‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ อธิคม คุณาวุฒิ

ภาพ: อารยา คงแป้น

ในมุมมองคนทำสื่อที่คร่ำหวอดในวงการอย่างยาวนาน อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร Way Magazine เสนอทางออกต่อประเด็น ‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ โดยให้ถามว่า รูปแบบการปกครองแบบไหน จะอนุญาตให้คนต่อรองได้ เพราะไม่มีใครสามารถตอบแทนผู้อื่น

อธิคมเปิดฉากเสวนาด้วยการชี้ให้เห็น วิธีการหาคำตอบของเขาเอง เริ่มจากการค้นหาหลักคิดที่มีอิทธิพลที่สุดในสังคมไทยอย่างหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เวลาที่เราจะหาคำตอบอะไรสักอย่าง เราก็มักจะเริ่มต้นจากการหาหลักคิด ทฤษฎีอะไรบางอย่างมารองรับวิธีคิดของเรา

“ผมนึกถึงทฤษฎีหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในสังคมไทย นั่นคือทฤษฎีเกษตรพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เศรษฐกิจพอเพียงบอกเราว่า ให้ครอบครัวหนึ่งมีที่ดิน 15 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 5 ไร่ ปลูกพืชหมุนเวียน 5 ไร่ 3 ไร่ขุดบ่อเลี้ยงปลา เหลืออีก 2 ไร่เอาไว้ปลูกเรือนชานที่อยู่อาศัย

ประเทศไทยมีพื้นที่ 321 ล้านไร่ ประชากร 66 ล้านคน แบ่งเป็นครัวเรือนประมาณ 20 ล้านครัวเรือน 20 ล้านครัวเรือน ถ้าเราแบ่งที่ดินให้ครัวเรือนละ 15 ไร่ มันหารได้ลงตัวกับพื้นที่ประเทศไทยนะครับ อันนี้แสดงถึงปรีชาญาณของในหลวงรัชกาลที่ 9”

คำถามคือ เอาไหม สำหรับที่ 15 ไร่ไว้ทำเกษตรพอเพียง

คำตอบของอธิคมคือ รับได้

“ในฐานะของคนที่เกิดมาไม่เคยเป็นเจ้าของถือครองที่ดินแม้แต่ตารางนิ้วเดียว บ้านที่อยู่ทุกวันนี้ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของแบงค์ ผมก็เอาสิ อีกอย่างผมมือเย็นอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ปลูกอะไรก็งาม ผมไม่กลัวแดด ให้ทำเกษตรผมชอบอยู่แล้ว

“แต่…เอ๊ะ เดี๋ยวนะ ผมชอบเขียนหนังสือ ผมชอบทำสื่อด้วยนี่ งั้นผมขอต่อรองได้ไหม ผมขอที่ดิน 15 ไร่แถวลาดพร้าว ผมจะได้ทำเกษตรด้วย ทำสื่อไปด้วย

“คำถามเดียวกัน หากถามคนอีกประเภท เช่น คุณยุ้ย-สฤณี คุณยุ้ยอาจตอบว่าฉันเป็นคนทำงานทางความคิด จู่ๆ จะให้ไปขุดดินทำเกษตรทำไม มันใช้ศักยภาพคนถูกเรื่องมั้ย สำหรับคุณยุ้ยอาจจะต้องการที่ดินแค่ครึ่งไร่ แต่ขอทำเลใกล้รถไฟฟ้า ทำบริษัทป่าสาละ พนักงานจะได้ไปมาสะดวก”

เราเห็นอะไรจากการหาคำตอบทำนองนี้…เราเห็นการต่อรอง

หัวใจของการต่อรองว่าเท่าไหร่ถึงเท่ากัน

อธิคมเสนอว่า กุญแจของการพยายามหาคำตอบว่า ‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ เริ่มต้นจากการต่อรอง

คำถามต่อมาคือ แล้วอะไรคือเงื่อนไขนำไปสู่บรรยากาศของการต่อรอง

เขาคิดว่า ลำดับแรก เราต้องเห็นคู่ต่อรองของเรามีตัวตนก่อน ลำดับที่สอง การต่อรองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต่างฝ่ายต่างต้องยอมรับสิทธิ์และอำนาจของการต่อรองของอีกฝ่าย คำถามก็คือว่า แล้วระบบการเมืองการปกครองแบบไหนล่ะที่มันเอื้อให้เกิดการต่อรอง

