112 เรือนจำ และความศรัทธา

harit-open

ปลายเดือนเมษายน 2559 ประชาชนแปดคน (ชายเจ็ด หญิงหนึ่ง) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ตามข่าวระบุว่า เป็นการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ต่อต้านการทำงานของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ท่ามกลางเสียงไม่พอใจที่ดังอยู่นอกเรือนจำ 10 พฤษภาคม 2559 ทั้งแปดคนได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง อันอาจก่อให้เกิดภยันตรายใดๆ กระทบต่อความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย และห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

หากแต่วันเดียวกันนั้น ขั้นตอนประกันตัวต้องชะงัก และเสียงไม่พอใจค่อยๆ เงียบลง…จนแสบแก้วหู

สองจากแปดคนถูกอายัดตัว และถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่ง หฤษฎ์ มหาทน คือหนึ่งในนั้น

‘คดี 112’ เปลี่ยนชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง

หลังจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หฤษฎ์ มหาทน หรือ ‘ปอน’ ประกอบอาชีพเป็นนักข่าวอยู่ที่มติชนออนไลน์ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนลาออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ประเภทต่างๆ โดยภาพจำของคนส่วนใหญ่ เขาเป็นนักเขียนไลท์โนเวลที่มีผลงานหลายเล่ม มีคนติดตามเป็นกลุ่มวัยรุ่นอยู่พอสมควร โดยเป็นเจ้าของรางวัลที่ 3 จากการประกวด ‘นักเขียนหน้าใส’ สายแฟนตาซี ครั้งที่ 2 ประจำปี 2554 ของสำนักพิมพ์แจ่มใส จากผลงานชื่อ ทูตแห่งเซนทาเรียกับมงกุฎสายรุ้ง และในอีกบทบาท เขายังเป็นหุ้นส่วนของร้านราเม็งชื่อ ‘คุโรเนโกะ’ ที่จังหวัดขอนแก่น

ไม่มีวี่แววการติดตาม ไม่มีสัญญาณการจับกุม วันธรรมดาวันหนึ่ง เขาถูกพาตัวจากขอนแก่นสู่กรุงเทพฯ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44

นอกจากผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีใครรู้รายละเอียดของคดีอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะกับ ‘ข้อความ’ ที่เข้าข่ายคดี 112 ในสายตาเจ้าหน้าที่ แต่ข้อความนั้นได้พาชายคนนี้ไปพบเรื่องราวมากมายในเรือนจำ เป็นช่วงเวลาที่ดำดิ่งและพลิกชีวิตจนเขาเปลี่ยนเป็นคนละคน

ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า คดี 112 เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ และจำนวนไม่น้อยเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง หาใช่การปกปักรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่เกิดขึ้นถูกรายงานเพียงกว้างๆ และแทบไม่มีสื่อมวลชนสำนักใดกล้ารายงานอย่างรอบด้านและลงลึก

หลังฝากขังมาห้าผลัด รวม 70 วัน เขาและผู้ต้องหาอีกคน ได้รับประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์คนละ 500,000 บาท

ภายใต้เงื่อนไขการประกันตัวมาสู้คดี ทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 เขามีข้อจำกัดและต้องระมัดระวังในการบอกเล่าพอสมควร ภายใต้บรรยากาศที่เงียบจนแสบแก้วหู เพื่อไม่ให้ ‘คดี 112’ หายไปจากการรับรู้ และตกหล่นไปอยู่ในที่ทางที่หลบซ่อน เรื่องราวของ หฤษฎ์ มหาทน ในบทสัมภาษณ์นี้ จึงเป็นเสมือนการพยายามส่งเสียงออกไป-เท่าที่ทำได้

โดยหวังว่าคุณจะได้ยิน

IMG_7949-edit         

ก่อนถูกจับ ชีวิตคุณทำอะไร

ผมเกิดที่ขอนแก่น พอเรียนจบธรรมศาสตร์ ไปเป็นนักข่าวที่มติชนอยู่พักหนึ่ง แล้วออกมารับงานฟรีแลนซ์ต่างๆ เขียนบทสารคดี บทโฆษณา เป็นโกสต์ไรเตอร์ เขียนนิยาย แปลเอกสาร พอเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง ผมไปลงทุนทำธุรกิจกับเพื่อน เปิดร้านราเม็งที่ขอนแก่น ยังรับงานฟรีแลนซ์ไปด้วย ต่อมาวางแผนกับเพื่อนว่าจะไปทำธุรกิจที่ลาว ที่นั่นราคาวัตถุดิบพอๆ กับที่ไทย แต่ราคาอาหารค่อนข้างสูง เลยจะไปเปิดร้านข้าวมันไก่ ช่วงก่อนถูกจับต้องข้ามไปลาวอยู่บ่อยๆ ร้านระดมทุนแล้ว เช่าที่แล้ว ตกแต่งภายในแล้ว อีกประมาณสองสัปดาห์ร้านจะเปิด ผมถึงมาโดนจับ

วันที่โดนจับเกิดอะไรขึ้นกับคุณบ้าง

ผมนอนอยู่ในห้อง บ้านเช่ามีผมกับผู้จัดการร้านราเม็ง เราใช้เป็นโรงงานทำของเตรียมไปขายหน้าร้าน วันนั้นมีเสียงเคาะประตู เปิดออกไปเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เขาบอกว่า “ขอควบคุมตัว อาศัยอำนาจตามมาตรา 44” พอผมออกไปหน้าบ้าน เห็นทหารถือปืนสี่คน ตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง รวมๆ แล้วประมาณ 10 คน เขาเข้าไปในบ้าน พยายามหาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ พาสปอร์ต แล้วเอาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างไปด้วย

