เรื่อง / ภาพ : ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
ตอนที่เครื่องบินพาเข้าสู่น่านฟ้ายุโรปในวันฟ้าโปร่ง สิ่งที่คุณอาจจะสังเกตได้เมื่อมองลงไปด้วยสายตาใกล้เคียงมุมมองของนกก็คือ พื้นดินทุกที่ล้วนแล้วแต่ถูกใช้ประโยชน์ ล้อมรอบผืนป่าหรือสวนป่าสีดำทึบ ผืนใหญ่บ้างเล็กบ้างราวกับไข่แดง เป็นเช่นนี้ไปตลอดระยะจากจุดที่มองไปจนจดขอบฟ้า
บางคนอาจจะเริ่มเปิดหาหรือดูจอมอนิเตอร์ในเครื่องบิน ว่าเรากำลังเข้าสู่เขตประเทศไหน แต่สำหรับผม การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของผืนดินข้างล่าง คือป้ายชื่อบอกกับเราแล้วว่า บัดนี้ เรากำลังบินเข้าสู่ใจกลางทวีปยุโรป และนี่คือประเทศเยอรมนี ชาติที่มีอายุไม่กี่สิบปี ชาติที่ฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาจากความย่อยยับของสงครามโลก ไม่เท่านั้น ว่ากันว่า ยังเป็นชาติที่ผู้คนเพิ่งจะกล้าร้องเพลงชาติและชูธงชาติกันก็เมื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง ทว่ารุ่งเรืองและสันติมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษภายใต้การตระหนักถึงพิษภัยของ ‘การรักชาติ’ นั่นเอง
เครื่องบินพาผมลงที่แฟรงเฟิร์ต เพื่อนั่งรถไปตามออโตบานห์ คำเรียกทางหลวงที่ให้เครดิตกันว่าออกแบบดีที่สุดในโลก มีทางโค้ง แต่ไม่ค่อยเห็นเนินขึ้นลงนัก รถวิ่งเร็วมาก เพื่อนนักเรียนไทยบอกว่า ไม่ค่อยได้ยินว่ามีใครบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์บนทางหลวง จะมีบ้างก็เสียชีวิตเลย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศที่ห่วงใยสวัสดิภาพพลเมือง แต่ไม่ยอมเห็นพลเมืองของตัวเองเป็นเด็ก
ตลอดเส้นทาง ยืนยันว่าสิ่งที่เห็นจากเครื่องบินไม่ใช่ภาพสองมิติหลอกตา สองข้างทางไม่มีที่รกร้างว่างเปล่าสักผืนเดียว สวนป่าคือสวนป่า ที่ทำการผลิตก็ผลิต ด้วยขนาดพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่กำลังการผลิตมหาศาลขนาดนี้ ขณะที่ผู้คนมีเงินออมน้อยมาก (ที่จริงอาจจะเรียกว่าเป็นการออมในรูปของภาษี) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมประเทศนี้จึงรวย ไม่เหมือนบ้านเราที่ธนาคารรวยเอาๆ
ผมมาถึงเมืองคาซเซิล เมืองเล็กๆ ตอนกลางของประเทศ เพื่อเข้าร่วมงาน DOCUMENTA 12 มหกรรมศิลปะร่วมสมัยงานสำคัญของโลก ที่กระจายงานแสดงไปทั่วทั้งเมือง ผู้คนทั่วประเทศ ทั่วยุโรป และทั่วโลก แห่แหนมาดูงานมหกรรมศิลปะที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักนี้หลายล้านคนตลอด 100 วันที่จัดแสดงในทุกๆ 5 ปี
