ฟังเสียงคนข่าว ‘ร่างกฎหมายควบคุมสื่อ’ จะไปต่ออย่างไร หากนิยามจริยธรรมยังไร้ขอบเขต

ปี 2560 ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ถูกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนคัดค้านอย่างหนักเเละขนานนามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า ‘ร่างกฎหมายควบคุมสื่อ’ ผ่านไปเป็นระยะเวลา 5 ปี ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง โดยวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและส่งให้รัฐสภาพิจารณาต่อเพื่อให้มีผลบังคับใช้

แม้ชื่อของร่างกฎหมายฉบับนี้จะดูเหมือนมีเป้าประสงค์เพื่อกำกับดูแลจริยธรรมของสื่อ แต่กลับไม่ได้มีการกำหนดขอบเขตหรือลงรายละเอียดที่ชัดเจนของคำว่า ‘จริยธรรม’ หรือ ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ในขณะที่ตัวเนื้อหาหลักมุ่งเน้นไปในส่วนของการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ เสียมากกว่า นำไปสู่ความเคลือบเเคลงใจต่อคนทำงานสื่อว่า คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่มาจากการเเต่งตั้งโดยรัฐจะมีวิธีการทำงานเเละมีมุมมองต่อคนทำงานสื่ออย่างไร โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สื่อต้องปฏิบัติงานท่ามกลางความขัดเเย้งที่เกิดขึ้นในสังคม จริยธรรมที่รัฐมอง จริยธรรมที่คนทำงานสื่อมอง และจริยธรรมที่ภาคประชาชนมอง จะสามารถหาจุดร่วมกันได้อย่างไร 

นี่เป็นข้อกังวลที่คนทำงานสื่อส่วนใหญ่ล้วนตั้งคำถามเเละจับตามองประเด็นเหล่านี้ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการต่อไป

เนื่องในวาระ ‘วันนักข่าว’ หรือ ‘วันสื่อสารมวลชนเเห่งชาติ’ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี WAY จึงชวนคนทำงานสื่อมาพูดคุย ตั้งคำถาม เเละสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านคำถามหลักว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อวิชาชีพสื่อมวลชนและประชาชนอย่างไร

‘สื่อ’ ในสภาวะที่ถูกรัฐตีกรอบ 

จากเส้นทางการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสู่เส้นทางการทำสื่อ วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว WorkpointTODAY ได้สะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ ว่า “ถ้าอ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้โดยละเอียด ไม่เพียงแค่สื่อเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะถ้าคุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือเป็นติ๊กต็อกเก้อ ก็ล้วนเข้านิยามนี้ทั้งสิ้น

วศินี พบูประภาพ

“เราไม่ยอมรับการตั้งมาตรฐานทางจริยธรรมที่มาจากคนกลุ่มเดียว กฎหมายนี้มีการอ้างว่าหยิบเอาหลักการของประเทศแถบสแกนดิเนเวียมาใช้ แต่การหยิบมานั้นหยิบมาไม่หมด จริงอยู่ที่สแกนดิเนเวียมีสภาจริยธรรม แต่ผู้ร่างจริยธรรมของเขาคัดเลือกผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งที่จริงแล้วสภาวิชาชีพสื่อควรประกอบด้วยตัวแทนสื่อที่หลากหลาย 

“จริยธรรมสื่อต้องโอบรับความหลากหลายในหลายมิติ ทั้งการเมือง เพศ ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้น ตำแหน่งในวงการ อายุ ประเภทของสื่อ ต้องได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ต้องมีช่องว่างพอที่จะโอบรับความลื่นไหลของภูมิทัศน์สื่อ เราไม่เชื่อว่าเกณฑ์ในการคัดเลือกคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จะทำให้เกิดจริยธรรมที่ทุกคนยอมรับได้

