เสียงจาก ‘ดาวดิน’ ผู้ถูกตราหน้า บ่อนทำลายบ้านเมือง รับเงินต่างชาติ ขัดขวางการพัฒนา

วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 5 กองร้อย ยืนวางกำลังไหล่ชนไหล่ พร้อมเสื้อกันกระสุนและโล่ เตรียมพร้อมต้อนรับขบวนเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมทั้งวางแผงรั้วเหล็กกั้นเป็นแนวยาวระหว่างถนนกับเพิงพักของผู้ชุมนุมในขบวนต่อต้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน ที่ปักหลักหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ตั้งแต่เช้าวันก่อน

หลังจากไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลจากการเรียกร้องให้ยุติการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … เหล่าองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) และกลุ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งหลายจึงจัดการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองและสร้างความเข้าใจแก่สังคมว่า ทำไมต้องคัดค้านการร่างกฏหมายทำลายการรวมกลุ่มฉบับนี้

เป็นเวลาใกล้ค่ำแล้ว หลังรอให้ขบวนเสด็จฯ ผ่านพ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงคลายวงล้อมและยอมให้ WAY เข้าพื้นที่ไปพูดคุยกับกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคมอันประกอบไปด้วย ตอง เหน่ง ต้น และ แป้ง ซึ่งใช้นามสกุลร่วมกันว่า ‘ดาวดิน’

กลุ่มดาวดินเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน อย่างน้อยก็หลังจากการรัฐประหาร 2557 เหตุการณ์ที่หลายคนน่าจะจดจำพวกเขาได้ดีคือ การใส่เสื้อดำชูสามนิ้วประจัญหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จากนั้นมาสมาชิกดาวดินก็ถูกรัฐจับตาแทบทุกครั้งที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยและเคลื่อนไหวทางการเมือง

WAY จึงถือโอกาสล้อมวงคุยกับสมาชิกบางส่วนของดาวดินถึงประเด็นต่างๆ ในเส้นทางการเคลื่อนไหวของพวกเขา ตั้งแต่ชีวิตนักศึกษานิติศาสตร์ที่พยายามเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม การลงพื้นที่ศึกษาปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐและนายทุน การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ การตอบโต้นิติสงครามที่รัฐใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ไปจนถึงการออกมาต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนครั้งล่าสุดนี้

ดาวดินคือใคร เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบไหน เข้าข่าย NGO ไหม

ตอง – ก็เรียกได้ครับ เดิมทีกลุ่มดาวดินมีสถานะเป็นกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เมื่อรุ่นก่อนๆ จบไปแล้วไม่มีที่ทำงานต่อ ไม่มีองค์กร NGO ที่พวกเราเข้าไปทำงานต่อได้ ก็เลยพยายามตั้งองค์กรของตัวเองขึ้นมา ชื่อว่า ‘ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม’ อยู่ที่ขอนแก่น แต่ศูนย์ฯ นี้ก็รองรับพี่น้องดาวดินได้ไม่หมด บางส่วนจึงต้องไปอยู่กับองค์กร NGO อื่นๆ ด้วย ถามว่าดาวดินเป็น NGO ไหม ก็เรียกได้ว่าเป็น แล้วก็มีส่วนหนึ่งที่ไปเชื่อมโยงกับองค์กร NGO อื่นๆ เยอะพอสมควรครับ

ต้น – ตอนแรกที่ก่อตั้งกลุ่ม เราใช้ชื่อว่า ‘กลุ่มนักศึกษาเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม’ เราใช้การประจานเป็นเครื่องมือมาตั้งแต่เริ่มต้น พี่น้องดาวดินรุ่นแรกๆ ช่วงปี 2546-2547 ทำงานแบบอนาล็อก เข้าไปเรียนรู้สภาพปัญหาในพื้นที่ที่มีปัญหาจากการช่วงชิงทรัพยากรกับรัฐ หรือในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ แล้วเขียนรวบรวมเป็นหนังสือแจกและขายเล็กๆ น้อยๆ ในชื่อ วารสารดาวดิน คนเลยเรียกกันติดปากว่า ‘กลุ่มดาวดิน’

ตอง – ช่วงแรกๆ ที่ตั้งกลุ่มกันขึ้นมา เราเองก็ยังไม่รู้ว่าจะมีบทบาททำอะไรได้มากกว่านี้ นอกจากการเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านมาเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย ก็เลยมีวารสารดาวดินขึ้นมา ช่วงหลังๆ เริ่มเข้าไปเรียนรู้ ไปทำค่าย หลังจากค่ายเราก็ไม่จบแค่นั้น ยังลงไปช่วยเวลาชาวบ้านเขาเคลื่อนไหวอีก จนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือและซัพพอร์ตชาวบ้านในพื้นที่ แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนสุดท้ายตั้งเป็นองค์กรเพื่อทำงานกับพื้นที่เองเลย

การส่งต่อชุดความคิดและอุดมการณ์ขององค์กรดาวดินจากรุ่นสู่รุ่นเป็นอย่างไร

ตอง – ใช้กระบวนการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มเหมือนดาวดินตอนสมัยเป็นนักศึกษาครับ ก่อนจะเรียนจบเราก็คุยกันว่า เฮ้ย น้องๆ ใครสนใจทำอะไรต่อ ชีวิตจะเอาอย่างไรต่อ ถ้าใครสนใจมาทำด้าน NGO ก็จะช่วยกัน ใครมาทำงานที่ศูนย์กฎหมายฯ ที่เราตั้งเองได้ก็มา ใครจะไปอยู่องค์กรข้างนอกก็ไป ส่วนใครจะเข้าไปในระบบเราก็ไม่ว่ากัน แต่มีการสื่อสารกันอยู่ตลอดว่า ตอนนี้พรรคพวกทำองค์กรนั้นองค์กรนี้ ทำประเด็นนั้นประเด็นนี้อยู่ 

