‘โพสต์ทูเดย์’ ในความทรงจำ

การจากไปของหนังสือพิมพ์ ‘โพสต์ทูเดย์’ ที่กำลังจะปิดฉากลงภายในเดือนมีนาคมปีนี้ ไม่ใช่แค่การล้มหายไปจากแผงของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แต่ยังหมายถึงฟันเฟืองมนุษย์แรงงานร่วมๆ 200 ชีวิตที่ร่วมกันประกอบสร้างหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ต้องยุติลงไปด้วย

เท่าที่ทราบก่อนหน้านี้หลายคนเริ่มรับรู้สัญญาณที่ไม่สู้ดีมาระยะหนึ่งแล้ว และเตรียมทำใจยอมรับชะตากรรมไว้ล่วงหน้า ทุกคนต่างเข้าใจดีว่าสักวันหนึ่งวันนั้นจะต้องมาถึง เพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา…

หลังงานฉลองครบรอบ 16 ปี เพิ่งผ่านพ้นไปเพียง 2 สัปดาห์ ทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด เย็นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมคณะผู้บริหารเครือโพสต์ออกแถลงการณ์ยุติการพิมพ์หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ คือ โพสต์ทูเดย์ และ M2F ด้วยเหตุผลหลักคือผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการเติบโตของผลกำไร

ข่าวดีเล็กๆ หลังข่าวร้าย พนักงานทุกคนจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

 

1.

7 กุมภาพันธ์ 2546 คือวันที่ โพสต์ทูเดย์ ปรากฏโฉมบนแผงครั้งแรก นับเป็นหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การเมืองที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วยุทธจักรวงการสื่อยุคนั้น

‘พีระมิดหัวกลับ’ คือรูปแบบการเขียนข่าวที่ก้าวล้ำกว่าหนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับ แม้หนังสือพิมพ์ต่างประเทศจะมีขนบการเขียนเช่นนี้มาเนิ่นนานแล้ว แต่สำหรับหนังสือพิมพ์ภาคภาษาไทย นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ของการนำเสนอข่าว ด้วยการย่อยสาระสำคัญของเนื้อข่าวทั้งหมดให้เข้าใจได้เพียงอ่านย่อหน้าแรก

ข่าวแต่ละชิ้นที่ถูกเลือกขึ้นมานำเสนอจึงผ่านการคัดกรอง เรียบเรียง และเล็มเนื้อหาที่เป็นไขมันส่วนเกินทิ้งไป เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระแก่ผู้อ่าน

ถ้าไม่นับเรื่องสไตล์การเขียนข่าวที่สั้น กระชับ อ่านจบได้ในกรอบเดียวแล้ว เป็นที่รับรู้กันในแวดวงสื่อว่า ค่าตอบแทนของสำนักข่าวแห่งนี้ค่อนข้างสมน้ำสมเนื้อกับหยาดเหงื่อคนทำงาน จนแทบจะเรียกได้ว่ายกระดับมาตรฐานวิชาชีพสื่อให้โผล่พ้นจากคำว่า ‘นักข่าวไส้แห้ง’ แบบยุคเก่าก่อน จนมีเสียงค่อนแคะจากเพื่อนพ้องร่วมวิชาชีพอยู่เสมอว่าอานุภาพของ ‘พลังดูด’ มีจริง

พลังดูดที่ว่านี้คือ การรวบรวมเอานักข่าวมือดี ประสบการณ์สูง เด็ดยอดจากแต่ละสำนักมากองรวมกันในที่เดียว จนสามารถก่อตั้งขึ้นเป็นทีมงานรุ่นบุกเบิก พร้อมไปกับการฝึกฝนพัฒนาทีมงานนักข่าวรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นกองกำลังสนับสนุน

จากประสบการณ์ร่วมหัวจมท้ายกันมากว่า 8 ปี ร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ในสำนัก โพสต์ทูเดย์ แห่งนี้ คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า ที่นี่คือแหล่งรวมนักหนังสือพิมพ์ ‘ยอดฝีมือ’ ที่เป็นนักข่าวอาชีพทั้งเนื้อทั้งตัวและหัวใจ แม้เป็นหนังสือพิมพ์น้องใหม่ แต่ก็สามารถแลกหมัดกับหนังสือพิมพ์ผู้มาก่อนได้ไม่ยาก ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ผลัดกันรุก ผลัดกันรับอยู่ตลอด