ตอนนั้นเขาไม่ได้บอกว่าคดีอะไร บอกแค่ว่า “อาศัยอำนาจตามมาตรา 44” พอถามว่าทำอะไรผิด เขาบอกว่า “น้องก็รู้อยู่แล้ว” งงสิ ทีแรกผมคิดว่าเป็นเพราะเราโพสต์เฟซบุ๊คเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ช่วงนั้นอีกสี่เดือนจะถึงวันประชามติ ในสื่อต่างๆ เริ่มมีข่าวแล้ว เขาพาผมไปค่ายศรีพัชรินทร์ที่ขอนแก่น มีนายทหารมาคุยด้วย ผมนึกว่าเขาจะพาไปปรับทัศนคติ แล้วปล่อยกลับ เพราะที่ขอนแก่นเคยมีเคสแบบนี้หลายครั้ง แต่ปรากฏว่าผมถูกพาตัวไปกรุงเทพฯ

มาถึง มทบ.11 แต่ละคนถูกสอบสวนแยกห้อง เจ้าหน้าที่บอกผมว่า “เพื่อนคุณสารภาพหมดแล้ว ว่าคุณเป็นคนเอาเงินไปให้พวกเขา ถ้าคุณให้การเป็นประโยชน์ จะได้รับกันตัวเป็นพยาน” ซึ่งความจริงไม่มีใครสารภาพหรอก มันเป็นวิธีการสอบสวน เขาบอกว่าต้องการจับตัวใหญ่ ให้สารภาพว่ามีคนจ้างมาอีกที

แต่ผมจะให้การแบบนั้นได้ยังไง ผมแค่รับงานฟรีแลนซ์จากโปรดิวเซอร์คนหนึ่ง ซึ่งเขาทำงานกับบริษัทที่ไปเกี่ยวกับลูกนักการเมือง แล้วที่ช่วงนั้นผมข้ามไปลาวบ่อย เพราะจะไปทำร้านข้าวมันไก่ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อ เขาเอารูปคนเสื้อแดงที่ลาวมาให้ดูถามว่ารู้จักมั้ย คิดไปว่าผมไปรับเงินจากคนเสื้อแดงที่ลาวมาซัพพอร์ตคนเสื้อแดงที่ไทย แต่ผมไม่รู้จักคนเสื้อแดงที่ลาวเลย

ผมไม่รู้ว่าเขาเอาข้อมูลอะไรมาจับ อาจชี้เป้ากันมา เพราะผมเคยไปงานแต่งงานของโปรดิวเซอร์ ซึ่งคือคนที่ส่งงานให้ผมทำฟรีแลนซ์ แล้วในงานก็มีลูกนักการเมือง เลยมีรูปถ่ายผมกับลูกนักการเมืองคนนั้น ผมรู้จักคนที่ถูกจับด้วยกันบางคน ซึ่งพวกเขาถูกตามอยู่แล้ว

วันสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมไปนัดกินข้าวกับสองในหกคนนั้น เขาก็โยงเลยว่า ลูกนักการเมืองรู้จักกับรุ่นพี่คนที่ส่งงานให้ผม ผมคงได้เงินมา แล้วผมเป็นคนให้เงินหนึ่งคนในนั้น แล้วคนนั้นก็กระจายเงินไปให้คนที่เหลือ ซึ่งความจริงคือ พวกเขาทำอาชีพดูแลเพจของ จตุพร (จตุพร พรหมพันธุ์) กับเพจของ Peace TV ได้เงินเดือนจาก Peace TV ถ้าจะให้เงินจริงๆ ทำไมต้องให้ผ่านผมด้วยล่ะ เจ้าหน้าที่ไม่มีหลักฐาน เลยต้องการให้ผมพูดว่าไปรับเงินสดมา แต่ผมให้การแบบนั้นไม่ได้ มันปรักปรำโดยไม่มีหลักฐาน พอไปขั้นตอนสู้คดี คุณจะให้ผมเป็นพยานเท็จเหรอ ฝั่งนู้นก็ต้องโมโหผมอีก

ผู้จัดการร้านถูกพาตัวมาด้วย ?

หลังออกจากราบ 11 ผู้จัดการร้านไม่เกี่ยวโยงอะไรเลย บังเอิญซวยอยู่บ้านเดียวกับผมตอนที่ถูกจับ เขาเลยปล่อยไป

จากทั้งหมดแปดคนที่โดนจับด้วยมาตรา 116 คุณมาโดนมาตรา 112 เพิ่มได้อย่างไร

ตอนสอบเขาก็ขู่ว่า “ถ้าไม่สารภาพ นายสั่งให้หาข้อความในแชทที่เข้า 112 ไว้เลย” ผมก็คิดว่าแค่ขู่เฉยๆ แต่เขาฟ้องจริงๆ หลังจากฝากขังผลัดแรก 12 วัน คุกฝั่งชายมีอยู่เจ็ดคน ในคดีมาตรา 116 ทุกคนได้ประกันตัว แต่ผมโดนอายัดหน้าเรือนจำ ปกติถ้าผู้ต้องหาถูกจับอยู่ ตำรวจจะไม่มาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม รอให้ปล่อยก่อนแล้วค่อยมาจับหน้าเรือนจำ วันนั้นผมถูกพาตัวไปกองปราบ ไปโดนข้อหา 112 เพิ่ม

ตอนที่โดนมาตรา 116 ผมติดอยู่แดน 1 เหมือนเป็นแดนแรกรับ คนมาใหม่จะอยู่ประมาณหนึ่งเดือน ทางเรือนจำรู้สึกว่าผมเป็นนักโทษการเมือง เขาไม่อยากให้คนออกไปพูดถึงในทางเสียหาย เลยปฏิบัติกับผมค่อนข้างดี แต่พอโดน 112 ชีวิตเปลี่ยนเลย ผมโดนย้ายไปอยู่แดน 6 เพราะทางเรือนจำคิดว่าอยู่ยาวแน่นอน คดีนี้ทุกคนในเรือนจำรู้กันว่าทางออกมีทางเดียวคือ รับไป ผิดไม่ผิดก็รับๆ ไป จะได้มีเลขมาสองปีครึ่ง ถ้าไม่สารภาพ สู้ยังไงก็ยาว แล้วแทบไม่มีใครประกันตัวตอนสู้คดีได้ ช่วงสู้ก็ติดคุกฟรีไป ผู้คุมเขาเลยคิดว่ายังไงผมก็ไม่รอดขั้นต่ำสองปีครึ่งแน่นอน

