พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2530 เป็นกฎหมายเก่าแก่ที่บังคับใช้มานานกว่า 30-50 ปี ล้าสมัยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบเรื่องยา จึงมีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย แต่ด้วยเนื้อหาในการยกร่างเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามจากแวดวงวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอันต้องชะงักไป
ปี 2561 อย. พยายามปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยล่าสุดได้เปิดรับฟังความเห็นในช่วงวันที่ 17-31 กรกฎาคม 2561 ผ่านทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th พร้อมอ้างว่ามีความโปร่งใส ถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
หากเป็นจริงอย่างที่ อย. กล่าวอ้าง เหตุใดจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง องค์กรวิชาชีพด้านเภสัชกรรมหลากหลายสถาบันต่างพากันตบเท้าคัดค้าน ลุกลามถึงขั้นเรียกร้องให้ต้องยกเลิการเสนอร่างกฎหมายต่อไปยัง ครม. ดังเช่นเครือข่ายเภสัชกรทั่วประประเทศที่ตั้งคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ ‘ลับ-ลวง-พราง’ ของ อย. เอื้อประโยชน์ประชาชนจริงหรือ
หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ฉุดรั้งให้ประเทศถอยหลังแทนที่จะก้าวหน้า โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของระบบยา หลักการคุ้มครองผู้บริโภค และหลักการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างวิชาชีพ ซึ่งสรุปปัญหาสำคัญได้ ดังนี้
รับฟัง…แต่ไม่แก้ไข
ภายหลังจากการเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา มีความเห็นที่ลงตัวแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาสาระทั้งหมด มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ลงตัว และเชื่อมั่นว่ากฎหมายนี้มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในหลายประเด็น
ขณะที่คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาพัฒนาและติดตามกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่มีผลต่อการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม ได้มีความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ยา โดยสรุปความได้ว่า แม้ อย. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แต่กลับไม่ได้นำหลักการตามที่เสนอมาแก้ไขปรับปรุง มีเพียงการเลือกบางประเด็นมาแก้ไขปรับปรุง ทั้งยังตัดหลักการที่ดีในร่างกฎหมายฉบับที่เปิดรับฟังความคิดเห็นทิ้ง นั่นหมายถึง อย. ไม่ให้ความสำคัญกับหลักการของกฎหมาย และไม่ได้นำข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นไปทบทวนปรับปรุง
เมื่อขั้นตอนการรับฟังความเห็นไม่เป็นไปอย่างโปร่งใสเช่นนี้แล้ว จึงนำมาสู่การคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพและภาคประชาสังคมอย่างที่เกิดขึ้นขณะนี้
แบ่งประเภทยาผิดเพี้ยน
ร่าง พ.ร.บ.ยา มีการ ‘แบ่งประเภทยา’ ผิดไปจากหลักสากล โดยแบ่งออกเป็น
- ยาควบคุมพิเศษ
- ยาอันตราย
- ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ
- ยาสามัญประจำบ้าน
แตกต่างจากหลักการสากลที่แบ่งประเภทยาออกเป็น
- ยาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ (Prescription Only Medicines)
- ยาที่เภสัชกรเป็นผู้จ่าย (Pharmacy Only Medicines)
- ยาที่ประชาชนเลือกซื้อได้เอง (General sale list)
การปล่อยให้มี ‘ยาประเภทที่ 3’ (ยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ) ซึ่งมีอันตรายมากกว่ายาสามัญประจำบ้าน แต่กลับได้รับการประกาศยกเว้น และการปล่อยให้ยาอันตรายหลายรายการปรับระดับมาเป็นยาประเภทนี้ รวมทั้งเป็น ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยา
ใครๆ ก็จ่ายยาได้
ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ ถือเป็นการลดมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคลงหลายประการ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น นอกเหนือจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ มีอำนาจในการสั่งจ่ายยาได้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการธุรกิจ จะทำให้คลินิกสุขภาพสามารถอ้างเรื่องการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตขายยา และมีลักษณะการดำเนินธุรกิจในลักษณะเดียวกับร้านยา
ข้อสังเกตเรื่องนี้คือ ผู้ที่ได้รับการยกเว้นในการจ่ายยา มีมาตรฐานการควบคุมต่ำกว่าผู้รับใบอนุญาตขายยา และเมื่อทำผิดกลับได้รับโทษเบากว่าผู้รับใบอนุญาตขายยาซึ่งมีมาตรฐานสูงกว่า กล่าวคือต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท แต่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว บางกรณีมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก และระวางโทษสูงกว่า 10 เท่า
ทำเพื่อพยาบาล/รพ.สต. หรือผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพอื่น จริงหรือ?
จากเหตุผลที่ อย. หยิบยกขึ้นมาว่า การเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นมีอำนาจสั่งจ่ายยา ก็เพื่อเอื้อต่อการทำงานของพยาบาลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้สามารถจ่ายยาได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่มีกฎหมายรองรับ
ภก.ปรุฬห์ อธิบายว่า ในความเป็นจริง การผลิตยา การขายยา รวมถึงการจ่ายยานั้น เป็นการกระทำโดยกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันหรือรักษาโรค จึงได้รับการยกเว้นใบอนุญาตอยู่แล้ว ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 13 (1) (3) ดังนั้น โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง รวมถึง รพ.สต. จึงได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ คนที่ทำงานในสถานพยาบาลเหล่านี้ก็เช่นกัน การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็ได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ จึงไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายยาในส่วนนี้แต่อย่างใด
การแก้กฎหมายในส่วนนี้กลับจะทำให้คลินิก (สถานพยาบาลเอกชน) ได้รับการยกเว้นในการจ่ายยาที่เกินกว่าสมรรถนะด้านยาที่มีอยู่ และมีความเสี่ยงที่จะขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต (ทำเกินกว่าการ ‘จ่ายยาให้ผู้ป่วยเฉพาะราย’)
เปิดช่องโฆษณายาสะพัด
ในความเห็นของ ภก.ปรุฬห์ มองว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา มีการลดมาตรฐานการอนุญาตโฆษณา จากเดิมที่ต้องขออนุญาตทั้งหมด โดยเปิดช่องให้มีการจดแจ้งโฆษณาซึ่งลดระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบเนื้อหาก่อนการโฆษณา ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการได้รับโฆษณาเกินจริงนำไปสู่การซื้อยามาใช้อย่างไม่ปลอดภัย
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยา ยังลดความเข้มงวดในการตรวจสอบเภสัชชีววัตถุซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน โดยกำหนดให้ใช้วิธีจดแจ้งแทนที่จะใช้วิธีการขึ้นทะเบียนตำรับยาซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่า
เอื้อประโยชน์ใคร
อาจารย์คณะคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุด้วยว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ.ยา จะไม่คำนึงถึงหลักการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพ เพื่อช่วยกันดูแลผู้ป่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังขาดธรรมาภิบาล และมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้สถานประกอบการเอกชนมากกว่าจะมีลักษณะคุ้มครองผู้บริโภคหรือสร้างความมั่นคงด้านยา รวมทั้งขาดมาตรการควบคุมการขายยาผ่านสื่อสารสนเทศต่างๆ เช่น e-commerce, telepharmacy โดยภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.ยา จึงดูเหมือนเป็นเรื่องธุรกิจ แต่แฝงว่าต้องการคุ้มครองประชาชน
อ้างอิง: เอกสารเรื่อง ‘ถาม-ตอบ ไขประเด็นดราม่า (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่’ โดย ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ วันที่ 3 กันยายน 2561