เรื่อง : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ : เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
เวลาว่างๆ ช่วงนี้ เจ้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกหัวข้่อ Digital TV in Thailand ร่างเล็ก มักใส่เสื้อยืดกางเกงขาสั้นไปเดินตามแผนกขายโทรทัศน์ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อถามความรู้เรื่องสินค้าขายดีอย่าง “ทีวีดิจิตอล” จากพนักงานขาย
นอกจากคำโฆษณาว่าทุกเครื่องจะเป็นทีวีดิจิตอลทั้งหมดแล้ว น้อยคนมากที่จะพูดถึงตัว Set Top box หรือ กล่องรับสัญญาณดิจิตอลแล้วนำระบบกลับเข้าสู่เครื่องทีวีอนาล็อก ที่สำคัญไม่มีเซลล์สักคนที่จะพูดว่าเจ้ากล่องนี้ใช้กับทีวีเครื่องเก่าที่บ้านได้…ไม่ต้องซื้อใหม่
อาจเพราะถูกเทรนมาอย่างนี้ หรือ พนักงานไม่มีความรู้เรื่องนี้จริงๆ ทำให้นักวิชาการด้านสื่อใหม่ (New Media) อย่าง ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ซึ่งคว้าปริญญาเอกด้าน International Communication จากมหาวิทยาลัย Macquarie ประเทศออสเตรเลีย ต้องเอาข้อมูลภาคสนามต่างๆ กลับมานั่งคิดว่าปัญหาสำคัญของทีวีดิจิตอลอยู่ที่ “การสื่อสาร” เพราะถ้าพื้นฐานยังไม่เข้าใจและรับข้อมูลไปอย่างผิดๆ ทีวีดิจิตอลที่เริ่มออกอากาศในเดือนกุมภาพันธ์อาจจะล้มไม่เป็นท่า
เอาง่ายๆ แค่ว่า ทีวีดิจิตอลคืออะไร ใครตอบได้ชัดเจนและเข้าใจง่ายได้ว่า คือ ทีวีที่ทำงานในรูปแบบดิจิตอล ส่งสัญญาณภาพและเสียงในรูปแบบของดิจิตอลมีคุณภาพที่ดีกว่าอนาล็อก ซึ่งเป็นระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ภาคพื้นดิน ส่งสัญญาณภาพแบบคลื่นวิทยุเอเอ็ม เอฟเอ็ม ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และ กสทช. มีมติสรุปช่องรายการดิจิตอลทีวีของไทยไว้ 48 ช่อง แบ่งเป็น ช่องบริการทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ 24 ช่อง และช่องบริการชุมชน 12 ช่อง
โดยช่องบริการธุรกิจ 24 ช่องที่เปิดประมูลก็ได้ผู้ชนะการประมูลไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่คนดูบางกลุ่มเตรียมโละทีวีเครื่องเก่าเพราะเข้าใจว่าดูทีวีดิจิตอลไม่ได้
Q : ทำไมต้องเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิตอล
เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิตอล ในเครื่องมืออุปกรณ์หลายชนิด อย่างกล้องที่เปลี่ยนจากฟิล์มเป็นดิจิตอล สมาร์ทโฟน การผลิตแบบอนาล็อกค่อยๆ หมดไปแล้ว เราจึงต้องเปลี่ยนตามยุคสมัย
เฉพาะทีวีดิจิตอล มีประโยชน์ 3 ส่วนสำคัญ ส่วนแรก ทางกายภาพ คือ ภาพและเสียงคมชัดแน่นอน
กับส่วนที่สอง ทางเศรษฐกิจ ทีวีดิจิตอลจะมาช่วยเปิดทางน้ำ เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่เคยเป็นเจ้าของสถานีหรือกิจการ นำเสนอเนื้อหาได้มากขึ้น
กับส่วนที 3 ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือประโยชน์ต่อสาธารณะและบริการชุมชน เพราะทีวีดิจิตอลมีคุณสมบัติมากมาย เช่นทำ e-banking (ธุรกรรมทางธนาคาร) , ออกอากาศแบบหลายจอ หรือ multi view ก็ได้
