การส่งไม้ต่อของเหตุการณ์มันอาจจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะโลกในยุคนั้นอยู่ในยุคสงครามเย็น อุดมการณ์สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์มันมาแรงมาก เราจะเห็นจากการต่อสู้ในอินโดจีน ละตินอเมริกา เต็มไปหมด จนทำให้ได้รับความเชื่อและศรัทธา ขณะที่รัฐก็ใช้อำนาจเผด็จการอย่างเข้มข้น จนกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อสู้อย่างรุนแรง 

แต่ในยุคปัจจุบัน มันไม่เหมือนแต่ก่อน เราเป็นสังคมเปิดมากแล้ว เพียงแต่ว่าทุกฝ่ายก็มีวุฒิภาวะมากขึ้น พ้นจากความป่าเถื่อนไปได้มากขึ้น ที่ฆ่ากันก็อาจจะไม่ทำ แต่ใช้กฎหมาย 

สุดท้ายผมก็มองว่า 50 ปี มันก็ยังไม่ได้ไปไหน เราก็ยังพูดปัญหาเดิมๆ ความรู้สึกเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรม มันก็เป็นเรื่องเดิมๆ ปัญหาความเป็นธรรมก็คือเรื่องความเหลื่อมลํ้าในทุกวันนี้ เรื่องของอภิสิทธิ์ชน เรื่องของโครงสร้างที่อยุติธรรม กลไกรัฐที่มันไม่รับใช้ประชาชน ล้วนไม่ต่างกับเมื่อก่อนแม้แต่น้อย

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า