ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดี ต้านรัฐประหารในยุค คสช.

“ที่จำเลยฎีกาทำนองว่า การจะพิจารณาว่าการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศสำเร็จหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่ามีการต่อต้านจากประชาชนหรือไม่ หน่วยงานองค์กรของรัฐรับคำสั่งของคณะรัฐประหารหรือไม่ มีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิดของคณะรัฐประหารหรือไม่ และมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์รับรองฐานะของคณะรัฐประหารหรือไม่ (ศาลฎีกา) เห็นว่าทางพิจารณาไม่ปรากฏว่ามีการต่อต้านจากประชาชนหรือหน่วยงานองค์กรของรัฐต่อต้านการยึดอำนาจการปกครองในครั้งนี้ จน คสช. ไม่อาจบริหารประเทศได้แต่อย่างใด”

บางส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560
คดีของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์
ความผิดเรื่องการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ไม่ปรากฏว่ามีการต่อต้านรัฐประหาร?

คำถามประการหนึ่งที่มีการถกเถียงหาคำอธิบาย ตลอดระยะเวลาที่การอยู่ในอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืดยาวเนิ่นนานออกไป คือเหตุใดคณะรัฐประหารชุดนี้จึงครองอำนาจได้อย่างยาวนาน ถึงกว่า 5 ปี ในโลกยุคสมัยที่การยึดอำนาจและการปกครองโดยกองทัพกลายเป็น ‘สิ่งล้าสมัย’ ไปแล้ว จนนับเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจได้ยาวนานที่สุดลำดับที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รองจากคณะรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์-ถนอม เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อนหน้านี้

น่าจะเป็นที่ยอมรับกันว่าคณะรัฐประหารยุคนี้ไม่ได้ใช้อำนาจดิบเถื่อน หรือการปกครองโดยปากกระบอกปืนแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาศัยการสร้างความชอบธรรมจากเครื่องมือหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ ‘กฎหมาย’ และ ‘กระบวนการยุติธรรม’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการปราบปรามและหยุดยั้งการแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวางที่สุดครั้งหนึ่ง ทำให้การใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายรูปแบบโดยคณะรัฐประหาร ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยอาภรณ์ของ ‘กระบวนการทางกฎหมาย’

แม้จะจริงอยู่ที่ว่า คสช. สามารถควบคุมการบริหารประเทศไว้ได้ในฉากหน้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแสดงออกของประชาชนในลักษณะคัดค้าน/ต่อต้านการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ปรากฏอยู่เป็นระยะและต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบปัจเจกบุคคลและกลุ่มองค์กรต่างๆ

เราเห็นการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารในช่วงแรกกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ของประเทศ เราเห็นการชูป้ายประท้วงคัดค้านการยึดอำนาจ เราเห็นการจับกุมผู้แสดงออกต่อต้านการรัฐประหารไปยังค่ายทหารในจังหวัดต่างๆ เราเห็นการเรียกตัว/การควบคุมตัวแกนนำหรือบุคคลที่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากเข้าไป ‘อบรม’ และบังคับให้เซ็นข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวภายในค่ายทหารแทบจะทุกจังหวัด เราเห็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อาทิ การอ่านหนังสือ 1984, กินแซนด์วิช, กินแมคโดนัลด์, การชูสามนิ้ว, การดูนาฬิกา เป็นต้น เราเห็นการเขียนข้อความ การเพนท์รูปภาพ จารึกข้อความแห่งการต่อต้านบนพื้นถนนและฝาผนัง

ในระยะต่อมา เราค่อยๆ เห็นงานศิลปะ บทกวี วรรณกรรม บทเพลง ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร เราเห็นการรณรงค์ปัญหาของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ คสช. อาทิ การทวงคืนผืนป่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือนโยบายพลังงาน เราเห็นการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากอำนาจของคณะรัฐประหารระหว่างการลงประชามติ เราเห็นการชุมนุมเรียกร้องทวงสัญญาจากคณะรัฐประหารให้คืนอำนาจให้ประชาชน และเราเห็นการรณรงค์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. มาจนถึงปัจจุบัน

