ก่อนที่มหกรรมฟุตบอลแห่งชาติยุโรป ยูโร 2016 จะเริ่มประเดิมนัดแรกวันที่ 10 มิถุนายน คู่เปิดสนามคือ ฝรั่งเศสกับโรมาเนีย ที่สนามสตาดเดอฟร็องซ์ (Stade de France) ของประเทศเจ้าภาพ มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ในทุกนัด ทุกเกม ไม่ได้มีแค่ชัยชนะ ประตู คนดู และนักฟุตบอล เพราะฟุตบอลเป็นวัฒนธรรม เป็น pop culture ที่มีมุมมองสลับซับซ้อนหลายมิติมากกว่าที่เห็นในสนามหรือจากหน้าจอ
วงเสวนา ‘Decoding Europe: UEFA EURO 2016’ วันที่ 28 พฤษภาคม ณ TK Park เซ็นทรัลเวิลด์ มีการวิเคราะห์และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง Economics & Politics รวมถึงประวัติและการเติบโตของฟุตบอล โดย กล้า สมุทวณิช, อาจินต์ ทองอยู่คง เป็นผู้ร่วมถอดรหัสวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่เกิดขึ้นในโลกฟุตบอลสมัยใหม่ ก่อนที่การแข่งขันฟุตบอลยุโรป 2016 จะเริ่มต้นขึ้น
ชนชั้นและชาติพันธุ์ในฟุตบอล
เป็นดังที่เห็น ฟุตบอลแยกไม่ออกจากเรื่องวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ในเชิงสังคม อังกฤษเป็นบ้านเกิดของสิ่งที่เรียกว่าฟุตบอลสมัยใหม่ หรือ ‘โมเดิร์นฟุตบอล’ หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น อาจินต์ ทองอยู่คง นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องฟุตบอลกับสังคม เล่าย้อนว่า ฟุตบอลเคยเป็นกีฬาที่มีความดิบและเถื่อนกว่าที่เห็นทุกวันนี้มาก
“ฟุตบอลในอดีตมีมานานแล้วในยุโรป ประมาณศตวรรษที่ 13-14 แต่ว่าเป็น folk football คือเป็นกีฬาพื้นบ้านบางอย่าง เป็นการแข่งระหว่างหมู่บ้าน วิธีเอาชนะคือเอาลูกบอลจากหมู่บ้านผมไปวางกลางหมู่บ้านคุณให้ได้ ด้วยวิธีการใดก็ตาม ถ้าคุณแพ้ หมู่บ้านคุณก็แพ้ด้วย แล้วคุณจะทำยังไงก็ได้ ไม่ใช่แค่เอาเท้าเลี้ยงบอลนะ ก็เลยกลายเป็นกีฬาที่มีความรุนแรง จนอังกฤษต้องออกกฎห้ามเล่น folk football เพราะมันทำให้คนเจ็บ
“ส่วนฟุตบอลสมัยใหม่เกิดขึ้นมาช่วงกลางๆ ศตวรรษที่ 19 ประมาณ 1860 โรงเรียนเอกชนที่ชนชั้นสูงส่งลูกมาเรียน โรงเรียนพวกนี้มองว่าเด็กมีอำนาจ สปอยล์ พวกบ้านรวย เอาแต่ใจตัวเอง เพื่อที่จะดัดสันดานเด็กพวกนี้ ฟุตบอลก็ถูกจับขึ้นมา ตั้งกฎกติกา ให้เล่นอย่างสุภาพบุรุษ คือต้องเป็น gentleman”
หลังลูกหลานผู้ดีเรียนจบ สิ่งที่ติดตัวไปมีมากกว่าความรู้ กีฬาฟุตบอลถูกถ่ายทอดสู่ working class และเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรวมกลุ่มชนชั้นแรงงาน ที่เรียกร้องให้มีวันหยุด และเมื่อมีวันหยุด ชีวิตของพวกเขาก็คือ ‘ฟุตบอล’
