สุรชัย ตรงงาม: ‘โคบอลต์-60’ ถึง ‘ซีเซียม-137’ อุบัติเหตุทางรังสี บทเรียน 23 ปี ยังย่ำอยู่ที่เดิม

การแถลงข่าวของรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ระบุถึงกรณีแท่งวัตถุบรรจุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Caesium-137) สูญหายจากโรงงานไฟฟ้าในอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งทางการได้รับทราบว่าสูญหายไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ทว่าจากการตรวจสอบข้อมูลโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี พบว่าการสูญหายครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งขณะนี้กินเวลากว่า 1 เดือนแล้ว

ขณะที่แถลงการณ์ล่าสุดของเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ได้ตรวจพบสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนในโรงงานถลุงเหล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดเดียวกันที่ถูกหลอมจนกลายสภาพเป็นฝุ่นแดงไปแล้ว และสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบหาการปนเปื้อนในพื้นที่ใกล้เคียง รวมไปถึงเส้นทางการขนส่งฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนซีเซียม-137 แต่การแถลงดังกล่าวกลับไม่สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชน เพราะ ปส. ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสารซีเซียมถูกหลอมไปแล้วคือวัตถุกัมมันตรังสีที่สูญหายไปจากโรงงานไฟฟ้าหรือไม่ ถูกส่งต่อไปยังที่ใดบ้าง และไม่ได้อธิบายวิธีการรับมือต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

ภายใต้ความกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลสำคัญที่ถูกพูดถึงควบคู่ไปกับเหตุการณ์นี้ คืออุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60 (Cobalt-60) ที่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการเมื่อปี 2543 เนื่องจากมีบุคคลเก็บเอาแท่งโคบอลต์-60 ที่ใช้ในเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่เสื่อมสภาพและถูกทิ้งไว้ในบริเวณลานจอดรถรกร้าง ก่อนจะนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า โดยเจ้าของร้านและลูกจ้างที่ไม่ทราบถึงอันตรายของกัมมันตรังสีได้ตัดแยกชิ้นส่วนนั้น ทำให้บุคคลที่ทำงานและพักอาศัยบริเวณร้านรับซื้อของเก่าได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย จนมีผู้ป่วยรุนแรง 10 ราย บางรายพิการ อีกทั้งชาวบ้านที่อยู่อาศัยในรัศมี 50-100 เมตร รวม 1,614 คน ต้องตรวจสุขภาพติดตามอาการทุก 6 เดือน

ในปี 2544 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี รวมตัวกันฟ้องร้องบริษัท กมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องฉายรังสี ให้ชดเชยค่าเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี รวมเป็นเงิน 109,264,360 บาท แต่คำพิพากษาสูงสุดจากศาลฎีกาในปี 2559 กำหนดให้บริษัทชดเชยความเสียหายเพียง 529,276 บาท และให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ชื่อองค์กรในขณะนั้น) เป็นผู้จ่ายชดเชยส่วนที่เหลือ

กว่า 15 ปีของการพิสูจน์ความผิดและการรับผิดชอบของผู้ประกอบการในชั้นศาล นับเป็นระยะเวลายาวนาน แต่สุรชัย ตรงงาม กรรมการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ผู้เป็นทนายความในคดีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60 กลับพบว่า สิ่งที่น่าผิดหวังกว่าความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม คือการที่หน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการไม่ได้เรียนรู้เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินทางรังสี จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางรังสีขึ้นอีกครั้ง

การแถลงข่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา มีประเด็นใดบ้างที่ยังชี้แจงไม่ชัดเจน และอะไรคือสิ่งที่ประชาชนควรรับรู้

เมื่อพบปัญหาการสูญหายของวัสดุกัมมันตรังสี สิ่งที่รัฐต้องเคลียร์ให้ชัดเจนอย่างแรกคือ การประเมินความเสี่ยงว่ามีการปนเปื้อนไปถึงพื้นที่ไหนบ้าง ถึงแม้ตอนนี้มีการตรวจหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง แต่ก็มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายว่า ควรตรวจไปถึงวัสดุอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางลำเลียงก่อนจะไปถึงการหลอมเหล็ก และควรมีมาตรการอย่างไรเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน 

