วิทยากร โสวัตร: น้ำลดตอผุด วิกฤต ‘น้ำท่วมอุบลฯ’ ซ้ำซาก กับการแก้ปัญหาของรัฐที่ถอยหลังลงคลอง

ปลายเดือนกันยายน 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่าพายุไต้ฝุ่นโนรู (NORU) ได้เคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้ตอนกลางและพัดเข้าสู่ประเทศไทย แม้จะอ่อนกำลังจนกลายเป็นแค่พายุดีเปรสชันในประเทศไทย แต่พละกำลังของโนรูก็ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนเกิดเหตุอุทกภัยเป็นวงกว้างและสร้างความเสียหายในระดับที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดอุบลราชธานีคือหนึ่งในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมหนักในครั้งนี้

หากมองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ของภัยพิบัติในประเทศไทย ก็จะพบว่า ‘น้ำท่วมอุบลฯ’ เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่ารัฐไทยจะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไปกี่คนก็ตาม 

แม้ประชาชนจะถูกฝึกฝนประสบการณ์ให้พร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ทักษะเดิมที่เคยมีก็ไม่เพียงพอที่จะจัดการกับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือความบกพร่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับคนในพื้นที่ แต่ยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลเองก็ไม่อาจรับมือกับอุทกภัยได้ดีขึ้นกว่าในอดีตเลย

ซ้ำร้าย เมื่อน้ำที่เคยท่วมเริ่มแห้งลง ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็โผล่ขึ้นมาแทนที่

การเก็บกวาดซากความเสียหายจากพายุโนรูกลายเป็นภาระใหญ่ของคนในพื้นที่ซึ่งแทบไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นั่นทำให้ เจี๊ยบ-วิทยากร โสวัตร นักเขียนและเจ้าของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ตัดสินใจปิดร้านเพื่อมาช่วยเหลือชาวบ้านในจังหวัดอุบลราชธานีอีกครั้ง หลังจากที่เคยเข้าร่วมอาสาล้างบ้านกับมูลนิธิกระจกเงาในเหตุการณ์น้ำท่วมอุบลฯ เมื่อปี 2562

เปรียบเทียบสถานการณ์อุทกภัยที่อุบลฯ ปีนี้กับครั้งที่ผ่านๆ มา มีความแตกต่างกันอย่างไร และครั้งไหนหนักกว่ากัน

เท้าความก่อนว่า เราเห็นน้ำท่วมจริงจังครั้งแรกในอุบลฯ ก็ตอนปี 2545 ตอนนั้นเรายังเป็นนักศึกษาปี 5 เข้ามาเรียนที่อุบลฯ อยู่ในช่วงสอบไฟนอลของเทอมแรก พอเทอมสองต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ในช่วงปี 2546 มันจะมีช่วงหนึ่งที่ได้กลับมาเยี่ยมแฟนที่อุบลฯ เราก็เจอน้ำท่วมอีกครั้ง แต่ไม่หนักเท่าปี 2545 น้ำท่วมเข้าใต้ถุนบ้านชาวบ้าน แล้วมันก็ท่วมยาวไปถึงบ้านเราที่กาฬสินธุ์เลย

ย้อนไปก่อนหน้านั้นอีก สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ เขาเจอน้ำท่วมใหญ่จริงๆ ปี 2521 รอบนั้นเกิดความเสียหายหนักที่สุด ทีนี้พอถึงปี 2562 ก็เกิดน้ำท่วมอีก เราได้อยู่ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นด้วย ซึ่งต้องบอกว่ามันหนักกว่าเมื่อปี 2545 และ 2546 มาก เป็นรองแค่ปี 2521 เท่านั้น แต่พอปีนี้ มันท่วมมากกว่าปี 2562 อีก สถานการณ์มันย่ำแย่จนเกือบจะเทียบเท่ากับปี 2521 ถ้าอธิบายให้เห็นภาพชัดๆ คือ ปี 2562 ปริมาณน้ำท่วมสูงถึงพื้นชั้นสองของบ้าน แต่ในปี 2565 กับบ้านหลังเดียวกัน น้ำท่วมจนถึงเพดานหลังคา

ถ้าเทียบจากประสบการณ์ที่เราได้อยู่ในสถานการณ์น้ำท่วม สิ่งที่ต่างกันในปี 2562 กับ 2565 คือเสียงสะท้อนจากสังคม คือเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าธรรมชาติของมนุษย์ เขาจะแสดงตัวตนก็ต่อเมื่อมันเป็นกระแส อย่างคนเราอยากทำบุญก็ต่อเมื่อวัดนั้นมันมีกระแสใช่ไหม หรือดาราคนนี้เป็นกระแสในรายการอะไรสักอย่าง ทำให้เราอยากไปเข้าร่วมกับเขา

ปี 2562 เหตุการณ์น้ำท่วมอุบลฯ ได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศจนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ปีนั้นเราก็ตระเวนไปอยู่จุดต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งปีนั้นมีการปักหมุดจุดรับบริจาคเพื่อแจกจ่ายของบริจาคให้ชาวบ้าน เราพยายามเอารถเข้าไปเพื่อจะช่วยงานเขา เราก็เจอกับรถเทรลเลอร์ที่มาขนของเทของบริจาคจำนวนมากจนแทบหยิบจับของกันไม่ได้ เลยตัดสินใจขับรถไปช่วยในพื้นที่ที่ไม่มีใครเข้าไปดูแล คือโซนอุบลฯ ที่ติดกับศรีสะเกษ