“ชนชั้นสูงจึงแยกกีฬาอีกชนิดหนึ่งออกมา คล้ายๆ กับฟุตบอล รักบี้กับฟุตบอลก็มีที่มาไม่ต่างกัน แต่ใช้มือเล่น เราเป็นชนชั้นสูง เล่นรักบี้ เรามาดูในประเทศไทยบ้าง โรงเรียนไหนบ้างเล่นรักบี้ เป็นโรงเรียนชนชั้นสูงทั้งนั้น ถึงเป็นสาเหตุว่าทำไมนักรักบี้ถึงเป็นฝรั่งขาวเป็นส่วนใหญ่”
ทีมชาติฝรั่งเศสชุดปัจจุบัน ไม่เหมือนทีมชาติฝรั่งเศสยุค 1930 ที่มีผู้เล่นผิวดำคนแรกถูกเรียกติดทีมชาติคือ ฮาอูล ดิยานี นักเตะเชื้อชาติเซเนกัล เพราะผู้เล่นชุดล่าสุด อย่างน้อย 11 คนคือคนผิวดำ แม้แต่กองหลังที่ไม่ใช่คนดำอย่าง อดิล รามี เกิดในบาสเตีย ก็ยังเป็นลูกหลานโมร็อคโค ไม่ใช่คนขาวแท้ ซึ่ง กล้า สมุทวณิช นักเขียนและนักกฎหมายผู้เคยใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส เล่าว่า อดีตเจ้าอาณานิคมมีแง่มุมที่แตกต่าง เพราะมีเรื่อง ‘เชื้อชาติ’ และ ‘สีผิว’ เข้ามาเกี่ยวข้อง
“ฝรั่งเศสมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมืองตอนใต้ เช่น พวกมาร์กเซยหรือตูลูส ที่เป็นคนดำกันเยอะ นักฟุตบอลก็เลย represent พวกเชื้อสายคนดำหรือแขกที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส แต่คนชั้นกลางที่ดูก็มี ผมอยู่ในเมืองที่รักบี้ดังมาก คือคนเล่นรักบี้ก็จะหล่อ หน้าตาฝรั่งเป๊ะ คนดูรักบี้ก็จะเป็นคนมีสตางค์”
พลวัตรการเปลี่ยนแปลงเรื่องเชื้อชาติของนักฟุตบอลอังกฤษเริ่มต้นขึ้น จัสติน ฟาชานู เป็นนักเตะผิวดำที่ติดทีมชาติ ก่อนหน้านั้นที่ฝรั่งเศส หลังการปลดปล่อยชาติอาณานิคม คนส่วนหนึ่งอพยพเข้าสู่ฝรั่งเศส ลูกหลานของพวกเขาเริ่มหันหน้าเข้าสู่วงการฟุตบอล ในมุมของกล้า ตัวอย่างคือ โอลิมปิกมาร์กเซย ซึ่งเป็นสโมสรและโรงเรียนฟุตบอลที่สร้างนักบอลคนดำมากมาย จนหลายคนติดทีมชาติ
“หลังจากสงครามปลดปล่อยอาณานิคมต่างๆ ในสงครามพวกนี้จะมีการยอมรับคนในเมืองขึ้นที่ยังอยากเป็นคนฝรั่งเศสอยู่ ตาม timeline มันคือยุคที่ลูกหลานของคนอพยพได้สัญชาติฝรั่งเศส หรือไม่ก็เป็นคนฝรั่งเศสโดยกำเนิด แต่ว่าพ่อแม่มาจากผู้อพยพ ก็เข้าโรงเรียนฟุตบอล และแน่นอนว่าเมื่อคัดทีมชาติ เขาก็ต้องเลือกจากคนเก่งที่สุด แล้วฝรั่งเศสก็มีคำขวัญประจำประเทศ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ดังนั้นคุณเกิดมาจากไหนไม่รู้ คุณเตะบอลเก่ง คุณก็ต้องติดทีมชาติ มันก็ทำให้ในที่สุดทีมชาติฝรั่งเศสก็แทบไม่มีฝรั่งจริงๆ เหลืออยู่เลย
“แต่คนฝรั่งเศสก็เหมือนคนไทย เหมือนคนที่ไหนทั้งโลก พอชนะก็เฮด้วย คือพ่อจะเป็นเซเนกัล เป็นอัลจีเรีย เป็นใครมาก็ตาม แต่สุดท้ายธงที่ไปโบกตอนรับเหรียญแชมป์โลกมันก็คือธงชาติฝรั่งเศส”
ยุคเปลี่ยนผ่านของการหยามเหยียด
ในอังกฤษ ฟุตบอลเป็นกีฬาของ working class และ working class ก็เป็นคนขาว คนบนอัฒจันทร์ฟุตบอลส่วนหนึ่งจึงเป็นคนขาว ทำให้วัฒนธรรมแฟนบอลกลายเป็นพื้นที่ของคนผิวขาว ที่เลี่ยงไม่ได้เลยว่าต้องมีกลุ่มเหยียดผิวปะปนอยู่ โดยอาจินต์เล่าเรื่องย้อนแย้งของการเหยียดว่า
“ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นคนดำที่เป็นแฟนบอล อยากดูบอล ก็ไปดูบอล ก็เข้าไปในกลุ่มฮูลิแกน แล้วคนดำก็ถูกผลักถูกดันเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยความอยากอยู่ เขาก็ทนได้ แล้ววันหนึ่งเขาก็กลายเป็นพวกเดียวกับพวก racism พวกนั้น แล้วก็ไป racism คนผิวสีคนอื่น คือคุณเป็นคนที่ถูกเหยียด แต่พอเข้าไปในสังคมนี้แล้ว คุณก็กลายเป็นคนแบบนี้ ก็กลายเป็นเหยียดคนอีกกลุ่ม”
แม้จะก้าวผ่านจุดสุดโต่งไปมาก แต่ racism ยังอยู่คู่กับวัฒนธรรมฟุตบอล จนปัจจุบัน เมื่อผู้อพยพกลายเป็นปัญหาระดับโลก นักฟุตบอลคือกลุ่มคนแรกๆ ที่ตื่นตัว และยื่นมือเข้าช่วย เพราะวงการฟุตบอลเต็มไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ อาจินต์เล่าถึงสาเหตุว่า มาจากแผลที่ใหญ่มากๆ ของนักฟุตบอลกลุ่มที่ว่า นั่นคือการโดนเหยียด
“มีเกร็ดเล็กๆ คือ ริโอ มาวูบา ปีกทีมชาติฝรั่งเศส ถ้าไปเอาพาสปอร์ตเขามาเปิดดู จะพบว่าสถานที่เกิดของเขาคือในทะเล มาวูบามาจากแองโกลา หนีสงครามกลางเมืองมา แล้วระหว่างที่แม่ท้อง ก็นั่งเรือมายุโรป แล้วแม่ก็คลอดเขาออกมาระหว่างอยู่บนเรือ มาวูบาก็เลยอยู่ในฝรั่งเศสโดยไม่มีสัญชาติ จนกระทั่งมาเล่นฟุตบอล ขอเท่าไหร่ก็ไม่ได้สัญชาติ พอจะติดทีมชาติ เดินเรื่องฉิวเลย”
กลุ่มทุน VS. แฟนบอล
วิวัฒนาการของฟุตบอลต่างประเทศในระดับสโมสรคือ ชุมชนต้องมาก่อน นั่นคือความเป็นทีมท้องถิ่น กระดูกสันหลังของทุกทีมคือแฟนบอล คนในชุมชน แต่เวลาผ่านไป เมื่อกลุ่มทุนเข้ามีอำนาจ ทีมถูก takeover ด้วยชาวต่างชาติ มองในอีกมุมหนึ่ง กล้าตั้งสมมุติฐานว่า ทุนอาจจะเป็นกลไกที่ทำให้ทีมฟุตบอลยั่งยืนก็ได้
“ถ้านายทุนไม่ทิ้ง ผมว่าคนท้องถิ่นเชียร์ คนมีเงินมาทำทีมแล้วไม่ทิ้ง มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนท้องถิ่นเขาจะทิ้งทีม แล้วดีไม่ดี ยังจะทำให้ทีมนั้นพ้นความเป็นท้องถิ่นไปแล้วด้วย อย่างบุรีรัมย์ เราสามารถเห็นคนใส่เสื้อบุรีรัมย์ได้ทั่วไป แม้แต่ในสนามออกกำลังกายที่ชลบุรียังมีคนใส่เสื้อบุรีรัมย์ไปวิ่งได้ลงคอ”
สโมสรในประเทศไทยอาจจะยังไม่เป็นตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัด กับการที่แฟนบอลเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของสโมสร มีอำนาจ สามารถต่อรองเรื่องสำคัญต่างๆ อาจินต์บอกว่า นี่คือปราการสำคัญ ที่แม้นายทุนจะทิ้งทีมไป อีกครึ่งหนึ่งของสโมสร ความเป็นเจ้าของก็ยังอยู่กับแฟนบอล
