ปฏิบัติการเหนือน่านฟ้า ‘อะนอยะทา’ เมื่อกองทัพเมียนมาเริ่มหัวร้อน

เครื่องบินขับไล่ MiG-29 จากเมียนมาลำหนึ่งทำการบินเหนือน่านฟ้าประเทศไทย ด้านอำเภอพบพระ จังหวัดตาก นานกว่า 15 นาที เมื่อช่วงสายของวันที่ 30 มิถุนายน 2022 พร้อมกับใช้อาวุธยิงถล่มใส่ฐานที่มั่นของกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในฝั่งเมียนมาก่อนจะบินกลับไป ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนที่เครื่องบินขับไล่ของไทยจะเดินทางมาถึง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องศักยภาพการป้องกันประเทศของกองทัพอากาศไทย สำหรับข้อเขียนนี้จะไม่ตอบคำถามดังกล่าว แต่จะดูว่าเกิดอะไรขึ้นในเมียนมา จนถึงขั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์กันว่ารุกรานน่านฟ้าไทย 

เครื่องบินขับไล่ MiG-29

Padoh Saw Taw Nee โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กล่าวอ้างว่า ได้สังหารทหารของรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา 267 นาย ในการปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังกะเหรี่ยงมากกว่า 300 ครั้ง นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 นั่นเป็นเหตุผลที่กองทัพเมียนมาทำการโจมตีทางอากาศตามยุทธวิธีที่เลือกไว้แล้ว 

“กองทหารภาคพื้นดินของพวกเขาต้องเผชิญกับการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ดังนั้น ตอนนี้พวกเขาจึงทิ้งระเบิดไปทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยหวังว่าจะกอบกู้ขวัญและกำลังใจของทหารของพวกเขา” 

จากสงครามภาคพื้นสู่น่านฟ้า 

กว่า 1 ปีหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร กองทัพเมียนมายังคงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ การปราบปรามอย่างดุเดือดต่อการประท้วงอย่างสันติได้ก่อให้เกิดขบวนการต่อต้านด้วยอาวุธที่ไม่เพียงแต่ขยายใหญ่ขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมเข้ากับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่มีมายาวนานในระดับหนึ่ง เพื่อสร้างสถานการณ์ที่ทำให้กองทัพเมียนมามิอาจจัดการบนภาคพื้นดินได้อย่างราบคาบ

ในการตอบโต้กลุ่มผู้ต่อต้าน รัฐบาลทหารเมียนมาจึงขยายพื้นที่การสู้รบจากภาคพื้นดินสู่น่านฟ้า

กองทัพใช้เครื่องบินหลายลำ เพื่อต้านทานกองทัพชาติพันธุ์ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินขับไล่ และโดรนสอดแนม เพื่อตอบโต้กองกำลังป้องกันพลเรือน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่การรัฐประหาร ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มเหล่านี้ในการขัดขวางการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา

เริ่มแรกพวกเขาใช้เพียงอาวุธเล็กอย่างเช่น ‘ตูมี’ หรือปืนคาบศิลาทำมือ ต่อมา กองกำลังต่อต้านกองทัพเมียนมาจำนวนมากได้ขยายคลังอาวุธ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นศัตรูที่น่าเกรงขาม พวกเขาใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร รวมถึงการใช้อุปกรณ์ระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Device: IED) ในการซุ่มโจมตีขบวนรถทหารและฐานที่มั่นของกองทัพ จนบางแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก และยังพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ฝึกฝนยุทธวิธีมาเป็นอย่างดี

ปลายเดือนตุลาคม 2021 ทันทีที่มวลเมฆฝนเริ่มซาลง และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูแล้ง กองทัพเมียนมาได้เปิดตัวการโจมตีครั้งใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่าปฏิบัติการ ‘อะนอยะทา’ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปราบปรามการต่อต้านด้วยอาวุธของพลเรือน แต่กลับส่งผลให้ทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมากขึ้น ตามตัวเลขที่เผยแพร่โดยรัฐบาลเงา (NUG) ระบุว่า มีทหารเสียชีวิตราว 1,300 คน ภายในเดือนเดียว 

ขนาดและความกว้างทางภูมิศาสตร์ของสงครามที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารนั้นน่าหวาดหวั่น อาจกล่าวได้ว่าเป็นปฏิบัติการที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้แต่ในพงศาวดารของกองทัพเมียนมาที่มีการสู้รบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1948 

