6 ตุลาคม 2560: กาลครั้งหนึ่งช่างการไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอที่นครปฐม

1: สองพี่น้อง

41 ปีผ่านไป วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย ยังคงเป็นช่างการไฟฟ้าสองคนที่ถูกแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม หลังจากติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของ พระถนอม ผู้ถูกขนานนามท้ายชื่อในห้วงนั้นว่า ‘ทรราช’

41 ปีผ่านไป ทั้งสองคนยังคงแขวนค้างบนประตูเหล็กสีแดงชั่วกาล เรื่องราวช่างไฟฟ้าสองคนยังถูกจดจำเช่นนั้น ไม่มีชื่อ ไม่มีใบหน้า ไม่มีชีวิต เป็นบทเปิดไม่มีรายละเอียดของแบบเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย ความตายถูกรายงานผ่านหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 กลายเป็นแบบจำลองนำไปสู่การแสดงละครของนักศึกษาในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 หากเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นเหมือนอัลบั้มรูปไม่มีใครอยากเปิดดู เรื่องราวสองช่างไฟฟ้าก็เป็นภาพถ่ายเอาท์ออฟโฟกัสในอัลบั้มนั้น

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ยอมรับว่า ตำรวจกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงมือฆ่าช่างการไฟฟ้าสองคนที่นครปฐม แต่ผู้กระทำยังไม่ได้รับการลงโทษ ไม่ว่าทางกฎหมายหรือทางสังคม ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน

41 ปีผ่านไป เรื่องราวของสองช่างการไฟฟ้าถูกบันทึกในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง สองพี่น้อง (The Two Brothers) ภายใต้การผลิตของโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ (Documentation of Oct 6)

Documentation of Oct 6 คือการทำงานร่วมกันของเครือข่ายนักวิชาการ รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เช่น เอกสารชั้นต้น, เอกสารพิสูจน์การตาย, ไฟล์ชันสูตรพลิกศพ, คำให้การพยานฝ่ายโจทก์, ภาพถ่าย, ภาพจากหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ถูกเก็บรวบรวมไว้บนอากาศ รอการสืบค้นจากคนรุ่นถัดไป – doct6.com

พวกเขาเลือกวันที่ 24 กันยายน 2560 เป็นวันเปิดตัวเว็บไซต์ และฉายหนังสารคดีเรื่อง สองพี่น้อง ขยายพื้นที่ทางความทรงจำไปยังชีวิตเล็กๆ ที่รายล้อมเหตุการณ์นั้น เพื่อยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ถูกลืม และพวกคุณไม่ควรลืม

บ้านเกิดของ ชุมพร ทุมไมย อยู่ที่อุบลราชธานี ที่นั่นพี่ชายของเขายังคงเก็บหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2519 ไว้ในลังกระดาษ น้องชายของเขากับเพื่อนรัก ลิ้นจุกปากบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์

เขาเล่าเรื่องราวของน้องชายให้ทีมถ่ายทำสารคดีฟัง หลังจบการศึกษาชั้นมัธยม ชุมพรเรียนแผนกไฟฟ้าที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ที่นั่นเขาจะได้พบกับเพื่อนรักของเขา กาลต่อมาทั้งสองคนถูกฆาตกรรมที่เมืองนครปฐม ไกลบ้านเกิดหลายร้อยกิโลเมตร

“ชุมพร เวลาเขามาหา เขาเคยคุยเรื่องการเมืองกับคุณไหม” ศรีไพร ทุมไมย ถามสามีผู้เป็นพี่ชายของชุมพร

“เขาไม่คุยหรอก แต่เขาชอบดูตำราการเมือง เขาสนใจความคิดก้าวหน้า เราก็สังเกตเขาอยู่ เขาอ่านหนังสือ เช เกวารา จิตร ภูมิศักดิ์” ชุมพล ทุมไมย รำลึกถึงความสนใจทางการเมืองของน้องชาย