ส่วนการส่งต่อรุ่นต่อรุ่น เราใช้กระบวนการค่ายครับ เราทำค่ายเพื่อหาสมาชิกเข้ามา หลังจากนั้นก็จัดกระบวนการเรียนรู้ภายใน พอค่ายจบก็ไปลงพื้นที่บ้าง ไปม็อบบ้าง หากไม่มีม็อบเราก็จัดกลุ่มศึกษา จัดคอร์สการเมืองกันเองบ้าง มันก็จะส่งทอดความคิดและส่งต่ออุดมการณ์กันด้วยกระบวนการเหล่านี้ครับ มีอะไรจะเติมไหม (หันไปมองเพื่อน)

ต้น – พี่พูดไปหมดแล้ว คือการส่งต่อมันก็เลื่อนไหลตามยุคสมัย

แป้ง – ใช่ แต่ละยุคบรรยากาศและสถานการณ์ไม่เหมือนกัน อย่างช่วงที่เราเข้ามาในปี 2560 สถานการณ์การคุกคามทางกฎหมายตามคำสั่ง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ยังมีอยู่ และมีคำสั่ง 3/2558 ที่ห้ามรวมกลุ่ม ดังนั้นบรรยากาศช่วงนั้น นักศึกษาหรือเพื่อนๆ ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงประเด็นเรื่องการเมืองหรืออาจยังไม่กล้าที่จะแสดงออกทางการเมืองมากนัก ตอนนั้นสมาชิกก็จะมีจำนวนน้อยค่ะ แล้วก็มีความท้าทายในตัวเองสูงที่จะพูดหรือใช้เสรีภาพ 

เวลาผ่านไปสักประมาณ 2 ปี ซึ่งใกล้จะมีเลือกตั้งในปี 2562 ก็มีนักศึกษาที่สนใจการเมืองมากขึ้น ใส่ใจสิทธิทางการเมืองของตัวเองมากขึ้น เริ่มมีการจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งเราก็จัดกันเอง มีการจัดตั้งชุมนุมเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่ไม่เคยมีมาก่อนในคณะ และเริ่มมีหลายกลุ่มมากขึ้น มีเพื่อนมากหน้าหลายตาจากคณะอื่นนอกจากคณะนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือกฎหมาย แล้วก็มีเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องการลงทุน การเงิน พยาบาล หรือเกษตร ออกมาพูดเรื่องความรุนแรงหรือปัญหาที่ตัวเองเรียนมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมืองด้วย บรรยากาศก็เปลี่ยนแปลงไปและแตกต่างกันเยอะมากในช่วงนั้น

ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนไป การเคลื่อนไหวในปัจจุบันมีความท้าทายอย่างไรบ้าง

ต้น – เครื่องมือของรัฐหรือบรรยากาศสังคมยังปิดอยู่ หมายถึงว่าสังคมเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย มีการอุ้ม การบล็อก การจับตา ถ่ายรูป อะไรเหล่านี้ เอาเข้าจริงนอกจากการกากบาทในบัตรเลือกตั้งแล้วแทบไม่มีอะไรเปลี่ยน โอเคว่าอาจจะมี ส.ส. จากฝ่ายค้านที่มาจากประชาชนมากขึ้น แต่บรรยากาศของการเคลื่อนไหวหรือกลไกอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐสภา มันก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมนัก นี่คือเรื่องแรก 

สองคือมีประเด็นที่มันแหลมคมและมีพัฒนาการมากขึ้น จนมีการสรุปบทเรียนกันว่า ปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทยคืออะไรบ้าง มีอะไรที่ทำให้บ้านเมืองเราทุกวันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย คนยังอดอยาก ยากจน ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ที่ดิน โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ สุขภาพ หรือแม้แต่อากาศที่เราหายใจ ผมคิดว่าเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมตื่นตัวมากขึ้น เพราะว่าผลกระทบมาถึงตัวแล้ว

ตอง – ความท้าทายตอนรุ่นผมเป็นนักศึกษากับตอนนี้ต่างกันมากครับ สมัยเป็นนักศึกษาอยู่ดาวดิน บรรยากาศมันก็จะเป็นอีกแบบ กิจกรรมของดาวดินหลักๆ คือไปลงพื้นที่ ไปเรียนรู้ปัญหากับชาวบ้านในประเด็นเรื่องทรัพยากร เหมือง เขื่อน ที่ดิน แต่ทุกวันนี้กระแสทางการเมืองขึ้นมาสูงมาก เราเจอน้องรุ่นใหม่ที่แอคทีฟและลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเยอะ ความท้าทายคือจะเชื่อมกันยังไงกับปัญหาของประชาชนที่อยู่ข้างล่าง 

อีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทายก็คือ พอการเมืองกำลังเคลื่อนไป ชาวบ้านเองบางทีก็ยังไม่ทันข้างบน ความท้าทายของดาวดินคือจะทำอย่างไรให้ 2 กลุ่มนี้เชื่อมโยงกัน แล้วเห็นภาพว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน บางคนมองว่าเราต้องสู้กับข้างบนก่อน ข้างล่างถึงจะเปลี่ยน บางคนก็บอกต้องสู้ข้างล่างแล้วข้างบนจะเปลี่ยนเอง แต่ที่จริงพวกเรามองว่า ไม่เว้ย มันต้องไปด้วยกัน เพราะมันเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน ความท้าทายคือตรงนี้แหละ เราจะทำอย่างไรให้มันเชื่อมประสาน เห็นภาพเดียวกัน แล้วไปด้วยกันได้ 

