พลากร จิรโสภณ: ในความเคลื่อนไหวของ ‘ขบวนการนักเรียน’ ปัญญาชนรุ่นเยาว์จาก 14 ตุลา สู่ 6 ตุลา

เมื่อเดือนตุลาคมเวียนมาถึง กลิ่นอายการต่อสู้ของ ‘คนเดือนตุลา’ เมื่อ 50 ปีก่อนก็หวนคืนกลับมาให้นึกถึง และพาเรากลับไปหาพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับประเด็นทางสังคมและการเมืองร่วมสมัยที่ยังคงชวนให้เราตั้งคำถาม เพื่อย้อนกลับมาทบทวนขบวนการต่อสู้เรียกร้องของนักเรียนนักศึกษาในยุคปัจจุบัน 

เนื่องในโอกาสครบรอบ ‘50 ปี 14 ตุลา’ ในปีนี้ กลิ่นอายการต่อสู้ในอดีตเหล่านั้น ยิ่งเชื้อเชิญให้เราอยากสำรวจขุดค้น เพื่อตามหาชิ้นส่วนประวัติศาสตร์เดือนตุลา กับบุคคลที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น 

พลากร จิรโสภณ ปัจจุบันคือเจ้าของกิจการตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ร่วมกับภรรยา แต่ในอดีตเขาคือหนึ่งในผู้ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในฐานะอดีตประธานศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (ศรท.) ปี 2516 หนึ่งในผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และอดีตสหายที่จำต้องเดินทางจาก ‘โดม’ ถึง ‘ดอย’ 

บทสนทนาถึงเรื่องราวการต่อสู้ทางความคิดกลางป่าเขาลำเนาไพรของคนหนุ่มสาวยุคแสวงหาเมื่อ 5 ทศวรรษก่อน เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยตุ๊กตาหมีน้อยใหญ่ในร้าน Four Bears ย่านสุทธิสารวินิจฉัย อันเป็นกิจการของอดีตนักสู้ผู้นี้

เขาได้ฉายภาพพัฒนาการของเหตุการณ์ที่ค่อยๆ เขม็งเกลียวตามลำดับ โดยเน้นไปที่บทบาทของ ‘นักเรียน’ โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมปลาย ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ทั้งสภาพสังคมและการเมืองไทยในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร การตั้งคำถามต่อสังคมและระบบการศึกษาของบรรดานักเรียน ด้วยความคิดก้าวหน้า หรือที่ผู้ใหญ่มองว่า ‘หัวขบถ’ จนครั้งหนึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษา ถึงกับเอ่ยขึ้นว่า นักเรียนสมัยนั้น ‘แรง’ กว่านักศึกษาเสียอีก! 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ฉายให้เห็นสภาพสังคมที่บีบคั้นในยุคนั้น จนนำไปสู่การก่อตัวของขบวนการนักเรียนและนักศึกษา กลายมาเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อเนื่องไปจนถึง 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับไขคำตอบที่ว่า ผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์นั้นเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ อย่างที่ สมศักดิ์ เจียมธีรกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ชื่อดังว่าไว้จริงหรือไม่ รวมถึงข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงระหว่าง 14 ตุลา และ 6 ตุลา ถือว่าเป็น ‘คลื่นลูกเดียวกัน’ หรือไม่ ก่อนที่จะย้อนกลับมาสะท้อนขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในยุคปัจจุบัน

สำคัญไปกว่านั้น พลากรมองว่า ประเด็นทางการเมืองและสังคมที่เหล่า ‘คนเดือนตุลา’ เคยตั้งคำถาม ต่อสู้ เรียกร้องมาก่อน ก็ยังคงเป็นประเด็นเดียวกันกับที่คนหนุ่มสาวสมัยนี้ต่อสู้เรียกร้อง เหมือนระเบิดเวลาแห่งยุคสมัยที่รอวันปะทุ ไม่ต่างจากเมื่อ 50 ปีก่อนแม้แต่น้อย

ในสายตาของ (อดีต) นักเรียนคนหนึ่ง
ก่อน 14 ตุลา จะมาถึง

ในฐานะนักเรียนคนหนึ่งในยุคนั้น อยากให้คุณพลากรฉายภาพบรรยากาศทางการเมืองไทยสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ตนเองรับรู้ ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ว่าเป็นอย่างไร 

ผมเป็นนักเรียนจากต่างจังหวัด สมัยก่อนไม่ค่อยรับรู้ข่าวสารอะไรมากมาย อย่างมากเราก็รับข่าวสารจากวิทยุซึ่งก็เป็นวิทยุของรัฐทั้งนั้น แต่เมื่อพูดถึงข่าวสารที่เป็นอิสระอย่างหนังสือพิมพ์ บ้านผมก็รับทั้งไทยรัฐ เดลินิวส์ ทำให้ได้รับรู้ข่าวสารอยู่บ้าง 

จริงๆ กระแสการประท้วงของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์เขาก็ลงข่าว กระแสเรียกร้องประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวเช่นกัน นอกจากหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับข้างต้น ก็ยังมีหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ถ้าพูดถึงว่าเรารับรู้ข่าวสารการบ้านการเมืองจากตรงไหน เรารับรู้มาจากผู้ใหญ่ด้วย ตามร้านกาแฟ (ในพื้นที่ภาคใต้) เป็นที่พบปะพูดคุยเรื่องการเมือง เราในฐานะเด็กก็ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมอะไร แต่ก็พอรับรู้ถึงบรรยาการทางการเมืองที่ไม่มีการเลือกตั้ง ปกครองโดยทหาร เลือกตั้งแล้วก็มีการรัฐประหารซํ้าในปี 2514 ซึ่งเป็นครั้งที่จอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารตัวเอง 