ตอนนั้นคิดว่าจะสารภาพไหม

คือจริงๆ ที่ฟ้องมามันอ่อนมากนะ แต่ผมเห็นตัวอย่างคนที่สู้คดีอย่างเดียวก็จะสองปีแล้ว ตอนนั้นผมเลยคิดว่าลองประกันตัวดูก่อน เพราะข้อความที่ฟ้องมาตรา 112 มันไม่เข้าเลย แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ผมคงต้องยอม

แต่ละวันในเรือนจำต้องทำอะไรบ้าง

เราต้องตื่นตีห้าครึ่ง หกโมงนับยอดว่าครบไหม แล้วออกจากห้องขัง เช้ามาก็อาบน้ำ ผมฝึกมวยจีน ต่อยกับนักโทษที่เป็นนักมวย เจ็ดโมงกว่าก็กินข้าว แล้วก็เข้าแถว เคารพธงชาติ สวดมนต์ เหมือนนักเรียนมัธยมเลย เช็คยอดอีกรอบ แล้วแยกเข้ากองงานต่างๆ ผู้คุมเป็นคนเลือกให้ ถ้าคุณเคยทำอาชีพค้าขาย จะส่งไปอยู่ร้านค้า คนจบปริญญาถ้าไม่เป็นผู้ช่วยผู้คุม ก็มักมาอยู่ห้องสมุด นักโทษการเมืองจะอยู่ห้องสมุด นั่งทำหนังสือให้เป็นปกแข็ง ผมก็ไปนั่งอ่านหนังสือ ส่วนคนอื่นๆ ก็มีกองที่พับถุงกระดาษ เรือนจำเหมามา กำหนดว่าหนึ่งวันต้องทำให้ได้เท่าไร นักโทษได้ส่วนแบ่งด้วย แต่ก็น้อยมาก ถุงกระดาษของยี่ห้อดังๆ ในห้าง พับมาจากในคุกทั้งนั้น นอกนั้นก็มีทำสวิตช์ไฟ กองโยธาฯ ทำความสะอาดทั้งหมด รดน้ำต้นไม้ ตัดหญ้า

สิบเอ็ดโมงกินข้าวเที่ยง บ่ายโมงรวมนับยอดอีกที บ่ายสองกินข้าวเย็น อาบน้ำ บ่ายสามกลับเข้าห้องขัง ห้องขังจะเป็นเหมือนห้องใหญ่ๆ เอาที่นอนปูติดๆ กัน แทบไม่มีที่เดิน แล้วอยู่กันในเขตที่นอนตัวเอง จากนั้นก็นอนเล่นอ่านหนังสือดูทีวีเล่นหมากรุกในห้องขังไป จนกว่าจะหลับกัน ทั้งหมดไม่มีการปิดไฟ ต้องเปิดไฟไว้ให้เห็นตลอด

คนโดนมาตรา 112 ได้รับการปฏิบัติในเรือนจำแตกต่างจากคนอื่นๆ หรือเปล่า

แตกต่าง เนื่องจากช่วงนั้นมีคนโดนเยอะ มีทุกรูปแบบ ลุงเป็นโรคประสาท คนใหญ่คนโต นายตำรวจ อดีตคนใหญ่คนโต อยู่ในนั้นหมด ก็ตามที่เห็นข่าวกัน นักโทษคนอื่นเลยรู้สึกว่า ถ้าเป็นคดี 112 อย่าไปยุ่งดีกว่า

IMG_7908-edit

ช่วงแรกๆ เครียดไหม

เอาจริงๆ ก็เครียดแหละ แต่ผมพยายามทำให้มันชิลๆ มองว่ามีโอกาสได้ประกันตัว เพราะข้อความที่เอามาฟ้องมันไม่มีอะไรเลย ที่โดนมันเป็นเรื่องการเมือง ตอนนั้นคิดว่าเข้าคุกมาทำการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อออกไปเขียนงานเกี่ยวกับคุก ก็ศึกษาไป ตอนแดน 1 คุกมันดูดี แต่พอแดน 6 มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ที่เราเคยคิดว่าคนติดคุกจะกลับใจ มันไม่ใช่เลย คนยิ่งติดคุกชีวิตยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ มีพี่คนหนึ่งติดมาแล้วสามครั้ง มีวัยรุ่นตีกัน พอคู่กรณีตาย เขาก็ติดคุก ออกมาไม่รู้จะไปไหน เส้นสายในคุกก็ส่งไปเดินยา เป็นมือปืนให้เจ้าพ่อ เพราะทำงานอื่นไม่ได้ แล้วสุดท้ายก็เกม กลับมาที่เดิม

สภาพในคุกแย่จริงๆ มันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนดีขึ้น เหมือนทำไปตามโจทย์ว่า คุณต้องขังคนจำนวนเยอะมาก มีเงินมาให้เท่านี้ ทำยังไงดีที่จะขังได้แล้วไม่หนี เขาคิดแค่นั้นแหละ ทั้งที่จริงๆ มันควรเป็นเหมือนโรงเรียน แต่สิ่งที่คุกไทยคิดคือ ทำยังไงจะไม่ให้หนีออกมาสร้างปัญหา คนที่อยู่ในคุกเหมือนอยู่ในโรงเรียนกินนอนที่ไม่มีเรียน สภาพจิตใจกลายเป็นเด็ก ม.ต้น ที่เล่นๆ กัน พับถุงกระดาษให้ผ่านไปวันๆ