“อันหนึ่งก็คือ จะไม่มีปัญหาตั๋วแพง อย่างในอังกฤษ ตั๋วทีมใหญ่แพงมาก แต่ถ้าดูในสเปน หรือในเยอรมนี บาร์เยิร์นตั๋วถูกมาก บาร์เซโลนาอาจจะมีราคาค่าตั๋วเท่ากับทีมที่ถูกที่สุดในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เพราะทีมพวกนี้มีหุ้นเป็นแฟนบอล ที่มีปากมีเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น ก็จะยันไม่ให้ค่าตั๋วแพง”
เมื่อการเข้ามาของกลุ่มทุนกลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นอุตสาหกรรม เป็นธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลกลับไม่ใช่การทำกำไรทางตรงจากสโมสร แต่มาจากนวัตกรรมสำคัญของโลก ที่อาจินต์บอกว่า มันคือการถ่ายทอดสด
“การถ่ายทอดสดคือนวัตกรรมที่สุดยอดที่สุดแล้วที่มีขึ้นมาในกีฬา ถ้าคุณผลิตสินค้าแบบทุนนิยม สิ่งที่คุณต้องทำคือผลิตสินค้าแบบเดิมจำนวนมากๆ ขึ้นมา แต่กีฬาเป็นอุตสาหกรรมรายได้ เพราะคุณผลิตซ้ำได้ด้วยต้นทุนที่คุณถ่ายเพียงครั้งเดียว แล้วก็ปล่อยสัญญาณไปในอากาศ แล้วคนรับก็จ่ายเงินให้ มีมากเท่าไหร่คุณก็ผลิตซ้ำได้มากเท่านั้น คือสิ่งที่ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นอุตสาหกรรม”
ฟุตบอลพัฒนาจากกีฬาของ working class สู่โลกธุรกิจเต็มตัว ฟุตบอลกลายเป็นแหล่งรวมของกลุ่มทุนต่างชาติ ที่ตัวเงินมีค่ามากกว่าความสนุกของการเป็นกีฬา จนฟุตบอลในสนามจึงกลายเป็นกิจกรรมของชนชั้นกลาง เป็นกิจกรรมของนักท่องเที่ยว ในเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างลอนดอนมีทีมให้เชียร์มากมาย สเปอร์ส เชลซี อาร์เซนอล อย่างน้อยต้องมีหนึ่งกรุ๊ปทัวร์ไทยอยู่ในสนาม อาจินต์ตั้งข้อสังเกตว่า แฟนบอลตัวจริงเริ่มขยับออกจากที่นั่งบนอัฒจันทร์ออกไปสู่หน้าจอ
“ฟุตบอลเป็นสินค้าที่มีราคาแพง คุณไปดูในสนามไม่ได้ จะมีคำว่า football for fan not commercial นี่คือเส้นทางของแฟนบอลแท้ๆ แบบเดนตาย คือคุณไม่มีเงินซื้อตั๋วดูในสนาม เพราะในสนามมันแพง ทีมใหญ่ๆ ลิเวอร์พูล แมนยู อาร์เซนอล สเปอร์ส คุณไม่มีเงิน คุณไปดูในผับ”
นอกจากเรื่องเงิน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในมุมมองของอาจินต์ คือวัฒนธรรมที่ติดตัวไปกับเจ้าของสโมสรจากต่างชาติ บางอย่างเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับแฟนบอลเดิมในท้องถิ่น ด้วยความแปลกแยก แปลกตา และสิ่งนี้ก็มีส่วนทำให้กลุ่มแฟนบอลกับสโมสรมีปัญหากันเรื่อยมา
“เรื่องแปลกและตลกก็คือ เมื่อเกิดลักษณะที่ไม่ใช่คนในท้องถิ่น สิ่งที่ติดตัวไปด้วยคือวัฒนธรรมเดิมของเจ้าของ อย่างเลสเตอร์ซิตี้ คุณก็จะเห็นว่าพาพระไปทำบุญ แล้วก็มีกรณีทีมคาร์ดิฟฟ์ คือ วินเซนต์ ตัน เจ้าของทีมซึ่งเป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีน มีความเชื่อแบบคนจีน พอเริ่มทำทีม นโยบายคือ ให้เปลี่ยนเสื้อประจำทีมเป็นสีแดง เพราะเป็นสีมงคล แล้วเปลี่ยนตราสโมสรจากนกสีน้ำเงินเป็นมังกรแดง ทีนี้แฟนบอลก็เลยตั้งกลุ่มเรียกร้องให้เอาคาร์ดิฟฟ์แบบเดิมคืนมา”