หากถามว่าอะไรที่ทำให้มีอารมณ์ร่วมต่อเหตุบ้านการเมือง นั่นก็คือ กระแสข่าวการประท้วงของนักศึกษา ผมจำได้ว่าก่อน 14 ตุลา ก็เริ่มมีการประท้วงต่อประกาศของคณะปฏิวัติบ้าง ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีประท้วง พี่ชายผม (นิสิต จิรโสภณ) ก็มีบทบาท ผมเองก็มีโอกาสได้เห็นภาพนั้นที่พี่ชายขึ้นไปอ่านแถลงการณ์

ผมมากรุงเทพฯ ใกล้ปี 2516 แล้ว มีโอกาสได้ไปร่วมงาน ‘สังคมนิทรรศน์’ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อน 14 ตุลา 2516 ซึ่งก็เป็นการรวมตัวกันของเด็กนักทำกิจกรรม

นิสิต จิรโสภณ นักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ และชมรมหนังสือแสงตะวัน
พี่ชายของ พลากร จิรโสภณ ซึ่งนิสิตเสียชีวิตจากการถูกผลักตกรถไฟในปี 2518 ระหว่างเดินทางไปทำข่าวการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้

ตอนนั้นนักเรียนโดยเฉพาะ ‘นักเรียนมัธยม’ สนใจเรื่องอะไรกัน 

ความจริงอิทธิพลทางความคิด ผมคิดว่าหลักๆ มี 2 เรื่อง 1) เรื่องศาสนา โดยเฉพาะแนวความคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งก็เป็นกระแสที่มาจากรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยด้วย 2) เรื่องเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพทางการศึกษา บรรยากาศในโรงเรียนสมัยนั้นไม่ต่างอะไรจากปัจจุบัน ที่ถูกอำนาจนิยมกดทับเสรีภาพในการแสดงออก เด็กผู้ชายถูกกล้อนผมเพราะไว้ผมยาว เด็กผู้หญิงถูกตัดกระโปรงเพราะใส่กระโปรงยาว เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2512 รายงานข่าวการประท้วงเรื่องทรงผมของนักเรียน | photo: dek-d.com

ทำไมนักเรียนจำนวนหนึ่งถึงสนใจเรื่องการบ้านการเมือง

เด็กกลุ่มที่มีความสนใจการบ้านการเมืองหรือปัญหาสังคม มักจะเป็นพวก ‘หนอนหนังสือ’ ชอบอ่านหนังสือ ร้านหนังสือที่เรารู้จักอย่างเช่น ศึกษิตสยาม ตรงสามย่าน ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นร้านหนังสือหนึ่งที่ไม่ได้มีแค่นักศึกษาที่แวะเวียนกันเข้าไป แต่ยังมีนักเรียนชอบไปหาซื้อมาอ่าน ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นขุมความคิด ทั้งหนังสือไทย หนังสือต่างประเทศ ซึ่งยุคนั้นมันเป็น ‘ยุคแห่งการแสวงหา’ รวมทั้งในต่างประเทศก็มีแนวความคิดของกลุ่มต่อต้านสงครามเวียดนาม กลุ่มฮิปปี้อะไรพวกนี้ เมืองไทยก็มีคนเช่นนั้น ก็พยายามหาหนังสือที่จะให้คำตอบกับชีวิตกับสังคมเช่นเดียวกัน 

นักเรียนมัธยมที่สนใจประเด็นการบ้านการเมืองมารวมตัวกันได้อย่างไร และอะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ‘ยุวชนสยาม’ 

กลุ่มยุวชนสยาม เริ่มต้นจากการที่เด็กกิจกรรมสังคมนิทรรศน์ชักชวนกันมารวมกลุ่มเพื่อที่จะแลกเปลี่ยน คนพวกนี้เป็นพวกที่ชอบถกเถียง อภิปราย ชอบอ่าน แล้วก็ชักชวนมารวมกัน เท่าที่ผมจำได้คือ นัดไปเจอกันที่วัดทองนพคุณ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ปัจจุบันนี้ยังมีกลุ่มนักศึกษาที่ยังไปวัดทองนพคุณอยู่ มีห้องสมุดที่นักศึกษาเข้าไปพบปะกัน

กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางความคิด มีการทำค่าย ‘พัฒนากำลังคน’ เป็นเรื่องการพัฒนาความคิด เชิญนักคิดนักเขียนมาเป็นวิทยากร แต่ตอนนั้นกลุ่มยุวชนสยามจำกัดตนเองอยู่แค่การเป็นนักเรียน ไม่ได้ออกมาขับเคลื่อนขนานใหญ่อะไรระดับนั้น เพราะความเป็นนักเรียนมีข้อจำกัดมากกว่านักศึกษา และไม่ได้มีบทบาทสำคัญใน 14 ตุลา 2516 มากนัก

คุณพลากรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มยุวชนสยามหรือไม่ อย่างไร

ผมเข้าไปในช่วงกลางๆ หลังจากที่พวกเขาก่อตั้งกลุ่มกันไปเรียบร้อยแล้ว (กลุ่มยุวชนสยามก่อตั้งในปี 2515) ผมก็ได้รับการชักชวนเข้าไปในช่วงปี 2516 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา เล็กน้อย โดยมีเพื่อนของพี่ชายซึ่งเขาอยู่ในกลุ่มยุวชนสยาม เห็นว่าเราสนใจทำกิจกรรมก็พาเข้าไปในกลุ่มนั้น 

