6 ปีของ ‘บิลลี่’ จากอุ้มหายสู่หมายจับแต่ไม่ฟ้อง บิลลี่หายอีกครั้ง

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงผลการตรวจสอบดีเอ็นเอหัวกะโหลกและโครงกระดูกมนุษย์ปริศนาที่พบภายในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งจมอยู่ใต้สะพานแขวน บริเวณใกล้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังมีการยืนยันเมื่อ 2 กันยายน 2562 ว่าโครงกระดูกที่พบเป็นหลักฐานสำคัญที่อาจโยงไปถึงคดีอุ้มหาย ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

โดยวันที่ 3 กันยายน 2562 ผศ.นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาตร์ ระบุว่า กระดูกที่พบคือชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ค่อนมาทางหู มีรอยไหม้และแตกร้าวจากการเผา ซึ่งเป็นกระดูกส่วนสำคัญ เมื่อพบอยู่นอกร่างกายก็แน่ชัดแล้วว่าเจ้าของร่างเสียชีวิต จากการตรวจไมโทคอนเดรียหรือชิ้นส่วนหนึ่งของเซลล์มนุษย์ที่มีความพิเศษตรงที่จะส่งต่อผ่านแม่สู่ลูกเท่านั้น พบว่าตรงกับดีเอ็นเอของแม่บิลลี่

นอกจากนี้ยังบอกได้ว่า เจ้าของกระดูกเสียชีวิตนานพอสมควร แต่ยังไม่แน่ใจว่าตรงกับช่วงเวลาที่บิลลี่หายตัวไปหรือไม่ ต้องรอประสานกับผู้เชี่ยวชาญทางกระดูกอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม DSI ตรวจสอบแล้วไม่ใช่กระดูกของพี่น้องบิลลี่แน่นอน เนื่องจากคนอื่นๆ ยังมีชีวิตอยู่ครบ

นอกจากกระดูก พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยืนยันว่าถังน้ำมันถูกเผาด้วยความร้อน ภายในถังพบเหล็กเส้นและเศษไม้ที่มีรอยเผาไหม้เช่นกัน พ.ต.ท.กรวัชร์กล่าวว่า “ไม่ว่าใครก็ตามที่กระทำความผิด จะต้องถูกดำเนินคดีโดยเด็ดขาด” ทั้งนี้ ทาง DSI มีรายชื่อผู้ต้องสงสัยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของสำนวนคดี

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้ว่าเป็นคดีฆาตกรรม และขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานเพิ่มเติม เพราะชิ้นส่วนกระดูกไม่ใช่หลักฐานชิ้นเดียวที่จะชี้ไปหาผู้กระทำผิดได้ ต้องอาศัยพยานแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมา DSI ทำงานค้นหาพยานหลักฐานต่างๆ มาโดยตลอด เช่น กล้องวงจรปิด เพียงแต่ไม่ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเช่นครั้งนี้

เป็นเวลานานกว่า 5 ปีแล้วที่ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่เฝ้าทวงถามและรอคอยการกลับมาของสามี หลังมีผู้พบบิลลี่ครั้งสุดท้ายที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 และยังมีผู้พบเห็นว่าบิลลี่ถูก นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ควบคุมตัวในข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่า 3 ขวด แต่นายชัยวัฒน์อ้างว่าเพียงแต่เรียกมาตักเตือน และปล่อยตัวไปแล้ว

วันที่ 24 เมษายน 2557 ภรรยาของบิลลี่ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ข้อหาควบคุมตัวบิลลี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังคงถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัว แต่ถูกยกคำร้องในวันที่ 2 กันยายน ปีเดียวกัน

วันที่ 16 มกราคม 2560 DSI มีมติไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ ด้วยเหตุผล 3 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง-ยังหาข้อสรุปจากการสืบสวนไม่ได้ สอง-อาจสอบสวนได้ในกรณีพบร่างของบิลลี่เท่านั้น และสาม-พิณนภาไม่มีสิทธิยื่นเรื่องร้องเรียน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรส

อย่างไรก็ตาม DSI ยอมรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 และเริ่มสอบสวนหาหลักฐาน เช่น นำเครื่องใช้ ก้นบุหรี่ และตัวอย่างเส้นผมของบิลลี่และลูกชาย ไปตรวจเทียบ DNA กับคราบเลือดที่พบในรถของเจ้าหน้าที่อุทยาน แต่ตัวอย่างเลือดน้อยเกินไป ทำให้สามารถระบุได้อย่างมากแค่เพียงเจ้าของเลือดเป็นเพศชายเท่านั้น

ญาติเชื่อว่าบิลลี่ถูกอุ้มหายเนื่องจากเคยช่วยเหลือ ปู่คออี้ – โคอิ มีมิ และชาวบ้านฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานเผาไล่ที่ชาวกะเหรี่ยงเมื่อปี 2554

