ความเหลื่อมล้ำในหมอกควัน และวันที่เราต้องเลิกชี้หน้าหาคนผิด

“นายวิชาญเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังไฟป่า ต้องเสียเวลาทำมาหากิน เคยถูกงูฉกและเคยลื่นตกเขาขาหัก”

“นายกฐินเข้าร่วมโครงการส่งเสริมปลูกพืชทางเลือกแทนการปลูกข้าวโพด แต่มีปัญหาเรื่องตลาดเพราะไม่มีผู้รับซื้อที่แน่นอน”

“ป้าแอ้วไม่เข้าใจเหตุผลที่ห้ามเผาเศษใบไม้ทั้งที่ใช้วิธีนี้กำจัดใบไม้แห้งมานาน ป้าแอ้วยังได้รับข้อมูลผ่านกรุ๊ปไลน์ว่า การโฆษณาเรื่อง PM 2.5 เป็นผลงานของกลุ่มธุรกิจที่ต้องการขายหน้ากากและเครื่องฟอกอากาศให้กับประชาชน”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวละครสมมติที่ถูกยกขึ้นมาสะท้อนภาพกว้างของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างคร่าวๆ ท่ามกลางตัวละครอีกมากมายในหลากหลายบริบท จั่วหัวย้ำให้รู้ว่าหมดเวลามองหาจำเลยแต่เป็นเวลาที่ต้องร่วมหาแนวทางรับมือที่ครอบคลุมความซับซ้อนในหลายแง่มุม ก่อนจะเริ่มต้นเวที ‘เชื่อมความรู้ที่หลากหลายสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะ เพื่อรับมือปัญหาหมอกควันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ (Inclusive Knowledge and Policy Interface for Coping with Haze)

โครงการขับเคลื่อนความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สําคัญคือการเชื่อมความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับความรู้ทางสังคมในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการปรึกษาหารือ โดยใช้แนวทางที่เรียกว่าคณะลูกขุนพลเมืองหรือตุลาการภาคประชาชน (Citizens’ Jury) ซึ่งมุ่งเน้นเสริมพลังประชาชนธรรมดาให้มีโอกาสซักถาม รับฟังข้อชี้แจง รวมถึงตัดสินนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมได้ในบรรยากาศของงานที่เป็นเสมือนตลาดนัดนโยบาย (Policy market) ทุกคนมีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองเชิงนโยบายต่างๆ ได้อย่างเสรีและเท่าเทียมกัน เสมือนเดินอยู่ในตลาดนัดทั่วๆ ไป ทุกคนสามารถจับจ่ายแนวทางจากหลากหลายผู้เข้าร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาชุมชน รวมถึงตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรค

เป็นการร่วมออกความเห็นในวันที่มองออกไปแล้วพบว่าฝุ่นละอองหนาจนไม่อาจเห็นยอดดอยสุเทพอย่างที่ควรเป็น

เปิดตลาดนัดนโยบาย (Policy Market)

ผศ.ดร.อรอร ภู่เจริญ: แนวทางของตลาดนัดนโยบายคือทลายชนชั้น ทลายกำแพงของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง และทลายอัตตา เราต้องการเปิดพื้นที่รับฟังเหตุผลของทุกคนโดยไม่สนตำแหน่งที่ถืออยู่ เลิกมองว่าปัญหานี้เป็นของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งแล้วมองในเชิงบูรณาการ และทลายความคิดว่า ‘ฉันรู้ดีที่สุด’ มาเป็น ‘ฉันพร้อมร่วมมือกับทุกคน’ แทน

รองศาสตราจารย์ ดร. สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์: ถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกเราทุกคนที่จะรื้อความคิดใหม่ เพราะนโยบายที่จะมากำกับดูแลเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเดียว มันไม่ง่ายแน่นอนเมื่อต้องเกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คนจำนวนมาก การออกแบบนโยบายในเรื่องนี้จึงต้องไม่ลืมนึกถึงแง่มุมด้านความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกพื้นที่ด้วย

ผศ.ดร. ปิยะพงษ์ บุษบงก์: เมื่อตลาดนัดนโยบายไม่ใช่เวทีเฉพาะของใครคนใดคนหนึ่ง ผู้เข้าร่วมทุกคนจึงเสมือนมีชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ของภาพนโยบายขนาดใหญ่ เป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ความรู้ที่แตกต่างกัน โดยแต่ละชิ้นถือเป็นการเชื่อมชุดความรู้ในมือที่หลากหลายเข้าด้วยกันสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะต่อไป เราจะตั้งต้นจากการนำข้อเสนอทั้งที่มีอยู่และได้เพิ่มเติมมาคิดต่อ เวทีนี้จึงไม่ใช่แค่ Share อย่างเดียว แต่ต้อง Share และ Learn ไปพร้อมกันด้วย