ในสายตาของสังคมตอนนั้นมองกลุ่มยุวชนสยามอย่างไร

ความจริงก็เหมือนเป็น ‘เด็กดื้อ’ เป็นเด็ก ‘ขบถ’ เป็นเด็กที่ชอบตั้งคำถาม เด็กที่มีคำถามไปกับทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ราว เวลานั้นกลุ่มยุวชนสยามยังมีการทำหนังสือรายสะดวกชื่อว่า ยุวทัศน์ เป็นหนังสือที่เขียนกันเองบ้าง ไปขอบทความจากรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นบทความที่ตั้งคำถามต่อสังคม ตั้งคำถามต่อรัฐ ตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมในสังคม ว่าใช่ไม่ใช่ ดีไม่ดี จนเริ่มถูกมองด้วยความเกรงๆ กลัวๆ กันอยู่บ้างว่า ไอ้เด็กพวกนี้หัวแข็ง เป็นเด็กที่คิดไม่เหมือนคนอื่น
จากที่ได้ฟังรุ่นพี่มาก็บอกว่า มีตำรวจสันติบาลเข้ามาสอดส่อง สืบเสาะอยู่เหมือนกัน ว่าใครทำหนังสือยุวทัศน์ เป็นพวกไหน กลุ่มไหน บางคนก็โดนคุกคาม

กำเนิดศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย

ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย เกิดขึ้นได้อย่างไร

การก่อตั้งศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (ศรท.) ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มยุวชนสยาม แต่เกิดขึ้นเมื่อคุณ ธีรยุทธ บุญมี (เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. เมื่อปี 2515) จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น มีนักเรียนเข้าร่วม แล้วนักเรียนเหล่านั้นก็ไปชุมนุมกันที่ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วมีความเห็นกันว่าน่าจะตั้งศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยแบบเดียวกับ ศนท. ตรงนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์กลางนักเรียนฯ เมื่อทำกิจกรรมไปสักระยะหนึ่ง กลุ่มยุวชนสยามบางส่วนก็มีความสนใจที่จะไปเข้าร่วมกับศูนย์กลางนักเรียนฯ ซึ่งอันนี้ก็เกิดขึ้นใกล้ๆ 14 ตุลา หลายคนจึงย้ายตัวมาทำกิจกรรมกับศูนย์กลางนักเรียนฯ 

ศูนย์กลางนักเรียนฯ มีพลังขับเคลื่อนประเด็นที่แหลมคมในสังคม ณ ตอนนั้นอย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นการผลักดันก็เป็นการผลักดันทางความคิด ตอนนั้นนอกจากจะพิมพ์หนังสือ กดกดกด ออกมาแล้ว ก็มีหนังสือเล่มอื่นออกมาด้วยเช่น สู้เพื่ออิสรภาพทางปัญญา กับอีกหลายเล่มที่ส่งผลทางความคิด ซึ่งผมจำชื่อไม่ค่อยได้ เป็นหนังสือรายสะดวก เอาไปขายในโรงเรียนเลย แล้วก็มีเด็กมาซื้อ มีเพื่อนเข้ามาทำกิจกรรมกับศูนย์กลางนักเรียนฯ ด้วย แล้วกลับไปทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในหมู่เพื่อนนักเรียนตามโรงเรียนด้วย พอมีคนของยุวชนสยามมาร่วมกับศูนย์กลางนักเรียนฯ แนวความคิด กิจกรรมต่างๆ ก็ค่อนข้างสอดประสานกันอยู่พอสมควร

หนังสือ ชำแหละหลักสูตร จัดพิมพ์โดย ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (2518)

คุณพลากรเข้าไปเป็นประธานศูนย์กลางนักเรียนฯ ได้อย่างไร

ผมเข้าไปตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา เริ่มจากเข้าไปร่วมกับยุวชนสยามก่อน หลังจากนั้นก็ถูกชักชวนให้มาร่วมงานกับศูนย์กลางนักเรียนฯ ก็โดยคนที่อยู่ในยุวชนสยามนี่แหละชักชวนกันไป เพราะว่าศูนย์กลางนักเรียนฯ ไม่มีคน เลยไปช่วยกันทำกิจกรรม ทีนี้ก็มีการเลือกตั้งประธานเป็นเรื่องปกติ ก็คือเอาคนที่เขาเห็นว่าแอ็กทีฟ เป็นคนทำงานได้ ผมก็เลยทรานส์เฟอร์จากยุวชนสยามเข้ามาที่ศูนย์กลางนักเรียนฯ หลังจากนั้นงานในศูนย์กลางนักเรียนฯ มันเยอะ ผมก็เลยไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับยุวชนสยามอีก ไม่ได้มีการครอบงำกันอะไรกันนะ เราก็ทรานส์เฟอร์จากองค์กรโน้นมาสู่องค์กรนี้ 

ถ้าพูดถึงเป้าหมายของทั้งสองกลุ่มก็แตกต่างกัน กลุ่มยุวชนสยามจะมีความสนใจที่หลากหลาย แม้ว่า 14 ตุลา จะเกิดขึ้นแล้ว ประเด็นทางการเมืองค่อนข้างเข้มข้น แต่ก็ยังมีความสนใจหลากหลาย กลุ่มที่สนใจศาสนาก็ยังทำกิจกรรมควบคู่กันไป แต่ศูนย์กลางนักเรียนฯ จะขยายวงกว้างกว่า ทำกิจกรรมที่กว้างกว่า มีเป้าหมายทางการเมืองชัดเจนมากกว่า ก็ล้อไปตาม ศนท. แต่จะเคลื่อนไหวในกลุ่มนักเรียนเป็นหลัก

ศูนย์กลางนักเรียนฯ ถูกแรงกดดันจากรัฐมากน้อยขนาดไหน

เดิมศูนย์กลางนักเรียนฯ ในช่วงเริ่มต้นก็ยังไม่มีกิจกรรมทางการเมืองอะไรมาก มีแค่กิจกรรมรับบริจาคหนังสือเรียน แต่พอกลุ่มยุวชนสยามเข้าไป ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่ค่อนข้างมีความคิดทางการเมืองและปรัชญา ก็จะทำกิจกรรมทางความคิดมากขึ้น มีสมาชิกของกลุ่มยุวชนสยามคนหนึ่งไปทำหนังสือในนามของศูนย์กลางนักเรียนฯ เล่มแรก ชื่อว่า กดกดกด ก็เป็นที่ฮือฮามาก เพราะว่าจอมพลถนอมเอาไปพูดในที่ประชุม ครม. แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อหาไม่เหมาะสม อันนี้จึงทำให้ศูนย์กลางนักเรียนฯ เริ่มถูกเพ่งเล็ง