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน ชื่อปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้รับการเรียกขานเพื่อเป็นเกียรติแก่ปฐมกษัตริย์นักรบของชนเผ่าเมียนมา ซึ่งขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรพุกาม ใน ค.ศ. 1044 ที่เป็นอย่างนั้นเพราะทั้งกองทัพเมียนมาในปัจจุบันและกษัตริย์อะนอยะทา พยายามทำสงครามรวมรัฐลุ่มแม่น้ำอิระวดีในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในความสับสนวุ่นวาย 

กองพันทหารราบ หน่วยยานยนต์ปืนใหญ่ รถหุ้มเกราะ พร้อมปฏิบัติการในฐานปฏิบัติการในภูมิภาคสะกาย (เขตหนึ่งของเมียนมาบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ) ล่วงเลยข้ามเข้าไปในพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของเมียนมาในภูมิภาคตะวันตก ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มชาติพันธุ์กะฉิ่นและชิน เรื่อยไปจนถึงรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงใต้ และรัฐกะเหรี่ยงและกะยาทางตะวันออก

เมียนมาหันหน้าพึ่งรัสเซีย ระดมซื้อ ฮ. เพิ่ม

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกะเหรี่ยง KNU เป็นกลุ่มแรกที่ถูกโจมตีทางอากาศหลังรัฐประหาร ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2021 กองกำลังติดอาวุธของ KNU และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมาในเมืองผาปูน รัฐกะเหรี่ยง เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการโจมตีทางอากาศตามมาอีกหลายครั้ง ซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนหลายสิบคน และบังคับให้ผู้คนอีกกว่า 70,000 คนในเมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ต้องลี้ภัยออกจากบ้านของตัวเอง

องค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) กองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA) เผชิญกับการโจมตีที่คล้ายกัน หลังการสู้รบทำให้ทหาร 20 คน เสียชีวิต จากกองทหารราบของกองทัพเมียนมาทั้งหมด 77 คน ไม่กี่วันต่อมา KIA ได้ยิงเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินขับไล่ไอพ่นของกองทัพเมียนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโต้การปกครองของนายพลมิน อ่อง หล่าย

พลอากาศเอกหม่อง หม่อง จ่อ

ขณะที่การสู้รบทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้น พลอากาศเอกหม่อง หม่อง จ่อ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศของรัฐบาลทหารเมียนมาอยู่ในมอสโก เพื่อซื้อเฮลิคอปเตอร์เพิ่ม การเข้าร่วมงาน Heli Russia ของเขา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2021 ตอกย้ำให้เห็นถึงการพึ่งพารัสเซียและตามมาด้วยสงครามทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้การปกครองของนายพลมิน อ่อง หล่าย 

ซีมอน เวซแมน (Siemon Wezeman) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม กล่าวว่า รัสเซียเป็นผู้จัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารให้กับกองทัพเมียนมา 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ต่อสู้ 

อีก 1 เดือนต่อมา นายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการทหารเดินทางเยือนรัสเซียด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่มีการประกาศซื้ออาวุธใหม่ในระหว่างการเยือนรัสเซียของเขา แต่ก็ส่งสัญญาณถึงความแนบแน่นของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับหัวหน้าผู้จัดหาอาวุธประเภทต่างๆ 

นายพลมิน อ่อง หล่าย

ในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของปี 2021 รัฐบาลทหารเริ่มใช้เครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์โจมตีกลุ่มต่อต้านในภูมิภาคต่างๆ และกลุ่มกำลังเสริมที่หลั่งไหลเข้ามาสมทบมากขึ้น เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 แต่ขยายขนาดขึ้นหลังจากการเปิดตัวปฏิบัติการอะนอยะทา

รัฐบาลเผด็จการออกอาการหงุดหงิดขึ้นเรื่อยๆ 

รูปแบบการรบซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อขนทหารเข้าไปในหมู่บ้านที่ต้องสงสัยว่ามีนักต่อสู้ต่อต้านหรือกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) บังคับผลักไสให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย เนื่องจากบ้านของพวกเขาถูกเผาทำลายโดยกองทหาร จนถึงขั้นที่ KNU เรียกร้องให้สหประชาชาติ (UN) กำหนดเขตห้ามบินบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