อาหารการกินในเรือนจำเป็นอย่างไรบ้าง

แย่นะ เป็นข้าวถูกๆ ที่ฮิตที่สุดคือหน่อไม้ ผมเข้าใจว่ากรมราชทัณฑ์คงปลูกเป็นป่า แล้วเอามาตัดๆๆ ต้มใส่ซุปก้อน บางทีเลือกไม่ได้ ผมก็กิน แต่ถ้าเลือกได้ผมจะซื้อกินเอา อีกเหตุผลที่ผมไม่ค่อยกินอาหารของเรือนจำ คือผมไม่ชอบที่ต้องกล่าวคำปฏิญาณ เราต้องพูดก่อนกินข้าวว่า “คนเรามีกรรมเป็นของตัวเอง เราต้องรับผลของกรรมนั้น” เหมือนทหารต้องขัดฉาก นักโทษโดยทั่วไปก็คงโอเคแหละ ปฏิญาณไป ก็เข้าใจไปว่า “กูปล้นมา เลยต้องมาอยู่ตรงนี้” แต่ผมไม่ได้ทำอะไรผิดไง กรรมอะไรล่ะ ทำไมต้องปฏิญาณด้วย ใช่มั้ย

คดีนี้มักไม่ได้รับการประกันตัว มีคิดไหมว่าอาจต้องอยู่ยาว

ก็คิด แต่ผมหวังอยู่เรื่อยๆ ว่าจะได้รับการประกันตัว ตอนที่ประกันไม่ได้ ทนายคุยกับทางเรือนจำว่าต้องทำยังไง เขาให้หาคนมาค้ำ พอผลัดสองมีคนมาค้ำ เราก็หวังว่าจะได้ประกันตัว มันก็ไม่ได้ แต่หลังจากผลัดสองผมเปลี่ยนศาสนา เลยมีอะไรทำในคุกแล้ว เลยคิดว่า ติดก็ติด มีอะไรทำแล้ว ไม่เบื่อ

การเปลี่ยนศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตอนนั้นมันหนักมาก ก่อนติดคุกมันกำลังอยู่ในช่วงเตรียมร้านข้าวมันไก่ยังไม่เสร็จ แต่ติดคุกก่อน พอติดคุก ร้านข้าวมันไก่ที่ลาวเลยตัดสินใจเปิดโดยที่มีแต่พ่อครัว ผู้จัดการก็โดนจับมาพร้อมกัน โดนเซ็น MOU ออกนอกประเทศไม่ได้ สรุปว่าขาดทุน ผ่านไปหนึ่งเดือนเขาก็ดูแลกันไม่ไหว ตัดสินใจปิดไป ผมเองเสียไปหลายหมื่น และเอาเงินคนอื่นมาอีกจำนวนมาก นั่นก็ทำให้แย่แล้ว รวมกับความไม่ยุติธรรมที่เจอ ทำไมถึงเอาข้อหาแบบนี้มาให้ เราเป็นตัวเล็กๆ ที่เขาจะกระทืบยังไงก็ได้เหรอ การโดนคดี 112 เป็นข้อหาการเมืองที่หนักที่สุดในสังคมไทย แล้วคนทั่วไปไม่คิดว่าเป็นข้อหาการเมืองด้วย แต่มองเป็นคดีอาญา เป็นพวกล้มเจ้า ตอนนั้นทุกสิ่งทุกอย่างรวมกัน มันเจ็บปวดที่สุดในชีวิตแล้ว

ผมอยู่ที่เรือนจำ นอนร้องไห้ คือเพื่อนนักโทษก็บอกว่า อย่าคิดมาก มันเป็นกรรมเก่าเรา แต่มันกรรมเก่าอะไร คือเราไม่เคยทำอะไรในชาตินี้ไง มันก็อธิบายไว้ว่าชาติที่แล้วเคยเอาคนมาขังเหรอ แต่เราจำไม่ได้นี่ ทำไมต้องรับผลของชาติที่แล้วด้วย ผมนอนบ่นในใจ ด่าไปเรื่อย คือเหมือนเราจมดิ่งลงสู่ด้านลบ ความคิดแย่ๆ

สุดท้ายคือด่าพระเจ้าเลยว่า “กูทำอะไรผิด ทำไมพระเจ้าต้องให้มาอยู่ที่นี่” คือหว่านไปเรื่อย ด่าทุกอย่างแหละ แต่แล้วมันดันมีเสียงตอบไง วินาทีนั้นผมได้ยินเสียงตอบกลับมา “เราเอามาอยู่ที่นี่เพราะอยากให้เรียนรู้ เพื่อที่จะทำงานที่ใหญ่กว่านี้” ผมลุกขึ้นมา หันไปเห็นโฆษณาในทีวีพูดว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ไปโอลิมปิก แต่คนฝึกหนักกว่าคนอื่นที่จะได้ไป” คือเหมือนมันซาโตริขึ้นมา

ผมไม่ได้มั่นใจหรอกว่าเสียงที่ได้ยินคือพระเจ้า จริงๆ ผมอาจคิดไปเองก็ได้ แต่ถ้าคิดไปเอง แล้วเรายึดเป็นแนวทางดำเนินชีวิต มีความหวัง มองว่าคือบททดสอบให้ได้เรียนรู้ มันก็โอเคกว่าการมองว่าเป็นกรรมเก่า ประมาณว่ามันเห็นทางไป มีทางออก มีความหวัง

คือสังคมไทยมักเชื่อทำนองว่า ถ้าเกิดมาจนแล้วคุณอยากรวย นั่นคือกิเลส เป็นทุกข์ ต้องยอมรับความจน การติดคุกเป็นความทุกข์ เราควรยอมรับสภาพว่าตอนนี้อยู่ในคุก ให้มีสติ ปล่อยวางความอยากออกไปจากคุก พอปล่อยวางได้ เราจะรู้สึกโอเค ถ้าคุณมีความหวังแล้วมันเจ็บปวด ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือปล่อยวาง อยู่กับสิ่งที่มี ยอมรับการอยู่ในคุก ซึ่งผมรับทัศนคติแบบนี้ไม่ได้ มันไม่มีความหวัง