คณะทำงานจากสถาบันนโยบายสาธารณะได้แบ่งเวทีเสมือนตลาดนัดครั้งนี้ออกเป็นสามส่วนเพื่อสร้างกรอบกว้างๆ ก่อนนำไปสู่กิจกรรมต่อไป

ทั้ง 3 ส่วนแบ่งเป็น ‘ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง’ และแตกออกเป็นสามแบบคือ เน้นองค์รวม (Progressive) เน้นนวัตกรรม (Innovative) และแบบทั่วถึง (Inclusive) โดยทางเลือกนโยบายแต่ละช่วงมาจากการลงพื้นที่สำรวจจริง เพื่อปูพื้นให้ผู้เข้าร่วมได้มองเห็นทางเลือกและสามารถคิดต่อไปได้

1) ต้นทาง คือ ทางเลือกนโยบายในการแก้ปัญหาต้นตอของการสร้างหมอกควันซึ่งไม่ควรตีขลุมว่ามาจากนอกเมืองหรือในเมืองเพียงอย่างเดียว โดยมีทั้งทางเลือกด้านภาษี Pollution Tax การพัฒนา Bio-economy เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชน ผลักดันระบบการจัดการเกษตรที่ดี (GAP: Good Agriculture Practice) ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่มีระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS: Participatory Guarantee System) และใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายแทนการเผา รวมถึงการสื่อสารสังคมให้หยุดกล่าวโทษ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างทางเลือกของการเป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถทำการเกษตรแบบไม่พึ่งพาไฟพร้อมกับให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูผืนป่า

2) กลางทาง คือ ทางเลือกนโยบายในการแก้ปัญหาในช่วงก่อนที่การก่อหมอกควันกำลังจะเกิด ในขณะที่หลายคนมักมองการแก้ปัญหาไปที่ต้นทางและปลายทาง แต่ในระยะของกลางทางเองก็เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต้นและปลายทาง ทั้งยังเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ตลอดทั้งปีโดยที่ไม่ต้องรอให้ปัญหาเกิดขึ้น

ทางเลือกในส่วนนี้มีตั้งแต่การปรับกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายป่าไม้ สนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ซังข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ สร้างระบบให้บริการองค์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันและการจัดการปัญหาหมอกควัน ระบบเฝ้าระวังปัญหาหมอกควันและพื้นที่เสี่ยง และระบบคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการเผา หนุนเสริมกลไกการจัดการในแต่ละชุมชนเอง จนถึงสร้างความชุ่มชื้นให้ระบบนิเวศเพื่อลดไฟป่า

3) ปลายทาง คือ ทางเลือกนโยบายแก้ปัญหาในช่วงที่เกิดหมอกควันแล้ว แม้จะเป็นปลายทางแต่ความสำคัญก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันและขยายไปสู่ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ทางเลือกในส่วนนี้จะเน้นการปฏิวัติมาตรฐานการจัดการระบบข้อมูลเครือข่าย ทั้งวัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ระบบข้อมูลสถานการณ์หมอกควัน ผลักดันความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution: AATHP) รวมถึงพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพอากาศที่มีราคาถูก สามารถพกพาได้ พัฒนากลไกในการดูแลกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะผู้ป่วย เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และจ่ายค่าเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะด้านสุขภาพ

ต่อจิ๊กซอว์ความคิด

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม: หวังว่าความรู้ในวันนี้จะทำให้เราเปลี่ยนจากสภาพความโกลาหลต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น เป็นสภาพที่เราสามารถวางแผนจัดการและอยู่ร่วมกับมันได้