ปัญหาของ พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม คืออะไร

เหน่ง – ปัญหาหลักๆ ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ขอบเขตและนิยามกว้างมาก กินความรวมทุกกิจกรรมที่มีคนมารวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร แล้วตัวข้อจำกัดของกฎหมายยังเป็นการควบคุมในระดับที่ไม่สามารถกำหนดเส้นได้ ไม่มีบรรทัดฐาน เพราะว่ามันพูดถึงเรื่องการห้ามทำกิจกรรมเกี่ยวกับความมั่นคง ห้ามทำกิจกรรมที่ผิดศีลธรรมอันดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐตีความได้กว้างมากนะครับ ปัญหาข้อที่ 3 คือบทลงโทษ ซึ่งมีปัญหาไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพราะแค่ฝ่าฝืนหรือกระทำกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าผิดเนี่ย เราก็อาจจะโดนโทษปรับ 500,000 บาท รวมถึงปรับอีกวันละ 10,000 บาท 

ต้น – อยากจะเสริมเรื่องผลกระทบของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สักหน่อยว่า นอกจากผลกระทบทางกฎหมายแล้ว มันยังเข้าไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ทำให้เกิดความกลัว เข้าไปสร้างอำนาจอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกฎหมาย เช่น เวลาเราเจอด่านตรวจ อย่างพวกผมเรียนกฎหมายก็ว่ากันไปเรื่องหนึ่ง แต่คนทั่วไปที่รู้บ้างไม่รู้บ้างกลับต้องเจออำนาจของตำรวจที่สูงหรือล้นเกิน มีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งมันก็อ้างกฎหมายเนี่ยแหละ ไม่ว่าจะอ้างตัวไหนบ้างก็ตาม แต่ทีนี้การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้เกิดความหวาดกลัว จะยิ่งทำให้ตำรวจอ้างอำนาจได้มากขึ้น มีกฎหมายและเครื่องมือในการเข้าไปทำลายการรวมกลุ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตำรวจ แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ด้วยนะครับ 

เช่น จากประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ ตอนเด็กๆ ใส่ชุดนักเรียนรวมกลุ่มกันตอนค่ำ อาจจะไปอ่านหนังสือหรือไปเล่นที่สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน พอตำรวจมาเห็นก็จะอ้างเลยว่า ห้ามมั่วสุมนะ ให้รีบกลับบ้าน คุณจับตาและมีอคติต่อประชาชนอยู่ตลอดเวลาว่า การรวมกลุ่มของคนเป็นการมั่วสุม เป็นเรื่องไม่ดี ต้องถูกจัดการ ต้องทำผิดกฎหมายอย่างแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน การรวมกลุ่มของคนรวยหรือคนมีฐานะทางสังคมกลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม มีสง่า อย่างสมาคมส่งออกต่างๆ ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่เวลาเขาไปปาร์ตี้หรือสังสรรค์อะไรทำนองนี้ นี่เป็นปัญหาด้านวัฒนธรรมครับ

ตอง – ถ้าถามว่าปัญหาของร่าง พ.ร.บ. นี้คืออะไร ผมจะมองเป็นภาพใหญ่ ซึ่งต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 2557 ตั้งแต่ คสช. เข้ามา มีความพยายามที่จะควบคุมและรักษาอำนาจของฝ่ายเผด็จการให้อยู่ได้มาตลอด ผมมองว่า พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เขาใช้รักษาฐานอำนาจมาจนถึงยุคนี้ แล้วก็ในอนาคตด้วย เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะเข้าไปแทรกแซงถึงขั้นมิให้มีการรวมกลุ่มของประชาชนเลย 

ก่อนหน้านี้เราเห็นกฎหมายในลักษณะนี้มาแล้ว เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งพยายามควบคุมและแทรกแซงการชุมนุม โดยอ้างว่าเพื่อดูแล แต่ผมเดานะว่า เขาน่าจะรู้สึกว่าควบคุมไม่อยู่ ก็เลยขยับขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ไปควบคุมตั้งแต่การรวมกลุ่มเลย อันนี้เป็นภาพใหญ่ของปัญหา นี่คือความตั้งใจของรัฐบาลเผด็จการที่จะสร้างเครื่องมือเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองต่อ

มีการพูดกันว่า เป้าหมายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการจัดการพวก NGO ที่รับเงินจากต่างชาติมาทำลายประเทศ ขัดขวางโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ให้ประเทศเดินหน้า กล่าวคือใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศ กลุ่มดาวดินคิดว่าความมั่นคงของชาติคืออะไร ควรมีลักษณะอย่างไร

แป้ง – คิดว่า พ.ร.บ.นี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของ NGO เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ด้วย อย่างที่เพื่อนอธิบายไป มันเป็นกฎหมายที่แค่คนรวมกลุ่มแล้วทำกิจกรรมกันก็เข้าข่ายแล้ว แต่เราเข้าใจและตั้งข้อสังเกตว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมาก็พยายามจะทำให้ NGO ที่ทำกิจกรรมการเมืองหรือสนับสนุนสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ต้องลดกิจกรรมลง และพยายามจะปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเรื่องประชาธิปไตยค่ะ

ตอง – ในมุมของผม ความมั่นคงของชาติควรจะมองไปที่ประชาชนมากกว่า เช่น สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนต้องมีมากเพียงพอที่จะทำให้เขามีชีวิตอย่างไม่ต้องดิ้นรน ลำบาก หรือต้องอดๆ อยากๆ อีกทั้งที่อยู่อาศัย ที่ดิน อากาศบริสุทธิ์ หรือสวัสดิการ มันคือคุณภาพชีวิตครับ สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือความมั่นคงของประเทศในมุมมองผม

ต้น – ไม่แตกต่าง

แป้ง – เห็นด้วยค่ะ

การออกกฎหมายที่พยายามทำลายสิทธิเสรีภาพหรือการรวมกลุ่มของประชาชน อาจเรียกได้ว่าเป็นนิติสงครามที่รัฐใช้จัดการประชาชน ในฐานะนักเรียนกฎหมาย ดาวดินคิดว่าพลเมืองอย่างเราจะสู้หรือโต้กลับในสงครามเช่นนี้ได้อย่างไร

