เหลียวหลังแลหน้า มรดกคนเดือนตุลากับอนาคตสังคมไทย

 

14 ตุลา 2516

มรดกใดที่พวกเขาทิ้งไว้ให้เรา?
อนาคตแบบใดที่เราในฐานะคนที่รับมรดกมาอย่างจำใจบ้าง เต็มใจบ้าง ควรวาดหวัง

บางทีคำตอบ ใช่ว่าอยู่ที่การหวนรำลึกแล้วจบๆ กันไป

 

ถ้าไม่นับ 24 มิถุนา 2475 แล้ว 14 ตุลา คือหมุดหมายสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ในการสร้างประชาธิปไตยให้สังคมไทย เพียงแต่ตอนนี้มรดกดังกล่าวถูกทำลายไปเสียมาก ส่วนหนึ่งก็โดยคนเดือนตุลาเอง คุณูปการของเหตุการณ์ 14 ตุลา คือการพยายามกันอำนาจนอกระบบออกไปจากการเมืองไทย แล้วให้มีการแข่งขันภายในระบอบ จะคิดต่างกันอย่างไร คุณก็ต้องมาสู้ภายใต้กติกานี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือการดึงอำนาจนอกระบบกลับเข้ามาใหม่

 

หากจะพิจารณาแค่คำกล่าวนี้ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำคัญของเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในปัจจุบันได้ถดถอยลงไปเป็นอย่างมาก จนเชื่อได้ว่า ไม่มากก็น้อย – จากผลของการกระทำโดยคนรุ่น 14 ตุลาเอง – สังคมอาจจำเป็นต้องถามแล้วว่า 14 ตุลา 16 ยังคงสำคัญอยู่ไหมในปัจจุบัน มรดกที่คนรุ่นนั้นได้ทิ้งไว้ได้ส่งต่อไปยังอนาคตอย่างไร

พรรคใต้เตียง มธ. และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ หรือ คปอ. จึงจัดเสวนาในวาระครบรอบ 44 ปี 14 ตุลา ขึ้นภายใต้คำถามและคำตอบสำคัญคือ มรดกที่คนเดือนตุลาทิ้งไว้ให้สังคม และอนาคตร่วมกันของสังคมไทย ที่ไม่ใช่แค่คนเดือนตุลา

มรดกด้านการเมือง

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะอดีตนักศึกษายุคนั้น และในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้เคยมีส่วนผลักดันนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เริ่มต้นจากการบอกเล่าประสบการณ์ตั้งแต่เมื่อครั้งอายุเพียง 17 ปี ขณะเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่รุ่นพี่นำมาให้อ่าน และก่อให้เกิดการตั้งคำถาม อย่างหนังสือ ฉันเยาว์ ฉันเหงา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ของ วิทยากร เชียงกูล ก่อนจะถึงยุคคนเดือนตุลา สุรพงษ์กล่าวว่า ประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีผู้คนที่มาก่อนแล้วสามยุค คือ ผู้คนในยุค 2490 ยุคของ กุหลาบ สายประดิษฐ์, ปรีดี พนมยงค์ ยุค 2500 ที่ก่อเกิดคนอย่าง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ ต่อเนื่องมายังยุค 2516-2519 ซึ่งเป็นยุคของคนเดือนตุลา จากนั้นเป็นยุค 2535 ในช่วงพฤษภาทมิฬ ที่ก่อให้เกิดคนอย่าง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จนมายังยุคหลัง 2449 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของ เนติวิทย์, รังสิมันต์ โรม และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์

“ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จริงๆ แล้วคนเดือนตุลาก็เป็นคนยุคหนึ่งเท่านั้นในสายธารประวัติศาสตร์การเมืองไทย คนเดือนตุลาไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าคนสองยุคก่อนหน้าและคนสองยุคที่มาทีหลัง เราเป็นเพียงคนหนุ่มคนสาวเมื่อ 44 ปีที่แล้วที่ยังหวังเห็นบ้านเมืองขับเคลื่อนไปข้างหน้า”

จุดเปลี่ยนในปี 2539

ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง สุรพงษ์เมื่อครั้งที่ก้าวขึ้นมาเป็นนักศึกษาในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ในฐานะนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กิจกรรมอย่างหนึ่งที่สุรพงษ์เข้าร่วมคือการ ‘กวนกาว’ เพื่อนำไปติดโปสเตอร์รณรงค์ทางการเมือง

