สิ่งนี้กำลังมา…เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์องครักษ์ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ภาพ: สมาคมพลเมืองนครนายก

แปลกแยก ร้ายแรง และอันตราย คือความรู้สึกของใครหลายคนเมื่อพูดถึง ‘พลังงานนิวเคลียร์’ แต่เป็นพลังงานนิวเคลียร์นี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของหลายผลิตภัณฑ์รอบตัว และประเทศไทยมีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูสำหรับการวิเคราะห์ วิจัย และผลิตสารไอโซโทปรังสีมานานเกือบ 60 ปีแล้ว

ปปว-1/1 ณ บางเขน

พ.ศ. 2505 มีการสร้างและติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูขนาดกำลัง 1 เมกะวัตต์ ชื่อทางการคือ Thai Research Reactor 1 (TRR 1) หรือ ‘เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย 1’ ชื่อย่อ ‘ปปว-1’ ที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และเริ่มเดินเครื่องเป็นผลสำเร็จเมื่อ 27 ตุลาคม 2505 โดยใช้ที่ดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ถนนศรีรับสุข (ปัจจุบันคือถนนวิภาวดีรังสิต) 

ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนอะไหล่ในส่วนของแกนปฏิกรณ์ฯ ระบบควบคุมและอุปกรณ์ประกอบบางส่วน เสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน 2520 ‘เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย 1 ปรับปรุงครั้งที่ 1’ หรือ ‘ปปว-1/1’ จึงเป็นชื่อใหม่หลังผ่านการปรับปรุง

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย 1 ปรับปรุงครั้งที่ 1 (ภาพ: สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (TINT))

ไอโซโทปรังสี

ไอโซโทปรังสีที่เครื่องปฏิกรณ์ฯ ผลิตได้ ถูกใช้ในกิจกรรมอย่างหลากหลาย มีความต้องการหลักๆ อยู่ใน 3 ภาคส่วนคือ การแพทย์ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม

เภสัชรังสีหรือผลิตภัณฑ์ทางรังสี ถูกผลิตเพื่อให้บริการแก่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนสำหรับการตรวจวินิจฉัย รักษา และบำบัดอาการให้กับผู้ป่วยในด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์

รังสีบางชนิดถูกใช้สำหรับภาคเกษตรกรรม เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชโดยฉายรังสีให้เกิดพืชพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมมากขึ้น ถั่วเหลืองพันธุ์ดอยคำและกล้วยหอมทอง KU1 ก็เป็นผลมาจากกรรมวิธีนี้ 

ในภาคอุตสาหกรรมก็มีการหยิบไอโซโทปรังสีเหล่านี้มาใช้งาน อัญมณีที่ผ่านการฉายรังสีบางชนิดสามารถเกิดมูลค่าเพิ่มได้กว่า 5-30 เท่า 

นอกจากนี้ สินค้าทางการเกษตร อาหาร สินค้าส่งออก และเครื่องมือแพทย์บางชิ้น จำเป็นต้องใช้การฉายรังสีเพื่อทำให้สะอาด ปลอดเชื้อ โดยไม่ทำให้สินค้าเปลี่ยนรูปและไม่เกิดการปนเปื้อน 

ขอบเขตการประยุกต์ใช้งานพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นตามลำดับ ประกอบกับเครื่องปฏิกรณ์ฯ ปปว-1 ที่ถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน มีประสิทธิภาพและกำลังการผลิตจำกัด แม้ว่าไอโซโทปรังสีจะสามารถผลิตได้โดยไซโคลตรอน (cyclotron) ซึ่งไม่ต้องใช้เครื่องปฏิกรณ์ฯ แต่ก็ไม่สามารถผลิตทดแทนได้ทุกชนิด ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การขยายตัวของเมืองทำให้พื้นที่เดิมที่บางเขนไม่เหมาะที่จะตั้งเครื่องปฏิกรณ์ฯ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้มีแผนที่จะสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฯ เครื่องใหม่ขึ้น