กล่าวได้ว่าท่ามกลางการมุ่งควบคุมอำนาจอย่างต่อเนื่องของคณะรัฐประหารในครั้งนี้ ประชาชนจำนวนมากเองก็แสดงออกเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจในหลากหลายรูปแบบที่สุดครั้งหนึ่ง ท่ามกลางการแสดงออกต่อต้านเหล่านั้น การปราบปรามและข่มขู่คุกคามประชาชนผ่านการจับกุมดำเนินคดีทาง ‘กฎหมาย’ ทั้งที่ออกโดยคณะรัฐประหารเอง และข้อหาความมั่นคงต่างๆ ที่ถูกใช้ตีความขยายความเพื่อปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พยุงให้ฉากหน้าของการบริหารประเทศดำเนินไปได้

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 22 พฤษภาคม 25621 เป็นเวลา 5 ปีที่คณะรัฐประหารควบคุมอำนาจ มีประชาชนอย่างน้อย 106 คน ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยมีมูลเหตุของคดีเกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ขณะที่ประชาชนอย่างน้อย 121 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ ‘ยุยงปลุกปั่น’ ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อันกลายเป็นข้อหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้จนดาษดื่นทั่วไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ส่วนประชาชนอย่างน้อย 428 ราย ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งคณะรัฐประหารบัญญัติขึ้นเอง และอีกอย่างน้อย 245 คน ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อันเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. รวมทั้งประชาชนอย่างน้อย 144 ราย ได้ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการแชร์ข้อมูลทางการเมืองในโลกออนไลน์

ตัวเลขเหล่านี้ เป็นเพียงบางส่วนของข้อหาสำคัญที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในยุค คสช. ยังไม่นับข้อหาทางอาญาและลหุโทษต่างๆ อีกจำนวนมาก รวมไปถึงการประกาศให้พลเรือนที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาความผิดในหมวดความมั่นคง, ข้อหาฝ่าฝืนประกาศ/คำสั่ง คสช. และข้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืน ต้องถูกพิจารณาพิพากษาในศาลทหาร ซึ่งคณะรัฐประหารควบคุมสั่งการได้

การธำรงอำนาจของคณะรัฐประหารมาได้อย่างยาวนานเช่นนี้ จึงมีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน การจับกุม กล่าวหา ฟ้องร้อง ดำเนินคดีประชาชนเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่ง จน ‘เสียงแห่งการต่อต้าน’ ดังออกมาไม่มากพอ ตัวเลขและเรื่องราวในคดีทางการเมืองจำนวนมากในยุคสมัยนี้จึงเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการใช้อำนาจปราบปรามเสียงเหล่านั้นของ คสช.

หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามในการรวบรวมเรื่องราวและเอกสารสำคัญในคดีบางส่วนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและติดตามความเคลื่อนไหวของคดี ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา โดยคดีทั้งหมดล้วนเป็นความพยายามของนักกิจกรรม นักศึกษา ประชาชนในการต่อสู้/ทัดทานการรัฐประหาร และการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารในระยะต่างๆ กันไป

ราษฎรกำแหง คดีความของผู้ไม่สยบยอม2

คดีความที่เลือกสรรมานำเสนอในที่นี้ มีจำนวนทั้งหมด 9 คดีหรือกลุ่มคดี แยกเป็นคดีที่ประชาชนถูกกล่าวหาโดยคณะรัฐประหารหรือกองทัพ จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ด้วยข้อหาทางการเมืองต่างๆ จำนวน 7 คดีหรือกลุ่มคดี และเป็นคดีที่ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการฟ้องกลับคณะรัฐประหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 คดี

ในแต่ละบทตอนถูกนำเสนอบอกเล่าด้วยลีลาของผู้เขียนต่างคนกัน จากหลากหลายองค์กรสังกัด แต่ทั้งหมดล้วนเป็นผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง และสถานการณ์การดำเนินคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนั้นยังเลือกสรรเอกสารในคดีที่น่าสนใจมาบันทึกไว้ท้ายเรื่องราวของแต่ละคดีอีกด้วย