คดีการหายตัวไปของบิลลี่ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังไม่ยอมรับการจดทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 เนื่องจากยังไม่สามารถจัดการความขัดแย้งระหว่างรัฐและชุมชนพื้นเมืองได้

5 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสได้สัมภาษณ์ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงความคืบหน้าพบหลักฐานสำคัญคือกระดูกของบิลลี่ในถังน้ำมัน โดยนายชัยวัฒน์ กล่าวว่า “ผมพูดได้เลยนะ คนทำก็ชั่วสุดๆ แล้ว คนทำก็ชั่วสุดๆ แล้วนะ ทำเอาคนยัดถังแล้วเผาเนี่ยชั่วสุดๆ นะ มีเหล็กเสียบด้วยนะ ไอ้คนทำเนี่ยทั้ง เ..ยทั้งชั่วเลยนะ ไอ้คนสร้างสถานการณ์ เ..ยกว่านี้อีก ผมบอกให้”

หลังจากนั้น 16 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติย้าย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม โดยอธิบดี DSI ออกมาชี้แจงว่าเป็นเพียงการย้ายเพื่อรับตำแหน่งราชการที่สูงขึ้น และไม่ได้มีผลกระทบต่อการทำคดี ในขณะที่วันเดียวกัน สำนักข่าวข่าวสดรายงานข่าวลือว่า คณะผู้เกี่ยวข้องกับการสังหารบิลลี่เดินทางเข้าพบ ‘ผู้ใหญ่’ ในทำเนียบรัฐบาลเพื่อหวังให้ยุติการสอบสวนคดีดังกล่าว แต่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในขณะนั้นออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

เช้าวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนเดินทางไปยังศาลอาญาเพื่อขออนุมัติหมายจับ ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ และพวกรวม 4 ราย โดยชัยวัฒน์เป็นอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งเคยออกคำสั่งควบคุมตัวบิลลี่ไว้ และเชื่อว่าเป็นผู้พบเห็นบิลลี่คนสุดท้ายก่อนหายตัวไป

ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม 2563 ชัยวัฒน์ ได้เดินทางยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ร้องขอความเป็นธรรมอัยการในการสั่งคดี ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2563 อัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องชัยวัฒน์ กับพวกรวม 4 คน ข้อหาฆ่าบิลลี่ โดยสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาเป็นเจ้าหน้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โดยระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ดีเอสไอสามารถยื่นแย้งกลับมายังอัยการได้ โดยที่ไม่ต้องหาพยาน หลักฐานใดมาเพิ่ม เพียงแค่ทำเรื่องยื่นแย้ง โดยระบุว่าเอกสารพยาน หลักฐานที่มีอยู่มีน้ำหนักมากพอที่จะฟ้องในคดีนี้ โดยขั้นนี้อัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณา โดยกฎหมายไม่ได้ระบุระยะเวลาที่จะยื่นแย้ง แต่หากจะทำ ขอให้ดีเอสไอคำนึงถึงระยะเวลาของคดีความด้วย

ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2563 มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายบิลลี่ได้เข้ามาร่วมรับฟังการชี้แจงของสำนักงานอัยการสูงสุด และได้ยื่นหนังสือต่อนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (รองโฆษกอสส.) เพื่อขอให้ชี้แจงเหตุผลที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องชัยวัฒน์เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะข้องใจว่าเหตุใดอัยการเร่งรัดสั่งไม่ฟ้องแทนที่จะสั่งให้ดีเอสไอไปสอบสวนเพิ่มเติม นายประยุทธชี้แจงว่า

เพราะคดีอาญาสามารถฟ้องได้ครั้งเดียว ถ้าอัยการฟ้องไป หลักกฎหมายใช้ระบบกล่าวหา อัยการต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นให้ได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกฆ่านายบิลลี่ ถ้าเรานำสืบไม่ได้ เพียงแต่สงสัยนิดเดียว ประโยชน์แห่งความสงสัย ศาลจะยกให้นายชัยวัฒน์กับพวก โอกาสจะยกฟ้องมีสูง ดังนั้นถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องกระบวนการของศาลยังไม่เริ่มต้น ภายในอายุความ 20 ปี หากมีพยานหลักฐานใหม่อัยการสามารถหยิบมาฟ้องใหม่ได้

 

หมายเหตุ:

อ่านเรื่องราวของผู้ที่ถูกอุ้มหายคนอื่นๆ ต่อได้ที่ ‘คดี ‘อุ้มหาย’ ในความเงียบงันของรัฐไทย’

อ่านกรณีอัยการคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ได้ที่ สุรพงษ์ กองจันทึก: คืนความยุติธรรมให้บิลลี่ คืนความยุติธรรมให้ผู้คน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า