The Devil All the Time: พระเจ้า ความตาย และความตายของพระเจ้า

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

1

ปี 1945 วิลลาร์ด กลับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยสภาพจิตใจแหลกสลาย ภาพสุดท้ายที่เขาเห็นในสมรภูมิคือภาพเพื่อนทหารอเมริกันของเขาถูกทหารญี่ปุ่นจับตรึงกางเขนทั้งเป็น ภาพนั้นจะหลอกหลอนเขาไปชั่วชีวิต ระหว่างการเดินทางกลับบ้าน เขาพบรักกับ ชาร์ล็อตต์ สาวเสิร์ฟในร้านอาหาร ต่อมาก็แต่งงานอยู่กินกับเธอ และให้กำเนิดลูกชายหนึ่งคนชื่อ อาร์วิน วิลลาร์ดไม่ได้สนใจ เฮเลน หญิงสาวอาภัพเคร่งศาสนาที่แม่อยากให้แต่งงานด้วย โชคดีที่เฮเลนก็ไม่ได้สนใจเขาเช่นกัน ไม่มีใครรู้ว่าก่อนหน้านี้หญิงชราผู้เป็นแม่ได้อธิษฐานกับพระเจ้าไว้ว่าหากเขารอดชีวิตจากสงครามมาได้ จะให้เขาแต่งงานกับเธอ หญิงชราเก็บงำความลับนี้และความกลัวว่าจะถูกพระเจ้าลงโทษที่ไม่ทำตามคำอธิษฐานไว้เงียบๆ คนเดียว

2

เฮเลน พบรักกับ รอย ลาเฟอร์ตี้ สาธุคุณหนุ่มนักเทศน์ผู้ศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้า เขามักจะทำอะไรบ้าบิ่นเพื่อทดสอบศรัทธาของตนอยู่บ่อยๆ ทั้งคู่รู้จักกันครั้งแรกตอนที่เฮเลนมาที่โบสถ์ประจำหมู่บ้านพร้อมกับวิลลาร์ดและแม่ของเขา นับตั้งแต่วันนั้นเฮเลนก็ตัดสินใจว่าจะแต่งงานร่วมชีวิตกับสาธุคุณหนุ่มคนนี้ ต่อมาทั้งคู่ให้กำเนิดลูกสาวหนึ่งคนชื่อ เลอนอร่า

3

คาร์ล ช่างภาพหนุ่มพเนจรพบรักกับ แซนดี้ สาวเสิร์ฟในร้านอาหาร แล้วความสัมพันธ์อันโลดโผนประหลาดล้ำก็เริ่มขึ้น ทั้งคู่ชอบขับรถเดินทางไปเรื่อยๆ ทำทีเป็นคู่รักใจดีคอยจอดรับเด็กหนุ่มหน้าตาดีที่โบกรถข้างทาง เมื่อขับรถไปถึงจุดที่ทัศนียภาพเอื้ออำนวย พวกเขาก็จอดรถ ช่างภาพวิตถารจะข่มขู่แกมบังคับให้เด็กหนุ่มที่ขอติดรถมาด้วยถ่ายรูปคู่กับภรรยาของตน บ้างเป็นภาพนู้ดเปลือยกาย บ้างเป็นภาพโพสท่าประหลาดๆ เด็กหนุ่มหลายคนที่ขอติดรถมาด้วยไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเป็นฆาตกรต่อเนื่อง และมักจะออกหาเหยื่อ (หรือที่พวกเขาเรียกว่า ‘แบบ’) ด้วยรูปแบบเดิมซ้ำๆ เช่นนี้อยู่เป็นประจำ