แป้ง – รัฐธรรมนูญไง

เหน่ง – ในเบื้องต้นเราก็ยังยืนยันในรัฐธรรมนูญ ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ได้มาจากประชาชนอย่างเต็มกระบวนการก็ตาม แต่ก็ยังรับรองสิทธิในการรวมตัวรวมกลุ่มและเสรีภาพในการแสดงออกไว้อยู่ ทีนี้พอมีกฎหมายที่ขัดสิทธิเสรีภาพ ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการสากล อย่างการที่ประชาชนควรจะรวมตัวรวมกลุ่มกันได้ โดยไม่ต้องมีข้อกังวล มันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องออกมาคัดค้านร่างกฎหมายนี้ ก่อนที่จะออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย และถึงแม้ว่าจะบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว ผ่านรัฐสภาแล้ว มี ส.ว. เข้าไปโหวตแล้ว แต่ก็ยังพอมีช่องทาง ยังมีความจำเป็นที่จะต้องรณรงค์เพื่อแก้ไขและยกเลิกกฎหมายนี้ และต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชนและคุ้มครองสิทธิของประชาชนจริงๆ เราจะต้องปิดช่องไม่ให้ฝ่ายเผด็จการมีอำนาจในการออกกฎหมายโดยไม่สนใจเสียงประชาชนหรือเสียง ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ตอง – ถ้าถามว่าจะตอบโต้นิติสงครามได้อย่างไร ในมุมผมก็จะต้องใช้วิธีการประจาน ประณาม เอาออกมาให้คนในสาธารณะเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมทุกวันนี้บิดเบี้ยวอย่างไร มันถูกเอาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างไร ถูกใช้ก่อนิติสงครามอย่างไร ผมคิดว่าการประจาน การเผยแพร่ การสื่อสารในพื้นที่สาธารณะให้มากที่สุดก็เป็นการโต้กลับอีกแบบหนึ่ง สุดท้ายแล้วกระแสสังคมจะย้อนกลับไปหาพวกเขาเอง อาจจะไม่เห็นผลในเร็ววันนี้ แต่ในเวลาข้างหน้ามันจะมีผล

แป้ง – เราต้องยืนยันตามสิทธิทางรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอที่เราพูดถึงกันตลอดมาหลายปี ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการรณรงค์อยู่เสมอว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจริงๆ เพราะถึงแม้เราจะโต้กลับหรือยืนยันสิทธิในรัฐธรรมนูญหรือสิทธิอื่นๆ ตามหลักการสากลที่ได้รับการยอมรับแล้ว แต่การได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจริงๆ ยังเป็นอีกทางหนึ่งที่เราต้องช่วยกันพยายามรณรงค์ให้มันเกิดขึ้นต่อไป

ต้น – นิติสงครามคือการที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบั่นทอนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน ผมคิดว่าประชาชนอย่างเรามีเครื่องมือหลายอย่างในการตอบโต้ อย่างเช่นที่พี่ตองพูดเรื่องการประจาน การรณรงค์ แม้แต่การรวมกลุ่มชุมนุมกดดัน การเผยแพร่เนื้อหา รวมถึงเรื่องการเลือกตั้งด้วย ที่อยากจะเสริมคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้กลไกรัฐสภาเข้มแข็ง ฟังก์ชั่นกับกระบวนการประชาธิปไตย ซัพพอร์ตสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นหัวประชาชน และมาจากประชาชนมากขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่านี้ นำไปสู่สังคมที่ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่นี้ หากบอกว่านี่คือสงคราม สิ่งเหล่านี้คือการกินแดนที่จะทำให้ภาคประชาชนมีอำนาจและมีชัยชนะในสมรภูมิต่างๆ มากขึ้น แล้วก็จะนำไปสู่การชนะสงครามได้

คนรุ่นใหม่ที่อยากทำงาน NGO ควรทำอย่างไรบ้าง

ตอง – ถ้าอยากทำก็ทำเลยครับ ลองดู ผมคิดว่าชีวิตวัยรุ่นพลังมันยังเหลือเฟือที่จะลองผิดลองถูกได้ พวกผมก็ลองมั่วๆ กันมาหลายปีเหมือนกัน มันก็พอถูๆ ไถๆ ไปได้อยู่ ไม่อดตาย (หัวเราะ) แต่ก็จะลำบากในเรื่องทางเศรษฐกิจอยู่เหมือนกันนะครับ เพราะว่าปัญหาของการเป็น NGO คือเรื่องแหล่งเงินทุนสนับสนุนในประเทศไทยมันน้อยมาก เท่าที่มีมันก็ไม่สนับสนุนสิ่งที่เราอยากทำ เช่น กองทุน สสส. เขาก็กำหนดวัตถุประสงค์หรือกำหนดกรอบมาให้เรา ห้ามเกินอันนี้นะ ห้ามพูดเรื่องนั้นนะ ห้ามอันนี้ห้ามอันนี้ การของบประมาณสนับสนุนในประเทศไทยเลยลำบาก ทำให้พวกเราต้องของบประมาณจากต่างประเทศบ้าง ก็จะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ NGO ต้องเจอ ซึ่งจะย้อนกลับมาที่ พ.ร.บ. เจ้าปัญหาตัวนี้

แป้ง – ตอบในฐานะที่เพิ่งเป็น NGO เพราะไม่รู้ว่าตอนเป็นนักศึกษาดาวดินนับเป็น NGO หรือยัง แต่ตอนนี้เรียนจบแล้วก็ได้มาเป็นสิ่งที่เรียกว่า NGO อย่างจริงจัง เราในฐานะคนรุ่นใหม่ เป็นหนุ่มสาวผู้ร้าวรานทั้งหลายนะคะ (หัวเราะ) พอทำงานมาสักพัก มันจะมีจังหวะหนึ่งที่เราเห็นว่า ปัญหามีอยู่เต็มไปหมดเลย และไอ้ปัญหาที่เราพยายามแก้กันอยู่เนี่ยมันยิ่งใหญ่และเป็นไปได้ยาก เมื่อต้องเห็นสิ่งเหล่านั้นทุกวันในมุมคนทำงาน NGO บางทีเราก็รู้สึกท้อแท้ ทำไมมันยากลำบากจังวะ

