เดินหน้าหนังไทย? ในภาวะผูกขาด

movie 05
เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: ไทยพีบีเอส

 

มันเลยเป็นปัญหา oversupply แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีหนังกระแสที่คนจำนวนมากอยากไปดูตลอดเวลา คนดูหนังต่อโรงน้อย โรงหนังจึงต้องเพิ่มรายได้ให้ตัวเองจากเก้าอี้วีไอพี จากค่าจัดฉาย จากป๊อปคอร์น อะไรต่างๆ

สุภาพ หริมเทพาธิป อดีตบรรณาธิการ นิตยสาร Bioscope

 

ค่าป๊อปคอร์น ราคาตั๋วหนัง รอบและจำนวนฉายของภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่ออำนาจลึกลับ ในการดึงตัวเองออกจากบ้าน เพื่อมุ่งหน้าหาซื้อความผ่อนคลายในโรงภาพยนตร์ ในยุคที่การซื้อเวลาเพื่อนอนนิ่งๆ และดูภาพยนตร์สักเรื่อง ง่ายดายเพียงปลายนิ้วคลิก ในยุคของอินเตอร์เน็ตความเร็ว 4G

‘เดินหน้าหนังไทย? ในภาวะผูกขาด’ คือหัวข้อเสวนา ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในช่วงเย็นวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องของความซบเซาของตลาดหนังไทย ที่ดูเหมือนจะถูกประชาชนค่อนขอดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า มีแต่สร้างหนังตลก ผี และรักโรแมนติก ที่ไม่ได้มีส่วนช่วยจรรโลงและยกระดับสังคมให้ก้าวหน้าขึ้น เมื่อประเภทหนังที่มีให้เลือกนั้นน้อยแสนน้อย ซ้ำค่าครอบครองบัตร ค่าป๊อปคอร์น ค่าแก้วน้ำลิมิเต็ดเอดิชั่น ค่าเก้าอี้ฮันนีมูนสวีท ยังไม่นับรวมว่า เมื่อยอมจ่ายถึงเพียงนั้น ประชาชนยังต้องรับชมโฆษณาที่ยาวกว่าเครดิตของคณะผู้จัดทำในตอนท้ายอีกด้วย

เหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่ ในการทิ้งขว้างความลึกลับเปี่ยมเสน่ห์ของการเข้าชมหนังในโรงภาพยนตร์ไป และเข้าอินเตอร์เน็ตเพื่อดูหนังออนไลน์แทน

การท้าทายกฎหมายผูกขาด

สุภาพ หริมเทพาธิป อดีตบรรณาธิการ นิตยสาร Bioscope กล่าวว่า ปัญหาชั้นแรกคือ มีคนท้าทายกฎหมายป้องกันการผูกขาดที่ว่า ห้ามไม่ให้เจ้าของโรงภาพยนตร์กับเจ้าของหนัง รวมไปถึงเป็นผู้นำเข้าภาพยนตร์ เป็นบุคคลเดียวกัน
“ลองคิดดูว่า หากมีหนังประเภทเดียวกัน เข้าฉายพร้อมกันกับเจ้าของพื้นที่ ใครจะได้พื้นที่ในการเข้าฉาย เพียงเท่านี้ก็เท่ากับเป็นการตัดโอกาสของผู้กำกับ รวมทั้งทางเลือกในการบริโภคของคนดู”

อีกปัญหาหนึ่งที่สอดคล้องกันกับปัญหาการผูกขาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขณะนี้คือ จำนวนโรงภาพยนตร์มีมากกว่าจำนวนคน หรือความต้องการการเข้าไปดูหนัง ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการเร่งสร้างโรงภาพยนตร์จำนวนมากเพื่อรองรับคนให้มาดูหนังได้ทันกระแส เมื่อภาพยนตร์เรื่องใดกำลังอยู่ในกระแส หากประชาชนเดินเข้ามาเพื่อซื้อตั๋วหนัง พวกเขาต้องมีเก้าอี้ในการเข้าไปชม