จุดเน้นสำคัญของผู้ถูกดำเนินคดี คือเป็นทั้งผู้แสดงออกต่อต้านการรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร และยังเลือกจะต่อสู้ใน ‘กระบวนการทางกฎหมาย’ ที่เกิดขึ้นตามมา อย่างที่พอทราบกัน ว่าการถูกดำเนินคดีใดๆ ก็ตาม สามารถสร้างความยุ่งยากลำบากในหลายด้าน ทั้งการต้องสละเวลาไปโรงพัก-เข้าออกศาล, การต้องตระเตรียมเงินทองสำหรับค่าใช้จ่ายในคดีและการประกันตัว, การต้องห่วงกังวลกับภาระทางคดีที่ยาวนานเป็นปีๆ กระทั่งบางคนต้องสูญเสียอิสรภาพผ่านการถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี

ในภาระยุ่งยากเหล่านี้ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคนก็เลือกจะยินยอมรับสารภาพ เพื่อให้คดีสิ้นสุดลงโดยเร็วและไม่ได้รับโทษที่รุนแรงนัก แต่นักต่อสู้หลายคน นอกจากเผชิญกับคณะรัฐประหารแล้ว ยังเลือกที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุดด้วย

คดีของ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักกิจกรรมผู้ถูกจับกุมเข้าค่ายทหารจากการชูป้าย ‘ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน’ ก่อนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนเรื่องการชุมนุมทางการเมืองติดตามมา คดีของอภิชาตนับเป็นความผิดตามประกาศ/คำสั่ง คสช. คดีแรกๆ ที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกหลังการรัฐประหาร และยังมีความสำคัญในฐานะเป็นคดีที่มีการต่อสู้ในศาลพลเรือน ก่อนที่คดีลักษณะเดียวกันนี้จะถูกประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘บก.ลายจุด’ และ สิรภพ กรณ์อรุษ เป็นสองนักต่อสู้คนสำคัญที่ควรถูกบันทึกในยุคสมัยนี้ สมบัติประกาศตัวต่อต้านการรัฐประหารมาทุกครั้งที่เกิดขึ้น ครั้งนี้เขายืนหยัดเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งกว่าสองอาทิตย์หลังการยึดอำนาจ เขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเข้าค่ายทหารและกล่าวหาดำเนินคดีถึง 3 คดี โดยในคดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกของ คสช. นับเป็นคดีการเมืองไม่กี่คดีที่มีการต่อสู้ถึงชั้นศาลฎีกา กินเวลากว่า 3 ปี

ขณะที่สิรภพ หรือ ‘รุ่งศิลา’ กวีการเมือง แม้ไม่เป็นที่รู้จักก่อนหน้าการรัฐประหารนัก แต่เขาถูกฝ่ายความมั่นคงติดตามจับตาจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์มาก่อนการยึดอำนาจ สิรภพปฏิเสธการเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. จนถูกจับกุมดำเนินคดี 2 คดี ทั้งเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว และข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งเขายืนยันต่อสู้ในทั้งสองคดี จนทำให้ถูกคุมขังในเรือนจำมาเกือบ 5 ปี กว่าจะได้รับการประกันตัว สิรภพนับเป็นผู้ต้องขังในคดีการเมืองที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนี้ และการต่อสู้คดีของเขาก็ได้ยืนยันถึงเจตจำนงในการอารยะขัดขืนต่ออำนาจอันไม่เป็นธรรม