“ห่าเอ๊ย” อมร ผลจันทร์ รำพึงถึงเพื่อนด้วยสำเนียงอีสานระหว่างดูภาพถ่ายในกรอบของชุมพร เธอเป็นญาติที่เติบโตมากับ ชุมพร ทุมไมย “ไปไหนก็ไปด้วยกัน เรียนมาด้วยกัน เรียนหนังสือฉันก็ได้อาศัยลอกเขา”

เธอยังรู้จัก วิชัย เกษศรีพงศ์ษา เพื่อนรักของชุมพรด้วย ทั้งสองเดินทางมาเยี่ยมบ้านของชุมพรที่อุบลราชธานีด้วยกัน วิชัยจึงอยู่ในความทรงจำของอมร

“วิชัยเป็นคนไม่ค่อยพูด” อมรเล่า “แต่เขานิสัยดี หน้าตาดีด้วย ตอนนั้นพวกเราก็คุยกันเล่นๆ ชุมพรบอกว่า ต่อจากนี้จะไม่มีผู้น้อยผู้ใหญ่หรือคนต่ำคนสูง เราจะเสมอภาคกันหมด ชุมพรพูดนะ สมัยนั้นยายยังเป็นสาว ก็คุยกันไปเรื่อยเปื่อย เขาเล่ามาเราก็ชอบฟัง ทุกวันนี้ก็ยังพูดเล่นถึงเขาว่า บักที่จะพากูไปสูงๆ ทำไมมาตายก่อนกู”

บ้านเกิดของ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา อยู่ที่บุรีรัมย์ ที่นั่นพี่ชายของชุมพรกล่าวแนะนำตัวกับพี่ชายของวิชัยที่หน้าประตูรั้วบ้าน พี่ชายของวิชัยและพี่ชายของชุมพรได้พบกันในหนังสารคดีเรื่องนี้ ประยูร เกษศรีพงศ์ษา ได้พบกับ ชุมพล ทุมไมย

“ผมเป็นพี่ชายของชุมพร”

“เข้าบ้านก่อน”

ประยูร เกษศรีพงศ์ษา อยู่ในวัยชราเช่นเดียวกับ ชุมพล ทุมไมย และเช่นเดียวกับชุมพร หลังจบชั้นมัธยม วิชัยเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา วิชัยอยากเป็นช่างไฟฟ้า

ทั้งชุมพรและวิชัย เป็นช่างไฟฟ้าที่นครปฐม เป็นเพื่อนรักกัน เช่าบ้านอยู่ด้วยกัน และตายด้วยกัน

“ช่วงนั้นมีข่าวว่า ท่านถนอม ประภาส จะกลับเข้ามา หลังจากที่เขาเรียกว่าเป็นทรราช กลับมาจากต่างประเทศ ผมก็ไม่ทราบหรอก แต่จู่ๆ ก็มีข่าวว่ามีช่างไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอที่นครปฐม ที่ประตูแดง พอฟังชื่อก็พบว่าเป็นน้องของตัวเอง”

เช่นเดียวกับชุมพล หลังจากรู้ข่าวน้องชายตนเสียชีวิต ทั้งสองต่างเดินทางไปที่นครปฐม

“มันไม่ใช่อุบัติเหตุที่เราจะไปฟ้องร้องเอาผิดได้ มันเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความจงใจเนาะ มันเป็นการทำร้ายร่างกาย ตำรวจก็ไม่ทำอะไรให้ด้วย ถ้าถามใจ อยากให้เอาคนผิดมาลงโทษ ใจเราอยากให้เป็นแบบนั้น แต่คงทำอย่างใจเราไม่ได้หรอก” ประยูรบอกเล่าในหนังสารคดีที่เล่าเรื่องราวน้องชายของเขาผ่านความทรงจำของเขาเอง


รศ.ดร.พวงทอง และภัทรภร คณะทำงาน Documentation of Oct 6 ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ด้วยความนับถือ (Respectfully Yours)

