‘ELECT after Election’ หลังเลือกตั้ง เราได้ ‘ใคร’ กลับมา

การเลือกตั้งเป็นหนึ่งในหลายมาตรวัดว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยไม่ได้จบลงแค่วันเลือกตั้ง

ถอนแคนดิเดตคนสำคัญกลางอากาศ-บัตรเสีย-คะแนนเขย่ง-สส.ปัดเศษ-หุ้นสื่อ-ยุติการปฏิบัติหน้าที่-ตัวเปิด-เครื่องแต่งกาย-อีช่อ-ตัดพี่ตัดน้อง-ฝ่ายค้านอิสระ-ดาวสภา-ปริ่มน้ำ-ทรานซิสเตอร์-ถวายสัตย์ไม่ครบ ฯลฯ หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งอันโกลาหล เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีสีสันสุดแสบและใช้กฎเกณฑ์หลายมาตรฐานที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. 1,767 วัน หรือราว 5 ปี เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 28 ของไทย ประเทศที่ประชาชนผ่านประสบการณ์การรัฐประหารมาแล้วถึง 13 ครั้ง ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 5,386,864,788 บาท (อ่านว่า ห้าพันสามร้อยแปดสิบหกล้าน แปดแสนหกหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยแปดสิบแปดบาท) จนได้พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 พร้อมคณะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

เสวนาเปิดนิทรรศการ ‘ELECT after Election: เลือกแล้วได้อะไร? ประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย ELECT กลุ่มเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างสื่อ บริษัทเทคโนโลยีและการจัดการข้อมูล และภาคประชาสังคมเพื่อขุดคุ้ย ตีแผ่ข้อมูลมหาศาลก่อน-ระหว่าง-และหลังการเลือกตั้ง ให้กลายเป็นภาพเข้าใจง่าย ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) โดยการพยายามค้นหาและคลำทิศทางว่าประชาธิปไตยไทยควรไปทางไหนต่อ เพราะอำนาจของประชาชนไม่ได้หยุดอยู่เพียงในสภาหรือคูหาเลือกตั้งแน่ๆ

รำลึกความหลัง: สิ่งที่น่าประหลาดใจในช่วงเลือกตั้ง?

พริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองและอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มย่อย คือกลุ่มที่ชื่นชอบ ‘เลือกความสงบจบที่ลุงตู่’ กลุ่มที่ชื่นชอบ ‘พรรคการเมืองในอดีต’ และกลุ่มที่ ‘มองไปยังอนาคต’ ทำให้คะแนนเสียงแตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไทย และอนาคตใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงน้อยลง

แต่สิ่งที่น่าสนใจกลายเป็นว่าโพลเลือกตั้งที่หยั่งเสียงได้แม่นที่สุดคือโพลที่ผ่านการรวบรวมข้อมูลออนไลน์โดยการนับยอด Google Search แสดงว่าประชาชนจำนวนมากเข้าถึงข้อมูลเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์

ในขณะที่คาดไว้อยู่แล้วว่าเลือกตั้งครั้งใหม่ก็คงจะได้คนเดิม พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการสื่อออนไลน์ The Matter กล่าวว่า สิ่งที่น่าประหลาดใจกลับเป็นการที่มีคนออกไปใช้สิทธิเยอะมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เป็นสถิติที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย

“การที่ทุกคนตื่นตัวโดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายคือสิ่งที่รู้สึกเซอร์ไพรส์มากที่สุด และหลายคนก็พูดว่า ‘คนที่ตื่นตัวทางการเมืองเมื่อตื่นตัวครั้งหนึ่งแล้ว เขาจะไม่กลับไปหลับอีก อาจจะถอยบ้าง เหนื่อยบ้าง พักบ้าง แต่เมื่อดวงตาเปิดออกแล้วเขาจะไม่กลับไปหลับตาอีก” พงศ์พิพัฒน์กล่าว

สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระ บอกว่า บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่หละหลวมและผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อคือเรื่องที่น่าประหลาดใจสำหรับองค์กรอิสระที่ควรเป็นแม่งานในการจัดการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ กกต. ได้รับงบประมาณในการเตรียมการและจัดการเลือกตั้ง รวมถึงเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศทั้งหมดประมาณ 3,300 ล้านบาท ไม่รวมงบตรวจสอบการเลือกตั้งอีกประมาณ 630 ล้าน และได้ไปดูงานการจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศอีกหลายที่