4

หลายปีต่อมาเมื่อชะตากรรมพลิกผัน อาร์วินและเลอนอร่ากลายเป็นเด็กกำพร้า ทั้งสองจึงได้เข้ามาอยู่ร่วมบ้านเดียวกันในความอุปการะของหญิงชราผู้เป็นแม่ของวิลลาร์ด ย่าของอาร์วิน เติบโตขึ้นมาด้วยความสัมพันธ์แบบพี่น้องและได้รับรู้ความเลวร้ายของโลกไปพร้อมกัน สิ่งเดียวที่แตกต่างกันก็คือ ความทรงจำเกี่ยวกับพ่อ อาร์วินมีความทรงจำมากมายทั้งดีและร้ายเกี่ยวกับพ่อ ในขณะที่เลอนอร่าซึ่งถูกทิ้งไว้ตั้งแต่เด็กและไม่เคยได้เห็นหน้าพ่อแม่ รู้แค่เพียงคร่าวๆ ว่าพ่อของเธอเป็นสาธุคุณนักเทศน์ผู้เปี่ยมศรัทธา ความทรงจำของเธอเกี่ยวกับพ่อจึงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง

5

The Devil All the Time (2020) ของผู้กำกับ อันโตนิโอ แคมโปส (Antonio Campos) ดัดแปลงจากนวนิยายปี 2011 ในชื่อเดียวกันของ โดนัลด์ เรย์ พอลล็อค (Donald Ray Pollock) นักเขียนชาวอเมริกัน หนังคว้าจับเอาช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อระหว่างหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 เมื่อสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้ชนะสงครามกำลังก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และจบลงในปี 1965 เมื่อสหรัฐกำลังเข้าสู่สงครามเวียดนาม สงครามซึ่งในเวลาต่อมาจะมีขบวนการของคนหนุ่มสาวมากมายลุกขึ้นต่อต้าน และความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามจะกลายเป็นประวัติศาสตร์อัปยศครั้งสำคัญของสหรัฐอเมริกา

นี่คือแบ็คกราวด์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นภาพใหญ่ แต่ทว่าหนังเลือกจับจ้องไปยังการดิ้นรนของผู้คนตัวเล็กๆ ที่ได้รับผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากสภาวะสงคราม บาดแผลจากสงครามที่เกี่ยวร้อยเข้ากับประวัติศาสตร์ครอบครัวและความทรงจำส่วนบุคคล ห้วงเวลา 20 ปี จาก 1945-1965 ที่ตัวละครรุ่นลูกเกิดและเติบโตขึ้นมา จึงกลายเป็นทั้ง lost time และ lost generation ที่ทำให้คนรุ่นนี้ตกอยู่ในสภาวะเคว้งคว้างไร้ที่ยึดเหนี่ยว บางส่วนหันไปพึ่งศรัทธาบ้าคลั่งจนกลายเป็นความวิปลาสต่างๆ กันไป

โดยภาพรวมแล้ว นี่คือหนังว่าด้วยศาสนาและความบ้าคลั่งของผู้คนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า ปราศจากการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตนมอบกายถวายชีวิตให้ โศกนาฏกรรมของคนที่รู้สึกว่าตัวเองถูกพระเจ้าทอดทิ้งให้ตกอยู่ในความมืดบอดและห้วงทุกข์อันไม่สิ้นสุด การทดสอบศรัทธาและสูญเสียศรัทธาครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นความวิปลาส การแสวงหาผลประโยชน์จากช่องว่างของความศรัทธา หนังสำรวจความซับซ้อนของประเด็นเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับสำรวจบาดแผล (trauma) จากสงครามของปัจเจกบุคคล