ผมไม่มีความรู้เรื่องศิลปะเลยสักนิด แต่ได้โอกาสจากที่ทำงานให้มาเป็นตัวแทนตามคำเชิญเข้าร่วมแสดงงานเพื่อจะพบว่า นิยามศิลปะของโลก ช่างแตกต่างหลากหลายและไม่ได้มีความหมายแบบเดียวเหมือนที่ครอบงำวงการศิลปะบ้านเรา คุณจะสัมผัสและเข้าถึงได้กับความหมายของงานแต่ละชิ้น และสุนทรียะก็ไม่ใช่เรื่องสุดเอื้อมหรือต้องไต่บันไดดู
ผู้คนหลากหลายอาชีพ เพศ วัย หลากรสนิยมมีให้เห็นตลอดเวลาที่เข้าร่วม อาจจะมียกเว้นอยู่บ้าง คือไม่เห็นใครในเครื่องแบบสักคน
เสร็จจากคาซเซิล เดินทางขึ้นเหนือไปเมืองท่าติดทะเลชื่อดังคือ ฮัมบวร์ก มีแลนด์มาร์กคือ รัชเฮาส์ หรือที่ทำการเมือง ไม่ใหญ่โต ทว่าวิจิตรบรรจง ทั้งหมดถูกทำลายลงไปการทิ้งบอมบ์ของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2 และคนเยอรมันเนรมิตขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิมทุกประการ เพื่อพิสูจน์ว่า วัตถุถูกทำลายได้ แต่ไม่อาจทำลายอารยธรรมได้ เช่นเดียวกับในเบอร์ลิน โบราณสถานที่ย่อยยับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบทั้งหมดถูกเนรมิตขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิม
ในเมืองเบอร์ลินนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราว ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งที่สะท้อนผ่านศิลปวัตถุ ตึกรามบ้านช่อง แม้แต่สัญลักษณ์จราจรไฟเขียวไฟแดง หากคุณเดินอยู่ฝั่งตะวันตกก็แบบหนึ่ง มาฝั่งตะวันออกก็อีกแบบราวกับคนละประเทศ ครั้นไปเดินในเขตกำแพงเบอร์ลินเดิมก็อีกแบบ เพราะหลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลายและถูกทุบทำลาย พื้นที่ว่างเปล่ากว้างใหญ่ไพศาลในเขตกันชนก็ผุดขึ้นมากลางย่านทำเลทอง และกลายเป็นที่ที่จัดวางความทันสมัย เปิดเผยตัวตนอีกด้านของเยอรมันออกมาอย่างชัดเจน
………………………………………….
ขนส่งมวลชนหลักในเมืองคาซเซิลคือ รถรางและรถเมล์ ส่วนที่ฮัมบวร์กและเบอร์ลิน คือรถไฟใต้ดิน นอกจากนั้นคือ เดิน เดิน เดิน และจักรยาน เฉพาะที่เบอร์ลินนั้นเก๋มาก จะมีจักรยานสาธารณะติดยี่ห้อเดียวกับบริษัทเดินรถไฟจอดไว้ตามที่ต่างๆ ใครต้องการใช้ก็กดมือถือจ่ายเงิน เพื่อให้ดาวเทียมเปิดล็อก เป็นอันขี่ไปไหนก็ได้ อยากหยุดอยากคืนก็จอดรถไว้ ไม่ต้องเป็นภาระให้ต้องระวังว่ารถจะหาย
รถไฟ รถราง รถเมล์ เพียงแต่ซื้อตั๋วจากเครื่อง ขึ้นรถ แล้วก็หาที่นั่ง หากมองหาคนตรวจตั๋วก็ต้องรอนานสักหน่อย เพราะไม่มีมาให้เห็นง่ายนัก ระดับความถี่นั้น เพื่อนนักเรียนไทยบอกว่า เฉลี่ย 1 ปีเคยถูกตรวจตั๋วแค่ 2 ครั้ง เพราะที่นี่เขาใช้ระบบเชื่อใจ ที่แม้จะมีร่ายจ่ายคือ รายได้ที่อาจจะเสียไปจากผู้โดยสารที่โกง แต่ก็ยังน้อยกว่าการต้องไปจ้างคนคอยจับโกงในนามของการรักษาศีลธรรม ซึ่งมีแต่จะทำให้พวกนายตรวจบ้าอำนาจ กลายเป็นอภิสิทธิชน ที่คอยละเมิดสิทธิผู้อื่น
