เศรษฐกิจสีเขียว: ความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ควรละเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง

กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ การพัฒนาสังคมโดยรวมจึงไม่ควรละเลยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้นโดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติโรคระบาด เราจึงควรหันกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า ก่อนเกิดโควิด-19 แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยมีความยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด

‘เศรษฐกิจสีเขียว’ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของงานสัมมนาวิชาการ EconTU Symposium ประจำปี 2564 จัดขึ้นโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ภายใต้หัวข้อหลัก ‘ก้าวต่อไปเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน’ และในช่วงของหัวข้อ ‘เศรษฐกิจสีเขียวก่อนและหลังสถานการณ์โควิด-19’ รองศาสตรจารย์ ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Pro-Green) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ​สิ่งแวดล้อม ได้มาร่วมเสนอแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเพื่ออนาคตของประเทศไทย

ทางคู่ขนานระหว่างรายได้กับคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยนโยบายส่งเสริมทางการค้า การส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้เราต้องพึ่งพาอุปสงค์จากนอกประเทศมากเกินไป เมื่อเกิดโควิดแล้วต้องปิดประเทศจึงเกิดผลกระทบตามมาอย่างใหญ่หลวง และยังสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างเพียงพอ 

“การเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะในด้านการผลิตและการบริโภค จะต้องเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ คำนึงถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการที่เหมาะสม”

รศ.ดร.นิรมล ชี้ให้เห็นผลกระทบเหล่านี้โดยใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมมาอธิบายความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่งให้ภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น

จากภาพแสดงให้เห็นว่า ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านมลพิษไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM2.5 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เห็นได้ชัดเจนในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ปริมาณขยะมูลฝอย และขยะติดเชื้อ โดยเฉพาะขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากจำนวนสถานพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งขยะติดเชื้อที่สะสมอยู่แต่เดิมก็ยังกำจัดได้ไม่หมด อีกทั้งยังมีโรคผู้สูงอายุหรือโรคอุบัติใหม่มากขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

อาจารย์นิรมลอธิบายว่า แม้เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น แต่มลพิษไม่ได้ลดลง วัดจากระดับรายได้ต่อหัวของประชากรที่สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อรายได้สูงขึ้นก็มีการสร้างขยะมากขึ้น ส่วนปริมาณขยะติดเชื้อก็แปรผันตาม GDP เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่ามีช่องโหว่บางอย่างที่เป็นปัญหาในระบบสาธารณสุข 

“ตามหลักแล้ว ยิ่งเศรษฐกิจเติบโต คนป่วยยิ่งต้องน้อยลง สุขภาพต้องดีขึ้น ถ้ายังมีคนป่วยเพิ่มขึ้นแสดงว่าสังคมไม่ได้ดีอย่างที่เราคิด เป็นภาพลวงตาทางรายได้จาก GDP ที่โตขึ้น ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องคำนึงถึงด้านอื่นๆ โดยไม่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว”

ถึงแม้จะเห็นได้ชัดว่าขยะมีปริมาณมาก แต่ก็ไม่มีนโยบายระดับชาติในการจัดการขยะอย่างจริงจัง และขณะนี้ปัญหาขยะก็ได้กลายเป็นภาระของท้องถิ่นไปแล้ว อาจารย์นิรมลวิเคราะห์ถึงศักยภาพในการจัดการขยะระดับจังหวัด พบว่า “ตลอดระยะเวลาร่วมสิบปีไม่มีการปลูกฝังให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งอาจเป็นการผลักภาระการจัดการขยะไปให้ท้องถิ่นโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และท้องถิ่นไม่ได้รับการเสริมสร้างความสามารถในการจัดการขยะจากภาครัฐอย่างจริงจัง” 

เมื่อแต่ละท้องถิ่นมีศักยภาพในการจัดการขยะแตกต่างกัน อาจารย์นิรมลจึงเสนอว่า รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือในระดับหนึ่ง อีกทั้งต้องช่วยกันหาแนวทางในการปรับทัศนคติเรื่องการจัดการขยะของครัวเรือน เพราะการจัดการขยะจะยิ่งยากลำบากมากขึ้นเมื่อครัวเรือนไม่แยกขยะ โดยเฉพาะขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยจนกลายเป็นปัญหาขยะชุมชน ซึ่งตามกฎหมายระบุให้ท้องถิ่นต้องดำเนินการจัดการเอง จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าท้องถิ่นจะมีศักยภาพในการจัดการได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ทั้งก่อนและหลังวิกฤติโรคระบาด รศ.ดร.นิรมล ให้ข้อมูลว่า หลังเกิดโควิด-19 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเนื่องจากการขนส่งที่ลดลง และการผลิตไฟฟ้าลดลง แต่ปริมาณมลพิษและฝุ่นละอองโดยเฉลี่ยไม่ลดลง ขณะเดียวกัน ปริมาณขยะมูลฝอยและขยะติดเชื้อก็เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม 2563 หลังเกิดการระบาดระลอกแรก 

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ดีขึ้นคือ ความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า เช่น นกแก๊ก ค่างแว่น วาฬโอมูระ พะยูน รวมถึงพืช เช่น กล้วยไม้ 