บทบาทศูนย์กลางนักเรียนฯ จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ในช่วงที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ พลังของนักเรียนมีการยกระดับความเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมอย่างไรบ้าง 

ในเวลานั้นก่อน 14 ตุลา การเคลื่อนไหวจะไม่ค่อยมีประเด็นทางการเมืองสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นทางการศึกษามากกว่า วิพากษ์วิจารณ์เรื่องระบบการศึกษาเป็นหลัก แต่พอเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ขึ้น ทำให้นักเรียนที่อยู่ตามโรงเรียนต่างๆ เกิดความตื่นตัวกันมากจนกลายเป็นกระแส ในขณะนั้นสามารถระดมนักเรียนผู้ปฏิบัติงานได้เป็นจำนวนมาก การจัดประชุมในนามของศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย มีนักเรียนมาร่วมประชุมเป็นร้อยโรงเรียน ประมาณ 150 โรงเรียนได้ ประชุมกัน เลือกตั้งกัน จัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาธิปไตยในโรงเรียน ส่งนักเรียนด้วยกันเองไปเป็นวิทยากร ไปพูด อะไรต่ออะไร แล้วก็ผลักดันให้มีการจัดตั้งสภานักเรียนขึ้นในโรงเรียน มีหลายโรงเรียนที่ยินยอมให้มีการจำลองการเลือกตั้งของประเทศขึ้นมาเป็น ‘สภานักเรียน’ มีการให้ส่งตัวแทนที่ได้รับเลือกในแต่ละโรงเรียน เข้ามาเป็นตัวแทนเพื่อประชุมกับศูนย์กลางนักเรียนฯ ด้วย ถือว่าเป็นกระแสประชาธิปไตยที่สร้างความตื่นตัวได้ค่อนข้างมากในเวลานั้น

บทความเรื่อง ‘พลังนักเรียน: กระแสคลื่นที่ไม่อาจต้านทานได้’ ของ ปัญญา สุขนิยม จากหนังสือสมานมิตร ฉบับ ‘ศึก’ (2517) ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นมี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นประธานนักเรียน

ศูนย์กลางนักเรียนฯ ในช่วงรอยต่อ 3 ปี ระหว่าง 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา มีความขัดแย้งภายในบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีการแยกกลุ่มอาชีวะออกมา

หลังต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นที่คุณธีรยุทธ บุญมี นำนักเรียนอาชีวะเข้ามาร่วมด้วย แต่ว่าพอหลัง 14 ตุลา พวกกลุ่มนักเรียนอาชีวะเขาก็แยกไปตั้งกลุ่ม ‘กนก 50’ อะไรทำนองนี้ แต่ไม่ได้มีความแตกแยกอะไรกัน เพียงแต่ว่าแยกเป็นกลุ่มนักเรียนสายสามัญ แยกเป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะ เขาก็แยกไปโดยธรรมชาติ

หนังสือพิมพ์ปวงชน พาดหัวข่าว ‘กลุ่มกระทิงแดง’ สกัดการเคลื่อนขบวนของนักศึกษา

พอมีการแยกตัวของกลุ่มนักเรียนอาชีวะออกมาเป็นกลุ่ม ‘กระทิงแดง’ ก็เริ่มมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น มีการข่มขู่คุกคามกลุ่มนักศึกษา อะไรคือเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้

จริงๆ ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะก็เป็นเอกเทศต่อกัน ไม่ได้เชื่อมประสานกัน การที่ภาพของกลุ่มนักเรียนอาชีวะกลายเป็นกลุ่ม ‘กระทิงแดง’ กลายเป็นกลุ่มที่มาต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ผมคิดว่าน่าจะมีปัจจัยจากรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง จริงๆ ในศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยก็มีบุคคลที่เราสงสัยว่าจะเข้ามาแทรกซึม แทรกแซงเช่นเดียวกัน แต่ว่าธรรมชาติของเด็กนักเรียนสายสามัญมันก็จะต่างจากธรรมชาติของเด็กนักเรียนสายอาชีวะ เพราะฉะนั้นรัฐก็อาจจะเข้าไปแทรกซึมในกลุ่มนักเรียนกลุ่มนั้นได้ง่ายกว่า แล้วก็เข้าไปจัดตั้ง จนกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในที่สุด ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เด็กอาชีวะจะแอนตี้เด็กสายสามัญหรือนักศึกษา 

จากสารคดี ‘คนคืนเมือง’ ในปี 2528 ความยาว 11 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์บุคคลที่เคยเข้าป่าก่อนคืนสู่เมือง หลังนโยบาย 66/23 เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวว่า “เด็กนักเรียนเขาแรงกว่านักศึกษา” มีความหมายว่าอย่างไร 

ผมก็ไม่แน่ใจนะว่าบริบทไหน แต่ถ้าผมตีความจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเข้าใจว่า ในช่วงนั้นคนที่เป็นรุ่นพี่ผมขึ้นไป อย่างรุ่นเสกสรรค์ ประเสริฐกุล พวกนี้เขาเติบโตมาจากการเป็น ‘เสรีนิยม’ เพราะฉะนั้นแนวความคิดของเขา แม้ว่าจะมีแนวความคิดฝ่ายซ้ายเข้ามาบ้าง แต่มันก็ยังมีแนวคิดพื้นฐานแบบเสรีนิยมปะปนอยู่ด้วย หรือเคยเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบเสรีนิยมมาก่อน บางทีเขาก็เหมือนกับอะไรที่มาถ่วงๆ อยู่บ้าง แต่รุ่นที่เป็นเด็กนักเรียน มันค่อนข้างมาใสๆ เลย แล้วมารับแนวความคิดทางการเมือง โดยเฉพาะแนวความคิดทางการเมืองแบบ ‘ซ้าย’ ทำให้เขามีความคิดและความเชื่อที่เข้มข้นกว่า มันไม่ถูกเจือปนเหมือนคนรุ่นพี่ที่มันกินเหล้า สูบบุหรี่ สูบกัญชา เป็นฮิปปี้มาก่อนนะบางคน แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นซ้าย แต่เด็กนักเรียนมันจะใสๆ เลย แล้วรับแนวความคิดเพียวๆ เข้ามาเลย 