“มันเลยเป็นปัญหา oversupply แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีหนังกระแสที่คนจำนวนมากอยากไปดูตลอดเวลา คนดูหนังต่อโรงน้อย โรงหนังจึงต้องเพิ่มรายได้ให้ตัวเองจากเก้าอี้วีไอพี จากค่าจัดฉาย จากป๊อปคอร์น อะไรต่างๆ”

ใครจะกล้าต่อรอง

“พอเป็นโปรดิวเซอร์เอง อำนาจต่อรองนั้นแทบไม่มี โรงภาพยนตร์มักไม่ให้ความสำคัญกับหนังไทย จากส่วนแบ่ง 50/50 ก็อาจลดลงเหลือ 55/45 ซึ่งเป็นเรื่องที่เรารับได้ เพราะเป็นหนังฟอร์มเล็ก แต่นอกเหนือจากนั้นคือทางเลือกและอำนาจในการเอาหนังไปขายที่ช่องทางอื่น”

นี่คือประสบการณ์ของคนทำหนัง บัณฑิต ทองดี นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ในครั้งที่เขาต้องเล่นบทเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหนังไทยฟอร์มเล็ก บัณฑิตเล่าต่อว่า พอสัดส่วนที่ต้องได้จากการฉายหนังในโรงลดลง เขาต้องหันไปหาช่องทางขายหนังจากแผ่นดีวีดี ซึ่งในขณะนั้นตลาดยังโตพอที่จะขายได้อยู่ แต่มือที่มองเห็นเข้ามายื่นข้อเสนอว่า หากขายลิขสิทธิ์ทำดีวีดีให้กับโรงหนังในราคาครึ่งหนึ่งของเจ้าอื่น เขาจะได้เพิ่มรอบฉายหนังในโรงภาพยนตร์

“เท่ากับผมต้องเลือกว่า จะไปลุ้นเอากับจำนวนตั๋วหน้าโรงหนัง หรือลิขสิทธิ์ดีวีดีที่ให้เงินมากกว่า”

สิ่งที่คนทำหนังเองต้องทำต่อไปหากอยากจะเอาหนังของตัวเองเข้าโรงภาพยนตร์คือ ต้องซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งโรงหนังเจ้าใหญ่ได้ซื้อพื้นที่ไปหมดแล้ว

“บางทีงบลงทุนของหนังฟอร์มเล็กคือ 2 ล้านบาท แต่ต้องซื้อโฆษณา 400,000 เงินตรงนี้มันจะคุ้มกับการลงทุนเพียงหนึ่งวันหรือเปล่า” 

movie 03

จากความบันเทิงสู่ความน่ารำคาญ

ในสายตาของ ดรสะรณ โกวิทวณิชชา นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เครือข่ายคนดูหนัง บอกว่า ทุกวันนี้เขาแทบไม่เดินเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์

“โรงหนังทำให้บรรยากาศมันไม่น่าเข้าไปดู มีแต่กับดักให้เสียเงินรายทาง จากความบันเทิง ได้กลายเป็นความน่ารำคาญ และทุกวันนี้มันมีทางเลือกในการดูหนังมากขึ้น”

ดรสะรณ กล่าวถึงความระคายใจในส่วนของคนดูหนังว่า ทุกวันนี้มีการบังคับให้คนซื้อบัตร แทบไม่มีพนักงานขายตั๋วอยู่ที่หน้าเคาน์เตอร์ เปิดไฟ-ปิดม่านก่อนที่เครดิตคนทำหนังจะขึ้นหมด โฆษณาจำนวนมาก รวมทั้งรอบหนังที่มีพื้นที่เฉพาะหนังทำเงิน หนังนอกกระแสจะถูกผลักไปอยู่รอบดึก หรือบางครั้งหนังถูกถอดออกจากโรงเร็วกว่ากำหนด

สายหนังยังเป็นทางเลือก?