หรือต่อไปถ้าเรามีช่องการศึกษา เราสามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นดิจิตอลใส่ลูกเล่นลงไปในเนื้อหาการสอนให้น่าสนใจมากขึ้น เช่น เราเรียนเรื่องระบบนิเวศน์ของมด,แมลง ก็มี feature ให้เด็กๆ กดดูได้เลย หรือเป็น quiz ให้เด็กเล่นเสริมทักษะ หรือทำอินโฟกราฟฟิกประกอบการสอนให้ง่ายมากขึ้น
แต่ตอนนี้ความจริงและข้อมูลวนอยู่แค่การประมูล หรือ มูลค่าทางการตลาดของช่องธุรกิจอย่างเดียว ยังไม่มีใครพูดถึงโรดแมปตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ได้รับใบอนุญาต
Q : เมื่อพิจารณาจากสภาพปัจจุบันที่เรามีฟรีทีวี (โทรทัศน์ภาคพื้นดิน) ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีจำนวนมากอยู่แล้ว การเข้ามาของโทรทัศน์ดิจิตอลจะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร
ถ้ามองอย่างผิวเผินมากๆ ผมคิดว่าประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยนะจากการมีช่องมากขึ้น ถ้าพูดถึงระบบนิเวศน์ของสื่อปัจจุบัน กลุ่มแรกคือโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่มีผู้ประกอบการกว่า 200 ราย กับ โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกหรือเคเบิล ที่มีกว่า 900 ใบอนุญาตที่ถูกต้อง แค่ 2 กลุ่มนี้ก็มีอัตราครอบคลุม 50 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว
กลุ่มที่ 2 โทรทัศน์ภาคพื้นดิน คืออนาล็อก 6 ช่อง 3,5,7,9,11 และไทยพีบีเอส ที่มีอยู่ 2 ช่องครองส่วนแบ่งโฆษณาเยอะที่สุดประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์จากตัวเลขทั้งหมด 100,000 ล้านบาท
และ กลุ่มต่อมาคือ โทรทัศน์แบบใหม่ นิวมีเดีย คือ มี second screen การดูย้อนหลังผ่านสมาร์ทโฟน แทบเล็ตต่างๆ ส่วนนี้นักวิชาการยังไม่กล้าพอที่จะวิจัยได้ว่ามีอัตราส่วนเท่าไหร่ แต่ปีที่ผ่านมา ซีรีส์ฮอร์โมนทำให้เราเห็นพลานุภาพของ second screen จริงๆ บางตอน 5-7 ล้านวิว (view) ซึ่งคนทำโทรทัศน์กว่าจะทำได้ซัก 100,000 วิวก็ยากมากแล้ว นี่ยังไม่รวมกับการปล่อยreal time และการดูผ่าน application ต่างๆ
สุดท้าย เรากำลังกระโดดสู่ทีวีดิจิตอล ซึ่งเราต้องดูภาพรวมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ว่า มันอยู่ในช่วง over demand over supply หรือเปล่า ยังไม่มีคนตั้งสมมติฐานตรงนี้ และตอนนี้มีหลายสำนักวิจัย เริ่มนำเสนอตัวเลขเรื่องมูลค่าทางการตลาดบ้าง บางสำนักให้ 1 เท่าบ้าง 2 เท่าของมูลค่าประมูล (23,700 ล้านบาท) บ้าง แต่ยังไม่มีใครตอบได้ว่ามูลค่าทางการตลาดนั้นสะท้อนมาจากอะไร หรือเงินส่วนนี้มาจากไหนบ้าง เพราะมันเป็นแค่การทำนาย
คิดตามง่ายๆ ว่าเราเคยมีทีวีอนาล็อก 6 ช่อง บวกกับทีวีดาวเทียมต่างๆ อยู่ดีๆ เรากดสวิทช์ปุ้ง! เพิ่มขึ้นมาอีก 24 ช่อง หมายถึงเราต้องมีการคิดพอสมควร มีหลักการทำงานพอสมควร ถ้าเราไม่คิดมันหมายถึงการทำร้ายอุตสาหกรรมเราเอง เรากำลังเร่งอัตราฟองสบู่ดิจิตอล