ยุคสมัยของการดำเนินการอย่างเข้มข้นทางกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนลงไปคลุกคลีกับชาวนาชาวไร่ จนกลายเป็นเบ้าหลอมสำคัญที่ทำให้เมื่อจบการศึกษา สุรพงษ์ไปเป็นแพทย์ชนบท ทุ่มเทในการดูแลผู้ป่วย เพราะคิดว่าการเมืองคงเป็นเรื่องยาก ไกลเกินตัว แต่ไม่ใช่ว่าสุรพงษ์ไม่เคยคิดจะเข้าสู่แวดวงการเมือง จนกระทั่งมาจุดเปลี่ยนในปี 2539 เมื่อมีการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา 2539

เราได้เคยลุกขึ้นเพื่อทวงถามความเป็นธรรม ให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้นเมื่อ 20 ปีมาแล้ว มาวันนี้ ผู้คนเดือนตุลา พวกเราอยู่ที่ไหน ทำอะไรกันอยู่ ออกมาจากมุมมืดที่เรารู้สึกโล่งใจ สบายใจ ออกมาทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ได้แล้ว

สุรพงษ์อ้างอิงคำพูดของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวันนั้น โดยที่ไม่ไกลจากจุดที่สุรพงษ์ยืนฟังกลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ คือ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ยังไม่รู้จักกัน ใจความสำคัญของสิ่งที่เสกสรรค์พูดในวันนั้นคือ การทวงถามถึงคนเดือนตุลา เมื่อ 20 ปีก่อน ที่เคยลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กำลังทำอะไรกันอยู่

จากคำพูดนั้นเอง สุรพงษ์เดินเข้าไปหา สุธรรม แสงประทุม ณ ที่ทำการพรรคพลังธรรมซึ่งกำลังอยู่ในช่วงขาลง เพื่อทำงานการเมือง ก่อนจะพบกับความผิดหวังจากระบบพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายชัดเจน นอกจากการยกมือไหว้ประชาชนที่เดินผ่าน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สุรพงษ์ต้องการ จึงกลับมาตั้งหลักที่บ้าน ในห้วงเวลาเดียวกับที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ประกาศใช้ สุรพงษ์ได้รับการทาบทามจาก นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รุ่นพี่ที่มหิดลให้เข้ามาร่วมกันทำงานในด้านนโยบายสาธารณะ ก่อนสุรพงษ์จะทาบทาม นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ให้เข้าไปคุยกับหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จนนำไปสู่หนึ่งในนโยบายที่เปลี่ยนโฉมหน้าระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุด ’30 บาทรักษาทุกโรค’

เจตนารมณ์เดือนตุลา

“การเมืองที่เรากำลังทำอยู่นี้มาถึงจุดที่เราพึงพอใจไหม”

นพ.สุรพงษ์บอกเล่าต่อว่า หลังจากได้ทำงานจนถึงตอนที่พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์ สุรพงษ์มองสิ่งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ครั้งนั้นว่าเป็นปาฏิหาริย์ แต่ปาฏิหาริย์ในปี 2544 จะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่สามารถทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นได้

พอพูดถึงการส่งผ่านมรดกเดือนตุลา คำถามก็เกิดขึ้นว่า คนรุ่นใหม่เขาอยากรับมรดกไหม

สุรพงษ์อธิบายโดยการเปรียบเทียบให้เหมือนการทำธุรกิจของคนเดือนตุลา ซึ่งเอาจริงแล้วทายาททางธุรกิจใช่จะอยากรับมรดกเสมอไป เพราะต้องไม่ลืมว่าคนรุ่นใหม่ก็มีเรื่องของคนรุ่นเขาเองให้ต้องคิด เพราะฉะนั้น มรดกของคนเดือนตุลาจึงไม่ใช่การบอกกล่าวให้คนรุ่นใหม่ต้องทำแบบนั้นแบบนี้เหมือนคนเดือนตุลา หากแต่เป็นเจตนารมณ์ที่ส่งผ่านมาตั้งแต่คนรุ่น ปรีดี พนมยงค์ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์

“เจตนารมณ์ที่เป็นความใฝ่ฝันของคนหนุ่มคนสาว เจตนารมณ์ที่รักเสรีภาพ รักความยุติธรรม และอยากเห็นความเสมอภาคของทุกคนในบ้านเมือง”

