ไชยันต์ ไชยพร
Illustration : พีรเวทย์ กระแสโสม
ในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศในโลกสมัยใหม่ภายใต้แนวคิดเสรีนิยม สนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิ์และโอกาสเท่าเทียมผู้ชาย ทั้งการศึกษาและการทำงาน จะต้องไม่กีดกันเพศหญิง การต่อสู้ในลักษณะนี้ได้นำมาซึ่งจำนวนผู้หญิงที่จบการศึกษาได้เท่าเทียมผู้ชาย และผู้หญิงสามารถเข้าไปทำงานต่างๆ ที่แต่เดิมสังคมคิดว่าเป็นงานที่เหมาะสมสำหรับผู้ชายเท่านั้น แม้จะดูเหมือนว่าผู้หญิงเท่าเทียมผู้ชาย
แต่ก็มีนักคิดที่ตั้งข้อวิจารณ์ว่า ถึงแม้เราจะได้ ‘ผู้บัญชาการทหารบก’ เป็นผู้หญิง ที่ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของผู้หญิง แต่แท้จริงแล้ว หากผู้หญิงเลือกที่จะต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในแบบเสรีนิยมข้างต้น ก็ถือว่า ‘แพ้ตั้งแต่อยู่มุ้ง’ ที่ว่าแพ้ก็เพราะว่าผู้หญิงเลือกต่อสู้ในกติกาหรือแบบของผู้ชาย เช่น เลือกที่จะต้องมีความรู้การศึกษาอย่างที่ผู้ชายมี เลือกที่จะต้องทำงานอย่างที่เคยเป็นของผู้ชายเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร แต่ผู้หญิงก็จะต้องบรรลุประสบความสำเร็จได้ก็จะต้องมีคุณสมบัติแบบผู้ชาย
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ‘หมดความเป็นผู้หญิง’ ไป ที่บางคนกล่าวแบบล้อๆ ว่า “เป็นผู้หญิงที่ถูกตอน”
หากไม่ต้องการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศในแบบที่ต้อง ‘ถูกตอน’ แล้ว เรามีวิธีอื่นไหม?
ทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือ ต่อสู้ในแบบผู้หญิง! นั่นก็คือ ไม่ต้องไปสนใจเรื่องความรู้การศึกษาหรือตำแหน่งหน้าที่การงานในสังคม แต่ผู้หญิงควรใช้ความรู้ในแบบผู้หญิงที่สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้ตั้งชื่อและให้คุณค่าในทางลบไว้ นั่นคือ ‘มารยา’ เพราะมารยาหญิงสามารถพิชิตทุกสิ่งในโลกได้ หากใช้เป็นและรู้จักใช้ การที่สังคมมอง ‘มารยา’ เป็นสิ่งไม่ดี เพราะสังคมนั้นเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่และมีความหวาดกลัวอย่างยิ่งหากผู้หญิงจะใช้ ‘มารยา’ เป็นเครื่องมือในการบรรลุสิ่งที่เธอต้องการ
สังคมชายเป็นใหญ่ตระหนักรู้ถึงพลังอันยากที่จะเอาชนะได้ของ ‘มารยาหญิง’ หญิงใดมารยาเก่งก็จะถูกตราว่าเป็นหญิงแพศยา ซึ่งคำว่า ‘แพศยา’ บ่งบอกถึงความส่ำส่อนทางเพศ ทำไมการส่ำส่อนทางเพศของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องต้องห้าม? ก็เพราะการใช้มารยา การใช้เสน่ห์ และลีลาทักษะในเรื่องเพศของผู้หญิงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เธอต้องการนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ชายมักจะควบคุมตัวเองไม่ได้ แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่ว่าตัวเองกำลังถูกยั่วยวน แต่ก็อดใจไม่ได้ ลองถามพวกผู้ชายหรือถามตัวเองดูว่า ผู้ชายมีความรู้สึกต้องการทางเพศยามเมื่อเห็นผู้หญิงสวยเซ็กซี่ที่ได้ชื่อว่าผ่านผู้ชายและใช้ผู้ชายมามากมาหรือไม่?