 

คาดการณ์ข้างหน้า: อนาคตรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ‘ประยุทธ์ 2’

สฤณีสรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งที่ใช้งบประมาณไปมากกว่า 5,300 ล้านนี้ว่า แม้ว่าข้อมูลตัวเลขจะดูไม่คุ้มค่า แถมได้คณะรัฐบาลหน้าคุ้นกลับมานั่งเก้าอี้ใหม่ แต่ก็เป็นการพิสูจน์ทฤษฎีที่มีผู้เคยเตือนเอาไว้แล้วตั้งแต่ช่วงทำประชามติในปี 2559 ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาและจะนำไปสู่รัฐบาลผสมซึ่งบริหารยาก

“ส่วนตัวเชื่อในแง่ดีว่าเมื่อผลเป็นเช่นนี้จะทำให้เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ชัดเจนขึ้น นำไปสู่ฉันทามติแก้ไขกติกาที่เป็นอุปสรรค เช่น ที่ กกต. ช่วยให้พรรคที่มีคะแนนไม่ถึง สส. พึงมีเข้ามาในสภาได้”

เดิมประเทศไทยเคยใช้ระบบกาบัตร 2 ใบ ‘เลือกคนที่รัก-พรรคที่ใช่’ แต่เมื่อกติกาในปีนี้เขียนให้บัตรเพียงใบเดียวเท่านั้น จึงไม่สามารถสะท้อนความคิดที่แท้จริงของผู้ลงคะแนนโหวตได้ว่าควรเลือกบนฐานของผู้สมัคร สส. ประจำเขต หรือนโยบายหลักของพรรค

พงศ์พิพัฒน์ชี้ว่า รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเสียงที่ลงให้ผู้สมัครในคูหามีความหมาย แม้จะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในทันทีได้ แต่ก็ส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลต้องดิ้นรน เช่น ต้องอยู่ประชุมครบ ต้องซื้อวิทยุทรานซิสเตอร์ จะเห็นว่าต่อให้ฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบตั้งแต่กติกา แต่หากมีผู้เลือกลงคะแนนให้มากๆ ก็มีอำนาจผลักดันตรวจสอบบางประเด็นได้ และมีหลายครั้งที่เสียงของฝ่ายค้านดังกว่ารัฐบาลด้วยซ้ำ

ที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์แพ้โหวตไปแล้ว 2 ครั้ง พงศ์พิพัฒน์กล่าวว่า ในทางการเมืองถือว่าเสียงของฝ่ายค้าน-รัฐบาลที่ห่างกันประมาณ 10 เสียงเป็นอันตรายและต้องใช้อำนาจต่อรองสูงในสภาที่ต้องชิงไหวชิงพริบ ชนิดที่รัฐมนตรีบางคนถึงกับพูดว่าอายุรัฐบาลชุดนี้อยู่เพียงปีกว่าก็เก่งแล้ว

“อย่าง 2 สัปดาห์ก่อน รัฐบาลเผลอไม่เข้าประชุมนิดเดียวก็แพ้โหวตเลย สิ่งนี้เป็นสนามซ้อม แต่สนามจริงจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในการอภิปรายทั่วไป อภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นต้น” พงศ์พิพัฒน์กล่าว

ความเป็นไปได้ของแนวคิด ‘สภาเดี่ยว’

พริษฐ์กล่าวว่า ในการต่อสู้บนสนามเลือกตั้งเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่คนอาจเลือกแล้วไม่ได้รัฐบาลในฝันอย่างที่ต้องการ แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยคือ ความไม่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่การกำหนดขั้นตอนในการ ‘เลือก’ ต่างหาก

สว. คือกติกาที่เป็นปัญหามากที่สุด เนื่องจากมีอำนาจมาก แต่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ขัดหลักประชาธิปไตย 1 สิทธิ 1 เสียง จึงต้องมีการรณรงค์หาฉันทามติในการแก้ไข คือ ให้มีการเลือกตั้ง สว. หรือ ลดอำนาจ สว. แต่งตั้ง หรือเปลี่ยนไปเป็น ‘ระบบสภาเดี่ยว’ ที่มีแค่สภาผู้แทนราษฎรเหมือนต่างประเทศ

ข้อดีของ ‘สภาเดี่ยว’ คือประหยัดงบประมาณสรรหาและงบประมาณค่าตอบแทน สว. ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท จากการออกกฎหมายใหม่หรือถอนกฎหมายเก่าก็จะสะดวกรวดเร็วขึ้น

