8 ปีแล้วนะ ประยุทธ์ยังปฏิรูปประเทศไม่เสร็จ เครือข่ายคนดีผลาญเงินภาษี 1,700 ล้าน

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ‘ปฏิรูปประเทศ’ คือเป้าหมายหลักของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สอดคล้องกับข้อเรียกร้อง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ของกลุ่ม กปปส. ในเวลานั้น

ผ่านไป 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ไม่เพียงแต่เผชิญปมการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ หากแต่เผชิญเดดไลน์ของแผนปฏิรูปประเทศด้วย

14 กันยายน ที่ผ่านมา รายงานจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เผยว่า 8 ปี คสช. ปฏิรูปล้มเหลว เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมเพื่อสืบทอดอำนาจ

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายติดตามกฎหมายและรณรงค์ของ iLaw กล่าวว่า “การปฏิรูปประเทศเป็นเหมือนอุตสาหกรรมการปฏิรูปที่สร้างงานและรายได้ให้กับเครือข่ายของ คสช. ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 สืบเนื่องจนถึงปี 2565 ดังจะเห็นได้ว่า มีคนหน้าซ้ำในเครือข่ายของ คสช. เข้ามานั่งทำหน้าที่ปฏิรูปตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยใน 5 ปีหลัง นับแต่ตั้งมีรัฐธรรมนูญ 2560 เราต้องจ่ายค่าเบี้ยประชุมให้กรรมการปฏิรูปประเทศไม่น้อยกว่า 64 ล้านบาท แต่ผลงานการปฏิรูปกลับไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง และถ้าย้อนไปถึงปี 2557 เราลงทุนไปในอุตสาหกรรมปฏิรูปไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาท”

แผนการปฏิรูปประเทศมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในปี 2565 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุ หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ระบุถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งมีเป้าหมายดังนี้

(1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ 

(2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ 

(3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อสังเกตคือ แผนปฏิรูปประเทศเป็นเพียง ‘แผนรอง’ ของ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ที่เป็น ‘แผนหลัก’ ทว่าแผนปฏิรูปประเทศกลับประกาศใช้ก่อนยุทธศาสตร์ชาติ มากไปกว่านั้น หลังประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศในวันที่ 6 เมษายน 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับมีมติให้ปรับปรุงแผนดังกล่าว ในวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ซึ่งกินระยะเวลาอีกกว่า 1 ปี 4 เดือน แล้วจึงประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ฉะนั้น จึงมีเวลาทำให้เห็นผลเพียง 1 ปี 10 เดือน ตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560

“การปฏิรูปตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เป็นวาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศของ คสช. เท่านั้น ผลงานการของการปฏิรูปที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงละครปาหี่ที่มีตัวแสดงหน้าซ้ำเข้าไปมีบทบาทในการปฏิรูปโดยใช้ทรัพยากรที่มาจากภาษีประชาชน โดยไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงเลย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรับรู้รับทราบว่ามีการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นตลอด 8 ปีที่ผ่านเลย” รัชพงษ์ กล่าวปิดท้าย 

ข้างต้นคือ มรดกการรัฐประหาร 2557 ที่การปฏิรูปเป็นเพียงคำที่มีความหมายอย่างกว้างๆ จำต้องใช้ความพยายามเป็นอันมากในการหาสาระสำคัญ ซึ่งผลของปฏิรูปตลอด 5 ปี นับแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ อาจทำให้เราๆ วินิจฉัยเบื้องต้นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรมีชะตาทางการเมืองอย่างไร

สภาปฏิรูปแห่งชาติ: ปฐมบทของการปฏิรูป

ย้อนไปในปี 2557 หัวหน้า คสช. แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดย สปช. มีบทบาทหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำและเสนอแนวทางเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครม. คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเสนอความเห็นและให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ

การทำหน้าที่ของ สปช. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ตลอดระยะเวลาการทำงาน สปช. มีรายงานข้อเสนอ 62 เล่ม แยกย่อยเป็นข้อเสนอกว่า 505 ข้อ ซึ่งล้วนมีลักษณะเป็น ‘ยาครอบจักรวาล’ คือ

  • ทุกข้อดูสำคัญเท่ากันหมด
  • เป็นนามธรรม ไม่มีรายละเอียด
  • ไม่มีอะไรใหม่
  • เน้นรวมศูนย์อำนาจ แก้ปัญหาด้วยการตั้งหน่วยงาน
  • เสนอแก้กฎหมายกว่า 150 ฉบับ และออกกฎหมายใหม่กว่า 100 ฉบับ
  • เชื่อมั่นในคนดีมีศีลธรรม

สิ่งที่น่าเจ็บใจมากกว่าการหาสาระไม่ได้จากผลงานของ สปช. คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินงานกว่า 716,474,700 บาท (ประกอบด้วยเงินเดือนของคณะทำงานและงบปฏิบัติการ) เพื่อ ‘ศึกษาและเสนอแนะ’ จัดทำเป็นรายงานแยกตามวาระการปฏิรูปจำนวน 62 เล่ม และส่งมอบแก่ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ถือเป็นวันสิ้นสุดการทำงานกว่า 11 เดือน ของ สปช.