มองจากระยะไกล โพสต์ทูเดย์ คือสถาบันสื่อมืออาชีพ เป็นองค์กรที่ปลุกปั้นนักข่าวรุ่นแล้วรุ่นเล่า ให้โอกาสทุกคนได้แสดงฝีไม้ลายมือ เปิดพื้นที่ให้แสดงความสามารถทั้งในงานเขียนคอลัมน์ บทวิเคราะห์ รายงาน และสกู๊ปพิเศษในสถานการณ์ต่างๆ ไปจนถึงเขียนบทบรรณาธิการ หลายคนติดปีกโบยบินไปตามเส้นทางของตนเองและยืนระยะอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ก็ด้วยการฝึกฝนเคี่ยวกรำจากสนามข่าว โพสต์ทูเดย์ มาก่อน

มองในระยะประชิด เอาเฉพาะโต๊ะข่าวการเมืองและโต๊ะข่าวในประเทศที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ร่วม เรามีบรรณาธิการข่าวและหัวหน้าข่าวที่แข็งแกร่ง เป็นทั้งผู้บังคับบัญชาที่เด็ดขาดและเป็นพี่ที่น่าเคารพรักในเวลาเดียวกัน ความเป็นพี่เป็นน้อง ทำให้ทีมเข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียว เรามีนักข่าวประเภทหัวหมู่ทะลวงฟัน กล้าชนกับทุกสถานการณ์ มีนักข่าวประเภทม้างาน ทำงานเยี่ยงรถบด รีดศักยภาพตัวเองออกมาได้ทุกวันอย่างไม่เคยอิดออด

เพราะข่าวรายวันไม่เคยหยุดรอใคร

เหตุการณ์สึนามิปลายปี 2547 เป็นบทพิสูจน์การทำงานรูปแบบใหม่ของทีมข่าว โพสต์ทูเดย์ ด้วยการรวบรวมสรรพกำลังจากทุกโต๊ะข่าว ไม่ว่าโต๊ะข่าวการเมือง โต๊ะข่าวในประเทศ โต๊ะข่าวต่างประเทศ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ โต๊ะข่าวกีฬา กระทั่งโต๊ะข่าววาไรตี้ ทุกคนล้วนมีโอกาสได้สัมผัสเกาะติดสถานการณ์ไปด้วยกัน ภายใต้กองบรรณาธิการส่วนหน้าในสถานการณ์พิเศษ

เป็นเวลาหลายเดือนที่นักข่าวซีเนียร์บางคนแทบไม่ได้กลับบ้านไปพบหน้าลูกและภรรยา เพราะเหตุการณ์ที่ยังชุลมุนวุ่นวายต่อเนื่อง ครั้นเมื่อถึงเวลากลับบ้าน ก้าวแรกที่เดินเข้าประตูก็ถึงกับน้ำตาซึม เมื่อลูกสาวตัวน้อยกลับไม่ยอมให้พ่ออุ้ม

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554  เป็นอีกครั้งที่ท้าทายการทำงานของคนข่าว หลายคนต้องตัดสินใจทิ้งบ้านช่องมาอาศัยซุกหัวนอนรวมกันเกือบสิบชีวิตที่ศูนย์อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ โพสต์ทูเดย์ เป็นเวลาร่วม 1 เดือนเต็มที่ไม่ได้กลับไปสำรวจความเสียหายในบ้านของตัวเอง แต่ทุกเช้ายังคงต้องออกตระเวนลุยน้ำตามหาข้อเท็จจริงกลับมารายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ นักข่าวสาวรายหนึ่งถึงกับต้องถูกหามส่งโรงพยาบาลจากอาการติดเชื้อ หลังจากเธอบุกตะลุยน้ำเน่าที่พัดพามากับกองขยะย่านดอนเมืองเพื่อจะเข้าถึงข้อมูลความเดือดร้อนของชาวบ้านและนำมารายงานข่าว

เช่นเดียวกับสถานการณ์สงครามสีเสื้อ นักข่าวภาคสนามต้องยืนอยู่ท่ามกลางสถานการณ์เขาควายของความขัดแย้ง เป็นความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นมีคนตาย หวาดกลัวแค่ไหนก็ไม่อาจเอ่ยปาก มีเพียงเสื้อเกราะกันกระสุนและหมวกกันน็อคที่พอช่วยให้มั่นใจขึ้นบ้าง ขณะที่ปลอกแขน ‘สื่อมวลชน’ ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกอุ่นใจอะไรนัก

ด้วยภารกิจที่ค้ำคอ กองบรรณาธิการข่าวอีกส่วนหนึ่งยังคงปักหลักปฏิบัติหน้าที่อยู่ในฐานที่มั่นจนถึงวินาทีสุดท้าย กระทั่งเมื่อถึงเวลาที่ทุกคนต้องหนีตาย หลังจากม็อบบุกประชิดเข้าปิดล้อมสำนักงาน

เช้าวันรุ่งขึ้น โพสต์ทูเดย์ ฉบับประวัติศาสตร์เหลือเพียง 4 หน้าที่ส่งเข้าโรงพิมพ์ได้ทัน พร้อมพาดหัวผิดๆ ถูกๆ ‘ไฟท้วมกรุง’ และเนื้อข่าวที่ยังเขียนไม่เสร็จ

 

2.