“ถ้าถามว่าเสียการที่ สว. เป็นตัวแทนของภูมิภาคไหม ผมคิดว่าทางออกที่ดีกว่าคือการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น และหลายคนบอกว่าจะเสียการที่ สว. มาถ่วงดุลอำนาจรัฐบาล ความจริงไม่มีอะไรอันตรายไปกว่าการไม่มี สว. มาถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลเท่ากับ ‘การที่มี สว. ให้ท้ายอำนาจรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ’ เช่นปัจจุบัน” พริษฐ์กล่าวสรุป

สฤณีเสริมว่า สว. วาระปัจจุบันประกอบด้วยคนจากอาชีพทหารประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และมีกระบวนการได้มาที่ไม่โปร่งใส เช่น ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา หรือแสดงความไม่เป็นกลางทางการเมืองด้วยการเลือกตัวเอง หรือพวกพ้องเข้ามาช่วยกันบริหาร ประกอบกับในต่างประเทศมีการใช้ระบบ เช่น องค์กรงบประมาณประจำรัฐสภา (budget office) ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลเข้ามาถ่วงดุลแทนการใช้คนถ่วงดุลตามระบบ สว. เหล่านี้จะทำให้ประชาชนตระหนักได้ในที่สุดว่า สว. ไม่จำเป็นอีกต่อไป

สู่ ‘ประชาธิปไตย’ ที่ปรารถนา ต้องข้ามความเกลียดชังและความเท็จ

ในฐานะคนวงการสื่อ พงศ์พิพัฒน์กล่าวว่าสื่อมีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งนี้มากกว่าครั้งก่อนๆ เช่น เป็นผู้จัดเวทีดีเบตระหว่างผู้ลงสมัคร สส. พรรคต่างๆ ไม่น้อยกว่า 108 เวที บทบาทต่อไปของสื่อตลอดระยะเวลา 3-4 ปีต่อจากนี้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ควรมีบทบาทติดตามสิ่งที่รัฐบาลเคยพูดไว้

อีกประการหนึ่งคือ การเริ่มขับเคลื่อนประเด็น (agenda setting) บางอย่าง โดยที่ไม่ต้องให้พรรคการเมือง นักการเมือง หรือใครคนอื่นเป็นผู้เปิดประเด็นให้ ในปัจจุบันมีสื่อเริ่มทำแล้ว แต่อาจยังไม่พอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง

สฤณีกล่าวว่า ยุคสื่อโซเชียล (social media) ที่นักการเมืองต่างถือสื่อของตนเองไว้ในมือ เช่น ทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊คส่วนตัว ก็ช่วยลดระยะห่างระหว่างนักการเมืองและประชาชน หรืออาจเป็นเครื่องบันทึกการกระทำดี-ร้ายของนักการเมืองผู้ใช้สื่อโซเชียลด้วย แต่ข้อมูลในสื่อโซเชียลค่อนข้างกระจัดกระจายจึงต้องพึ่งผู้ออกแบบระบบและประชาชนในการระดมข้อมูลและความเห็น (crowdsourcing) ช่วยจัดระเบียบ

“อีกสิ่งที่ประชาชนควรทำอย่างมากคือ เลิกเป็นเหยื่อของ ‘การเมืองแห่งความเกลียด’ ในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา สังเกตว่าคนรู้จักหลายคนเลือกพรรค – พรรคที่กลายมาเป็นรัฐบาลปัจจุบัน – ไม่ใช่เพราะชอบหรือชมขนาดนั้น แต่เป็นการเลือกเพราะเกลียดกลัวว่าถ้าไม่เลือกฝั่งนี้ อีกฝั่งที่ไม่ชอบมากจะกลับเข้ามาได้”

กับดักของการคิดเช่นนั้นคือ เมื่อได้รัฐบาลที่ไม่ชอบ และอาจไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเขาคือใคร อย่างไรบ้าง ขอเพียงไม่ใช่ฝ่ายที่เราเกลียดก็พอ ประชาชนจะถอยห่างจากการเมืองทันที จะไม่สนใจว่านักการเมืองที่เลือกมาจะทำหรือไม่ทำอะไร ทำตามนโยบายหาเสียงมากน้อยเพียงใด เพราะนโยบายไม่ใช่เหตุผลในการเลือกอยู่แล้ว การถอยห่างจากภาระจับตาตรวจสอบนักการเมืองก็เป็นปัญหาเนื่องจากทำให้คนถอยห่างจากการเป็นพลเมืองตื่นรู้ (active citizen)