ตอนนั้นผมถูกปะทะด้วยความซวย เป็นสภาวะที่มนุษย์คนหนึ่งไปเผชิญหน้ากับชะตากรรมที่แย่มาก เราอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงมาตรงนี้ แล้วจะจัดการกับมันยังไง ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยคิดเลยว่าเรื่องศาสนาเกี่ยวกับชีวิต เราเป็น atheism ไม่มีศาสนาก็ได้ เราเชื่อในตัวเอง แต่ ณ จุดนั้น คนที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น มันเอารากของศาสนามาคิดก่อนเลย แต่ถ้าอยู่ดีๆ ติดคุกไป คุณจะเอาอะไรมาอธิบายล่ะ มันไม่มีเหตุผลเลย เราถูกบีบให้มาตั้งคำถามถึงเหตุของชะตากรรม และเป้าหมายการดำเนินชีวิตแต่ละวัน ทำไมคุณถึงมาอยู่ที่นี่ แล้วทำไมคุณต้องมีชีวิตอยู่ เป้าหมายของคุณอยู่ที่ไหน มันไม่มีเลย เหมือนใช้ชีวิตไปวันๆ สุดท้ายแล้ว เราจะเบนหน้าไปในทางที่มันแย่อย่างรวดเร็ว ไปคิดเรื่องอยากตาย คิดเรื่องแก้แค้น สุดท้ายถ้าเราไม่ฆ่าตัวเอง เราก็จะไปฆ่าคนอื่น

ส่วนชุดความคิดทั่วไปของคนไทย เขาบอกผมกันว่า สงสัยคือกรรมเก่า หรือไม่ก็ความซวย คุณจะเกิดความคิดแบบศาสนาขึ้นมาว่า ‘เอาล่ะ เราปล่อยวาง เพราะช่วยอะไรไม่ได้ เรามาตั้งต้น อยู่ในสภาวะที่ไม่เหลืออะไรเลยให้ได้ ตัดความกังวลออกไปแล้วจะเจอความสุขในมันได้’ ถ้าคิดแบบนั้นได้ คุณอาจบรรลุโสดาบันในคุก ผมอาจจะเข้าใจผิดก็ได้นะ แต่จุดนั้นผมรับทัศนคติแบบพุทธของสังคมไทยไม่ได้

รุ่งขึ้นความรู้สึกข้างในเปลี่ยนไปเลยไหม

ผมก็ยังอึนๆ อยู่ ตอนแรกเหมือนทางตัน แล้วจู่ๆ ก็มีทางไปต่อ ผมเลยไปนั่งอ่านไบเบิล ผมอ่านไปเจอบทที่พวกสาวกโดนกระทืบตาย ติดคุก เรือล่ม แต่ก็ยังคอยบอกให้คนทำความดี ผมร้องไห้เลย คือคิดว่า ‘เฮ้ย ลุงเนี่ยโดนหนักกว่าเราอีก ยังไม่เสียจุดยืน ยังมุ่งหน้าไปในทางที่บอกให้คนอภัยให้กัน ช่วยเหลือกันได้’ แม่งคนบ้ามากๆ มีอะไรที่ทำให้คนพวกนี้บ้าได้ขนาดนี้ คือเวลานั้น มันอธิบายไม่ถูก แต่ผมก็ร้องไห้ แล้วก็อ่านเรื่องพวกนี้ซ้ำไปมา

เพื่อนคนแอฟริกาใต้คนหนึ่งเห็นเราร้องไห้ มันก็มาปลอบ มันถามว่า “ใครจับคุณมา” ผมบอกว่า “ประยุทธ์ เป็นนายกฯ” เขาบอกว่า “นายกฯเป็นมนุษย์นะ แต่นายไม่ได้ทำอะไรผิด นายทำตามกฎของพระเจ้า” เขาจะบอกว่าผมเป็นคนดีนั่นแหละ ผมทำตามกฎหมายของพระเจ้า ซึ่งมันเหนือกว่ากฎหมายของมนุษย์ ดังนั้นไม่ต้องคิดมาก คือจริงๆ มันไม่ได้อยากพูดถึงพระเจ้าหรอก แต่มันเป็นเรื่องที่อยู่ในภาษาเลย เหมือนเราอุทานกันว่า ‘กรรม’ หรือ ‘บาป’ โดยไม่รู้ตัว มันมีคำว่า ‘God’ อยู่ในภาษา และรากวัฒนธรรมเลย

ตอนนั้นผมเลยเข้าใจว่าอะไรที่มันเป็นหลักยึดความยุติธรรม กับสิทธิ์ของตะวันตกไว้ คือ มันมีไอเดียเรื่องกฎหมายสองแบบคือ กฎหมายธรรมชาติ กับกฎหมายบ้านเมือง กฎหมายบ้านเมืองคือใครมีอำนาจก็ออกกฎหมายได้ ส่วนกฎหมายธรรมชาติคือมีความยุติธรรมอยู่ จะมีอำนาจขนาดไหนก็ออกกฎหมายผิดจากนี้ไม่ได้ ผมไม่เคยเชื่อเรื่องนี้มาก่อน ไม่เข้าใจว่ากฎหมายธรรมชาติเกิดขึ้นได้ยังไง มันไม่มีอะไรค้ำ คุณพูดลอยๆ ว่ามีความยุติธรรม มีความดี แล้วความดีอยู่ที่ไหน มันทำงานจริงไม่ได้

แต่ในตะวันตกมันทำงานได้ไง เพราะว่ามีพระเจ้าซึ่งเป็นความดีสูงสุดในความคิดโลกของแบบที่เอามาจากเพลโตอยู่