การต่อสู้ของคนหนุ่มสาวแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนาม ‘กลุ่มดาวดิน’ นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร นักศึกษากลุ่มนี้ลุกขึ้นหาญกล้าชูสามนิ้วต่อหน้าหัวหน้าคณะรัฐประหาร พวกเขารวมตัวถือป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จนถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีตามมา พวกเขาเคลื่อนไหวหนุนเสริมเสียงของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐต่างๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน รวมถึงการถูกดำเนินคดีถึง 5 คดีของ ‘ไผ่ จตุภัทร์’ สมาชิกของกลุ่มคนสำคัญ จนนำไปสู่การถูกจองจำในเรือนจำถึงสองปีกว่า การต่อสู้ของดาวดินจึงนับเป็น ‘ดาว’ ดวงเล็กๆ ดวงหนึ่งที่ส่องสว่างในพื้น ‘ดิน’ อันแห้งผากหลังการรัฐประหารครั้งนี้

พื้นที่ทางวิชาการยังเป็น ‘สมรภูมิ’ สำคัญในการปิดกั้นและต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อเวทีวิชาการจำนวนมากถูกห้ามจัด ถูกทหารเข้าห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ถูกจับตาสอดส่องบันทึกการสัมมนา ผู้จัดงานบางงานถูกเรียกพบ กระทั่งนักวิชาการหลายรายก็ถูกดำเนินคดีเสียเอง คดีชูป้าย ‘เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร’ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นหนึ่งในคดีที่สะท้อนการต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ทั้งคดีนี้ยังส่องสะท้อนมุมมองของฝ่ายความมั่นคงที่มองนักวิชาการจำนวนมากในฐานะ ‘บุคคลเป้าหมาย’ และมองพื้นที่ทางวิชาการว่าเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ ที่ต้องติดตามจับตา

บริบทสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา ยังสัมพันธ์กับกระแสการเคลื่อนไหวและยังนำไปสู่การดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง โดยสองช่วงสถานการณ์สำคัญ ได้แก่ ช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และช่วงการรณรงค์ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่ให้มีการเลื่อนการเลือกตั้ง และให้ คสช. ยุติการสืบทอดอำนาจ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปี 2561

ในช่วงการลงประชามติ ข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และข้อหาห้ามชุมนุมทางการเมือง ถูกนำมาใช้กล่าวหาดำเนินคดีกับผู้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้แม้รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารจะผ่านการลงประชามติ แต่ก็เกิดขึ้นภายใต้การลงคะแนนที่ไม่เสรีและเป็นธรรม การแสดงออกของคนเล็กคนน้อยจนนำไปสู่การถูกจับกุมและกล่าวหาดำเนินคดีในช่วงเวลานั้น จึงนับเป็นเสี้ยวส่วนสำคัญในการยืนยันถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ยังมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงการรณรงค์ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่มีการจัดชุมนุมมากกว่า 10 ครั้งในสถานที่ต่างๆ เพื่อกดดันเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง หลังรัฐประหารผ่านไปเกือบ 4 ปี ก็นำไปสู่การดำเนินคดีต่อทั้งผู้จัดการชุมนุม และผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 130 คน ใน 10 คดี การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นย้ำเตือนกับสังคมว่าเวลาของการผัดผ่อนการเลือกตั้งนั้นดำเนินมาบ่อยครั้ง และอำนาจสูงสุดถูกขโมยไปจากมือประชาชนมานานเพียงใดแล้ว

ขณะเดียวกันในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สองความพยายามสำคัญของ ‘การต่อสู้ทางกฎหมาย’ เพื่อเอาผิดคณะรัฐประหารและผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การฟ้องกลับคณะรัฐประหารในข้อหากบฏ จากการใช้กำลังล้มล้างรัฐธรรมนูญ นำโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และการฟ้องละเมิดทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มนักกิจกรรม/นักศึกษา หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558

แม้ในทั้งสองคดี องค์กรตุลาการจะตัดสินพิพากษาไปในทิศทางที่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารและการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรม แต่การต่อสู้ในทั้งสองคดีก็ย้ำเตือนว่าภารกิจการชำระสะสางผู้ยึดอำนาจไปจากประชาชน และผู้กระทำละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ยังต้องผลักดันกันต่อไปในอนาคต และอาจต้องอาศัยช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่านี้ในการต่อสู้ในลักษณะนี้