น่าแปลกที่การใช้วิธีนี้ เรากลับไม่ค่อยเห็นใครโกงค่ารถกันนัก อาจจะมีบ้างก็เด็กนักเรียนที่แสวงหาความตื่นเต้นบางราย เพื่อนคนไทยบอกว่า เพราะคนของเขามีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ดูอย่างการข้ามถนน หากไม่มีสัญญาณไฟเขียวให้ข้ามได้ ต่อให้ไม่มีรถผ่านมาหลายนาทีก็ไม่ข้าม แต่เพื่อนนักเรียนไทยคนเดิมที่เรียนอยู่ที่นั่นเกือบ 10 ปี ยิ้มและบอกกับเราว่า ความรับผิดชอบนั่นก็จริง แต่ความรับผิดชอบไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด หรือจะเกิดมีขึ้นได้เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เกิดจากการ ‘ออกแบบ’ ระบบ และสร้างเครื่องมือขึ้นรองรับ และในกรณีการจ่ายค่ารถกับข้ามถนนก็คือ ‘การปรับ’ ซึ่งหนักมากชนิดหลายสิบเท่า ทำให้ไม่เหลือความคุ้มค่าที่จะเสี่ยงโกง
เช่นเดียวกับการตรงเวลาของทุกระบบที่นี่ รถราง รถไฟ รถเมล์ ทุกเมืองตรงเวลา ไม่ใช่เพราะผู้คนที่นี่เป็นคนดีหรือช่างมีความรับผิดชอบอีกเช่นกัน แต่เป็นเพราะอากาศมันหนาว หนาวระดับเหนือจุดเยือกแข็งเล็กน้อย การตรงต่อเวลาของรถก็เพื่อมิให้ผู้โดยสารต้องมายืนคอย
เพระอย่างนั้น ใครที่คิดว่าคนเขามีคุณภาพ หรือเพราะคนเขา ‘รักชาติ’ แบบที่มักจะพูดกันเวลานึกถึงเยอรมัน อันนั้นก็พูดแบบหยาบเอามากๆ แต่หากจะพูดให้ละเอียดขึ้นสักนิด คุณภาพของคนไม่ได้แตกต่างอะไรเลยไม่ว่าจะชาติพันธุ์ใด ต่างกันก็ตรงที่เขามุ่งสร้างระบบ ออกแบบโครงสร้าง ไม่ใช่เอาแต่เรียกร้องหมกมุ่นให้ทุกคนเป็นคนดี
น่าสังเกตด้วยว่า ตลอด 2 สัปดาห์แทบจะไม่เคยได้ยินเพลงชาติเลยไม่ว่าจากที่ไหน อันที่จริงแทบจะไม่เคยเห็นธงชาติของเยอรมนีด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม คุณอาจจะสัมผัสความเป็นชาติได้ ผ่านการสังเกตจากถนนหนทาง บ้าน และเมือง ที่ไม่ว่าใครก็เดินได้ ใช้ร่วมกันได้ และเป็นเจ้าของร่วมกันได้ จะคนพิการ จะยากดีมีเลว จะอนุรักษ์นิยม จะพังค์ จะพวกอนาธิปไตย จะหัวเก่า หัวใหม่ จะนิยมศีลธรรมหรือนิยมความเป็นธรรม คุณเห็นมันได้ผ่านกราฟิตี้ เส้นสีบนผนัง ผ่านตึกรามบ้านช่องที่โบราณและสุดเดิร์น ที่เก่าและใหม่ และสุดแสนจะขัดแย้งเหล่านั้น
นี่คือเยอรมนี หนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก
………………………………………………………..
(ขอขอบคุณ : คณะกรรมการภัณฑารักษ์ DOCUMENTA 12 และ ปริยกร ปุสวิโร เพื่อนผู้พาเที่ยวและเปิดโลกทัศน์ให้เราตลอดการเดินทาง )
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ ตุลาคม 2550)