ในกองบรรณาธิการข่าว เราทำงานกันอย่างเคร่งครัด ถกเถียงกันอย่างครื้นเครง มีบ้างที่วิจารณ์การทำงานกันจนน้ำตาแตก เถียงกันจนดึกดื่น สุดท้ายจบลงที่วงเหล้า

ร้านลาบข้างโกดังเก็บตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือคลองเตย ในระยะไม่เกิน 500 เมตรจากที่ทำงาน คือสถานบันเทิงหลังเลิกงานที่นักข่าวทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่จะไปสุมหัวกันต่อที่นั่น

วงพูดคุยที่ร้านลาบคือบรรยากาศที่นักข่าวรุ่นน้องจะได้เก็บเกี่ยววิทยายุทธจากนักข่าวรุ่นพี่ พร้อมกับได้ฟังเรื่องเล่าและวีรกรรมมากมายจากการทำงานของคนข่าวรุ่นก่อน ตั้งแต่ยุคพิมพ์ดีด ยุคเพจเจอร์ โทรศัพท์หยอดเหรียญ แฟกซ์ ก่อนจะมาเป็นไดรฟ์เอ ไดรฟ์เอฟ และอีเมล์

นอกจากจะมีเรื่องเล่ามากมายและได้เรียนรู้ชั้นเชิงการทำสื่อแล้ว หลายครั้งความคิดสร้างสรรค์ก็ผุดบังเกิดขึ้นจากการตั้งวงดื่มเครื่องดื่มทำลายสุขภาพ

เท่าที่จดจำได้ดี นอกเหนือจากภารกิจหลักในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐแล้ว หนึ่งในนั้นคือ การผลักดันประเด็นความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพ สุดท้ายดอกผลจากการนำเสนอข่าวอย่างชนิดเกาะติดปัญหามานับแรมปี ได้นำไปสู่การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนนับ 10 ล้านชีวิต โดยมีจุดเริ่มจากวงสนทนาระหว่างหัวหน้าข่าวและนักข่าวตัวเล็กๆ ณ ร้านลาบ

ปีนั้น ทีมข่าว โพสต์ทูเดย์ ได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุล

 

3.

นักข่าวรายหนึ่งให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า หน้าที่ของหนังสือพิมพ์อาจไม่ใช่เพียงแค่การสื่อสารกับประชาชนหรือผู้อ่านโดยทั่วไป แต่บทบาทสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การส่งเสียงสะท้อนกลับไปยังผู้บริหารประเทศ สร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้อำนาจกับเสียงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ

หลายครั้งหลายคราเราได้เห็นแล้วว่า หากผู้บริหารประเทศ ไม่ว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ไปจนถึงข้าราชการระดับสูง กำหนดนโยบายใดที่ออกนอกลู่นอกทาง แต่หากนักหนังสือพิมพ์ช่วยกันส่งเสียงทักท้วง วิพากษ์วิจารณ์ พลังการสื่อสารบนหน้ากระดาษก็สามารถสร้างกลไกต่อรอง ยับยั้งความไม่ชอบมาพากลที่ว่านั้นได้

ในวันที่สื่อเก่ากำลังจะตาย และสื่อใหม่กำลังเข้ามาแทน ดัชนีชี้วัดความถดถอยของคนทำงานหนังสือพิมพ์อย่างหนึ่ง เท่าที่ผู้เขียนพบข้อสังเกตด้วยตนเองคือ บรรยากาศของการตั้งวงเสวนาเครื่องดื่มมึนเมาที่ดูเหมือนจะค่อยๆ เจือจางไปอย่างช้าๆ เพื่อนฝูงหลายคนเริ่มแยกย้ายทางใครทางมัน ด้วยแรงกดดันภายนอกจากการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ข้อจำกัดของคนทำงานยังคงเท่าเดิม

เหนืออื่นใด ในท่ามกลางสงครามสีเสื้อและความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของทุกฝ่าย ได้สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของทุกสถาบันทางสังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งสถาบันสื่อ และนั่นทำให้บรรยากาศการทำงานของคนทำสื่อเริ่มเปลี่ยนไป

การยุติกิจการของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับอาจเป็นเพียงการสิ้นสุดในทางธุรกิจ แต่หากอุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์มีอยู่จริง ไม่ว่าอยู่ที่ใด ย่อมยืนหยัดขึ้นมาได้เสมอ

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า