“คำถามสำคัญคือ จะมีนโยบายที่รักษาความหลากหลายของสภาพแวดล้อมได้อย่างไร เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องพึ่งพิงกับธรรมชาติให้ได้ ชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจจะต้องไม่เปราะบาง เพราะเราต้องพึ่งพาการส่งออก แรงงานข้ามชาติ ดังนั้นสังคมต้องอยู่ได้ด้วยความมั่นคงบนฐานทรัพยากร” 

ในขณะที่รัฐบาลเตรียมที่จะผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ด้วยการเปิดประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการทบทวนการดำเนินนโยบายว่า จะใช้เศรษฐกิจหรือความยั่งยืนเป็นตัวตั้ง หากเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งก็จะเกิดสถานการณ์ได้อย่างเสียอย่าง กล่าวคือ ประเทศไทยอาจมีรายได้สูงขึ้นในระยะสั้น แต่ระยะยาวหากสภาพแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม สุขภาพประชาชนย่ำแย่ รัฐก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูและทำให้สูญเสียรายได้ในระหว่างฟื้นฟูไปด้วย 

“อีกทางเลือกหนึ่งคือ สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ไม่พึ่งพิงต่างประเทศมากเกินไป โดยค่อยๆ สร้างความยั่งยืนและสร้างรายได้ เพื่อให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่” 

รศ.ดร.นิรมล ระบุด้วยว่า แม้เศรษฐกิจสีเขียวจะเป็นแนวคิดหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่การนำไปสู่การปฏิบัติกลับกลายเป็นกระแสรอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักต่อเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ และความยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงจัดลำดับความสำคัญของนโยบายให้ชัดเจน ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจและสังคมจะมีความยั่งยืนได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายและประชาชนต้องมีส่วนร่วม

วิกฤติโควิดสะท้อนพฤติกรรมมนุษย์

ทางด้าน ผอ.นารีรัตน์ มองว่า โควิด-19 สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากพฤติกรรมของมนุษย์ เนื่องจากเมื่อประชาชนไม่สามารถทำกิจกรรมได้เหมือนในภาวะปกติ โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีโอกาสในการฟื้นตัว ส่วนปัญหาด้านมลพิษต้องอาศัยนโยบายที่ช่วยให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ภาครัฐพยายามรณรงค์ส่งเสริมมาโดยตลอดแม้กระทั่งในยุทธศาสตร์ชาติ แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ การฟอกเขียว (Green-washing) ที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ผิด 

ประเด็นที่ ผอ.นารีรัตน์ เน้นย้ำคือ พฤติกรรมของประชาชน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารเดลิเวอรีที่มากขึ้น หรือร้านกาแฟงดรับภาชนะส่วนตัว ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น การรณรงค์ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในการงดใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะจึงต้องชะงักลง ส่วนนโยบายการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาขยะด้วยตนเอง เกิดจากการมองว่าบุคลากรในพื้นที่ย่อมรู้ปัญหาในพื้นที่ดีที่สุด เนื่องจากสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ประเด็นนี้จึงเป็นความท้าทายของรัฐในการจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างการกระจายอำนาจกับศักยภาพในการจัดการของท้องถิ่น 

“เราพยายามกระจายอำนาจลงไปให้องค์กรส่วนจังหวัด ส่วนท้องถิ่น เพราะมองว่าเขาอยู่ในพื้นที่ เขารู้ดีที่สุด รู้ดีว่าประชาชนต้องการอะไร ความร่วมมือเป็นเรื่องสำคัญ ทุกประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รัฐขับเคลื่อนแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้” 

ในขณะที่ผู้ประกอบการร้องขอให้เปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ภาครัฐต้องคำนึงถึงศักยภาพที่จะรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวและปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ถึงแม้จะมีรายได้ลดลงในช่วงเวลาที่ปิดสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ แต่ก็เป็นมาตรการที่จำเป็น เพื่อชะลอไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การสื่อสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงความจำเป็นในการรักษาสิ่งแวดล้อม ผอ.นารีรัตน์ กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นแล้วควรหาโอกาสในวิกฤตินั้น โดยการมองว่าสถานการณ์เช่นนี้อาจเป็นปัจจัยเดียวที่จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ ทุกฝ่ายจึงต้องเรียนรู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญต่อนโยบายเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการทำความเข้าใจกับประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา เพื่อช่วยในเรื่องการสื่อสารด้วย 

“ประเทศไทยต้องเดินหน้าไปสู่นโยบายเศรษฐกิจสีเขียวอย่างแน่นอน สิ่งสำคัญคือสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาอย่างยั่งยืน” 

ประเด็นทิ้งท้ายที่ทั้ง รศ.ดร.นิรมล และ ผอ.นารีรัตน์ กล่าวย้ำคือ การเน้นให้เห็นผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะปัญหาขยะที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการจัดการเบื้องต้น ในขณะที่ภาครัฐต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้เกิดการปฏิบัติได้จริง โดยอาศัยท้องถิ่นที่เข้าถึงปัญหาในพื้นที่ได้ดีที่สุด ต้องปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมในการพัฒนานโยบายต่อไป

บันทึกงาน EconTU Symposium ครั้งที่ 43
สนับสนุนโดย

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า