ที่ว่า ‘แรง’ หมายถึงขบวนการนักเรียน ‘ก้าวหน้ามาก’ หรือ ‘ซ้ายมาก’ กว่าขบวนการนักศึกษา ที่ส่งผลต่อรูปขบวนนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในเวลาต่อมาด้วยหรือไม่

ในเวลานั้นจริงๆ แล้วก็โดนรุ่นพี่แซวนะครับว่า เด็กพวกนี้เป็นพวก ‘หงฉี’ (红旗) เป็นภาษาจีนแปลว่า ‘ธงแดง’ ก็คือเหมือนยุวชนแดงแบบจีนเลย คือ ‘ซ้ายจัด’ พวกผมในช่วงที่เป็นนักเรียน พอสักปี 2518 เริ่มเข้ามหาวิทยาลัยกันหมดแล้ว เป็นพวกรหัส 18 คือพวกที่ผ่านการทำกิจกรรมในช่วงนักเรียนระหว่างปี 2516-2517 ฉะนั้นปี 2518-2519 จึงเป็นพวกเด็กนักเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ก็เป็นไปได้ที่มีแนวโน้มความคิดไปทางซ้ายค่อนข้างมาก

6 ตุลาคม 2519: จากโดมถึงดอย

บทบาทของศูนย์กลางนักเรียนฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมช่วง 6 ตุลา อย่างไรบ้าง

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังมีเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนฯ อย่างเช่นคุณธงชัย (ธงชัย วินิจจะกูล) คุณมงคล (มงคล หุตายน) คุณอมร อมรรัตนานนท์ (2519) ซึ่งก็เป็นความต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ของกิจกรรมในกลุ่มนักเรียน

ธงชัย วินิจจะกูล อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ปี 2517 ให้สัมภาษณ์กับ ประชาชาติ

ในช่วงที่คุณพลากรเข้ามหาวิทยาลัย ได้ร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงก่อน 6 ตุลา เหมือนเมื่อครั้งอยู่ที่ศูนย์กลางนักเรียนฯ หรือไม่

บังเอิญพี่ชายผมเสียชีวิต พี่ชายผมทำชมรมหนังสือแสงตะวัน ผมก็ต้องไปทำสำนักพิมพ์ต่อ ก็เลยไม่ได้ร่วมทำกิจกรรมต่อ ดังนั้นบทบาทในมหาวิทยาลัยของผมจึงไม่มี เป็นบทบาทของคนทำหนังสือแทน เนื่องจากผมไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ผมเป็นแค่ผู้ชุมนุม คืนวันที่ 5 ตุลา ผมก็อยู่ แต่ว่าเริ่มทำงานแล้วล่ะ พอดึกๆ หน่อยผมก็จะออกไป แต่ผมว่า คนที่มีความคิดก้าวหน้าในเวลานั้นต้องไปชุมนุมทุกวัน ไปเพิ่มจำนวนคน

คนที่มีความคิดก้าวหน้าที่ไปร่วมชุมนุมจะต้องมีลักษณะยังไง

ความคิดก้าวหน้า เป็นคำเรียกของพวกเราเอง เรียกตัวเอง ส่วนหนึ่งก็คือคนที่มีความคิดในทางซ้าย มีความคิดในทางที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม มีความที่ทันสมัยกว่า ถูกต้องกว่า เราจึงเรียกว่าความคิดก้าวหน้า รวมทั้งรุ่นพี่ด้วย รวมทั้งพวกผมด้วย เราก็เรียกว่า ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ เหมือนกันหมด 

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดอะไรขึ้นกับศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยบ้าง โดนยุบจากรัฐหรือไม่ 

ผมไม่เรียกว่าโดนยุบครับ ผมเรียกว่าสลายตัว พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ตัวใครตัวมัน ส่วนหนึ่งถูกจับในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนหนึ่งก็ถูกตามล่า เจ้าหน้าที่ตามไปล่าถึงบ้าน เรียกว่ามีข้อมูลอยู่แล้ว ก็ไปตรวจค้นบ้าน บางคนก็มีชื่อที่ทางการต้องการตัว ทุกคนก็ต้องหนีเอาตัวรอด ไปอยู่เซฟเฮาส์บ้าง เคลื่อนย้ายเข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในป่าบ้าง ก็เป็นอย่างนั้นหมด แม้กระทั่งนักเรียนก็ตาม นักศึกษาก็ตาม หลายคนก็ต้องเข้าป่า 

ทราบมาว่า คุณพลากรเข้าป่าหลัง 6 ตุลา ทำไมถึงตัดสินใจเช่นนั้น

ที่แรกที่ผมไปคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ให้ผมย้ายขึ้นไปอยู่ภาคเหนือ ไปอยู่จังหวัดน่าน

การเข้าป่าของคนหนุ่มสาวยุคนั้น เกิดจากความศรัทธาในพรรคคอมมิวนิสต์ หรือเพราะถูกรัฐกดปราบ