6

หนังเล่าเรื่องอย่างเรียบเรื่อย ความเย็นยะเยือกในบรรยากาศการเล่าค่อยๆ พาเราซึมลึกเข้าไปในความซับซ้อนดำมืดของตัวละคร หนังใช้วิธีเล่าเรื่องด้วยมุมมองแบบผู้รู้แจ้ง (omniscience) ที่จะมีเสียงพากย์ (voice over) เรียบๆ เอื่อยๆ ของผู้เล่าเรื่องแทรกเข้ามาอยู่เป็นระยะ เพื่ออธิบายความเป็นไปของเรื่อง รวมถึงอธิบายความคิดและการกระทำของตัวละคร (ข้อมูลระบุว่าเจ้าของเสียงพากย์ในหนังคือ โดนัล เรย์ พอลล็อค ผู้เขียนนวนิยายที่เป็นต้นฉบับของหนังเรื่องนี้) สายตาของผู้ชมจึงประหนึ่งสายตาของพระเจ้าที่สามารถมองเห็นทะลุทะลวงล่วงรู้ยิ่งไปกว่าขอบเขตการรับรู้ของตัวละคร ดังเช่นในฉากแรกๆ ที่ ‘เสียงเล่า’ ได้บอกให้เรารู้เป็นนัยๆ ตั้งแต่ต้นว่าตัวละครที่พาดผ่านกันโดยบังเอิญในฉากนี้จะมีชะตากรรมเกาะเกี่ยวกันในภายภาคหน้า แต่ในขอบเขตการรับรู้ของตัวละคร พวกเขาจะไม่รับรู้ถึงความเชื่อมโยงของกันและกัน

เส้นเรื่องที่ 1 กับ 2 เคลื่อนเข้ามาบรรจบเป็นเส้นเดียวกันเมื่อคนรุ่นลูกเติบโตขึ้นและคนรุ่นพ่อแม่ตายจาก จะสังเกตได้ว่าหนังใช้ ‘ความตาย’ ทั้งความตายของพระเจ้าและความตายของมนุษย์ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักตัวละครไปสู่ชีวิตบทใหม่

ความตายของเพื่อนทหารที่ถูกจับตรึงกางเขนในสมรภูมิผลักให้วิลลาร์ดหันหน้าเข้าหาพระเจ้า ความตายของชาร์ล็อตต์และความตายของพระเจ้าผลักให้วิลลาร์ดไปสู่ความตาย ความตายของวิลลาร์ดทำให้อาร์วินกลายเป็นเด็กกำพร้า ความตายของพระเจ้านำมาซึ่งความตายของเฮเลนและสาธุคุณรอย ฯลฯ ในหนังเรื่องนี้มนุษย์ต่อรองกับพระเจ้าด้วยความตาย (ทั้งความตายของตนและความตายของใครสักคน) และจบลงด้วยความตายของพระเจ้า

อาร์วินเป็นตัวละครที่น่าสนใจ เขาเติบโตขึ้นมาพร้อมพ่อผู้ปลูกฝังให้เขามีศรัทธาต่อพระเจ้า แต่ขณะเดียวกันก็ถูกปลูกฝังให้รู้จักโลกของการแก้แค้นเอาคืนด้วยความรุนแรงด้วย ความตายของพระเจ้าทำให้วิลลาร์ดสูญเสียภรรยา และความตายของพระเจ้าก็ทำให้อาร์วินสูญเสียพ่อไป อาร์วินคือตัวละครที่ได้เป็นประจักษ์พยานต่อทั้งความล้มเหลวของพระเจ้าและความล้มเหลวของผู้ศรัทธาพระเจ้า เขาจึงไม่โหยหาหรือศรัทธาในพระเจ้า เพราะพระเจ้าพรากทุกสิ่งไปจากเขา มรดกจากพ่อเพียงอย่างเดียวที่หลงเหลืออยู่ก็คือ กฎแห่งการแก้แค้นเอาคืนและความรุนแรง มันกลายเป็น ‘ศาสนา’ เพียงอย่างเดียวของเขา สำหรับอาร์วิน พระเจ้าตายไปแล้ว เหลือแต่เพียง ‘ความรุนแรง’ ที่พระองค์ทิ้งไว้ให้