พอปี 2565 ปัญหาน้ำท่วมมันไม่เป็นกระแส แทบไม่มีความช่วยเหลือมาถึงที่นี่เลย อย่าว่าแต่โซนรอยต่อจังหวัด เอาแค่ในอุบลฯ เอง เราขับรถไปส่งลูกเรียน ยังไม่เห็นรถเทรลเลอร์เลยแม้แต่ในจุดสำคัญก็ตาม มันอาจจะมีก็ได้ แต่เราไม่เห็นจริงๆ ตอนที่เราเห็นรถเทรลเลอร์ถี่มากๆ หลังน้ำท่วมคือมาจากมูลนิธิกระจกเงา เราเป็นคนช่วยเขาถ่ายของลงจากรถอย่างน้อย 2-3 ครั้ง แล้วเมื่อคืนเราก็เอาของที่คัดไว้ไปแจกชาวบ้าน ซึ่งไม่มีใครทำสิ่งนี้เลยนอกจากมูลนิธิกระจกเงา นี่คือเฉพาะเรื่องของการช่วยเหลือนะ

สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันระหว่างปี 2562 กับ 2565 ก็คือ หลังน้ำลด ทุกอย่างจบ เหมือนทุกคนได้สำเร็จความใคร่ในการช่วยคนช่วงน้ำท่วม พอเห็นน้ำท่วมหลังคาก็เอาของบริจาคมาเทให้ คิดว่าแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว แต่ปัญหาหลังจากน้ำลดคือชาวบ้านยังกลับเข้าไปอยู่ในบ้านไม่ได้เลย เพราะดินโคลนที่มากับน้ำได้ทิ้งตะกอนเอาไว้ ทำให้บ้านลื่นและขึ้นรา ซึ่งพอถึงเวลานั้นมันไม่มีใครมาช่วยจัดการแล้ว พอน้ำลดก็เปิดตูดกลับกันหมด

ตอนปี 2562 เราเองก็ไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ช่วงหลังน้ำท่วมนะ จนมูลนิธิกระจกเงาเข้ามา เราถึงได้เรียนรู้จากเขา ได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง สภาพหลังน้ำท่วมมันเหมือนกับหนังสงคราม คือเราจะเห็นว่าในหนังสงครามมันบอมบ์กันจนฝุ่นตลบ ถ้าคุณมาอุบลฯ ตอนนี้นะ ผมจะพาไปดูจุดที่น้ำท่วมเลยว่ามันไม่ต่างกับฉากในหนัง ในพื้นที่มีสนิมเขรอะ สีมันคล้ายคราบเขม่าปกคลุมไปทั่ว ไหนจะความเน่าของซากสัตว์ที่ตายตอนน้ำท่วมอีก ตอนนี้ที่บ้านของชาวบ้านก็มีฝุ่นเขรอะ เป็นคราบที่เกิดขึ้นหลังน้ำแห้ง มีสนิม มีกลิ่นเน่าจากผ้า อาหาร ข้าวสาร อะไรที่หมักหมมอยู่ในน้ำมาเดือนกว่าจนเน่า แล้วก็มีเชื้อราขึ้นเต็มไปหมด

การจัดการพื้นที่หลังน้ำท่วม ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากส่วนกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้าง

ปีนี้เรารับความช่วยเหลือจากกระจกเงาเป็นหลัก เพราะน้ำท่วมเมื่อปี 2562 มันไม่มีหน่วยงานราชการมาช่วยชาวบ้านจัดการเลย ชาวบ้านต้องขนขยะกันเอง ทั้งของเน่า ผ้า ฟูกที่มันจมน้ำ บางคนขนไม่ไหว เราก็ไปช่วยเอามากองไว้บนถนนหน้าบ้าน นั่นเป็นปัญหาใหญ่ของปี 2562 แต่ปีนี้มีคนในพื้นที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เขาเลยประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุข อำเภอวารินชำราบ เพื่อขอให้มาทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคม เราเลยได้รถเทศบาลมาเก็บขยะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาก็ติดต่อบริษัทคูโบต้า ให้นำรถมาตักขยะใส่รถขนขยะของเทศบาลเพื่อไปทิ้ง

ปีนี้ดีมากตรงที่เราได้รับความช่วยเหลือเรื่องการจัดการขยะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ปี 2562 แม่งต้องจ้างนะเว้ย สมมุติอย่างอาคารสูงในโรงเรียน มันต้องใช้รถน้ำมาฉีดน้ำบนเพดาน หรือบนถนนที่เราขนของมาแล้ว เราก็ต้องการฉีดให้มันไม่มีกลิ่น แต่วันนั้นดันเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ พอเราติดต่อประสานงานไปยังเทศบาล เขาบอกว่าเราต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้เขาเป็นค่าโอทีนอกเวลา เพราะข้าราชการหยุดงานเสาร์-อาทิตย์ แต่คือเชื้อโรคมันไม่หยุดด้วยไง ปากท้องชาวบ้านก็ไม่หยุด นี่คือระบบที่มันประหลาด