โดยย้ำให้เห็นว่าในเชิงกระบวนการหรือรายละเอียดขั้นตอนการต่อสู้ต่อรอง เราไม่จำเป็นต้องออกไปเป็นคู่เจรจาต่อรองด้วยตัวเองเสมอไป ระบบการเมืองการปกครองที่มีอารยธรรมถูกออกแบบมารองรับสถานการณ์เช่นนี้อยู่แล้ว

เขายกตัวอย่างการต่อรองในกรณีขนส่งมวลชนว่า “ถ้าผมเห็นด้วยว่าประเทศเราต้องการระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัย ระบบรางที่มีประสิทธิภาพ แต่เรื่องพวกนี้ผมจะมีความรู้มากกว่าคุณชัชชาติได้ยังไง เพราะฉะนั้น ผมจึงให้คุณชัชชาติออกไปเป็นคนต่อรองแทน โอเค ต่อรองแล้วได้คำตอบว่า ให้ถนนลูกรังหมดประเทศก่อนค่อยทำระบบราง อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า – เออ เขาสามารถตอบแบบนี้ก็ได้ด้วย”

ปัญหาที่กล่าวมาจึงสะท้อนมให้เห็นว่า ถ้ากลไกการต่อรองและการตัดสินใจเป็นไปโดยปกติ เราก็ไม่ต้องมานั่งอึดอัดคับแค้นเหมือนกรณีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีคนคัดค้าน 300,000 กว่า แต่แพ้เสียงคนแค่ 10 กว่าคน

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าเท่าไหร่ถึงเท่ากัน คีย์ของมันคือ “จงอย่าได้มีใครบังอาจไปถือสิทธิ์ ตอบคำถามนี้แทนผู้อื่น” เราต้องให้ผู้เกี่ยวข้องเจรจา เข้าไปต่อสู้ ต่อรอง “พูดง่ายๆ ก็คือ เริ่มจากเห็นหัวกันก่อน เมื่อเห็นตัวเห็นตนกันแล้ว กรุณาเห็นด้วยว่าเรามีสิทธิ์ มีอำนาจ ในการเข้าไปเจรจา เข้าไปต่อสู้ เข้าไปต่อรอง เพื่อที่จะบอกว่าต้องเท่าไหร่”

สื่อควรมีบทบาทอย่างไรในการลดความเหลื่อมล้ำ

พิธีกรได้โยนคำถามทิ้งท้ายต่อวิทยากรคนสุดท้ายของงานว่า สื่อควรมีบทบาทอย่างไรในการลดความเหลื่อมล้ำ

อธิคมเสนอว่า ในทางอุดมคติ สื่อก็ควรต้องทำหน้าที่อธิบายประเด็นเชิงโครงสร้างเหล่านี้ หรืออย่างน้อยเห็นข้อมูลรายงานความเหลื่อมล้ำของ Oxfam ก็ควรเอาไปทำอะไรสักอย่าง นั่นคือในทางอุดมคติ

“ผมคิดว่าทุกท่านหรือหลายท่านในที่นี้คงอึดอัด คับข้องใจ หรือต้องเผชิญปัญหาในชีวิตพอสมควรจากความขัดแย้งทางความคิดตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเราครุ่นคิดอย่างจริงจังก็น่าจะพบว่า รากที่ลึกที่สุดของความขัดแย้งที่พัวพันมาตลอด 10 ปี ก็คือประเด็นความเหลื่อมล้ำนั่นเอง

“หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เบื้องต้นก็คือ เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯมาตั้งแต่ก่อนปี 2500 แต่เพิ่งจะมีการเขียนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 ปี 2540-2544 ระบุให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นั่นแสดงว่าก่อนหน้านี้เรามองไม่เห็นคน เราตัดถนนเพื่อให้รถวิ่ง เราสร้างเขื่อนเพื่อปั่นไฟ เราไม่สนใจเลยว่าคนอยู่ตรงไหน เราเพิ่งมาตระหนัก เมื่อเวลาผ่านไปเกือบครึ่งศตวรรษ และปัญหาความเหลื่อมล้ำกลายเป็นเรื่องใหญ่”

อีกตัวอย่างที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ประเทศไทยเพิ่งมีคำว่า ‘สิทธิชุมชน’ ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 การต้องระบุเรื่องนี้ลงไปในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาการใช้สอยแย่งชิงทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมสั่งสมมายาวนาน