สภาวะการเมืองแห่งความเกลียดนี้เองที่ช่วยแพร่พันธุ์ให้ข่าวปลอม (fake news) กระจายได้ดี พงศ์พิพัฒน์อธิบายว่า ข่าวปลอมชิ้นไหนจะมีคนเชื่อหรือแชร์ต่อมากน้อยอยู่ที่ว่าข่าวนั้นรับกับอารมณ์คน ณ เวลานั้นหรือไม่ ถ้ารับ คนก็พร้อมจะเชื่อแล้วว่าเป็นข่าวจริง แล้วแชร์ออกไป ในขณะที่หากผู้รับสารถอยออกจากอารมณ์รุนแรงในช่วงเวลานั้น ก็จะสามารถสังเกตข่าวปลอมได้อย่างง่ายดาย เช่น พิจารณาแหล่งที่มาของข่าว ความสมเหตุสมผลของข่าว

พริษฐ์เป็นอีกรายหนึ่งที่เจอปัญหาถูกใส่ความด้วยข่าวปลอม เขาเสนอว่า ภาครัฐไม่ควรตั้งตัวเป็นผู้ตรวจสอบข่าวกรองเสียเอง เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากข่าวปลอม นอกจากนี้ยังกล่าวติดตลกว่า ไหนๆ ก็จะทดสอบการทำงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ที่กำลังมีแผนจะตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก็ลองยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องของตัวเองบ้าง

นอกจากข่าวปลอม อคติจากตัวบุคคลอาจบดบังสารที่นักการเมืองแต่ละคนพยายามเสนอ พริษฐ์คิดเล่นๆ ว่าอยากเห็นรายการ The Mask Politician เพื่อให้ประชาชนสามารถทำหน้าที่ ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ ประเมิน วิพากษ์วิจารณ์ และตัดสินนักการเมืองเป็นรายกรณีไป

“สิ่งที่ผมอยากเห็นคือรายการที่คล้ายๆ The Mask Singer แต่เป็น The Mask Politician เพราะปัจจุบัน เวลาเราเห็นข่าว ยังไม่ทันได้อ่านเลยว่าคนนี้พูดอะไร ทำอะไร เราก็รู้แล้วว่าจะชอบหรือไม่ชอบสิ่งที่เรากำลังจะเห็น ทุกคนมีอคติส่วนตัวอยู่แล้วว่าท้ายสุดแล้วเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับคนคนนี้ แต่หากสามารถให้นักการเมืองทุกคนเผยแพร่ความคิดหรือประเมินการทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าตัวตนเขาอยู่ฝ่ายไหน มาจากพรรคไหน ไม่แน่อาจเซอร์ไพรส์ว่าคนที่เราชอบมากอาจทำสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย หรือคนที่เราไม่ชอบมาก ณ วินาทีนั้นอาจทำสิ่งที่เราเห็นด้วย”

สามารถชมนิทรรศการ ‘ELECT after Election เลือกแล้วได้อะไร? ประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้ง’ จัดโดย ELECT, Punch Up และ Boonmee Lab ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 เวลา 10:00-21:00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น L โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ภายในงานมีเก้าอี้ สว. สส. และฝ่ายค้าน ในระดับความสบายแบบต่างๆ ให้ทดลองนั่ง พร้อมกดปุ่มบนเก้าอี้เพื่อรับฟังเสียงท่านนายกฯ เรียก “คุณคนสวย” ร่วมรำลึกถึงเสียงบันทึกครั้งโหวตนายกรัฐมนตรี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาครับ” หรือ “ธนาธร จินจุ้งเรืองจิต” ถ่ายภาพคู่กับตุ๊กตาประยุทธ์เป่าลม และรับใบเสร็จค่าใช้จ่ายที่เราทุกคนจ่ายเป็นค่าจัดการเลือกตั้งเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Photographer

ศรุตยา ทองขะโชค
นักศึกษาจบใหม่สายวารสาร อยากสั่งสมประสบการณ์และค้นหาความลงตัวให้ชีวิต เป็นคนไม่หยุดอยู่กับที่ เขียนไดอารี่ทุกทีที่ไปเที่ยว พร้อมแชะภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ ชอบถ่าย candid เป็นชีวิตจิตใจ และกำลังเริ่มต้นใหม่กับการถ่าย portrait

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า