สามประสาน

ในห้วงก่อนและหลัง 14 ตุลา ความสนอกสนใจของนักศึกษาต่อผู้ทุกข์ยากของผู้คนในสังคมนำไปสู่การต่อสู้เคียงข้างกันระหว่างชาวนา แรงงาน และนักศึกษา ก่อเกิดเป็นการร่วมแรงร่วมใจเพื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งนำไปสู่การลุกขึ้นต่อสู้ของกลุ่มแรงงานหญิงของโรงงานฮาร่าที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องสิทธิของแรงงานขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนจะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา จากการฆาตกรรมพนักงานการไฟฟ้าที่นครปฐม

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แรงงาน บอกเล่าประวัติศาสตร์แรงงานผ่านภาพฟุตเทจต่างๆ ที่มีภาพซ้อนกันของผู้นำแรงงาน นักศึกษา และนักวิชาการ ไม่ใช่เรื่องของแรงงานเดี่ยวๆ แต่เป็นเรื่องของคนที่เรียกว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าในยุคนั้น

กล่าวได้ว่า หลัง 14 ตุลา 2516-6 ตุลา 2519 นับเป็นช่วงเวลารุ่งโรจน์ของขบวนการแรงงาน ซึ่งถูกทุบทำลายทิ้งให้กลายเป็นเพียงแรงงานที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อส่วนรวมในระดับประเทศอีกต่อไป

แต่อะไรล่ะคือมรดกของแรงงานไทย?

ศักดินามองว่ามรดกสำหรับแรงงานไทยในยุคนั้น คือ การร่วมใจกันต่อสู้เพื่อสิทธิที่ไม่ใช่แต่เพียงแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ยังรวมถึงแรงงานในภาคเกษตรที่นำไปสู่การรวมตัวเพื่อประท้วงรัฐบาลกรณียกเลิกการประกันข้าว ขบวนการแรงงานของชนชั้นแรงงานในยุคสมัยนั้น เรียกได้ว่าเป็นยุคที่เข้มแข็งที่สุด เกิดการร่วมมือจากทั้งนักศึกษาและนักวิชาการ เพื่อให้ทั้งภาครัฐและประชาสังคมตระหนักถึงเสียงของชนชั้นแรงงาน

“มรดกที่คนเดือนตุลาเองได้ละทิ้งไปแล้วในปัจจุบัน ส่งผลให้ปัจจุบัน ขบวนการด้านแรงงานจากจำนวนแรงงานทั่วประเทศ 40 กว่าล้านคน มีเพียงแค่ 600,000 คน ทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก”

เดือนตุลากับมรดกด้านศิลปวัฒนธรรม

ขณะที่ สุขุม เลาหพูนรังษี อดีตประธานชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเล่าการร่วมขบวนการของตนในฐานะนักเรียน มศ.5 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยได้อย่างน่าสนใจว่า ในวันที่ 13 ตุลานั้น ตนและนักเรียนชั้นอื่นๆ ได้โดดเรียนไปร่วมขบวน ระหว่างที่เดินเพื่อไม่ให้บรรยากาศอันฮึกเหิมฟุบลงไป จึงมีการร้องเพลงทั้ง ‘ต้นตระกูลไทย’ และ ‘สยามานุสติ’ ที่สุขุมมองว่าเป็นห้วงเวลาที่เราไม่มีศิลปวัฒนธรรมมารองรับการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากคำที่สุขุมเรียกว่า ยุคทองของระบอบเผด็จการ ผ่านศิลปวัฒนธรรมที่ไม่อาจแยกออกจากบริบททางการเมือง ทั้งในยุคสงครามอินโดจีน ต่อเนื่องมายังการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกครอบงำสามกระแสหลักในสังคม ศิลปะของประชาชนไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ในท่ามกลางกระแสนี้นั่นเอง หลัง 14 ตุลาฟ้าเปิด จึงเกิดมีการเผยแพร่ผลงานที่เรียกว่า ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ของ ทีปกร หรือ จิตร ภูมิศักดิ์