Q : ทีวีดิจิตอลของไทย มีลักษณะคล้ายหรือแตกต่างกับทีวีดิจิตอลในต่างประเทศหรือไม่
การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และเป็นรูปธรรมจริงๆ ปี 2000 เป็นต้นมา เราคงไม่สามารถเอาโมเดลทีวีดิจิตอลของประเทศอื่นๆ มาใช้ได้ทั้งหมด ทำได้แค่ถอดบทเรียนนำมาประยุกต์ใช้
ยกตัวอย่างสหรัฐ คนอเมริกันส่วนใหญ่รับเคเบิลและทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิตอลมันจึงไม่จูงใจประชากรมากพอ ขนาดรัฐแจกคูปองสนับสุนค่า Set Top box นะ รวมๆ แล้วสหรัฐใช้เวลา 13 ปีในการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิตอล
ด้านอังกฤษ แพ้ภัยเรื่องการบริหารจัดการ รัฐคิดว่าซื้อคอนเทนต์อะไรมาใส่ได้ ขณะที่เจ้าพ่อมีเดียอย่างรูเพิร์ท เมอร์ดอก เค้าซื้อเนื้อหาระดับพรีเมียร์ลีกมาให้คนดูแล้ว แต่ดิจิตอลทีวีกลับไปซื้อคอนเทนท์ระดับดิวิชั่น 1-2 มา ถามว่าใครจะดู ดังนั้นวิธีบริการจัดการการเงินจึงล้มเหลวภายใน 4-5 ปี ก็ปิดกิจการและเป็นบาดแผลของโทรทัศน์อังกฤษจนทุกวันนี้
อย่างเมืองไทยยังไม่มี authorized dealer ของ Set Top box (กล่องตัวนี้รับสัญญาณดิจิตอลแล้วนำระบบกลับเข้าสู่เครื่องทีวีอนาล็อก) อย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย ให้คูปองซื้อ Set Top box แก่คนที่ยากจนก่อน แต่บ้านเราเลือกใช้โมเดลกระจายคูปองถ้วนหน้า 22 ล้านครัวเรือนเหมือนในสหรัฐ คนอยากได้ก็มี คนไม่อยากได้ก็เยอะ ตรงนี้เป็นปัญหาที่จะตามมาในอนาคต
Q : พฤติกรรมการดูทีวีในประเทศไทยพร้อมหรือยังกับทีวีดิจิตอล
ขอแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกรับนวัตกรรมกันเร็ว ใช้สมาร์ทโฟน แทบเล็ตกันคล่องแล้ว และอีกกลุ่มคือ รับช้าและไม่ได้รับเลย
เอาง่ายๆ สายขาวเหลืองแดง สายแปลงสัญญาณที่เสียบกับทีวี ถามจริงๆ เราเสียบช่องถูกไหม ผมเคยลองเอากล่อง Set Top box ลองให้เพื่อนที่จบปริญญาตรี เล่นไอแพดประจำ เค้าก็ไม่สามารถติดตั้งได้
คำถามคือ เราจะเติมเต็มความพร้อม 2 กลุ่มนี้ได้อย่างไร 1.เราต้องสื่อสารเรื่องทีวีดิจิตอลให้ง่ายและภาษาบ้านๆ กว่านี้ ผมท้าพิสูจน์เลย คุณลองไปแผนกโทรทัศน์ของห้างต่างๆ ข้อแรกเลย คุณจะเห็นโทรทัศน์ทุกยี่ห้อติดป้ายว่ารับโทรทัศน์ดิจิตอลได้หมด แต่ปัญหาคือ มันไม่ใช่
พนักงานอาจจะไม่ได้รับการเทรนมา ก็ไม่มีใครอธิบายได้ บอกแค่ว่าเครื่องนี้เป็นทีวีดิจิตอล แต่พอคนซื้อไปกลับดูไม่ได้
ไม่ค่อยมีใครสื่อสารเลยว่า เครื่องเก่าไม่ต้องทิ้ง หรือเครื่องใหม่ที่ซื้อมาแล้วไม่สามรารถรับทีวีดิจิตอลได้ คุณก็ใช้กล่อง Set Top box สิ ต่อกับทีวีด้วยเอาสายขาวแดงเหลือง หรือสายHDMI แล้วก็จูนเอา
กับโทรทัศน์อีกประเภทที่มี Digital tuner ในตัว ประเภทนี้ไม่ต้องใช้กล่อง แต่ต้องมีสัญลักษณ์เขียนว่า DVB T-2 เท่านั้น
Q : หรือเราไม่จำเป็นต้องมีทีวีดิจิตอลก็ได้ ?
