ความหวังในคืนฟ้าไร้ดาว

IMG_3431-edit
เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล / ภาพ: ณขวัญ ศรีอรุโณทัย

 

หากพูดคำว่า ‘ไลท์โนเวล’ (light novel) คุณนึกถึงอะไร?

นิยายรักๆ ใคร่ๆ หรือนิยายแฟนตาซีที่เด็กสมัยนี้ชอบอ่าน หนังสือนิยายที่ใช้ตัวละครเอกเป็นเด็กวัยรุ่นและดำเนินเรื่องด้วยพล็อตเกมหรือการ์ตูนญี่ปุ่น นิยายที่ต้องใช้ภาพและปกเป็นการ์ตูน หรือไลท์โนเวลคือนิยายที่พอหมดวัย teenage คุณก็อ่านมันไม่สนุกแล้ว ฯลฯ นั่นคือข้อคิดเห็นที่ไม่ได้ถูกไปเสียทั้งหมดและไม่ได้ผิดไปเสียทุกส่วน

จากการตั้งคำถามว่า ‘ไลท์โนเวล’ คืออะไรกันแน่? พาเรามาหาคำตอบด้วยการร่วมเข้าฟังงานเสวนาวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม ณ ร้านหนังสือ The Writer’s Secrets หัวข้อ ‘Starless Night’ กับ ปอน – หฤษฎ์ มหาทน นักเขียนไลท์โนเวล และอดีตผู้ต้องขังคดี ม.112

อาจกล่าวได้ว่า ‘ไลท์โนเวล’ เป็นงานวรรณกรรมที่กำเนิด ณ ประเทศญี่ปุ่นด้วยรากฐานความคิดที่สวนทางกับหลักการของการเขียนวรรณกรรมแนวสะท้อนสังคมที่เคยกล่าวว่า ‘วรรณกรรมเกิดมาเพื่อรับใช้สังคม’  แต่หฤษฎ์บอกว่า ไลท์โนเวลเกิดมาเพื่อสนอง ‘ความต้องการของผู้เขียน’ ฟังดูอาจจะเป็นความคิดของนักเขียนผู้เอาแต่ใจ ทว่าหากพิจารณารายชื่อวรรณกรรมบางเรื่องที่ใช้แนวคิดนี้ท่านอาจจะเปลี่ยนใจ แม้ไลท์โนเวลจะถูกเขียนมาเพื่อรับใช้ ‘ความอยากเขียน’ ของผู้เขียนเป็นหลัก แต่นักเขียนย่อมมีธงในใจว่าต้องการจะบอกกล่าวอะไรแก่ผู้อ่าน

หลายครั้งไลท์โนเวลนำเสนอสิ่งที่อยู่ภายในใจของผู้เขียนซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน อย่างเช่นเรื่อง ราโชมอน (Rashomon) และ ในป่าละเมาะ โดย ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ หรือแม้แต่วรรณกรรมของนักเขียนญี่ปุ่นรุ่นใหม่อย่างเรื่อง หญิงสาวผู้หวาดกลัวความสุข (ฮิโตะคะเกะ) ของ โยชิโมโตะ บานานา การเล่าเรื่องราวที่อยู่ภายในใจผ่านวรรณกรรม บอกเล่าเรื่องสังคมและการต่อต้าน เป็น ‘วรรณกรรมบริสุทธิ์’ แต่เมื่อนำมาบวกกับอิทธิพลการ์ตูนและ pop culture ไลท์โนเวลจึงกลายเป็นแนวคิดต้านวรรณกรรมบริสุทธิ์อีกทีหนึ่ง

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ หฤษฎ์ มหาทน มาเขียนไลท์โนเวลคือระหว่างที่เขาเรียนในคณะรัฐศาสตร์ เขาสนใจปรัชญาการเมือง ทว่าระบบการสอนทำให้เขารู้สึกว่าปรัชญาการเมืองถูกนำเสนอในลักษณะเป็นของสูง เขาจึงอยากจะนำเสนอปรัชญาการเมืองด้วยการสร้างโลกสมมุติขึ้นมาในรูปแบบงานไลท์โนเวล นอกจากนี้หฤษฎ์ยังให้ความคิดเห็นว่า เหตุใดจึงชอบไลท์โนเวลมากกว่าวรรณกรรมสะท้อนสังคมโดยทั่วไปว่า

