เดือนที่แล้ว โลกต้องพบกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เมื่อระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศพุ่งขึ้นสู่เพดานสูงสุดในรอบ 4 ล้านปี
แต่ดูเหมือนมนุษย์เริ่มมองเห็นแสงริบหรี่ที่ปลายทาง เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นเอทานอลได้…ด้วยความบังเอิญ
ที่ห้องทดลองกระทรวงพลังงานสหรัฐ (US Department of Energy’s Oak Ridge National Laboratory) ทีมวิจัยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาร่วมระหว่างคาร์บอน ทองแดง และไนโตรเจน โดยตรึงอนุภาคนาโนลงไปยังแท่งคาร์บอนขนาดเล็กความสูงประมาณ 50-80 นาโนเมตร (0.00008 มิลลิเมตร) และเมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าประมาณ 1.2 โวลต์เข้าไป ตัวเร่งปฏิกิริยาได้เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งละลายอยู่ในน้ำเป็นเอทานอล 63-70 เปอร์เซ็นต์
อดัม รอนดิโนน จากทีมนักวิจัยบอกว่า เอทานอลเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ เพราะความคาดหวังของทีมต่ำกว่านั้น โดยปกติ ปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีแบบนี้สามารถให้ผลออกมาหลายแบบแต่มีจำนวนไม่มากและไม่เข้มข้น เช่น มีเทน คาร์บอนมอนออกไซด์ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
ความน่าประหลาดมากกว่านั้นคือ หนึ่ง-ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นโดยใช้กระแสไฟฟ้าต่ำ สอง-ได้เอทานอลในปริมาณสูงด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาอย่างเดียว ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้วัสดุธรรมดาร่วมกับนาโนเทคโนโลยี ทำได้ที่อุณหภูมิห้อง และใช้เพียงกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เท่านั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า การรีไซเคิลของเสียปริมาณมหาศาลกลับไปเป็นพลังงานนี้ จะก้าวไปสู่ระดับอุตสาหกรรมพลังงานได้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์พยายามกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น พยายามเปลี่ยนเป็นเมทานอล ฟอร์เมต พลังงานไฮโดรคาร์บอน รวมถึงเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก้อนแล้วฝังลงดิน ซึ่งทั้งหมดนำมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
แต่ข้อกังวลใหญ่ของกระบวนการนี้คือ หากขยายขนาดเพื่อให้ได้เอทานอลมากกว่านี้ จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ ซึ่งอาจทำให้เกิดมลภาวะมากขึ้นไปอีก – ได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้น จะเป็นเรื่องดีมากถ้ากระแสไฟที่ว่านี้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ (solar farm) หรือพลังงานลม
อ้างอิงข้อมูลจาก: alphr.com
abovetopsecret.com
popsci.com