แต่ยังมีความหวังอยู่บ้างอย่างเช่นในม็อบนี้ ถ้ามองไปจะเห็นว่า เพื่อน เครือข่าย หรือคนทั้งหลายก็ยังร่วมกันต่อสู้ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ซึ่งเรายังพอสามารถช่วยกันได้ ม็อบนี้มีพี่น้องเครือข่ายที่เคลื่อนไหวในหลายประเด็น ในหลายที่ กระทั่งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง นักกิจกรรมต่างๆ มารวมกันอยู่ที่เดียว มีตั้งแต่พวกเคลื่อนไหวด้านที่ดิน เหมืองแร่ ทะเล แล้วยังมีกลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มดาวดิน กลุ่มเพื่อนๆ อีกมากมาย อ้อ…มีทะลุแก๊สด้วย

ต้น – มันเป็นประเด็นร่วมของทุกคน ก่อนหน้านี้กลุ่มต่างๆ ก็อาจจะซัพพอร์ตในประเด็นข้อเสนอหลักของแต่ละม็อบ เช่น บางกลอยก็เรื่องที่ดิน จะนะก็เรื่องนิคมอุตสาหกรรม แต่ม็อบที่มากันในรอบนี้เป็นประเด็นร่วมของทุกคน

แป้ง – นี่คือประเด็นร่วมของมนุษย์ทุกคนเลยที่รวมกลุ่มกัน ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น หลังจากที่ต่อสู้อย่างลำพัง โดดเดี่ยว 

ต้น – ขอเสริมเรื่องความท้าทายของ NGO นิดหน่อย มันอาจจะยาก แต่ก็มีพื้นที่ให้ลองผิดลองถูก ผมคิดว่าใครสนใจก็ทำเลย เรียนรู้กับมัน เราไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือวิเศษวิโสอะไร ก็เป็นพวกที่ได้รับผลกระทบจากสังคมเฮงซวยนี้เหมือนๆ กันกับผู้คนที่อยู่ตามข้างทาง ผู้คนที่อยู่ในที่ดินที่ถูกไล่รื้อ ผู้คนที่อยู่ในที่ดินซึ่งกำลังจะถูกยึดไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม ก็แทบไม่ต่างกัน เราก็พยายามที่จะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกันไปนั่นแหละครับ

ตอง – อีกอย่างหนึ่ง อย่าลืมว่าต้องเตรียมตัวตอบคำถามพ่อแม่ญาติพี่น้องด้วยครับว่า มึงทำอาชีพอะไร (เพื่อนหัวเราะ) หลายๆ คนจะเจอปัญหานี้ บอกพ่อแม่แล้วเขาไม่เข้าใจ ไปอธิบายญาติต่อไม่ได้ อธิบายได้แค่ว่า ลูกเป็น NGO เป็นนักกฎหมาย แต่เขาไม่เข้าใจความหมายว่ามันทำอะไร

ต้น – พวกนี้ยังดี เรียนกฎหมายมาก็บอกว่าเป็นนักกฎหมายได้ แต่พวกที่จบสาขาอื่น เช่น มานุษยวิทยา เขาไม่รู้จะอธิบายอย่างไรว่า จริงๆ แล้วอาชีพนี้คืออะไร

แป้ง – แต่สุดท้ายแล้วนักกฎหมายไปโผล่ในม็อบ พ่อแม่ก็สงสัยอยู่ดีว่า ลูกฉันไปทำอะไรวะ ใครจะทำงาน NGO ก็อย่าลืมทำงานทางความคิดกับพ่อแม่ด้วย (หัวเราะ)

แล้วนี่บอกพ่อแม่ว่าทำอาชีพอะไรกันล่ะครับ

ตอง – ก็บอกว่าเป็นนักกฎหมายนี่แหละครับ เป็นนักกฎหมายที่ทำอยู่ศูนย์กฎหมายฯ ที่ตั้งขึ้นมาเอง ไม่ได้เป็นนักกฎหมายทั่วไป ซึ่งพอบอกว่าเป็นนักกฎหมาย คนจะเข้าใจว่าเป็นทนาย ไปสู้คดีนู่นนั่นนี่ แต่ของเรามีอีกบทบาทหนึ่งก็คือ ลงไปจัดอบรม จัดเวิร์กช็อป หรือไปช่วยหนุนเสริมกระบวนการต่อสู้ของชาวบ้าน เป็นนักกฎหมายพิเศษ เป็นนักกฎหมายทนายอาสา

โทษฐานของคนเรียนกฎหมายมักจะถูกสังคมไทยคาดหวังให้เป็นทนาย อัยการ ผู้พิพากษา ไม่คิดจะไปทางนั้นบ้างหรือ

ตอง – การล้มเลิกเป้าหมายอะไรแบบนี้มันเริ่มตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ผมไปทำค่าย ก็ต้องมีการเซอร์เวย์พื้นที่ เพื่อเตรียมการและประสานกับชาวบ้าน ได้ไปเจอเคสหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู ตอนนั้นมีการขุดลอกขยายลำห้วย ปัญหาคือการถมการขุดของรัฐไปทำให้ที่ดินชาวบ้านหายไป เขาบอกว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการเข้าไปหายายแก่ๆ ซึ่งเป็นเจ้าบ้าน เขาเข้ามาคุยแล้วให้เซ็นกระดาษ A4 เปล่าไป สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็เอาเอกสารนั้นไปเขียนข้อความใส่ว่า ยายเจ้าของที่ได้ยกที่ดินตรงนั้นให้แก่โครงการนี้แล้ว ซึ่งถ้าดูตามตัวบทกฎหมายแม่งไม่มีอะไรผิดเลย ถูกหมดเลย เพราะมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร มีลายเซ็น มีหนังสือชัดเจนเลยนะครับ แต่เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย นี่ไม่ใช่แล้ว กระบวนการกฎหมายอาจไม่ใช่ความยุติธรรมหรืออาจไม่ให้ความยุติธรรมเสมอไป