2: สองนักวิจัย

“พอเรานึกถึงเรื่องการแขวนคอ การแขวนคอไม่ได้มีแค่เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา”

ภัทรภร ภู่ทอง หนึ่งในผู้กำกับหนังสารคดีเรื่อง สองพี่น้อง (The Two Brothers) และเป็นคณะทำงาน Documentation of Oct 6 บอกเล่าการตามหาครอบครัวของสองช่างไฟฟ้า เราอยู่ในห้องทำงานของ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ หนึ่งในคณะทำงาน Documentation of Oct 6 เช่นเดียวกับภัทรภร บ่ายวันนั้นฝนตก และเป็นเวลาสองสัปดาห์ก่อนจะถึงวันที่ 24 กันยายน

ผมเตรียมหัวข้อเรื่อง ‘การบังคับบุคคลสูญหายในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519’ ไปพูดคุยกับสองนักวิจัยผู้เป็นคณะทำงาน Documentation of Oct 6 แต่เรื่องราวของสองช่างไฟฟ้าทำให้ต้องปรับหัวข้อสนทนากันใหม่

“เราแทบไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน ครอบครัวเป็นยังไง เราเริ่มเสิร์ชในกูเกิล เจอคนที่นามสกุลเหมือนกัน เราโทรไปหลายครั้ง กว่าจะได้เจอคนที่เป็นพี่ชายของช่างไฟฟ้า คนหนึ่งชื่อ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา อีกครอบครัวหนึ่ง ชุมพร ทุมไมย เราโทรไปครั้งแรกก็เจอพี่สะใภ้ของเขา ได้คุยกับทั้งสองครอบครัวก่อนลงพื้นที่” ภัทรภรเล่า

อะไรคือข้อค้นพบหลังจากติดต่อญาติของทั้งสองคนได้

ภัทรภร: กรณีพี่ชายของชุมพร เขาไม่ได้ลืม เขารอให้คนมาถามเรื่องราวเกี่ยวกับน้องชายของเขา เขาอยากเล่าอยากพูดถึงชีวิตและเรื่องราวที่เกิดกับน้องชายของเขา เขาเป็นผู้ชายอายุเกือบ 70 ร้องไห้เสียงดังผ่านโทรศัพท์ เขาบอกว่า ตั้งแต่น้องชายเสียชีวิต เขาก็รอมาตลอด ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสเขาอยากทำอะไรสักอย่างให้คนไม่ลืมว่าเกิดอะไรกับน้องของเขา เขาคิดมาตลอดว่ามันไม่ยุติธรรม แล้วตัวเขาเป็นตำรวจด้วย

ชุมพร ทุมไมย บ้านเกิดอยู่อุบลราชธานี เราได้ไปวัดที่เก็บกระดูกของชุมพร ได้พูดคุยกับเพื่อนสนิทวัยเด็กของเขา ได้ไปที่บุรีรัมย์ บ้านเกิดของ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา ก็เป็นโอกาสที่ทั้งสองครอบครัวได้เจอกัน วิชัยและชุมพรเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่เป็นนักเรียนที่เทคนิคโคราช เขาไปมาหาสู่กัน ครอบครัวของทั้งสองก็รู้ว่า สองคนนี้เป็นเพื่อนสนิทกัน ทั้งสองครอบครัวได้คุยกันเรื่องเหตุการณ์ ไปรับศพที่ไหน ไปดูบ้านเช่าที่สองคนนี้เช่าอยู่ด้วยกัน เราก็ได้รู้ว่าตอนจัดงานศพของวิชัยที่บุรีรัมย์ เขาเอารูปของชุมพรมาตั้งคู่กับรูปของวิชัยในงานศพด้วย เพราะสองคนนี้เป็นเพื่อนกัน ตายพร้อมกัน