หลายคนบอกว่า เรามีโทรทัศน์ดาวเทียมขนาดนั้นแล้ว มีทั้งดีและไม่ดี ปริมาณไม่ได้บ่งบอกคุณภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นความหวังของสังคมในการเข้ามาของโทรทัศน์ดิจิตอล ผู้มีหน้าที่ดูแลก็ควรควบคุมคุณภาพให้ดีขึ้น แต่มันก็ไม่ได้บอกว่า มันจะควบคุมได้ อย่างปีที่ผ่านมา ฟรีทีวี 6 ช่องมีปัญหาหมด ทั้ง เหนือเมฆ เควอเตอร์ คนค้นคน ตอบโจทย์ แล้ววิธีการในการจัดการขององค์กรที่รับผิดชอบก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม
ขนาด 6 ช่องเรายังทำอะไรไม่ได้ 24 ช่องคิดเหรอว่าจะ handle ได้
ที่สำคัญประชาชนต้องได้รับการปกป้องด้วยเหมือนกัน และควรมีส่วนบริหารจัดการได้ด้วย
ถามว่าจำเป็นไหม ในแง่เศรษฐศาสตร์ทีวิดิจิตอลมีความจำเป็น แต่เราต้องใช้คลื่นความถี่ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ถามว่า ตุลาคมปีที่แล้ว ชีวิตเกาะเรื่อง 3G แต่ตอนนี้มี 3 G แล้ว ถามว่าต่างกันไหม คุณภาพไม่ต่าง ราคาไม่ลด แถมจะอัพงานหรือดาวน์โหลดอะไรต้องกลับมาบ้านเปิดไวไฟเหมือนเดิม
ทีวีดิจิตอล 24 ช่องก็เช่นกัน เม็ดเงินที่ทุ่มไป มันมีประโยชน์จริงใช่ไหม มันเป็นวิธีกระจายโอกาสจริงๆ ใช่ไหม เรามีมาตรการรองรับกิจการล้มหรือไม่
ทุกวันนี้ ผู้มีอำนาจกำกับดูแลทำหน้าที่เหมือนธุรการ ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์มากกว่าการเคาะเงินประมูล คุณมีโรดแมพการเปลี่ยนผ่านอย่างไรใน 15 ปี เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของชาติ
Q : ตอนนี้เรายังมีองค์ความรู้ไม่พอและไม่พร้อมต่อทีวีดิจิตอล ?