เครื่องฉายรังสีแกมมา (ภาพ: สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (TINT))

โครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์

27 ธันวาคม 2532 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ ปส. ย้ายเครื่องปฏิกรณ์ฯ ปปว-1/1 จากบางเขนไปยังตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื่องจากที่ตั้งเดิมนั้นอยู่ท่ามกลางชุมชนที่ขยายตัวออกมา และห่างจากสนามบินดอนเมืองเพียง 8 กิโลเมตร ไม่ตรงตามหลักความปลอดภัยสากลที่ต้องอยู่ห่างจากสนามบินพาณิชย์ 16 กิโลเมตร แต่ไม่สามารถย้ายเครื่องปฏิกรณ์ฯ ได้ในทางเทคนิค จึงต้องเปลี่ยนเป็นโครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์แทน ใช้พื้นที่ 361 ไร่ ในตำบลทรายมูล วางงบประมาณจัดซื้อเครื่องปฏิกรณ์ฯ ขนาด 10 เมกะวัตต์ ไว้กว่า 7 พันล้าน 

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวต้องยุติไป เนื่องจากความไม่โปร่งใสและกระแสการคัดค้านจากนักวิชาการและคนในพื้นที่ มีเพียงอาคารสำนักงานที่ก่อสร้างสำเร็จและถูกใช้เป็นสำนักงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) มาจนถึงปัจจุบัน 

โครงการเครื่องปฏิกรณ์ฯ เครื่องใหม่ทั้งถูกผลักดันและถูกชะลอมาหลายครั้ง ตามนโยบายของแต่ละรัฐบาล จนกระทั่งในรัฐบาล คสช. มี ‘โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม’ บรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการของนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560-2564 ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยที่ใช้ในโครงการ มีกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์เดิม ที่ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 

ความ (ระเเวง) ในใจ

แม้จะถูกใช้สร้างประโยชน์ได้หลายทาง แต่หลายคนไม่สามารถปฏิเสธความรู้สึกหวาดระแวงในใจได้เมื่อพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการรั่วไหลของกัมมันตรังสีทั้งที่ปล่อยสู่สภาพแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว และทั้งอุบัติเหตุที่สามารถสร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้างและยาวนาน ภัยพิบัติเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน และการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากเหตุแผ่นดินไหวที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น แม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้ว 32 และ 9 ปีตามลำดับ ผลกระทบยังมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

จริงอยู่ที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มีขนาดและความอันตรายน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายเท่าตัว แต่เมื่อสิ่งนี้กำลังจะมาอยู่ในละแวกเดียวกันกับที่อยู่อาศัย ย่อมสร้างความไม่สบายใจให้ชาวอำเภอองครักษ์และพื้นที่ข้างเคียง ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และความปลอดภัย

ข้อมูลจาก นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ระบุว่า พื้นที่ในอำเภอองครักษ์ถูกใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ขุดบ่อปลาเป็นจำนวนมาก มีแม่น้ำนครนายกไหลผ่านซึ่งจะไหลออกไปสองทาง ทางหนึ่งคือไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโยธะกาต่อด้วยแม่น้ำบางปะกงก่อนจะไหลลงสู่อ่าวไทย และอีกทางเชื่อมไปสู่คลองรังสิตและแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสองสายนี้เชื่อมต่อกันด้วยคูคลองในตำบลทรายมูล ห่างจากสำนักงาน สทน. ที่จะติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ฯ เพียงไม่กี่ร้อยเมตร ดังนั้นไม่ต้องรอให้เกิดการระเบิดหรืออุบัติเหตุครั้งใหญ่ เพียงการรั่วไหลของกัมมันตรังสีสะสมทีละน้อยก็เพียงพอให้เกิดหายนะไปเกือบทั่วทั้งประเทศ 