ผมไม่ชอบงานสะท้อนสังคม เพราะผมรู้สึกว่ามันไม่ต้องอ่านหนังสือหรอก เดินออกไปหน้าบ้านคุณก็เจอแล้ว แต่ผมมองว่า งานเขียนมันจำเป็นต้องมีความหวังที่เป็น idealist อยู่ในงาน

ทว่าศาสตร์ทุกศาสตร์ย่อมมีการแตกแขนงต่อยอดสืบไป จากการเป็นวรรณกรรมที่รับใช้ความคิดของนักเขียนเพียงอย่างเดียว ไลท์โนเวลในยุคปัจจุบันถูกพัฒนาให้อ่านง่ายขึ้น ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นไลท์โนเวลถูกนำมาเชื่อมโยงกับศาสตร์ของเกม การ์ตูน (manga) และอะนิเมชั่น และคำนึงถึงกลุ่มผู้อ่านวัยรุ่นเป็นหลัก ไลท์โนเวลรุ่นใหม่จึงมีเนื้อหาที่บทบรรยายไม่ยืดยาว เน้นการสนทนาของตัวละคร ซึ่งตัวละครเอกมักเป็นเด็กวัยรุ่น เน้นความสดใสและความเป็นแฟนตาซี ใช้ภาพประกอบและปกที่มักจะเป็นรูปตัวการ์ตูน หากสังเกตโดยส่วนใหญ่แล้ววรรณกรรมแนวไลท์โนเวลในปัจจุบันมักมีโครงเรื่องคล้ายการ์ตูนและเกมของญี่ปุ่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้นิยมวรรณกรรมแนวไลท์โนเวลจะเป็น ‘ผู้คลั่งไคล้เกม การ์ตูนญี่ปุ่น และอะนิเมะ’ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘โอตาคุ’

IMG_0294-edit

โอตาคุ = คนชายขอบ

หฤษฎ์ มหาทน ยอมรับโดยดุษณีว่านอกเหนือจากการเป็นนักเขียนไลท์โนเวล เขาก็เป็นโอตาคุ และเมื่อแวบแรกที่เรานึกถึงคำว่า ‘โอตาคุ’ เรารู้ว่าคำๆ นี้เรียกแทนผู้คลั่งไคล้วัฒนธรรมเกม การ์ตูน และอะนิเมชั่นของญี่ปุ่น นอกจากเหล่าโอตาคุจะเป็นผู้คลั่งไคล้วัฒนธรรมเกม การ์ตูน และอะนิเมชั่นของญี่ปุ่น ภาพฉายในความคิดของเราต่อมาคือ คนเหล่านี้มักจะเข้าสังคมไม่เก่ง มีความเป็นเด็กสูง ฯลฯ ซึ่งหฤษฎ์ก็เล่าตัวอย่างปัญหาของเขาว่า

“สิ่งสำคัญที่สุดของกลุ่มนี้คือ จะมีความรู้สึกว่าถูกกระทำโดยความคิดอนุรักษนิยม มันแน่นอนว่าเวลาคุณอ่านการ์ตูน อย่างแรกก็คือว่าผู้ใหญ่จะไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณทำเลย สองก็คือว่า พอคุณเป็นศิลปินแล้วคุณผลิตผลงานออกมา พวกผู้ใหญ่ในสังคมก็จะไม่เข้าใจที่คุณวาดออกมา อย่างมันเคยมีปัญหามากในช่วงนักวาดยุคแรกของ 5-10 ปีก่อน ที่วาดมาแล้วเขาบอกว่า ทำไมไม่วาดลายเส้นไทย? สุดท้ายแบบ…ความเป็นไทยคืออะไรวะ”