ถ้าถามว่าความยุติธรรมอยู่ไหน ก็อยู่กับพระเจ้า – ทำไมคนเท่ากัน ก็เพราะพระเจ้ารักทุกคนเหมือนกันหมดไม่ได้รักใครมากกว่าใคร – ทำไมมนุษย์มีสิทธิ์ ก็เพราะพระเจ้าให้มา – ผมเพิ่งรู้สึกตอนนั้นเลยว่า ‘เอ้อ เฮ้ย เข้าใจแล้วว่าทำไมฝรั่งมันถึงมีอิสระและเสรีได้ ทำดีไม่ต้องกลัวใครว่า ก็ทำตามพระเจ้า ช่วยเหลือคนก็ตามแบบอย่างของพระเยซู ทำดีแล้วโดนด่าก็เป็นเกียรติตามที่พวกสาวกโดน’

คิดแบบนี้แล้วเรามีความหวัง เรารู้ว่าโลกนี้มันเลวร้ายฉิบหาย โลกมีแต่คนบาป คนเหี้ยๆ แต่เรามีความหวังว่าเราทำให้มันดีขึ้นได้ เรารู้ว่าชีวิตเรามันมีความหมาย เพราะยังไงพระเจ้าก็รักเรา ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันจึงเป็นเหมือนการฝึกฝน เหมือนคนที่จะไปโอลิมปิกที่ต้องฝึกให้หนัก เราเป็นนักกีฬาที่ต้องใช้ชีวิตให้ดีที่สุด

สังคมคริสเตียนมันเป็นอีกสังคมหนึ่งเลย มันคิดว่า ทุกคนเลว แต่ไม่เป็นไร เมื่อก่อนคุณไม่รู้ ตอนนี้คุณรู้แล้ว คุณก็สำนึกผิดแล้วกลับตัวใหม่ ไม่ต้องตัดสินใคร คอยให้กำลังใจกันทำดี บางทีคนเราไม่ต้องการอะไรนอกจากการมีคนบอกว่า “be strong brother!” ตอนที่เราพยายามทำสิ่งดีแล้วสังคมไม่เข้าใจ

พอเปลี่ยนมาเชื่อในพระเจ้า ผมมีอะไรทำมากขึ้น หาเหตุผลได้ว่ามาฝึกตัวเอง เรียนรู้ ผมพูดไทยได้พูดอังกฤษได้ เลยใช้แต่ละวันเพื่อฝึกภาษา นักโทษที่เป็นมิชชันนารีขอให้ผมช่วยแปลคำสอนเป็นภาษาไทย เพื่อสื่อสารกับคริสเตียนที่เป็นคนไทย คอยบอกว่าไม่เป็นไร พระเจ้ารักเขา และรอให้เขากลับมาเสมอ คอยให้กำลังใจ ให้เขากลับใจ ปรับปรุงตัว มีชีวิตใหม่

ผมเชื่อในใจลึกๆ ก็เชื่อว่าเดี๋ยวคงได้ประกันตัว แต่ถ้าไม่ได้ออกก็ไม่เป็นไรแล้ว เพราะมีงานของโบสถ์ให้ทำ การทำให้นักโทษทีทำผิด สำนึกผิด กลับใจ กลายเป็นคนดี เป็นอะไรที่งดงามมากๆ ผมคิดว่าชีวิตวันหนึ่งในคุกมีประโยชน์กว่าชีวิตข้างนอกก่อนที่ผมจะติดคุกมาเยอะ

IMG_8005 copy

ช่วงแรกๆ คุณแค้นใครบ้างไหม

มีนะ ถ้าข้อความที่ผมพิมพ์ยังโดน 112 ได้ ทำไมพวกนั้นถึงโดนไม่ได้ ผมอยากฟ้องคืน ออกมาจากคุก ความรู้สึกนี้ก็มีอยู่เป็นพักๆ แต่ตอนนี้ผมเฉยๆ แล้ว ต้องขอบคุณท่านประยุทธ์ที่เอาผมไปติดนะ (หัวเราะ) ผมออกมาก็เกิดอะไรหลายอย่าง ก่อนหน้านี้เขียนหนังสือแล้วไม่มีคนอ่าน เดี๋ยวนี้ดังเลย (หัวเราะ) ถ้าผมไม่ติดคุก ตอนนี้เป็น atheism ไม่เชื่อพระเจ้า ไม่เชื่อความดีสูงสุด ผมอาจไหลไปในทางที่แย่ อาจรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม อยากแก้แค้น อยากใช้ความรุนแรง

มันเข้าใจได้นะ ถ้าใครสักคนอยากแก้แค้น ผมเจอนักโทษการเมืองที่ติดคุกแล้วแค้นเยอะ ก็คิดว่า กูไม่ได้ทำอะไร ทำไมต้องยัดกันขนาดนี้ แล้วเวลาเจ้าหน้าที่คุยกับเขา มันไม่ใช่การคุยเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนนะ แต่คุยแบบโขกสับ กระแทก กระโชกโฮกฮาก เมื่อไหร่ที่กูออกไปจะเอาคืน

ในเรือนจำพูดแบบนี้หลายคนเหรอ

คุณไปถามใครที่ออกมาจากเรือนจำนะ ถ้าเขาโดนแบบนี้ เขาก็คิดหมดแหละ ความอยุติธรรมเป็นตัวสร้างเมล็ดพันธุ์ของการก่อการร้าย ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ คุณจะบีบให้เป็นเหมือนภาคใต้ เขารู้สึก เพื่อนกูโดนพวกมึงยิงตาย เสร็จแล้วมาปรับปรำว่าเพื่อนอีกคนเป็นคนฆ่า กูโดนกระทำฝ่ายเดียว ไม่มีทางเลยที่จะต่อรองกับมึง นอกจากเอาคืน