“ถ้าคุณเป็นสื่อที่อยู่ในกรอบของรัฐก็ไม่มีผลกระทบ แต่ถ้าคุณต้องการทำประเด็นที่แหลมคมเมื่อไหร่ คุณอาจจะต้องเริ่มกังวลแล้ว เพราะคำว่า ‘ในกรอบ’ หรือ ‘นอกกรอบ’ ก็มีความรางเลือน ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่สื่อมีข้อพิพาทต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เช่น สถานการณ์ช่วงโควิด-19 ที่นายกฯ ออกประกาศห้ามสื่อรายงานข้อเท็จจริงที่ทำให้คนแตกตื่น แม้เป็นความจริงก็ห้ามรายงาน หรือกรณีผู้สื่อข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยาง ก็ต้องพิสูจน์อีกว่า ระหว่างที่ถูกยิงนั้น นักข่าวคนนั้นทำตามจริยธรรมสื่อหรือไม่ ซึ่งในบริบทของการชุมนุม สื่อต้องไปอยู่แนวหน้า (frontline) เพื่อตรวจสอบทุกฝ่าย ตรวจสอบว่าผู้ชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ไหม เจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ชุมนุมไหม แต่ถ้ามาอ้างจริยธรรมที่ว่าห้ามรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ แปลว่าเขาไม่มีจรรยาบรรณหรือ”

วศินีมองว่า ประเด็นเปราะบางเหล่านี้ไม่สามารถปล่อยให้คนกลุ่มเล็กๆ เป็นผู้กำหนดว่า อะไรถูก อะไรผิด แต่ควรผ่านการดีเบตของสังคมอย่างกว้างขวาง 

“สื่อมีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบ หากบ้านเมืองไม่มีการตรวจสอบเลย สถานการณ์จะแย่แค่ไหน ถ้าวันหนึ่งสื่อไม่กล้ารายงานว่า จริงๆ แล้วมีคนตายข้างถนนระหว่างสถานการณ์โควิด-19 เราจะรู้ความรุนแรงที่แท้จริงไหม 

“เราเชื่อว่า หากปราศจากความจริง คนไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง ก็อย่าฝันเลยว่าจะมี trust โลกที่ไร้ trust เป็นโลกที่แม้จะมี ‘ไทยชนะ’ คนก็ไม่กล้าสแกน เพราะไม่ไว้ใจ แม้จะมีวัคซีนคนก็ไม่กล้าไปฉีด โลกแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายไหนทั้งนั้น และเราต้องช่วยกันไม่ให้สถานการณ์แย่กว่านี้ ด้วยการสร้างกลไกที่จะค้ำจุนความเป็นอิสระของสื่อในการพิทักษ์ความจริง”

‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’  กับการตีความอย่างกว้างขวาง

อีกหนึ่งเสียงจาก พริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าว WorkpointTODAY ร่วมเเสดงทัศนะว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีข้อน่ากังวลหลายอย่างที่อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

พริสม์ จิตเป็นธม

เขามองว่า การใช้คำว่า ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ เป็นคำที่มีการตีความอย่างกว้างขวางมาตลอด และอาจกลายเป็นการห้ามนำเสนอข้อมูล หรือการตั้งคำถามซึ่งขัดแย้งต่อความเชื่อของสังคม แม้ว่าการตั้งคำถามบางเรื่องและการนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วน จะสร้างเสริมให้เกิดการพัฒนาสู่สังคมที่ดีขึ้น และนำไปสู่ทางออกในการแก้ปัญหาได้ 

อีกปัญหาคือ คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่มาจากการสรรหาโดยไม่ได้ยึดโยงกับสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งจะมีอำนาจในการตัดสินลงโทษถึงขั้นการเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อีกทั้งไม่มีกลไกเอื้อให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการฯ และเมื่อคณะกรรมการฯ ได้รับงบประมาณโดยรัฐ ทำให้มีข้อกังวลว่าอาจถูกแทรกแซงได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลก็จะทำได้อย่างมีข้อจำกัดมากขึ้น

“การปฏิรูปสื่อ ในความหมายของการทำให้สื่อมวลชนได้รับองค์ความรู้ในการพัฒนามาตรฐานการนำเสนอเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ยังไม่รัดกุมนั้น อาจถูกใช้ตีความเป็นโทษต่อสื่อมวลชนได้ และผู้เสียประโยชน์ในการได้รับข้อมูลข่าวสารคือประชาชน”

แม้ว่าเป้าประสงค์ของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ส่วนหนึ่งมีไว้เพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่ก็อาจนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพสื่อมากกว่าการให้สื่อกำกับดูแลกันเอง หรือใช้กลไกทางสังคมในการกำกับดูแล 

“ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นให้ครบถ้วนรอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ทำวิชาชีพสื่อเท่านั้น แต่ต้องรับฟังเสียงจากประชาชนซึ่งจะได้รับผลกระทบในการรับข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นกัน”

จริยธรรมอันดีงามที่จับต้องไม่ได้ 

มุมมองของสองตัวแทนจาก The101.world สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการเว็บไซต์ ทั้งสองชวนคิดวิเคราะห์อีกเเง่มุมหนึ่งว่า ก่อนอื่นต้องตั้งหลักว่า ภาพใหญ่ที่สุดของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คือการ ‘กำกับดูแลสื่อ’ ซึ่งในประเทศไทยยังคงถกเถียงกันอยู่ว่า เราจะเอาอย่างไรกัน และ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นคำตอบของปัญหาหรือไม่

“ถ้ามองในฐานะสื่อที่ทำงานในภาวะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมากว่า 8 ปี ความไม่ไว้ใจและความเคลือบแคลงใจมันมีที่มา ส่วนตัวไม่แปลกใจที่หลายคนมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ เป็นกฎหมายควบคุมสื่อ เพราะอย่างที่เราเห็นว่า เวลารัฐตีความเรื่องจริยธรรมอันดีงาม (ที่ระบุในกฎหมาย) รัฐไทยมักตีความไม่เป็นคุณต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าไรนัก หลายครั้งเป็นจริยธรรมอันดีงามที่จับต้องไม่ได้ และไม่สอดคล้องกับลักษณะสังคมปัจจุบัน”

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่เชื่อว่า การกำกับดูแลสื่อยังจำเป็นอยู่ ถ้าสื่อทำหน้าที่ได้ดีสังคมจะได้ประโยชน์มาก แต่ถ้าสื่อทำงานชั้นเลว สังคมจะเสียประโยชน์มาก เช่น มีงานวิจัยที่พบว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คนจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตเพราะเชื่อข่าวปลอม จึงไม่ได้ปฏิบัติตัวตามหลักการป้องกันโรคระบาด เป็นต้น

คำถามต่อมาที่ทั้งสองชวนให้คิดคือ แล้วจะกำกับดูแลแบบไหน โดยมี 3 แนวทางคือ กำกับดูแลกันเอง กำกับดูแลร่วมกับรัฐ และให้รัฐกำกับดูแล ซึ่งที่ผ่านมาสื่อไทยมีลักษณะกำกับดูแลกันเอง วิพากษ์วิจารณ์กันเองเมื่อเกิดข้อผิดพลาด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว หากมีสื่อที่ทำผิดจริยธรรมจรรยาบรรณ เช่น เผยแพร่ข่าวปลอมอย่างจงใจเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ละเมิดสิทธิพื้นฐานของแหล่งข่าว เติมแต่งข่าวเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ ก็ไม่มีองค์กรใดสามารถเอาผิดหรือเข้าไปจัดการให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นได้ จนทำให้ทุกคนเห็นตรงกันว่ามาตรฐานสื่อไทยควรได้รับการยกระดับ 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดความคิดที่ว่า การกำกับดูแลร่วมกับรัฐอาจเป็นคำตอบ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศก็ใช้โมเดลนี้ การกำกับดูแลร่วมคือ การทำให้การกำกับดูแลกันเองมีผลผูกพันทางกฎหมายด้วย ซึ่งโจทย์ใหญ่ของเรื่องนี้คือ เราจะออกแบบการกำกับดูแลร่วมกับรัฐอย่างไร 

“ในด้านหนึ่ง การกำกับดูแลร่วมคือ การเปิดช่องให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือในแง่ทรัพยากรบางอย่าง เช่น งบประมาณสนับสนุนการทำงานขององค์กรสื่อ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องขีดเส้นให้ชัด ว่ารัฐจะไม่เข้ามายุ่งกับสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ต้องมีการออกแบบการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่เป็นการเปิดช่องให้รัฐเข้ามามีบทบาทมากเกินไป