ทั้งสองอย่างนะ อย่างแรกเลยก็คือ เรากลัวโดนจับ เพราะว่าผมเป็นคนทำหนังสือ แล้วหนังสือที่ผมทำก็เป็นหนังสือฝ่ายซ้าย หนังสือแนวมาร์กซิสต์เป็นหลักเลย เพราะฉะนั้นเราก็อยู่ในลิสต์ของรัฐ ก็เรียกว่าหนีครับ คือเรียกว่าหนีก่อน ส่วนเรื่องของความศรัทธา เนื่องจากว่าแนวความคิดของเรา ก็ถือว่าเราสมาทานแนวความคิดลัทธิมาร์กซ์เข้าไปแล้ว มีความเชื่อ มีความศรัทธา ในแนวความคิดแบบสังคมนิยม แนวความคิดแบบลัทธิมาร์กซ์ แนวความคิดแบบโซเวียต แบบจีน ในเวลานั้นเราก็เชื่อว่า สังคมไทยควรจะเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้น ฉะนั้น อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ก็สอดคล้องกับแนวความคิดของเรา 

ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา เป็นต้นมา นักเรียนนักศึกษารู้จักพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน

ผมว่าต้องแยกเป็นส่วน ส่วนที่ไม่รู้จักเลยก็มี ส่วนที่รู้จักค่อนข้างดีก็มี แต่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคที่ผิดกฎหมาย เป็นพรรคใต้ดิน เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพูดกันอย่างเปิดเผยได้ว่าเราสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ หรือว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์ พูดไม่ได้ เพราะมันผิดกฎหมาย มีกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ เพราะฉะนั้นไม่มีใครพูดอย่างเปิดเผยได้ว่า ตนเองเป็นสมาชิกพรรคหรือสนับสนุนพรรค แต่ที่เรามักจะเปิดเผยกันก็คือ การที่เราเอาประเทศสังคมนิยมอย่างจีนมาทำหนังสือนิทรรศการจีนแดง ทำเป็นหนังสือต่างๆ มันเป็นนัยยะอยู่แล้ว ถ้าใครที่รับรู้หรือเข้าใจ ก็รับรู้ได้โดยนัยยะว่ามันสอดคล้องกับแนวของพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น

หนังสือ นิทรรศการจีนแดง ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) (2517) นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการภายใต้ชื่อเดียวกันที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 23-29 มกราคม 2517 ทำให้แนวคิดสังคมนิยมได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

พคท. ในแบบที่นักศึกษารู้จักจากการอ่านหนังสือ ได้รับมโนทัศน์มาจากคำบอกเล่า นักศึกษาคิดว่าเป็นอย่างไร และในความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไรเมื่อได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแล้ว

เรื่องนี้ก็ยอมรับว่า ตอนพวกผมเข้าป่าก็มีจินตนาการถึงพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนในหนังสือที่เราอ่าน เหมือนในหนังสือที่เผยแพร่กัน ขายกัน แล้วก็มีจินตนาการที่ค่อนข้างสวยหรูด้านเดียว มองพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์อะไรอย่างนี้ สวยงามไปหมด พอเข้าไปจริงๆ มันมีความเป็นจริงที่มันซับซ้อน ไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบในหนังสือที่เราอ่าน เพราะว่ามันคือคน แต่เวลาเราอ่านในหนังสือ บางทีคนเขียนมันเขียนเหมือนเหนือคน มันเก่งเกิน ดีเกิน ดียิ่งกว่าพระอีก คนที่เป็นคอมมิวนิสต์นี่มันดีเลิศ แต่พอเราไปเจอคนจริงๆ มันก็คือคนนั่นแหละ มีเลว มีชั่ว มีเทา มีขาว มีดำ บางทีเราก็ไปคาดหวังเขามากเกินไป ก็มีให้ผิดหวังบ้างอะไรบ้าง หรือว่าเราไปเชื่อตามหนังสือที่เราอ่านมากเกินไป ว่าเขาจะต้องทำตัวแบบนี้ แต่สุดท้ายมันไม่เหมือนในหนังสือ

หรือบางครั้งเราเองนี่แหละ เราเป็นฝ่ายที่คิดเอาเอง เช่นเราคิดว่า ทุกคนต้องเท่ากัน เท่ากันเป๊ะเลย พอไปเห็นคนที่เรียกว่า ‘สหายนำ’ ได้กินดีอยู่ดีกว่าเรานิดนึง เราก็รู้สึก โอ้โห้ กลับมาร้องห่มร้องไห้ ไม่เห็นเท่าเทียมกันจริงเลย ก็มีสภาพอะไรแบบนี้อยู่

คนในธรรมศาสตร์วันนั้นเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ จริงหรือ

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เพิ่งโพสต์ลงในเฟสบุ๊กไม่นาน (กันยายน 2566) ว่า “ในธรรมศาสตร์ เราเป็นพวกคอมมิวนิสต์ นี่เป็นความจริงที่สมควรยอมรับได้แล้ว และการชุมนุมของเราเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อชัยชนะของฝ่าย พคท. เราไม่ได้กำลังต่อสู้เพื่อ ‘เอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม’ เท่านั้น” คุณพลากรมองคำพูดนี้อย่างไร

ผมคิดว่า อาจารย์สมศักดิ์แกเหมือนคนแทงหวย คืออย่างนี้ครับ พอเราไปเห็นคนใบ้หวยอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเราก็ไปตีความหวยว่าต้องออกเลขนั้นเลขนี้ คือหวยมันออกมาแล้ว คุณก็ไปตีความโจทย์อันนั้นว่า จริงๆ แล้วต้องเลขนั้นเลขนี้ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้เป็นอย่างที่อาจารย์สมศักดิ์พูดเสียทั้งหมด แน่นอนการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ผลพอสมควร สามารถที่จะจัดตั้งชักชวนคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค เป็นสันนิบาตเยาวชนของพรรคอยู่มากล่ะ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนเป็น แล้วก็ไม่ได้แปลว่า คนที่เป็นสมาชิกพรรค เป็นสันนิบาตเยาวชน เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นหรืออยู่ในกระบวนการนั้น 

