ด้วยสรีระร่างกายทำให้ผู้มีเพศกำเนิดหญิงมีข้อจำกัดบางประการในด้านสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นการมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ ฯลฯ ซึ่งในสภาวการณ์ปกติในบางพื้นที่ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตเท่าไรนัก เราต่างรับรู้ร่วมกันว่าสิ่งนี้กระทบต่อวิถีชีวิตแน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรง ผู้หญิงคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักทางด้านสุขอนามัย
หลังจากภัยพิบัติทุเลาลง แต่ปัญหาไม่ได้หายวับไปตามกัน เศษซากปรักหักพังของความรุนแรงและความเสียหายยังคงอยู่ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจถ่างกว้างขึ้น ปัญหาใหม่ๆ ก่อตัวจากปัญหาเก่าที่รัฐเพิกเฉย ตอกย้ำให้ความเหลื่อมล้ำยังคงปรากฏ
ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมหนักในปีนี้ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ แม้ประเทศไทยจะมีบทเรียนมานักต่อนัก แต่การจัดการของรัฐยังคงทุลักทุเลเหมือนไม่เคยผ่านเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน และในความเสียหายอันหนักหน่วงนั้นก็มีมิติทางเพศซุกซ่อนอยู่เช่นกัน
ภายในงาน ‘15th AWID International Forum 2024’ ที่จัดในประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นานาประเทศรวมตัวกันบอกเล่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในมิติต่างๆ อย่างเข้มข้น สองเท้าพาเดินเข้าไปสอดส่องทำความเข้าใจกับปัญหาด้านภัยพิบัติของประเทศเนปาล พวกเขายินดีบอกเล่าปัญหาให้ฟัง พร้อมกับหยิบยื่นชุดข้อมูลการจัดการที่พวกเขาต่างคาดหวังว่า นี่คือทางออกของปัญหาเรื่องผู้หญิงกับภัยพิบัติ
อีกทั้งยังมีเสียงสะท้อนของชนเผ่าพื้นเมืองทางภาคเหนือของไทยที่ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่เผชิญในพื้นที่อีกด้วย
บทเรียนจากเนปาล: หยุดวิธีคิดเหมารวมในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ
เนปาลติดอันดับ 20 ประเทศที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติหลายรูปแบบมากที่สุดในโลก ประชากรส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ความถี่ในการเกิดเหตุค่อนข้างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นในทุกๆ ครั้ง ซึ่งหน่วยงานระดับท้องถิ่นไม่สามารถรับมือกับปัญหาเชิงกายภาพและปัญหาด้านมนุษยธรรมได้ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของกลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
ข้อมูลจาก Care Nepal ระบุว่าโดยทั่วไปแล้วการตอบสนองต่อภัยพิบัติมักจะอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบปิตาธิปไตย คิดแบบเหมารวม ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการเฉพาะ มองข้ามผลกระทบของผู้หญิง เด็ก (โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง) วัยรุ่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ผู้ปฏิบัติงานระดับท้องถิ่นในเนปาลไม่ถูกยอมรับจากประชาชนในแง่ของการปฏิบัติงานแบบมีธรรมาภิบาล หลักมนุษยธรรม อีกทั้งยังมีทรัพยากรและศักยภาพขององค์กรที่จำกัด ทั้งหมดเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อกลุ่มเปราะบางอย่างแท้จริง
แพลตฟอร์มความร่วมมือด้านมนุษยธรรมของแคร์ (CARE’s Humanitarian Partnership Platform) หรือ HPP รวบรวมกลุ่มพลเมืองที่เป็นตัวแทนคนชายขอบ มุ่งเน้นผู้ที่มีความเปราะบางในมิติต่างๆ บนแพลตฟอร์มที่จัดตั้งขึ้นอันมีเป้าหมายเพื่อการประสานงานและตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็ว เน้นย้ำการมีส่วนร่วมขององค์กรที่ถูกมองข้ามในเนปาล เช่น องค์กรตัวแทนของผู้หญิง กลุ่มวรรณะต่ำทางสังคม กลุ่มผู้พิการ กลุ่ม LGBTQIA+ กลุ่มที่มีวิถีชีวิตอยู่กับผืนป่า และกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ในกระบวนการจัดการภัยพิบัติที่นำโดยท้องถิ่น
สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือ พวกเขาใช้วิธีสร้างความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ โดยพัฒนาให้ผู้ปฏิบัติงานท้องถิ่นมีทักษะที่เหมาะสม มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำ และสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่น