ผ่านสายตาของอาร์วิน เราได้เห็นภาพชีวิตอันแตกสลายของวิลลาร์ด แต่ผ่านสายตาของผู้เล่าเรื่อง เราจะได้เห็นภาพชีวิตของทั้งวิลลาร์ดและสาธุคุณรอยยั่วล้อกันไป ความศรัทธาอันท่วมท้นที่แปรเปลี่ยนเป็นความวิปลาสของทั้งศาสนิกและนักบวช ชายทั้งสองคนเลือกใช้ภรรยาของตัวเองเป็นสิ่งเดิมพันกับพระเจ้า อาร์วินได้เห็นพ่อของเขากลายเป็นปีศาจบ้าคลั่งเมื่อพระเจ้าไม่อาจยื้อชีวิตของชาร์ล็อตต์เอาไว้ได้ แต่เลอนอร่าไม่มีโอกาสได้เห็นพ่อของเธอกลายเป็นปีศาจในยามที่เขาใช้ชีวิตของเฮเลนเป็นเดิมพัน ไม่มีโอกาสได้รู้ว่าฉากสุดท้ายในชีวิตของสาธุคุณรอยคือการระหกระเหินไปจนกระทั่งได้โบกรถของช่างภาพวิตถารผู้เป็นฆาตกรต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ทั้งวิลลาร์ดและสาธุคุณรอยก็มีความแตกต่างกันที่น่าสนใจ ความแตกต่างที่ว่านั้นคือคุณค่าและความหมายของ ‘ความสามารถในการเข้าถึงพระเจ้า’ สำหรับวิลลาร์ด พระเจ้าไม่ได้มีความหมายต่อเขาในเชิงปัจเจกอย่างเดียว แต่พระเจ้าหมายถึงความมั่นคงในชีวิต ความพร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว พระเจ้าหมายถึง ‘หลักประกัน’ สำหรับ ‘ชีวิตที่ดี’ แต่สำหรับสาธุคุณรอย พระเจ้าหมายถึง ‘ตัวตน’ ของเขาเท่านั้น คือสิ่งที่เขาใช้นิยามตัวตนและสถานะทางสังคม เขาจะเป็นสาธุคุณนักเทศน์ผู้ชี้ทางสว่างแก่คนอื่นได้อย่างไรหากเขาไม่อาจสัมผัสได้ถึงพระเจ้า ความมืดบอดของวิลลาร์ดเกิดจากความสิ้นหวังต่อพระเจ้า ความมืดบอดของสาธุคุณรอยเกิดจากความเชื่อในพระเจ้าอย่างบริสุทธิ์ใจ

การมาถึงของสาธุคุณ เพรสตัน ทำให้ชีวิตของตัวละครถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง และราวกับว่าประวัติศาสตร์เล่นซ้ำตัวมันเอง เด็กสาวเลอนอร่าผู้อ่อนต่อโลกก็ตกเป็นเหยื่อของปีศาจในคราบนักบุญ จนกระทั่งนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับตัวละครอื่น เราบอกไม่ได้ว่าสาธุคุณเพรสตันศรัทธาในพระเจ้าจริงๆ หรือไม่ หน้าตาอันหล่อเหลาและความชั่วร้ายที่ถูกระบายสีสันจนฉูดฉาดทำให้เพรสตันดูเหมือนปีศาจที่มาจากโลกอื่น เขาไม่ได้กลายร่างเป็นปีศาจเพราะความศรัทธาอันมืดบอดเหมือนอย่างเช่นวิลลาร์ดและสาธุคุณรอย แต่เขาดูเหมือนปีศาจที่จงใจสวมเสื้อนักบุญเพื่อมาล่อลวงผู้คนโดยตรง