นอกเหนือจากตรงนั้น หลังน้ำท่วมปี 2562 ชาวบ้านเริ่มเข้าใจการจัดการบ้านของตัวเองมากขึ้น ปี 2565 นี้ชาวบ้านเริ่มล้างบ้านเองเป็น รู้ว่าต้องใช้น้ำยาแบบไหน ทำอะไรแบบไหน ปีนี้ตอนเราจะเข้าไปช่วยล้างบ้านให้เขา ก็พบว่าชาวบ้านในพื้นที่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เขาล้างเองไปบ้างแล้วก่อนเราไปถึง ซึ่งก็ทำให้อาสาสมัครทำงานได้เร็วขึ้น ส่วนนักกิจกรรมในพื้นที่ เรายังไม่เห็นใครเข้ามาทำอาสาฯ เลย แปลกมากนะ ถ้าจะมีก็เป็นพวกเครือข่ายสสส. หรือเครือข่ายราชการ เขาก็จะไปล้างให้ รพ.สต. โรงเรียน ศาลาวัด ซึ่งในมุมมองผมคือ ลำดับความสำคัญมันน้อยกว่าการล้างบ้านให้คนอยู่ เพราะวัดใหญ่ๆ มีศาลาอย่างใหญ่ ไม่รู้กี่ร้อยเมตร แต่มีพระองค์เดียว แล้วศาลาเขาก็ไม่ได้ใช้

การเข้าเคลียร์พื้นที่ในปีนี้ยากขึ้นแค่ไหน แล้วต้องทำอะไรบ้าง

ต้องบอกก่อนว่าขั้นแรกก่อนทำงาน ชาวบ้านเขาต้องไปเรียกร้องให้ ปภ. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) มาสูบน้ำออกจากบ้านให้นะ เพราะเทศบาลวารินชำราบไม่มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เครื่องมือที่มีก็ไม่พอที่จะใช้สูบมวลน้ำมหาศาลออก ถ้าไม่สูบออก เราจะเข้าไปล้างบ้านไม่ได้ แต่ ปภ. ก็ไม่มาทำให้ สุดท้ายมูลนิธิกระจกเงากับอาสาสมัครที่เป็นคนในพื้นที่เลยต้องไปช่วยทำเรื่องให้ จน ปภ. ยอมมาสูบน้ำออก นี่คือปัญหาในขั้นเริ่มต้นเลย

ถ้าถามถึงความยาก มันยาก 3 ระดับ ระดับแรก เรื่องนี้มันไม่เป็นกระแส ทั้งที่มันท่วมหลายพื้นที่ บวกกับเศรษฐกิจแย่มาก รัฐบาลหาเงินไม่เป็น คนก็บริจาคกันน้อยลง คนที่จะมาเป็นอาสาสมัครก็น้อยลงอีก ทีนี้มันยากตรงที่ว่าทีมงานกระจกเงาเองก็มีน้อย นี่ขนาดพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) คัดคนที่เป็น specialist ที่เป็นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่าจากเชียงรายมาช่วยล้าง พวกนี้คุ้นเคยกับเครื่องมือและการเข้าไปในพื้นที่ภัยพิบัติเป็นอย่างดี แต่พอจำนวนคนมีน้อย กำลังในการทำงานมันก็เลยไม่พอ

พอเป็นอย่างนั้น เราจึงต้องเลือกเคสที่จะเข้าไปช่วยคือ หนึ่ง ผู้ป่วยติดเตียง บ้านที่มีคนแก่ติดเตียง ซึ่งต้องดูอีกว่าผู้ป่วยนั้นมีญาติอยู่ด้วยกี่คน เราจัดลำดับความสำคัญอันดับแรกให้กับผู้ป่วยที่มีคนอยู่ด้วยน้อยและคนดูแลเองก็อายุมาก พอได้เข้าไปล้างบ้าน เราค้นพบว่าผู้คนในชุมชนแออัดและชาวบ้านถูกปล่อยปละละเลย อุบลฯ มีผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมากที่โรงพยาบาลรับดูแลไม่ได้ แม้แต่สาธารณสุขจังหวัดก็อาจไม่รู้ข้อมูลทั้งหมดนี้

เคสที่สอง ดูว่าครอบครัวนั้นเป็นคนยากจนมากมั้ย นอกจากยากจนแล้วก็ต้องมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่รองรับว่าควรเข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วนแค่ไหน เราต้องพิจารณาถี่ถ้วนมากๆ ตอนนี้มีคิวที่โทรมาขอให้ไปช่วยไม่หวาดไม่ไหว แต่ก็ต้องเข้าคิวอีกนาน ฉะนั้นเรารู้ว่าเรามีเวลาจำกัด มีแรงงาน เครื่องมือจำกัด ต่อให้มีมือดีมาช่วยเราก็ต้องคัดสรรเคส ถามว่าเราเจ็บปวดไหมที่ต้องทอดทิ้งเคสที่เหลือ เจ็บปวด แต่เราทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ เราเต็มที่ที่สุดแล้ว

ปัญหาระดับที่สอง คนในอุบลฯ ก็ยังเหมือนเดิม อย่าว่าแต่ทางการเลย เอาแค่นักกิจกรรมสายการเมืองก็ไม่เห็นสักคน อันนี้ไม่ได้เรียกร้องนะ แต่จากช่วงที่ผ่านมาก็ได้ลองตั้งข้อสังเกตว่านักกิจกรรมรุ่นนี้ โดยเฉพาะนักกิจกรรมทางการเมืองฝ่ายก้าวหน้า เขาแตกต่างจากรุ่นเรามาก รุ่นเราไม่ได้อิดออดกับงานใช้แรงเลย แต่รุ่นนี้ยังยืนเตร่กันแถวนี้เยอะแยะ แต่ไม่มีใครสักคนเข้ามาช่วย นี่เป็นเรื่องประหลาด