เขากำชับให้ผู้ฟังสังเกตเงื่อนเวลาดังกล่าวให้ดี โดยชี้ให้เห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวนั้น “นักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล เขาก็แค่เอามือแตะแผ่นดินแล้วสัมผัสได้ถึงความร้อน แต่จู่ๆ นึกว่าเขาจะตรัสรู้ออกแบบระบบประกันสุขภาพขึ้นมาเองได้เหรอครับ เปล่าเลย มีคนศึกษาเรื่องมาอย่างหนักหน่วงยาวนาน จากนั้นจึงผลักดันจากด้านล่างชงขึ้นไป เพื่อให้นักการเมืองตอบสนอง”

อธิคมเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงแหล่งทุน หรือโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาก็เช่นกัน ล้วนถูกผลักดันด้วยความเดือดร้อนจากฐานรากขึ้นไปทั้งสิ้น

สิ่งที่ควรทำใจก็คือ เขาเห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วสื่อก็คือธุรกิจชนิดหนึ่ง ยิ่งสื่อที่ทำธุรกิจเก่ง ยิ่งไม่ควรไว้ใจ เพราะเขาจะมีต้นทุนที่ต้องคิดอ่านอย่างรอบคอบ จะลงข่าวไหนล่อแหลมก็ต้องเหลียวไปมองสีหน้าผู้ถือหุ้นก่อน ต้องดู target group ของตัวเอง เพราะฉะนั้นการอธิบายว่า มูลเหตุของความขัดแย้งของสังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รากที่ลึกที่สุดของมันคือความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่ตอบสนองอารมณ์ของกลุ่มเป้าหมาย เท่ากับการบอกว่าไอ้นั่นชั่ว ไอ้นี่มันล้มเจ้า ต้องมีตัวละครที่ดีสุดๆ กับชั่วสุดกู่ มันฟังง่ายดี ตอบสนอง demand-supply

“แต่เนื่องจากผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี ผมจึงคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่สื่อใหม่ๆ เราเห็นสำนักข่าวภายใต้พลังงานของคนหนุ่มสาว พยายามที่จะสร้างคอนเทนต์ จับประเด็นดีๆ ที่สื่อหลักในโลกยุคเก่าไม่ยอมทำ หรือยังมะงุมมะงาหรา หาวิธีปรับตัวไม่ได้”

อธิคมเสนอ ผ่านมุมมองที่เขาเชื่อว่ากำลังมองโลกในแง่ดีว่า การเกิดขึ้นของสื่อรายย่อย รายเล็ก จะช่วยเติมข้อมูล สร้างคอนเทนต์ที่ถูกละเลยมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา

“สำหรับบทบาทของคนเล็กคนน้อยในสังคม โดยเฉพาะสังคมที่อยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร เสียงเจี๊ยวจ๊าวที่เคยเป็นเสียงนกเสียงกา เมื่อมันถูกจัดการ ออกแบบขบวน และผูกเครือข่าย เรามาเจอกัน มองเห็นว่าใครทำอะไรได้บ้าง จากเรื่องที่เคยทำคนเดียว ทำได้เฉพาะเรื่องเล็กๆ มันก็อาจผลักดันไปสู่ผลลัพธ์ที่ขยายผลใหญ่ขึ้น กระทั่งอาจส่งผลไปถึงการออกแบบนโยบายสาธารณะ”

เพราะฉะนั้นการเชื่อในเสียงของตัวเอง อดทนที่จะอยู่ร่วมในเสียงเจี๊ยวจ๊าวตามธรรมชาติของสังคมเปิด เราก็จะได้ยินเสียงที่หลากหลาย มองเห็นกันและกันมากขึ้น ระบบสังคมที่ถูกต้องมันจะไม่มีใครมานั่งพูดคนเดียวให้คน 60 ล้านคนฟัง

“สังคมที่เปิดให้มีเสียงหลากหลาย เรียนรู้ที่จะผูกเครือข่าย ดึงคนที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันมาช่วยกันทำงาน เคารพในสิทธิ เสียง และอำนาจต่อรองซึ่งกันและกัน บรรยากาศสังคมแบบนั้นต่างหากที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ” อธิคมกล่าวทิ้งท้ายวงเสวนา

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า