ธรรมศาสตร์เป็นแค่สถานที่ชุมนุมเท่านั้นเอง แต่โปรเซสมันใหญ่กว่านั้น มันคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น เกษตรศาสตร์ สงขลานครินทร์ ในเครือข่ายนักศึกษาทั้งหมด พรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้เข้าไปจัดตั้งทุกที่ และเขาก็มีเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ไม่ได้แปลว่าคนที่อยู่ในนั้น (ธรรมศาสตร์) จะทำอะไรเพื่อพรรคคอมมิวนิสต์ ตามคำบัญชาการ แล้วพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้มีวิทยุสั่งงานโดยตรงว่า ณ วันนี้ต้องปฏิบัติการอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่มี นั่นมันเป็นแค่องค์กรในทางอุดมการณ์อย่างหนึ่ง มีเป้าหมายอย่างหนึ่ง โอเค ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทิศทางนั้น แต่ ณ สถานการณ์นั้น เวลานั้น มันบอกไม่ได้ว่า ทุกคนที่อยู่ในนั้นกำลังทำไปตามแผนการของพรรคคอมมิวนิสต์ มันไม่ใช่ 

คนที่อยู่ในธรรมศาสตร์วันนั้นไม่ควรถูกเหมารวมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ใช่หรือไม่ เพราะมีคนที่หัวก้าวหน้าอยู่ในนั้นด้วย 

ใช่

ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พูดจึงอาจเป็นการตีความเอาเอง 

ผมว่าแกมโนมาก แกมโนมากไป แม้กระทั่งคนที่เข้าป่าไปแล้ว ยังมีคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เข้าไปด้วยเหมือนกัน คือไปแล้วก็ยังงงๆ อยู่ เพราะว่าตื่นตระหนก ถึงเวลาต้องหนีแล้ว ตัวเองไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์หรืออะไรเลย แต่ว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย หรือผ่านเหตุการณ์นั้นมา หรือว่าเห็นด้วยกับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต้องการเปลี่ยนแปลง เห็นอกเห็นใจกรรมกร ชาวนาที่ถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะขบวนการนักศึกษาเวลานั้นไปช่วยชาวนา ไปช่วยกรรมกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวนาถูกโกงที่ดินอะไรแบบนี้ คนที่เห็นอกเห็นใจอะไรแบบนี้ก็มีเยอะ เขาไม่ได้สมาทานความคิดแบบซ้ายเสียทั้งหมด คนที่เข้าร่วมอยู่ในขบวนการนักศึกษามันมีหลากหลาย พอเข้าไปในป่าแล้วก็ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์เสียทีเดียว

คนเดือนตุลา

เวลาเราพูดถึงคนที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา คนเหล่านี้มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันอย่างไร หรือมีรูปธรรมความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนทั้งสองเหตุการณ์ที่ชัดเจนบ้างหรือไม่ 

ผมมีข้อสังเกตว่า การจัดงานรำลึก 14 ตุลา และการจัดงานรำลึก 6 ตุลา คนที่จัดเป็นคนละกลุ่ม แล้วก็เป็นคนละวัย งานรำลึก 14 ตุลา จะเป็นคนรุ่นพี่ของพวกผม ส่วนพวกที่จัดงาน 6 ตุลา ก็จะเป็นคนรุ่นผม คือพวกรหัสปี 17-18 อะไรพวกนี้ ส่วนพวก 14 ตุลา บางทีตอนที่ผมอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา พวกเขาเรียนจบกันแล้ว มันก็เป็นคนละกลุ่ม

ที่มาที่ไปคือ รุ่นพี่ 14 ตุลา ก็คิดว่าเขามีบทบาทในการทำให้การต่อสู้ครั้งนั้นได้รับชัยชนะ เพราะฉะนั้นงานก็เป็นงานของพวกเขา ส่วนงาน 6 ตุลา ก็เป็นเหมือนงานพวกรุ่นผม มันแยกกันอย่างเห็นได้ชัดพอสมควร แต่ไม่ได้แปลว่า งาน 14 ตุลา พวกผมจะไม่ไปเข้าร่วม หรืองาน 6 ตุลา พวกเขาจะไม่มา เพียงแต่คนจัดคนละทีม แล้วความเข้มข้นทางการเมืองจะต่างกัน งาน 14 ตุลา เขาจะเชิญนายกฯ เชิญคนฝั่งรัฐมา แต่ถ้างาน 6 ตุลา เขาจะเชิญนักเคลื่อนไหว จะมีการให้รางวัลอานนท์ นำภา พริษฐ์ ชีวารักษ์ อะไรแบบนี้ ก็จะเป็นแนวความคิดในการจัดงานที่แตกต่างกันออกไป

ความพยายามที่จะใช้คำ ‘คนเดือนตุลา’ เพื่อรวมคนรุ่น 14 ตุลา และ 6 ตุลา เข้าด้วยกัน ในทัศนะของคุณคิดเห็นอย่างไร

มันก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียวที่จะเรียกว่า ‘คนเดือนตุลา’ เหมือนกัน เพราะมันอยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ที่ใกล้กันมาก แต่ว่ากลุ่มคนที่คิดว่าเหตุการณ์ไหนมันฝังใจมากกว่ากัน อย่างพวกผมจะฝังใจกับ 6 ตุลา มากกว่า เพราะผมอยู่ในเหตุการณ์ แต่คนที่อยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจจะไม่ได้อยู่ใน 6 ตุลา เพราะว่าอาจเรียนจบไปแล้ว เขาอาจจะทำงานแล้ว มันก็เป็นคนละกลุ่มกัน

ในความเชื่อมโยงทางความคิดหรืออุดมการณ์ก็มีความเชื่อมโยงนะ จริงๆ ถามว่า พวกผมได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคนรุ่น 14 ตุลา ไหม ก็ใช่ พวกเขาคือคนที่ทำหนังสือมาให้พวกเราอ่านก่อน เราก็อ่านบทความของพวกเขา ที่เขาเขียนกันมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่บทบาทในการทำกิจกรรมมันแตกต่างกันไป 

