เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพ: สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews)
ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากคำคุ้นหูอย่างไทยแลนด์ 4.0 แล้ว ยังมีคำที่กำลังจะเป็นปัญหาตามมาหลังจากนี้ อย่าง ‘ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ และ ‘ป่าเศรษฐกิจ’ ซึ่งอาจฟังดูไม่ได้ข้องเกี่ยวอะไรกับเรานัก ทว่าชุดคำต่างๆ เหล่านั้นล้วนเกี่ยวพันกับปัญหาปากท้อง ความเท่าเทียม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนับวันก็ยิ่งทวีความซับซ้อนระหว่างการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยไม่อาจเทน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งได้อีกต่อไป
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเปิดตัวหนังสือ เมื่อปลาจะกินดาว ซึ่งดำเนินมาเป็นปีที่ 15 ภายใต้หัวข้อ ‘สิ่งแวดล้อม 4.0 ยุทธศาสตร์ชาตินี้หรือชาติหน้า’ โดยในงานนอกจากจะมีการเปิดตัวหนังสือ คลิปสารคดี ยังมีนิทรรศการภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมจากกลุ่มช่างภาพในนาม ‘1FOTOS’ พร้อมด้วยวงเสวนาพูดคุยว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในวงเสวนาที่น่าสนใจคือ ‘เศรษฐกิจ 4.0 กินได้ หรือแค่นโยบายปากเปล่า’ โดยได้เชิญทั้งนักแสดงที่ผันตัวมาเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นักวิชาการสาวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นักเคลื่อนไหวเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ที่จะมาอธิบายเบื้องลึกเบื้องหลังโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตลอดจนตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตกของประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ
นโยบาย 4.0 และกับดักของการพัฒนา
หลังจากอธิบายถึงเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยนับตั้งแต่ยุค 1.0 2.0 3.0 มาจนถึง 4.0 เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน TDRI ตอบคำถามตั้งต้นในประเด็นการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ว่า หากทำเช่นนั้นได้จริงก็จะเกิดประโยชน์ในระยะยาว เพราะที่ผ่านมามีการพูดกันมากในเชิงเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหมายความถึงการพัฒนาที่มุ่งตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน โดยจะต้องไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อคนในรุ่นอนาคต
“หัวใจสำคัญก็คือ การทำให้เกิดความสมดุลระหว่างทางเลือกของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งสามสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน”
ในขณะที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสาวรัจมองว่า ก่อนจะไปถึงจุดนั้น รัฐบาลควรจะหวนกลับมาทบทวนก่อนว่า ภายใต้นโยบายที่มุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามคำประกาศของหัวหน้า คสช. ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ได้สอบถามชาวบ้านในพื้นที่บ้างหรือยัง พวกเขาต้องการนโยบายเช่นนี้จริงหรือไม่ ไม่เพียงแต่ผู้คนในพื้นที่เท่านั้น ผู้คนนอกพื้นที่อย่างตัวนักลงทุนเองก็ใช่ว่าจะสนใจเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลเสนอ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังนั้น นโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การใช้แรงงานและการจ้างงานจึงอาจไม่ตอบโจทย์
บทเรียนจากอีสเทิร์นซีบอร์ด
หากมองในภาพรวม เสาวรัจไม่ปฏิเสธว่า นโยบายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกถือเป็นนโยบายที่ดีในแง่การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับ ทั้งท่าเรือ สนามบิน รวมถึงอยู่ไม่ไกลนักจากกรุงเทพฯ กระนั้นเสาวรัจมองว่า ภาครัฐอาจต้องทบทวนก่อนว่า แม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่อย่าลืมว่าภาคตะวันออกเคยมีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดมลภาวะทั้งทางน้ำและอากาศ
“แล้วพอมาประกาศเรื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คนตะวันออกก็แหยงว่ามันจะไปซ้ำรอยเดิมหรือเปล่า”
กับคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ เสาวรัจถามต่อไปอีกว่า เป็นไปได้ไหมที่จะผลักดัน EEC ให้เป็นโครงการเศรษฐกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
“ก่อนจะเดินหน้า EEC ควรต้องใส่ใจว่า เราได้เรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมาในอดีตหรือเปล่า การที่จะขยายท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบังด้วยการถมทะเล นั่นหมายความว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อชาวประมง และแม้จะมีการตั้งตลาดประมงพื้นบ้าน แต่ก็มีคำถามว่า เขาเคยไปคุยกับชาวบ้านหรือยังว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ ไหม
“หัวใจสำคัญของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐก็คือ ต้องดึงประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น ไม่ใช่การที่รัฐบาลบอกว่าเป็นสิ่งที่ดี แล้วทำลงไปโดยไม่ฟังเสียงคนในพื้นที่ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ ถ้าหากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะลงทุนไปกี่แสนกี่หมื่นล้าน สุดท้ายแล้วก็จะไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นักวิชาการจาก TDRI กล่าว
เศรษฐกิจสามขา
ลำดับถัดมา ในฐานะ ‘เสียง’ ของชาวบ้าน กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง กล่าวว่า ในการตรวจสอบติดตามโครงการพัฒนาของรัฐ อาจจำเป็นต้องย้อนกลับไปทบทวนอีสเทิร์นซีบอร์ด เช่นเดียวกับที่เสาวรัจนำเสนอ เพราะแม้จะเป็นโครงการที่สร้างตัวเลขทางอุตสาหกรรมสูงมาก แต่ผลกระทบที่ตามติดมานั้นกลับไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก เช่น ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มขึ้น และคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำลง
“แม้ภาคตะวันออก เช่น ระยอง จะมีตัวเลขรายได้ประชากรต่อหัวสูงที่สุดในประเทศ แต่ความเหลื่อมล้ำก็มีสูงเช่นเดียวกัน”
นอกจากนี้ กัญจน์กล่าวต่ออีกว่า แต่เดิมเศรษฐกิจภาคตะวันออกพึ่งพา ‘ขาทั้งสาม’ ที่ประกอบไปด้วยภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบันกลับมีการลงทุนเน้นหนักแต่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก กลายเป็นว่าภาคอุตสาหกรรมผูกขาดทางเศรษฐกิจไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ คือภาคบริการและภาคเกษตรกรรม ด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันเช่นนี้จึงไม่ใช่คำตอบของการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต
“ถ้าจะเริ่ม EEC เราต้องมาจัดการปัญหาอีสเทิร์นซีบอร์ดให้ดีเสียก่อนว่ามันไปได้แค่ไหน แล้วไม่ใช่แค่ด้านอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการท่องเที่ยวด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำบางปะกงที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และนี่คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่คนภาคตะวันออกจะมีส่วนร่วมได้อย่างยั่งยืน”
ไม่เพียงแต่ประเด็นการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงชาวบ้าน กัญจน์ยังมองไปถึงเป้าหมายเศรษฐกิจ 4.0 ที่แท้จริงควรเป็นการดึงเอาศักยภาพของคนในภาคตะวันออกมาพัฒนาให้เป็นจุดแข็ง ไม่ใช่พึ่งพาแต่เทคโนโลยีไฮเทค แต่กลับลดการจ้างงานคนในพื้นที่
ความเป็นไปได้ของธุรกิจสีเขียว
ในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำงานร่วมกับชุมชน พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร เจ้าของธุรกิจ Eco Shop กล่าวว่า มีทั้งความเป็นไปได้มากและเป็นไปได้น้อยต่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานที่ว่า ถ้าทำดีก็ย่อมจะมีคนเห็น ทว่าจากประสบการณ์ คนที่มาซื้อสินค้าก็จะมาซื้อเพียงชิ้นเดียวเหมือนกับช่วยอุดหนุนเพียงครั้งคราว ซึ่งจะส่งผลดีแค่ในช่วงต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นคนที่ซื้อก็อาจมองว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น ถ้าสินค้านั้นไม่ตอบโจทย์บางอย่างที่ลูกค้าต้องการ เช่น ความเท่ กับราคาที่เหมาะสม ส่วนการตอบโจทย์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมกลับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญรองลงมา
พิพัฒน์กล่าวต่อว่า เขาเรียนรู้เรื่องนี้จากการออกบูธขายสินค้า eco desize ที่ฝรั่งเศส โดยโฆษณาว่านี่เป็นสินค้าที่ถูกออกแบบมาจากพื้นฐานของการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำหรับที่นั่น หรือโลกข้างนอกประเทศไทย ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่นักออกแบบจะต้องคำนึงอยู่ในสามัญสำนึกอยู่แล้ว เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่จะหมดไปเรื่อยๆ หากเราไม่ทำอะไรบางอย่าง ดังนั้น ในแง่สิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งนี้ไม่ควรนำมาเป็นจุดขายด้วยซ้ำ
ทว่าเมื่อหวนกลับมามองยังประเทศไทย ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมักซื้อด้วยเหตุผลของการ CSR มากกว่า ดังนั้น นักพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงชาวบ้านเกษตรกรที่ต้องการขายสินค้าในเชิงอนุรักษ์ อาจจำเป็นต้องทบทวนก่อนว่า กลุ่มเป้าหมายลูกค้าเป็นใคร
“บางคนทำสินค้ามาได้แค่สิบชิ้น แต่ถ้าลูกค้าต้องการซื้อสักพันชิ้นล่ะ คุณจะทำยังไง เศษวัสดุมีอยู่แค่นี้ หมดแล้ว ถ้าหากคุณไม่ได้คิดแบบอื่น สุดท้ายคุณก็จะตายไปในธุรกิจนี้ กลายเป็นว่าผู้บริโภคก็จะไม่ค่อยมีตัวเลือกในการซื้อ หรือถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อในราคาที่สูง มันจึงกลายเป็นว่า ถ้าคิดจะรักสิ่งแวดล้อม ก็ต้องจ่ายแพงกว่าชาวบ้านชาวช่องเขาด้วย ซึ่งเป็นวงจรธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์สังคมไทย”
ป่าเศรษฐกิจบนการรื้อไล่ชาวบ้าน
ในประเด็นการอนุรักษ์ป่าไม้ ยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ไม่ว่ายุคต่อไปจะเป็นเศรษฐกิจ 4.0 หรือ 0.4 ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ภาครัฐ ประชาชน และภาคธุรกิจ จะต้องคำนึงถึงก็คือ ผืนป่าอนุรักษ์ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนป่าทั้งประเทศ ขณะที่รัฐต้องการเพิ่มให้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยใน 5 เปอร์เซ็นต์ที่จะเพิ่มขึ้นมา คือป่าเศรษฐกิจที่รัฐมองว่าจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศ
“มันหลีกเลี่ยงไม่ได้นะครับว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์หรือป่าชุมชน จากบทเรียนที่ผมทำงานในผืนป่าภาคตะวันตก 128 ชุมชนที่เคยอาศัยอยู่ในเขตป่าก่อนที่จะถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เมื่อชาวบ้านถูกผลักดันออกจากป่า เขาจะไปอยู่ที่ไหน กลายเป็นปัญหาอีก ทางเดียวที่จะอยู่ร่วมกันได้ก็คือ ต้องให้เขาหาอยู่หากินโดยมีการสร้างกติกา สร้างระเบียบ ให้องค์ความรู้เข้าไป เพื่อที่เขาจะได้อยู่ร่วมกับป่าแล้วมีส่วนในการอนุรักษ์ด้วย”
สิ่งที่ยุทธนาพยายามทำทุกวันนี้คือ การเข้าไปสำรวจเรื่องรายได้ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่า โดยได้คำตอบกลับมาว่า สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ดีที่สุดก็คือ เกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวโพด เพราะเป็นพืชปลูกง่าย โตเร็ว มีนายทุนรับซื้อแน่นอน แต่ทุกวันนี้ข้าวโพดแทบจะล้นตลาด
“มันกล้ำกลืนนะ คือถ้าไม่ทำ ก็ไม่รู้จะทำอะไร”
ดังนั้น ยุทธนาจึงต้องการเปลี่ยนความคิดของชาวบ้านให้หันกลับมามองทรัพยากรที่พวกเขามีในแต่ละพื้นที่ บางพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านสมุนไพรก็นำเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปช่วยพูดคุย เพื่อให้เกิดกลุ่มก้อนที่รวมตัวกันขึ้น ภายใต้การร่วมมือของ 4 องค์กร ทั้งในส่วนของเกษตรกร กลุ่มธุรกิจที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมูลนิธิสืบฯ เพื่อสร้างกติกาและข้อตกลงร่วมกัน
“จะทำยังไงล่ะในเมื่อพวกคุณอยู่กับต้นไม้ ถ้ายังใช้สารเคมี คุณก็เหมือนคนอื่นทั่วไป คุณไปขายก็สู้เขาไม่ได้หรอก เพราะคุณอยู่ไกลกว่า แต่พอเราเอาความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์เข้าไปส่งเสริม คุณค่าผลผลิตก็เพิ่มขึ้น นอกจากทำให้สุขภาพตัวเองปลอดภัยแล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”