“แต่อย่างที่รู้กันว่า การพูดแบบนี้ดูเป็นไปได้ในหน้ากระดาษ แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ แล้ว รัฐอาจอาศัยช่องโหว่นี้เข้ามาควบคุมสิทธิเสรีภาพสื่อได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง และรัฐยังมีกฎหมายอื่นให้เลือกใช้อีก”

หากการกำกับดูแลสามารถยกระดับการทำงานสื่อได้จริง สามารถทำให้สื่อมีจรรยาบรรณได้ สังคมย่อมได้ประโยชน์ แต่ต้องย้ำว่า การกำกับดูแลควรมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ผลประโยชน์ในทางธุรกิจของสื่อ 

“ถ้าถามว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคม เราคิดว่ามันไม่ชัดเลย และบางทีความไม่ชัดนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวงการสื่อไทยยังคิดไม่ตกและหาฉันทมติร่วมกันไม่ได้ ว่าจะกำกับดูแลและวางกติกาในการทำงานวิชาชีพนี้อย่างไร”

เสรีภาพสื่อ ในวงเล็บศีลธรรมอันดี

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าว Voice TV กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ ว่า นี่ไม่ใช่ความพยายามส่งเสริมจริยธรรมสื่อเพียงอย่างเดียวอย่างเเน่นอน และเมื่อมองเข้าไปในรายละเอียดของร่างกฎหมาย สิ่งที่น่ากังวลคือ มาตรา 5 ที่ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น…”

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา

เขามองว่า การเขียนถ้อยคำในลักษณะนี้ค่อนข้างมีปัญหา เพราะเปิดช่องให้ตีความได้แตกต่างกันไป ว่าอะไรคือหน้าที่ของปวงชนชาวไทย อะไรคือศีลธรรมอันดีของประชาชน ภายใต้สภาวะที่สังคมไทยกำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ ในทางความคิด พูดให้ถึงที่สุดอย่างน้อยคนสองกลุ่มใหญ่ คือ คนที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูป มองสองสิ่งนี้ไม่เหมือนกันแน่นอน 

“คำถามคือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยังตีความว่าการเรียกร้องให้มีการ ‘ปฎิรูป’ สถาบันกษัตริย์ เท่ากับเป็นการ ‘ล้มล้าง’ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แล้วตำแหน่งแห่งที่ของการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ หรือการรายงานข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาคดี 112 จะถูกจัดวางอย่างไรภายใต้คดีใหญ่ๆ ที่ยังถกเถียงกันไม่จบสิ้นนี้”

แน่นอนว่า ทุกวันนี้สื่อส่วนใหญ่เป็นสื่อธุรกิจ หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จริงก็อาจส่งผลต่อเพดานเสรีภาพในการรายงานข่าวเพิ่มมากขึ้น จากที่ถูกกดโดยกฎหมายอื่นๆ หรือด้วยอำนาจที่มองไม่เห็นเป็นทุนเดิม

“เข้าใจว่าร่างฉบับนี้ออกมาได้แนบเนียนกว่าร่างก่อนๆ มาก แม้จะไม่มีการขึ้นทะเบียนสื่อแบบร่างแรก แต่ก็ยังคงมีความพยายามคุมสื่อด้วยกลไกอื่นอยู่ดี และจะทำให้คนทำงานสื่อ ทำงานยากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องคอยกังวลว่าจะทำอะไรผิดมาตรฐานจริยธรรมที่ถูกกำหนดขึ้นมาหรือไม่” 

เขากล่าวอีกว่า หากร่างฉบับนี้ผ่าน ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบกับสื่อเท่านั้น แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารที่หลากหลายด้านของประชาชนด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเสรีภาพในการรายงานข่าวของสื่อในประเด็นที่แหลมคม อย่างการรายงานข่าวการชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันหดแคบลง ประชาชนก็จะไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร และเมื่อสื่อไม่สามารถทำงานโดยนำเอาข้อเท็จจริงมาวางให้คนอ่านและพิจารณาได้ ความเป็นสื่อก็อาจหมดความหมาย

คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อต้องมีอิสระเสียก่อน

ณัฐพร สร้อยจำปา ผู้สื่อข่าว The Reporters กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีเนื้อหามุ่งเน้นเรื่องการตั้งคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อเป็นหลัก แทนที่รัฐจะกำหนดขอบเขตของคำว่า ‘จริยธรรม’ ให้ชัดเจนเสียก่อน 