ในด้านหนึ่ง สำหรับคณะรัฐประหารและผู้ถือครองอำนาจ การต่อสู้ของ ‘ราษฎรกำแหง’ เหล่านี้คงถูกมองเป็นการกำเริบเสิบสาน การท้าทายไม่ยินยอมสงบเงียบต่ออำนาจเหมือนกับพลเมืองคนอื่นๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การต่อสู้เหล่านี้ ยังหมายถึงความกล้าหาญ หมายถึงการลุกขึ้นท้าทายอำนาจไม่ชอบธรรม แม้การกระทำดังกล่าว จะส่งผลอันไม่พึงประสงค์ต่อผู้ลุกขึ้นต่อสู้ อย่างการถูกดำเนินคดีหรือการถูกข่มขู่คุกคามตามมา

แน่นอน, ในสังคมเช่นนี้ ผู้มีอำนาจไม่นิยมชมชอบผู้กำแหงหาญและไม่สยบยอม แต่ก็อีกเช่นกัน ในสังคมเช่นนี้ ผู้ด้อยอำนาจยังต้องการความกล้าหาญของราษฎรอีกจำนวนมากในการท้าทายต่ออำนาจอันไม่เป็นธรรม ถ้าหากต้องการจะยุติวงจรการรัฐประหารและผลพวงของมันต่อไปในอนาคต

การรับรองรัฐประหาร กับความเป็นไปได้ของการต่อสู้

“เราอาจเรียกร้องศาลไม่ได้ว่าให้ศาลลงโทษรัฐประหาร แต่เราเรียกร้องศาลไม่ได้หรือในการวิเคราะห์ความเป็นกฎหมายของคณะรัฐประหาร ของบรรดาประกาศคำสั่ง เราเรียกร้องศาลไม่ได้หรือว่าในแง่กฎหมายศาลต้องดูวัตถุประสงค์ของการลงโทษว่าเป็นไปเพื่ออะไร ผมว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเรียกร้องศาลได้ทั้งสิ้นและควรต้องเรียกร้องด้วย และด้วยเหตุนี้จึงมีคำพิพากษาของศาลจำนวนหนึ่งที่ต้องถูกวิจารณ์”

ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวประชาไท
วันที่ 10 กรกฎาคม 25613

นอกเหนือจากการต่อสู้ของผู้ไม่สยบยอม คดีความหลายคดีในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นกรณีที่สะท้อนถึงแง่มุมสำคัญของการรัฐประหารอีกประการหนึ่ง คือการรับรองให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารและอำนาจของคณะรัฐประหารโดยองค์กรทางตุลาการ ขณะเดียวกันก็ปัดปฏิเสธสิทธิในการต่อต้านหรือไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารของประชาชน

ทั้งในคดีของสมบัติ คดีของอภิชาต และคดีของสิรภพ ศาลยุติธรรมในระดับต่างๆ และศาลทหารเอง ต่างพิจารณาไปในทำนองเดียวกันว่าการยึดอำนาจของ คสช. เป็นผลสำเร็จแล้ว ทั้งด้วยการไม่มีการต่อต้านจากประชาชน หรือจากหน่วยงาน/องค์กรของรัฐ หรือจากรัฐบาลรักษาการเอง ทำให้ คสช. ใช้อำนาจในการบริหารประเทศได้ และจึงมีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งหรือประกาศใดๆ ที่ออกมาโดยคณะรัฐประหารจึงมีความชอบด้วยกฎหมาย ส่วนในการอ้างถึงสิทธิของประชาชนในการต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ศาลก็เห็นว่าฝ่ายจำเลยไม่สามารถกล่าวอ้างถึงได้ เนื่องจากสิทธิดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว นับแต่ คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นสุดลง