ข้อมูลปัจจุบันยังไม่ถูกยืนยันเลยว่า ซีเซียมที่ตรวจพบว่าปนเปื้อนในฝุ่นแดง คือชิ้นส่วนที่หายไปจากโรงงานไฟฟ้าหรือไม่ เป็นเพียงการสันนิษฐานจากสิ่งที่เจอว่าซีเซียม-137 น่าจะถูกหลอมไปแล้ว สิ่งนี้คือความไม่ชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลความปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากที่ผมอยากจะเน้น

ผมฟังข้อมูลจาก รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (รายการตอบโจทย์) ยกตัวอย่างเหตุการณ์สูญหายของซีเซียม-137 ในประเทศออสเตรเลีย ที่เกิดขึ้นหว่างการขนส่งในระยะทาง 1,400 กิโลเมตร การจัดการของทางการออสเตรเลียคือปิดการใช้งานถนนทั้งเส้นเพื่อหาวัตถุนี้ให้เจอ แล้วตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการปนเปื้อนเกิดขึ้นภายในเส้นทางนั้น จึงจะอนุญาตให้ประชาชนสัญจรในพื้นที่ได้ ตัวอย่างแบบนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า ทำไมการจัดการในประเทศเราจึงดูเหมือนไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมเลย

จากการชี้แจงของหน่วยงานรัฐที่พูดทำนองว่า ปริมาณของสารกัมมันตรังสีมีน้อย ไม่น่าเกิดผลกระทบอะไร การอธิบายแบบนี้จะมีปัญหามากถ้าหากผลกระทบนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ผมคิดว่ารัฐควรชี้แจงให้ละเอียดกว่านี้ว่า ต่อให้มีความเสี่ยงน้อย แต่ความเสี่ยงนั้นทำให้เกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิประเมินว่าจะยอมรับความเสี่ยงนั้นได้หรือเปล่า

การที่ภาครัฐแจ้งว่า กัมมันตรังสีไม่ได้สูญหายไปจากโลก มันแค่แปรสภาพและอาจกระจายไปสู่ผู้คนได้ มันเหมือนเป็นการบอกว่า ใครโชคดีก็รอดไป ใครโชคร้ายก็อาจจะได้รับรังสีเข้าร่างกาย

ผมคิดว่าอย่างน้อยถ้ารัฐสามารถจัดการได้แค่นี้ หรือทำได้เท่าที่ทำอยู่ในขณะนี้ ก็ขอให้แจ้งกับประชาชนตรงๆ ไปเลย ต่อไปถ้ามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารกัมมันตรังสี ประชาชนจะได้มีข้อมูลเพื่อช่วยตัดสินใจว่าจะยอมรับให้เกิดโครงการลักษณะนี้ขึ้นหรือเปล่า

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เรายังไม่เห็นว่าจะมีแผนรับมือปัญหาที่อาจเกิดตามมาในอนาคตในกรณีที่มีคนได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย ยังไม่รวมไปถึงมาตรการที่จะเอาผิดกับผู้เก็บครอบครองวัตถุ หรือผู้ที่อยู่ในกระบวนการใดๆ ที่ไม่ถูกต้อง

ถ้าถามถึงแผนที่ควรจะต้องมี อ้างอิงตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 กำหนดให้สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ต้องทำรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ตั้ง ซึ่งจะต้องชี้แจงเส้นทางการอพยพประชาชนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมถึงการป้องกันและระงับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม 

เช่นเดียวกันกับแผนยุทธศาสตร์ของสํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) พ.ศ. 2560-2564 ที่ระบุว่า ปส. จะต้องมีนโยบายการดําเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้การวางแผนสามารถกระทําได้โดยง่ายและมีความพร้อมในการรับมือกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมไปถึงการป้องกันเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