เรามีราคาตั้งต้น 50,000 กว่าล้านบาท และคนที่ให้บริการโครงข่ายก็ต้องลงทุนรายละ 2,000 กว่าล้าน มีทั้งหมด 4 เจ้า 5 โครงข่าย ไม่ต่ำกว่า 8,000-10,000 ล้าน รวมแค่นี้ก็ 60,000 กว่าล้านแล้ว
ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะมีฮาร์ดแวร์อย่าง กล่องรับ-แปลงสัญญาณโทรทัศน์ การ์ดนำเข้าข้อมูลต่างๆ ฯลฯ ยังไม่มีใครประเมินมูลค่า รวมถึงกระบวนการโปรดักชั่นทั้งหมด สตูดิโอ บุคคลากร รวมๆ แล้วเราลงทุนกับสิ่งนี้แสนกว่าล้านบาท
ในแง่กิจการสาธารณะ ถ้าเราลงทุนแสนกว่าล้านบาท นี่ยังไม่รวมโทรทัศน์สาธารณะกับโทรทัศน์บริการชุมชนนะ มันต้องมีอะไรตอบแทนกลับเข้ามาในระบบ ไม่ว่าคุณจะเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจ๋า หรือ เป็นโซเชียลลิสต์ ทุกฝ่ายต้องตอบคำถามและมีคำถาม และมีเป้าหมายว่าถ้าเรามีเปลี่ยนไปสู่โทรทัศน์ดิจิตอล มันต้องมีอะไรตอบแทนกลับมายังสังคม ถ้าคุณบ้าวอลุ่ม ก็ต้องชี้ให้ได้ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะกลับมาเท่าไหร่ ถ้ามีเป้าหมายทางสังคม หรือ social gain ก็ต้องตอบให้ได้ แต่ตอนนี้เหมือนกับเราอยากมี เพราะเราอาจจะติดกับความเชื่อเก่าๆ ว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด แต่ปัจจุบัน พวกลิเบอรัลด์จ๋าๆ บอกว่าคลื่นความถี่ไม่ได้มีจำกัดแล้วนะ และถ้าเรามีศึกษาดีๆ คลื่นความถี่ที่เราย้ายจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล จะมีคลื่นความถี่ที่ว่าง ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกเยอะมาก
ด้วยความคิดอย่างนี้เราเลยมีความเชื่อและมีวิธีการจัดการว่า ล็อตแรกเราต้องเปิดให้มากที่สุด ผมไม่ได้วิจารณ์ว่าผิดหรือถูก แต่มันท้าทายว่า ในบางประเทศเค้าใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป เป็นเฟสๆ ไป เช่น อังกฤษ เค้าให้เป็นเฟส 1,2,3,4 แต่ไทยเราให้พรึ่บ ครั้งเดียวเลย 24 ช่อง
ตอนนี้เราเชื่อมั่นตรงนี้และทุกเรื่องมัน set zero ไม่ได้ ถ้าเราปล่อย 24 ช่องไปในระยะเวลา 15 ปี คำถามคือจะมีโรดแมพอย่างไร เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างไร หรือ โทรทัศน์สาธารณะและชุมชนจะให้ประโยชน์แก่สังคมจริงจังได้อย่างไร บนเงื่อนไขว่าจะอยู่รอดอย่างไร
ทั้งหมดนี้เราอย่ามองอย่างผิวเผิน อย่ามองว่าโทรทัศน์ดิจิตอลมันดีอย่างโน้นอย่างนี้ ปัญหามันคือ วิธีคิด ระบบจัดการ ใน 15 ปี ต้องคิดในเชิงโครงสร้างใหญ่ , เทคโนโลยี , เงิน , นโยบาย อย่ามองโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นแฟชั่นว่าประเทศอื่นมี เราต้องมี
Q : มีอะไรรับประกันได้ว่าต่อไปทีวีดิจิตอลจะไม่ขายปริมาณมากกว่าคุณภาพ
พูดในแง่ดี ผมเชื่อว่า คนเราเกิดมาใฝ่ดี แต่มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เราเฉไฉ ผมไม่เชื่อว่าสิ่งเลวๆ มันจะออนแอร์ได้ยั้งยืนยงตลอด ทีวีดาวเทียมหลายช่องปิดกิจการไปเรียบร้อย และหลายช่องตีฟองสบู่หลอกเงินไปวันๆ ดังนั้นความยั่งยืนของทีวี มันต้องสู้กันด้วยคุณภาพ คอนเทนท์ และแบรนด์