ณัฐพร สร้อยจำปา

“มันมีความขัดแย้งในเรื่อง ‘ชื่อ’ ของร่าง พ.ร.บ. ที่เขาบอกว่าเป็นเรื่องจริยธรรม แต่พอไปอ่านในเนื้อหาจริงๆ แล้ว รู้สึกว่าจะเน้นไปที่การตั้งคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ จึงน่าสงสัยว่าตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ต้องการควบคุมการทำงานของสื่อหรือเปล่า เพราะว่าคนที่เขาตั้งขึ้นมาก็ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจริงๆ แล้วสื่อควรเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่ในภายใต้การดูแลกำกับของใคร

“มีหนึ่งมาตราที่ระบุว่า ‘คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ ชุดนี้ สามารถที่จะยกเลิกหรือเพิกถอนใบอนุญาตของสื่อได้ แต่กลับไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ขอบเขตของคำว่า ‘จริยธรรม’ มันคืออะไร เน้นเพียงแค่ตัวคณะกรรมการ หากร่างฉบับนี้ออกมาเเล้วอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ และน่าจะมีกฎหมายลูกออกมา ซึ่งก็จะย้อนกลับไปที่คำถามว่า จริยธรรมสื่อตรงนี้มันคืออะไร เพราะความหมายมันกว้างมาก”

เธอกล่าวอีกว่า ข้อกังวลที่ว่ารัฐจะเข้ามาแทรกเเซงเนื้อหาของสื่อ เข้ามากำกับควบคุม จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอ รวมถึงการแสดงออกของสื่อในการนำเสนอข่าว ทั้งหมดนี้เเม้จะยังไม่มีกฎหมายกำกับ เเต่ทุกวันนี้รัฐก็พยายามทำอยู่เเล้ว เช่น ประเด็นเรื่องความขัดเเย้งทางการเมือง การระบาดของไวรัสโควิด เป็นต้น

สื่อไม่ใช่ ‘เครื่องบันทึกหลักฐาน’ ของฝ่ายรัฐ

The Standard หนึ่งในองค์กรสื่อที่ผ่านประสบการณ์เกือบจะโดนสั่งปิดจากรัฐ ในช่วงที่มีการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นที่อ่อนไหวต่อรัฐ ไพศาล ฮาแว ผู้สื่อข่าวจาก The Standard ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ ว่า 

ไพศาล ฮาแว

“การมีสัดส่วนของตัวแทนฝ่ายรัฐเข้ามานั่งในสภาวิชาชีพ เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะต่อไปหากองค์กรสื่อคิดจะนำเสนออะไร ก็จะมีความคิดของคนจากรัฐหรือผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกอยู่ด้วย ในเเง่หนึ่งก็หมายความว่า เรากำลังจะถูกควบคุมจากผู้มีอำนาจรัฐ เพราะในสภาวิชาชีพจะมีสัดส่วนของคนที่อยู่ในอำนาจรัฐเข้ามานั่งด้วย 

“หน้าที่ของสื่อมวลชน เดิมเราก็ถูกควบคุมด้วยกฎหมาย ด้วยจริยธรรม คือคนทำสื่อ ถ้าทำผิด สังคมก็ลงโทษอยู่เเล้ว และที่ผ่านมาก็พบว่า แม้ไม่ใช้กฎหมายโดยตรง เเต่รัฐก็พยายามใช้อำนาจเเละกลไกที่มีอยู่ควบคุมสื่อมวลชน อย่างเช่น The Standard ที่ครั้งหนึ่งในช่วงการชุมนุม เราก็เกือบถูกคำสั่งปิด ซึ่งรัฐก็พยายามใช้กฎหมายที่มีอยู่ หรือใช้ช่องทางที่มีอยู่เข้ามาควบคุมสื่อที่เขาคิดว่าควบคุมไม่ได้ ตอนนั้นก็พยายามจะสั่งปิดสื่อออนไลน์ที่อาจจะนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐบาล” 

