สิทธิมนุษยชนสามรส: เจ้าหญิง เกาหลีใต้ และฝ่ายขวา

เรื่อง / ภาพ: บุญชัย แซ่เงี้ยว

 

ประเทศไทยภายใต้บรรยากาศที่สิทธิมนุษยชนถูกลิดรอนมากขึ้นเรื่อยๆ ชวนให้เราคับข้องและอยากเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ นี่คือหนึ่งในความพยายามของนักวิชาการที่ช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผ่านงานวิจัยสามชิ้น สามรส สามบริบท

วงนำเสนอนี้อยู่ในหัวข้อ ‘สังคมวิทยาของสิทธิมนุษยชน’ จัดขึ้นใต้ร่มของงานแม่ เรื่อง ‘การประชุมวิชาการประจำปีด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาครั้งที่ 1: เชื่อม ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด’ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) ทั้งนี้งานวิจัยทั้งสามชิ้นยังอยู่ในขั้นการรับฟังความคิดเห็นก่อนพัฒนาไปสู่เนื้องานที่สมบูรณ์ขึ้น

อ่านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยผ่านเจ้าหญิงแห่งสิทธิมนุษยชน

เวทีเริ่มต้นที่งานของ ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘ ‘เจ้าหญิงแห่งสิทธิมนุษยชน’: บทสำรวจการเมืองเรื่องที่มาและการเมืองเรื่องความหมายของสิทธิมนุษยชนใน ‘วัฒนธรรมสิทธิผสานถิ่น’ ของไทย’

ติณณภพจ์ศึกษาตำแหน่งแห่งที่หรือพระฐานานุภาพของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (พระองค์ภา) ซึ่งทรงปฏิบัติกรณียกิจด้านสิทธิมนุษยชนที่หลากหลายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ กระทั่งได้รับยกย่องให้เป็นทูตสันถวไมตรีแห่งสหประชาชาติ

เขาเลือกศึกษาผ่านพระองค์ภาเพราะจะแสดงให้เห็นความย้อนแย้ง (paradox) อย่างชัดเจนระหว่างแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนฝ่ายที่สมาทานสากลนิยม (universalism) ที่ต้นตอมาจากตะวันตก กับฝ่ายสัมพัทธนิยม (relativism) ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘สิทธิแบบไทยๆ’ แนวคิดทั้งสองเป็นคู่ตรงข้ามที่ขัดแย้งกันเรื่อยมาในสังคมไทย

“ในทางหนึ่งถ้าเรากำลังเห็นด้วยกับสากลนิยม เรากำลังสมาทานความรุนแรง ในขณะเดียวกัน ถ้าสมาทานวิธีคิดสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรมที่ต่อต้านวิธีคิดแบบสากลนิยม … (เราจะไป) รับรองความรุนแรงและเพิกเฉยความรุนแรงในทางการเมือง”

ติณณภพจ์พยายามหาทางออกอื่นที่ไปพ้นจากคู่ตรงข้ามนี้ และชี้ว่าความหมายของ ‘rights’ ไม่ได้มีหนึ่งเดียว แต่กระจัดกระจาย ย้อนแย้ง และมีการปะทะต่อรองเพื่อนิยามความหมายจากฝ่ายต่างๆ และก็เป็นเช่นนี้เมื่อพิจารณาจากพระกรณียกิจของพระองค์ภา

“ผมเสนอว่า พระกรณียกิจ รวมถึงฐานานุภาพหรือการดำรงตำแหน่งของพระองค์เป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า vernacular rights culture ซึ่งผมแปลเป็นไทยว่า ‘วัฒนธรรมสิทธิผสานถิ่น’ อันเป็นปรากฏการณ์ที่ล้อไปกับการเมืองเรื่อง rights ที่มีความเข้มข้นขึ้นนับตั้งแต่ช่วงการต่อสู้ยุค กปปส. เป็นต้นมา”

ในปรากฏการณ์นี้ ความหมายเรื่อง ‘rights’ และ ‘สิทธิ’ ในสังคมไทยไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามที่แยกขาดจากกัน เพราะความหมายของ ‘rights’ ได้สวมเอาความหมายของ ‘สิทธิ’ เข้ามา ซึ่งให้ความสำคัญกับโครงสร้างไม่เท่าเทียมที่มีช่วงชั้นและยึดใน ‘บุญธรรมกรรมแต่ง’ และพระองค์เองไม่ได้ทรงสร้างปรากฏการณ์นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความหมาย แต่ทรงเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมสร้างปรากฏการณ์ อันประกอบด้วย กลุ่มต้านสถาบันกษัตริย์ (anti-monarchy) กลุ่มปฏิกิริยา (revisionist) กลุ่มที่ยึดในจารีต (traditional social force) และกลุ่มสถาบันระดับโลกที่เชื่อมกับท้องถิ่น (global-to-local development institution)

