ผ่าพิภพ ‘แอนโธรพอซีน’: ชำระกฎหมายสิ่งแวดล้อมในยุคมนุษย์ครองโลก

วิวัฒนาการของมนุษย์สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ นั่นทำให้มนุษย์สามารถก้าวผ่านยุคแห่งธรณีวิทยามาได้หลายล้านปี จนพัฒนามาเป็นมนุษย์ที่มีความรู้และทักษะอย่างมหาศาลในปัจจุบัน

การปรับตัวและวิวัฒนาการอันนำพาความเจริญทางวัตถุและวัฒนธรรมมาสู่สังคมมนุษย์ มีปัจจัยสำคัญคือการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม ยุค ‘โฮโลซีน’ (Holocene) ซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์เติบโต เพิ่มจำนวน และกระจายตัวอยู่ทั่วโลก เป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญกับโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านนิเวศวิทยาและธรณีวิทยา หากแต่ผลลัพธ์ที่ทิ้งร่องรอยไว้ในธรรมชาติคือหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า ยุคแห่งธรณีกาลได้เปลี่ยนแปลงไปสู่อีกยุคหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ‘แอนโธรพอซีน’ (Anthropocene) โดยมีหลักการสำคัญคือ การที่โลกปรับหาสมดุลใหม่อีกครั้งเพื่อรับมือกับผลกระทบที่มนุษย์ได้ก่อไว้ต่อธรรมชาติ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกเรียกร้องให้มนุษย์หันกลับมาตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ แม้ว่ายุคแอนโธรพอซีนอาจยังไม่ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ การปรับตัวเพื่อรับมือจึงมีความจำเป็น โดยมนุษย์มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการควบคุมกิจกรรมของประชากร ก่อนที่ผลลัพธ์อันร้ายแรงในทางธรรมชาติจะมาถึงตัว

‘Anthropocene’ สัญญาณวิกฤตจากโลกถึงมนุษย์

‘แอนโธรพอซีน’ หรือ ‘มนุษยสมัย’ เป็นคำศัพท์ทางวิชาการซึ่งใช้เรียกยุคสมัยทางธรณีวิทยาที่มีมนุษย์เป็นผู้กระทำให้เกิดผลลัพธ์อันรุนแรงต่อโลก โดยพอล เจ ครุตเซน (Paul J. Crutzen) นักอุตุนิยมวิทยาและนักเคมีบรรยากาศชาวอังกฤษ ได้เสนอแนวคิดนี้ไว้เมื่อปี ค.ศ. 2000 โดยระบุว่าแม้โลกจะยังถูกกำหนดว่าอยู่ในยุคโฮโลซีน ตามการยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่หากพิจารณาไปถึงหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ปรากฏขึ้นนับตั้งแต่ปี 1950 ซึ่งเป็นช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะพบว่าค่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าชมีเทนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นโดยมีปัจจัยสำคัญมาจากกิจกรรมของมนุษย์

หลักฐานอีกข้อที่รองรับข้อเสนอของครุตเซนคือ การเติบโตของประชากรโลกแบบก้าวกระโดด โดยในปี ค.ศ.1900 ประชากรโลกมีจำนวนประมาณ 1.65 พันล้านคน แต่เมื่อปี ค.ศ. 2000 จำนวนประชากรกลับเพิ่มสูงเป็น 6 พันล้านคน ซึ่งแปรผันตรงกับการเติบโตทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมโลกในขณะนั้น การขยับขยายครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงความเป็นเมือง ส่งผลให้มนุษย์ประกอบกิจกรรมทางสังคมและการดำรงชีวิตมากขึ้น โดยทิ้งผลลัพธ์ไว้ในบรรยากาศ น้ำ และตะกอนดินทับถม และส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศของโลก

ในแนวความคิดของครุตเซน แอนโธรพอซีนคือยุคสมัยที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและนิเวศวิทยา หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่มนุษย์ครองโลกโดยใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมจนเกินขีดจำกัด เป็นวาระสำคัญที่ไม่ได้กระทบเพียงแค่ธรรมชาติ แต่มนุษย์เองก็ได้รับผลกระทบนั้นเช่นกัน 

ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักนิเวศวิทยา นักสิ่งแวดล้อม และอดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว อธิบายถึงภาพรวมและผลกระทบในยุคแอนโธรพอซีนที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ใน ‘การประชุมวิชาการระดับชาติ นิติพัฒน์-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 7 อันเนื่องมาจากสมัยแอนโธรพอซีน: วิพากษ์กฎหมายสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายมุมมอง’ ผลลัพธ์ที่น่ากังวลที่สุดคือการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (The Sixth Extinction) นับจากการสูญพันธุ์ครั้งที่ 5 ของไดโนเสาร์เมื่อหลายล้านปีก่อน ซึ่งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่เข้าสู่ยุคแอนโธรพอซีน เกิดในอัตราสูงที่ขึ้นประมาณ 1,000 เท่า จากอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ 

นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้ศึกษาขีดความสามารถในการรองรับของโลก (Planetary Boundaries) พบว่าการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลถึงการรักษาสมดุลอันปลอดภัยในระบบนิเวศ ซึ่งในปัจจุบันมนุษย์เองก็กำลังเผชิญอยู่กับสมดุลที่เปลี่ยนไป ในลักษณะการปรับตัวเพื่อหาสมดุลใหม่ของโลกที่มนุษย์เองไม่เคยเจอมาก่อน และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดอย่างแน่นอน

ความไม่สอดคล้องแห่งหลักกฎหมายและความต้องการของสิ่งแวดล้อม 

สำหรับในบริบทของประเทศไทย การก้าวผ่านปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากยุคแอนโธรพอซีน ควรต้องให้ความสำคัญกับการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่มีระบบนิเวศสำคัญหลายแห่ง ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศจะช่วยผดุงความเป็นอยู่และกลไกการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โดยข้อเสนอจาก ดร.สรณรัชฎ์ ระบุว่าไทยต้องยุติโครงการที่ทำลายธรรมชาติควบคู่ไปกับการเร่งฟื้นฟู เพื่อก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่จะส่งผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่การปรับตัวของประเทศไทยในปัจจุบันกลับวิ่งไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ยังมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากที่เป็นตัวเร่งการทำลายสมดุลทางธรรมชาติโดยผ่านความยินยอมจากตัวมนุษย์เอง

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการปรับปรุงแนวคิดและพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบของสังคมมนุษย์คือ การกำหนดข้อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อควบคุมดูแลพฤติกรรมและการวางแผนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของการอนุรักษ์ แต่กฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในปัจจุบันยังมีข้อพิพาทในด้านนิเวศวิทยาอยู่เช่นเดียวกัน โดย ดร.สรณรัชฎ์ ยกตัวอย่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งระบุข้อกำหนดเรื่องการเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยมีเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 1.2 เปอร์เซ็นต์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ หากที่ดินรกร้างนั้นถูกปล่อยทิ้งไว้ติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งสูงกว่าการเก็บภาษีจากที่ดินประเภทอื่น

ดร.สรณรัชฎ์ ให้ความเห็นว่าข้อกำหนดการเก็บภาษีดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ถือครองที่ดินเลือกจะดำเนินการให้พื้นที่นั้นไม่เป็นพื้นที่รกร้างอีกต่อไป ในขณะที่การมีอยู่ของพื้นที่รกร้างหลายแห่งนับเป็นจุดรวมความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศที่สำคัญอันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะพงหญ้าซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการรองรับการเติบโตและขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด และป่าชายเลนธรรมชาติที่เป็นศูนย์อนุบาลสัตว์น้ำและแหล่งสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยเหตุผลนี้ ดร.สรณรัชฎ์ ได้ให้ข้อเสนอถึงการออกกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ‘ทรัสต์ที่ดิน’ (Land Trust) ซึ่งเป็นการมอบสิทธิการจัดการที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ให้แก่กลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลเป็นผู้ดำเนินการ โดยดึงทรัพย์สินส่วนบุคคลไปเป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ถือครองที่ดิน

ข้อสังเกตที่ถูกค้นพบในการวิพากษ์กฎหมายสิ่งแวดล้อมผ่านแง่มุมของนิเวศวิทยา คือแนวคิดในการให้ความหมายและตีความทางกฎหมายที่ยังไม่สอดรับกันอย่างลงตัว โดยในทางนิเวศวิทยาให้ความหมายของพื้นที่รกร้างอันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย (Habitats) ของสิ่งมีชีวิต ขณะที่ความหมายของพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกฎหมายนั้นถูกตีความในลักษณะของการใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐศาสตร์ 