อีกกรณีคือ การออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการควบคุมโรคระบาด ซึ่งนัยหนึ่งก็คือ เพื่อควบคุมการชุมนุม เเล้วก็ควบคุมสื่อด้วย ซึ่งนี่ไม่ใช่กฎหมายที่เอาไว้ควบคุมสื่อโดยตรง แต่รัฐก็ยังพยายามหาช่องทางในการควบคุมสื่อ 

“ตอนนั้นก็ออกกำหนดเรื่องของการนำเสนอข่าว สร้างความหวาดกลัว ตีความกันเยอะมาก อะไรคือความหวาดกลัว ความจริงคือความหวาดกลัวหรือเปล่า ก็มีการถกเถียงกัน สุดท้ายก็มีการฟ้อง จนศาลก็ให้เพิกถอน

“ผมทำข่าวการชุมนุม หลายๆ ครั้งจะมีหมายเรียกขอหลักฐานจากที่เราไปทำข่าว ขอเทปบันทึกภาพไปเป็นหลักฐานทางคดี ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่ได้มีหน้าที่ในการบันทึกข้อเท็จจริงให้กับรัฐหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เเม้เเต่ฝ่ายผู้ชุมนุมเอง จะจริงจะเท็จเป็นอย่างไร ให้ประชาชนตัดสินเอาจากภาพที่เห็นในวันนั้น แต่กลายเป็นว่าตอนนี้สื่อเหมือนเครื่องบันทึกให้เจ้าหน้าที่รัฐ เหมือนเป็นผู้เก็บพยานหลักฐาน ซึ่งข้อนี้อันตรายกับตัวสื่อเอง เพราะผู้ชุมนุมก็จะมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานของสื่อ โดยเฉพาะในสถานการณ์ขัดเเย้ง ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ต้องการความไว้วางใจ”

ประเด็นอ่อนไหวของรัฐบาลที่สื่อห้ามพูด

จิณณพัต อกอุ่น ผู้สื่อข่าวจากมติชน กล่าวถึงเนื้อหาที่เด่นชัดในร่าง พ.ร.บ. ที่กล่าวถึงการจัดตั้งสภาวิชาชีพฯ ว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่ต่างไปจากหน่วยงานของรัฐ หรือกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งกติกาในการสรรหาเช่นนี้รัฐไม่เคยสอบถามความเห็นจากสื่อมวลชนแต่อย่างใด 

จิณณพัต อกอุ่น

“การที่เขาเขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ. ว่าการนำเสนอข่าว ไม่ควรขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งอาจจะรวมถึงการพูดถึงความมั่นคงต่างๆ หรือประเด็นอ่อนไหวของรัฐบาล สื่อต้องโดนกดให้อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลรัฐประหาร ซึ่งไม่รู้ว่าต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน ถ้าหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ขึ้นมาก็คิดว่าน่าจะต้องกระทบอยู่เเล้ว เพราะจะต้องโดนคัดกรองมากขึ้นหรือถูกตัดออกไป กระทั่งอาจจะโดนเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นสื่อหรือการทำงานได้

“ในแง่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคสังคม หนึ่งคือประชาชนคงจะไม่ได้รับรู้ข่าวสารที่ครบถ้วนและถูกต้อง เพราะว่าอาจจะต้องมีการคัดกรอง ตัดนู่นตัดนี่ออกไปให้เหมาะสมกับศีลธรรมอันดีที่เขาว่าไว้ แน่นอนว่าบางเรื่องที่โดนตัดออกไป อาจจะกำลังเป็นปัญหาสังคมอยู่ก็ได้ แล้วถ้ามันตัดออกไป ปัญหาสังคมก็คงไม่ได้ถูกเปิดเผย ไม่ได้ถูกแก้ไข คนก็ไม่ได้รับรู้ว่ามันมีเรื่องนี้อยู่ในสังคม”

จิณณพัตทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามไปยังภาครัฐว่า “อยากให้ลองพิจารณากันใหม่ว่า การร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดจากคนที่เป็นสื่อทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือเปล่า ไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างน้อยก็ขอทราบเหตุผลจากรัฐว่า ทำไมถึงต้องพยายามเข้ามาควบคุมสิทธิเสรีภาพสื่อหรือการทำงานของสื่อขนาดนั้น รัฐกำลังอ่อนไหว อ่อนแอ หรือเป็นอะไรหรือเปล่า”

