ว่ากันว่า ‘ลมตด’ นั้นไม่ได้มีแค่ตด เคยมีการจับภาพสโลว์โมชั่นของตด และพบว่า มันไม่ได้เป็นเพียงอากาศธาตุ เพราะมี ‘มวล’ สารจากลำไส้ใหญ่ถูกพัดปลิวออกมาด้วย
องค์ประกอบด้านเคมีของตดไม่ได้เต็มไปด้วยแก๊สพิษหรือลมคร่าชีวิต ที่หากดมในระยะประชิดแล้วต้องล้มลงชักดิ้นชักงอเหมือนที่หลายคนคิดกัน กลิ่นของตดนั้นเหมือนกับกลิ่นอึ ขึ้นอยู่กับสุขภาพของเจ้าของลำไส้และแบคทีเรีย ตลอดจนพฤติกรรมทางโภชนาการ
ประมาณกันคร่าวๆ ว่าส่วนประกอบที่ ‘เป็นอากาศ’ ของตดนั้นประกอบด้วย
– ไนโตรเจน 59 เปอร์เซ็นต์
– ไฮโดรเจน (สามารถติดไฟได้) 21 เปอร์เซ็นต์
– คาร์บอนไดออกไซด์ 9 เปอร์เซ็นต์
– ออกซิเจน 4 เปอร์เซ็นต์
– มีเธน (สามารถติดไฟได้) 7 เปอร์เซ็นต์
…แก๊สทั้งหมดไม่มีกลิ่นในตัวเองตามธรรมชาติ
เนื่องจากในตดมีไฮโดรเจนและมีเธนซึ่งเป็นสารติดไฟ จึงมีการทดลองตดใส่ไฟของมนุษย์เพี้ยนๆ จนกลายเป็นคนติดไอพ่นอยู่หลายครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่ตดของทุกคนที่จะพ่นไฟได้ เพราะตดที่ติดไฟได้ดีจะต้องใช้มีเธน ที่ถูกผลิตโดยแบคทีเรียอาร์เคีย (Archaea) ในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ไฟจากตดเป็นสีฟ้าเหมือนเตาแก๊ส
แต่ถ้าในลำไส้คุณมีมีเธนอยู่ค่อนข้างน้อย ไฟที่ได้จากตดก็จะมาจากไฮโดรเจน ซึ่งเปลวไฟจะเป็นสีเหลืองส้มมากกว่า
– ความเร็วของลมตดอยู่ที่ประมาณ 10 ฟุตต่อวินาที
– ใน 1 วันคนเราตดออกมาประมาณ 600 ซีซี
– เสียงของตดถูกเผด็จการโดยลักษณะทางกายภาพของปลายลำไส้และรูปร่างก้น
– แม้ตดของนักกินมังสวิรัติจะมีแก๊สเยอะกว่า แต่จะมีเสียง ‘ฟี้…’ เบาๆ ค่อยๆ เนื่องจากในลำไส้มีกากมาก กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัวง่าย ขณะที่คนกินเนื้อจะมีแก๊สน้อย แต่เนื่องจากกลศาสตร์ของอากาศที่ผ่านปลายลำไส้แบบเนื้อๆ เน้นๆ ทำให้เสียงตดนั้นอาจจะสนั่นปานทรอมโบน
Fart Food
รู้ๆ กันอยู่ว่าถั่วเป็นอาหารสร้างตด ด้วยเหตุผลว่า พืชเล็กๆ ตระกูลนี้มีน้ำตาลที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้ แต่กับเหล่าแบคทีเรียนั้นตรงกันข้าม เมื่อน้ำตาลเหล่านี้เคลื่อนถึงลำไส้ พวกมันจะจัดการย่อยแล้วปล่อยแก๊สมหาศาลออกมา ซึ่งนอกจากถั่วแล้ว อาหารที่เป็นแหล่งผลิตแก๊สตดชั้นดียังมีบร็อคโคลี กะหล่ำปลี แอปเปิล ลูกเกด และนม
อ้างอิงข้อมูลจาก: chemistry.about.com
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Main Way นิตยสาร Way ฉบับที่75, กรกฎาคม 2557)