คำนวณคร่าวๆ ได้ว่า ข้อเสนอหนึ่งมีมูลค่าถึง 1.4 ล้านบาท (จากงบกว่า 716 ล้าน หารด้วย 505 ข้อเสนอ) และหนึ่งในนั้นคือ ‘เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามกีฬา’ โดยจัดการแข่งขันกีฬาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ‘เฟ้นหาผู้นำทางจิตวิญญาณ’ (นักปราชญ์ทางด้านศาสนาที่พร้อมทั้งความดี ความเก่ง และความเป็นนักปฏิบัติการ) อย่างน้อย 1 คนต่อโรงเรียนหรือชุมชน

สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ: ร่างสองของยาครอบจักรวาล

เมื่อ สปช. สิ้นสุดหน้าที่ การสานต่ออุดมการณ์ปฏิรูปประเทศย่อมต้องมีทายาท สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์นั้น 

บทบาทหน้าที่ของ สปท. คือ ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำและเสนอแนวทางปฏิรูปด้านต่างๆ ต่อ สนช. ครม. คสช. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ลักษณะการทำงานไม่ต่างกับ สปช.) 

สปท. ทำงานร่วม 22 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2558 ถึง กรกฎาคม 2560 ผลิตรายงาน 131 ฉบับ พร้อมข้อเสนอกว่า 1,342 ข้อ และจัดทำร่าง พ.ร.บ. กว่า 62 ฉบับ โดยการดำเนินงานของ สปท. ใช้เม็ดเงินกว่า 1,072,845,000 บาท

มากไปกว่านั้น จากจำนวนสมาชิกของ สปท. ทั้งหมด 200 คน มีหน้าเก่าจาก สปช. ทั้งสิ้น 61 คน คิดเป็นร้อยละ 30.5 ของสมาชิกทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดข้อเสนอของ สปท. จึงมีความนามธรรมเฉกเช่น สปช. ราวคัดลอกข้อสอบ สิ่งที่น่าตกใจคือ บางข้อเสนอของ สปท. ไม่มีงานวิชาการรองรับ เช่น รายงานการพัฒนาและบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนดี โดยที่ไม่มีงานวิชาการรับรองว่า สาเหตุของปัญหาคืออะไร และข้อเสนอนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างมีนัยสำคัญได้หรือไม่

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ: ภารกิจหนักหน่วง ค่าตอบแทนจึงต้องสมน้ำสมเนื้อ

‘หมวดปฏิรูป’ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับใด เว้นแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ของ คสช. เมื่อ ‘สภาวิชาการ’ อย่าง สปช. และ สปท. หมดวาระแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 หมวดปฏิรูป ก็กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปในแต่ละด้านขึ้นมาสืบทอดทายาทต่อ

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะถูกแต่งตั้งจาก ครม. ซึ่ง ครม. ณ ตอนนั้น คือ ครม. ของ คสช. โดยมีหัวหน้า คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศถูกกำหนดให้มีอย่างน้อย 10 ด้าน แต่ละด้านจะมีประธานกรรมการฯ 1 คน และกรรมการฯ ไม่เกิน 13 คน บทบาทหน้าที่คือจัดทำแผนและขั้นตอนปฏิรูปในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ตามที่ ครม. กำหนด โดยจะดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี

ในระยะเวลาเพียง 5 ปี หลังรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ 2 ชุดด้วยกัน ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย ครม. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จากการสำรวจรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปฯ พบว่า 40% ของคณะปฏิรูปทั้งหมด เคยทำงานร่วมกับ คสช. ตั้งแต่ 2557 ในองค์กรอย่าง สปช. สปท. และ สนช. นอกจากนี้ วันที่ 14 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ยังเป็นวันครบกำหนดวาระของคณะกรรมการปฏิรูปฯ

นับแต่ 1 กันยายน 2560 ถึง 1 เมษายน 2563 ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ระบุว่า คณะกรรมการปฏิรูปมีการประชุมไม่น้อยกว่า 548 ครั้ง และมีการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมไม่ต่ำกว่า 30,826,500 บาท