อยากให้เล่าถึงการตามหาประตูแดงที่นครปฐม

ภัทรภร: เราตามไปที่เกิดเหตุ เราอยากรู้ว่าประตูนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ คนที่เกี่ยวข้องเช่นตำรวจที่เป็นผู้ต้องหาในขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า มีใครทราบบ้างว่ามีการแขวนคอตรงนี้ เราเก็บข้อมูลเท่าที่ได้ ไปที่นครปฐม ย่านนั้นเรียกว่าสามแยกกระบือเผือก เราถามคนแถวนั้น ถนนเปลี่ยนไปมาก ผู้คนโยกย้าย แต่เราคิดว่าน่าจะถามใครได้บ้าง ไปถามผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน แต่เขาไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้เป็นคนท้องถิ่น ตามหาผู้ใหญ่บ้านคนเก่า โชคดีที่เขาบอกว่า เขาได้เห็นตอนที่มีข่าวการพบศพคนสองคนที่ประตู เขาก็พาเราไปที่ประตู ประตูอยู่ไกลจากถนนใหญ่ แต่ไม่ได้ไกลมาก เป็นที่ที่อยู่ในที่ดินจัดสรร เป็นที่ดินว่างเปล่า มีรั้วล้อมรอบ แล้วก็มีประตู ประตูตั้งอยู่ในสภาพเดิม

เรามีโอกาสได้คุยกับเจ้าของที่ดิน เขาสร้างบ้านในพื้นที่นั้น เขาเล่าว่าประตูที่เกิดเหตุและรั้วนั้นแทบไม่เปลี่ยนไปเลย ไม่ได้มีการแก้ไขหรือซ่อมแซมอะไร มีคนพยายามงัดเหล็กไปขาย เปลี่ยนแค่นี้เอง นอกนั้นเหมือนเดิม เราถามว่าเมื่อมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทำไมไม่รื้อออก เพราะคนไทยจะมีความเชื่อว่าเกิดเรื่องไม่ดีแล้ว มีคนมาแขวนคอในพื้นที่ เขาก็บอกว่าไม่รู้จะเปลี่ยนทำไม เปลือง เขาปล่อยไว้อย่างนั้น

วิชัยกับชุมพรมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน

ภัทรภร: เท่าที่เรารู้จากพี่ชายเขาทั้งสองคน เขาเป็นคนที่มุ่งมั่น อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง อยากเห็นความเป็นธรรม อยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้น เขาทำกิจกรรมกับสถาบันที่เรียน ตั้งแต่สมัยที่เรียน ซึ่งเทคนิคโคราชตอนนั้น เป็นสถาบันการศึกษาที่เคลื่อนไหวในห้วงเวลานั้นด้วย เรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่จะนำไปสู่อะไรนั้น พี่ชายเขาก็ตอบไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่เราพบก็คือ ครอบครัวจะเล่าให้ฟังถึงอุปนิสัยใจคอ ชีวิตความเป็นอยู่ แต่ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองหรือเขาไปทำอะไร ครอบครัวส่วนมากจะไม่ทราบ เพราะเขาไกลบ้านไปแล้ว นักศึกษาก็คงไม่ได้บอกกับที่บ้านทุกเรื่องว่าเขาทำอะไรบ้าง

วิชัย เกษศรีพงศ์ษา (ซ้าย) และ ชุมพร ทุมไมย (ขวา) ภาพจากหนังสารคดี สองพี่น้อง (The Two Brothers)

ทำไมครอบครัวของวิชัยและชุมพรจึงพร้อมที่จะเล่า ซึ่งแตกต่างจากเคสอื่นๆ ที่พวกคุณตามหาใน 6 ตุลาคม         

ภัทรภร: สองคนนี้อยู่อีสาน เราสังเกตเห็นได้ว่า พี่ชายเขาติดตามข่าวสาร และเมื่อมีการพูดถึง 6 ตุลา ไม่มีการพูดถึงน้องชายของเขาเลย เขาอยากให้เรื่องของน้องชายเข้ามาอยู่ในเรื่องเล่าหรือการรับรู้ของสังคม ว่าน้องชายเขาเป็นส่วนหนึ่งของ 6 ตุลา เหมือนกัน