คำพิพากษาในคดีของสมบัติ ยังเผยให้เห็นความคลุมเครือไม่แน่นอนของศาลในการพิจารณาประเด็นเรื่องเกณฑ์ว่าการรัฐประหารนั้นๆ จะสำเร็จหรือไม่ เมื่อใด โดยศาลฎีกาเห็นว่ากรณีการอ้างว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิดของ คสช. หรือมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์มารับรอง คสช. จึงจะถือว่าการยึดอำนาจสำเร็จ เป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยเอง หาได้มีกฎเกณฑ์ไว้ในที่ใดว่าจะต้องมีการดำเนินการดังกล่าวเสียก่อน แต่ศาลก็หันไปอ้างเรื่องการไม่มีการต่อต้านจากประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ทำให้ถือว่าการรัฐประหารประสบผลสำเร็จ

ขณะเดียวกัน แม้คำวินิจฉัยของศาลส่วนใหญ่จะให้การรับรองสถานะอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่ก็มี ‘เฉด’ หรือ ‘ระดับ’ ของการรับรองแตกต่างกันไป บางคำพิพากษาเข้าไปร่วมบรรยายเหตุผลความจำเป็นของการต้องมีรัฐประหาร ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐประหารเสียเอง เช่น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของอภิชาต ที่ศาลกล่าวถึงความจำเป็นของการยึดอำนาจของ คสช. อย่างละเอียด และนำเสนอแนวคิดเรื่อง ‘ระบอบแห่งการรัฐประหาร’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกๆ อีกด้วย

ขณะที่บางคำพิพากษาพิจารณาถึงอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงของ คสช. ที่เข้ามาบริหารประเทศได้ ทำให้คำสั่งต่างๆ มีสถานะเป็นกฎหมายอยู่ แม้การกระทำการยึดอำนาจนั้นจะไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม ดังคำพิพากษาในคดีพลเมืองโต้กลับฟ้อง คสช. เป็นกบฏ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการได้มาซึ่งอำนาจของ คสช. นั้น “เป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ก็เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น” แต่ศาลยังเห็นว่าจำเป็นต้องตีความกฎหมายในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ โดย คสช. ได้มีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานรัฐได้

ชุดคำพิพากษาเหล่านี้ และรูปแบบการต่อสู้คดีที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี จึงเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการศึกษาต่อยอดและการพัฒนาความเป็นไปได้ในอนาคตในการปฏิเสธหรือหยุดยั้งการรัฐประหาร ซึ่งยังไม่มีใครแน่ใจได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในสังคม

ในทางกฎหมายช่วงระยะเฉพาะหน้า แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะเรียกร้องให้ศาลปฏิเสธอำนาจคณะรัฐประหารไปทั้งหมด ในลักษณะของการเรียกร้องให้ศาลต่อต้านเชิงรุก (active resistance) แต่ก็ยังมีความเป็นได้ของการเรียกร้องการต่อต้านเชิงรับจากศาล (passive resistance) ดังข้อเสนอของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์4 นั่นคือการเรียกร้องให้ศาลตีความกฎหมายในแง่ของการพยายามคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้มากที่สุด หรือในการตัดสินคดีที่มีการฟ้องว่าการสั่งการของคณะรัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีดังกล่าวมีรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความเป็นที่สุดของคำสั่งคณะรัฐประหารไว้ หากไม่สามารถตัดสินเป็นอย่างอื่นได้ ศาลก็อาจต้องจำหน่ายคดี แต่ก่อนจำหน่ายคดี ศาลยังสามารถพิจารณาให้เหตุผลไว้ในคำพิพากษาว่าหากไม่มีรัฐธรรมนูญรับรองไว้ การสั่งการนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อเป็นร่องรอยไว้ในทางคดีต่อไป

ส่วนคดีที่ประชาชนถูกกล่าวหาจากการแสดงออกต่อต้านการรัฐประหาร หรือการไม่ไปรายงานตัวกับคณะรัฐประหาร ก็มีความเป็นไปได้ในการที่ศาลจะพยายามใช้หลักกฎหมายลดทอนความรุนแรงของฐานความผิดและการกำหนดโทษ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคดีไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. ของ สมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งถูกบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้

