ยุบพรรค! ปรากฏการณ์ตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยอธิบาย ปรากฏการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ปี 2562 ว่ามีการใช้ Lawfare หรือ ‘นิติสงคราม’ คือการใช้กฎหมายและความยุติธรรมกำจัดศัตรูทางการเมือง นิติสงครามจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีกลไกอย่าง Judicilization of Politics หรือ กระบวนการทำให้ประเด็นทางการเมืองกลายเป็นคดีและอยู่ในมือศาล เช่นสถานการณ์ที่พรรคอนาคตใหม่กำลังเผชิญอยู่ พรรคอนาคตใหม่ถูกยื่นยุบพรรคด้วยข้อหาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปรากฏการณ์ทางการเมืองดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 หรืออีกนัยหนึ่ง เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านคำว่า ‘ตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’ ที่ศาลได้กลายเป็นกลไกในการยุบทำลายความเข้มแข็งของสถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองดั้งเดิม ซึ่งประกอบไปด้วยบรรดาขุนนาง อำมาตย์เก่า ระบบราชการ และกองทัพ

อาจกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ ‘ตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’ เป็นผลพวงหรือผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถาบันตุลาการ ที่ผูกสายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำดั้งเดิมและสถาบันตุลาการหลังการรัฐประหารในแต่ละยุคสมัย รวมถึงการแยกสถาบันตุลาการให้ห่างไกลจากประชาชน

ปรากฏการณ์ ‘ตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’

หากย้อนดูประวัติศาสตร์การยุบพรรคการเมืองในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จะพบสาเหตุหลักของการยุบพรรคการเมืองที่เกิดจากปัญหาเชิงเทคนิค เช่น การมีจำนวนสมาชิกพรรคหรือสาขาพรรคต่ำกว่าเกณฑ์ การไม่จัดประชุมพรรค ไม่ส่งเอกสารหรือรายงานการเงินของพรรค แต่อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการยุบพรรคคือ การลดทอนความเข้มแข็งของสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ในงานวิจัยชื่อว่า การเมืองเชิงตุลาการและศาลรัฐธรรมนูญไทย ของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ ชี้ให้เห็นภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองหลังปี 2549 ว่า สถาบันตุลาการถูกดึงเข้าไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างมีเป้าประสงค์ในการทุบทำลายสถาบันทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘ตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก’

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของ Ran Hirschl นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ที่ชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ ต่อรอง ช่วงชิงและสถาปนาอำนาจทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่า หากอำนาจของชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองเดิมกำลังสูญเสียอำนาจหรือความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง สถาบันตุลาการจะถูกดึงมาเป็นเครื่องมือเพื่อธำรงอำนาจนำดั้งเดิม

ปรากฏการณ์ตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ปรากฏขึ้นครั้งแรกในการยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคที่เคยครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา และได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยใหม่ สร้างภาพของ ‘ประชาธิปไตยที่กินได้’ ผ่านนโยบายประชานิยมที่สั่นคลอนสถานะของกลุ่มชนชั้นนำ แต่สุดท้ายก็ต้องถูกยุบด้วยข้อหาทางการเมืองว่า รองหัวหน้าพรรคและรองเลขาธิการพรรคว่าจ้างให้คนลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้ครบเงื่อนไขตามกฎหมายการเลือกตั้ง แต่หลังการยุบพรรคก็มีผู้ออกมาเปิดเผยว่า คดีดังกล่าวมีการใช้พยานเท็จ

ภายใต้กรอบคิดเดิมในบริบททางการเมืองใหม่ หลังรัฐธรรมนูญ 2560 สถาบันตุลาการไม่จำเป็นต้องแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคเสียงข้างมาก เนื่องจากกฎกติกาทางการเมืองทำให้กลุ่มอำนาจเดิมยังคงรักษาอำนาจหลังการเลือกตั้งและอำนาจในสภาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระบบเลือกตั้งให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด และการมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารทั้งหมด ดังนั้นบทบาทของสถาบันตุลาการจึงผันมาเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันทางการเมืองที่ต่อต้านอำนาจของชนชั้นปกครองเดิม