นอกจากเอกสาร 2 อย่างนี้แล้ว ประเทศไทยยังมีกฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. 2561 ซึ่งควบคุมการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับรังสี โดยชี้แจงการใช้พื้นที่ทำงานด้านรังสีและแนวทางของผู้ปฏิบัติงานทางรังสีไว้อย่างชัดเจน แต่ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา กลับไม่ได้มีการชี้แจงถึงข้อกำหนดเหล่านี้ต่อประชาชน รวมถึงการไม่ชี้แจงว่าจะจัดการระบบการทำงานในโรงไฟฟ้าที่อาจติดขัดบกพร่องจนทำให้วัตถุกัมมันตรังสีสูญหายไปยังไง และดูเหมือนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้บูรณาการข้อมูลและแนวทางการทำงานระหว่างกันอย่างที่ควรจะเป็น มันนำไปสู่คำถามว่า แล้วจะสามารถกำกับดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนได้อย่างไร หน่วยงานไหนต้องเข้ามาทำหน้าที่หลักเรื่องนี้

การที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถให้ข้อมูลเรื่องแผนการจัดการและการรับมือกับสถานการณ์ในตอนนี้ ถือเป็นการปกปิดข้อมูลต่อประชาชนหรือไม่

ถ้าถามว่าปกปิดไหม อาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่าปกปิดเสียทีเดียว แต่สิ่งนี้เป็นหน้าที่สำคัญของหน่วยงานรัฐที่พึงกระทำ การไม่ชี้แจงเท่ากับเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ มีผลมิชอบในทางกฎหมายการปกครอง และถ้ามีเจตนาพิเศษให้ประชาชนได้รับความเสียหาย ก็อาจมีความผิดในทางอาญาตามมาตรา 157 ด้วย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมักปกปิดชื่อและที่ตั้งของสถานที่เกิดเหตุ สิ่งนี้ถือเป็นการปกปิดข้อมูลต่อประชาชนหรือไม่ และควรชี้แจงอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เข้าข่ายภัยพิบัติ

ต้องย้อนกลับไปที่ประเด็นเดิม คือการที่หน่วยงานไม่ได้อธิบายแผนการดำเนินงานตั้งแต่ต้น เพราะแผนนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่าต้องชี้แจงข้อมูลต่อประชาชนถึงรายละเอียดของสถานที่เกิดเหตุ การเฝ้าระวัง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงวิธีการเยียวยาประชาชน สิ่งเหล่านี้ต้องเปิดเผยอยู่แล้วตามขั้นตอนของการดำเนินงาน

ปัญหาคือหน่วยงานรัฐไม่ยอมชี้แจงแผนการรับมือเลย แต่ใช้วิธีแจ้งเป็นครั้งๆ ไป ว่าวันนี้ไปตรวจปริมาณรังสีในพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้ แล้วมันยังไงต่อ หน่วยงานก็อาจจะตอบได้ว่า ถ้าตรวจแล้วไม่มีอะไรก็ดำเนินการติดตามผลต่อไปในอนาคต แต่ก็ไม่ได้พูดให้เห็นแผนทั้งหมดที่มี หรือถ้ามันไม่เคยมีแผนนั้นก็บอกมาตรงๆ เลยดีกว่า

ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าหน่วยงานเขามีปัญหาอะไร แต่ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเรียกร้องให้เขาชี้แจงแผนการจัดการออกมาให้ชัดเจน เพราะนี่เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ ปส. ส่วนประเด็นที่ว่าแผนนั้นจะดีหรือไม่ดี มันสามารถวิพากษ์และหารือร่วมกันต่อได้