ดังนั้นศิลปะเพื่อชีวิตจึงเป็นปฏิปักษ์กับศิลปะแนวโรมานซ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เนื่องจากศิลปะในแนวทางแรกนั้นมุ่งเน้นนำเสนอภาพที่เป็นจริงทางสังคม ขณะที่ศิลปะในแนวทางหลังมุ่งเน้นให้ผู้เสพออกจากสังคมที่เป็นจริงสู่สังคมที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการให้เป็น กระทั่งบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น

อนาคตของคนทุกเดือน

ศักดินามองอนาคตของแรงงานที่น่าเป็นห่วงด้วยการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยี 4.0 (คนละเรื่องและความหมายกับไทยแลนด์ 4.0) ส่งผลให้เกิดแรงงานที่กระจัดกระจาย คำว่าแรงงาน/คนงาน หดหายไป

“ดุลอำนาจของสังคมมันเปลี่ยนไป ถ้าในสังคมประชาธิปไตย ดุลอำนาจใหญ่ของสังคมไทยที่เป็นแรงงานยังพอมีเสียงบ้าง แต่สังคมปัจจุบันที่ดุลอำนาจกลับไปอยู่ในนามของประชารัฐแล้ว แรงงานจะต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ ต่อโจทย์ที่สังคมปัจจุบันมุ่งไปสู่ตลาดเสรีนิยมใหม่ แรงงานกว่า 40 ล้านคนจะต้องทำยังไง”

ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจต่อรอง สังคมนั้นไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้

ขณะที่สุรพงษ์กล่าวถึงอนาคตไว้ว่า คำถามหนึ่งที่ตนเฝ้าทบทวนตัวเองมาตลอดคือ ทำยังไงที่จะไม่ต้องกลับไปกวนกาวอีก ทำยังไงที่เราจะไม่ต้องไปเรียกร้องทวงถามประชาธิปไตย และทำยังไงเพื่อจะบอกสังคมว่าอำนาจนอกระบบไม่ใช่ทางแก้ปัญหาทางการเมือง

“เคยมีคนพูดกับผมว่า เราควรใช้ทางลัดเพื่อให้ได้ประชาธิปไตย แต่ผมมองว่าการเมืองไม่มีทางลัด ดีๆ ชั่วๆ อย่างไร เราต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยให้ได้”

อนาคตของการแพทย์เพื่อส่วนรวม

อนาคตอีกแง่มุมที่สำคัญคือ อนาคตทางด้านสาธารณสุข ที่สุรพงษ์ยกตัวอย่างการเลือกตั้งระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ ฮิลลารี คลินตัน เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยนำมาเทียบเคียงกับประเทศไทยคือ การแข่งขันระหว่างฮิลลารีและทรัมป์นั้น สิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยรู้มากนักคือ มีการแข่งขันภายในพรรคเดโมแครตเพื่อหาตัวแทนลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี โดยคู่แข่งของฮิลลารีคือ เบอร์นี แซนเดอร์ส สว. ของรัฐเวอร์มอนต์วัย 76 ปี ที่ตลอดระยะเวลาเขาพร่ำพูดในเรื่องเดิมมาตลอด เรื่องนั้นคือการลดความเหลื่อมล้ำ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนทุกคน ก่อนจะพ่ายแพ้ไปด้วยการตัดสินใจ ‘ล็อบบี้’ ของผู้มีอำนาจในเดโมแครตเพื่อให้ฮิลลารีเป็นตัวแทนพรรค จนถึงขนาดมีคำพูดจากคนที่เลือกทรัมป์ว่า ที่จริงเขาไม่ชอบทรัมป์ แต่เพราะฮิลลารีเป็นตัวแทนของเดโมแครต เขาถึงเลือกทรัมป์

เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่เรื่องที่สั่งวันนี้ได้พรุ่งนี้ การตัดสินในเชิงนโนบายระดับประเทศ เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เราจะมองแค่ว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกนั้นไม่ได้ ถ้าเราสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราสนใจเรื่องความผาสุกของมวลชน เอาประสบการณ์ของคนเดือนตุลา เอาพลังของนักศึกษาปัจจุบัน มาร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ๆ

“สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ด้วยพวกเราเองคือ เอาไหม เรามาร่างยุทธศาสตร์ด้วยพวกเราเอง ปีต่อปี ไม่ใช่คนที่ยังไม่รู้แน่เลยว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง เป็นคนร่าง”

แน่นอน คนตอบคำถาม ไม่ใช่อีกแล้วคนเดือนตุลา

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า