แผ่นไวนิลขนาดใหญ่เป็นรูปแผนที่ประเทศไทยสามแผ่นวางแยกกันไปในสามจุด ก่อนที่ผู้เข้าร่วมทั้งหมดจะแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม แต่ละคนต่างมีโอกาสแปะไอเดียของตัวเองลงบนแผนที่ที่เปิดโอกาสให้แจกแจงได้เต็มที่ตั้งแต่ระดับการนำไปใช้ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ประเทศ หรือนานาชาติ ฝ่ายรับผิดชอบควรเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม หรือการศึกษา จนถึงความเร่งด่วนว่าควรทำให้เสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งปี ห้าปี หรือสิบปี ก่อนที่ทุกคนจะได้รับสติ๊กเกอร์วงกลมสีแดงคนละสามชิ้นเพื่อแทนเงินทุนไว้จับจ่ายไอเดียเหล่านั้น

หลังผู้เข้าร่วมเดินสำรวจและให้คะแนนแนวคิดบนไวนิลทุกแผ่นแล้ว พบว่าแนวคิดที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากมีทั้งการสร้างข้อตกลงการเผาร่วมกัน การสร้างทางเลือกเทคโนโลยีกำจัดซากพืช ลดควันจากการเกษตร ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน สื่อสารให้สาธารณะรับรู้ว่าปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาของทุกคน จัดตั้งคณะทำงานคอยสอดส่องและเชื่อมโยงข้อมูลให้กับทุกฝ่าย เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น และแก้ไขระเบียบภาครัฐเรื่องการก่อมลพิษ

ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม
ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม

ท่ามกลางแนวคิดยอดนิยมนี้ มีบางแนวคิดที่ผู้เข้าร่วมงานขอแสดงความเห็นเพิ่มเติม

1) ควบคุมการเผา

วิทยา ครองทรัพย์ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ย้ำว่า สิ่งที่ควรทำก็คือต้องค้นหาทุกสาเหตุของการเผาตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่ขึ้นมาทั้งหมดแล้วจัดกลุ่ม เรียบเรียง ก่อนจะพูดคุยและขอความร่วมมือกันโดยไม่ต้องชี้หน้าว่าใครเป็นฝ่ายผิด เพื่อนำไปสู่การใช้มาตรการทางสังคม ระเบียบท้องถิ่น หรือแม้แต่การออกกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมการเผา กำหนดว่าไม่สามารถจะเผาอะไรได้ตามใจชอบอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม สว่าง เฟื่องกระแสร์ ตัวแทนจากพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยเพิ่มเติมว่า การเผาเป็นการต้นทุนที่ถูกที่สุด เช่นเดียวกับ อเล็กซ์ เยาวชนหนึ่งเดียวในผู้เข้าร่วมครั้งนี้ที่บอกเล่าให้ฟังถึงการเผาเพื่อทำนาในหมู่บ้านของเธอ แม้รู้ว่าควันลอยไปรบกวนชาวบ้าน แต่จะให้คิดเรื่องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเลยได้อย่างไรหากยังต้องรับมือกับปัญหาปากท้อง ค่าใช้จ่ายรอบด้านที่ทำให้เขาไม่สบายใจอยู่ทุกวัน

2) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกร

แม้จะไม่ใช่แนวคิดที่ได้รับความนิยมนัก แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต้นทุนการเกษตรก็เป็นเรื่องสำคัญในประเด็นของปัญหาหมอกควันเช่นกัน จิรวรรณ กิจชัยเจริญ เสนอว่า หากจะให้เกษตรกรยอมรับมาตรการต่างๆ จะต้องมีเงื่อนไขและบริบทที่ทำให้เขายอมรับได้ เช่น แม้ว่าการปลูกไม้ยืนต้นจะเหมาะกับการทำเกษตรบนพื้นที่สูง แต่ก็ต้องคำนึงถึงมุมมองของการเสียโอกาสทำรายได้จากการปลูกพืชระยะสั้นของเขาและเงื่อนไขของการเปลี่ยนมาปลูกไม้ยืนต้นแทนด้วย

เช่นเดียวกันกับการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค ควรมีระบบที่ทำให้ประชาชนรู้ว่าสินค้าตามท้องตลาดถูกผลิตในกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจสนับสนุนบริโภคสินค้าได้ถูกต้อง ซึ่งเมื่อตลาดไม่ต้องการสินค้าที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ฝ่ายผู้ผลิตเองก็จะเกิดการปรับตัวไปด้วยเช่นกัน