ฉากหนึ่งที่ทรงพลังที่สุดของหนังเรื่องนี้คือฉากที่อาร์วินทำทีเป็นเข้ามาสารภาพบาปกับเพรสตัน แต่บาปที่อาร์วินสารภาพออกมากลับเป็นวีรกรรมอันฉาวโฉ่ของเพรสตันเอง เราอาจกล่าวได้ว่าไม่เพียงแต่เพรสตันเท่านั้นที่มาจาก ‘โลกอื่น’ แต่อาร์วินเองก็ถือว่ามาจากโลกอื่นเช่นกัน โลกของอาร์วินคือโลกของคนที่พระเจ้าและความศรัทธาได้ตายไปแล้ว ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้อาร์วินไม่ถูกครอบงำด้วยความศรัทธา ทำให้กล้าสงสัยในความเป็นนักบุญของเพรสตันและตามแกะรอยจนพบความชั่วร้ายต่างๆ ในที่สุด มันจึงกลายเป็นความตลกร้ายตรงที่คนที่ไม่มีศรัทธาอย่างอาร์วิน กลับเป็นคนที่ต้องมากำจัด ‘มารศาสนา’ เสียเอง หรือจะพูดในอีกทางหนึ่งก็ได้ว่าต้องเป็นคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าเท่านั้นถึงจะมีสายตาอีกแบบหนึ่งที่กล้าสงสัยและกล้าต่อกรกับปีศาจที่อ้างพระนามของพระเจ้า

7

หลังจากปลิดชีพสาธุคุณเพรสตันแล้ว อาร์วินก็ต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน และเนื้อเรื่องฉากต่อไปที่แทบไม่ต้องเดา รถคันที่อาร์วินบังเอิญโบกได้จากข้างทางก็คือรถของช่างภาพวิตถารผู้เป็นฆาตกรต่อเนื่องนั่นเอง

หากมองในเชิงความสัมพันธ์ของตัวละคร เรื่องราวของช่างภาพวิตถารกับภรรยาไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มตัวละครหลัก แต่หากมองในเชิงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ พวกเขาอยู่ใกล้กับตัวละครหลักในระดับหายใจรดต้นคอกันตั้งแต่เริ่มเรื่องเลยทีเดียว ความสำคัญของตัวละครนี้อยู่ตรงที่ หากสาธุคุณเพรสตันคือปีศาจที่แฝงตัวมาในคราบของนักบุญ ช่างภาพวิตถารกับภรรยาก็คือปีศาจที่แฝงตัวมาในคราบของคนธรรมดา

พวกเขาเป็นคนจากอีกโลกหนึ่งโดยสิ้นเชิงทั้งในแง่ของสถานะทางชนชั้นและระบบความเชื่อ กล่าวคือ ในขณะที่ตัวละครอื่นๆ เป็นชนชั้นล่างผู้ผูกติดอยู่กับความศรัทธาในพระเจ้า ตัวละครช่างภาพวิตถารกับภรรยาคือชนชั้นกลางผู้สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้อย่างเต็มที่ มีศิลปะเป็นศาสนา ขับรถตระเวนออกหาเหยื่อหรือ ‘แบบ’ มาสนองรสนิยมวิตถารของตัวเอง

เราอาจเรียกช่างภาพว่าเป็น ‘นักสะสมภาพอุจาดตา’ แต่หนังไม่ได้จับจ้องไปที่ภาพเหล่านั้นมากเท่ากับที่จับจ้องพฤติกรรมอันโหดเหี้ยมวิปริตของตัวละคร ราวกับจะบอกว่าภาพเหล่านั้นไม่ได้บันทึกภาพอุจาดตาของ ‘แบบ’ มากเท่ากับที่เป็นบันทึกความวิตถารของช่างภาพเอง ราวกับหนังจะบอกว่าเมื่อศิลปะกลายร่างไปเป็นศาสนา มันก็สามารถกดขี่ผู้คนได้ไม่ต่างจากศาสนาเช่นกัน กล้องถ่ายรูปจึงประหนึ่งสายตาของพระเจ้า ที่ไม่อาจทำอะไรได้มากไปกว่าจ้องมองมนุษย์ที่กำลังดิ้นทุรนทุรายอยู่ตรงหน้า

Author

ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย
เรียนมาด้านภาษาและวรรณกรรม ชอบอ่านหนังสือทั้งในเวลาว่างและเวลาที่ไม่ว่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า