ดังนั้น เพื่อปิดประตูและควบคุมไม่ให้ผู้หญิงใช้ ‘ความรู้และวิธีในแบบผู้หญิง’ (ซึ่งอันตรายสำหรับผู้ชายมาก!) สังคมชายเป็นใหญ่จึงจำต้องสร้างวาทกรรมกติกากฎหมายต่างๆ ขึ้นมาควบคุมและลงโทษ ‘นังหญิงมารยาแพศยา’ เพราะทุกครั้งที่เธอมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่เปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ ก็หมายความว่า เขาเหล่านั้นได้ตกเป็นหนึ่งในเหยื่อของเธอ และเมื่อหมดประโยชน์แล้ว เธอก็จะทิ้งเขาไปเพื่อไปหาผู้ชายคนต่อไปที่ให้ประโยชน์เธอได้ แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่าผู้หญิงแนวนี้จะทิ้งผู้ชายเสมอไป เพราะมีเหมือนกันที่ไม่ทิ้ง แต่สิ่งที่เธอทำกับผู้ชายของเธอก็คือ เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์จากเมียกับผัวไปเป็นแม่กับลูก นั่นคือ เธอควบคุมและอยู่เหนือชายของเธอราวกับเธอเป็นแม่ของเขา!
ผู้หญิงแนวนี้ในภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า ‘Femme Fatale’ ซึ่งถ้าแปลตรงตัวก็คือ ‘หญิงที่อันตรายร้ายแรงถึงขั้นตายหายนะฉิบหายได้’ ผู้หญิงแนวนี้จะ ‘ไม่ได้ฝึกฝนการใช้ดาบเท่ากับการใช้ลิ้น’ ในการเอาชนะเหนือผู้ชาย และเธอจะไม่จำเป็นต้องฝึกมือของเธอให้สามารถจับดาบได้กระชับแน่นเท่ากับฝึกกระชับอวัยวะบางอย่างของเธอเพื่อควบคุมและทำให้ ‘ดาบหรือหอก’ ของผู้ชายสิ้นสภาพ
แต่ครั้นจะบอกกล่าวเพียงเรื่อง ‘Femme Fatale’ ก็ดูจะเป็นการไม่ให้ความยุติธรรมต่อเพศหญิง เพราะผู้ชายก็มีที่ใช้มารยา+เสน่ห์+ลีลาทักษะทางเพศกับผู้หญิง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งภาษาฝรั่งเรียกว่า ‘Homme Fatale’ ผู้ชายแนวนี้ก็เช่นเดียวกันกับผู้หญิงแนวเดียวกัน คือ ไม่ต้องไปฝึกฝนวิทยายุทธ์ในการศึกอะไรเท่ากับ ‘กามศึก’ และจะต้องฝึกฝนให้ ‘ฉกาจกาม’ ให้ได้
หากพิจารณาอย่างไม่มีอคติจะพบว่า ทั้งหญิงและชายแนวนี้สามารถก้าวข้ามรสนิยมความต้องการทางเพศของตน เพียงเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เขาและเธอต้องการ นั่นคือ หญิงแนวนี้อาจจะใช้เสน่ห์กับผู้หญิงด้วยกัน หากผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของเธอนั้นมีรสนิยมชื่นชมเพศเดียวกัน ชายแนวนี้ก็เช่นกัน สามารถมีอะไรกับผู้ชายด้วยกันก็ได้ ถ้ามันจะทำให้เขาบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุกหรือรับ
ผู้ชายแนวนี้อาจจะเห็นผู้ชายแก่ที่นิยมรักเพศเดียวกันเป็นเหยื่อได้ ซึ่งหญิงแนวนี้ก็เช่นกัน
แต่สิ่งที่น่าสงสัยและน่าตื่นเต้นก็คือ ถ้า ‘Femme Fatale’ เจอกับ ‘Homme Fatale’ ในระดับที่ฉกาจพอกัน เพศไหนจะมีโอกาสชนะ?
คำตอบคือ ‘Femme Fatale’ !
***********************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ จุดหมายที่ปลายทาง นิตยสาร Way ฉบับ 73)