เราคิดว่าถ้าคุณยังเป็นแบบนี้อยู่ ฝ่ายการเมืองประชาธิปไตยเราจะด้วนลง เพราะเชื่อมโยงกับฐานมวลชนรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่ได้ ประชาชนจะกลายเป็นนามธรรมทันที นี่คือข้อเสีย คุณอาจจะบอกว่า ‘ฉันไปประท้วงไง’ เฮ้ย ไปประท้วงมันเป็นอีเวนต์ เราไม่ได้ดูถูกหัวใจคุณนะ เพราะเราก็ไป แต่การลงแรงเพื่อซึมซับสิ่งนี้ เห็นปัญหานี้ แล้วก็ได้หัวใจของชาวบ้าน มันจะไม่มีจุดเชื่อมโยงได้ถ้าคุณไม่มาลงมือทำเอง

เมื่อมันถ่างออกมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือในอนาคตเราจะเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ได้ เชื่อมโยงปัญหาจริงกับนโยบายหรือความคิดเราไม่ได้ พูดแบบนี้เขาอาจจะด่าผมนะ จริงอยู่ที่ฝ่ายก้าวหน้าต้องพูดถึงโครงสร้าง แต่ถ้าคุณเห็นคนดิ้นตายอยู่ต่อหน้า คุณจะไม่ช่วยเหรอ

ในขณะที่เราต่อสู้เรื่องโครงสร้าง ถ้าเราแบ่งกำลังมาช่วยกระจกเงา เราจะเพิ่มการช่วยเหลือจาก 6 หลัง เป็น 10-20 หลัง ได้ในหนึ่งวัน นี่เห็นเป็นรูปธรรมเลย เพราะงั้นถ้าคุณบอกว่าผมเป็นฝ่ายก้าวหน้า ผมจะบอกว่า ผมเป็นฝ่ายก้าวหน้าแต่อาจจะคนละสปีชีส์กับคุณ อันนี้เราไม่เรียกร้องฝ่ายอำนาจนิยม เพราะเขาก็ล้างศาลาวัดไป เราไม่ว่ากัน เขาก็ทำของเขา มีจุดยืนของเขา

ส่วนฝ่ายพรรคการเมืองอาจจะมีกฎหมายบังคับไว้ว่าห้ามช่วย เพราะจะมีปัญหาทางกฎหมาย แต่เขาเองก็ไม่มีจิตสำนึก ไอเดีย หรือสติปัญญาเพียงพอที่จะผันคนของเขามาช่วยเรา คือถ้าอย่างนักการเมืองเขาจะมีทีมงานที่เห็นอยู่หน้าสื่อ 4-5 คน แต่จริงๆ แล้วในเชิงปฏิบัติมันก็มีคนที่คอยช่วยอยู่เป็นร้อย แล้วคนที่เหลืออยู่อีก 90-95 คนนั้น คุณแบ่งกำลังเขามาช่วยชาวบ้านไม่ได้หรือไง

ปัญหาระดับที่สาม ปีนี้น้ำท่วมเยอะและนาน ทำให้มีตะกอนตกค้างอยู่เยอะมาก เราต้องทำงานหนักกว่าปี 2562 เทียบกันเลยว่าถ้าเรามีแรง 10 ส่วน ขัดบ้านปี 2562 เราออกแรงแค่ 3 ส่วน ผนังก็สะอาดแล้ว แต่ปีนี้ต้องออกแรง 8-9 ส่วนนะ ผนังถึงจะสะอาด

อีกปัญหาเจอและกระทบกับการทำงานล้างบ้านโดยตรงเลยคือ ยังมีบางพื้นที่ที่น้ำยังไม่ลด น้ำยังท่วมมิดหลังคาอยู่เลย เพราะบ้านเขาอยู่ระดับต่ำกว่าเส้นถนน ทำให้เราเข้าไปช่วยเขาไม่ได้ สูบน้ำออกก็ไม่ได้ ต้องรอให้ระดับน้ำลดลงเอง เพราะตอนนี้ระดับน้ำมูลกับน้ำสาขามันเท่ากัน พอน้ำมูลไม่ลดลงมันก็เลยเอ่อ สาเหตุก็เพราะว่ารัฐบาลออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ ทำให้นายทุนพากันไปถมที่ แล้วการถมที่นั้นก็ไปปิดทางน้ำ ทำให้ทางออกของมวลน้ำแคบลง พื้นที่รับน้ำก็ถูกถมให้ตื้น น้ำถูกบีบร่นลงไปในแม่น้ำอย่างเดียว ทำให้บ้านในชุมชนตรงนั้นจม สูบออกก็ไม่ได้ เพราะไม่มีพนังกั้นตลิ่งฝั่งลำน้ำมูลน้อย