ถ้าเทียบกับคดีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60 การตัดสินในชั้นศาลปกครองบ่งชี้ว่า ปส. ไม่ได้ติดตามตรวจสอบการจำหน่ายวัสดุกัมมันตรังสีออกไป ทำให้ไม่มีการแจ้งเตือนอันตรายของกัมมันตรังสีให้ชาวบ้านในละแวกนั้นทราบ อันนี้ก็เหมือนกัน เราเองก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยหรือเปล่า ยิ่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมบอกว่าซีเซียม-137 ที่หายไปเป็นแค่ 1 ใน 10 ชิ้นของโรงงาน ก็ยิ่งน่าตกใจเข้าไปอีก 

หากพบหลักฐานที่สามารถยืนยันว่า กัมมันตรังสีที่พบในฝุ่นแดง มาจากวัสดุที่สูญหายจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี ใครต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้บ้าง

จากข้อมูลปัจจุบัน มี 3 ภาคส่วนหลักๆ ที่ต้องรับผิดชอบตามหน้าที่ อันดับแรกคือเจ้าของโรงงานไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ถือครองซีเซียม-137 จะต้องถูกตรวจสอบว่ามีการจัดเก็บวัตถุไว้อย่างปลอดภัยไหม มาตรการด้านความปลอดภัยในการจัดการรังสีเพียงพอไหม มีแผนรับมือผลกระทบในกรณีฉุกเฉินยังไงบ้าง และต้องสาวไปถึงการที่ไม่ยอมแจ้งข้อมูลทันทีตั้งแต่ซีเซียม-137 สูญหายไปจากโรงงาน ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลให้เกิดความเสียหายจริง โรงงานก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าแม้ขณะนี้จะยังไม่เกิดความเสียหายต่อสุขภาพประชาชน แต่ก็เกิดความเสียหายต่อรัฐและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว

อันดับสองคือ โรงงานหลอมเหล็ก ต้องถูกตรวจสอบว่ามีการตรวจเช็กโลหะอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนเข้าสู่โรงหลอมหรือไม่ หากโรงงานดังกล่าวทำงานในลักษณะการประกอบการค้าวัสดุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ก็ควรจะต้องมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ หรือหากไม่ได้เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการเพื่อการค้า ก็ต้องมีมาตรฐานการตรวจสอบวัสดุที่เข้มงวดกว่านี้ มิเช่นนั้นก็จะเข้าข่ายประมาทเลินเล่อ และอาจต้องรับผิดร่วมกับโรงไฟฟ้าในฐานะผู้ครอบครองวัตถุอัตราย

ที่เป็นอย่างนั้น เพราะผู้ที่ครอบครองซีเซียม-137 อาจถือเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ตามมาตรา 96 ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งกฎหมายจะมีข้อสันนิษฐานว่าต้องรับผิดในฐานะผู้ทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาก็ต้องมาพิสูจน์ความผิดในชั้นศาลต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ในเคสลักษณะนี้ แม้จะมีคนขโมยซีเซียม-137 ออกไปโดยที่บริษัทโรงงานไฟฟ้าไม่ได้รู้เห็น โรงงานไฟฟ้าก็ต้องรับผิดชอบอยู่ดี เพราะไม่เข้าข่ายเหตุสุดวิสัย แต่เป็นผลจากความประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาความปลอดภัย

อันดับสามคือ สํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพราะไม่ได้ติดตามดูแลความปลอดภัย จนเป็นเหตุให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสี

สำหรับภาคส่วนอื่นๆ ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงถัดไป

สถานการณ์ในขณะนี้ มีโอกาสเกิดความเสียหายซ้ำรอยคดีโคบอลต์-60 ไหม

ถ้าถามถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ผมเองก็ไม่แน่ใจ เพราะขึ้นอยู่กับปริมาณการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนแถลงออกมา แต่ในฐานะที่เคยทำคดีโคบอลต์-60 ผมคิดว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์การรับมือและแก้ไขปัญหาเรื่องกัมมันตรังสีของประเทศไทยยังย่ำอยู่กับที่ แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