รวมทั้งในการต่อสู้คดีภายภาคหน้า เราอาจต้องคิดถึงการนำสืบให้ศาลเห็นว่าการแสดงออกคัดค้านการรัฐประหารของประชาชนเป็นไปอย่างกว้างขวางเพียงใด และการแสดงออกเหล่านั้น ถูกคณะรัฐประหารใช้กลไกและมาตรการต่างๆ ในการปราบปรามให้เสียงของประชาชนผู้คัดค้านต้องเงียบลงอย่างไร ข้อเท็จจริงเหล่านี้ อาจทำให้ศาลต้องพิจารณาอย่างรอบด้านมากขึ้นกว่าเพียงความเข้าใจของศาลเองว่า “ไม่ปรากฏว่ามีการต่อต้าน” ทำให้คณะรัฐประหารสามารถบริหารประเทศได้

ถึงที่สุดแล้วในระยะยาว ผลของการใช้กฎหมายและบทบาทขององค์กรตุลาการตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ยังน่าจะพอทำให้สังคมไทยเริ่มคิดถึงการผลักดันการปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสถาบันตุลาการ ให้อยู่ในร่องในรอยของระบอบเสรีประชาธิปไตยและยึดโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้นในอนาคตข้างหน้า

ขณะเดียวกัน นอกจากในทางกฎหมายหรือการต่อสู้คดีแล้ว ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์และสังคม ดูเหมือนว่าสังคมไทยยังขาดการรวบรวมบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐอย่างเป็นระบบ เอกสารในคดีความ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จากการแสดงออกของพลเมือง จากการต่อสู้ขัดขืนรัฐอันไม่เป็นธรรมในห้วงเวลาต่างๆ ของประวัติศาสตร์ หรือเอกสารของฝ่ายรัฐที่มีปฏิบัติการอันนับได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนในมิติต่างๆ ยังถูกรวบรวมจัดเก็บและเผยแพร่เปิดโปงกันอย่างกระท่อนกระแท่น เช่นเดียวกันกับในยุคของ คสช. ที่เรื่องราว เอกสารหลักฐาน หรือบทบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลากหลายแง่มุม ยังรอคอยการรวบรวมค้นคว้าต่อไป

แม้จะยังไม่สามารถนำผู้กระทำความผิด ผู้ใช้ความรุนแรง ผู้ละเมิดสิทธิของประชาชน มาลงโทษรับผิด แต่ความพยายามบันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้ เพื่อส่งต่อไปถึงอนุชนคนรุ่นหลัง ให้ได้รับรู้ว่าบ้านเมืองเราเคยมีเรื่องราวเหล่านี้ มีคดีความเหล่านี้ มีผู้คนที่ต่อสู้อยู่เหล่านี้ บทบาทของกองทัพและตุลาการเป็นเช่นนี้ ให้พอเป็นบทเรียนในการต่อสู้ต่อไปในภายภาคหน้า ก็เป็นหนทางหนึ่งที่พอจะลงมือทำได้อยู่บ้าง

หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามหนึ่งในกระบวนการเหล่านั้น


เชิงอรรถ

  1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. (2562). ‘5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร’
  2. ถ้อยคำ ‘ราษฎรกำแหง’ อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ ถูกเอ่ยโดยทนาย ธีรพันธ์ พันธ์คีรี ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระหว่างการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ของพี่น้องชาวบ้านบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่
  3. กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล (สัมภาษณ์). (2561). ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์: ว่าด้วยตุลาการและระบอบแห่งการรัฐประหาร’
  4. ปกป้อง จันวิทย์ และ ธิติ มีแต้ม (สัมภาษณ์). (2562). ‘ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 3: ‘ยุทธศาสตร์คือเรียกร้องศาลให้ต่อต้านรัฐประหารเชิงรับ’


หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้คือบทนำจากหนังสือ ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช.
เขียนโดย นพพล อาชามาส (บรรณาธิการเล่ม)
จัดพิมพ์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า