6 ตุลา เป็นที่เข้าใจว่าเป็นความพ่ายแพ้ และได้รับการมองว่าคนเหล่านี้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นหัวรุนแรง เป็นผู้ผิด เป็นฝ่ายกระทำผิด การดำเนินคดีในการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษย่อมไม่เกิด ความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดถูกทำให้อ่อนแรง ถูกทำให้กลัว ไม่กล้าทำอะไรมากไปกว่าการตามหาศพหรือมารับศพลูก มันก็ส่งผลต่อเนื่อง ไม่มีการรวมกลุ่มของญาติ ไม่มีการเรียกร้อง ไม่มีการทำงานด้านความทรงจำ ตัวตนของญาติหรือตัวตนของครอบครัว 6 ตุลา แทบไม่มี ครอบครัวอื่นเราแทบไม่รู้จักเลยว่าเขาคือใคร มันมาจากความกลัว รับศพเสร็จกลับบ้าน

เราเคยเจอครอบครัวหลายครอบครัว ครอบครัวส่วนใหญ่เขาเล่าให้ฟังถึงการหาศพลูก พอรู้ว่าลูกหาย ก็รู้ว่าลูกน่าจะอยู่ในที่ชุมนุม เริ่มต้นหายังไง เริ่มต้นหาจากโรงพยาบาลก่อน โรงพยาบาลตำรวจ บางทีก็ทราบมาจากเพื่อนของลูกว่าเสียชีวิตแล้ว ให้ไปหาศพของลูกที่ไหน ที่โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลศิริราช รับศพเสร็จ กลับไปทำศพที่บ้าน ข้างบ้านจะส่งเสียงว่า นี่พวกคอมมิวนิสต์ มันทำให้ครอบครัวกลัวได้รับผลกระทบสืบเนื่องไปยังสมาชิกที่เหลือในบ้าน

เพราะฉะนั้น ทำให้เขาไม่มีตัวตน เมื่อเขาถูกทำให้ไม่มีตัวตนแล้ว 40 ปีผ่านไปการตามหามันก็ยาก ข้อมูลจากฝ่ายชันสูตรพลิกศพเป็นข้อมูลเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หลายอย่างที่เขียนในนั้นเป็นข้อมูลที่เก่าแล้ว เบอร์โทร บ้านเช่า มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เราเริ่มตามหา เริ่มจากเพื่อนของเพื่อนของเขาบ้าง เปิดดูในสมุดหน้าเหลือง หานามสกุลที่เหมือนเขา ลองโทรไป จะตามหาลักษณะแบบนี้มากกว่า

ครอบครัวส่วนใหญ่ที่คุณได้สัมภาษณ์ เขาอยู่ในช่วงวัยไหน

ภัทรภร:  ถ้ารุ่นพ่อแม่จะอายุ 85 ขึ้นไป ส่วนใหญ่คนในครอบครัวจะไม่ให้เราสัมภาษณ์ เขาจะไม่ให้เราคุยกับคนรุ่นพ่อแม่ ถ้าแม่ยังมีชีวิตก็จะไม่ได้คุย คนแก่เขาสะเทือนใจ

พวงทอง: แต่จำนวนมาก พ่อแม่เสียแล้ว เราไม่ได้คุยกับคนรุ่นหลาน เพราะไกลเกินไป คนที่เราได้คุยด้วยก็จะเป็นคนที่เป็นพี่หรือไม่ก็น้องของผู้เสียชีวิต

ซึ่งเป็นคนที่ร่วมสมัยกับสังคมเรา ยังอยู่ในอากาศเดียวกับเรา?