การไม่เป็นที่ยอมรับนี้คล้ายจะเป็นเรื่องชินชาของหมู่โอตาคุ ด้วยเหตุว่า เดิมทีคนใหญ่คนโตในสังคมไทยก็มองการ์ตูนและเกมเป็นความรุนแรง เป็นเรื่องมอมเมาเยาวชน ดังนั้นภาพลักษณ์ของเหล่าโอตาคุจึงมักเป็นคนโดดเดี่ยว หรือหากมีเพื่อนก็เป็นกลุ่มโอตาคุด้วยกัน ในฐานะที่หฤษฎ์เคยเป็นนักโทษคดี ม.112 เขาเล่าว่า วิถีชีวิตปกติเขาก็เป็น ‘คนนอก’ ของสังคมอยู่แล้ว เมื่อออกมาจากเรือนจำ เพื่อนที่เป็นข้าราชการ หมอ หรือแม้แต่พ่อแม่ของเพื่อน ก็ไม่ใคร่จะสุงสิงกับเขาเพราะกลัวว่าจะติด ‘ร่างแห’ แต่กลุ่มเพื่อนโอตาคุกลับวางตัวต่อเขาเช่นเดิม บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาติดคุกมา หลังออกมาจากเรือนจำ เขาก็เขียนไลท์โนเวลเช่นเดิม และเล่าความคิดขณะอยู่ในเรือนจำว่า

“ผมว่าข้อเขียนของผมมีพลังนะ คือเราเชื่อเรื่องของพระเจ้า แล้วก็ถามว่า ทำไมพระเจ้าถึงเอาตัวผมไปติดคุก มันก็เป็นเหตุผลว่า พอผมออกมาผมเขียน มันมีคนอ่านจำนวนมาก มันมีคนเห็นจำนวนมาก คนที่แชร์ไปก็ถาม อ้าว ทำไมคนแบบนี้ติดคุก เขาก็อาจจะรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้เป็นคนเลวนี่หว่า ทำไมคนแบบนี้ถึงไปติดคุก มันก็เริ่มตั้งคำถามว่า สังคมมันมีอะไรที่ไม่ถูกต้องรึเปล่า”

IMG_0288-edit

หฤษฎ์เล่าอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังต่อไปว่า ถ้าเขาโวยวายเพราะหมดหวังมันไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อคนที่กำลังต่อสู้อยู่นอกคุก เขาคิดว่า หากเขาติดคุกแล้วออกไปทำงานและดำเนินชีวิตอย่างปกติได้ นั่นแปลว่ายังมีความหวัง เขาเลือกที่จะไม่โวยวายต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะนั่นไม่ใช่รากของปัญหา

“ก่อนหน้านี้ผมไม่รู้ว่าผมจะสู้กับอะไร ผมจะไปชนกับคนที่มีอำนาจทุกวันนี้ยังไง มันชนกับคนอื่นไม่ได้เพราะว่ามันไม่ใช่จุดที่เราต้องไปสู้ไง จริงๆ เขากลัวเรามากๆ เขากลัวเรา เขาถึงต้องส่งเราไปเข้าคุก ทำไมเขาถึงกลัว ตอนที่ผมโดนเรียกไปสอบ ‘คุณน่ะคิดว่าผมเป็นแค่คนแก่โง่ๆ เท่านั้นแหละ เดี๋ยวผมก็ตายแล้ว’ ที่เขาพูดคือมันเป็นความกลัวในใจเขา เขากลัวว่าเขาตามโลกในอนาคตไม่ทันแล้ว เขาไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เขาตาย โลกของเขาจะเป็นเหมือนความดีที่เขาเคยยึดถือไหม”

วิธีจบเรื่องแบบไลท์โนเวลอย่างหนึ่งคือ ฮีโร่มาช่วยเพื่อให้เรื่องจบแบบ happy ending แต่เราไม่ทราบว่ามุมมองของหฤษฎ์ ฮีโร่ของเขาคืออะไร เป็นความจริงข้อหนึ่งในสังคมว่า หากคุณถูกโยนใส่กล่อง ‘คนชายขอบ’ สปอตไลท์ของสังคมจะไม่ฉายแสงมาที่คุณ แต่สูตรสำเร็จในนิยายหลายเรื่องอย่างเช่น สไปเดอร์แมน โดราเอม่อน ฟอร์เรส กัมป์ ฯลฯ ตัวเอกและซูเปอร์ฮีโร่หลายคนก็มาจากคนชายขอบทั้งสิ้น หฤษฎ์ไม่ชอบให้ใครเรียกเขาว่า ‘วีรบุรุษ’ เขาต้องการวิถีชีวิตธรรมดา หฤษฎ์ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป แต่เรารู้ว่าเขาเลือกที่จะสู้ สู้เพราะใจของเขายังมีความหวัง

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า