‘เครือข่ายวาทกรรม’ อาวุธทางความคิดของคนหนุ่มสาวรุ่น 14 ตุลา 16

“อาจารย์สุลักษณ์สร้างปริทัศน์เสวนามันทำให้สังคมได้รู้จักคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น ผมก็พลอยรู้จักไปด้วย คนพวกนี้มีบทบาทและการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงสมัยอาจารย์สุลักษณ์แล้ว อย่างน้อยสังคมศาสตร์ปริทัศน์ก็สร้างฉบับนักศึกษา เหมือนเป็นศูนย์กลางของคนที่อยากคิดอยากเขียน วิพากษ์วิจารณ์การบ้านการเมือง พอผมรับช่วงต่อ คนพวกนี้ก็ยังมาช่วยผม อย่างเช่น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ก็มาเขียนคอลัมน์ประจำ ‘เมืองไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ’, พันศักดิ์ วิญญรัตน์, ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ไมตรี อึ๊งภากรณ์ หลายคนด้วยกันที่มามีบทบาทในฐานะคอลัมนิสต์ให้สังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่เป็นรายเดือน ผมคิดว่าในช่วงเริ่มก่อกระบวนความคิดที่จะเป็นขบถกับสถานะของถนอม-ประภาสมันเริ่มตั้งแต่หลังสฤษดิ์ตายแล้ว”

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้สัมภาษณ์กับ WAY

บางช่วงบางตอนจากที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้สัมภาษณ์กับ WAY แสดงให้เห็นเค้าลางของการก่อตัวทางความคิดในหมู่ปัญญาชน ซึ่ง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ มีบทบาทสำคัญในการเมืองวัฒนธรรมเมื่อต้นทศวรรษ 2510 จนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเมื่อการเคลื่อนไหวมาปรากฏในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

‘เครือข่ายวาทกรรม’ เป็นแนวคิดหนึ่ง เสนอโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ในงานที่ชื่อ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ ที่สรุปรวบยอดขึ้นมาจากการศึกษาการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาปัญญาชนในช่วงทศวรรษ 2510 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 งานชิ้นนี้เสนอว่า การเคลื่อนไหวทางความคิดและภูมิปัญญาของนักศึกษาปัญญาชนระหว่างปี 2506-2516 มีอย่างน้อย 4 กระแสความคิดที่อยู่ภายใต้ชุดอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการทหาร ได้แก่ แนวคิดซ้ายใหม่ ชาตินิยมของขบวนการนักศึกษาปัญญาชน ต่อต้านเผด็จการทหาร และวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตย 

วิธีการสำคัญของสิ่งพิมพ์ในหมู่นักศึกษาปัญญาชน 14 ตุลาฯ คือการกลับไปรื้อฟื้นวาทกรรมสังคมนิยม หรือความคิดฝ่ายก้าวหน้าในทศวรรษ 2490 ที่ถูกปราบปรามลงไปในช่วงเผด็จการหลังรัฐประหาร 2490-2500 ทั้งยังมีการหันกลับไปยกย่องเชิดชูพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่าเป็นผู้พระราชทานประชาธิปไตย หรือที่เรียกกันว่า ‘กษัตริย์ประชาธิปไตย’ ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่บริบททางการเมืองแล้ว นักศึกษาปัญญาชนได้สร้างชุดความคิดเพื่อร่วมกันคัดค้านสงครามอินโดจีน และปกป้องอธิปไตยของชาติจากชาติมหาอำนาจ เป็นการต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม กรอบความคิดจึงได้หลอมรวมเอาความคิดที่หลากหลายให้เป็นเอกภาพในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร 

คำถามที่ตามมาคือ ในยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย และการเก็บข้อมูลมหึมาบนก้อนเมฆที่เราเรียกว่า Cloud เฉกเช่นในปัจจุบัน การส่งต่อความคิดข้างต้นกระทำผ่านสิ่งใด และพลังของมันอยู่ตรงไหน งานชิ้นนี้เสนอว่า ขบวนการของนักศึกษา ปัญญาชน เป็นแนวหน้าที่สื่อสารชุดภาษาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และการจัดกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นการก่อตัวของขบวนการจึงไม่สามารถแยกออกไปได้จากการพิจารณาการก่อตัวของวาทกรรมด้วยเช่นกัน 

ทว่าการก่อตัวของเครือข่ายวาทกรรมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย หากแต่ดำเนินไปภายใต้การตรวจตรา สอดส่อง ควบคุมจากรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเข้มงวด โดยปัจจัยภายนอกประเทศมีส่วนกำกับคือ การต่อสู้ระหว่าง 2 ค่ายอุดมการณ์ทางการเมือง คือโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจ และโลกคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจ ขณะที่รัฐบาลเผด็จการไทยได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกาจนเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดในยุคสงครามอินโดจีน โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างมหาศาลจากรัฐบาลวอชิงตัน ให้ทำสงครามต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในหลายด้าน จนเรียกได้ว่าเป็น ‘อเมริกันในไทย’ และมีส่วนสำคัญในการผลิตโครงเรื่องหลักที่เอื้อให้แก่การปกครองของระบอบเผด็จการทหาร 