“เมื่อ 20 กว่าปีก่อนเคยมีคนแนะนำให้ผมซื้อหนังมาทำธุรกิจสายหนัง เพื่อป้องกันการผูกขาดของโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ล่วงมาถึงวันนี้ คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจสายหนังก็คือเจ้าของโรงหนังใหญ่ๆ อีกที”

คือคำบอกเล่าของ นิมิตร สัตยากุล ตัวแทนธุรกิจฉายหนังกลางแปลง นิมิตรเล่าถึงการต่อสู้ในธุรกิจโรงหนังทางเลือกว่า เมื่อ 20 ปีก่อนเขาได้สร้างโรงหนังขึ้นมาเอง หากปัญหาที่เกิดขึ้นคือโรงภาพยนตร์ของเขามีจำนวนหนังไม่พอฉาย เพราะมีผู้ผลิตหนังเพียงเจ้าเดียวที่ขายหนังให้ ที่เป็นผลจากการกีดกันการขายหนัง โรงภาพยนตร์รายใหญ่ไม่ขายหนังให้แก่สายหนังเจ้าเล็ก

นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวถึงอำนาจการต่อรองที่มีอยู่ระหว่างสายหนัง โรงภาพยนตร์ และผู้สร้างหนังแต่เดิมว่าเป็นระบบที่ลงทุนร่วมกัน หากผู้กำกับเสนอว่าอยากทำหนังสักเรื่อง โรงภาพยนตร์เห็นว่าน่าสนใจ และทางสายหนังเห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ทั้งหมดก็จะร่วมลงทุนเม็ดเงินด้วย โดยโรงภาพยนตร์และสายหนังก็จะกันพื้นที่รอบฉายเอาไว้ให้ด้วย ในแง่นี้ ทั้งสามส่วนจึงมีส่วนร่วมในการรับความเสี่ยงร่วมกัน การประกันว่าจะมีพื้นที่ฉาย หรือหนังจะถูกส่งต่อไปยังโรงหนังทางเลือกหรือสายหนังจึงยังมีอยู่

ไม่มีทางเลือก / เลือกอะไรได้ไหม

ในส่วนท้ายของวงเสวนา คำถามจากคนทางบ้านถูกส่งขึ้นมาบนเวที ใจความส่วนใหญ่รวบรวมได้ว่า เพราะเดี๋ยวนี้หนังไทยมีแต่หนังตลก ผี รักโรแมนติกของเด็กมัธยม หาได้มีความหลากหลายที่จะยกระดับสังคม หรือเป็นตัวเลือกให้กับวงการภาพยนตร์บ้านเราเลย ซึ่งสุภาพได้ตอบคำถามนี้ไว้ว่า

“เพราะการท้าทายกฎหมายผูกขาดเหล่านี้ มันกำลังทำอันตรายต่อวัฒนธรรม หนังหลากหลายประเภทเช่นหนังเกาหลี ฮ่องกง ฝรั่งเศส ที่เมื่อก่อนมีอยู่ในโรงหนังบ้านเราบ้าง ก็ถูกทำให้ค่อยๆ หายไป ตอนนี้เหลือหนังไม่กี่แบบให้เราได้ดู คนดูเหมือนถูกบังคับให้ดูหนังประเภทเดียว จากนั้นหนังทางเลือกก็จะไม่ทำงานกับคนและอย่างต่อเนื่อง หนังทางเลือกเริ่มไม่ถูกปาก คนดูไม่อยากไปดูหนังเหล่านี้ในโรงหนัง ทั้งหมดนี้เป็นผลจากคนที่เคยทำความแตกต่างได้ตายไปหมดแล้ว”

นิมิตรตั้งคำถามกลับว่า “เราบอกว่าไม่มีหนังไทยดีๆ ให้ดู แต่เรารู้หรือยังว่ามีหนังอย่าง อนธการ ที่เข้าชิงรางวัลเกือบทุกสถาบัน เราอาจจะบอกว่าเราไม่มีทางเลือกดีๆ แต่หนังที่เป็นทางเลือก ก็ไม่มีคนดูเช่นกัน”

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า