นอกจากผลกระทบทางน้ำ ที่ดินในบริเวณดังกล่าวยังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่แก้มลิง หากเกิดอุทกภัย เครื่องปฏิกรณ์ฯ อาจต้องจมอยู่ใต้มวลน้ำเป็นเวลานาน ทั้งนี้อำเภอองครักษ์ยังมีรอยเลื่อนองครักษ์ เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อมาจากรอยเลื่อนแม่ปิง เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความกังวลให้กับคนในพื้นที่ 

“จุดเด่นของนครนายกคือ การท่องเที่ยวกับการเกษตรซึ่งเอื้อกัน คนเข้ามาซื้อสินค้าเกษตร เกษตรกรก็พึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก รวมทั้งประมงด้วย ทีนี้ถ้ามีการปนเปื้อนหรือมีก๊าซรั่ว แล้วคนไม่กล้ามาเที่ยว รายได้ของคนในจังหวัดที่เป็นห่วงโซ่บริการก็จะเสียไปหมดเลย หรือถ้ารั่วไหลไปอยู่ในน้ำ ในปลา ถ้าคนรู้กันว่าปลาจากนครนายกมีสารกัมมันตรังสี แล้วใครจะซื้อ” อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แสดงความกังวลต่อผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ 

แม้ว่าไอโซโทปรังสีเป็นสิ่งจำเป็นและมีความต้องการจากหลายภาคส่วน แต่เครื่องปฏิกรณ์ฯ ไม่ใช่แหล่งกำเนิดเพียงอย่างเดียว นพ.สุธีร์ มองว่าเราสามารถจัดหาไอโซโทปรังสีเหล่านั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ฯ ให้คนในพื้นที่ต้องแบกรับความเสี่ยง เครื่องไซโคลตรอนที่มีอยู่สามารถผลิตสารเภสัชรังสีได้ ส่วนไอโซโทปรังสีประเภทที่เครื่องไซโคลตรอนไม่สามารถผลิตได้ก็สามารถใช้วิธีการนำเข้าแทนได้ วิธีนี้สามารถตอบสนองความต้องการได้ โดยไม่มีกากกัมมันตรังสีซึ่งเป็นต้นตอของความกังวล 

“เราถูกมัดความคิดว่า ถ้าต้องการรังสีแล้วต้องเอาเครื่องปฏิกรณ์ฯ ไปด้วย จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีความต้องการขนาดนั้น คือการผลิตรังสีด้วยเครื่องไซโครตรอนต้องใช้ไฟฟ้า พอเรากดปุ่ม มันก็ผลิตรังสี เราคิดว่ามันใช้ตัวนี้ก็ได้ มันก็จะไม่มีกาก เพราะสิ่งที่เรากลัวคือกาก ตอนนี้เขายังรับคืน ถ้าเขาไม่คืนขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น ส่วนรังสีตัวอื่นที่ไซโครตรอนผลิตไม่ได้ เราก็ซื้อเท่าที่จำเป็นได้ไหม…

“แม้ว่าจะต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน แต่เราก็ไม่เคยรู้สึกมั่นใจกับหน่วยงานรัฐด้วยกันเองเลย ว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนหรือไม่ เพราะนี่เป็นความต้องการของรัฐบาลซึ่งทุกองคาพยพก็เอื้ออำนวย” 

ประโยคข้างต้นคือเหตุผลที่สมาคมพลเมืองนครนายก รวมกลุ่มกันเดินหน้าทำกิจกรรมคัดค้านโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ฯ ตั้งแต่ที่ทราบข่าวว่าบ้านของพวกเขาถูกปักหมุดจากส่วนกลางให้เป็นสถานที่ตั้งของเครื่องปฏิกรณ์ฯ อีกคำรบ