มองเห็นอะไรอีกบ้างจากน้ำท่วมครั้งนี้

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็น อย่างปี 2545 น้ำท่วมใหญ่ครั้งแรกในชั่วชีวิตที่เคยเห็นเลยนะ ปีนั้นประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของทักษิณ ชินวัตร ตัวเราไม่ได้เชียร์ทักษิณ เราไม่ใช่ติ่งของใครนะ เราเชียร์ทุกพรรคที่เป็นประชาธิปไตย แต่ตอนนั้นเราเห็นเลยว่าทักษิณเขาใช้ข้อมูลมาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา คือคาดการณ์ปริมาณน้ำ ปริมาณฝน มีข้อมูลว่าเขื่อนเหนือแม่น้ำมูลขึ้นไปมีกี่เขื่อน แล้วรับน้ำได้เท่าไร ระยะเวลาเท่าไร เขาเอาข้อมูลตรงนั้นมาออกข่าว มาสื่อสารกับคนที่ทำงานเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม และสามารถคำนวณได้ว่าน้ำจะมาถึงอุบลฯ ภายในกี่วัน

พอประชาชนได้รับข้อมูลพวกนั้น เขาก็รีบจัดการตัวเองก่อนที่น้ำจะมาถึง ขนถ่ายอุปกรณ์ เครื่องมือ ทุกอย่างที่มันขนมาได้ แล้วพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจนเรียบร้อยหมด แล้วปล่อยให้น้ำท่วมบ้านไปเลย เพราะเราห้ามน้ำท่วมไม่ได้ แต่เราเตรียมตัวเพื่อรับมือได้ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องย้ายหลายที่ เขาอยู่ในที่ปลอดภัยทันทีก่อนน้ำมา

ตอนนั่งรถขนของกลับกาฬสินธุ์ปี 2545 น้ำท่วมมันยาวนานนะ มันก็มีหน่วยงานที่คอยแจ้งว่าจะสามารถเดินทางไปเส้นทางไหนได้บ้าง มีป้ายชัดเจนจนถึงกาฬสินธุ์โดยไม่มีปัญหารถราอะไรเลย นี่คือผลลัพธ์ที่ดีของการที่รัฐมาช่วยจัดการภาวะภัยพิบัติ

แต่ทีนี้พอปี 2562 เราขับรถไปส่งลูกสาวที่โรงเรียนเพราะทางการยังไม่สั่งให้หยุดเรียน สิ่งที่เห็นคือมีเต็นท์หน่วยงานราชการเข้าไปช่วยชาวบ้าน เช้าวันที่หนึ่ง ตั้งเต็นท์ตรงนี้ แต่วันต่อมาก็ย้ายที่ เพราะน้ำท่วมเต็นท์ ในวันเดียวกันก็ย้ายไปอีกที่ คือย้ายไปทั้งหมด 3 ครั้ง

การที่เต็นท์ทางราชการย้ายที่ตั้งหนีน้ำถึง 3 ครั้ง ในเวลาไม่ถึง 2 วัน มันหมายความว่าอะไร มันแปลว่าเขาไม่คาดการณ์ล่วงหน้า ไม่คำนวณปริมาณน้ำ ซึ่งแปลว่าพวกคุณไม่ยอมทำงานกันไง ทั้งที่เทคโนโลยีการสื่อสารก็พัฒนาไปไกลมากแล้ว แต่มันไม่เกิดการสื่อสารที่ดีขึ้นเลย

ปี 2565 นี่ก็เหมือนกัน เขื่อนกระสอบทรายมันแตก สถานการณ์เลวร้ายกว่าปี 2562 มาก เพราะปีนั้นยังพอมีกระสอบทรายช่วยกั้นน้ำได้ แต่ตอนนี้ที่มันแตก หน่วยงานรัฐยังบอกว่าสถานการณ์น้ำเทียบเท่าปี 2562 อยู่เลย ปัญหารอบนี้มันมาจากเขื่อนปากมูลไม่ยอมผันน้ำออก ชาวบ้านไปร้องเรียนให้เปิดเขื่อนระบายน้ำออกแต่แรกก็ไม่เปิด ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเรารู้อยู่แล้วว่าพายุโนรูตั้งเค้า และมันสามารถคำนวณผลกระทบได้ในทางอุตุวิทยาไว้ล่วงหน้าได้ แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องไปร้องเรียนกันเองเพื่อให้เปิดประตูเขื่อน

คือเราไม่สามารถห้ามน้ำท่วมอุบลฯ ได้ มันต้องท่วมแน่นอน แต่เราจะบรรเทาทุกข์หรือผ่อนหนักเป็นเบาได้มากกว่านี้ถ้าคุณระบายน้ำออกจากแม่น้ำมูลให้เร็ว ถ้าคุณใช้ข้อมูลแล้วทำงานร่วมกัน ถ้าเราไม่ฟังแต่เสียงของส่วนกลางจากกรุงเทพฯ เราจะผ่อนหนักเป็นเบาได้มากกว่านี้ แต่นี่คุณไม่ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา คุณไม่ใช้ข้อมูล พอพายุมา เขื่อนปากมูลก็ต้องเปิดเพราะมันเอาไม่อยู่ไง

