กองทัพอากาศไทย (ทอ.) มีแผนจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ 19 (บข.19) หรือ F-16 ที่เข้าประจำการมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยจะประเดิมล็อตแรก 4 ลำ พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ภายใต้งบประมาณประจำปี 2568 จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นโครงการต่อเนื่องจนไปถึงปี 2577 เพื่อให้ครบจำนวน 1 ฝูงบิน 12 ลำ ตามการประเมินขีดความสามารถและภัยคุกคามในสมุดปกขาวของกองทัพอากาศประจำปี 2567
ทางกองทัพอากาศเปิดเผยว่า ตัวเลือกเครื่องบินขับไล่ที่เข้าข่ายการพิจารณานั้นมี 2 รุ่นด้วยกันคือ เครื่องบินขับไล่แบบ 19 (F-16 รุ่น Block 70/72) จากบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) สหรัฐอเมริกา และเครื่องบินขับไล่แบบ 20 (SAAB JAS-39 Gripen E/F) จากบริษัท ซาบ (SAAB) ซึ่งน่าจะเป็น 2 ตัวเลือกที่ดีที่สุด หลังกองทัพอากาศต้องแห้วจากเครื่องบิน F-35 ที่สหรัฐปฏิเสธการขายให้กับไทยไปแล้ว เพราะไทยไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติการใช้งานเครื่องบินรบชนิดนี้ที่มีเทคโนโลยีสูง ค่าใช้จ่ายสูง และระบบการสื่อสารที่ไทยยังใช้อุปกรณ์จากจีนอยู่
เครื่องบินทั้ง 2 แบบนี้ ไทยมีประจำการทั้ง 2 แบบคือ บข.19 F-16 รุ่น A/B ซึ่งได้รับการปรับปรุงมาโดยตลอด แบบบล็อก ADF OCU และ MLU ส่วน JAS-39 C/D ซึ่งจะทำการอัปเกรดเสร็จสิ้นภายในปี 2025
นอกจากนี้ การจัดหายุทโธปกรณ์ตามสมุดปกขาวของ ทอ. จะเป็นไปในลักษณะของการชดเชยหรือแลกเปลี่ยน (military offset) ทางเทคโนโลยีหรือทางเศรษฐกิจ สำหรับการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีราคาสูง ที่สามารถชดเชยและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอีกด้วย
แน่นอนว่า ทอ. ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้ เพจ thaiarmedforce เพจข่าวสารด้านการทหารชื่อดังรายงานว่า ทอ. อาจมีท่าทีที่จะเปิดโอกาสให้ KAI จากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่แบบ FA-50 ส่งข้อเสนอเข้ามาให้พิจารณา
ล่าสุด บริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมให้ offset แด่ไทยอย่างแน่นอน เพื่อสนับสนุนและให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม หรือสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งทาง thaiarmedforce ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ยากมากที่บริษัทอาวุธของสหรัฐจะประกาศข้อเสนอ offset เช่นนี้ เพราะรัฐบาลสหรัฐไม่มีนโยบายสนับสนุน offset ให้กับลูกค้าต่างชาติ นอกจากเป็นความพยายามของบริษัทผู้ผลิตเอง โดยก่อนหน้านี้ทางสหรัฐเสนอเพียงเงินกู้ FMF และ Datalink เท่านั้น
ด้าน SAAB ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่แรกว่าจะพ่วง offset ให้กับไทยซึ่งมีมูลค่า 130 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่าของสัญญาจำนวน 60,000 ล้านบาท ที่จะสร้างเศรษฐกิจไทยได้ถึง 78,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนปกติโดยทั่วไปที่ SAAB เสนอให้ลูกค้าของตน นอกจากนี้ SAAB เองก็ไม่ได้ขายเครื่องบินกริฟเฟนให้กับลูกค้ามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ของแถมพ่วงเช่นนี้ จึงเป็นการทำแต้มเกทับเหนือคู่แข่งตั้งแต่เริ่มเกม รวมไปถึงทางเกาหลีใต้เองก็พร้อมเสนอเช่นเดียวกับ SAAB
เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้เคยเข้าหารือกับทูตสวีเดนและผู้บริหาร SAAB ไปแล้วในประเด็น offset ที่ไทยจะได้ เพื่อไม่ให้การซื้ออาวุธในครั้งนี้ เป็นการ ‘เอาเงินแลกอาวุธ’ แบบดื้อๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
สงคราม offset สองเจ้าใหญ่เปิดหน้าเกทับ ไทยจะได้อะไรบ้าง
SAAB JAS-39 E/F กริฟเฟน เสนออะไรบ้าง
- ถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยพัฒนา หรือลงทุนด้านนวัตกรรม
- ลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ/อุตสาหกรรมบำรุงรักษาอาวุธ
- ให้ใช้สิทธิบัตร ปรับปรุง ปรับเปลี่ยน อัปเกรด
- ระบบ Datalink เครื่องบิน เรือรบ ยานเกราะ ในการเชื่อมต่อปฏิบัติการ
- การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Invesment: FDI) ในอุตสาหกรรมอื่นๆ
*มูลค่าซื้อกริฟเฟน 60,000 ล้านบาท มูลค่า offset กลับคืน 78,000 ล้านบาท
F-16 Block 70/72 เสนออะไรบ้าง
- จัดตั้งศูนย์พัฒนาวิจัยในด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาด้านการเกษตร
- ฝึกอบรมวิศวกรรมอากาศยาน
- พัฒนาทักษะแรงงานในภาคการผลิต
- สนับสนุนเทคนิคในการปรับปรุง Datalink
- ให้ไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานของบริษัทในการซื้อชิ้นส่วนที่ผลิตในไทย
- พัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุง
*มูลค่าซื้อ F-16 Block 70/72 เฟสแรก 4 ลำ 19,500 ล้านบาท รวม 1 ฝูง 60,000 ล้านบาท มูลค่า offset ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน
ล่าสุด วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้รีโพสต์จาก thaiarmedforce ใน X หลังบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน เสนอ offset ให้ไทยแล้ว โดยถือเป็นความสำเร็จของ กมธ.ทหาร ในการวางมาตรฐานการจัดซื้ออาวุธที่ต้องมี offset
อย่างไรก็ตาม วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารชื่อดัง บอกเป็นนัยว่า ทาง ทอ. ตัดสินใจเลือกกริฟเฟนให้เป็นผู้ชนะในศึกเสนอขายครั้งนี้ แม้ทาง ทอ. จะยังไม่ตัดสินใจก็ตาม แต่การแสดงออกในช่วงหลังๆ มาชี้ว่า โอกาสของกริฟเฟนมีสูงเหนือคู่แข่งจากสหรัฐ จนบริษัท ล็อคฮีก มาร์ติน ต้องเสนอ offset อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา
หากจะพิจารณาประสิทธิภาพของเครื่องบินทั้งสองรุ่นแทบไม่แตกต่างกัน แต่หากมองไปสู่อนาคตกริฟเฟนสามารถไปต่อได้ในระยะยาว ทั้งเทคโนโลยีและการอัปเกรดต่างๆ ขณะที่ F-16 นั้นก็ถือว่ามีอายุอานามยาวนานกว่า และสหรัฐก็เปลี่ยนถ่ายเครื่องบินขับไล่ไปสู่เครื่องบินยุค 5 คือ F-35
แต่สิ่งที่ ทอ. ต้องทำต่อไปคือ อนาคตของเครื่องบินขับไล่ในอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะเปลี่ยนถ่ายจากเครื่องบินยุคที่ 4+ ไปสู่เครื่องบินยุค 5 อย่างไร ต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทั้งศักยภาพ ขีดความสามารถ และความพร้อมรบ โดยต้องคำนึงถึงความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมและภัยคุกคามที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน
อ้างอิง
- Wiroj Lakkanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- thaiarmedforce
- Lockheed Martin Announces Industrial Participation, Offset Opportunities For Thailand