วัฒนธรรมใหม่ในโมเดิร์นฟุตบอล
ที่ประเทศไทย เมื่อเริ่มมีการแข่งฟุตบอลอาชีพ วัฒนธรรมใหม่บางอย่างก็เกิดขึ้นเช่นกัน แม้มีจุดเริ่มต้นไม่เหมือนยุโรป เพราะคนไทยเริ่มดูบอลจากชนชั้นกลางที่มีเงินจ่ายค่าเคเบิลทีวี รับชมผ่านหน้าจอ แต่ปัจจุบัน อาจินต์บอกว่า ชนชั้นใหม่อย่างชนชั้นกลางกลุ่มล่างได้เข้ามามีส่วนร่วมจนสร้างวัฒนธรรมการดูฟุตบอลสมัยใหม่ของไทยขึ้นมา
“ถ้าใครเป็นคอการเมืองจะเห็นว่ามีคำใหม่เกิดขึ้นมา เป็นชนชั้นกลางใหม่ ชนชั้นกลางระดับล่าง คุณจะพบเขาที่สนามฟุตบอล เป็นวิถีชีวิตของคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นมา คือพลวัตรของความเปลี่ยนแปลงในไทยเป็นทำนองนี้ จากชนชั้นสูงขยับมาชนชั้นกลาง ทุกวันนี้ชนชั้นกลางระดับล่างเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมชนชั้นใหม่และฟุตบอลไทยเกิดขึ้นมา คือความเป็นท้องถิ่น ที่แฟนบอลในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ง่าย อาจินต์นิยามเรื่องนี้ว่า มันเกิดทีมที่ ‘เชียร์ไม่ได้’ ขึ้นมา เช่น ถ้าบ้านอยู่ลำปาง เราไม่สามารถเชียร์เมืองทองยูไนเต็ดที่แจ้งวัฒนะได้ ดังนั้น เราจึงต้องเชียร์ลำปางเอฟซี
“คือมันไกล ไปที่อื่นไม่ได้ คุณก็ต้องมี local team เหมือนที่ยุโรปเคยมี และมีมานานแล้ว ก่อนหน้านี้ที่คนไทยเชียร์ฟุตบอลต่างประเทศ คุณอยากเชียร์ทีมแบบไหนที่ถูกใจคุณ พูดให้มันมืดหม่นกว่านั้นคือ คุณถูกสื่อบังคับให้เชียร์ทีมอะไรบ้าง มันมีแมนยูฯ ลิเวอร์พูล อาร์เซนอล แต่หากคุณมีทีมในบ้านเกิดแล้ว คุณเลือกไม่ได้เท่าไหร่ คุณจำเป็นต้องสนุกกับมัน มันจะเกิดวัฒนธรรมการดูฟุตบอลขึ้นมา เพราะไม่ใช่กิจกรรมที่ดูเพียงอย่างเดียว คุณเข้าไปในสนาม ร้องเพลง คุณไปรอบๆ สนามบอล โบกธง จับกลุ่มพูดคุยกัน มันเกิดไลฟ์สไตล์ มันเกิดวัฒนธรรมบางอย่างขึ้นมา”
กล้าเป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ร่วมกับปรากฏการณ์ฟุตบอลไทย ที่เริ่มมีบรรยากาศคล้ายคลึงกับยุโรป ต่างกันที่ยุโรปเติบโตในสนาม ก่อนจะเคลื่อนสู่การนั่งดูทีวี ขณะที่ของไทยเติบโตจากการดูทีวี ไปสู่การดูในสนาม กลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ขึ้นมา
“ตอนนี้บรรยากาศการดูบอลไทยมันใกล้เคียงยุโรปมากๆ ประมาณหนึ่งแล้ว แถวบ้านผมมีทีมท้องถิ่น คือสโมสรเพื่อนตำรวจ ผมเคยตั้งคำถามว่าถ้าทีมดังๆ อย่างชลบุรี บุรีรัมย์ ก็ไม่แปลกถ้าคนจะดูกันเยอะ แต่ทีมดิวิชั่น 1 ดิวิชั่น 2 ใครไปดู? ในที่สุด หลังจากที่ทีมเพื่อนตำรวจตกชั้น เขามาใช้สนามของตัวเอง คือสนามบุณยะจินดาเป็นสนามเหย้า ผมก็ได้เห็นของจริงครับ ว่าวันไหนที่มีบอลเตะ อย่าไปเข้าซอยนั้น รถติดมาก คนเป็นพัน คือมันเป็นวัฒนธรรมแล้ว”