เหตุการณ์ซีเซียม-137 สูญหาย มีลักษณะเหมือนกับคดีโคบอลต์-60 เมื่อปี 2543 คือวัสดุกัมมันตรังสีถูกเก็บไว้ไม่ดี ทำให้มีคนเอาออกไปจากพื้นที่ แล้วก่อให้เกิดการแพร่กระจาย นี่มันรูปแบบเดิมเป๊ะ ถึงแม้ว่าจะมีการการออกกฎเกณฑ์การใช้งานและเก็บรักษาใหม่ วิทยาการใหม่ๆ ที่ใช้สำหรับจัดการสารกัมมันตรังสี มันก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ในวันนี้เรายังต้องเห็นปัญหาลักษณะเดิมจากความไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่ามันไม่ควรจะมีอีกแล้ว แค่ 2 ครั้งนี่ก็มากเกินพอแล้ว

มีข้อสังเกตว่า ต่อให้ชาวบ้านพบวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นวัสดุกัมมันตรังสี ก็ไม่กล้าแจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะกลัวโดนข้อหารับของโจร สิ่งนี้เป็นความจริงตามข้อกฎหมายหรือไม่

ที่จริงการร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของประชาชนอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ ประเด็นคือเมื่อเป็นหน้าที่ จะทำให้ประชาชนสุ่มเสี่ยงหรือเปล่า ผมคิดว่าประชาชนอาจมีความกังวลได้ด้วยข้อเท็จจริงในสังคม แต่การจะโดนข้อหารับของโจรต้องมีองค์ประกอบที่ค่อนข้างมาก เบื้องต้นคือถ้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์นั้น รวมถึงถ้าไม่ได้รู้เห็นในรับซื้อก็ไม่มีความผิดทางกฎหมาย

ผมมองว่ารัฐบาลต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนด้วยว่า การพบเบาะแสหรือแจ้งส่งคืนวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหาย จะไม่เกิดผลทางลบต่อตัวประชาชนในภายหลัง เพราะเป็นการให้ความช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ หรือต่อให้เป็นคนที่ขโมยของออกมาจากโรงงานแล้วเกิดกลับใจในภายหลัง ผมมองว่าก็ควรได้รับการกันไว้เป็นพยาน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป

หากเกิดกรณีร้ายแรงที่ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการรับผิดชอบและเยียวยาอย่างไร

สังคมต้องช่วยกันตรวจสอบว่าแผนป้องกันความเสี่ยงที่มีอยู่ สามารถป้องกันผลกระทบได้เพียงพอหรือไม่ ถ้าหากผลกระทบนั้นทำให้เกิดค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ทั้งรัฐและเจ้าของโรงไฟฟ้าก็ต้องเยียวยาให้ถึงตรงนั้นด้วย ซึ่งหมายถึงต้องเยียวยาครอบคลุมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปที่ไม่ใช่แค่ด้านสุขภาพ เช่น หากมีการปนเปื้อนในแหล่งน้ำจนประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ก็ต้องจัดหาน้ำสะอาด หรือจ่ายเงินชดเชยสำหรับซื้อน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน 

สมัยคดีโคบอลต์-60 มีการติดตามผลกระทบในพื้นที่ห่างจากจุดเกิดเหตุในรัศมีประมาณ 50-100 เมตร เป็นเวลา 6 เดือน โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ การดำเนินการตรงนี้ทางสาธารณสุขก็สามารถช่วยประเมินได้ 

นี่ยังไม่รวมถึงกรณีการดำเนินคดีทางอาญาที่จะต้องดำเนินการเยียวยาอย่างเต็มที่ เพราะเราพบว่าผู้ประกอบซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษมักไม่ได้รับผิดอย่างชัดเจน

การรับผิดไม่ชัดเจนมีลักษณะเป็นยังไง

เช่นในกรณีซีเซียม-137 นี้ โรงงานไฟฟ้าอาจถูกดำเนินคดีเฉพาะเรื่องที่แจ้งช้า ซึ่งอาจไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น รัฐต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้คนอื่นปล่อยปละละเลยจนเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก

ตอนคดีโคบอลต์-60 เมื่อปี 2543 มันวุ่นวายมาก พอประชาชนรวมตัวกันฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝั่ง ปส. ก็ดำเนินการจ่ายค่าเสียหายทั้งหมด แต่พอฟ้องบริษัท กมลสุโกศล อิเลคทริค เจ้าของเครื่องฉายรังสีที่เป็นต้นเหตุของคดี ศาลกลับพิจารณาว่าผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยาจากรัฐแล้ว จึงให้บริษัทจ่ายชดเชยในจำนวนที่น้อยกว่า กลายเป็นว่าความเสียหายมาตกกับรัฐหมด 

ในกรณีนี้ ประชาชนไม่ผิดอะไร เพราะต้องฟ้องร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าเยียวยา แต่ทำไมรัฐไม่ไปไล่บี้บริษัทให้รับผิดชอบอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลตัดสินที่ออกมาจึงดูไม่แฟร์ ในแง่ที่ว่าผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดโดยตรงกลับจ่ายน้อยกว่ารัฐ หลังจากเคสนั้นเป็นต้นมา ศาลเลยมีความพยายามจะเฉลี่ยการจ่ายชดเชยระหว่างรัฐและผู้ประกอบการให้สมเหตุสมผล

รัฐบาลและ ปส. ควรมีมาตรการอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก

ผมคิดว่า ปส. ต้องเตรียมการต่อเรื่องรังสีอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้น ควรมีระบบการรายงานข้อมูลมลพิษให้ชุมชนสามารถรับรู้ได้ ปรับปรุงการดำเนินงานเชิงเทคนิค เพื่อรายงานข้อมูลเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้ารู้สึกว่ารายงานปีละครั้งมันนานเกินไป ก็อาจจะต้องปรับให้ถี่ขึ้น หรือใช้รูปแบบที่เข้าถึงผู้รับสารได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นไปตามแนวทางในร่างกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ที่ EnLAW และหลายหน่วยงานเรียกร้องและผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ก็โดนรัฐบาลปัดตกไป

(อ่านข้อมูลร่างกฎหมาย PRTR เพิ่มเติมได้ที่: ชวนทำความรู้จัก ‘กฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน’ เพื่อเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม)

พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น มันยิ่งตอกย้ำว่าเราควรจะมีกฎหมาย PRTR เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบใบอนุญาตการใช้งานและจัดการวัสดุและสารกัมมันตรังสี หน่วยงานรัฐต้องให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเพียงพอโดยไม่สร้างความตื่นตระหนก ที่สำคัญคือควรแจ้งถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น อธิบายแนวทางป้องกันและเยียวยาเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

อยากจะย้ำอีกทีว่า ถ้าหน่วยงานบอกประชาชนว่าสารกัมมันตรังสีที่หลุดออกมามันน้อย ไม่ต้องไปกังวล ก็อธิบายมาให้ชัดเจนเลยว่าประเทศเราจะขอทำแค่นี้ ที่ผ่านมาในการจัดสร้างโรงไฟฟ้า เราแทบไม่เคยเห็นหน่วยงานภาครัฐออกมาชี้แจงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารกัมมันตรังสีเลย 

สารกัมมันตรังสีที่แพร่กระจายไปตอนนี้ ต่อให้โอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนมีแค่ 1 ใน 100,000 คน รัฐก็ต้องมีแนวทางการรับมือกับสถานการณ์นั้นไว้ด้วย เพราะประชาชนในพื้นที่เขาไม่ได้อยากจะเป็นกลุ่มเสี่ยง แล้วพอถึงเวลา เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้มาเสี่ยงตรงนี้โดยตรงเหมือนชาวบ้านเขา

นอกเหนือจากนั้น ถ้ามีช่องว่างในการทำงานที่ ปส. ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมด้วยตัวเอง ก็ให้เชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญคือให้ประชาชนมีส่วนร่วม เข้าช่วยตรวจสอบได้ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยงานเดียว

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า