ต่อมาคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติมีมติเห็นชอบปรับปรุงค่าตอบแทนคณะกรรมการปฏิรูปฯ โดยปรับค่าตอบแทนเพิ่มร้อยละ 20 พร้อมเหตุผลว่า การจ่ายเบี้ยประชุมรายครั้งมีค่าใช้จ่ายมหาศาล จึงเปลี่ยนเป็นจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนและปรับเพิ่มตามความเหมาะสมของภารกิจ

ทำให้ตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2563 ถึง 14 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการปฏิรูปฯ จำนวน 185 คน ได้รับค่าตอบแทนรายเดือนรวมทั้งสิน 33,885,500 บาท และหากสรุปรวมงบประมาณค่าตอบแทนของคณะกรรมการปฏิรูปฯ นับจากการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปชุดแรก คิดเป็นเงินถึง 64,711,500 บาท

8 ปีผ่านไป ปฏิรูปถึงไหน

หลังจากแผนปฏิรูปประเทศฉบับแรกประกาศใช้ในปี 2561 พบว่ามีปัญหาหลายประการ เช่น การขาดตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นสากล ประเด็นการปฏิรูปส่วนใหญ่มิได้เป็นสิ่งใหม่ ปัญหาเริ่มก่อรูปชัดเจนขึ้นใน ‘รายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศปี 2562

รายงานชี้ว่า ประเด็นการปฏิรูป 12 ด้าน คิดเป็น 173 เรื่อง มีประเด็นที่ยังไม่มีการดำเนินการเป็นรูปธรรม จำนวน 26 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 15 และประเด็นที่อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่มีแนวโน้มจะไม่บรรลุเป้าหมาย 77 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 44 เมื่อมองจากตัวเลข แผนปฏิรูปประเทศจึงออกอาการน่าเป็นห่วง

3 ธันวาคม 2562 ครม. จึงมีมติให้ปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ จากนั้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 จึงจะคลอด ‘แผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง’ ในแผนฉบับนี้ มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ชัดเจนมากขึ้น ตัดกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนกับความรับผิดชอบของหน่วยงานออก และจัดหมวดหมู่ประเด็นการปฏิรูปเดิมเสียใหม่ นอกจากนั้น ยังมีประเด็นการคัดเลือกเฉพาะกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock)

หากตรวจสอบความคืบหน้าแล้ว จะพบว่า ภายใต้โครงการ ‘Big Rock’ ทั้งสิ้น 1,019 โครงการ 62 กิจกรรม แบ่งการดำเนินการ 3 ระดับคือ ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 148,633,826,526 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กันยายน 2565)

ใน ‘รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564)’ ระบุว่า ความคืบหน้าของ Big Rock สามารถดำเนินไปตามแผน 55 กิจกรรม และล่าช้ากว่าแผน 7 กิจกรรม ซึ่งเป็นประเด็นการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ แม้ดูเหมือนมีความคืบหน้าอยู่บ้าง หากแต่เป็นไปในแง่ของความสำเร็จในด้านการดำเนินงานเสียมากกว่า เพราะกรอบเวลาการดำเนินกิจกรรมถูกกำหนดไว้ภายในปี 2565 ซึ่งหมายความว่า การดำเนินงานจำต้องสัมฤทธิ์ผล

เมื่อมองที่รายละเอียดจะพบว่า แม้แต่ ‘ความคืบหน้า’ ก็ดูมีปัญหา เพราะดัชนีตัวชี้วัดที่ใช้ในแผนปรับปรุง ถึงจะมีความเป็นสากลมากขึ้น หากแต่การกำหนดเกณฑ์ก็มีลักษณะตัดช่องน้อยแต่พอตัว

ตัวอย่างคือ แผนปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการใช้อันดับของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยตั้งเกณฑ์ว่าไทยต้องอยู่ในอันดับสูงกว่า 50 ของโลก ซึ่งจะพบว่าใน Sustainable Development Report 2562 หรือก่อนที่จะประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง ไทยอยู่อันดับที่ 40 หมายความว่า ประเทศไทยทำได้ตามเป้าก่อนที่จะมีการกำหนดตัวชี้วัดเสียอีก ทว่าหลังจากนั้น อันดับของไทยกลับตกลงเรื่อยๆ ตั้งแต่แผนปฏิรูปประเทศประกาศใช้ โดยในปี 2565 ไทยตกมาอยู่อันดับที่ 44