ขณะนี้ กองทัพเมียนมากำลังเผชิญกับบางสิ่งที่ไม่เคยเผชิญในประวัติศาสตร์ของกองทัพเมียนมา นั่นคือ ทหารจำนวนมากหนีทัพ ตามรายงานบางฉบับระบุว่า มีทหารราว 2,000 นาย ได้เปลี่ยนฝ่ายไปเข้าร่วมขบวนการ CDM และมีการประมาณการกันว่ามีทหารหนีทัพมากกว่า 8,000 นาย โดยรวมการหลบหนีของทั้งทหารและตำรวจ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการมีอยู่ของกลุ่มต่อต้านภายในกองทัพเองที่เรียกว่า ‘ทหารแตงโม’ (ใส่ชุดทหารสีเขียว แต่หัวใจประชาธิปไตย สีแดงแทนฝ่ายประชาธิปไตย) ซึ่งก่อวินาศกรรมโจมตีฐานทัพทหารจากภายใน และให้ข่าวกรองที่สำคัญแก่กลุ่มต่อต้านจากภายนอก 

กองทัพยังต้องเผชิญกับปัญหาอื่นอีก อย่างเช่น การขาดแคลนกำลังทหารที่พร้อมรบเพิ่มมากขึ้น จำนวนคนสมัครเข้าเรียนในวิทยาลัยการป้องกันประเทศลดลงเป็นเท่าตัวเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทหารได้สั่งให้ภรรยาของเจ้าหน้าที่ระดับกลางเข้ารับการฝึกทหาร นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากองทัพกำลังฝึกและติดอาวุธผู้สนับสนุนพลเรือนที่คลั่งไคล้ลัทธิชาตินิยม กลุ่มการเมือง และอดีตนายทหาร หลายคนกำลังต่อสู้เคียงข้างกับกองกำลังของรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทหารรักษาการณ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ปยู ซอ ที’ (ซึ่งเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2021) ขณะเดียวกัน กองทัพยังพึ่งพาทหารรับจ้างจากต่างแดน เช่น ผู้ก่อความไม่สงบชาวอินเดีย ซึ่งมีฐานอยู่ในภูมิภาคตะวันตกของเมียนมา

มีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ว่า กองกำลังที่ด้อยกว่าอาจสามารถเอาชนะกองทัพที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกด้วยการสู้รบที่ยืดเยื้อ เช่น ในกรณีของโซเวียตในอัฟกานิสถาน และชาวอเมริกันในอัฟกานิสถานและเวียดนาม สงครามที่ยาวนาน ยิ่งเพิ่มความยากลำบากให้แก่ผู้รุกราน เมื่อพวกเขาขาดการสนับสนุนจากท้องถิ่นและประชาชน ซึ่งแน่นอนว่ากรณีเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับกองทัพเมียนมาในปัจจุบัน และในท้ายที่สุด พวกเขาต้องบาดเจ็บล้มตาย ท้อแท้ เสียขวัญ และถอดใจ 

ไล่เลี่ยกันกับการประกาศเปิดตัวปฏิบัติการ ‘อะนอยะทา’ ของกองทัพเมียนมา กลุ่มภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติพยายามเรียกร้องให้ UN ประกาศให้กองทัพเมียนมาเป็นองค์กรก่อการร้าย โดยให้เหตุผลว่ากองทัพเมียนมาเป็นต้นตอของความรุนแรงและความหายนะ ดำเนินยุทธวิธีก่อการร้ายแบบเดียวกับกลุ่ม IS (Islamic State) ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นใหม่ในทะเลทรายอิรัก ช่วงกลางทศวรรษ 2000

สถานการณ์ในเมียนมาหลังรัฐประหาร ทำให้เกิดการเปิดเวทีอภิปรายสาธารณะมากมาย และมีคำถามที่ใหญ่มากว่าประชาคมระหว่างประเทศควรทำอย่างไร แต่ดูเหมือนว่าบทสรุปของการอภิปรายเกี่ยวกับเมียนมาจะเป็นอัมพาต มีเพียงการเผยให้เห็นการแบ่งขั้วอำนาจระหว่างรัฐบาลตะวันตกกับจีนและประเทศในเอเชีย 

บทสรุปของเรื่องนี้ยังต้องรอตอนจบต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนในตอนนี้คือ จะไม่มีใครทักท้วงกองทัพของมิน อ่อง หล่าย ได้แม้แต่วันเดียว 

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า