3) สภาประชาชน

นอกจากเรื่องการเผาแล้ว อเล็กซ์ ยังพูดถึงข้อเสนอเกี่ยวกับสภาประชาชนที่เธอสนใจด้วย โดยยกตัวอย่างตัวเองที่เป็นเด็กบ้านเรียน (Homeschool) ได้พบกับเยาวชนตามชนเผ่าบนพื้นที่สูงมากมาย และได้รวมตัวตั้งเป็นภาคีขึ้นมา ทำให้สามารถพูดคุยแสดงความคิดเห็นเรื่องการศึกษากันได้เต็มที่ มีคนรับฟัง และเกิดการเคลื่อนไหว ในส่วนของสภาประชาชนเกี่ยวกับเรื่องหมอกควันจึงควรรวมเยาวชนเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

สุริชัย หวันแก้ว
ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว

ปัญหาหมอกควันของเราไม่เท่ากัน

วันที่หมอกควันปกคลุมกรุงเทพฯ ความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่องและหมอกควันก็หายไปในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่หมอกควันปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตลอดกว่าสิบปีและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังเกิดขึ้นเหมือนเดิมทุกปี เหมือนที่ ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว บอกว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำในความเข้าใจโจทย์ปัญหาหมอกควัน

“สิ่งที่เรารับรู้ว่าเป็นปัญหา สิ่งที่เรามองเห็น กับความรู้ทางวิชาการ ทั้งสามอย่างนี้บางทีก็ไม่ค่อยเชื่อมโยงกันนัก จนทำให้เอาแต่มองหาต้นเหตุ แล้วก็มักมองแต่ต้นเหตุที่เห็นได้ง่าย เช่น ชาวบ้านเผาป่า ทำไร่ข้าวโพด แต่ต้นเหตุอย่างระบบอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงหลายระบบที่เชื่อมโยงกันมากมายกลับมองไปไม่ถึง โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยมีนโยบายรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง

“ถึงแม้จากโจทย์การพูดคุยแลกเปลี่ยนในวันนี้ยังทำให้เห็นว่า ทางออกส่วนใหญ่ใช้อารมณ์และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ โดยยังไม่ถกกันอย่างเป็นองค์รวมนัก แต่อย่างน้อยการพูดคุยเรื่องทางเลือกนโยบายวันนี้ ชวนให้เราหลุดจากกับดักการแก้ปัญหาแบบสำเร็จรูป ไปสู่การแก้ปัญหาของระบบในระดับโครงสร้างมากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม อยากให้มองต่อยอดไปถึงประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนด้วย เพราะปัญหานี้ไม่ได้จบอยู่แค่ในประเทศเราอย่างเดียว แต่ส่งผลไปถึงระดับภูมิภาคด้วย สมมติว่าการเผาป่าจำนวนไม่น้อยโยงกับอุตสาหกรรมข้าวโพด แล้วอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านจำนวนเท่าไหร่ที่อยู่ภายใต้บริษัทที่ไทยเป็นเจ้าของ โจทย์นี้จึงเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของประเทศที่เกินกว่าจะปล่อยให้ผู้นำพูดได้คนเดียว

“ความรู้สึกร่วมทุกข์กับประเทศเพื่อนบ้านไปถึงการกำกับดูแลให้ทุกอย่างอยู่ในมิติทางจริยธรรม ไม่ได้มองแต่เฉพาะคนอื่นทางเศรษฐกิจอย่างเดียว น่าจะสร้างความมั่นใจในการแก้ปัญหาร่วมกัน เป็นสัญญาณที่ดีต่อการร่วมแก้ปัญหาอื่นในระดับอาเซียนต่อไปได้”

แม้เวทีนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ทางสถาบันนโยบายสาธารณะจะรวบรวมแนวคิดทั้งหมดนำไปต่อยอด ทั้งในเชิงของงานวิจัย และแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เข้าถึงทุกคนได้อย่างแท้จริง
และไม่มีใครต้องเป็นจำเลยฝ่ายเดียว หรือถูกหลงลืมไว้ข้างหลังอีกต่อไป

Author

ลีน่าร์ กาซอ
แม่ลูกหนึ่งผู้ต่อกรกับโลกของเด็กเจนอัลฟ่าเป็นงานหลัก ทำงานหนังสือเป็นงานรอง เห็นแก่กินและเที่ยวเป็นสำคัญ ชอบเรื่องสยองขวัญทั้งหนังสือและหนังในระดับคลั่งไคล้ หนึ่งในความฝันคือรับบทเป็นฆาตกรโรคจิตในหนังสักเรื่อง ตอนนี้เพิ่งค้นพบว่าเป็นติ่งวง Blackpink หลังจากฟังแต่เพลงร็อกมานาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า