พวงทอง: ใช่ อย่างคนหนึ่งก็ออกไปทางแดง คุยไปคุยมาเขาไปชุมนุมกับเสื้อแดง บางคนก็ไม่แดง ไป กปปส. ด้วย แต่รู้สึกว่าสิ่งที่น้องชายทำเป็นวีรชน แต่เขาไป กปปส. เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกต้อง

จริงๆ แล้วเราไม่ได้ตามหาคนที่สูญหาย ตอนที่เราเริ่มโครงการนี้ (บันทึก 6 ตุลา Documentation of Oct 6) เราตามหาญาติเพื่อทำประวัติของคนที่เสียชีวิต เริ่มจากการที่ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล บอกเราว่าคนที่ถูกแขวนคอไม่ได้มีคนเดียวนะ เขาคิดว่ามีสองคน เราก็ตกใจ เรารู้สึกว่านี่คือข้อมูลพื้นฐานที่เราควรรู้มาตั้งนานแล้วไม่ใช่หรือ ทำไมผ่านมา 40 ปี จึงเพิ่งรู้ว่ามีมากกว่าหนึ่งคน

จากตรงนี้มันทำให้เราเกิดคำถามว่า มีอะไรที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับ 6 ตุลา เราพบว่า เราไม่ค่อยรู้จักคนตายเท่าไร เขาเป็นใคร มีนิสัยอย่างไร ทำไมเขาอยู่ในเหตุการณ์ ทำไมจึงถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมขนาดนั้น ส่วนตัวเราสอนวิชาความรุนแรงในการเมืองโลก ดังนั้นเราจะพบว่ามีการให้ความสำคัญกับเหยื่อเยอะมาก การทำประวัติ เรื่องเล่าของเขา สารคดี ไดอารี ซึ่งเป็นธรรมเนียมตะวันตก สังคมเราไม่สนใจคนตาย คนตายถูกพูดถึงในฐานะวีรบุรุษที่เราต้องเคารพ แต่ไม่มีใครสนใจรายละเอียด 6 ตุลามันไม่มีเลย เราเลยคุยกับภัทรภร เขาทำหนังสารคดีสัมภาษณ์พ่อแม่คนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เราเลยคิดว่าอยากทำหนังสารคดี 40 ปี 6 ตุลา ตามหาว่าพวกเขาเป็นใคร

(ความทรงจำ-ไร้เสียง (Silence-Memories) และด้วยความนับถือ (Respectfully Yours) คือหนังสารคดี 2 เรื่องก่อนหน้าที่เล่าเรื่องครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519-กองบรรณาธิการ)

ภัทรภร: เราทำโครงการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ 6 ตุลา แต่สิ่งที่เราพูด เราไม่ได้พูดแค่ 6 ตุลา เรากำลังพูดถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ความเงียบที่มีต่อความรุนแรงทางการเมือง ความเงียบของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นเหยื่อ ความเงียบของครอบครัวที่มาจากความรุนแรงของรัฐ 6 ตุลาเป็นกรณีหนึ่งเท่านั้น เรามองว่าในระยะต่อไป งานจะขยายไปสู่กรณีอื่นๆ ทั้งในอดีต และที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้

บันทึกท้ายเรื่อง

ในเอกสารรายงานความคืบหน้าของคณะทำงานโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ (Documentation of Oct 6) บันทึกรายละเอียดการทำงาน รายชื่อครอบครัวที่คณะทำงานกำลังตามหา และตั้งข้อสังเกตว่า บางครอบครัวยังไม่เคยพบศพผู้เสียชีวิต

“จากการคุยโทรศัพท์กับญาติของ มนัส เศียรสิงห์ พบว่า ครอบครัวคิดว่า มนัสน่าจะเสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ครอบครัวพยายามตามหาศพประมาณ 2-3 ปี เพื่อนำร่างมาจัดงานศพ แต่ไม่พบ และครอบครัวไม่เคยรู้ว่า มีรางวัลศิลปะ มนัส เศียรสิงห์” เอกสารของคณะทำงานบันทึก 6 ตุลาฯ ระบุ

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2560

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า