พวกเขาตั้งใจทำให้ปัญหาถูกมองเห็นในระดับสาธารณะ เพื่อใช้เครื่องมือที่เป็นไปได้ในการลดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด และผลักดันไปสู่นโยบาย
นอกจากนี้ข้อมูลจาก Care Nepal ยังระบุอีกด้วยว่า ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ HPP ยังมีแนวทางเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้หญิงมีบทบาทความเป็นผู้นำ (Women Lead in Emergencies: WLIE) เข้าไปด้วย
การเพิ่มบทบาทของผู้หญิงเข้าไปในกลไกการตอบสนองด้านมนุษยธรรมในท้องถิ่น ช่วยได้มากกับการรับมือปัญหามิติทางเพศ สามารถแก้ไขปัญหาที่เคยถูกมองข้ามได้ ทั้งความต้องการเฉพาะทางเพศ การไม่ละเลยคนชายขอบ และกลุ่มที่มีความเปราะบางกลุ่มต่างๆ
การผนวกเรื่องเพศเข้าไปกับการจัดการ ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความเข้มแข็งของท้องถิ่นหรือพื้นที่นั้นๆ
นี่เป็นความพยายามกระชับช่องว่างความเหลื่อมล้ำจากปัญหาภัยพิบัติ และพยายามหยุดวงจรการปฏิบัติงานที่เหมารวมทางเพศ ละทิ้งความละเอียดอ่อนในการรับมือหรือแก้ปัญหา
เสียงสะท้อนจากชนพื้นเมือง ผู้ประสบภัยที่ถูกลืมในพื้นที่ภาคเหนือ
ในกรณีของประเทศไทย แน่อนว่าไม่จำเป็นต้องทำตามวิธีการที่หยิบยกมาข้างต้นทั้งหมด แต่มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องสร้างกระบวนการรับมือและเยียวยาอย่างมีส่วนร่วม
รัฐควรเปิดต่อมรับรู้ปัญหาอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมาเรามีวิธีการมองปัญหาแบบเหมารวม กลุ่มผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ ไม่ถูกพูดถึงในสมการ วิธีคิดในการแก้ปัญหามักมุ่งไปที่ปลายเหตุ และไม่เคยมีแผนการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติที่พยากรณ์ได้
“น้ำท่วมภาคเหนือปีนี้ท่วมหนัก แต่เราไม่ได้รับการเยียวสักบาทเดียว เพราะพี่น้องเราไม่มีสัญชาติ ผู้หญิงกับเด็กก็ลำบากกันมาก เพราะต้องแบกรับภาระงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง”
เสียงจากชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนร่วมแบ่งปันในเวทีระดับนานาชาติครั้งนี้ เธอเพิ่งได้รับสัญชาติเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่เกือบทั้งหมดในชุมชนของเธอยังคงไร้สัญชาติ ซ้ำร้ายยังไร้การเหลียวแล
คำกล่าวที่ว่าผู้หญิงถูกปลดปล่อยจากงานบ้านไม่เป็นจริง อย่างน้อยก็มีรูปธรรมให้เห็นอย่างชนเผ่าพื้นเมืองรายนี้ ภาระรับผิดชอบงานบ้าน การดูแลผู้สูงอายุ และเด็ก ยังคงเป็นหน้าที่หลักของผู้หญิงชนเผ่า เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจพาตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยงได้อย่างยากลำบาก
ระหว่างนั้นก็ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาวะ อนามัยเจริญพันธุ์ ในระหว่างมีประจำเดือนผู้หญิงชนเผ่าใช้ผ้าอนามัยได้เพียงวันละ 1 แผ่น บางคนใช้ 3 แผ่น ต่อการมีรอบเดือน 1 ครั้ง
หลังน้ำลด ทรัพย์สินสูญหาย อนาคตเด็กหญิงก็สูญหายเช่นกัน ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองอีกคนเล่าว่า เด็กผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่าเด็กผู้ชาย ด้วยรายได้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ผู้ปกครองจึงเลือกให้เด็กผู้ชายได้เรียนต่อ และให้เด็กผู้หญิงอยู่บ้านทำงานช่วยเหลือครอบครัวต่อไป ซึ่งนั่นทำให้เด็กผู้หญิงเสี่ยงถูกบังคับให้แต่งงานในเวลาต่อมา
คำบอกเล่าเรื่องราวของตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองทางภาคเหนือ รวมถึงบทเรียนประประเทศเนปาล ฉายภาพปัญหาภัยพิบัติที่ทับซ้อนอยู่กับเรื่องเพศ เรื่องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิมนุษยชน ยิ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐยังเพิกเฉยต่อการจัดการทางกฎหมายและนโยบาย ปัญหาหลายอย่างคาราคาซังไม่จบสิ้น
สิ่งเหล่านี้เป็นข้อท้าทายที่รัฐต้องเร่งจัดการ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อตอบสนองต่อปัญหาให้ได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