สู่สุคติ

editor-rip

01

ตอนนี้อะไรๆ กำลังเริ่มเข้าสู่สถานการณ์สงบ ทีแรกผมเลยตั้งใจจะหาคำไทยที่เหมาะกับ ‘Rest in Peace’ ให้เป็น ‘พักอย่างสงบ’ ก็ดันมีคำที่หมายความตามนี้อยู่แล้ว คือ ‘สุคติ’

หลังจากผลลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ออกมาว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และคำถามพ่วงก็ได้คะแนนทิ้งห่างกันเยอะทีเดียว ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวัง แต่ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายมากนัก ก็ผลออกมาแบบนั้น ทำไงได้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในกรอบกติกาที่ free & fair เท่าที่ควรตั้งแต่แรก เช่น ประเด็นการรณรงค์ การแสดงความเห็นด้านอื่นๆ

ถ้าจะพูดแบบลงรายละเอียดของร่างฯที่กำลังจะมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เหมือนที่ใครๆ ตั้งข้อสังเกตกัน คงเป็นการเสียเวลา เพราะก่อน 7 สิงหาคม เราพูดเรื่องนี้กันมากพอแล้ว หากใช้กูเกิลคล่อง หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจะง่ายกว่า

ในที่นี้ขอหยิบเฉพาะคำถามพ่วง “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” มาวาดภาพอนาคตกันเล่นๆ

คำนวณจาก timeline ที่วางกันไว้คร่าวๆ ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วสุดปลายปี 2560 จากนั้น สว.เฉพาะกาล ที่สรรหาโดย คสช. สามารถเลือกนายกฯได้ในวาระห้าปีแรก ดังนั้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาทางไหนก็ต้องมีอายุสี่ปี แต่ สว. มีอายุห้าปี มากกว่า สส. เท่ากับว่าเลือกนายกฯ ได้สองสมัย โดยอาศัยความชอบธรรมจากคำถามพ่วงให้อยู่ยาวๆ ‘แปดปี’

‘สมมุติ’ ถ้ามีเลือกตั้งในปี 2560 กว่าจะหมดสมัยนายกฯที่มาจากการเลือกของ สว. ที่สรรหาโดย คสช. ก็ราวปลายปี 2567 ถึงตอนนั้นผมจะมีอายุเกิน 40 ไปหลายปี คุณมีชัย ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะอายุ 87 พลเอกประยุทธ์-ไม่ว่าเจ้าของตำแหน่งนายกฯจะเป็นท่านหรือคนอื่น เพราะ คสช. เป็น ‘คณะ’ ไม่ได้มีเพียงพลเอกประยุทธ์-จะอายุ 71 และลูกหลานของใครสักคนที่เกิดในยุคของความสงบปี 2559 ก็จะฉลองครบรอบ 9 ขวบพอดิบพอดี

บวกกับโชคร้ายของผม ที่ดันไปอ่านสรุปร่างฯที่มีข้อพิจารณากันว่า ม.44 จะถูกใช้อีกพักใหญ่ๆ คสช. จะอยู่กับเราอีกนาน ซึ่งอาจเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่นหรือเปล่าก็ไม่รู้ หลังการเลือกตั้งก็เปิดทางนายกฯคนนอก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มาจาก คสช. กลับมาเป็น สว. ได้อีก ยุทธศาสตร์ชาติคืออะไร การปฏิรูปเป็นแบบไหนแน่ โอย เยอะ!

บวกของแถมเล็กๆ ด้วยบทเฉพาะกาลที่ว่า หลังการเลือกตั้งครั้งแรก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) -โปรดดูคำนำหน้าชื่อของสมาชิก สนช.-จะลงสมัคร สส. ไม่ได้ เว้นแต่จะลาออกจาก สนช. ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เอ่อ… สส. ก็มาจากกลุ่มคนที่คุณก็รู้ว่าใครได้เพียบเลยสินะ

เมื่อเห็นดังนี้ ผมก็เริ่มสบายใจแล้ว ว่าเราจะได้พักอย่างสงบกันไปนานๆ ตราบรุ่นลูกหลานเลยทีเดียว

