เวลาคุยเรื่องโครงการพัฒนาขนาดใหญ่แล้วติดแหง็กอยู่คำว่าว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” บางครั้งก็นำมาสู่ข้อถกเถียงที่น่าอึดอัด เพราะข้อมูลของวงสนทนาไม่ได้มีมากพอที่จะกระชับผู้คนในวงให้ถกเถียงกันบนข้อเท็จจริงเดียวกัน บางคราวของการตัดสินว่าจะยืนฝั่งไหนจึงขึ้นตรงกับ “ความรู้สึก” มากกว่า “ข้อเท็จจริง” แน่ละว่าความรู้สึกก็เป็นข้อเท็จจริงประเภทหนึ่ง แต่การถกเถียงที่ก้าวหน้าย่อมต้องการอะไรบางอย่างที่จับต้องได้มากกว่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลขั้นต้นในการคลี่ข้อมูลชุดนี้ออกมา อย่างน้อยเพื่อทำให้รู้ว่าเรากำลังพูดคุยอยู่บนข้อมูลเช่นใด
เหตุผลอีกประการก็คือ ในย่างก้าวของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีกลุ่มคนทำงาน คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และภาคประชาชนหลายกลุ่ม ที่พยายามตั้งคำถามย้อนจากล่างขึ้นบน เพื่อชวนคิดว่าการพัฒนาดังกล่าวนั้นมุ่งหน้าไปโดยหลงลืมหรือแกล้งทิ้งใครไว้ระหว่างทางหรือไม่ และทำอย่างไรที่ความฝันร่วมของผู้คนจะถูกนับรวมแล้วเดินหน้าไปพร้อมกัน
นั่นคือหลักการและเหตุผลอย่างย่นย่อ ที่เหลือนับจากบรรทัดนี้คือตัวเลขบางประการที่ค้นพบระหว่างทางของ EEC
36 ปี จาก Eastern Seaboard ถึง EEC
หมุนเข็มนาฬิกาวนซ้ายเพื่อย้อนเวลากลับไปเมื่อ 36 ปีที่แล้ว วันนั้นเป็นการนับหนึ่งอย่างเป็นทางการกับโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program: ESB) ซึ่งอยู่ในยุคสมัยของรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บนพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ก่อกำเนิดพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย เกิดฐานการผลิตยานยนต์ ฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ท่าเรือน้ำลึก ตลอดจนอุตสาหกรรมพลังงาน
“โชติช่วงชัชวาล” กลายเป็นวรรคทองที่ติดหูของยุคสมัย การเปลี่ยนเมืองจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมนำมาซึ่งการลงทุนและการจ้างงานนับไม่ถ้วน แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านคือพื้นที่เหล่านี้ก็ขึ้นชื่อว่ามีประชาชน และสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างเช่นกัน หากกูเกิลด้วยคำว่า ‘นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด’ และ ‘ท่าเรือแหลมฉบัง’ ผลการค้นหา ณ กาลเวลาปัจจุบันจึงปรากฏทั้งด้านบวกและลบ
เหตุที่ต้องเท้าความกลับไปเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้วก็เพราะทั้งสองโครงการเป็นเมกะโปรเจ็คต์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันอย่างมีเจตนา รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เหตุผลของการผุดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ Thailand 4.0 ว่าต่อยอดมาจากโครงการ Eastern Seaboard เพียงแต่ตัดลบไปหนึ่งจังหวัด คงเหลือพื้นที่นำร่องคือจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา พร้อมวาดฝันไว้ว่าประเทศไทยจะเป็น ‘มหานครแห่งอนาคต’ เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอาเซียนที่มีศักยภาพที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นจุดเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมทั้งอยู่ในเส้นทางที่จะติดต่อค้าขายกับจีน ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์และต้นทุนเดิมที่มีอยู่ จึงมีโอกาสสูงที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมเอเชีย และเชื่อมโลก ผ่านการค้าและการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล
จาก Eastern Seaboard ซึ่งเริ่มขึ้นปี 2525 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ถึงโครงการ EEC ซึ่งจุดพลุอย่างเป็นทางการตาม พ.ร.บ.พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เราเห็นความหวังจากคำฝัน จาก ‘โชติช่วงชัชวาล’ สู่ ‘มหานครแห่งอนาคต’ ฝันดังกล่าวอาจสมเหตุสมผลด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล ผ่านอุตสาหกรรมเดิมซึ่งยังคงอยู่และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามา แต่ก็อย่างที่ว่ามาแล้วเช่นกัน ความฝันของคนพื้นที่มีหลายรูปแบบ การทำให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์ร่วมกันโดยไม่เพิ่มบาดแผลจึงเป็นวาระที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจอย่างยิ่ง
1.5 ล้านล้านบาท คือเม็ดเงินที่คาดหวังจากการลงทุน
ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดดังที่กล่าวมาแล้ว พื้นที่ 5 อุตสาหกรรมเดิม ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไป คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหาร ส่วน พื้นที่ 5 อุตสาหกรรมอนาคต ที่จะเพิ่มขึ้นมาประกอบด้วย หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสหากรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
กล่าวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับโครงสร้างพื้นฐานนั้น EEC มีแผนที่พัฒนาอุตสาหกรรมการบินและรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา มีรถไฟรางคู่เพื่อเชื่อมกับ 3 ท่าเรือ คือ แหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เฟส 3 และ เฟส 4 ที่คาราคาซังมานานให้เดินได้เสียที ไม่เพียงเท่านั้นในโครงการเดียวกันนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาทางหลวงและมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมประเทศในแถบนี้ผ่านเส้น East-West Corridor เส้นล่าง ตั้งแต่ทวาย กาญจนบุรี กรุงเทพฯ และ 3 จังหวัด EEC ก่อนมุ่งสู่สระแก้ว กรุงพนมเปญ และนครโฮจิมินห์
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการวาดฝันเอาไว้ว่า EEC จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนนำเข้ามากเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 38 หากวัดจากกลุ่มหุ่นยนต์ทั้งหมด รองลงมาคือหุ่นยนต์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตอัดฉีดพลาสติกที่นำเข้ามากเป็นอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 19
ความพยายามอีกด้านคือ การผลักดันให้พื้นที่ในแถบนี้กลายเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจระดับโลก รวมทั้งเป็นเขตการค้าเสรี ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับเมืองใหม่ในฉะเชิงเทรา พัทยา และระยอง
โครงการต่างๆ ที่ว่ามายังเกิดขึ้นบนการเอื้อสิทธิประโยชน์นานัปการเพื่อดึงดูดบรรษัทข้ามชาติจากทั่วทุกมุมโลกมาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยภายใน 5 ปี จาก 2560-2564 รัฐบาลคาดหวังว่าจะเกิดการควักกระเป๋าลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
1 ใน 5 ของ GDP ประเทศไทยมาจากภาคตะวันออก
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปี 2557 ระบุว่า ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั้งประเทศ 13.132 ล้านล้านบาท ในจำนวนเหล่านั้นเป็นของภาคตะวันออกทั้งหมด 2.333 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.76 แต่หากวัดเฉพาะในพื้นที่นำร่อง EEC ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จะพบว่ามีตัวเลขสูงถึง 1.914 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.57 ของ GDP ทั้งหมดของประเทศ
กล่าวอย่างเข้าใจง่ายมากขึ้นก็คือราว 1 ใน 5 ของ GDP ทั้งประเทศมาจากภาคตะวันออก และหากวัดให้แคบลงจะพบว่า 1 ใน 7 ของ GDP ทั้งประเทศ 77 จังหวัด มาจากพื้นที่ EEC เพียง 3 จังหวัดเท่านั้น
ข้อมูลชุดเดียวกันนั้นยังอธิบายอีกว่า ภาพรวมโครงสร้างการผลิตทั้งหมดบนพื้นที่ EEC ขับเคลื่อนและหายใจอยู่ด้วยอุตสาหกรรมมากถึง 1.235 ล้านล้านบาท ลดหลั่นลงมาคือภาคบริการและอื่นๆ 0.618 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีตัวเลข 0.06 ล้านล้านบาท
75 เปอร์เซ็นต์ ของนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่ในภาคตะวันออก
ข้อมูลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ระบุว่า นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยมี 54 แห่ง กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งลำปาง พิจิตร หนองคาย อุดรธานี สระบุรี กรุงเทพฯ อยุธยา เพชรบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา แต่ที่มากที่สุดของประเทศนั้นกระจุกอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี 1 นิคมฯ ฉะเชิงเทรา 4 นิคมฯ ระยอง 13 นิคมฯ และชลบุรี 13 นิคมฯ
โดยหากวัดพื้นที่จะพบว่า ร้อยละ 75 ของนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดของประเทศตั้งอยู่บนแผ่นดินของภาคตะวันออกทั้งสิ้น
41,780 ไร่ หรือ 47 เปอร์เซ็นต์ เป็นของกลุ่มอมตะ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีการประมาณการตัวเลขการใช้ที่ดินในโครงการ EEC อยู่ที่ 13,285 ตารางกิโลเมตร 8,338,923 ไร่ ซึ่งในพื้นที่เหล่านี้ก็จะมีการประกอบกิจการในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมดังที่ได้ยกตัวอย่างไปบ้างแล้ว