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาและปัญญาชนตอบโต้วาทกรรมหลักด้วยการรื้อถอนและสร้างชุดคำอธิบายใหม่ขึ้นมาท้าทายหรือกระทั่งล้มล้างวาทกรรมของรัฐ ท่ามกลางการตื่นตัวต่อปัญหาสงครามเวียดนาม การค้นคว้าติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารจากวารสารและนิตยสารต่างประเทศ 

ปัญญาชนและนักศึกษาไทยจำนวนหนึ่งเมื่อได้สัมผัสกระแสความคิดใหม่จากตะวันตกที่กำลังแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น นั่นคือ ความคิดซ้ายใหม่ (New Left) คำศัพท์ของฝ่ายซ้ายใหม่ได้รับการถ่ายทอดโดยนักศึกษาปัญญาชน ตีพิมพ์ในนิตยสารทางปัญญาชนของไทยและแพร่เข้าสู่แวดวงมหาวิทยาลัยด้วย ทว่าความคิดซ้ายใหม่ที่ถูกนำเข้ามาเผยแพร่นี้ ด้านหลักที่ได้รับความสนใจจากปัญญาชนไทยมิใช่การถกเถียงทางแนวคิดปรัชญาหรือทฤษฎีอันเข้มข้นของความคิดซ้ายใหม่กับลัทธิมาร์กซ์ หากเป็นความคิดเรื่องพลังนักศึกษา การขบถ และการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของคนหนุ่มสาวเป็นประการสำคัญที่สุด (หน้า 240) 

เราจะพบความคิดเหล่านี้ได้ผ่านสิ่งพิมพ์ชนิดต่างๆ อาทิ กระแสต่อต้านสงครามในวรรณกรรม กาพย์กลอน เรื่องสั้น นิยาย เป็นต้น ทั้งหมดเคลื่อนไหวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย โดยรวบยอดเป็นการคัดค้านสงคราม ต่อต้านรัฐบาล และกระแสชาตินิยม ที่อันหลังสุดเรียกว่า ‘ชาตินิยมนักศึกษาประชาชน’ ที่แตกต่างกับ ‘ชาตินิยมราชการ’ 

สำหรับผลงานที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงนี้ ประจักษ์ ก้องกีรติ เสนอว่า เป็น ‘คลังสมบัติทางวัฒนธรรม’ อันมีค่าต่อนักศึกษาและปัญญาชนรุ่นหลัง ทั้งประเภทข้อเขียนด้านโลกทัศน์-ชีวทัศน์* ทางทฤษฎี ปรัชญา งานประยุกต์วิเคราะห์สังคมไทย อธิบายปัญหาทางการเมือง งานนิยายและบทกวี งานวรรณกรรมและศิลปะวิจารณ์ ที่ผลิตงานแนวนี้ออกวางขายและเผยแพร่ในตลาดหนังสือแข่งขันกับหนังสือประเภทอื่นๆ เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของการเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมลัทธิมาร์กซ์

* หมายถึง งานเขียนที่กำหนดลักษณะการดำเนินชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ควรจะเป็นเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

คุณค่าของ ‘ขุมคลัง’ ดังกล่าว ท้ายที่สุดทำให้วาทกรรมที่ก้าวหน้าในอดีตหรือประสบการณ์ในอดีตได้ส่งผ่านสู่คนรุ่นถัดไป พวกเขาได้เชื่อมต่อความทรงจำของตนเข้ากับประวัติศาสตร์การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการของคนรุ่นอดีต ความขมขื่นยากลำบากทนทุกข์ทรมาน ความเสียสละกล้าหาญและยึดมั่นในอุดมคติได้รับการบอกเล่า แบ่งปันและเป็นที่จดจำ ความทรงจำเรื่องการต่อสู้ของคนรุ่นเก่าได้กลายเป็นขุมทรัพย์ทางความคิดและเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้เคลื่อนไหวให้คนรุ่นหลังปรับประยุกต์ไปใช้ในสถานการณ์ในยุคของเขา ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม การอธิบายสถานการณ์ปัจจุบัน หรือการชุมนุมทางการเมือง (หน้า 380-381) 

เราอาจจะเห็นตัวอย่างงานเขียนที่ก่อตัวเป็นเครือข่ายทางวาทกรรม เครือข่ายทางความคิดที่ยึดกุมการนำในการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัญญาชน ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้จากแผนผังด้านล่างนี้

ผลงานของนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าจากทศวรรษ 2490 ที่ถูกรื้อฟื้นตีพิมพ์ใหม่ระหว่างปี 2010-2516
(เป็นการรวบรวมของ ประจักษ์ ก้องกีรติ – เท่าที่สืบค้นได้, 372-276)
เอกสารอ้างอิง

ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556. บทที่ 5-6

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า