50 ล้านต้นในแทนซาเนีย

flickr.com / USAID in Africa

แอฟริกาเป็นพื้นที่แห่งทรัพยากร โดยเฉพาะสัตว์ป่า แต่ที่แทนซาเนีย ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติในหลายด้าน โดยเฉพาะต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ปลายปี 2016 แฮชแท็ก #50MillionTrees ถูกตั้งขึ้นเพื่อสร้างกระแสปลูกป่าในโซเชียลมีเดีย โดย เคนเนดี ไดมา เอ็มมารี (Kennedy Daima Mmari) และกลุ่มอดีตอาสาสมัครของ Raleigh Tanzania Society ในโครงการ ‘Youth for Green Growth’ มีจุดประสงค์เพื่อชักชวนให้เกษตรกรในพื้นที่ช่วยกันพลิกฟื้นผืนป่าของพวกเขาขึ้นมาใหม่

ทุกๆ ปี ป่าไม้ในพื้นที่กว่า 3,700 ตารางกิโลเมตรของแทนซาเนียถูกทำลาย เพื่อใช้ทำฟืน ถ่าน และไม้แปรรูป โดยที่ไม่มีการวางแผนฟื้นฟูป่าไว้ล่วงหน้า และผลของการตัดไม้ไม่ได้ตกอยู่ที่สัตว์ป่า แต่ยังเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมแถบชานเมืองของประเทศ

มากกว่า 3 ใน 4 ของประชากรแทนซาเนียมีรายได้อยู่ริมเส้นความยากจน เลี้ยงชีพจากการปลูกพืชตามฤดูกาลยังชีพ 1 ใน 4 ของระบบเศรษฐกิจแทนซาเนียจึงถูกขับเคลื่อนด้วยเกษตรกรรม ดังนั้น เมื่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมขยายวงกว้าง เกษตรกรและพื้นที่เกษตรกรรมต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจระดับชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้

#50MillionTrees หมายถึง หากประชากร 50 ล้านของแทนซาเนียลงมือปลูกต้นไม้คนละหนึ่งต้น ก็จะมีต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยๆ 50 ล้านต้น และนอกจากแคมเปญชวนปลูก โครงการนี้ยังเน้นไปที่การกระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องโลกร้อน โดยเริ่มจากตัวเอง – หนึ่งใน 50 ล้าน

แฮชแท็กนี้สร้างกระแสได้ไม่น้อย เข้าถึงชาวชุมชนออนไลน์กว่า 150,000 คน แต่การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้บนคีย์บอร์ดหรือหน้าจอสมาร์ทโฟน #50MillionTrees จึงออกจากโลกออนไลน์มาลงพื้นที่กับโครงการมากกว่า 50 โครงการทั่วประเทศ จนมีสมาชิกเข้ามาร่วมเพิ่มอีกราว 10,000 คน

จำนวน 3 ใน 4 ของ 10,000 คน คือ เด็กเด็กเรียน ไดมา เอ็มมารี และอดีตอาสาสมัครของ Raleigh Tanzania Society พยายามปลูกฝังแนวคิดสีเขียวให้เด็กๆ ซึ่งโครงการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างมากหากพวกเด็กๆ ช่วยกระจายความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมไปสู่วงกว้าง พวกเขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ได้จากป่า จากธรรมชาติ วิธีการอนุรักษ์ และถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง

ตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนจากทางตอนเหนือของประเทศเริ่มต้นด้วยการปลูกไม้ผล เเพราะพืชสวนกินผลเหล่านี้ให้ประโยชน์หลายอย่าง นอกจากเป็นอาหารแล้วยังใช้เป็นพื้นที่กิจกรรมนอกห้องเรียน ที่จะทำให้เด็กๆ ได้สัมผัสและเรียนรู้กับของจริงได้ด้วยตัวเอง

การประชุมเยาวชนสองครั้งของ ‘Youth for Green Growth’ โดย Raleigh Tanzania Society ถูกจัดขึ้น โดยรัฐบาลและรัฐมนตรีผู้ดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน เพื่อให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม การตัดไม้ทำลายป่า และการพัฒนาไปสู่การสร้างพื้นที่ป่าสีเขียวอย่างยั่งยืน

จากการประชุมครั้งแรก รัฐบาลประกาศนโยบายให้เด็กในโรงเรียนทั่วประเทศปลูกต้นไม้คนละหนึ่งต้น แม้แนวคิดนี้จะยังไม่ออกดอกผลในเวลาอันสั้น แต่อย่างน้อย ข้อดีของการประชุมนี้ก็คือ ทำให้เด็กๆ รู้ว่า พวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐได้

‘Youth for Green Growth’ มองว่า เด็กและเยาวชนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนแทนซาเนีย และหากเสียงของ #50MillionTrees ดังพอ โครงการปลูกป่าเพื่ออนาคตของแทนซาเนียก็มีโอกาสมากขึ้น สำหรับการคืนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ให้แอฟริกา


อ้างอิงข้อมูลจาก: theguardian.com
raleightanzania.org

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า