คุณต้องเข้าใจว่ามวลน้ำที่ไหลลงมารวมที่จังหวัดอุบลฯ มันเป็น 2 ขยักนะ หนึ่งคือมันจะไปสู่แก่งธรรมชาติที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ขยักต่อมาคือที่เขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม พอน้ำมาปุ๊บ เขื่อนมันเอาไม่อยู่ พอเอาไม่อยู่ ก็ต้องแจ้งเขื่อนที่อยู่เหนือขึ้นไปคือเขื่อนราษีไศล (ศรีสะเกษ) เขื่อนอุบลรัตน์ (ขอนแก่น) และเขื่อนลำปาว (กาฬสินธุ์) ว่าอย่าปล่อยน้ำลงมาที่อุบลฯ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพื้นที่ในเขตอำเภอของจังหวัดร้อยเอ็ดที่อยู่เหนืออุบลฯ ซึ่งไม่เคยเกิดน้ำท่วม ถึงได้ท่วมไปด้วยในปีนี้ พื้นที่น้ำท่วมมันเลยขยายตัว 

สถานการณ์น้ำท่วมที่ร้ายแรงในปีนี้ มีผลกับสถานการณ์การเลือกตั้งที่กำลังจะถึงอย่างไรบ้าง

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานในปี 2562 ยังอยู่ในเงื่อนไขของ คสช. จนกว่าจะถึงวาระเลือกตั้งใหม่ แต่คุณต้องเข้าใจก่อนว่าต่อให้เลือกตั้งใหม่ยังไงก็ตาม คนที่ผลักดันเรื่องนี้ยังคงเป็นหน่วยงานราชการ ประเทศเรายังเป็นรัฐราชการ คนที่ทำงานหลักก็เป็นข้าราชการ และสิ่งที่เราเห็นคือราชการไม่ทำงานเท่าที่ควร 

เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วมีอาจารย์พานักศึกษามาลงพื้นที่ เขาก็แนะนำให้ประสานงานไปถึงฝั่งทหารซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก ถ้าได้คนมาช่วยล้างเยอะขึ้น งานก็จะเสร็จเร็วขึ้นหลายเท่า เพราะทุกวันนี้เราขาดอาสาสมัคร อย่างคนอุบลฯ เองที่เป็นอาสาสมัครก็มีแค่ 2-3 คน กับอาสาจากมูลนิธิกระจกเงาอีก 10 กว่าคน มันล้างได้อย่างมากวันละไม่เกิน 6 หลัง กระจกเงาเขามีเวลาอยู่ช่วยล้างแค่ 1 เดือน มันก็ทำได้มากสุดแค่ 180 หลัง แต่ว่าบ้านที่ประสบภัยพิบัติคือ 3,000 กว่าหลัง 

เราเคยคุยกับน้องคนหนึ่งที่ทำงานในเทศบาลเมืองวารินชำราบ เขาก็บอกว่า “พี่ หนูก็เคยติดต่อกับทหารนะ เขาบอกว่ามีกำลังพล แต่ไม่มีงบในการซื้อเครื่องมือล้างบ้าน” คุณคิดดูสิ รัฐบาลเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำได้ แต่อีแค่ซื้อแปรงซื้ออุปกรณ์มาช่วยคนน้ำท่วมดันไม่ทำ

อีกอย่างที่เรารู้มาจากการที่อาจารย์ ม.อุบลฯท่านนั้นไปคุยกับปภ.คือ ปภ. เองไม่มีแผนสำหรับการจัดการบ้านหลังน้ำท่วมเลย เขามีแผนแค่บรรเทาทุกข์ระหว่างน้ำหลาก กับเงินที่ใช้ในการจัดการ ซึ่งเงินนั้นมาจากงบประมาณบรรเทาสาธารณภัยและเงินที่ประชาชนบริจาค แต่เรื่องการล้างบ้าน ถ้าเขาจะล้าง ก็จะล้างเฉพาะพื้นที่ที่เป็นสาธารณประโยชน์ อย่างเช่น ศาลาวัด โรงเรียน อะไรอย่างนี้ 

เจ้าหน้าที่ ปภ. บอกเราเองเลยว่า ถ้าเป็นชาวบ้าน จะต้องรับผิดชอบบ้านด้วยตัวเองโดยที่ ปภ. จะมีงบมาช่วย ถ้าอยากได้งบก็ต้องรวมตัวทำเรื่องแจ้งมาว่ามีปัญหาอะไร เสร็จแล้วก็เสนอมาที่เทศบาล เทศบาลจะส่งต่อไปที่ ปภ. อีกที เมื่อเขาพิจารณาแล้วว่ามันสมควร เขาก็จะเจียดงบมาให้ โดยผ่านเทศบาลนั่นแหละ พอมาถึงเทศบาลก็ต้องไปเรียกร้องเอาอีกที

คุณเห็นไหม สายพานของรัฐราชการเป็นแบบไหน เวลาที่เสียไปกับภาวะนั้นคืออะไร มันมีเวลาที่ต้องจ่าย นี่คือ mindset ของระบบราชการไทย แล้วประเทศนี้ถ้ามันยังเป็นรัฐราชการอยู่ ก็จะยังมี mindset แบบนี้ต่อไปนั่นแหละ

เมื่อก่อนที่ชาวบ้านยังไม่มีทักษะการล้างบ้านตัวเองหลังน้ำท่วม บ้านหลังหนึ่งจะใช้เวลาล้างนานเท่าไหร่

ถ้าเราให้ชาวบ้านเขาทำกันเอง บ้านบางหลังอาจจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือนนะจากที่เราหรือคนจากกระจกเงาประเมิน เก่งสุดก็ 2 เดือน แต่ถ้าเราเข้าไปช่วยเขาได้ จะย่นระยะเวลาจาก 2 เดือน เหลือแค่ 2 วัน หรือวันเดียว มันหมายถึงเขาจะมีเวลาอีก 59 วัน ไปทำมาหากินอย่างเต็มที่ นอนหลับให้เต็มที่