กระนั้น ในบางตัวชี้วัดแม้จะกำหนดเกณฑ์ไว้ค่อนข้างต่ำ แต่ก็ยังไม่บรรลุผล เช่น ตัวชี้วัดในแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองที่มีการใช้ Democracy Index ของ The Economist Intellignce Unit (EIU) โดยตั้งเป้าหมายในปี 2564 ที่ระดับ 6.75 เทียบเท่ากับค่าการเป็นประเทศ ‘ประชาธิปไตยบกพร่อง’ (flawed democracy) ทว่าใน 2564 กลับไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น เพราะมีคะแนนเพียง 6.04 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ นับแต่การเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ซึ่งหากอยู่ระดับต่ำกว่า 6 คะแนน จะถูกจัดเป็นประเทศ ‘ระบอบผสม’ (hybrid regime)

คำถามคือ การปฏิรูปประเทศด้านการเมือง คือการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่ระบอบใดกันแน่ หากเป็นด้านตรงข้ามของประชาธิปไตย ก็ถือว่าคณะปฏิรูปฯ ทำหน้าที่ได้ดีสมเงินเดือนทีเดียว และเป็นไปตามเป้าของคณะรัฐประหาร

ใกล้ถึงเส้นตายแผนปฏิรูปกับความแตกต่างที่เหมือนเดิม

สรุปแล้ว ประเด็นของการปฏิรูปมิได้มีสิ่งใดใหม่ มีเพียงการเล่นคำและตัวชี้วัดที่ดูทันสมัย ลักษณะการแก้ไขปัญหาก็เป็นเพียงการตั้งหน่วยงานรับผิดชอบ จัดกิจกรรมเสวนา อบรม สัมมนา หรือทำสื่อเผยแพร่ลองช่องทางต่างๆ การปฏิรูปฯ จึงอาจไม่มีความแตกต่างจากภารกิจของหน่วยงานราชการเท่าใดนัก

เป้าหมายหลัก: ปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

เป้าหมายย่อย: ส่งเสริมพัฒนาพรรคการเมือง

หน่วยงานรับผิดชอบ: คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ตัวอย่างความคืบหน้า:

  • จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสืออาสา กกต. เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย จำนวน 1 ครั้ง
  • ผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คู่มือประชาชน และแผ่นพับ
  • ผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเลือกตั้ง

เป้าหมายหลัก: ปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ

เป้าหมายย่อย: การพัฒนาระบบคลังข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการจัดการ Fake News

หน่วยงานรับผิดชอบ: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ตัวอย่างความคืบหน้า: 

  • การดำเนินการในภาพรวมของกิจกรรม BR0801 ส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่กำหนด แต่บางโครงการเป็นการจัดอบรม ทำให้การดำเนินการอาจล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 (ข้อมูลจาก https://thailandbigrock.sto.go.th/main/user/login)

30 กันยายน 2565 คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยปมการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งการตีความระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอาจนับได้อย่างน้อย 3 แนวทาง โดยแต่ละแนวทางจะชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลงจากเก้าอี้ช้าหรือเร็ว

แนวทางที่หนึ่ง – นับตั้งแต่ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. จะหลุดจากตำแหน่ง สภาฯ จะเลือกนายกฯ คนใหม่จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตอนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่งผู้มีคุณสมบัติ (ข้อมูลวันที่ 18 กันยายน 2565) ได้แก่ ชัยเกษม นิติสิริ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากบัญชีพรรคภูมิใจไทย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ แต่สมาชิกทั้งสองสภาสามารถเข้าชื่อเสนอนายกฯ คนนอกได้ แต่ถึงอย่างไร นายกฯ คนใหม่จะดำรงตำแหน่งได้ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 เท่านั้น 

แนวทางที่สอง – นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. ชุดนี้ จะอยู่ต่อจนครบวาระถึง 23 มีนาคม 2566 และยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้รับเลือกเป็นนายกฯ อีกสมัย จะมีวาระถึงวันที่ 5 เมษายาน 2568 เท่านั้น เพราะขาดคุณสมบัติและพ้นจากตำแหน่งทันที ไม่สามารถอยู่ครบเทอม 4 ปีได้ 

แนวทางที่สาม – นับตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 ระบุชัดก็คือวันที่ 9 มิถุนายน 2562 การดำรงตำแหน่งก่อนหน้านั้นกว่า 4 ปี 9 เดือน จะไม่มีผล และหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกตั้งครั้งหน้า จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ถึงปี 2570 เลยทีเดียว

ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไร มรดกของการปฏิรูปสไตล์ คสช. ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลง

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า