02

เนื่องจากเรื่องนี้ผมจินตนาการเอาเองหลังตื่นนอนเมื่อเช้าวันที่ 8 สิงหาคม ไหนๆ วันนี้ก็เป็นวันที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์การเมืองของพม่า จึงขอพูดถึงเรื่องนี้สักหน่อย

หลังการปฏิวัติโดย นายพลเน วิน ในปี 1962 พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพมายาวนานเหมือนที่เราเห็นกัน มีเหตุต่อต้านชุมนุมเกิดขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งมีคนตายไม่น้อย จน 8 สิงหาคม 1988 เกิด ‘ปฏิวัติ 8888’ หรือการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนพม่า ที่ท้ายสุดก็ถูกกวาดราบคาบโดย พลเอกซอ หม่อง พร้อมการเกิดขึ้นของ ‘สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council) ที่รู้จักกันในชื่อ ‘SLORC’

จากนั้น SLORC ก็เปลี่ยนชื่อแปลงร่างไปเรื่อยๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์และแรงกดดันจากนอกประเทศ ในปี 1993 เป็นสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (อังกฤษ: State Peace and Development Council: SPDC) ตั้งสมาคมสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Association: USDA) โดย SPDC ซึ่งตอนหลังแตกหน่อออกมาเป็นพรรคการเมืองสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ในปี 2010 นำโดย พลเอกเตง เส่ง และนายทหารอีกหลายคน ที่ลาออกจากราชการมาสวมบทบาททางการเมืองในฐานะพรรค USDP อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ตอนนั้นพม่าสงบดีครับ เพราะถ้าใครหือก็โดนจับเลย

ในรัฐธรรมนูญพม่าฉบับลงประชามติปี 2008 มีรายละเอียดน่าสนใจครับ เช่น การห้ามผู้ที่สมรสและมีบุตรกับชาวต่างชาติเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี-พูดง่ายกว่านั้นก็คือ ห้าม ออง ซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดี นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตอนนี้ซูจีถึงเป็นได้แค่ ‘ที่ปรึกษาแห่งรัฐ’

ทุกวันนี้ แม้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ของ ออง ซาน ซูจี จะได้เสียงข้างมากทั้งสองสภา ทำให้สามารถเลือก ถิ่น จอ เป็นประธานาธิบดีได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยกลไกทางการเมือง สภาสูงมีโควตาผู้แทนจากกองทัพ 56 ที่นั่ง และสภาล่างอีก 110 ที่นั่ง เท่ากับว่า แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ยังมีนักการเมืองจากพรรค USDP ที่แปรสภาพมาจากกลุ่มทหาร 41 ที่นั่ง รวมกับฝ่ายกองทัพ 166 ที่นั่ง เข้าไปสอดไส้อยู่ดี

03

เอาเถอะครับ นี่ชีวิตจริงๆ ไม่มีใครสามารถกด undo ได้ จะซึมจะเซ็งกับผลแค่ไหน บางคนพูดกันถึงขั้นว่า “เสียงส่วนใหญ่ไม่ได้รับแค่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยอมรับกติกาที่ไม่แฟร์ไปด้วย”

ผมขอยกคำพูดของ โจ๊กเกอร์ กับ ฮาร์ลีย์ ควิน ใน Suicide Squad (ขออนุญาตไม่แปลไทยนะครับ กลัวผิดความ เพราะเอามาใช้ในบริบทอื่น)

Joker: Question. Would you die for me?

Harley: Yes.

Joker: That’s too easy. Would you… would you live for me? Hmm

ฉากประทับใจครับ (แม้หนังจะห่วยบรม) อย่าสิ้นหวังจนรีบตายไปก่อนครับ มันง่ายไป ทางที่ดีคืออดทนอยู่กับมัน รออย่างตั้งใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา

ดังนั้น ‘จงมีชีวิต’ อย่างมีความหวัง แม้จะไม่ง่าย แต่เรื่องแบบนี้ยังมีอะไรน่าท้าทายอีกเยอะ

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า