อย่าลืมว่าทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่าย เขาถูกลดเวลา ลดแรงงาน ลดโอกาสที่จะไปหาเงิน สมมุติถ้าทำงานเต็มวันได้เงิน 300 บาท แล้วต้องแบ่งเวลาทำงานไปหาซื้ออุปกรณ์ล้างบ้านครึ่งวัน รายได้ก็หายไปแล้ว 150 บาท ถ้าบ้านหลังนั้นใช้เวลา 1 เดือนในการล้าง แต่คุณทำงานหาเงินได้แค่ครึ่งวัน คุณต้องใช้ล้างเพิ่มขึ้นอีกเป็นเดือน ลองคูณเข้าไปสิว่ารายจ่ายมันจะมากขนาดไหน 

น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นกับอุบลฯ สร้างความเสียหายที่เกินควบคุม คิดว่าเรื่องนี้ใครควรรับผิดชอบ

อันดับแรกคือ กฟผ. ซึ่งเป็นเจ้าของเขื่อนปากมูล เรารู้มานานแล้วว่าเขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า แต่มันผลิตไฟฟ้าได้ไม่เท่าที่มันบอก ตอนนี้เขื่อนปากมูลไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีอย่างเดียวคือกักน้ำไว้ตอนหน้าแล้ง พวกที่ได้ประโยชน์ก็คือพวกที่เลี้ยงปลาในกระชังซึ่งอยู่ภายใต้นายทุน ถ้าพูดตรงไปตรงมา เขื่อนปากมูลก็มีประโยชน์อย่างเดียวนี่แหละ อย่างที่สองคือเมื่อคุณกักน้ำ พื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำมูลก็จะมีความชุ่มน้ำมากขึ้น ก็ทำให้มีพืชพรรณสีเขียวขึ้น ก็แค่นั้นแหละ

เส้นทางจากเขื่อนปากมูลมาถึงเขื่อนหัวนา อยู่ในเขตรอยต่อของอุบลฯ กับศรีสะเกษ พื้นที่ที่จะทำให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างพื้นที่การเกษตร เอาจริงๆ มันมีพื้นที่สักเท่าไร มันไม่ได้มากมายอะไรเลย และที่สำคัญคุณยังกั้นแม่น้ำมูลหลายที่ คือถ้าปล่อยยาวมาจนถึงเขื่อนปากมูล มันมีสิทธิแห้งได้ เพราะเป็นแม่น้ำสาขา คุณก็เลยกั้นน้ำห้วยคะยุงที่ไหลลงแม่น้ำมูล จากเขื่อนหัวนา ไปจนถึงลำน้ำเสียวก็กั้นอีก คุณกั้นแม่น้ำแบบนี้ เพื่อไม่ให้มันแห้งเป็นช่วงๆ เพราะมีเหตุผลเดียวคือคุณอยากดูแลนายทุนใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ 

ฉะนั้นเรากำลังมองว่า นอกจากเขื่อนเหล่านี้มันเอื้อทุนใหญ่ มันยังมีผลต่อน้ำท่วม พอคุณปิดเขื่อน อย่าลืมนะว่าสิ่งที่ไหลมาไม่ได้มาแค่น้ำ แต่มาพร้อมตะกอน ซึ่งพื้นที่ของอุบลฯ เป็นปากแม่น้ำ เมื่อตะกอนมาถึงที่นาของเกษตรกร เขาต้องปล่อยน้ำออกจากนา ไม่อย่างนั้นที่ดินในนาจะตื้นและเก็บน้ำได้น้อย ทำให้ปลูกข้าวไม่ได้

อันดับสองคือหน่วยงานด้านภัยพิบัติ เพราะตอนนี้พายุเข้าถี่มาก ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติที่สะสมมาก็เริ่มใช้ไม่ได้ นี่ก็เป็นเหตุปัจจัยที่มนุษย์เองต้านทานไม่อยู่ เพราะนี่ขนาดพายุเข้ามาทางทะเลจีนใต้ที่มีภูเขากั้น กว่าจะมาถึงอุบลฯ ก็เบาบางแล้ว แต่ก็ยังรับมือไม่ได้ หน่วยงานราชการเองก็ไม่ใช้ข้อมูล ต่อให้ใช้ก็ต้องผ่านส่วนกลางก่อน ในขณะที่เราต้องรอทุกอย่างจากส่วนกลาง ภัยพิบัติมันขยายตัว ตรงที่คุณรายงานมันผ่านไปแล้ว เราค่อยวิ่งตามปัญหา ปากมูลก็เช่นเดียวกัน เราไม่ใช้ข้อมูลตรงนี้ ต่อให้เราใช้ข้อมูล เราก็มีระบบการทำงานที่ห่วยแตก

ข้อเสนอสำหรับพื้นที่ที่น้ำยังไม่ลดจนถึงตอนนี้ อย่างเรื่องการจัดการระยะยาว ผมคิดว่าต้องมีการปฏิรูปที่ดินตรงนั้นจากที่ราชพัสดุให้เป็นที่ดินของชาวบ้าน คุณกล้าทำไหม แบ่งที่ดินตรงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวบ้านได้ไหม เพราะถ้าเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาแล้วบังคับห้ามซื้อขาย เขาจะทำบ้านให้ดีกว่านี้ได้