พอเราไปเจออย่างนี้ ก็รู้สึกว่าพฤติกรรมของนักกฎหมายที่เรียนๆ กันอยู่มีปัญหา จะมีคำขวัญคือ “เรียน 4 ปี มีคัมภีร์อยู่ 4 เล่ม” ก็คือมึงนั่งอ่านหนังสือกันอยู่ในห้องนั่นแหละ 4 ปีก็ไปสอบ แต่ว่าไม่เคยได้รู้ข้อเท็จจริงที่มันอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยเลย ไม่เคยรับรู้รายละเอียดหรือความซับซ้อนของสังคมข้างนอกเลย แล้วจบออกไปเป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษา แต่ไม่เคยเจอแง่มุมสังคมจริง แล้วมึงจะให้ความยุติธรรมได้จริงหรือ 

เราก็เลยรู้สึกว่าการมุ่งไปตรงนั้นมันไม่พอ มันน่าจะไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับสังคมได้มากเท่าที่เราทำอยู่ตอนนี้น่ะครับ แล้วยังเป็นสาเหตุหนึ่งให้เราทำแบบนี้ด้วย เราอยากจะบอกอีกมุมหนึ่งว่า กระบวนการยุติธรรมก็มีมุมนี้นะ ตัวเราก็ทำอีกบทบาทหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน

ต้น – ตำแหน่งเหล่านี้ ทั้งอัยการและผู้พิพากษา เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรม หรืออย่างน้อยสังคมก็เชื่อเช่นนั้น แต่ตอนเราเป็นนักศึกษาดาวดิน ไปเจอชาวบ้าน มันก็มีหลายกรณีที่ทำให้ความหมายของความยุติธรรมเปลี่ยนไปมาก การเข้าไม่ถึงความยุติธรรม ทำให้เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนจิตใต้สำนึกของเราที่มีต่อความยุติธรรม เรารู้สึกว่าการทำงานกับชาวบ้าน กับคนตัวเล็กตัวน้อยนี่แหละครับที่จะทำให้สังคมนี้เปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรรมและทำให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น

ตอง – มีอีกตัวอย่าง เพราะผมจะเจอตัวอย่างเหล่านี้เยอะ เช่น การทำประชาคมเพื่อสร้างโรงงาน มีบริษัทหนึ่งใช้วิธีการเอากระเป๋ากับมีดตัดเล็บมาแจกชาวบ้าน ขอบัตรประชาชนแล้วให้ลงเลขบัตร ให้เซ็นชื่อในกระดาษเปล่า สุดท้ายก็เอาไปเขียนหัวหนังสือว่าคนที่ลงชื่อเหล่านี้ได้ยินยอม ได้อนุมัติ เห็นด้วย เห็นชอบกับโครงการ พอชาวบ้านมาเห็นทีหลังเขาก็…อ้าว หลอกกันนี่หว่า เขาก็ลุกมาสู้ทีหลัง คือผมเจออะไรแบบนี้ตลอด แต่ถ้าดูในทางกฎหมายแม่งก็ถูก เพราะมีหลักฐาน มีเอกสารประกอบการทำประชาคมเรียบร้อย แต่วิธีการหรือรายละเอียดมันมีอะไรที่มากกว่านั้น แล้วผู้พิพากษาในระบบกฎหมายไทยมันสอนกันให้ตีความตามตัวบทอย่างเคร่งครัด ถ้าองค์ประกอบทางเอกสารมันครบถ้วนตามกฎหมายที่เขียนมา ก็จบเลยนะ

แป้ง – เราสะสมความผิดหวังของการใช้กฎหมายเรื่อยมา ก็คล้ายกับพี่ตอง เวลาไปลงพื้นที่แล้วศึกษาว่ามันเกิดอะไรขึ้น จะเห็นภาครัฐ ผู้ที่ลงทุน หรือผู้ที่มาสร้างผลกระทบให้พี่น้องก็พยายามจะใช้การกลั่นแกล้งทางกฎหมาย ซึ่งเราที่เรียนกฎหมายก็รู้สึกว่าไม่โอเค กฎหมายที่เราเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้พูดถึงการกลั่นแกล้งทางกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ไม่ได้บอกว่าเราควรจะตอบโต้อย่างไร หรือทำอย่างไรจึงจะคืนความยุติธรรมสู่พี่น้องหรือคืนสู่คนที่ได้รับความเสียหายจริงๆ กลายเป็นว่าเรื่องเหล่านี้ต้องแสวงหาจากข้างนอก เพราะห้องเรียนกฎหมายไม่ตอบโจทย์เราว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังกับการเรียนนิติศาสตร์

จากที่คุยกัน จะได้ยินคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ กับ ‘ความยุติธรรมทางสังคม’ อยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้คือหลักการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินใช่ไหม หรือว่าจริงๆ แล้ว แก่นของดาวดินคืออะไรกันแน่

ตอง – แก่นหรือหลักการจริงๆ คือเราอยากเห็นสังคมที่คนสามารถออกแบบและกำหนดชีวิตตัวเองได้ เราอยากมีชีวิตแบบไหน อยากอยู่ในระบบสังคม การเมือง และเศรษฐกิจแบบไหน แล้วก็มีปัจจัยหรือสวัสดิการที่ทำให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ต้องลำบาก ส่วนตัวผมคิดว่าทุกคนเกิดมาก็ต้องตายเหมือนกันหมด ทำไมเราไม่ทำให้คนเกิดมาแล้วสามารถใช้ชีวิตที่ enjoy กับโลกใบนี้ enjoy กับชีวิตที่สนุกสนาน ไปค้นหา ไปสร้างสรรค์ แล้วทิ้งประโยชน์ไว้กับโลกก่อนที่จะตาย ส่วนตัวผมคิดอย่างนั้น