กล่าวถึงการใช้ที่ดิน นอกจากการออกพระราชบัญญัติฯ เพื่อเดินหน้าโครงการนี้โดยเฉพาะ ยังมีการออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนด ‘เขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรม EEC’ 21 เขต เนื้อที่รวมกันประมาณ 88,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ประเด็นที่เราชวนมองก็คือ ในพื้นที่เหล่านั้นมีกลุ่มทุนใดปักหมุดจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่บ้าง ข้อมูลบางวรรคตอนจากการรวบรวมของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) ซึ่งอ้างอิงมาจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาศัยอำนาจตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 2/2560 ทำให้เราค้นพบตัวละครพี่เบิ้มหลายกลุ่มที่ยืนปักหลั่นกุมสัดส่วนบนที่ดินมากน้อยไล่เรียงตามลำดับดังนี้
- อันดับ 1 กลุ่มอมตะ 41,780 ไร่ (47%)
- อันดับ 2 กลุ่มเหมราช 24,745 ไร่ (28%)
- อันดับ 3 อีสเทิร์นซีบอร์ด 9,689 ไร่ (11%)
- อันดับ 4 กลุ่มปิ่นทอง 5,749 ไร่ (7%)
- อันดับ 5 ซีพี 3,068 ไร่ (3%)
- อันดับ 6 Smart Park อื่นๆ 1,531 ไร่ (2%)
หากพิเคราะห์ต่อเนื่องว่าบริษัทหัวแถวอย่างกลุ่มอมตะและกลุ่มเหมราชทำมาหากินอยู่ด้วยธุรกิจเช่นใดจะพบว่า กลุ่มทุนทั้งคู่มีรายได้หลักจากธุรกิจจัดสรรที่ดิน โดยในปี 2555-2557 เฉพาะบริษัทอมตะฯ มีรายได้จากการขายที่ดินถึงร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมด
นอกจากเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรม EEC ในพื้นที่ 88,000 ไร่ดังกล่าวแล้ว ยังมีการกำหนดเขตส่งเสริมเมืองการบิน 6,500 ไร่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECI) เนื้อที่ 3,302 ไร่ และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd) มีเนื้อที่อีก 709 ไร่
12-25 ล้านบาท / ไร่ ราคาที่ดินพุ่ง 30 เปอร์เซ็นต์ หลังเดินหน้า EEC
แน่ละว่าในพื้นที่จังหวัดนำร่อง EEC มีราคาที่ดินสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งด้วยภูมิศาสตร์ที่ไม่ได้ห่างจากเมืองศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ มากนัก อีกทั้งการพัฒนาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ทำให้ที่ดินแถบนี้เป็นทำเลทองที่นักธุรกิจน้อยใหญ่หมายปอง แต่หลังจากการประกาศเดินหน้า EEC ในปี 2557 ราคาที่ดินที่แพงอยู่แล้วก็พุ่งขึ้นมากกว่าเดิม หากเทียบปี 2557 กับ 2560 ระยะเวลาเพียง 3 ปี ที่ดินแถบนี้มีราคาสูงขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
ตัวอย่างจากที่ดินติดถนนสายหลักของจังหวัดฉะเชิงเทรา จากเดิมราคา 3-6 ล้านบาทต่อไร่ ขยับไปเป็นไร่ละ 12-25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่าตัว
ผลกระทบของราคาที่ดินแพงขึ้นก็คือ เจ้าของที่ดินเดิมนั้นทยอยปล่อยที่ดินให้หลุดจากมือไปอยู่ในกลุ่มทุน ขณะที่ผู้เช่าที่ดินก็พลอยได้รับผลกระทบตามไป เพราะเดิมผู้คนจำนวนมากประกอบอาชีพอยู่บนที่ดินซึ่งสัญญากับเจ้าของเดิมเอาไว้ก็พลอยถูกยกเลิกไปด้วย นั่นทำให้ประชาชนที่มีแต้มต่อในการทำมาหากินน้อยอยู่แล้วยิ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้นกว่าเดิม
63 เปอร์เซ็นต์ ของคนในพื้นที่ไม่รู้ว่า EEC คืออะไร
แม้ภาครัฐจะประกาศเดินหน้าและประชาสัมพันธ์เรื่อง EEC เพียงใด แต่ข้อมูลจากสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ที่เคยสำรวจความคิดเห็นประชาชน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง จำนวน 1,249 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-23 มิถุนายน 2561 ปรากฏว่า ร้อยละ 63 ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า EEC คืออะไร
และเมื่อถามว่า เคยพบเห็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชนลงพื้นที่ให้ข้อมูลชาวบ้าน เกี่ยวกับประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับจาก EEC หรือไม่ พบว่าร้อยละ 73.3 ไม่เคยพบเห็นเลย นอกจากนี้ร้อยละ 71.5 กังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ร้อยละ 76.6 กังวลเกี่ยวกับขยะพิษ และร้อยละ 71.7 กังวลปัญหาความไม่ปลอดภัย
ตัวเลขเหล่านี้อาจไม่ชี้ผิด-ถูกว่าที่สุดแล้ว EEC จะเกิดผลกระทบอะไรในอนาคต แต่อย่างน้อยที่สุดมันช่วยคลี่คลายให้เห็นว่า พื้นที่ 3 จังหวัดนำร่องของเมกะโปรเจ็คต์ระลอกใหม่นี้ กำลังเผชิญอยู่กับข้อเท็จจริงเช่นไร และคำถามสำคัญก็คือ คนข้างล่างได้อะไรจากอภิมหาโครงการที่จะต่อยอดจากความโชติช่วงชัชวาลไปสู่มหานครแห่งอนาคต
อนาคตที่ว่าอาจต้องทบทวนบทเรียนในอดีต และพาคนในปัจจุบันไปสู่ฝันของวันข้างหน้าด้วย
อ้างอิง:
|