‘ศีลธรรมอันดี’ ดีแบบไหน ดีแค่ไหน ดีตามใคร

อติเทพ จันทร์เทศ ผู้สื่อข่าวและช่างภาพเคลื่อนไหวประจำ The Isaan Record กล่าวถึงความรู้สึกแรกภายหลังทราบว่าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ กลับเข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาอีกครั้งว่า 

“ความรู้สึกแรกที่เห็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ จะมีกฎหมายออกมาควบคุมเสรีภาพสื่ออีกแล้วหรือ ซึ่งกฎหมายที่มี อาทิ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ ยังไม่เพียงพอต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนหรืออย่างไร เพราะหลังรัฐประหาร 2557 กฎหมายที่มีอยู่ก็ทำให้นักข่าวทำตัวไม่ถูกภายใต้การทำงานที่มีข้อจำกัดจำนวนมาก 

อติเทพ จันทร์เทศ

“หากรัฐต้องการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศประชาธิปไตย ควรส่งเสริมให้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนมีความเข้มแข็ง กระตุ้นให้เกิดความกล้าหาญในการรายงานข่าวและตรวจสอบความจริง ในกรณีดังกล่าวยังหมายรวมถึงองค์กรวิชาชีพที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ด้วยว่า ควรเป็นองค์กรที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนเสียเอง

“รัฐมีความพยายามควบคุมการทำงานของนักสื่อมวลชนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการจำกัดในการรายงานข่าว ด้วยการจำกัดว่า ต้องไม่ขัด ‘ศีลธรรมอันดี’ ซึ่งเป็นการตีความได้กว้างขวางและทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ใครเป็นผู้วินิจฉัยว่าอะไรคือศีลธรรมอันดี ซึ่งจะนำไปสู่การจำกัดสิทธิการรายงานข่าวของสื่อมวลชนได้ 

“ดังนั้นจึงขอย้ำอีกครั้งว่า รัฐไม่ว่าจะมาจากโลกไหน ก็ไม่ควรมีกฎหมายมาควบคุมตรวจสอบสื่อมวลชน และรัฐไม่ควรควบคุมความจริงด้วยการหลีกหนีการตรวจสอบหรือการออกกฎหมายมาปิดปากสื่อ ปิดปากประชาชน ในทางกลับกัน ผมคิดว่าหน้าที่ของสื่อมวลชนต่างหากที่ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียจากภาษีประชาชน”

กฎหมายคุ้มครองสื่อ หรือคุ้มครองใคร

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา ผู้สื่อข่าว ประชาไท กล่าวถึงข้อกังวลที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้

  1. ประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากการไม่ทำตามจริยธรรมสื่อตามความในมาตรา 5 ที่มีคำสร้อยในเชิงที่ว่า การคุ้มครองการทำหน้าที่สื่อตามจริยธรรมสื่อจะไม่นับรวมการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามหรือหน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นคำที่กินความได้กว้างขวาง ผนวกกับในบริบทของไทยที่การขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนได้ด้วยเหตุผลหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น การทำหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม มักมีการใช้เหตุผลเรื่องการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่หลายกรณีไม่ได้อยู่ใกล้ชิดจนดูมีผลต่อการทำหน้าที่ขนาดนั้น หรือการมีอยู่และการบังคับใช้ผ่านการตีความแบบกว้างของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้เกรงว่ากฎหมาย พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ จะไม่สามารถคุ้มครองสื่อได้จริง 

คำสร้อยนี้มีลักษณะที่ตีความได้ลื่นไหลตามแต่บริบทและอำนาจวาทกรรมทางการเมืองในช่วงหนึ่งๆ ถือเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ใช่การกำหนดนิยามความหมายที่ดีนักในบริบทบ้านเมืองไทยที่เป็นอยู่