เมื่อพิจารณาผ่านมุมมองของนักวิชาการกฎหมาย ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมการประชุม อธิบายลักษณะของกฎหมายจากมุมมองแอนโธรพอซีนว่า ตัวบทบัญญัติของกฎหมายถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือรับใช้แนวคิดและอุดมการณ์ของมนุษย์ โดยได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมระบบพาณิชยนิยมในสังคมมนุษย์ ตอบสนองกับการปรับระบบการผลิตการเกษตร (Green Revolution) และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่นำมาสู่ยุคแอนโธรพอซีน เนื่องด้วยเครื่องมือสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ผศ.ดร.นัทมน ให้ความเห็นว่าสิ่งที่ไม่สอดคล้องของกฎหมายและการปรับใช้ในทางนิเวศวิทยามีอยู่ 2 ประเด็น คือ หนึ่ง-บทบัญญัติกฎหมายพยายามสร้างความเป็นธรรมจากสายตามนุษย์ โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและมีทุนนิยมเป็นจุดยืนหลัก ทำให้มองข้ามความแตกต่างหลากหลายในทางชีวภาพของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันเอง นำไปสู่ข้อที่สอง-กระบวนการทางกฎหมายที่ต้องการความเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด หลายครั้งต้องพิสูจน์หาหลักฐานอันมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม จนขาดความสมเหตุสมผลในการจัดการผลกระทบ เช่น การพิสูจน์ว่าผู้ป่วยปอดอักเสบมีสาเหตุมาจากฝุ่นในอากาศ การพิสูจน์การปล่อยมลพิษจนกว่าจะเจอตัวผู้ปล่อย เป็นต้น

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ กระบวนการใช้กฎหมายไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์อื่นมากเท่าที่ควร ซึ่ง ผศ.ดร.นัทมน มองว่าควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในทางวิชาการที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ข้อกฎหมายถูกปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

รับมือยุคแอนโธรพอซีน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคน กฎหมาย และรัฐ

แม้ตัวบทกฎหมายจะถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อให้กับกระบวนการทางของสังคมมนุษย์ผ่านมุมมองของมนุษย์เอง แต่กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยยังปรากฏความพยายามที่จะก้าวข้ามแอนโธรพอซีนผ่านการปรับแนวคิดทางกฎหมายและกระบวนการบังคับใช้ โดยในปัจจุบันมีการใช้หลักกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อการก่อมลภาวะอย่างหลักความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) หลักระวังไว้ก่อน (Precautionary principle) และการคำนวณค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม มีการเพิ่มกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Green Bench) บังคับเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงจัดตั้งองค์กรเพื่อรับผิดชอบโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.นัทมน วิพากษ์ถึงแนวทางการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมว่ายังต้องอาศัยการพัฒนาอีกหลายประการ เพื่อให้สามารถควบคุมจัดการการประกอบกิจกรรมของมนุษย์อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติ กล่าวคือ ในกระบวนการปรับแก้กฎหมายและเพิ่มโทษสำหรับผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ยังต้องอาศัยบุคลากรในหลากหลายสาขาเพื่อร่างกลยุทธ์ให้สามารถใช้งานได้จริง รวมไปถึงการเพิ่มกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบที่ยังต้องการความร่วมมือจากนักวิชาการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วมในคดีสิ่งแวดล้อม ถ่วงดุลอำนาจองค์การฝั่งกฎหมาย และร่วมจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยใช้ความรู้ความเข้าใจในด้านนิเวศศาสตร์ ซึ่งหากสามารถบูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่ายได้ ก็จะทำให้แนวทางการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านกฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ถูกบังคับใช้ภายในประเทศซึ่งเป็นความรับผิดชอบของนักกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างประเทศและความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับระเบียบกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งในการฝ่าวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโธรพอซีน ซึ่ง ผศ.ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิคุณ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ความเห็นในการประชุมวิชาการเดียวกันว่า กฎหมายระหว่างประเทศเองยังมีช่องโหว่ด้านความมั่นคงทางอธิปไตยของรัฐที่ทำให้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมไม่ถูกผลักดันเท่าที่ควร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศ ซึ่งควรถูกนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร ผู้อำนวยการศูนย์ Law TU Health & Wellness คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การจัดการกฎหมายและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมควรมีข้อเสนอจากประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในสังคมและประชาชนชายขอบ อีกทั้งควรออกแบบนโยบายให้รองรับความหลากหลายของผู้อยู่ภายใต้กฎหมายและเข้าถึงสถานะของทุกคนในสังคม

โดยสรุปแล้ว กฎหมายสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อผลักดันสังคมมนุษย์ให้เกิดความตระหนักและรับผิดชอบต่อธรรมชาติ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการแห่งระบบนิเวศโดยอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายศาสตร์ความรู้ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งผู้ออกแบบ ผู้บังคับใช้ และผู้อยู่ภายใต้กฎหมาย เพื่อให้สามารถก้าวข้ามผลลัพธ์อันร้ายแรงในยุคแอนโธรพอซีนไปได้

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า