ตอนนี้คนที่ประมูลทีวีดิจิตอลได้ มีบิ๊กเซอร์ไพรส์แค่ 2-3 เจ้าเท่านั้น เค้าเองมีกลุ่มคนดูอยู่แล้ว ฉะนั้นประชาชนเป็นคนตัดสินจริงๆ
แต่สิ่งที่ผมกลัว maximize profit พยายามหารายได้มาหักลบกลบหนี้ที่ลงทุนไป อย่าง HD ยังไม่ได้ลงอะไรเลย 40 ล้านแล้ว หมายความว่าวันหนึ่งเค้าต้องมีเงินอย่างน้อย 1 ล้าน ยังไม่รวมค่าจ้างพนักงาน ค่าอี่นๆ เลยนะ หลายช่อง maximize profit ด้วยวิธีการต่างๆ แล้วอีกไม่นานเราก็จะกลับไปวังวนเดิมเช่น สื่อไม่มีจริยธรรม โฆษณาบ้าเลือด ช่องเด็กเต็มเต็มไปด้วยโฆษณาขนมหวานน้ำอัดลม ล้วงเงินจากกระเป๋าพ่อแม่ ฯลฯ เฉพาะช่องเด็กมูลค่าประมูลรวมกว่า 600 ล้าน ถึงแม้ใจคนทำอยากมีธุรกิจสีขาว แต่เค้ามีต้นทุนขนาดนี้จึงต้องทำทุกวิถีทาง บางทางอาจเหลื่อมล้ำหรือหมิ่นเหม่
ในอีกขาเราต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา เพราะนอกจากจะต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อประมูลใบอนุญาตแล้วเขาเองก็ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วย
Q : อีก 5 ปีข้างหน้ารูปแบบการดูทีวีและตลาดทีวีดิจิตอลจะเป็นอย่างไร
เจ้าหลักที่เรารู้จัก เขาเข้ามาทีวีดิจิตอลอย่างที่เรารู้กันแล้ว เค้าแค่เมิร์จ (รวม) แพลตฟอร์มทั้งหมดที่มีเข้าไว้ด้วยกัน ถ้าพูดเฉพาะทีวีดิจิตอล 5 ปีแรกเป็นช่วงเรอเนสส์ซอง คือ ทุกอย่างทำใหม่ ตื่นตัว โปรดักชั่นเฮาส์เฟื่องฟู เงินไหลเข้ามาเยอะ แต่ใต้ฐานของเรอเนสส์ซอง จะมีฟองสบู่ซ่อนอยู่ หมายความว่า ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหรือเปล่า อย่างตอนนี้ เท่าที่สำรวจตลาดในวงการโปรดักชั่นเฮาส์ ค่าเช่ากล้องแพงขึ้น ค่าตัวต่างๆ แพงขึ้น ด้วยเหตุผลแค่ว่าจะไปโทรทัศน์ดิจิตอลแล้ว
เราต้องมีมาตรวัดคือระบบเรทติ้งที่จะสะท้อนภาพจริงของประเทศนี้ ราคาโฆษณาจะช่วยสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างชัดเจน เพราะถ้าเราฟองสบู่ทุกเรื่อง สักวันภาระที่แบกอยู่ก็หนักเกิน เกิดภาวะไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย
ด้านพฤติกรรมคนดู จะเป็น 2 แบบเหมือนเดิม คือคนทีไม่รับ/รับช้า กับคนรับเร็วอยู่แล้วก็จะรับเร็วมากขึ้น จะมี second screen มากขึ้น ดูย้อนหลัง ผ่านแอพ และข้ามแพล็ตฟอร์มมากขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนสำคัญที่สุด ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่คือแบรนด์ ยกตัวอย่างรายการเล่าข่าว ต่อให้เปลี่ยนช่องทาง แต่มีกลุ่มคนดูอยู่แล้ว เขาก็สามารถไปสู่แพลตฟอร์มไหนก็ได้ ยังไงก็เป็นแบรนด์นั้นอยู่ดี เทคโนโลยีเป็นแค่พื้นฐาน ดิจิตอลเป็นเพียงการเปิดประตูน้ำไปสู่มหาสมุทรเท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็ได้แต่ไหลเอื่อยๆ วนๆ อยู่แค่ทีเดียว
…………………………………………………….
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ 5Qs นิตยสาร Way ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2557)