  1. นิยามของการครอบคลุมความเป็นสื่อ อิงจากฐานว่ามีรายได้หรือไม่ มากกว่าคำจำกัดความในเรื่องกระบวนการบรรณาธิการ แม้ตัวแทนสมาคมวิชาชีพในปัจจุบันจะพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่รวมถึงเน็ตไอดอลหรืออินฟลูเอนเซอร์อื่นๆ ก็จะต้องจับตาดูการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในขั้นตอนสภาและกรรมาธิการต่อไป เพื่อให้เขตแดนของจริยธรรมสื่อครอบคลุมไปถึงใคร
  2. สภาพความเป็นตัวแทนของสมาคมวิชาชีพที่จะตั้งขึ้นมาครอบคลุมวงการสื่อ จะเป็นตัวแทนของสื่อมวลชนทั่วประเทศที่มีทิศทางและจุดยืนทางความเห็นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองที่เป็นเรื่องให้คุณและโทษกับสมาคมวิชาชีพ เนื่องจากมีตัวแทนกองทุนสื่อฯ ที่เป็นผู้ให้งบประมาณนั่งร่วมคณะกรรมการ และการกำหนดบทบาท ท่าทีของการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิของนักข่าวในกรณีรัฐเป็นคู่พิพาท เช่น กรณีนักข่าวถูกจับกุมหรือถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

อีกหนึ่งเเง่มุมที่เยี่ยมยุทธนำเสนอ ซึ่งเป็นมุมมองที่เเตกต่างออกไป นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ อาจส่งผลดีให้แก่องค์กรสื่อในระดับต่างจังหวัด 

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา

“ส่วนตัวหวังว่า อย่างน้อยที่สุดการมีร่าง พ.ร.บ. นี้จะทำให้การรวมกลุ่มของสื่อต่างจังหวัดมีความเข้มแข็ง และมีอำนาจต่อรองกับสื่อส่วนกลางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทน การเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพ และการได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย ที่จะทำให้เขาคลายออกจากภาวะจำยอมที่ต้องเกี้ยเซี้ยกับแหล่งข่าวท้องถิ่น”

นอกจากนี้ เยี่ยมยุทธได้กล่าวทิ้งท้ายถึงจริยธรรมสื่อที่ควรจะเป็น โดยกล่าวว่า จริยธรรมสื่อที่จะมีขึ้น ควรเขียนให้เข้าใจง่าย เคร่งครัดในการตีความ และอิงอยู่กับผลประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลของประชาชนซึ่งเป็นผู้รับสาร อีกทั้งเป็นผู้เสียภาษีปีละอย่างน้อย 25 ล้านบาท ให้กับสมาคมวิชาชีพตามร่างกฎหมายนี้

หากจริยธรรมสื่อและร่างกฎหมายนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการเซ็นเซอร์สื่อ จะส่งผลกระทบต่อสังคมในการรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง แง่มุมวิเคราะห์ต่อสถานการณ์ที่หลากหลาย และขาดพื้นที่กลางในการทำความเข้าใจสถานการณ์และหาทางออกร่วมกันอย่างสันติในประเด็นสำคัญๆ ของสังคม ยกตัวอย่างเช่น ความเห็นของประชาชนจำนวนหนึ่งต่อประเด็นพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ หรือพื้นที่อำนาจทางการเมืองของกองทัพ ที่เป็นเรื่องที่นำเสนอได้ยากในสื่อกระแสหลัก จริยธรรมสื่อที่อำนาจการตีความอิงแอบอยู่กับคุณค่าที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยิ่งทำให้เรื่องที่พูดยากเหล่านี้พูดยากยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้อำนาจการนำเสนอข้อมูลและเสนอพื้นที่กลางหลุดลอยไปจากสื่อมวลชนมากขึ้น

การตรวจสอบกันเองของสื่อยังคงเป็นแนวทางที่เหมาะสมในสังคมไทย เพราะการมอบบทบาทส่วนหนึ่งให้กับรัฐ ที่วันดีคืนดีกระบวนการประชาธิปไตยก็ถูกตัดตอนด้วยรัฐประหาร เป็นเรื่องที่ฟังดูน่าสิ้นหวังและจะเป็นอันตรายกับการทำงานของสื่อ อย่างไรก็ดี ถึงเวลาแล้วที่สื่อไทยและสมาคมวิชาชีพที่มีอยู่ต้องคิดถึงโจทย์การกำกับดูแลกันเองอย่างจริงจัง ไม่ควรมีการออกกฎหมายแบบนี้ในฐานะทางเลือกสำรองจากการถูกคณะรัฐประหารบังคับอีกต่อไป

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า