‘คนผี’ ที่ไร้ตน ความเปราะบางของแรงงานไทยในเกาหลีใต้

จากสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย วงนำเสนอขยับไปสนทนาเรื่องสิทธิในต่างประเทศต่อ รศ.ดร.สุดารัตน์ มุสิกะวงศ์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอในหัวข้อ ‘ภาวะสุ่มเสี่ยงของสิทธิเรื่องที่พักอาศัยของแรงงานไทยในเกาหลีใต้’ เธอศึกษาแรงงานไทยที่ไปเกาหลีใต้ ทั้งที่ไปโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมแปดเดือน ตั้งแต่ปี 2559 พร้อมเสนอถึงภาวะความเปราะบาง (precarity) ที่แรงงานต่างแดนต้องเผชิญ

สภาวะความเปราะบางนี้เป็นส่วนขยายที่สืบเนื่องมาจากระบบทุนนิยมโลก เพื่อขูดรีดแรงงานให้ได้กำไรมากขึ้น ยิ่งระบบผลิตความเปราะบางได้มากเท่าไร จะยิ่งดึงเอากำไรออกมาได้มากเท่านั้น และเมื่อเป็นแรงงานต่างชาติ ก็จะยิ่งถูกขูดรีดมากขึ้นไปอีก เพราะพวกเขาไม่ใช่พลเมืองในประเทศนั้น เป็นคนไม่มีสิทธิ เป็นแรงงานที่ไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงในระบบทุนนิยม

ในกรอบแนวคิดความเปราะบาง สุดารัตน์เสนอว่าแรงงานไทยในเกาหลีใต้เผชิญความเปราะบางในรูปธรรมอยู่สามเรื่อง

หนึ่ง – สิทธิในที่พักอาศัย เดิมกฎหมายเกาหลีใต้กำหนดให้นายจ้างต้องมีที่พักอาศัยให้แรงงาน แต่ปัจจุบันกฎหมายถูกแก้ให้นายจ้างเก็บค่าเช่าที่พักจากลูกจ้างได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือการให้ลูกจ้างพักด้านนอกเรือนกระจกเพาะปลูก ซึ่งทำให้ต้องเผชิญสภาพอากาศโหดร้ายยิ่งขึ้นถ้าอยู่ในฤดูหนาว

สอง – สิทธิด้านสุขภาพ โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน จะกลัวการไปโรงพยาบาลเพราะเสี่ยงถูกส่งกลับประเทศ แรงงานบางคนทำงานหนักมากจนไหลตาย ส่วนแรงงานที่เป็นหมอนวดและให้บริการทางเพศจะมีปัญหาเรื่องการคลอดลูกค่อนข้างมาก

สาม – สิทธิในการอยู่ในประเทศ ซึ่งจำกัดสิทธิในการย้ายถิ่นและการเลือกเปลี่ยนงานใหม่ แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ หรือถ้าหากถูกไล่ออก นอกจากจะถูกให้ออกจากที่พักโดยอัตโนมัติ พวกเขาจะมีเวลาเพียงสามเดือนให้หางานใหม่ อำนาจที่อยู่กับนายจ้างนำไปสู่การละเมิดสิทธิด้านค่าตอบแทนหรือค่าชดเชยเมื่อถูกไล่ออก

ความกลัวที่จะถูกจับ ส่งกลับประเทศ ไล่ออก ทำให้แรงงานต้องยอมทำตาม

“มันจะมีความกลัว ระแวง ว่าจะกลายเป็นสิ่งที่ในเกาหลีเขาเรียกว่า ‘คนผี’ ‘ผีน้อย’ หรือ ghost person เหมือนที่อเมริกาเรียกว่าโรบินฮูด แต่ที่เกาหลีเขาเรียกว่าเป็นผี ไม่มีตน เคยคุยกับคนงานว่า ทำไมเรียกว่าคนผี เขาบอกว่า ‘ก็คนผีไม่มีตนไง ไม่มีสิทธิ ไม่มีตน’ กลัวว่าจะถูกส่งกลับบ้านตลอดเวลา การกลัวตรงนี้เป็นการบังคับให้คนทำตาม”

เมื่อถามว่าพวกเขามีบทบาทกับประเทศไทยอย่างไร พวกเขาเมื่อเก็บเงินได้จะส่งเงินกลับมา ในส่วนที่บันทึกได้อย่างเป็นทางการ แรงงานข้ามชาติส่งเงินกลับมาคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศไทย

“เขารู้สึกว่าเพราะเขาเป็นคนจน มันทำให้เราเห็นความเปราะบาง และทำให้เห็นความเปราะบางนั้นที่กลายมาเป็นผลกำไร มีผลกระทบ มีต้นทุนทางสังคมค่อนข้างสูง ต้องถามว่ารัฐบาลไทยกับกระทรวงแรงงานจะแคร์เรื่องโควตา หรือจะแคร์เรื่องชีวิตคน”

ฝ่ายขวาอีกมากมาย จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา

ผู้นำเสนอคนสุดท้ายพาเรากลับไปดูการเมืองไทยในอดีตภายใต้บรรยากาศหลัง 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2519 รวินทร์ คำโพธิ์ทอง นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนใจความเคลื่อนไหวกลุ่มฝ่ายขวาในช่วงนั้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในวงวิชาการ ว่ามีประวัติที่มาเป็นอย่างไร และส่งผลต่อขบวนการความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายก้าวหน้าอย่างไร

ที่ผ่านมา งานวิชาการส่วนใหญ่มักเน้นไปยังกลุ่มหลักๆ ที่มีบทบาทในช่วงนั้น อย่างลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง แต่รวินทร์เลือกศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายขวากลุ่มอื่นๆ เช่น

หนึ่ง – หน่วยล่าสังหารสวัสดิ์ 60 ก่อตั้งโดย วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ และมีสมาชิกในทีมคือ พ.ต.อ.เสริม จารุรัตน์ เป็นหน่วยปฏิบัติการแบบล่าสังหาร

สอง – กลุ่มชนวน ก่อตั้งขึ้นเพื่อปราบปรามการคอร์รัปชัน และกลายไปเป็นกลุ่มที่ปราบปรามนักศึกษา มีบทบาทแสดงออกในเหตุการณ์ถังแดงที่จังหวัดพัทลุง

สาม – สำนักงานส่งเสริมเยาวชน (ส.ย.ช. เดิม) ก่อตั้งโดย เดโช สวนานนท์ ส่งเสริมเยาวชนฝ่ายขวาให้ต่อต้านฝ่ายซ้าย

สี่ – พรรคไท ก่อตั้งโดย สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ คัดค้านขบวนการนักศึกษาในประเด็นชาวนา

นอกจากกลุ่มด้านบน ยังมีกลุ่มต่างๆ อีกหลายกลุ่ม หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นบางฉบับบอกว่าหลัง 14 ตุลา มีกลุ่มการเมืองทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายเกิดขึ้นกว่า 60 กลุ่ม บางฉบับบอกว่ามีมากกว่า 100 กลุ่ม

รวินทร์บรรยายสภาพบรรยากาศการเมืองในช่วงนั้นให้ผู้เข้าร่วมฟัง เริ่มตั้งแต่หมุดหมายที่บ่งชี้ว่าแนวคิดสังคมนิยมเฟื่องฟู จากงานนิทรรศการวิชาการสังคมนิยม หรือที่เรียกว่า ‘นิทรรศการจีนแดง’ ที่จัดขึ้นโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 23-31 มกราคม 2517 แต่ขยายออกไปถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เนื่องจากมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก วันละกว่า 500-1,000 คน

จากนั้นจึงปรากฏข่าวที่กลุ่มทุนไม่เห็นด้วยกับนักศึกษา เริ่มมีนักศึกษาฝ่ายขวาเรียกร้องให้รื้อฟื้นบทกวีที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีการฟ้องร้อง แต่ใช้เวลาไม่นานก็ยกฟ้อง เริ่มมีข่าวนักเรียนอาชีวะปาระเบิด สื่อมวลชนเสนอข่าวว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับขบวนการนิสิตนักศึกษา มีบริบทรายล้อมมากมายก่อนจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในช่วง 6 ตุลา

ก่อนจบการนำเสนอ เธอทิ้งท้ายเล่าเหตุผลที่อยากศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น และบอกเล่าว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างไรในอดีต ปัจจุบันก็ดูเหมือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งกรณีการฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพก็ยังเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

“การศึกษานี้อยากให้มองอย่างสร้างสรรค์ว่า การจะพิจารณาเหตุการณ์ปัจจุบันหรือสิทธิมนุษยชนปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ดูประวัติศาสตร์ว่าจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นอย่างไรและเราแก้ปัญหาอย่างไร เราแก้ได้ไหม ทำไมเราถึงแก้ไม่ได้ เราต้องย้อนกลับไปมองในอดีต”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า