ต้น – จริงๆ ดาวดินมีบทกวีแขวนไว้ในบ้าน “ดาวที่ไม่อยากอยู่บนฟ้า ดินเย้ยฟ้าท้าดาวจรัสแสง อำนาจประชาชนจักสำแดง จะเปลี่ยนแปลงดาวดินให้เท่าเทียม” 

ไอ้คำสุดท้าย “จะเปลี่ยนแปลงดาวดินให้เท่าเทียม” หมายถึงเราเชื่อว่า ดาวกับดินมันเท่ากัน เป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ได้มีอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่ากัน มันแค่มีความหมายต่างกัน แต่คุณค่าหรืออำนาจในตัวมันไม่ได้ต่างกันเลย

แป้ง – ดาวก็คือพื้นดิน

ตอง – เราอยู่บนโลก มองขึ้นไปบนฟ้ายามค่ำคืน เห็นดาวก็คิดว่ามันสวย งดงาม สูงส่ง เลอค่า แต่ถ้าเราขี่ยานอวกาศขึ้นไปแล้วลงจอดบนนั้นจะรู้ว่า มันก็คือดินที่เราเหยียบอยู่นี่แหละ แก่นของดาวดินก็คือ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เท่าเทียมเป็นธรรม นี่แหละครับ 3 คำนี้น่าจะคลุมทั้งหมด

ในทุกปีเราจะเห็นภาพหนึ่งถูกแชร์ในโซเชียลมีเดียคือ รูปที่กลุ่มดาวดินใส่เสื้อดำชูสามนิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นอย่างไร แล้วส่งผลกระทบกับชีวิตของสมาชิกอย่างไรบ้าง 

ตอง – เหตุการณ์นั้นคือช่วงปลายปี 2557 หลังมีการรัฐประหาร เรารู้สึกว่าปัญหาของพี่น้องในพื้นที่จะหนักขึ้น เพราะเมื่อพวกนี้เข้ามายึดอำนาจ มันก็รวบอำนาจในการกำหนดนโยบายและอำนาจในการตัดสินใจทุกอย่างไปยังส่วนกลาง เราก็เลยคิดว่าปัญหาทรัพยากรจะหนักขึ้น ในอีกด้าน ก็มีความพยายามแยกชาวบ้านที่ทำงานเป็นเครือข่ายให้สลาย ไม่ให้มีพลังในการเคลื่อนไหว 

เราพยายามทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารมาตั้งแต่วันแรก ด้วยการไปอ่านหนังสือต้านรัฐประหารหรือแฟลชม็อบต่างๆ วันที่ไปชูสามนิ้วก็มีกำหนดการที่ประยุทธ์จะลงพื้นที่ (ขอนแก่น) ก็เลยคุยกันว่าเราจะทำอะไรกันได้บ้างวะ เนื่องจากช่วงนั้นเข้าปลายปีแล้วการปราบปรามเริ่มหนักขึ้น เราเริ่มทำอะไรได้ไม่ค่อยมาก มีการเรียกพวกเราไปปรับทัศนคติ ไปขู่ในค่ายทหาร ไปหาพ่อแม่ถึงบ้าน เรียกได้ว่าการคุกคามมาทุกระบบและทุกมิติ ทำให้การเคลื่อนไหวเงียบลงๆ ไม่ค่อยมีกิจกรรมต่อต้านอะไรนัก แต่ทีนี้ประยุทธ์มา ก็เลยคุยกันใหม่ว่าเราทำอะไรได้บ้าง

ตอนนั้นกระแสหนัง The Hunger Games กำลังมานะครับ เราก็เลยหาทางเข้าไปชูสามนิ้วใส่ประยุทธ์ที่ศาลากลาง เพราะเขาจัดงานที่นั่น เราจัดทีมแอคชั่นหรือทีมจรยุทธ์ที่จะเป็นด่านหน้า โดยใช้วิธีการแอบเข้าไปนอนในนั้นตั้งแต่คืนก่อนที่จะมีงาน 

แป้ง – เขาก็รู้หมดสิว่าพี่ทำกันยังไง

ตอง – รู้ก็รู้สิ! (หัวเราะ) 

พองานเริ่มปุ๊บ ทีมนั้นก็เนียนไปนั่งเป็นผู้เข้าร่วมงาน แล้วก็เอาเลย ชูสามนิ้วเสร็จก็เหวอกันทั้งงาน สุดท้ายก็โดนรวบออกไปไว้ที่ค่ายทหาร เพื่อปรับทัศนคติ เขาก็จะให้เซ็น MOU (บันทึกความเข้าใจร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย) ให้เลิกเคลื่อนไหวและเลิกต่อต้านรัฐประหาร เพื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่ตอนนั้นพวกเรา 5 คนไม่ยอม เมื่อข่าวเริ่มตีออกไป กระแสสังคมก็หันมาจับตา เรารู้สึกว่ากระแสสังคมสนับสนุนและกดดันให้เขาไม่กล้าทำอะไร สุดท้ายเขาเลยปล่อยออกมาเฉยๆ แต่หลังจากปล่อยออกมา การคุกคามก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไปหาพ่อแม่ ไปหาอาจารย์ ไปหาคณบดี มีคดีที่ศาล ไปหาที่มหาวิทยาลัย คือไปทุกที่เลยครับเพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้ดาวดินหยุดเคลื่อนไหว ตอนนั้นมันขู่ด้วยว่าจะเอาขึ้นศาลทหาร 

ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงที่ถูกคุกคามหนักที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งดาวดินมา มันส่งผลกระทบต่อการหาสมาชิกใหม่ด้วย บางคนยังสอบไม่ติดเลย เช่น ลูกมาสอบ ม.ขอนแก่น พ่อแม่บอกเอาไว้เลยว่า อย่าไปเข้าดาวดินนะลูก ตั้งแต่ผลสอบยังไม่ออกแต่ก็บอกลูกแล้ว มีการผลิตวาทกรรมอย่างนี้ออกมา “อย่าไปอยู่ดาวดิน” “ดาวดินเป็นกลุ่มหัวรุนแรง” ทำให้หาสมาชิกในช่วงนั้นยากมากขึ้น

จากเหตุการณ์ชูสามนิ้วปี 2557 จนถึงปี 2565 ชีวิตกลุ่มดาวดินเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

แป้ง – ประเด็นเปลี่ยนไปมากขึ้น เมื่อก่อนเราทำงานในเชิงพื้นที่ แล้วพยายามเชื่อมโยงประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้างว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์นี้ เป็นเพราะว่าสภาพการเมือง คนที่ปกครองหรือรัฐบาล แต่พอถึงช่วงปีนี้ เริ่มพูดถึงโครงสร้างใหญ่ๆ อย่างคำว่าประชาธิปไตยหรือเสรีภาพในการชุมนุมมากขึ้น แต่ก็ยังเชื่อมโยงและเรียนรู้กับชาวบ้านเหมือนเดิม ซึ่งประเด็นนี้จะขยับขึ้นไป แล้วก็สมาชิกใหม่ๆ จะมีความตื่นตัวทางการเมืองมาก่อนอยู่แล้ว เมื่อก่อนนี้อาจเป็นลักษณะไปดูก่อน แล้วจึงรู้สึกหรือต้องการจะทำอะไรบางอย่างกับปัญหาของชาวบ้าน ตอนนี้เหมือนทุกคนได้รับการศึกษาประเด็นต่างๆ ผ่านทางโซเชียลหรือจากการแลกเปลี่ยนกับสังคมเพื่อนในโรงเรียนมาก่อน จึงอยากหาความรู้ที่มันลึกซึ้งขึ้น บรรยากาศค่อนข้างแตกต่างกันอยู่นะ

ตอง – ถ้าถามว่าตอนนี้รู้สึกยังไง ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำวันนั้นมันถูกแล้ว ถึงแม้เราจะมีคนไปชูสามนิ้วแค่ 5 คน ไปชูป้ายประท้วงต่อต้านครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร 7 คน แต่วันนี้มีคนออกมาชูสามนิ้วเป็นแสนๆ ทั่วประเทศ หรืออาจจะเป็นล้าน สิ่งที่เราทำมันไม่เสียเปล่า เพียงแต่มันค่อยๆ สะสมชัยชนะ สะสมพลัง สิ่งที่เราคิดค่อยๆ กระจายออกไปหาคนส่วนมาก เราเชื่อว่าในอนาคตมันจะยิ่งไปไกลกว่านี้

ประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อ

ตอง – ผมว่ามันจะขยายออกไปเรื่อยๆ ครับ แต่กระแสจะขึ้นมาอีกตอนไหนก็ต้องอาศัยปัจจัยทางสังคมด้วย อาจจะต้องมีเงื่อนไขหรือปัจจัยอะไรบางอย่างที่ทำให้คนออกมาอีกรอบหนึ่ง อย่างรอบที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยคือการยุบพรรคอนาคตใหม่ คนรุ่นใหม่เขารู้สึกว่าได้รับผลกระทบ เพราะเป็นพรรคที่เขาเลือก เขาก็เลยออกมากัน แล้วมันก็ลามไปเลย 

ครั้งหน้าผมรู้สึกว่าจะต้องมีเงื่อนอะไรบางอย่างที่ทำให้คนออกมาอีก ผมว่ารอบข้างหน้ามันจะเยอะกว่านี้ มันจะไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ แต่รวมทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ทุกบทบาท ทุกตำแหน่งแห่งหนในประเทศไทยนี้ ผมว่าจะมีอีกครั้ง

สุดท้ายแล้วเห็นอะไรจากสถานการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เพิ่งผ่านพ้นไปบ้าง

ตอง – ผมเห็นความหวังครับ ในมุมคนต่างจังหวัดตอนนี้ผมก็พยายามทำแคมเปญรณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจ พยายามชูเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เราเห็นแล้วว่ากระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปีนี้คึกคักจริง เขาแข่งกันด้วยนโยบาย ทำให้มันสนุกเหมือนรายการวาไรตี้ เอาผู้สมัครมาคุยกันในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่เหมือนกับแค่มายืนปราศรัย มาแถลงเฉยๆ แต่มีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด คนก็เลยติดตาม จดจ่อ รู้สึกอินไปกับมัน บางบ้านพ่อกับแม่เถียงกัน พ่อจะเอาวิโรจน์ แม่จะเอาชัชชาติ แต่บ้านอยู่โคราช ก็จบ (หัวเราะ) ลืมไปว่าตัวเองไม่มีสิทธิเลือก 

แต่ว่า เฮ้ย…กระแสมันมา ก็เลยมีความหวังว่า ในอนาคตเนี่ย การกระจายอำนาจหรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศอาจเกิดขึ้นได้จริง ตอนนี้กำลังคิดว่าจะขยายหรือทำอย่างไรกับกระแสนี้ให้มันเกิดขึ้นได้จริงครับ

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Photographer

รัตนพล ทิพย์มะณี
หอบ Portfolio ไปสัมภาษณ์งานที่ร้านลาบ ย้ายข้ามฟากจากวิภาวดีมาอยู่ที่อ่อนนุช เป็น video creator ที่เขียนงานได้ ทำกาแฟเป็น ว่างจากจับเมาส์จ้องหน้าจอก็จดจ่อกับครกสากที่ห้องครัว ฝีมือทำอาหารเป็นเลิศ แต่ที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติคือการใช้ลูกคอเพลงหมอลำ ร้องดีจนพี่น้องในกองบรรณาธิการยอมอุทิศไมโครโฟนให้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า