ถ้าไม่ได้ สิ่งที่คุณอาจจะต้องลงทุนคือ ทำถนนใหม่ให้ชุมชนที่จมน้ำทั้งหมด แล้วไปทำตลิ่งต่อจากลำน้ำมูลน้อย ทำทางระบายน้ำให้ดี แล้วตัดถนนให้ชุมชนเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ถ้าน้ำท่วมอีกจะได้สูบน้ำออกได้ ล้างบ้านได้ หรือไม่งั้นคุณก็ต้องถมที่ให้บ้านเขาสูงขึ้นกว่าเดิม ให้น้ำท่วมไม่ถึงตัวบ้าน หรือให้น้ำอยู่แค่ในแอ่งรอบบ้านเขาเท่านั้น 

เมื่อมองการทำงานในภาพรวมของรัฐบาล เราจะพบว่ามีภัยพิบัติอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่กลับไม่ได้รับการดูแลเมื่อเทียบกับพื้นที่ กทม. คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้

ต้องยอมรับนะว่า เราไม่ใช่กรุงเทพฯ ทุกภาคของประเทศนี้ไม่ใช่ภาคกลาง ภาคกลางจะได้รับการดูแลก่อนเพื่อนเสมอ แต่ทุกจังหวัดในประเทศนี้ไม่ใช่กรุงเทพฯ เพราะว่ากรุงเทพฯ คือประเทศไทย ในระบบโครงสร้างรวมศูนย์อำนาจ ดึงทุกอย่างเข้าสู่ส่วนกลางหมด ประเทศไทยมีศูนย์กลางเดียวคือกรุงเทพฯ ดังนั้น จังหวัดไหนก็ตามที่อยู่นอกเหนือกรุงเทพฯ จะมีสถานะไม่ใช่ประเทศไทย

ถ้าพูดให้เห็นภาพ สมมุติคุณบอกว่าพ่อปกครองลูก ทำไมอีสานถึงได้สัดส่วนในการพัฒนามนุษย์ 1 ต่อ 25 ของคนภาคกลาง คุณดูพื้นที่ในอีสานสิ ดูประชากรสิ มีตั้งเท่าไร นั่นเป็นเหตุผลที่คนอีสานต้องอพยพแรงงานเข้ากรุง พอหมดสภาพก็ต้องกลับมาเป็นคนแก่ นี่คุณเป็นพ่อประเภทไหน มีคุณธรรมอะไร แล้วสำนึกแบบนี้เป็นสิ่งที่ผมเสียใจ เพราะมันสำนึกของทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม แม้แต่สำนึกของเรายังให้คุณค่าที่แตกต่างกัน มันขัดแย้งกับการที่คุณกำลังจะบอกว่าเรากำลังเรียกร้องเป้าหมายให้คนเท่ากัน แต่สิ่งที่คุณกำลังทำตรงข้ามกับสิ่งที่คุณเรียกร้อง

ภัยพิบัติในประเทศไทยมีการเปลี่ยนรูปแบบและรุนแรงขึ้นบ่อยครั้ง การวางแผนรับมือจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ คุณคิดว่าในปัจจุบัน รัฐบาลอยู่ในจุดที่พร้อมจะรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือยัง

ไม่พร้อม ต่อให้มีนายกฯ ที่ดีมาก จีเนียสสุดๆ ก็ไม่พร้อม เพราะหลักใหญ่ใจความของบ้านเราคือการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ที่เราบริหารจัดการกันอยู่ตอนนี้ไม่ต่างจากที่ ร.5 ทำ ตราบใดที่เรายังไม่กระจายอำนาจอย่างแท้จริง มันก็ไม่มีทางทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

อย่างเคสที่อุบลฯ มันห้ามไม่ได้ แต่เราจะผ่อนหนักเป็นเบาได้ยังไง แล้วจะค่อยๆ แก้ปัญหาจากหนักเป็นเบาได้ยังไง มันมี 2 ทาง หนึ่ง คุณต้องกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ผู้ว่าฯต้องมาจากเลือกตั้งแบบกรุงเทพฯ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องมี แล้วให้อำนาจกับ อบจ.อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกลัวเรื่องแบ่งแยกดินแดน ถ้าคุณมีเป้าหมายหลักเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวสยามนะ คุณต้องทำสิ่งนั้น

สอง คุณต้องกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย ยกตัวอย่างคนอุบลฯ เอง เราเก็บภาษีแล้วส่งให้ส่วนกลาง 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่เราแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนตรงนี้ลองเปลี่ยนได้ไหม เช่น ผมให้รัฐส่วนกลางแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าปีไหนรัฐส่วนกลางใช้น้อยก็เอาไป 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินส่วนใหญ่เราจัดการของเราเอง ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใครก็ตามที่มีทะเบียนราษฎร์เป็นคนอีสานก็ส่งภาษีตัวนั้นกลับมาที่จังหวัดของตัวเอง อันนี้เราจะได้มีอำนาจต่อรองในการจัดการตนเองได้ มีอำนาจเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นได้ ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน มันจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า แล้วที่สำคัญมันอยู่บนพื้นฐานของการเห็นประชาชนเป็นคนของชาติ เห็นประชาชนเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ไม่ใช่แค่ธงชาติและเสาธง

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า