ในทัศนะของคุณพลากรมองว่า ทั้งสองเหตุการณ์คือ ‘คลื่นลูกเดียวกัน’ หรือไม่ และลึกๆ แล้วมีอุดมการณ์การต่อสู้ทางการเมืองต่างกันหรือไม่ 

ผมคิดว่า น่าจะเป็นคลื่นคนละลูกนะ 14 ตุลา น่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ‘ประชาธิปไตยเสรี’ ไปในทางตะวันตกมากกว่า แต่พอหลัง 14 ตุลา มันจะมีแนวความคิดแบบสังคมนิยมเข้ามา มีแนวความคิดแบบมาร์กซิสต์เข้ามา ถูกผลักดัน ถูกหล่อหลอม มันก็คล้ายๆ กับที่อาจารย์สมศักดิ์พูด อันนี้เราก็ไม่ปฏิเสธความจริงว่า มีแนวความคิดอย่างนี้เป็นกระแสหลักในหมู่นักศึกษาที่จะเคลื่อนไหว ผลักดัน เพราะหนังสือแนวซ้าย แนวมาร์กซิสต์ แนวสังคมนิยม จะถูกผลิตออกมาในช่วงหลัง 14 ตุลา และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นช่วงใกล้ๆ 6 ตุลา เพราะฉะนั้น ถึงบอกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา คือเหตุการณ์ที่ชนชั้นนำเกิดอาการแพนิค ตื่นตระหนก กลัวไทยจะเหมือนเวียดนาม กลัวไทยจะเหมือนลาว กัมพูชา เพราะฉะนั้นจึงทำให้ชนชั้นนำไทยตัดสินใจที่จะทำอย่างนั้น 

ตอนนั้นนักเรียนถือว่ามีความก้าวหน้าทางความคิดมาก คุณพลากรมองว่ามันคือระเบิดเวลาแห่งยุคสมัยหรือไม่ แล้วทำไมเหตุการณ์ปัจจุบันจึงดูเหมือนว่าวนซํ้ารอยเดิมอยู่เรื่อย

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเห็นคลิปหนึ่งของคุณวีระ ธีรภัทร กับคุณสุทธิชัย หยุ่น เขาพูดถึง 14 ตุลา มันผ่านมา 50 ปีแล้ว เขาบอก “มันยังเหมือนเดิมเลย” 14 ตุลา ที่ปกครองโดยทหาร ถนอมตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อ ‘สหประชาไทย’ ได้เป็นพรรครัฐบาลแล้วก็รัฐประหารตัวเอง เช่นเดียวกันกับ 3 ป. ทำรัฐประหาร ตั้งพรรคการเมือง แล้วก็ได้พรรคการเมืองกลุ่มของพวกเขามาเป็นรัฐบาล อิทธิพลของ 3 ป. ก็ยังอยู่เหมือนเดิมเลย เพราะฉะนั้นในทางการเมืองจึงไม่ต่างกัน คืออิทธิพลของทหาร อิทธิพลของอำนาจนิยม เผด็จการทหารยังอยู่ ในช่วงถนอม-ประภาส ก็ใช้นักการเมืองจำนวนหนึ่ง เป็นนักการเมืองที่ทำธุรกิจด้วยเล่นการเมืองด้วย มันไม่ต่างกันเหมือนปัจจุบันนี้ 

ผ่านไป 50 ปีแล้ว สภาพสังคมมันไม่ได้เปลี่ยนไป แนวความคิดทางวัฒนธรรมที่ propaganda (ล้างสมอง) ก็ยังเหมือนเดิม เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไอ้สโลแกนของประเทศก็ยังเหมือนเดิม ไม่ไปไหนเลย ไม่หลุดไปจากนี้เลย 

ตามที่ผมเล่าตั้งแต่แรก สิ่งที่นักเรียนยุคผมถูกกระทำ กับนักเรียนยุคนี้ถูกกระทำมันเหมือนกันเด๊ะเลย เพราะแนวความคิดอำนาจนิยมมันยังคงฝังแน่นอยู่ในสังคมไทย ครูก็ถือว่าใหญ่กว่านักเรียนมาก จะตบหน้านักเรียนเมื่อไรก็ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่เกรงกลัวใดๆ ทั้งสิ้นเลย

ท้ายที่สุด ในทัศนะของคุณพลากร 14 ตุลา ส่งต่ออะไรให้ 6 ตุลา และ 6 ตุลา ส่งต่ออะไรให้กับขบวนการนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบัน 

เมื่อกี้ผมพูดว่า 50 ปี สังคมไม่เปลี่ยน แต่ความคิดของคนเปลี่ยน เพียงแต่ชนชั้นนำยังไม่ยอมเปลี่ยน ชัยชนะของพรรคก้าวไกลจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา มันสะท้อนว่า จริงๆ สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่พรรคก้าวไกลโฆษณานโยบาย มันล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่ต้องการเปลี่ยน ต้องการปฏิรูปกองทัพ ต้องการสังคายนาตำรวจอะไรอย่างนี้ ต้องการเปลี่ยนโครงสร้าง เลือกพรรคก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลง 

แล้วผมยังเชื่อว่า การที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจาก 14 ตุลา 6 ตุลา แล้วคน 14 ตุลา 6 ตุลา ก็สอดแทรกอยู่ในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรมในสังคมทั้งสิ้น คนเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหนนะครับ ยังมีบทบาทอยู่ในสังคม แต่จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่สภาวะของแต่ละคน 

อิทธิพลเหล่านี้มันยังอยู่ แล้วก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าข้างบนมันยังไม่เปลี่ยน ยังพยายามจะครอบงำอยู่ ฉะนั้น ‘เวลา’ จะเป็นตัวพิสูจน์ว่า จะครอบงำอยู่ได้อย่างนี้อีกนานแค่ไหน อย่างไร แล้วคนรุ่นใหม่จะสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคมหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้อย่างไร อันนี้ก็ต้องรอดู

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า