ภายใต้บริบทการต่อสู้ทางการเมือง การมีมุมมองทางศาสนาเป็นหลักคิดในการเคลื่อนไหว มันไม่โลกสวยไปเหรอ

รากของคริสต์มันบอกว่าโลกเหี้ยมากๆ เราไม่สามารถอยู่ในโลกได้ ถ้าเราไม่มีความหวัง มันมีสองทางนะ ถ้าไม่มีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลง คุณเป็นส่วนหนึ่งกับมันเลยไหม ในสังคมมีการคอร์รัปชัน ก็โกงตามน้ำไปเลย ขณะเดียวกัน ถ้าคุณเชื่อในความดีสูงสุด ใครหาว่าโง่ก็ช่าง แต่ความดีมันมี เราทำไปเรื่อยๆ อย่างน้อยมันจะดีขึ้น ถ้าใครจะบอกว่าบ้า ก็บ้า อย่าไปคิดมาก พวกชาวคริสต์ก็โดนด่าว่าบ้ามาตั้งแต่มีศาสนาแล้ว

ถามว่าโลกสวยไหม ไม่หรอก ผมรู้อยู่แล้วว่าสังคมมีปัญหาอะไร ถ้าอ่านที่ผมเขียน ก็พูดอยู่ตลอดว่าความเหี้ยของสังคมคืออะไร แล้วรากคืออะไร ความศรัทธาไม่ใช่การโลกสวย เวลาเราเห็นอะไรเน่าๆ ความศรัทธาไม่ใช่บอกว่าสิ่งที่เน่าคือสิ่งสวยงาม หลายคนพยายามทำแบบนั้น แต่ไม่ใช่ทางที่ถูก เมื่อเราพยายามฝังปัญหาไว้ใต้พรม เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เป้าของผมไม่ใช่อยู่กับมันได้ แต่คือการต่อสู้กับมัน และหวังว่าจะทำให้สิ่งที่แย่ดีขึ้นมาได้

คุณว่าตัวเองสู้อยู่กับอะไร

ผมมองว่าสังคมไม่เวิร์ค แล้วเราคิดว่าสังคมที่ดีเป็นแบบนี้ แต่บางทีเราลืมไปว่าสิ่งที่ต้องทำคือการทำให้สังคมดีขึ้น ไม่ใช่การไปตีกับศัตรูที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน ก่อนหน้านี้ผมก็ไปไล่ตีกับคนที่เห็นต่างกัน ไปไล่ด่า ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่าประเด็นไม่ใช่ตรงนั้น มันอยู่ที่การสร้างสังคมที่ดีขึ้น คำว่า ‘สู้’ คือทำยังไงสังคมถึงจะดีขึ้นได้ ทำยังไงคนถึงจะคิดว่าคนเท่ากัน ทำยังไงคนที่เกิดมาอยู่ในจุดย่ำแย่ถึงจะมีโอกาสที่ดีขึ้น ความคิดของผมแสดงออกมาที่งาน อะไรที่เราไม่ชอบ อยากจะสื่อ ก็ไปแสดงออกที่งาน แต่งานเขียนไม่ใช่เพื่อสังคมอย่างเดียว มันเป็นเรื่องอารมณ์ของเรา ความรู้สึก ความชอบ ผสมปนเปกันไป

กฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาหลายอย่าง ใครฟ้องก็ได้ การบังคับใช้ไม่ยุติธรรม โทษที่หนักเกินไป ดูเหมือนว่าสถานการณ์ก็แย่ลงเรื่อยๆ ความหวังริบหรี่ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ผมเชื่อว่า movement มาในทางที่ดีขึ้นนะ อย่างน้อยที่สุด พอผมติดคุกไป มันทำให้คนเห็นว่า คนติดคุกไม่ใช่พวกล้มเจ้า ไม่ใช่คนหัวรุนแรง มันเกิดขึ้นกับใครก็ได้ วันหนึ่งคุณบังเอิญซวย คนอยากยัดข้อหาก็ได้ กฎหมายมาตรานี้ ใครจะยัดใส่ใครก็ได้ คนที่เล่นงานเราเป็นคนอื่น กฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องสถาบันฯ แต่กลายเป็นทำให้สถาบันเสื่อมเสียเกียรติ เป็นเครื่องมือที่เอาไว้แกล้งคน แล้วต่างชาติไม่ได้ด่าคนที่แกล้ง ต่างชาติด่าไปที่สถาบัน

เวลามีคนพูดว่า ไม่ทำผิดจะกลัวอะไร คนดีที่ไหนจะถูกจับล่ะ คุณตอบคนเหล่านี้อย่างไร

ลองคิดว่า วันหนึ่งผมเบื่อๆ เสื่อมศรัทธาในพระเจ้าขึ้นมา ผมอาจฟ้องพวกนั้นกลับบ้างก็ได้ เดี๋ยวตอนคุณติดคุกผมพูดแบบนี้บ้างดีมั้ย คุณคิดว่ามันโอเค เพราะตอนนี้ความอยุติธรรมไม่เกิดขึ้นกับคุณ แต่มันไม่รับประกันเลยว่าวันหนึ่งจะไม่ใช่คุณ

ผมเจอน้องคนหนึ่งในคุก เป็นพวกสนับสนุนองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน วันหนึ่งเขาไปด่าคนที่ด่าในหลวง ข้อความที่ด่าก็เด้งมาอยู่ในหน้าวอลล์เขาด้วย พอข้อความโดนฟ้อง เขาเลยติดคุกไปด้วย มันน่าตลกมากที่รอยัลลิสต์ต้องมาโดน 112 พอเข้าไปในคุก เขาโดนนักโทษ 112 เกลียด ต้องไปอยู่กับนักโทษคดีอื่น ชีวิตความเป็นอยู่แย่เลยนะ นี่คือรูปธรรมชัดเจนเลยว่า ทุกคนโดนฟ้องได้ และเป็นรูปธรรมชัดเจนให้เห็นความแค้นของทั้งสองฝ่ายด้วย แต่เรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนรู้หรอก ฝ่ายขวาติดคุกคดี 112 แล้วจะอาย เขาอยากให้การหายไปเงียบ สารภาพ รับสองปีครึ่งไป เหมือนให้คนเข้าใจว่าไปเรียนเมืองนอกมา