ตัวอย่างของการเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายที่ต่อต้านอำนาจของชนชั้นปกครองเดิม คือ กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติด้วยข้อหาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการเสนอชื่อ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ ในบัญชีรายชื่อคนที่พรรคจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ไม้ตายของพรรคฝ่ายไทยรักษาชาติที่พยายามจะต่อสู้กับกติกาการเลือกตั้งที่สร้างโดย คสช. แต่เรื่องราวก็จบลงด้วยการถอนรายชื่อทูลกระหม่อมฯ ออกจากบัญชีนายกฯ และการยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายถัดมาจึงเป็น ‘พรรคอนาคตใหม่’ ที่เคลื่อนไหวอย่างเด่นชัดในการปฏิรูปอำนาจของชนชั้นนำดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญหรือการแช่แข็งสังคมด้วยกฎหมาย จนต้องหาเหตุในการยุบพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าหลักฐานและข้อหาที่นำมาใช้จะบางเบาสักแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น การกล่าวหาว่าข้อบังคับพรรคไม่ใช้คำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือตราสัญลักษณ์ของพรรคที่คล้ายคลึงกับองค์กรลี้ลับ ‘อิลลูมินาติ’ เป็นต้น

สายสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐประหารและสถาบันตุลาการ

ปรากฏการณ์ตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นมาเองโดดๆ หากมีสายสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งการยุบพรรคไทยรักไทย เนื่องจากภายหลังการรัฐประหารในปี 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และสั่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี แต่ให้ศาลอื่นๆ คงอยู่ต่อไป

แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2549 ได้กำหนดให้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธาน, ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน เป็นตุลาการ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน เป็นตุลาการ โดยให้ทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และภารกิจสำคัญคือการยุบพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น

ต่อมาเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 300 กำหนดให้คณะตุลาการชุดดังกล่าวทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการชั่วคราว จนกว่าตุลาการคณะใหม่จะเข้ารับหน้าที่

จนมาถึงการรัฐประหารในปี 2557 มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อ หลังการรัฐประหารมีการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ 2 คน โดยใช้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. นอกจากนี้ ยังมีการใช้ ‘มาตรา 44’ หรืออำนาจพิเศษของ คสช. ในการต่ออายุให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ให้ปฏิบัติหน้าที่จนถึงปัจจุบันจนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังตุลาการชุดปัจจุบันทำภารกิจพิจารณาคดียุบพรรคอนาคตใหม่ให้แล้วเสร็จเสียก่อน

การแยกสถาบันตุลาการให้แยกขาดจากประชาชน

ปัญหาตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในแง่หนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในการออกแบบกลไกทางการเมืองให้ขาดคุณสมบัติที่เพียงพอและขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในระยะหลัง (ปี 2549 ) มีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากศาลรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งก่อตั้ง และมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนคุณสมบัติใหม่ ทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ถูกลดสัดส่วนลง และจำนวนผู้พิพากษาอาชีพเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แบ่งเป็น ผู้พิพากษาอาชีพ จำนวน 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 แบ่งเป็น ผู้พิพากษาอาชีพจำนวน 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 4 คน ส่วนในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงจำนวนผู้พิพากษาอาชีพไว้ที่ 5 คน แต่ลดจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์เหลืออย่างละ 1 คน และเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้เคยรับตำแหน่งราชการมา 2 คน

ในขณะเดียวกันคณะกรรมการสรรหาที่จะต้องทำหน้าที่สรรหาตุลาการในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิก็เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มีสัดส่วนของนักวิชาการ ตัวแทนพรรคการเมือง และศาล แต่หลังรัฐธรรมนูญ 2550 ได้มีการตัดสัดส่วนนักวิชาการออก และลดจำนวนตัวแทนพรรคการเมืองลง และในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีการเพิ่มสัดส่วนตัวแทนจากองค์กรอิสระเข้าไปทำหน้าที่สรรหากันเอง

นอกจากนี้ การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญยังเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ให้การเห็นชอบ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ให้วุฒิสภาที่มาจากการสรรหาแต่งตั้งและการเลือกตั้งผสมๆ กัน เป็นผู้ให้การเห็นชอบ ส่วนในรัฐธรรมนูญ 2560 ให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเป็นผู้ให้การเห็นชอบใน 5 ปีแรก หลังจากนั้นจะให้วุฒิสภาที่มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพเป็นผู้ให้การเห็นชอบ

เมื่อมองกลับไปยังรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญที่ได้รับการเรียกขานว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็จะพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญถูกทำให้แยกขาดออกจากประชาชนไกลออกไปทุกขณะ ทั้งในแง่คณะกรรมการสรรหา และวิธีการให้ความเห็นชอบ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ปรากฏการณ์ตุลาการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง โดยคณะรัฐประหารทั้งในปี 2549 และในปี 2557

Author

ณัชปกร นามเมือง
ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ผู้เชื่อว่าการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี และเลือกหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า