นิวเคลียร์ นับถอยหลัง…

ตามประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย ขณะนี้โครงการดังกล่าวดำเนินการเสร็จไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 26 ธันวาคม 2561 เกิดขึ้นในลักษณะเวทีรับฟังความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 730 คน ครั้งที่ 2 ดำเนินการระหว่างวันที่ 24 เมษายน ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 เป็นไปในลักษณะการประชุมกลุ่มย่อย ใช้แบบสอบถาม และการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ สทน. ทั้งนี้ กำหนดการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 เดิมกำหนดไว้วันที่ 14 มีนาคม 2563 แต่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

นพ.สุธีร์ เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวเพิ่งจะเป็นที่รับรู้กันในสมาคมพลเมืองนครนายก ช่วงเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งผ่านการจัดเวทีครั้งที่ 1 มาแล้ว หลังจากนั้นมีการเชิญตัวแทนจาก สทน. พูดคุยร่วมกัน ก่อนที่จะมีการรวบรวมข้อมูลยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เพื่อให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 เนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาไม่ครอบคลุม ไม่เป็นอิสระตามเจตนารมณ์ เพราะมีการแจกเงินและผ้าห่มให้กับผู้เข้าร่วมกระบวนการฯ นอกจากนี้การเลือกพื้นที่ตั้งเครื่องปฏิกรณ์ฯ ใช้ข้อมูลเดิมจากดำเนินการในปี พ.ศ. 2533-2534 หรือกว่า 30 ปีมาแล้ว ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันที่อำเภอองครักษ์มีหน่วยงานราชการและชุมชนขยายตัวอย่างหนาแน่น 

6 สิงหาคม 2562 ครบรอบ 74 ปี เหตุการณ์การสูญเสียจากระเบิดนิวเคลียร์ เมืองฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น สมาคมพลเมืองนครนายกรวมตัวกันเดินรณรงค์รอบที่ว่าการอำเภอองครักษ์ ต่อด้วยการประท้วงด้านหน้าสำนักงาน สทน. อำเภอองครักษ์ 

หลังจากนั้นวันที่ 6 ของทุกเดือน ถูกกำหนดไว้สำหรับทำกิจกรรมต่อต้านเครื่องปฏิกรณ์ฯ โดยสมาคมพลเมืองนครนายก

5-7 ตุลาคม 2562 มีการนอนค้างแรมหน้าประตูสำนักงาน สทน. เพื่อขอเข้าดูอาคารเก็บกากกัมมันตรังสี เนื่องจากก่อนหน้านี้ สทน. ชี้แจงว่าไม่มีการเก็บไว้ที่อำเภอองครักษ์ แต่หลังการตรวจสอบปรากฏว่ามีการเก็บกากกัมมันตรังสีอยู่จริง และเก็บมานานหลายปีแล้วโดยที่ชาวบ้านบริเวณนั้นไม่เคยทราบมาก่อน

วันนี้ชาวบ้านรู้สึกเหมือนโดนหักหลัง

24 มิถุนายน 2563 ตัวแทนจากสมาคมพลเมืองนครนายก เข้าร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานขององค์การมหาชนและกองทุน เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ สทน. และชะลอการรับฟังความคิดเห็นในเวทีครั้งที่ 3 ออกไปก่อนจนกว่าคณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณาแล้วเสร็จ แต่ไม่ได้รับการสนองตอบที่เหมาะสม 

ถัดมา 3 กรกฎาคม 2563 ตัวแทนกลุ่มเดิมจึงเดินทางมายังรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อหารือประเด็นดังกล่าวกับตัวแทนสมาชิกคณะกรรมาธิการกิจการศาลฯ จากพรรคก้าวไกล 

เรื่องนี้ยังไม่มีบทสรุป หมุดหมายต่อไปคือกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 ซึ่งยังไม่ถูกกำหนดวันเวลาที่แน่ชัด 

อ้างอิง:

Author

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแถบรังสิต เป็นคนหนุ่มที่ฟังเพลงน้อยแต่อ่านมาก โดยเฉพาะการผจญภัยในสวนอักษรของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยคุณงามความดีเช่นนี้จึงมีเสียงชื่นชมบ่อยๆ ว่าเป็นพวกตกยุค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า