หลังจากได้รับประกันตัว คุณคือคนที่เพิ่งออกจากคุก แล้วเป็นการเข้าไปในคดีมาตรา 112 ด้วย ชีวิตได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

เยอะนะ ถึงผมจะรู้สึกว่าปกติ แต่พ่อแม่เพื่อนไม่เข้าใจหรอกว่าเราเป็นยังไง อาจคิดว่าเราเป็นพวกหัวรุนแรง ปลุกปั่นลูกเขา พาไปก่อม็อบ ผมจะเกรงใจเวลาไปหาเพื่อนที่บ้าน ไม่อยากให้พ่อแม่ของพวกเขาไม่สบายใจ

มันเหมือนเราติดเอดส์ เราเหมือนเป็นคนแพร่กระจายโรค แพร่กระจายความซวย แล้วทุกคนกลัว คุยกันก็อาจมีปัญหา เพื่อนที่ทำงานราชการ ผมพยายามหลีกๆ พวกเขา เพราะการมาคุยกับผมก็อาจส่งผลต่อการเลื่อนขั้นได้ วันหนึ่งอาจมีคนเอาเรื่องนี้มาแกล้ง เขาก็ต้องเซฟตัวเอง พยายามห่าง ถ้ายังคุยกัน ก็จะไม่เป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ค ตอนที่ผมเข้าคุก ก็มีคนอันเฟรนด์ไปเยอะ ก็เข้าใจเขานะ เอาจริงๆ ก็อึดอัดนะ แต่ผมก็คิดว่าสิ่งที่เสียไป เราได้อะไรกลับมาบ้าง

คุณเคยบอกว่า ถ้าเลือกได้ ก็ยังกลับไปติดคุกอยู่ดี

ใช่ๆ ถ้าผมไม่ติดคุก ผมไม่มีศาสนา ชีวิตผมก็อาจแย่ลงเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน

หลังจากนี้ทำยังไงต่อกับคดีมาตรา 116 และ 112

ผมว่ายาว น่าจะสักสองปี เป็นการสืบพยานฝั่งโจทก์ ฝั่งจำเลย ก็ต้องหาพยานมายืนยันว่า ที่เราพูดมันไม่หมิ่น มีพี่อีกคนที่ต้องสู้เหมือนผม ส่วนหกคนที่เหลือจะสู้เฉพาะ 116

ตอนนี้ชีวิตต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษไหม

ไม่ ปกติเลย ถ้าใช้ชีวิตระวังตัว เดี๋ยวเขาคิดว่าเรามีอะไรให้ต้องระวัง เราก็ไม่มีอะไรไง

ชีวิตประจำวันตอนนี้ทำอะไรบ้าง

เขียนนิยาย ทำงานแปล ผมจะเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม ให้แปลได้ดีกว่านี้หน่อย และอาจทำงานแปลเป็นเล่มๆ ไปเลย

ตอนนี้อะไรที่เกี่ยวกับการเมือง นักการเมือง บริษัทใหญ่ๆ ไม่อยากจ้างผม เพราะกลัวถูกโยง ทุกบริษัทไม่อยากโยงกับนักโทษ 112 หรอก ถ้าเขาจ้างก็รับนะ

ส่วนไลท์โนเวลเป็นสำนักพิมพ์ของเพื่อน เขาลุยอยู่แล้ว มันก็คิดว่า ไหนๆ มึงติดคุก ดังแล้ว ก็ขายของแล้วกัน (หัวเราะ) แต่มันก็มีที่ทางของมันแหละ ผมอาจไปรับงานกับคนจ้างต่างประเทศ หรือไม่ก็พิมพ์เอง-ขายเองไปเลย ไหนๆ ดังแล้ว (หัวเราะ)

ชีวิตตอนนี้ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ผมอาจสู้คดีแพ้ แล้วต้องกลับไปอีกรอบก็ได้ ตอนนี้อยากทำอะไรก็รีบทำ กลุ่มเพื่อนก็คุยกันในเน็ตปกติ วันอาทิตย์ก็ไปโบสถ์ นั่งคุยกับสมาชิกโบสถ์เดียวกันไปเรื่อย วันธรรมดาบางทีถ้าไม่มีงานค้างอยู่ก็ไปเรียนภาษาอังกฤษกับฝรั่งเกษียณที่โบสถ์ไครสต์เชิร์ช (Christ Church) ข้างๆ โรงเรียนเซนต์โยเซฟ สีลม ที่นั่นเป็นแองกลิคัน เป็นโปรเตสแตนท์ สายอังกฤษ ซึ่งไปในทางลิเบอรัล ไม่พูดเรื่องวันสิ้นโลก และเน้นเรื่องสมดุลระหว่างเหตุผล ศรัทธา กับพิธีกรรม

 

Author

ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ
ตั้งแต่จำความได้ก็เป็นคนขี้สงสัย พอมาทำอาชีพคนเขียนบทสัมภาษณ์ เลยได้รู้ว่าเป็นงานที่ใกล้เคียงจริตของตัวเองที่สุดแล้ว นับจากบทสัมภาษณ์ชิ้นแรกในปี 2553 น้อยครั้งที่จะเบื่อหน่ายการตั้งคำถาม (แต่เหน็ดเหนื่อยกับการถอดเทป) ทุกๆ วันยังเพลิดเพลินกับการได้ฟังเรื่องใหม่ๆ ถ้าชีวิตที่เหลืออยู่สามารถออกแบบได้ ก็อยากให้แต่ละวันเป็นอย่างในปัจจุบันก็พอ

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า